fbpx

ฉากสังคมไทยในนาฏกรรม slow burn กับจารุนันท์ พันธชาติ

แม้จะเป็นประโยคเชยๆ ที่ใช้กันมานาน แต่เมื่อมีใครสักคนพูดว่า ‘โลกคือละคร’ ก็ไม่มีอะไรเกินจริงในความหมายนี้

โลกคือละคร และ ละครคือโลก เนื้อเรื่องที่เรารับชมล้วนเชื่อมโยงมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มวลอารมณ์ของเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตีความของคนในสังคมที่มีภูมิหลังต่างกัน บ้างอาจมองเป็นแนวระทึกขวัญ บ้างสังคมก็ชี้ชวนให้นึกถึงเรื่องสยองขวัญ บ้างโลกก็ใจดีจนทำให้มองเป็นแนวโรแมนติกคอเมดี้ หรือบ้างก็อาจเป็นทุกแนวที่ว่ามา

แล้วถ้าหากมองสังคมไทยเป็นนาฏกรรม คุณว่าจะเป็นเรื่องประเภทไหน?

คำตอบของ จารุนันท์ พันธชาติ ในฐานะนักการละครเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการแสดง ปี 2558 มองว่า นาฏกรรมสังคมไทยเป็นเรื่องแบบเนิบช้า (slow burn) เส้นเรื่องเดิมที่มักกล่าวว่า ‘ความดีย่อมชนะความชั่ว’ ยังคงแข็งแรง คนดูเดาทางตอนจบได้ไม่ยาก 

แต่ท่ามกลางการเดินทางของเส้นเรื่องนี้ ยังมีเรื่องเล่าใหม่ๆ ที่เกิดจากคนในสังคม เรื่องเล่าของคนธรรมดา ชีวิตของปัจเจกในสังคมกว้างใหญ่ที่แม้ไม่ได้สู้รบกับใครจนเป็นฮีโร่กู้ชาติ แต่พวกเขาก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่ต้องอยู่กับคนหลากหลาย เรื่องเล่าของคนธรรมดาที่เสียงดังขึ้น สะท้อนมิติต่อการเคารพในชีวิตคนเหล่านั้น

ในภาวะที่สังคมไทยอยู่ในจุดช่วงชิงพื้นที่ของเรื่องเล่า เส้นเรื่องต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร เราชวนจารุนันท์พูดคุยถึงฉากสังคมไทยในสายตาคนทำงานการแสดง เมื่อคนลุกขึ้นส่งเสียงทางการเมือง โรคระบาดทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก เสรีภาพการแสดงออกถดถอย แล้วบทบาทและที่ทางของคนทำงานแสดงอยู่ตรงไหน วงการศิลปะการแสดงและสังคมไทยควรเดินไปด้วยกันอย่างไร การลงมือทำอะไรบางอย่างของตัวละครอื่นๆ ในสังคมช่วยขับเคลื่อนให้สังคมมีทางเลือกหลากหลายจริงหรือไม่ รวมไปถึงความหวังแบบไหนที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นเรื่องเดิมของสังคมไทยในตอนนี้ได้

รับชมและรับฟังนาฏกรรมเหล่านั้นได้ ณ บัดนี้

ปีที่ผ่านมา มาตรการโควิดผ่อนคลายลง งานศิลปะการแสดง (performing arts) กลับมาจัดได้อีกครั้ง คุณมองเห็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

ปี 2022 เป็นเทรนด์การแสดงที่คนดูมีส่วนร่วม เรียกว่า immersive performance คำว่า immerse คือการพาให้คนดูไปอยู่ในกระแสของการแสดง จุ่มตัวเองเข้าไปในนั้น จากปกติคนดูจะนั่งในพื้นที่ฝั่งคนดูในฐานะนักสังเกตการณ์ ซึ่งถือว่าละครเรื่องนั้นเป็นเรื่องของคนอื่น หรือต่อให้นักแสดงมีเทคนิคที่บอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นนะ เป็นเรื่องของเธอนั่นแหละ แต่ลักษณะการแสดงก็อยู่ในพื้นที่ตัวเอง มีอาณาเขตแบ่งกับคนดูชัดเจน 

แต่สำหรับ immersive มันลบพื้นที่คนดู อนุญาตให้ผู้ชมเข้าไปข้างในเรื่องราวของการแสดง ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในบ้านผีสิงงานวัด แตกต่างตรงที่บ้านผีสิงที่เดินในงานวัดไม่มีเรื่อง แต่บ้านผีสิงที่เราเดินใน immersive performance มีเนื้อเรื่อง แล้วเราอาจเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เช่น เราอาจเป็นพี่มาก เพื่อนพี่มาก เพื่อนอีนาก เป็นชาวบ้านโดนหลอก หรืออาจเป็นแค่เงาก็ได้  

สิ่งที่เทรนด์ immersive performance กำลังบอกบางอย่างกับคนทำคือ คนดูอยากเล่าเรื่องของเขา เพราะทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง คนอยากเปิดเผยเรื่องราวมากกว่า 4-5 บรรทัดในทวิตเตอร์ เรื่องของทุกคนสำคัญ และทุกคนมีเส้นเรื่องของตัวเอง แล้วพอช่วงที่ผ่านมาเกิดม็อบ มีโควิด เกิดการบังคับมาตรการต่างๆ คนเลยมีเรื่องอัดอั้น อยากระบาย อยากเล่า หยุดควบคุมฉันสักที ฉันไม่อยากใส่หน้ากาก พอ immersive performance ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คนก็เอนจอยที่จะมีเรื่องเล่าของตัวเอง 

ด้วยฟอร์มของ immersive performance สะท้อนว่าคนดูไม่ได้อยากแค่ถูกเล่า คนดูอยากจะทำอะไรสักอย่างด้วย หรือแม้ว่าบางงานจะวางโครงเรื่องไว้ชัดเจนมาก กำหนดให้คนดูเดินจาก A ไป B นะ แต่คนที่เอนจอย immersive เขาจะไม่เดินตามโครงเรื่อง ไม่เดินจาก A ไป B  แต่จะ A ไป C แล้วเดี๋ยวฉันค่อยย้อนไป B ก็ได้ เรารู้สึกว่าความเป็นปัจเจกตรงนี้น่าตื่นเต้น

นอกจาก ‘วิธีการ’ นำเสนอที่ว่ามาแล้ว ปีที่ผ่านมา ‘เนื้อหา’ ของงานศิลปะการแสดงสะท้อนให้เห็นภาพอะไรในสังคมบ้าง

เอาเท่าที่สังเกตและอยู่ในขอบข่ายการรับรู้ของเรานะ นอกเหนือจากแนว immersive performance มีเรื่องที่เป็นสารคดี (documentary theatre) มากขึ้น เราและเพื่อนหลายคนมองว่าเรื่องเล่าแบบนี้มาแน่ๆ มีการเอาประสบการณ์จริงมาเล่าให้เป็นรูปแบบการแสดงมากขึ้น เช่น MSN Theatre เชิญเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) มาเล่าเรื่องตัวเอง (งาน I’m not at home in my own home จัดในเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2565) หรืออย่างงานอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) พูดถึงประวัติชีวิตตัวเองและความสำคัญกับถ้วยสาเกไปแสดงที่โตเกียว (An Imperial Sake Cup and I เป็นงาน lecture performance จัดที่โรงละครโตเกียว​ อิเคะบูขุโระ​)

หรือเท่าที่คุยกับคนในวงการ มีน้องที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ในฐานะคนมลายู คนทางใต้ที่มาอยู่ภาคกลางและอยากค้นหาความสัมพันธ์กับญาติที่อยู่นราธิวาส งานที่มาจากเทศกาลละครกรุงเทพที่ผ่านมา มีงานที่พาน้องๆ นักร้องอนาชีด จากคณะนาชีด มัสยิดยามิอุ้ลอิสลาม (คลองตัน) มาเล่าเรื่องส่วนตัว หรือมีคนเล่าเรื่องตัวเองง่ายๆ เลยว่าฉันเป็นนักแสดง ฉันคลุมฮิญาบ แล้วฮิญาบฉันหาย ถ้าฉันคลุมฮิญาบแล้วเล่นเหมือนตอนไม่คลุมฮิญาบ ฉันเล่นได้ไหม 

เรื่องเหล่านี้มีความน่าสนใจในมิติบุคคลธรรมดา บุคคลหนึ่งที่จะเล่าเรื่องตัวเองแล้วเกี่ยวข้องกับสังคมภาพใหญ่ เห็นความเป็นปัจเจก เห็นเรื่องเล่าที่อยู่ในซอกหลืบ เรื่องเล่าที่เคยเป็นชายขอบค่อยๆ ถูกเล่า แต่ก่อนเราเคยตั้งคำถามกับตัวเองด้วยนะว่าจะเล่าเรื่องแม่กับยายดีไหม เพราะเขาไม่ได้ไปกู้ชาติ (หัวเราะ) สักพักก็คิดว่า เอ๊ะ แต่เขาสำคัญกับเรานะ ทำไมเราไม่เคยอุ้มชูความเป็นคนธรรมดาล่ะ 

แต่จริงๆ ถ้าวัดด้วยสเกลภาพใหญ่ เรื่องเล่าแบบนี้ก็ยังไม่พอหรอก ต้องเล่าเยอะกว่านี้ แต่ที่เราเล่าให้ฟัง อาจเพราะเราสนใจ (หัวเราะ)  

นอกจากการเล่าเรื่องตัวเอง มีอีกเทรนด์ที่เกิดขึ้นคือการตั้งคำถามกับการแสดง ถ้าจะเทียบเคียงก็เหมือนการถามว่าธนาคารนี้น่าเชื่อถืออยู่ไหม เป็นการถามถึงความเชื่อกับสถาบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดง จึงเกิดการตั้งคำถามว่าการแสดงคืออะไร มีนิยามอย่างเดียวไหม การแสดงที่ดีคืออะไร 

สมมติเราบอกว่านักแสดงที่ดีต้องดีดนิ้วแล้วร้องไห้ แล้วคนที่บอกว่าตัวเองเป็นนักแสดงที่ดี วันหนึ่งดีดนิ้วแล้วร้องไห้ไม่ได้ คนรายรอบตั้งคำถามว่า “อ้าว ทำไมล่ะ ทำไมร้องไห้ไม่ได้” แต่ถ้าตั้งคำถามกับการแสดงก็อาจจะถามว่า “เอ๊ะ การดีดนิ้วแล้วร้องไห้ไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือเปล่า”  หรือ “จริงๆ แล้วการมีคำนิยามว่าร้องไห้ได้เมื่อดีดนิ้ว ไม่ใช่เรื่องที่ถูกตั้งแต่แรกหรือเปล่า” 

ในเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2022 น่าจะมี 3 เรื่อง และมีอีกประมาณ 1 เรื่องที่อยู่นอกเทศกาล รวมแล้วในช่วงเวลาเดียวกันมี 4-5 เรื่องที่ตั้งคำถามกับความเป็นสถาบัน ไม่แน่ใจว่าอะไรที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามนี้ แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ และคงเป็นกระจกให้กับสังคมใหญ่ว่า เราต้องการความหลากหลายมากกว่านี้หรือเปล่า เราพยายามทำการแสดงให้เข้ากันกับคำนิยามมากไปจนถูกลิมิตการทำงานหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้ว ความเป็นสถาบันเองก็ไม่ได้เข้ากับคำนิยามที่ตัวเองตั้งไว้  

ทั้งหมดทั้งมวล ละครแนวอื่นๆ ยังมีอยู่นะ เช่น ละครพูด ละครร้อง ละครที่เนื้อหาอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมใหญ่โต ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแค่ยังมีอีกกรุ๊ปที่ทำมวลนี้เยอะขึ้น 

ฟังแล้ว ปีที่ผ่านมาวงการศิลปะการแสดงดูคึกคัก อยากปล่อยของจากการอัดอั้นในช่วง 2 ปีที่ต้องนิ่งเงียบ

ใช่ เราว่าเป็นปีที่น่าตื่นเต้น ไม่ใช่แค่บ้านเรานะ เทศกาลหลักๆ ในต่างประเทศก็กลับมา เริ่มมีงานออนไซต์ เริ่มมีทัวร์ งานที่เรากั๊กไว้ 2 ปีที่แล้วเริ่มกลับมาจัดกันเยอะ 

แต่ทีนี้พอเริ่มกลับมาทำงานกัน จะเกิดลูปอีกว่า น้ำมันที่เราหมดไป 2 ปี เราเติมเต็มถังไว้ แล้วเมื่อไหร่ระบบนิเวศที่เราไม่เคยซ่อมมัน จะพร้อมสำหรับการเคลื่อนวงการ พวกเราพยายามดั้นด้นทำงานกัน คนหนึ่งคนต้องทำหลายๆ หน้าที่ เดี๋ยวเป็นโปรดิวเซอร์ นักแสดง เป็นนักจัดการโรงละครไปด้วย โอเค คนหนึ่งทำได้หลายอย่างก็เป็นเรื่องดี แต่คนที่เชี่ยวชาญจริงๆ ในวงการยังมีไม่พอ หรือค่าตอบแทนที่ควรจะได้ยังไม่พอ แล้วความเข้มแข็งในวงการการแสดงของประเทศไทยจะเกิดเมื่อไหร่

การสร้างระบบนิเวศนี้คืออะไร

ระบบนิเวศคือต้องมีตำแหน่งงานหลายๆ อย่างที่เกื้อกูลการทำงานให้วงการแสดงแข็งแรง เช่น นักจัดการโรงละคร (theatre manager) เซลล์หรือเอเจนซี โปรดิวเซอร์ คนประสานงาน โปรแกรมเมอร์

ถ้าเราจะเอาในแง่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ มันไม่ใช่แค่ศิลปินผลิตงานอย่างเดียว เราต้องมีคนไปดีลกับแหล่งทุน คนที่จะไปบอกว่า “เธอๆ งานฉันดีนะ เอาไปที่นั่นที่นู่นสิ” งานแบบนี้คืออีกทักษะหนึ่ง งานที่อาศัยคนที่เข้าใจการตลาดของ performing arts และเข้าใจว่าลักษณะงานแสดงแบบไหนควรจะไปเทศกาลไหน เพราะทุกงานมีความดีงามต่างกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ศิลปินที่จะต้องรู้ว่าเมืองคานส์ชอบฉัน ฉะนั้นฉันจะทำให้เมืองคานส์ชอบ ถ้าจะมีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มาบอกว่า “เธอๆ คิวเรตงานแบบนี้นะมันเหมาะกับที่นี่” หรือ “เธอๆ ศิลปินไทยคนนี้แมตช์กับศิลปินโคลอมเบียคนนี้ไหม” จะดีมากเลย  

สำหรับที่เรารู้ตอนนี้ บ้านเรายังไม่มีการทำงานเป็นระบบแบบนี้ และยังขาดการสนับสนุนจากรัฐอย่างเป็นระบบด้วย 

แม้จะขาดการสนับสนุนจากรัฐ แต่ดูเหมือนว่าคนทำงานศิลปะการแสดงยังคงมีงานออกมาให้คนได้เห็นอยู่ตลอด

แต่เราก็เจอความท้าทายกันตลอดเวลานะ พอ B-floor ทำงานมาจนมียุคสมัยที่เราตั้งตัวได้ พอจะมีตังค์จ่ายค่าเหนื่อยอย่างสมศักดิ์ศรี เพราะเป็นช่วงที่มีพื้นที่เล็กๆ ให้ได้ทดลองเยอะมาก แต่ในตอนช่วงก่อนและหลังโควิด พื้นที่เล็กๆ หายไป ทำให้เราต้องจัดการงบเรื่องนี้กันค่อนข้างเยอะ การจัดการพื้นที่ซ้อมและการแสดงจึงเป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน   

แต่ว่าก็มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ อย่างที่เล่าไปแล้วคือมีกลุ่มทุน วงการอีเวนต์สนใจ immersive theater นั่นแปลว่าถ้าเขาจัดจ้างคนที่มีทักษะการละคร ซึ่งเป็นการขยายงานกัน เพียงแต่เราไม่แน่ใจว่าจะเทรนด์นี้อยู่ได้นานแค่ไหน รอดูกันต่อไป 

จริงๆ มีหลายกลุ่มละครรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น เนื้อหางานก็มีความหลากหลายมากขึ้น ศิลปินมีความพยายามทำให้เนื้อหาน่าสนใจ เพียงแต่ว่าพื้นที่และแหล่งทุนยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนทำงานด้านนี้ตลอด 

ยกเว้นว่าเราจะเป็นระเบียบวาทะศิลป์ (วงหมอลำจากจังหวัดขอนแก่น) ที่มีคนมาจ้าง เราว่าเขาเก่งมากเลยนะ ซึ่งนั่นแปลว่าเราอาจต้องปรับรูปแบบการแสดงให้มีลักษณะแบบนั้นหรือเปล่า เราถึงจะไปทัวร์ได้ เพราะเราเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ตอบโจทย์ความบันเทิงของกลุ่มบุคคล  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ทำงานผ่านช่วงเวลาก่อนเกาหลีจะบูมมากๆ เราเคยได้ทุนไปทำงานกับคณะละครเกาหลีของจังหวัดกวางจูกลุ่มหนึ่ง  

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกับเรามากคือกลุ่มนี้ได้พื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลเก่าเพื่อซ้อมการแสดง เราไม่แน่ใจว่าเขาได้รับการสนับสนุนให้ใช้ฟรีหรือเช่าในราคาถูก กิจกรรมของเขาคือตอนเช้าปลูกผัก ตอนบ่ายซ้อม บางวันซ้อมๆ อยู่ ผู้ใหญ่บ้านเดินมาชวนไปกินเหล้า แล้วเขาจะใช้เวลาในการซ้อมก่อนออกทัวร์ได้เต็มที่ ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมก็จะเริ่มทัวร์ พูดไป พูดมาแล้วก็ดูเป็นภาพฝันเราดีเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

ทีนี้วันที่พวกเราพรีเซนต์งานกัน มีโปรดิวเซอร์และคนของรัฐบาลขับรถจากโซลมาดูโชว์เคสที่ต่างจังหวัด มีประชาชนแถวนั้นมาดู คนของหน่วยงานรัฐที่มาจากโซล เขาบอกเราอย่างภูมิใจเลยว่ากลุ่มละครจากกวางจูนี้คือเพชรของฉัน เป็นความภูมิใจของประเทศเขา

หลังจากกลับจากเกาหลีไม่นาน เพื่อนที่เกาหลีได้รับเชิญให้ไปแสดงงานต่างจังหวัด แล้วหลังจากนั้นเกาหลีก็มีเทศกาลงานแสดงเยอะมาก แม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่อยู่ไกลมาก เขาก็มีเทศกาลในต่างจังหวัด เชิญศิลปินไปทำนู่นนี่เพื่อโปรโมตจังหวัด ประเด็นมันคือการสนับสนุน เรามีการกระจายอำนาจของการดูงานไปที่อื่นๆ หรือเปล่า  

เรื่องพวกนี้ต้องการการสนับสนุนที่เป็นระบบจากรัฐ ไม่ว่าจะพื้นที่ การกระจายงาน หรือการช่วยเหลือเมื่อยามไม่มีงาน เหมือนที่ยุโรปมีสวัสดิการ ถ้าศิลปินตกงาน ไม่ได้ไปซ้อม แต่รัฐบาลยังเลี้ยงอยู่ อย่างน้อยก็ไม่โดดเดี่ยวนะ แต่ของเรารอบที่ผ่านมา เวลาจะไปต้อนรับใครก็ขอให้กลุ่มการแสดงไปถึงสุวรรณภูมิ แต่พอเกิดปัญหา กลุ่มนี้กลับถูกลืมก่อน 

พูดถึงลักษณะการแสดง บางคนอาจจะบอกว่าคนเข้าถึงวิธีการนำเสนอของหมอลำหรือคอนเสิร์ตได้ง่ายกว่า ไม่ต้องถอดรหัสเหมือนการแสดงแบบ B-floor คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าเราเอาความมาตรฐานบางอย่างไปจับ คำตอบมักจะเป็นคนน่าจะดูไม่รู้เรื่อง เราต้องปีนบันไดดู แต่เราเคยมีประสบการณ์หนึ่ง สมัยที่ท้องสนามหลวงยังไม่มีรั้ว มีผู้คนไปนอนเยอะแยะ เราทำโปรเจกต์กับเพื่อนญี่ปุ่น เอาวิดีโอไปถ่ายแล้วเต้นตามที่ต่างๆ เราไปเต้นกลางสนามหลวง ได้ยินเสียงผู้คนถามกันว่า “เขาทำอะไรกันน่ะ” แล้วมีคนบอกว่า “เขาทำงานศิลปะ” 

นี่ไง มันก็ง่ายแบบนี้แหละ สักพักก็มีคนมาเต้นกับเรา เราเลยเชื่อว่าผู้ชมมีความสามารถในการรับ เพียงแต่ช่องทางการรับสารเราตรงกันไหม ประสบการณ์ของสิ่งที่เราทำเป็นแบบไหน ประสบการณ์ของผู้ชมอาจเคยเห็นงานแบบนี้มาน้อยหรือไม่เคยเห็น แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจก็ได้ เขาอาจจะชอบไฟที่ทำสวยมาก หรืออาจจะชอบประโยคเดียว หรืออาจจะเป็นคนมีความรู้ ดูแล้วเข้าใจหมดเลย เข้าใจยิ่งกว่าที่เราทำ คิดไปยิ่งกว่าที่เราคิด 

ทุกคนมีความสามารถแบบนี้หมด เพียงแต่ว่าอะไรที่ทำให้เราไม่กล้าบอกว่าเราคิดอย่างนี้ ในฐานะคนดู มีเยอะแยะมากเลยนะที่ทำให้เราไม่กล้าพูดว่าเราไม่ชอบ หรือไม่กล้าใส่ความคิดเห็น บางคนอาจคิดว่างาน B-floor ห่วยก็ได้ 

แต่เข้าใจว่าในบางบริบทก็ยากจริงๆ เช่น ทำงานต่างจังหวัด เราเป็นนักแสดง เราก็อยากทำให้เต็มที่ ไปให้สุด แล้วเมื่อเส้นคนทำงานอยู่ตรงนี้ แต่คนดูพร้อมจะรับเราอยู่ตรงนี้ มันอยู่กันคนละปลายสะพาน อาจจะสื่อสารกันยาก ซึ่งเราไม่ได้ดูถูกดูแคลนอะไรนะ ขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนมากที่มองว่างานศิลปะคือเอนเตอร์เทนเมนต์ ศิลปะต้องรับใช้ศาสนา รับใช้ความดีงาม ศิลปะเป็นการแสดงออกเรื่องส่วนตัว ศิลปะเป็นปรัชญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด

คนทำงานก็มีหลายแบบเหมือนกัน ด้วยวัยและการพัฒนางานตัวเอง เพื่อนเราเคยมาดูเราแสดง แล้วในงานมีคำว่า physical theatre คืออะไร เพื่อนถามว่า “โห จารุนันท์ทำมาตั้ง 10 ปี แล้วยังต้องอธิบายว่า physical theatre คืออะไรอีกเหรอ” เราบอกว่า “เออ ยังต้องอธิบายอยู่” 

ถ้าในแง่ที่ว่าเราต้องพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในประเทศนี้ งานที่ดูยากขึ้นคือความท้าทายในการแลกเปลี่ยน เราก็ต้องพูด การจัดให้มีเสวนาในพื้นที่ต่างๆ คนได้เห็นว่าคนนั้นพูดเรื่องนี้ คนนั้นพูดอย่างนี้ แล้วงานที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้มีการตีความหลากหลาย เราอาจจะได้ฟังสิ่งอื่นที่มีคนคิดไม่เหมือนเรา

นี่คือสิ่งที่สำคัญ การกระจายอำนาจทางวัฒนธรรมอยู่ตรงไหน เมื่อมันมีแค่กรุงเทพฯ แสดงว่าที่อื่นเขาไปคุยกันตรงไหน ถ้ามีพื้นที่ให้คนมาแสดงความเห็น มาเปิดกว้างเรียนรู้กันได้ แล้วทำให้เกิดพื้นที่ยอมรับว่าเราเห็นความสวยไม่เหมือนกัน เราตีความไม่เหมือนกัน เรามองงานศิลปะไม่เหมือนกัน ก็คงจะดี ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่รัฐใดรัฐหนึ่งควรจะซัพพอร์ตคนในประเทศ

นอกจากรูปแบบการแสดงที่ไม่เหมือนกลุ่มละครอื่นๆ B-floor มักหยิบเรื่องสังคมการเมืองมาสื่อสารในงานตลอด ในฐานะผู้ก่อตั้ง คุณคิดว่ามีความน่าสนใจอะไรในการเปลี่ยนแปลงสังคมในช่วง 20 ปีของการทำงานนี้บ้างไหม

เราสังเกตว่าสังคมขยับไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างตอนทำ FLU-FOOL (การแสดงเกี่ยวกับบันทึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553) ตอนจัดแสดงเมื่อปี 2010 มีคนบอกว่า “เธอคิดอย่างนี้เหรอ ฉันจะไม่ดู B-floor อีกแล้ว” เขารู้สึกว่าเราเป็นคนละฝั่งความคิดกัน

ปี 2020 เราเอามาแสดงอีกครั้ง แล้วเปลี่ยนตอนท้ายเพื่อตั้งคำถามว่า ในเมื่อการประท้วงในปีนั้นยกระดับมาถึงขั้นนี้แล้ว เราในฐานะคนทำงานศิลปะควรจะอยู่ตรงไหน 

การตอบสนองของคนต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาก สมมติมีฉากหนึ่งที่ตู้มเรื่องการเมืองขึ้นมา เมื่อก่อนคนจะรู้สึกว่า ‘ฉึ่ง’ เราจะรู้สึกถึงความซิ้บปากของคนดู แต่ปี 2020 ในฉากเดียวกันจะเกิดการเฮขึ้นมา ดังนั้นบรรยากาศคนดูเปลี่ยน คนอีกฝั่งทางความคิดเยอะขึ้น คนที่บอกจะไม่ดูงานเราอีกแล้วน้อยลง 

มันน่าสนใจตรงที่พอเราแสดง FLU-FOOL ในปี 2020 จบไปแล้ว เรามีบันทึกวิดีโอไว้ มีคนไปติดต่อให้เอาไปฉายในโรงหนัง ซึ่งต้องส่งเซนเซอร์ (คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์) แล้วเขาไม่ให้ผ่าน เพราะว่ามันน่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย 

อืม (คิด) เราก็คิดว่าบางอย่างเปลี่ยนแปลงแล้วนะ แต่บางอย่างก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

พอคนดูเปลี่ยนไป การเลือกประเด็นการเมืองมานำเสนอเป็นเรื่องง่ายขึ้นไหม

ไม่ได้ง่ายหรือยาก เราพูดเรื่องเดิมอยู่แล้ว ข้อดีของการเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล เราจะรู้สึกว่าทำอะไรก็ทำเถอะ อีกอย่างคือ พอกลุ่มเราเริ่มจากหาทุนจากแหล่งต่างๆ เอง แล้วทำใจว่าเรื่องแบบเราอาจจะเจ๊งนะ เพราะฉะนั้นจงทำเรื่องที่อยากทำ เลยทำให้ไม่คิดมาก 

โดยส่วนตัว มีหลายเรื่องแหละที่อยากทำ บางทีก็อยากลองแนวโรแมนติกบ้าง แบบโรมิโอ-จูเลียตก็อยากทำ แต่ในเมื่อมีทุนเท่านี้ คำถามคือจะเลือกทำเรื่องอะไรล่ะ ในเมื่อเรื่องที่เรามองเห็นในสังคมมันสำคัญ แล้วเราจะไม่เลือกทำเหรอ ก็ทำไปเลย เพราะในฐานะสื่อไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องเดียวกัน

แล้วในความเป็นกลุ่มละครของ B-floor เรื่องที่ใครสักคนอยากเล่าเป็นเรื่องสำคัญเสมอ ต่อให้เรื่องนั้นมีความเป็นส่วนตัว เขาก็ควรจะได้รับการสนับสนุน เรื่องทุกเรื่องควรถูกเล่า ไม่ว่าด้วยวิธีใด

B-floor เคยเจอการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในการแสดงเรื่อง บางละเมิด (2010) เนื่องจากเรื่องนี้พูดถึงคดีอากง 112 แล้วหลังจากเกิดม็อบ 2-3 ปีมานี้มีการใช้กฎหมาย 112 ปราบปรามคนเห็นต่างมากขึ้น คุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

รู้สึกเหมือนเอาดาวพระศุกร์มาเล่นซ้ำ (หัวเราะ) ซึ่งจะดีเหรอ ต่อให้เธอเปลี่ยนนางเอก เธอก็เล่นซ้ำสิ่งเดิม 

ถ้ามองประเทศไทยเป็นเวทีการแสดง สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมักจบด้วยประโยคสอนตอนท้ายว่า ‘แล้วความดีก็ชนะความชั่ว’ แต่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ความดีนั้นเป็นอย่างไร ไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมพระเอกไปข่มขืนนางเอก ที่พระเอกข่มขืนนางเอกแล้วไม่ผิดเพราะพระเอกเป็นความดี ต่อให้ทำไม่ดีก็ยังเป็นความดี   

แต่พอมีคนเอ๊ะ หรือสั่นสะเทือน ก็ไม่ยอมรับการสั่นสะเทือนนั้น ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าว่าความดีก็มีสีเทาๆ ชวนความชั่วมาช่วยกันทำให้เป็นสีเทาที่สวยงามเถอะ มันไม่เคยได้ข้อสรุปใหม่ ไม่เคยได้ข้อสรุปว่าคนดีมีหลายเฉด ความชั่วมีหลายเฉด แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรดี ตอนนี้มีแค่ฉันจะดีเพียวๆ ส่วนคนนั้นชั่วเพียวๆ แล้วฉันดีเท่านั้นถึงจะชนะ

สำหรับประเทศนี้ เส้นเรื่อง ‘ความดีชนะความชั่ว’ ยังแข็งแรงอยู่ แม้มีคนพยายามจะเบลอมันหรือพยายามสั่นคลอนด้วยการเล่าเรื่องใหม่ก็ตาม  

ถ้ามองประเทศไทยเป็นเวทีการแสดง สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมักจบด้วยประโยคสอนตอนท้ายว่า ‘แล้วความดีก็ชนะความชั่ว’ แต่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ความดีนั้นเป็นอย่างไร    

แต่ถ้ามองภาพรวม เส้นเรื่องในสังคมไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยหรือ เพราะก่อนหน้านี้คุณบอกว่าคนดู B-floor ก็เปลี่ยนไป

มีๆ แต่เราไม่รู้ว่าคนดู B-floor จะนับเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ คงน้อยมากสำหรับคนในกรุงเทพฯ แล้วถ้าเทียบกับประเทศ คนกรุงเทพฯ เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศนี้ เราเลยคิดว่าคงมีในจุดที่แค่เกาให้เส้นเรื่องนี้คันๆ

เราจึงไม่อยากสรุปว่า “ใช่ สังคมเปลี่ยนไปแล้ว” เพราะเราอาจอยู่ในเอคโคแชมเบอร์ตัวเองก็ได้ ถ้าอยากรู้ เดี๋ยวเรามารอดูการเลือกตั้งกันค่ะ (หัวเราะ) 

ถ้ามองสังคมไทยเป็นนาฏกรรม คุณคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประเภทไหน

slow burn (แนวเรื่องแบบเนิบช้า) โคตรอึดอัด ต้องอดทน แต่เราต้องมีความหวัง

ในความเป็นแนวเรื่องเนิบช้า คุณคิดว่าตอนนี้เส้นเรื่องของสังคมไทยดำเนินเรื่องมาอยู่ตรงจุดไหนแล้ว

(คิด) ถ้าเทียบเป็นกราฟภูเขา ตอนนี้ผ่านไคลแม็กซ์ที่หนึ่งมาแล้ว กำลังจะขึ้นกราฟใหม่ แล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นแบบนี้ก็ได้ (ทำมือโค้งขึ้นสุดแขน) อาจจะเป็นอย่างนี้ (ทำมือโค้งขึ้นครึ่งตัว) เราอาจไม่ได้มีเส้นเรื่องลงสุด อาจจะขึ้นถึงจุดหนึ่งแล้วลงมานิดเดียวเพื่อรออยู่ ซึ่งบางทีตัวละครอีกฝั่งหนึ่งอาจจะทำลายตัวเองก็ได้

แสดงว่าเส้นเรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนไป

เปลี่ยนได้หลายแบบเลย สำหรับเรามองว่ามันกำลังถูกขยาย อาจจะถูกเกาจากหลายๆ ภาคส่วน คนละนิดคนละหน่อย ช่วงเวลาของการเกาๆ เขย่าๆ อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาของตู้มแตก 

อย่าเพิ่งท้อ เราอาจอยู่ในไมโครเวฟที่กด 3 นาที แล้วเกิดปฏิกิริยาขึ้นก็ได้ อาจจะไม่ใช่หม้อต้ม อาจจะเร็วกว่าที่เราคิด อาจจะเกิดการเจรจาแล้วแบ่งสัดส่วนที่ทุกคนโอเคในเร็วๆ นี้ก็ได้

แม้คุณจะบอกว่าเส้นเรื่องในสังคมยังไม่เปลี่ยน แต่ทำไมคุณยังมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

เพราะเราเห็นงานที่พูดเรื่องตัวเอง เห็นงานหลากหลายขึ้น เราเห็นงานจากการแสดง เราเห็นการแสดงที่เกิดขึ้นที่อุบลฯ ขอนแก่น เชียงราย สงขลา เราเลยรู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหว มีสิ่งที่กำลังดำเนินไปอยู่ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ฟูมฟักให้ใหญ่ขึ้น เส้นเรื่องรองที่กำลังเล่า ถ้าแข็งแรงพอ น่าจะกลายเป็นเส้นเรื่องหลักได้ 

ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าต้องรอดูกระแสเส้นเรื่องใหม่ผ่านการเลือกตั้ง สำหรับคนทำงานศิลปะการแสดง อยากเห็นความหวังแบบไหนจากบทต่อไปที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งครั้งนี้

คาดหวังว่าจะมีระบบนิเวศที่แข็งแรงขึ้น เวลามีพรรคการเมืองมาถามว่าควรสนับสนุนคนทำงานละครอย่างไร เราเคยเสนอไปว่า อย่างแรก มีรูปแบบนโยบายทำระบบลดหย่อนภาษีได้ไหม ถ้าเอกชนมีอาคารสถานที่ไม่ได้ใช้ แล้วให้คนทำงานศิลปะไปใช้ได้ คุณจะได้ลดภาษีที่ดินหรือภาษีอะไรก็ว่าไป หรือถ้าคุณมาดูงานศิลปะ ดูการแสดง ดูหนังที่มาจากผู้กำกับไทย คุณสามารถลดหย่อนภาษีได้นะ อย่างน้อยที่เหลือ เดี๋ยวเอกชนน่าจะจัดการกันเอง เราเชื่อมั่นในเอกชนของประเทศไทยนะ มันอาจจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้าง แต่พูดโดยภาพรวมน่าจะเป็นการกระตุ้นที่ดีได้อย่างรวดเร็ว

เรื่องที่สอง ระบบราชการในบ้านเรามีการบล็อกเยอะ เช่น จริงๆ ในประเทศไทยมีโรงละครเยอะมากที่อยู่ตามวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรืออาคารของราชการที่ไม่ได้ใช้ สเปซพวกนั้นเปิดให้ศิลปินใช้ได้ไหม อย่างน้อยที่สุดเป็นที่ซ้อมสำหรับงาน performing arts หรือเป็นสตูดิโอให้ศิลปินงานวิชวลอาร์ต อาจจะเก็บค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟก็ได้ แล้วเงื่อนไขเรื่องเวลาที่อาจจะต้องเข้าเฉพาะเวลาข้าราชการ ขอเปลี่ยนได้ไหม 

จริงๆ ไม่เคยขอใช้สถานที่ราชการนะ แต่เข้าใจว่าถ้าจะใช้จริงๆ ก็ต้องทำเอกสารหลายอย่าง หรือมีคนรู้จักทำงานที่นั่น ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่จะลบการขอใช้พื้นที่ยากๆ ออกไปเพื่อให้ศิลปินมีพื้นที่ทำงานได้ 

ท้ายที่สุดคือการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ ปูทางช่วยเขาได้ในช่วง 4-5 ปีหลังจากเรียนจบก่อนจะไปสู่สถานะศิลปินที่ฉันจะขายงานได้ ทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพได้ ลองนึกถึงคนในสังคมนี้ที่เขาเติบโตขึ้นได้ เช่น อภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล), พี่พิเชษฐ (กลั่นชื่น), มิลลิ (ดนุภา คณาธีรกุล), ลิซ่า (ลลิษา มโนบาล), หรือง่ายๆ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ก่อนที่เขาจะทำให้เราเห็นผลงาน เขาผ่านอะไรมาบ้าง ก่อนที่เขาจะมาเป็นเขาแบบนี้ เราไม่ได้ช่วย grooming เขาเลยนะ เขาใช้ต้นทุนชีวิตของเขาเพื่อสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ แล้วเราแค่ไปจับเอาความสำเร็จของเขามา

ดังนั้น พูดง่ายๆ เราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ ศิลปินรุ่นใหม่ เขามีพื้นที่ได้ทดลองไม่ต้องห่วงเรื่องกินข้าวมาก เขาจะได้ลองผิดลองถูกกับการสร้างงานได้

คำถามสุดท้าย หลายปีมานี้รัฐมักใช้คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ บ่อยมาก ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ เมื่อได้ยินแบบนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร

(ถอนหายใจ) รู้สึกสงสัยว่าจะไปเปิดป้ายงานที่ไหนล่ะ (หัวเราะ)

แต่เอาจริงๆ เราเคยเจอข้าราชการใหม่ๆ ที่เข้าใจสังคม อยากให้ฮึ้บไว้ อย่าหวั่นไหว ค่อยๆ ทำไป กรุณาเติบใหญ่ และจำความรู้สึกที่เราอยากจะผลักเรื่องพวกนี้ไว้ จริงๆ ทุกคนไม่ว่าทำอาชีพอะไร ฮึ้บๆ ไว้ เรามารอเลือกตั้งกันเนอะ 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save