อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ: ทุกข์ของแรงงานในความคลุมเครือของ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ: ทุกข์ของแรงงานในความคลุมเครือของ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’

วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ภาพ

 

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มค่อยๆ ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แพลตฟอร์มส่งอาหารขยับบทบาทกลายมาเป็นส่วนสำคัญของผู้คนระหว่างช่วงหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ดังที่เห็นว่าในช่วงล็อกดาวน์ แม้ถนนในกรุงเทพฯ จะโล่งสักเพียงไร แต่ก็ไม่เคยห่างหายจากมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารของแอปพลิเคชันต่างๆ

แม้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้สังคม แต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือข้อพิพาทจำนวนมาก เนื่องเพราะภาครัฐไม่มีการกำกับดูแลและกฎหมายที่มีอยู่ก็ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจรูปแบบใหม่

นอกจากผลกระทบต่อผู้บริโภคแล้ว แง่มุมที่สังคมไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังนักคือสิทธิของคนทำงานบนแพลตฟอร์ม รวมไปถึงคนที่อยู่ในอาชีพเหล่านี้มาก่อนและได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ศึกษาเรื่องนี้ผ่านงานวิจัย เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทย ร่วมกับ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เน้นศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน

ปัจจุบัน อรรคณัฐ อยู่ในระหว่างการวิจัยเรื่องหลักประกันทางสังคมของแรงงานบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยชิ้นนี้เน้นไปที่แรงงานบนแพลตฟอร์มส่งอาหาร และพบปัญหาจำนวนมากของคนทำงาน เมื่อแพลตฟอร์มผลักความรับผิดชอบให้คนทำงานต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ เอง

สิ่งที่อรรคณัฐเน้นย้ำคือต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเริ่มต้นจากการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ปล่อยให้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มอยู่ในความคลุมเครือแล้วสานต่อความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคมต่อไป

 

akkanut wantanasombut

 

ตอนเริ่มทำงานวิจัยเรื่อง ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทย’ ตั้งคำถามใหญ่ไว้ว่าอะไร

เราต้องการดูว่าการเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มไปดิสรัปต์ธุรกิจแบบเดิมยังไงบ้าง เป็นผลต่อเนื่องจากที่ผมเขียนเรื่องรถแดงเชียงใหม่ให้ TCIJ ตอนนั้นแอปฯ Uber เพิ่งเข้ามาแล้วมีปัญหาขัดแย้งกัน ซึ่งผมพบว่าต้นเหตุจริงๆ เป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะ ธุรกิจหยิบจุดนี้มาเป็นโอกาสก็เลยมาเปิดธุรกิจที่นี่ ยิ่งทำให้เกิดความเลื่อมล้ำกับคนที่อยู่ในอาชีพนี้มาก่อน อย่างรถแดง เขามีต้นทุนมากกว่าการอยู่ใต้การกำกับดูแล เช่น ใบขับขี่สาธารณะ การจดทะเบียนรถสาธารณะ เขารู้สึกว่าแอปฯ พวกนี้ทำให้เขาสูญเสียความมั่นคงทางอาชีพเลยเกิดการต่อต้าน

ในงานวิจัยชิ้นแรกสำรวจ 3 แพลตฟอร์ม คือ Uber เรื่องขนส่งสาธารณะ, Airbnb เรื่องที่พัก, BeNeat บริการแม่บ้าน แล้วได้ภาพรวมว่ารูปแบบการทำธุรกิจของแพลตฟอร์มมีลักษณะคล้ายกัน คือ อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ช่องโหว่ของการกำกับดูแลภาครัฐ แล้วแสวงประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุดโดยที่ไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบกับคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มและคนที่อยู่ในอาชีพนั้นมาก่อนยังไงบ้าง

 

คนที่อยู่ในอาชีพนั้นมาก่อนจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจแพลตฟอร์มที่เกิดใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ด้วย จึงเกิดการเถียงกันว่าทำไมคนที่ทำอาชีพนั้นมาก่อนจึงไม่ปรับตัว เราควรมองประเด็นนี้ยังไง

ผมไม่ปฏิเสธประโยชน์ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เราควรนำเทคโนโลยีมาเป็นแกนกลางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามันทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับคนที่อยู่ในอาชีพนั้นมาก่อนก็เป็นเรื่องที่รัฐหรือผู้มีหน้าที่กำกับดูแลต้องมาให้ความเป็นธรรม รวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มด้วย แต่แพลตฟอร์มไม่สนใจแม้กระทั่งคนที่ทำงานให้กับแพลตฟอร์มเอง ไม่สนใจสภาพการทำงานว่าจะเป็นยังไง ตั้งหน้าตั้งตาจะขูดรีดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

วาทกรรมที่เรียกคนมาทำงานบนแพลตฟอร์มว่า ‘พาร์ทเนอร์’ คือความต้องการหลีกเลี่ยงการตีความความสัมพันธ์การจ้างงาน ถ้าตีความสภาพการจ้างงานว่าเป็นลักษณะนายจ้างกับลูกจ้างเหมือนแรงงานในระบบทั่วไป เจ้าของแพลตฟอร์มก็จะมีหน้าที่และข้อผูกพันตามกฎหมายเรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่พอบิดไปเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ซึ่งคำนี้ในความเป็นจริงหมายถึงหุ้นส่วนธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้าง ก็ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมายที่ต้องไปดูแลคนที่ทำงานให้กับแพลตฟอร์ม และพยายามทำให้คนทำงานคิดว่านี่เป็นความสัมพันธ์ที่ดี พวกเขาเป็นนายตัวเอง ทำมากได้มาก มีอิสระในการทำงาน เลือกเวลาในการทำงานได้ ในแง่หนึ่งความยืดหยุ่นในการทำงานก็มีประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีปัญหาหลายอย่างซ่อนอยู่

 

เวลาเกิดข่าวมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อยแกร็บเพราะมาแย่งการทำมาหากินแล้วเห็นอะไรบ้าง

มอเตอร์ไซค์รับจ้างน่าเห็นใจในแง่ที่ว่า 1. พวกเขามีทางเลือกไม่มาก เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสมากนักในสังคม 2. ถูกรัฐกำกับดูแลเรื่องต่างๆ รวมทั้งค่าโดยสาร ซึ่งก็มีบ้างที่ไม่ทำตาม 3. มีต้นทุนมากกว่า การเข้าสู่อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีรายจ่ายหลายอย่าง แล้ววันหนึ่งมีใครก็ไม่รู้เข้ามาทำงานเดียวกันโดยไม่ต้องอยู่ในชุดการกำกับดูแลแบบเดียวกัน ทำให้ความมั่นคงทางอาชีพของเขาสั่นคลอน พวกเขานับว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะโอกาสทางอาชีพมีไม่มากนัก เข้าใจสาเหตุที่เขาโกรธแค้น ถ้าเราไปถามครูว่า หากให้การประกอบอาชีพครูไม่ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ หรือเป็นหมอโดยไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ได้ไหม ก็คงมีคำตอบคล้ายๆ กัน

ผมมีความเห็นอกเห็นใจมอเตอร์ไซค์รับจ้างว่าเขาสูญเสียความมั่นคงในอาชีพจากความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการ และการไม่มีความสามารถในการกำกับดูแลของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แต่การไปต่อยคนอื่น ทำร้ายร่างกายคนอื่นมันก็ไม่ควร พวกเขายังมีวิธีอื่นที่ทำได้

 

 

มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขับวินและทำงานบนแพลตฟอร์มไปพร้อมกันมากไหม    

มีเยอะ และคิดว่าที่จริงแอปฯ ควรส่งเสริมคนกลุ่มนี้ แต่วิธีคิดของธุรกิจคือการมีคนมาทำงานบนแพลตฟอร์มมากจะยิ่งเพิ่มความมั่นคงให้กับแอปฯ เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ เช่น ถ้าบริเวณนั้นไม่มีมอเตอร์ไซรับจ้างหรือใช้ระยะเวลานานกว่าจะมาถึง ถ้าคุณตอบสนองความต้องการได้ในระยะเวลาที่สั้นมากเท่าไหร่คุณก็มีโอกาสในการขายมากขึ้นเท่านั้น ธุรกิจไม่ได้เลือกมนุษย์ ไม่ได้เลือกกฎหมาย ใครจะทะเลาะหรือตีกันก็ไปเสี่ยงกันเอง คนทำงานจะโดนมอเตอร์ไซค์รับจ้างตีหัวก็ไปเสี่ยงเอา บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบส่วนนี้

 

ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มคืออะไร

ปัญหาหลักคือเรื่องการกำกับดูแลของรัฐ กฎหมายไทยตามไม่ทันรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ หลายประเทศมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นที่ไต้หวันมีคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร foodpanda ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะทำงาน รัฐบาลก็มาทบทวนว่า ตกลงแล้วคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มนั้นเป็นลูกจ้าง หรือเป็นแรงงานอิสระ เหมาช่วงแบบฟรีแลนซ์ เขาศึกษาแล้วได้ข้อสรุปว่า แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มมีสภาพการจ้างงานเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม หมายความว่าบริษัทต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

สำหรับประเทศไทย เมื่อคนที่ทำงานให้แพลตฟอร์มส่งอาหารประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต บริษัทก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยใดๆ เพราะก่อนทำงานจะต้องคลิกยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขยาวเป็นหมื่นคำ ซึ่งระบุไว้ว่าคนทำงานไม่สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ผ่านมามีกรณีเสียชีวิต บริษัทก็แค่ส่งพวงหรีดให้ บางคนกำลังไปส่งอาหารแล้วประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในหน้าที่ อาหารไปไม่ถึง คนสั่งไม่ทราบก็รีพอร์ตว่าไม่ได้มาส่งอาหาร บริษัทก็ไปบล็อกโดยที่ไม่รู้ว่าเขาตายไปแล้วระหว่างทำหน้าที่ เรื่องแบบนี้มีเยอะมาก

บริษัทจะมีมาตรการจูงใจให้คนทำงานอยู่กับแพลตฟอร์มนานๆ เพราะจำนวนคนทำงานเป็นความมั่นคงของบริษัท ซึ่งได้ส่วนแบ่งทุกออเดอร์ แต่การปล่อยให้คนจำนวนมากทำงานบนแพลตฟอร์มทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันกันเอง และคนทำงานถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัว พวกเขาไม่กล้าปฏิเสธงาน ต้องรีบกดรับ แล้วตอนนี้มีการปล่อยให้งานที่ 2 ซ้อนเข้ามาทั้งที่งานที่ 1 ยังไม่เสร็จ คนวิ่งทำงานโดยไม่มีโอกาสได้หยุด พวกเขากลัวว่าถ้าปฏิเสธก็จะมีผลต่อคะแนนและโอกาสในการได้รับงานต่อ

นอกจากนี้มีแพลตฟอร์มร่วมกับธนาคารบางแห่งเริ่มปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยสูงแล้วหักเงินรายวัน หรือให้ซื้อโทรศัพท์แล้วผ่อนรายวัน ช่วงนี้ไม่มีงาน มีกรณีคนขับไม่มีเงินให้ระบบหักอัตโนมัติเพื่อผ่อนส่งโทรศัพท์ โทรศัพท์ก็ล็อกตัวเองไม่สามารถใช้ได้เลย

 

เวลาเกิดอุบัติเหตุคนขับต้องรับผิดชอบตัวเอง?

บางคนมีงานประจำแล้วมาขับเป็นอาชีพเสริมก็มีประกันสังคมที่ทำกับบริษัทตัวเอง ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการกระทำที่เอาเปรียบ เพราะนายจ้างงานประจำเป็นคนส่งเงินสมทบประกันสังคม ไม่ใช่แพลตฟอร์ม แต่พอมาทำงานบนแพลตฟอร์มแล้วประสบอุบัติเหตุก็ใช้สิทธิ์ประกันสังคม

คนจำนวนมากที่ทำงานบนแพลตฟอร์มเป็นอาชีพหลักจะใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคิดว่าไม่ค่อยแฟร์ ในเมื่อบริษัทได้ประโยชน์จากการทำงานของแรงงาน ตามกฎหมายแรงงานและบริษัทควรเข้าระบบประกันสังคม บริษัทจ่ายสมทบตามกฎหมาย แรงงานก็จะได้ความคุ้มครองทางสังคมรูปแบบอื่นด้วย แต่พอความสัมพันธ์การจ้างงานถูกบิดเป็นว่าคนทำงานบนแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นลูกจ้าง บริษัทก็ไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายสมทบ เขาเลยจูงใจว่าถ้าขับจนมีรายได้สูงถึงระดับฮีโร่ คือประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน บริษัทจะมอบประกันอุบัติเหตุให้ 1 เดือน คนขับต้องทำงานเยอะๆ และต้องทำให้ได้ทุกเดือนเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษ พวกเขาไม่รู้ตัวว่าบริษัทต้องการทำงานหนักเพื่อที่จะได้สิทธิ ไม่นับรวมว่าอำนาจในการได้งานหรือไม่อยู่ที่โอกาสที่บริษัทจะหยิบยื่นให้ โดยไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอัลกอริทึมการจับคู่ทำงานอย่างไรกันแน่

 

 

ปัญหาอยู่ที่การนิยามตามกฎหมาย เมื่อไม่ใช่ลูกจ้างก็ไม่ต้องดูแล

เมื่อดูการนิยามคำว่า ‘ลูกจ้าง-นายจ้าง’ ตามกฎหมาย งานประเภทนี้จะอยู่ในรูปแบบแรงงานนอกระบบ เพราะเป็นการจ้างงานแบบจบเป็นครั้ง ทุกประเทศล้วนมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายกับการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม เพราะเป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การกำกับดูแลในแต่ละประเทศโดยมากเขาจะไปดูกฎหมายที่มีอยู่ ถ้ายังไม่ครอบคลุมความสัมพันธ์การจ้างงานแบบนี้ก็มีวิธีการแก้ คือ 1. ออกกฎหมายใหม่ 2. แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่

ในบางประเทศมองว่าแม้เป็นการจ้างงานแบบจบเป็นครั้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายการจ้างงานแบบ self-employed แต่แอปพลิเคชันเข้าไปยุ่งกับขั้นตอนการทำงาน กำหนดว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ก่อนจะส่งอาหารต้องถ่ายรูปอาหาร รูปใบเสร็จ เซลฟี่ให้เห็นว่าใส่เครื่องแบบและมีกล่องของแพลตฟอร์ม ตอนนี้กำหนดให้ใส่หน้ากากด้วย บางประเทศจึงพิจารณาว่าเป็นการจ้างงานในระบบเพราะไปกำกับขั้นตอนการทำงาน

แต่บางประเทศเขาดูว่าใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ซึ่งในที่นี้คือรถกับโทรศัพท์มือถือ เมื่อปัจจัยการผลิตเป็นของคนทำงานจึงถือว่าเป็นการจ้างงานแบบจ้างเหมา แต่ละประเทศมีวิธีการพิจารณาแตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยเขามาพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะคลุมเครือ ไม่มีการกำกับดูแลใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อผู้บริโภคแฮปปี้กับบริการที่ได้ ก็ไม่สนใจว่าเป็นการเอาเปรียบคนทำงานไหม กลไกตลาดถูกบิดเบือนไหม ราคาอาหาร  ค่าส่ง แพงเกินจริงไหม

ในช่วงแรกแพลตฟอร์มส่งอาหารให้ร้านค้าเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มฟรี โดยไม่แจ้งว่าพอผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเก็บส่วนแบ่งกำไร พอคนมาใช้เยอะขึ้น มีคนส่งเยอะขึ้น เขาก็เปลี่ยนนโยบายไปเรียกเก็บกับร้านค้า 30-35% ซึ่งมันเยอะมาก ร้านค้าเห็นว่าเป็นต้นทุนที่มากขึ้นก็มีทางเลือกสองทาง 1. ลดปริมาณอาหาร หรือ 2. ใช้วิธีเพิ่มราคาสินค้า ผู้บริโภคก็ไม่รู้ตัวว่าราคาสินค้าถูกเพิ่มเข้ามา ต้นทุนที่แท้จริงถูกผลักมาอยู่ที่ผู้บริโภค แล้วส่วนแบ่งที่ได้เพิ่มมาก็ไม่ได้แบ่งให้คนขับเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นที่ช่วงหลังมีข่าวแอปฯ ส่งอาหารขึ้นราคา เก็บค่าธรรมเนียมการสั่งอาหารที่มีมูลค่าไม่มาก

 

แพลตฟอร์มส่งอาหารมี 4 ส่วน คือ ผู้บริโภค ร้านอาหาร คนขับ และแพลตฟอร์ม ที่จริงแล้วการขนส่งมีต้นทุนสูง แต่ถ้าทำให้ราคาถูกได้ ต้องมีใครสักคนรับภาระ จากการศึกษาเห็นแนวโน้มไหมว่าต้นทุนนี้อยู่กับใคร ฝั่งแพลตฟอร์มก็บอกว่าเขาขาดทุน แต่เขาเอาข้อมูลไปทำอย่างอื่นต่อได้

ที่จริงต้องโทษโมเดลธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ คือการเสนอไอเดียธุรกิจมาแล้วหานักลงทุน สตาร์ทอัพจำนวนมากไม่ได้สนใจการทำกำไรจากธุรกิจมากเท่ากับการสร้างมูลค่าให้กับตัวธุรกิจ สตาร์ทอัพมักยอมขาดทุน บิดเบือนกลไกตลาดในช่วงแรกเพื่อให้มีคนใช้มาก และเสนอค่าตอบแทนเกินจริงในช่วงแรกให้มีคนมาทำงานบนแพลตฟอร์มมาก เพื่อสร้างการเติบโต ขยายไปตามประเทศต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้ตัวบริษัท จุดหมายคือการเข้าตลาด พอเข้าตลาดหุ้นพวกนักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพจะได้กำไรจากการขายหุ้น โดยเฉพาะในวันแรกๆ ของการเข้าตลาด

บ่อยครั้งที่บริษัทซึ่งเป็นโมเดลสตาร์ทอัพเข้าตลาดหุ้นแล้วเจ๊ง อย่าง Uber ไตรมาสแรกหลังเข้าตลาดหุ้น บริษัทก็แจ้งผู้ถือหุ้นว่าขาดทุนไป 3,000 ล้านเหรียญ เพราะโมเดลธุรกิจมันไม่ทำกำไร แต่ใครจะสนเพราะพวก founder ได้เงินคืนจากการขายหุ้นตอน IPO ไปแล้ว เหลือแต่เหล่าแมงเม่าที่ติดดอย

โมเดลแบบสตาร์ทอัพเป็น zero-sum game ถ้ามีคนหนึ่งได้ก็ต้องมีคนใดคนหนึ่งเสีย สำหรับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในอุดมคติ ผมคิดว่าทั้งผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ และตัวแพลตฟอร์ม ควรต้องมีอำนาจพอๆ กัน สามารถต่อรองกันได้ ไม่ควรมีใครมีอำนาจมากที่สุดที่จะกำหนดว่าใครควรเสียมากกว่าใคร โดยเอาผู้บริโภคมาเป็นตัวประกัน อาศัยความคลุมเครือ แพลตฟอร์ม อย่าง Grab ซึ่งมีทั้งส่วนที่ถูกและผิดกฎหมาย GrabFood ถูกกฎหมาย การส่งอาหารไม่มีกฎหมายควบคุม แต่ GrabCar มีปัญหาเพราะมี พ.ร.บ. จราจรทางบก บังคับใช้อยู่ แพลตฟอร์มก็ทำให้ตัวเองคลุมเครือคือมีทั้งถูกและผิดในตัวเอง

ในช่วงวิกฤตโควิดนี้คนเดินทางน้อยลงแต่คนสั่งอาหารมากขึ้น Grab ก็อนุญาตให้คนขับ GrabCar มาร่วมส่งอาหารด้วย แต่ให้ค่าตอบแทนเท่ากับคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร บริษัทไม่ต้องเสียอะไร เพราะว่าใครจะส่งบริษัทก็ได้ส่วนแบ่งเท่าเดิม ผมคุยกับคนที่ทำ GrabFood อยู่ก่อน พวกเขาไม่พอใจมากเพราะมีคู่แข่งเข้ามาแย่งรับงานเพิ่ม แทนที่ดีมานด์เยอะ แล้วเขาจะได้งานเยอะขึ้น

การทำงานของอัลกอริทึมก็คลุมเครือ บางครั้งระบบให้คะแนนก็ไม่ได้สะท้อนการบริการจริงๆ มีคนที่แกล้งกัน ผมเข้าไปอยู่ในกลุ่มพูดคุยของคนที่ทำงานนี้จะเห็นกรณีพิพาทระหว่างคนขับกับคนสั่งทุกวัน แพลตฟอร์มก็ไม่ได้เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่ดี บ่อยครั้งที่ปล่อยให้คนส่งและคนสั่งเผชิญหน้ากันเอง หรือกรณีที่แพลตฟอร์มเข้ามาไกล่เกลี่ย ก็จะเลือกฟังคนสั่งมากกว่าคนส่ง ไม่มีความเท่าเทียมในอำนาจต่อรอง

 

มีกลุ่มพูดคุยที่คนทำงานบนแพลตฟอร์มสร้างไว้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน สามารถทำให้เกิดการรวมตัวจนนำไปสู่ข้อเรียกร้องต่อแพลตฟอร์มได้ไหม

ที่ผ่านมาเขาแค่รวมตัวกันเพื่อระบายความในใจ แต่ไม่สามารถจะไปถึงขั้นเจรจากับบริษัทได้ ในงานวิจัยชิ้นก่อน ผมได้สัมภาษณ์คนขับทั้ง Uber และ Grab เล่าว่ากลุ่มที่เขารวมตัวกันนั้นถูกก่อตั้งโดยคนของบริษัท จึงจะถูกมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีคนกล้าทำอะไรเพราะกลัวถูกดีดออกจากระบบ อย่างมากก็บ่นเพื่อระบาย

ที่น่าสนใจคือกรณีศึกษาในต่างประเทศ กลุ่มที่เรียกร้องให้เกิดการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองระหว่างคนทำงานกับแพลตฟอร์มเป็นสหภาพแรงงานอื่นๆ ไม่ใช่สหภาพแรงงานของคนส่งอาหาร สหภาพเหล่านั้นเขามาเป็นตัวกลางจัดตั้งให้คนรวมตัวกัน มีสิ่งที่เรียกว่าสำนึกชนชั้นแรงงาน ขณะที่สหภาพแรงงานในไทยจะทำงานเคลื่อนไหวเฉพาะประเด็นของตัวเอง ไม่ได้ผลักดันไปสู่การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมในภาพรวม

ในญี่ปุ่นคนที่ทำงานใน Uber Eats สามารถรวมตัวเป็นสหภาพได้ เพราะเขามีวัฒนธรรมเรื่องสหภาพที่เข้มแข็ง แต่ในประเทศไทยอาชีพแบบนี้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นสหภาพได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้คนที่มีวิชาชีพเดียวกันมาจัดตั้งสหภาพ ต้องเป็นลูกจ้างในบริษัทเดียวกันเท่านั้น แล้วคนงานบนแพลตฟอร์มก็ไม่ได้ถูกมองเป็นลูกจ้างของบริษัท จึงไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ ทำได้เต็มที่คือรวมกลุ่มกันเป็นสมาคม ซึ่งจะก็ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์

 

 

การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาของแพลตฟอร์มเดิมที่มีอยู่หรือเปล่า เมื่อมีทางเลือกให้คนทำงานบนแพลตฟอร์มมากขึ้น

ก็ช่วยแก้ปัญหาหลายอย่าง สะดวกกับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น จากสภาพเดิมที่เราต้องเดินไปเรียกวินมอเตอร์ไซค์ที่หน้าปากซอย เทคโนโลยีก็อำนวยความสะดวกให้เรามากขึ้นเรียกมารับได้จากหน้าบ้าน เทคโนโลยีควรจะถูกใช้เพื่อสร้างมุลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ทำให้สภาพการทำงานดีขึ้น มีสวัสดิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีมีศักยภาพทำได้แน่นอน แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าธุรกิจใช้เทคโนโลยีในการขูดรีดคนทำงาน ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของคนอื่นมาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองมากจนเกินไป เอาเปรียบผู้บริโภคเกินไป

ยกตัวอย่างที่ประเทศพม่า รถทุกคันที่วิ่งใน Grab เป็นแท็กซี่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาไม่อนุญาตให้ใครก็ได้มาวิ่ง แต่ทำไมบริษัทเดียวกันนี้ ทำธุรกิจในประเทศไทยซึ่งรู้อยู่แล้วรถที่ไม่ได้จดทะเบียนแท็กซี่นำมาวิ่งรับผู้โดยสารไม่ได้ คนขับที่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะผิดกฎหมาย กลับยอมให้ใครก็ได้เข้ามาวิ่ง ผมคิดว่าเขาคงศึกษาแล้วว่าแท็กซี่ไทยมีปัญหาในการให้บริการ การเอาคนอื่นเข้ามาวิ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจเพราะผู้บริโภคเบื่อหน่ายแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร และคงคำนวณแล้วว่าทางนี้จะได้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีกว่า ผิดกฎหมายก็ทำไปก่อนแล้วค่อยผลักดันให้ถูกกฎหมายทีหลัง

ในขณะที่ LINE ซึ่งให้บริการ LINE TAXI กลับไม่ได้เปิดให้ใครก็ได้เข้ามาวิ่ง เขาทำตามกฎหมายให้แท็กซี่เท่านั้นที่วิ่งได้ พอ Lineman มาทำส่งอาหารช่วงแรกเขาก็ยังไม่ได้เก็บค่าบริการจากร้านค้า LINE ใช้วิธีหาพาร์ทเนอร์ เรื่องร้านอาหารเขาเป็นพาร์ทเนอร์กับ Wongnai ส่วนส่งของก็พาร์ทเนอร์กับ Lalamove แต่ตอนนี้ Lineเริ่มเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเก็บส่วนแบ่งจากร้านอาหาร แต่ก็ยังมีทางออกให้ร้านที่ไม่จ่าย 30% ก็ยังอยู่บนแพลตฟอร์มได้ แต่ลูกค้าจะแทบจะมองเห็นจากในแอปฯ คือต้องเสิร์ชเอา เขาให้ร้านที่ยอมจ่ายแสดงผลในส่วนต้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าการถูกมองเห็นก่อนย่อมหมายถึงโอกาสในการขายที่มากขึ้น อย่างน้อยยังถือว่าได้เปิดโอกาสให้ร้านค้าที่ไม่อยากเสียกำไรให้กับบริษัทยังทำธุรกิจได้อยู่

 

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มในด้านหนึ่งก็เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อีกแง่ก็เกิดปัญหาเอาเปรียบแรงงาน น้ำหนักของมันอยู่ที่ empower หรือ exploit กันแน่

มันควรจะ empower คน เพราะเทคโนโลยีมีศักยภาพมาก แต่เจ้าของธุรกิจก็แสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีไป exploit คนอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม คำนึงแต่เรื่องกำไร สร้างมูลค่าของบริษัท ผู้กำหนดนโยบายอย่างรัฐบาลไทยก็มองแต่ว่าศักยภาพของเทคโนโลยีจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงผลกระทบทางสังคมเลย สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงทุนในการสร้างแพลตฟอร์ม ส่งเสริมโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งที่จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้จำนวนมากเป็นคนที่เข้าถึงโอกาสอยู่แล้ว ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมให้ขยายไปกันใหญ่

ในภาพใหญ่ของธุรกิจแพลตฟอร์มจะมีนักลงทุนซึ่งเข้ามาลงทุนเพราะหวังประโยชน์อย่างอื่นที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง ถ้าเข้าไปดูการระดมทุนรอบต่างๆ ของ Grab หรือ GET จะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Google, SoftBank เข้ามาลงทุน บริษัทพวกนี้ไม่ได้ทำธุรกิจขนส่ง ที่เขาสนใจคือข้อมูล กลายเป็นว่าธุรกิจแพลตฟอร์มพวกนี้ไม่ได้ทำกำไรจากตัวธุรกิจอย่างเดียว แต่ทำกำไรจากข้อมูลทั้งของลูกค้าและคนทำงานให้พวกเขา

Joseph Schumpeter ผู้ซึ่งเป็นเสมือนพระบิดาแห่งวงการนวัตกรรมโลกบอกว่า นวัตกรรมมีประโยชน์ เพราะจะทำให้การผูกขาดเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพอมีใครเริ่มผูกขาดตลาดก็จะมีคนประดิษฐ์อะไรขึ้นมาแล้วไปแข่งกับเจ้าเก่า นี่คือการทำลายแบบสร้างสรรค์ (creative destruction) แต่ในโลกปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว เดี๋ยวนี้เจ้าใหญ่ไปซื้อเจ้าเล็กที่มีแนวโน้มจะเป็นคู่แข่งของตัวเองเพราะโมเดลธุรกิจแบบสตาร์ทอัพเอื้อให้ทำแบบนี้ได้

อย่างเครือเซ็นทรัลอยู่ในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป คนหันมาใช้ E-commerce/M-commerce กันมากขึ้น เซ็นทรัลเป็นกลุ่มทุนใหญ่ การจะพัฒนาแพลตฟอร์มเองไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีทุน แต่ต้องใช้ทั้งเวลา กำลังคน และไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองถนัด เขาจึงร่วมมือกับ JD แพลตฟอร์มใหญ่จากจีน กลายเป็น JD CENTRAL เมื่อค้าปลีกแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มต้องมาพร้อมกับประสิทธิภาพและเครือข่ายการขนส่ง เซ็นทรัลก็ไปลงทุนใน Grab ประเทศไทย เพื่อใช้ศักยภาพของแพลตฟอร์ม มาสนับสนุนเรื่องการขนส่งให้ กลายเป็นว่าธุรกิจใหญ่ก็ยังมีแนวโน้มขยายความสามารถในการผูกขาดไปได้เรื่อยๆ

จะเห็นชัดว่า ตอนที่ในไทยมีทั้ง Uber และ Grab ทั้งสองแพลตฟอร์มต้องแข่งกันจัดโปรโมชันให้ทั้งผู้บริโภคและคนขับให้มาขับบนแพลตฟอร์มของตนเอง แต่พอมาควบรวมกัน Uber ถือหุ้นประมาณ 30% ใน Grab กลายเป็นว่ามีเจ้าเดียวในตลาด คนทำงานก็ไม่มีอำนาจในการต่อรอง จากที่เคยเลือกได้ว่าแอปฯ ไหนรายได้ดีกว่า วิ่งแอปฯ นั้น ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก เวลาฝนตกรถติด ค่าโดยสารสูงมากเท่าไหร่ก็ต้องจ่าย

 

แพลตฟอร์มตัวเดียวกัน เมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมตะวันตกหรือสังคมไทยจะมีความแตกต่างกันไหม สภาพสังคมมีผลต่อแพลตฟอร์มอย่างไร

แม้จะเป็นบริษัทเดียวกันก็ตาม แต่สภาพสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ มีผลอย่างมากต่อธุรกิจ บางสังคมยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดการผูกขาดหรือให้แพลตฟอร์มเข้ามามีอำนาจต่อผู้บริโภคและคนทำงานบนแพลตฟอร์มมาก บางสังคมก็มีวัฒนธรรมต่อรอง มีวัฒนธรรมการเรียกร้องที่เข้มแข็ง สามารถสร้างกลไกต่อรองกับบริษัทหรือกดดันให้รัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลมากำกับธุรกิจดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคได้

สังคมไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการเรียกร้อง พอคนไม่พอใจแล้วด่าบริษัท คนอื่นก็จะบอกว่าบริษัทเขาก็ต้องลงทุน ต้องหากำไร ถ้าไม่มีบริษัทเราจะทำยังไง ต้องเห็นใจบริษัทด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ถูกกดขี่อยู่

นี่คือปัญหาแบบใหม่ที่มีความซับซ้อน ทั้งเรื่องแรงงาน หลักประกันทางสังคม การแข่งขัน อย่างเรื่องแอปฯ ขนส่ง ก็ยังเกี่ยวพันกรมการขนส่ง แค่นี้ก็เกี่ยวพันหลายกระทรวงแล้ว โครงสร้างของเราไม่เอื้ออำนวยให้แก้ปัญหานี้แบบบูรณาการได้เลย ตอนนี้กระทรวงที่มีบทบาทจะทำให้แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย คือกระทรวงคมนาคม แต่กระทรวงแรงงานก็ยังไม่ทำอะไร ไม่ได้คิดว่าคนขับรถคือแรงงานประเภทหนึ่ง

 

 

เรื่องการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต้องยึดหลักอะไร เพราะมีหลายโจทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภค แรงงาน ผู้ประกอบการ แพลตฟอร์ม

หลักคิดในการกำกับดูแลต้องเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง เพราะเจตนารมณ์ของการกำกับดูแลคือเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เช่น หลักการกำกับดูแลแท็กซี่ คือ ห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร คนขับต้องแต่งกายสุภาพ ต้องเอารถไปตรวจสภาพ เบื้องหลังข้อกำหนดเหล่านี้คือเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ขณะเดียวกันการกำกับดูแลต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ทำงาน และให้ความเป็นธรรมกับธุรกิจด้วย ถ้าแท็กซี่ถูกควบคุมราคาแล้วแพลตฟอร์มจะไม่มีการกำกับเรื่องอัตราค่าโดยสารเหรอ เราปล่อยให้มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้

 

มีโมเดลการกำกับดูแลของประเทศไหนที่น่าสนใจและประเทศไทยปรับตามได้ไม่ยาก ภายใต้เงื่อนไขของเราที่มีแรงงานนอกระบบเยอะ อำนาจต่อรองไม่มี

สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่แบบนี้ ผู้กำกับดูแลสามารถทำ sandbox ได้ ให้เอกชนที่จะทำธุรกิจเสนอมาแล้วทดลองทำ รัฐก็มีเครื่องมือของตนเองที่จะทดลองในระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูว่าการกำกับดูแลแบบนี้เหมาะสมไหม อย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียก็ยอมให้คนขับรถในแอปพลิเคชันถูกกฎหมายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะได้ศึกษาแนวทางกำกับดูแลที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริโภค ว่าควรจะเป็นแบบไหน

 

เมื่อเกิดการระบาดของ โควิด19 ทำให้แพลตฟอร์มส่งอาหารเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตคน ในสถานการณ์นี้ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจแพลตฟอร์มและมีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นใหม่

ตอนนี้น่าจะเป็นโอกาสของแพลตฟอร์มที่ก็เห็นชัดเจนว่าเขาพยายามฉวยโอกาสเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการรับคนเข้ามาวิ่งเยอะขึ้น ยอมผ่อนปรนข้อกำหนดบางอย่างเพื่อให้คนย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้น โอกาสที่มากขึ้นก็ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบที่มากขึ้น แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคบริษัทลดเฉพาะเวลาการทำงานส่วนการบริการลูกค้าที่สำนักงานลง แต่ส่วนที่ให้คนขับใหม่มาอบรมยังเปิดบริการตามปกติ ซึ่งย้อนแย้งมาก เพราะเมื่อใช้บริการเยอะแล้วกรณีพิพาทก็เยอะตามมาด้วยแต่คนทำงานส่วนนี้ลดลง ขณะที่การสมัครเข้าทำงานยังทำได้เท่ากับในภาวะปกติ

สถานการณ์โควิดทำให้คนในสังคมเริ่มหันกลับมาตั้งคำถามกับธุรกิจแบบนี้ว่าเขาฉวยโอกาสมากไปหรือเปล่า พอสื่อมวลชนสนใจกรณีนี้กันมากขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความตระหนักรู้ เริ่มตั้งคำถามกับบริษัท บริษัทก็ยอมถอย แต่ถอยเฉพาะในประเด็นที่ผู้บริโภคโวย แต่ไปไม่ถึงประเด็นที่คนทำงานเรียกร้องเลย ผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนที่บริษัทเอาเปรียบคนทำงานบนแพลตฟอร์ม ผู้บริโภครู้สึกเฉพาะในส่วนที่ตัวเองเสียประโยชน์

 

บริษัทมีมาตรการดูแลความปลอดภัยคนทำงานที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างไร คนขับได้อะไรเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงนี้

ไม่มีอะไรมาก เท่าที่ติดตามมีการแจกเจลล้างมือในจำนวนจำกัด ช่วงที่ภาครัฐพูดถึงความเสี่ยงของคนส่งอาหาร บริษัทก็ออกมาตรการว่าถ้าจะส่งงานต้องถ่ายรูปที่มีผ้าปิดจมูก หากใครไม่มีบริษัทจะส่งให้โดยคิดค่าส่งไปรษณีย์ 35 บาท และเขาไม่ได้มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนเรื่องการไปรอที่ร้านอาหาร กลายเป็นภาระของร้าน ตามห้างก็มีการจัดสถานที่ให้ร้านมารับออเดอร์ในโถงโล่ง และให้นั่งรอห่างๆ กัน

 

 

การฉวยขึ้นราคาช่วงวิกฤต แม้ต่อมาจะประกาศยกเลิก เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไร ในต่างประเทศมีกรณีคล้ายกันนี้ไหม

เท่าที่ทราบไม่เห็นข่าวฉวยขึ้นราคาในต่างประเทศมากนัก ที่ซานฟรานซิสโกมีคำสั่งว่าบริการส่งอาหารห้ามหักค่าบริการจากร้านอาหารเกิน 15% นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ทวีตเรียกร้องให้ประชาชนสั่งอาหารจากร้านอาหารในท้องถิ่น อย่าสั่งผ่านแพลตฟอร์ม Uber eats ที่เรียกเก็บส่วนต่างจากร้านค้า 35% ในสถานการณ์แบบนี้ภาครัฐควรจะมีบทบาท อาจไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายแต่ควรแนะนำข้อควรปฏิบัติ หรือกำหนดว่าราคาค่าส่งอาหารไม่ควรเกินเท่าไหร่ เช่น คนขับควรจะได้ไม่ต่ำกว่ากี่บาทต่อกิโลเมตร ผู้บริโภคควรเสียไม่เกินกี่บาทต่อกิโลเมตร เป็นแนวทางคร่าวๆ

กรณีการขึ้นราคาที่สุดท้ายบริษัทต้องยอมถอยกลับมาเพราะถูกผู้บริโภคกดดันว่าจะฉวยโอกาสขึ้นราคาในภาวะแบบนี้ไม่ได้ ทั้งที่ที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยตอบสนองต่อปัญหาของคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มเลย แสดงว่าผู้บริโภคสามารถเป็นผู้เปลี่ยนพฤติกรรมของธุรกิจได้

 

ทราบว่ากำลังทำแพลตฟอร์มใหม่เพื่อช่วยเหลือวินมอเตอร์ไซค์ในภาวะโควิด แพลตฟอร์มนี้จะมาแก้ปัญหาอย่างไร

โครงการ ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ เป็นไอเดียช่วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างในภาวะโควิดที่ไม่ค่อยมีการเดินทางและเพิ่มโอกาสการขายของร้านอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม และส่วนงานในจุฬาฯ เราไม่ได้พัฒนาแอปฯ มาแข่งกับเขา แต่จะพยายามใช้แพลตฟอร์มสื่อสารต่างๆ ช่วยเหลือร้านค้าที่เข้าไม่ถึงแพลตฟอร์มส่งอาหารที่มีอยู่หรือไม่อยากถูกหัก 30%

เราจะใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งรับอาหารไปส่งที่บ้านในย่านลาดพร้าว โดยทดลองกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รวมตัวกันเข้มแข็ง เป็นโครงการนำร่องให้คนในชุมชนได้เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจกันเอง โดยพยายามแก้ปัญหาของแพลตฟอร์มเดิมที่มีอยู่ คือ 1. แพลตฟอร์มไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าส่ง เป็นราคาเดิมที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีมาตรฐานการส่งผู้โดยสารของเขาอยู่แล้ว 2. แพลตฟอร์มไม่ได้แสวงหากำไร เพียงแค่เป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาชีพที่มากขึ้นเท่านั้น

โจทย์ท้าทายที่สุดของโครงการคือเรื่องความยั่งยืนของโครงการ ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ และดำเนินการต่อได้ด้วยตัวเอง

 

ที่ผ่านมาในสื่อกระแสหลักหรือกระทั่งในวงวิชาการเองมองเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในแง่ดีเกินไปไหม

มองแบบเดียวกับมุมมองของรัฐที่เห็นโอกาสแบบใหม่ มองแต่ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ไม่เพียงพอ เราจะละเลยผลกระทบทางสังคมไม่ได้  เช่น แรงงานแบบเดิมเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะช่วยสร้างโอกาสให้เขาอย่างไร up-skill/re-skill เขาอย่างไร แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มเจอปัญหาในการทำงาน หรือผู้บริโภคถูกแพลตฟอร์มผูกขาดอำนาจในการกำหนดราคาจะทำอย่างไร

ภาครัฐคิดแต่ว่าสตาร์ทอัพจะเป็นยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จในเวลาไม่กี่ปี เขาเอางบประมาณรัฐซึ่งเป็นภาษีของพวกเราไปมุ่งสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในความเป็นจริงเมื่อรายไหนมีแนวโน้มประสบความสำเร็จ เอกชนรายใหญ่ก็เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพนั้น กลายเป็นของเอกชนไป ตอนนี้เราเห็นปรากฏการณ์ที่บริษัทเอกชนรายใหญ่หลายรายมาสร้างศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ พอเห็นว่าใครมีศักยภาพจะเป็นคู่แข่ง หรือจะมาช่วยขยายธุรกิจได้เขาก็เข้ามาลงทุน เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก

ประเด็นที่พูดถึงกันน้อยมากคือข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้สินค้าและบริการ ที่กลายมาเป็นสินค้าที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เอาไปทำกำไร

ที่ผ่านมามีการใช้คำว่า sharing economy ภาษาไทยใช้คำว่า ‘เศรษฐกิจแบ่งปัน’ ฟังแล้วดีงาม ผมค่อนข้างต่อต้านคำนี้ ถ้าใช้ในบริบทอย่างร้านกาแฟ หรือโคเวิร์กกิงสเปซ อันนี้ค่อนข้างตรง แต่ถ้าใช้กับการเรียกรถ หรือห้องพัก มันมีความเป็นการแสวงค่าเช่า (rent-seeking) มากกว่า เพราะเขาเข้ามาแชร์ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพยากรของเรา รถก็เป็นทรัพยากรของคนขับ ค่าใช้จ่ายเป็นภาระคนขับ แพลตฟอร์มใช้เทคโนโลยีมาหารายได้จากทรัพยากรของเรา แล้วยังมีอำนาจควบคุมการทำงานและควบคุมพฤติกรรมเราอีกด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Interviews

5 May 2024

สวนกล้วยของคนจีน-ชีวิตอาบสารเคมีของคนลาว: เสถียร ฉันทะ

101 คุยกับ ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ ผู้ทำวิจัยเรื่องสวนกล้วยจีนในลาวและพม่า ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและการคืบคลานของสวนกล้วยจีนที่ขยายไปในลุ่มน้ำโขง อย่างพม่าและกัมพูชา

วจนา วรรลยางกูร

5 May 2024

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save