fbpx
ปัญญาประดิษฐ์กับงานวารสารศาสตร์: การประสานงานที่ (ต้องเป็น) มากกว่าการเพิ่มผลผลิต

ปัญญาประดิษฐ์กับงานวารสารศาสตร์: การประสานงานที่ (ต้องเป็น) มากกว่าการเพิ่มผลผลิต

พรรษาสิริ กุหลาบ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีรายงานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) ในการเขียนข่าวและเป็นผู้ประกาศข่าวอยู่ประปราย โดยมักชี้ว่าเป็นความล้ำยุคและอนาคตของงานวารสารศาสตร์ พร้อมคำเตือนว่านักข่าวจะตกงานแน่ๆ ถ้าไม่พัฒนาทักษะ เพราะปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทน

แม้ความรู้และการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักวารสารศาสตร์ (และคนทั่วไปในสังคม) แต่มุมมองที่ว่า AI จะมาทำงานแทนนักข่าวได้ไม่เพียงสะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทำงานวารสารศาสตร์ที่ผิวเผิน แต่ยังแสดงถึงการให้คุณค่าต่อคนทำงานและกระบวนการผลิตข่าวว่าเป็นเพียงการคัดลอกและท่องจำข้อความ รวมถึงมองว่างานวารสารศาสตร์เป็นแค่การบอกเล่าเหตุการณ์ที่ “ใครๆ” หรือ “อะไร” ก็ทำได้

แต่ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า หรือที่ผ่านมา งานวารสารศาสตร์ที่ปรากฏสู่สาธารณชนก็มีอยู่แค่นั้น จึงไม่แปลกที่จะถูกตัดตอนและประเมินค่าเพียงสิ่งที่เห็น

 

มากกว่าเขียนข่าวและอ่านข่าว (แทนคน)

 

งานวิจัยเมื่อปี 2019 ของศาสตราจารย์ Charlie Beckett และคณะจาก LSE (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน) ซึ่งสำรวจองค์กรสื่อวารสารศาสตร์ 71 แห่งจาก 32 ประเทศทั่วโลก พบว่าห้องข่าวใช้ AI อยู่บ้างแล้ว ทั้งการใช้โปรแกรมเรียนรู้ (machine learning) ระบบอัตโนมัติ (automation) และการประมวลผลข้อมูล โดยใช้เพื่อการเก็บข้อมูล (newsgathering) การผลิตข่าว และการเผยแพร่ (distribution) ซึ่งสอดคล้องกับแรงจูงใจขององค์กรสื่อในการนำ AI มาใช้ ได้แก่ เพื่อทำให้การทำงานของนักข่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้รับสารได้ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ

แม้ในอนาคต AI จะมีความสำคัญในงานต่างๆ และกำหนดทิศทางของวารสารศาสตร์เช่นเดียวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ แต่ผลการสำรวจชี้ว่า คนในอุตสาหกรรมมองว่า AI จะมาเสริมและเพิ่มศักยภาพการทำงานมากกว่าการทำหน้าที่แทนคน โดยอาจจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ทว่าตำแหน่งงานเดิมในระบบก็ยังคงอยู่ และเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีเข้ามาด้วย

งานวิจัยนี้พบว่า AI ช่วยเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวปฏิบัติด้านเนื้อหาและจริยธรรมขององค์กรโดยส่งเสริมการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพและความหลากหลาย และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำงบประมาณส่วนที่ประหยัดได้จากการนำ AI เข้ามาใช้ ไปลงทุนกับการพัฒนาคุณภาพของงานและประสิทธิภาพการทำงานของคน การใช้ AI ตรวจสอบความไม่เป็นกลางจากการคำนวณของอัลกอริทึ่มหรืออคติที่คนในห้องข่าวมีอยู่เดิม เช่น การรายงานที่เลือกปฏิบัติต่อแนวคิดหรือกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งต้านการแพร่กระจายของข้อมูลผิดพลาด (misinformation) และปรากฏการณ์ฟองสบู่ตัวกรอง (filter bubble) ที่คัดเลือกเฉพาะเรื่องที่สอดคล้องกับมุมมองของผู้ผลิต/ผู้รับสารเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในการนำ AI ไปใช้ให้ได้ผล แต่ละองค์กรต้องวางแผนและกลยุทธ์การใช้ AI ที่สอดคล้องกับธรรมชาติและยุทธศาสตร์ขององค์กร เพราะแต่ละที่ก็มีโครงสร้างและความต้องการไม่เหมือนกัน การใช้ AI และการตั้งเป้าหมายจึงควรแตกต่างไปตามบริบท หมั่นทบทวนปัญหาและอุปสรรค ปรับระบบ (recalibrate) อยู่เรื่อยๆ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ รวมทั้งทำให้เนื้อหามีความหลากหลายสำหรับคนทุกกลุ่มยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ เมื่อ AI ช่วยลดภาระเรื่องการเก็บและประมวลข้อมูลขนาดใหญ่แล้ว ความท้าทายขององค์กรและคนทำงานสื่อคือการให้ความสำคัญกับมนุษย์ (human touch) ทั้งในการรายงานและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับสาร เพื่อสร้างความไว้วางใจจากสาธารณะในระยะยาว

 

สื่อท้องถิ่นกับ AI: เมื่อเทคโนโลยีช่วยตอบโจทย์ของชุมชน

 

กรณีศึกษาสื่อท้องถิ่นในสวีเดนเป็นรูปธรรมที่สะท้อนผลการวิจัยข้างต้น และชี้ให้เห็นว่า AI ช่วยให้สื่อท้องถิ่นคงอยู่ได้ด้วยการตอบสนองความต้องการข้อมูลข่าวสารของคนในพื้นที่ซึ่งแตกต่างจากวาระข่าวสารระดับชาติ ขณะที่สร้างรายได้ทั้งจากระบบสมาชิกและโฆษณา (จากผู้ประกอบการธุรกิจในท้องถิ่น) ให้กับองค์กรสื่อขนาดย่อมได้

Mitt Media ซึ่งเป็นบริษัทสื่อระดับภูมิภาค เห็นว่าข่าวกีฬาเป็นเนื้อหาที่คนยอมจ่ายเงินอ่าน แต่ข้อจำกัดในการทำงานแบบเดิมอย่างการรายงานที่เน้นผลการแข่งขันและการไม่ประสานงานกันระหว่างโต๊ะข่าว ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่มีเวลารายงานเกี่ยวกับท้องถิ่นหรือรายงานเชิงลึก เพราะต้องไปติดตามการแข่งขันกีฬาหลายประเภทและหลายแมตช์ แถมบางครั้งก็รายงานไม่ได้รวดเร็วหรือเจาะลึกเท่ากับสื่อระดับชาติ

บริษัทจึงนำ AI มาใช้เพื่อดึงผลการแข่งขันกีฬาจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และใช้โปรแกรมเขียนข่าวรายงานผล ระบบยังทำให้การรายงานมี human touch ด้วยการส่งข้อความไปถามโค้ชของทีมต่างๆ หลังจากจบการแข่งขันด้วยคำถามที่ปกตินักข่าวจะถามอยู่แล้ว แล้วนำคำตอบมาใส่ในรายงาน ข่าวที่ได้จึงไม่ใช่แค่การบอกผลการแข่งขัน แต่ยังมีความเห็นจากแหล่งข่าวบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

เมื่อนักข่าวไม่ต้องไปรอเกาะขอบสนาม ก็มีเวลามากขึ้นในการผลิตรายงานที่สอดคล้องกับความต้องการของคนท้องถิ่น ทั้งความเคลื่อนไหวของทีมระดับภูมิภาคที่สื่อระดับชาติไม่นำเสนอ พูดคุยกับนักกีฬาในพื้นที่ หรือหาแง่มุมใหม่ๆ ที่คนในชุมชนสนใจและมีความรู้สึกร่วม

นอกจากนี้ บริษัทยังปรับโครงสร้างและระบบการทำงานใหม่ที่เน้นการประสานงานกันของทีม รวมทั้งยกเลิกการผลิตข่าวสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อทุ่มกำลังคนและงบประมาณไปกับการผลิตที่หลากหลายสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสร้างรายได้ทั้งจากการสมัครสมาชิกและค่าโฆษณา

อีกตัวอย่างคือ Bärgslagsbladet/ Arboga Tidning (BBLAT) เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นซึ่งให้บริการประชาชนในพื้นที่ประมาณ 5 หมื่นคน ห้องข่าวที่มีทีมงานเพียง 6 คนจึงนำ AI มาใช้เป็นผู้สื่อข่าวกะกลางคืน โดยดึงข้อมูลจากแหล่งที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ ประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ และผลการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค มาเรียบเรียงเป็นข่าว รวมทั้งเป็นระบบอัตโนมัติในการส่งข่าวไปยังผู้รับสารตลอด 24 ชั่วโมง ผลจากการนำ AI มาใช้คือทีมงานมีเวลาผลิตเนื้อหาเชิงลึกที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่มากขึ้น และกำหนดเป้าหมายเป็นเนื้อหาที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารได้ ซึ่งนำไปสู่จำนวนสมาชิกและรายได้จากโฆษณาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้รับสารเองก็เห็นความสำคัญของสื่อชุมชนที่ทำให้เข้าถึงเนื้อหาที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในพื้นที่ ทั้งการรายงานสภาพอากาศ การจราจร การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และกีฬา

บทเรียนเหล่านี้สะท้อนว่า การใช้ AI ในห้องข่าวไม่ใช่เพียงนำเทคโนโลยีมาติดตั้งแล้วจบ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและวัฒนธรรมในการทำงานข่าวที่ส่งเสริมให้คนทำงานมีเวลาเพิ่ม พัฒนาทักษะที่หลากหลาย และส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะของชุมชน โดยต้องวิเคราะห์ก่อนว่าเนื้อหาประเภทใดเป็นที่ต้องการของผู้รับสารเป้าหมาย เนื้อหาแบบใดเป็นข้อมูลที่หาได้จากที่อื่นๆ เป็นงานรูทีนหรือเป็นข้อมูลแบบเดิมๆ และคนทำงานควรทุ่มเวลากับงานประเภทไหน

เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจนแล้ว องค์กรจึงปรับโครงสร้างการทำงาน โดยให้ AI ทำงานที่มีรูปแบบซ้ำๆ เพื่อให้คนผลิตรายงานขนาดยาว การรายงานเชิงลึก และการรายงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นการประสานงานระหว่างแผนกต่างๆ เพื่อแบ่งปันข้อมูลทักษะ และจัดสรรเวลาได้สอดคล้องกับการรายงานทางสื่อออนไลน์ โดยตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้ทั้งด้านผลผลิตและผลประกอบการทางธุรกิจให้ชัดเจนและเหมาะกับธรรมชาติขององค์กร

 

ที่สุดแล้ว การนำ AI มาใช้ในงานวารสารศาสตร์จึงไม่ใช่การนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนคน แต่เป็นการลดภาระและเพิ่มความสามารถขององค์กรและนักวารสารศาสตร์ เพื่อให้ใช้ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะมานำเสนอต่อประชาชนได้มากขึ้น มีคุณภาพขึ้น และทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสำหรับชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน และมุมมองที่หลากหลาย

ดังนั้น โจทย์สำคัญในการนำ AI มาใช้ในองค์กรสื่อวารสารศาสตร์คือ สังคมให้คุณค่าต่อข้อมูลข่าวสารแบบไหน และคุณค่าที่สังคมยึดมั่นเป็นอย่างไร เพราะหากดูจากเรื่องที่ “คนสนใจ” อย่างเดียว พื้นที่ข่าวสารจากองค์กรข่าวที่มี AI เป็นตัวช่วยก็อาจไม่ต่างจากข้อมูลข่าวสารที่ทั้งองค์กรสื่อและผู้ใช้ทั่วไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้

อีกคำถามคือ องค์กรสื่อมีวัฒนธรรมการฝึกฝนและลงทุนให้คนทำงาน ทั้งทักษะด้านเทคโนโลยีและการรายงานเชิงลึก รวมถึงส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และใช้ความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเอื้อต่อพื้นที่การสื่อสารที่ตั้งคำถามหรือเปิดเผยข้อมูลในเรื่องที่สาธารณะจำเป็นต้องรู้ หรือส่งเสริมการจัดการตนเองในระดับท้องถิ่นหรือไม่

พันธกิจขององค์กรสื่อวารสารศาสตร์ต่อสังคมประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้การทำงานตอบสนองประชาชน ถ้าสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย เทคโนโลยีที่สื่อนำมาใช้ก็เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้องค์กรสื่อร่ำรวยหรืออยู่รอดเท่านั้น ไม่ได้ยึดโยงกับการสร้างความเป็นพลเมืองแต่อย่างใด

แต่หากอุตสาหกรรมสื่อ (และคนในสังคม) เห็นว่าเทคโนโลยีจะมาทำงานแทนคนได้ และพอใจกับสภาพพื้นที่สาธารณะที่เป็นอยู่แล้ว ก็ต้องคิดกันต่อไปว่าแล้วข่าวสารที่เราได้รับจะเป็นอย่างไร เพียงพอต่อการใช้ชีวิต มีอำนาจตัดสินใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและสังคมหรือไม่ ในยุคที่ (อ้างว่า) จะให้เทคโนโลยีมาสร้างความสะดวกสบายให้ชีวิตเรา.

 

อ้างอิง

  • รายงานผลสำรวจของ Professor Charlie Beckett และคณะจาก LSE มีชื่อว่า News Powers, News Responsibilities เข้าถึงได้ที่ https://blogs.lse.ac.uk/polis/2019/11/18/new-powers-new-responsibilities/
  • องค์กรสื่อที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ส่วนในเอเชียมี Inaaj ในอินเดีย Tempo จากอินโดนีเซีย South China Morning Post ของฮ่องกง Malaysiakini ในมาเลเซีย และ Esquire ในสิงคโปร์
  • กรณีศึกษาการใช้ระบบอัตโนมัติในห้องข่าวของสแกนดิเนียเวีย เข้าถึงได้ที่ http://unitedrobots.ai/white-paper-newsroom-automation

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save