fbpx
ตื่นตัวทางการเมือง แสนเชื่องเรื่องเศรษฐกิจ?

ตื่นตัวทางการเมือง แสนเชื่องเรื่องเศรษฐกิจ?

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

ชื่อต้นฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือ เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] คือ Economics: The User’s Guide ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็น่าจะเป็น “คู่มือแนะนำการใช้เศรษฐศาสตร์” เพราะ ฮาจุน ชาง ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ผู้อ่านมีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอที่จะกลายเป็น “พลเมืองเศรษฐกิจที่แข็งขัน” (active economic citizen)

เรื่องแปลกอย่างหนึ่งในยุคข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้ก็คือ คนส่วนใหญ่พร้อมจะแสดงความเห็นต่อ(แทบ)ทุกประเด็นสาธารณะทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของจีนที่สูงขึ้น กฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกัน พุทธแท้พุทธเทียม หรือการบ้านการเมือง แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนมาด้านรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์โดยตรงก็ตาม เพราะหลายคนคิดในใจว่า ก็แน่ละ นี่มันเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตเรานี่นา ทำไมเราจะแสดงความเห็นไม่ได้

แต่พอจอโทรทัศน์ตัดภาพมาเป็นข่าวเศรษฐกิจ เช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าอุ้มธนาคารที่ล้มละลาย โรงงานผลิตมือถือซัมซุงย้ายฐานจากไทยไปเวียดนาม หรือดีเบตว่ารัฐบาลกำลัง “ถังแตก” หรือไม่ หลายคนกลับส่ายหน้าเบาๆ พลางคิดในใจว่า แน่ละ เศรษฐกิจเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ นโยบายอะไรต่อมิอะไรที่ใช้กันก็คงไตร่ตรองมาดีแล้ว ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราเลย เราไม่ได้เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ด้วย อยู่เฉยๆ เป็นผู้ฟังดีกว่า – ความตื่นตัวต่อประเด็นสาธารณะหายไปในบัดดล

ชางเห็นว่าผู้คนหวาดกลัวการแสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจก็เพราะ(หลง)เชื่อว่าวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมีความเป็น “วิทยาศาสตร์” ไม่ต่างอะไรกับฟิสิกส์หรือเคมี ที่ทุกปัญหาล้วนมีคำตอบที่ถูกต้องตายตัวเพียงหนี่งเดียว

แต่หนังสือ เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] ต้องการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านเห็นว่าเศรษฐศาสตร์ไม่มีทางที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้ในแบบเดียวกับฟิสิกส์หรือเคมี ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้นมีมากมายไม่ต่ำกว่าเก้าสำนัก แต่ละสำนักมองโลกความเป็นจริงด้วย “แว่นตา” ที่ต่างกัน (เช่น บางสำนักใช้ “ปัจเจก” เป็นหน่วยมองโลก บางสำนักใช้ “ชนชั้น”) มีจุดเน้นคนละจุด (เช่น บางสำนักเน้นเศรษฐกิจมหภาค บางสำนักเน้นบทบาทของเทคโนโลยี) ยึดถือคุณค่ากันคนละแบบ (เช่น บางสำนักยึดประสิทธิภาพการแข่งขัน บางสำนักยึดความเท่าเทียมในสังคม) วิธีคิดของแต่ละสำนักจึงเหมาะกับสถานการณ์คนละแบบ

พอทำความรู้จักแก่นพื้นฐานแล้ว ชางก็จะพาเราออกเดินทางไปสำรวจ “จักรวาลเศรษฐศาสตร์” ด้วยมุมมองใหม่ๆ ที่อาจทลายความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ของคุณไปโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าคุณคิดว่าทุนนิยมมีขึ้นมีลงเป็นอนิจจัง ชางจะบอกให้คุณรู้ว่ากลไกและนโยบายอะไรที่นำทุนนิยมไปสู่ความรุ่งโรจน์และร่วงโรย
  • ถ้าคุณคิดว่า “เสรีนิยม” มีความหมายเดียว ชางจะเล่าให้ฟังว่าความหมายของคำนี้เปลี่ยนไปแค่ไหนจากจุดเริ่มต้น และเสรีนิยมในสหรัฐอเมริกาต่างจากเสรีนิยมในยุโรปอย่างไร
  • ถ้าคุณคิดว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องของกลไกตลาดและปัจเจกบุคคล ชางจะอธิบายให้คุณเห็นว่าเหตุใดองค์กรธุรกิจต่างหากที่เป็น “พระเอกที่แท้จริง” ของระบบเศรษฐกิจ
  • ถ้าคุณคิดว่าประเทศอย่างกรีซหรือเม็กซิโกไม่เจริญเพราะมีแต่คนขี้เกียจ ชางจะแสดงข้อมูลให้คุณเห็นว่า ที่จริงแล้วคนเนเธอร์แลนด์ต่างหากที่ “ขี้เกียจ” ที่สุดในโลก แต่ก็ยังเจริญได้ เพราะอะไร

 

ก็เพราะเศรษฐกิจมีผลกับเราทุกคน เศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก – มากจนไม่ควรถูกทิ้งให้อยู่แต่ในมือของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ครับ

วิกฤตต้มยำกุ้งของไทยกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์รอบล่าสุดน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีของการทิ้งให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการเศรษฐกิจ เราทุกคนควรมีบทบาทแข็งขันในการแสดงความเห็นต่อนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ไม่ต่างจากที่เรามีความเห็นต่อเรื่องอื่นๆ ในสังคม แต่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะวิจารณ์ได้ว่าข้อเสนอทางเศรษฐกิจที่ได้ยินได้ฟังทางสาธารณะนั้น ข้อเสนอไหนที่ฟังดู “เข้าท่าเข้าทาง” มากที่สุด

การอ่าน เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] ก็เหมือนการพกเครื่องไม้เครื่องมืออย่าง “มีดพับสวิส” สารพัดประโยชน์ติดตัวไว้ท่องโลกเศรษฐกิจ

มาลองกันสักตั้งดีไหมครับ

 

……….

จากผู้เขียน: ขอเชิญร่วมงานเปิดตัวหนังสือ เศรษฐศาสตร์[ฉบับทางเลือก] และเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้สอน” โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ปกป้อง จันวิทย์ และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ร้านหนังสือ B2S สาขาเซ็นทรัลเวิร์ล จัดโดย B2S และสำนักพิมพ์ openworlds

……….

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save