fbpx

นี่คือตำแหน่งศาสตราจารย์หรือรางวัลโนเบล: 100 เดือนแล้วนะจะบอกให้

ผมยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์และมหาวิทยาลัยได้ตรวจรับเอกสารเมื่อเดือนตุลาคม 2558 บัดนี้ (มกราคม 2567) ระยะเวลาได้ผ่านไปครบ 100 เดือน แต่กระบวนการดังกล่าวนี้ก็ยังไม่สิ้นสุดลง

เป็นที่รับรู้กันว่าขั้นตอนการพิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเคยสำรวจข้อมูลกรอบระยะเวลาจากสถาบันอุดมศึกษา 45 แห่งเมื่อ 2561 พบว่าการดำเนินการสำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์ใช้เวลาเฉลี่ย 1 ปี 5 เดือน แต่ข้อมูลผ่านการบอกเล่ามักอยู่ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 4 ปี ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งบอกเป็นการส่วนตัวว่าเขาทั้งหมดใช้เวลา 5 ปี ซึ่งคิดว่าเป็นเวลายาวนานที่สุดที่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น ความยาวนานในการพิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ผมกำลังเผชิญอยู่จึงไม่ใช่สภาวะที่เป็นปกติอย่างแน่นอน

คำถามสำคัญก็คือว่าเกิดอะไรขึ้น ขั้นตอนการพิจารณาเป็นอย่างไร ผมต้องเผชิญกับอะไรบ้างในกระบวนการ ทั้งหมดเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือว่าเป็นเพียงปัญหาของระบบราชการโดยไม่มีอคติหรือการกลั่นแกล้งใดๆ ทั้งสิ้น

หากจำแนกช่วงจังหวะของความล่าช้าที่เกิดขึ้นกับผมในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงสำคัญด้วยกัน  

ช่วงแรก เมื่อมหาวิทยาลัยตรวจเอกสารและรับเรื่องว่าถูกต้องครบถ้วนเมื่อ 6 ตุลาคม 2558 ขั้นตอนสำคัญของกระบวนการนี้ก็คือ การหาผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินงานทางวิชาการทั้งหมดที่ได้ยื่นประกอบการขอตำแหน่งไป ความยุ่งยากที่ต้องประสบก็คือ การหาผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่ประเมินงานวิชาการที่ใช้ยื่นขอตำแหน่งซึ่งใช้เวลายาวนานประมาณ 1 ปี

สาเหตุหนึ่งที่ผมคาดเดาเองก็คือว่า โดยทั่วไปแล้วในแวดวงความรู้ด้านนิติศาสตร์นั้นมักมีการจำแนกสาขาต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมหาชน เป็นต้น แต่งานที่ผมใช้ในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์มีตั้งแต่ตำราการวิจัยกฎหมายทางเลือก, การศึกษารัฐธรรมนูญเชิงประวัติศาสตร์, การศึกษาสิทธิทางกฎหมายในเชิงปฏิบัติการ (Law in Action), กฎหมายกับเพศภาวะ (เพศวิถีและเพศหลากหลาย)

งานทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่สาขาวิชาเดียวกันตามขนบ อันเป็นผลจากความพยายามส่วนตัวที่อยากบุกเบิกการศึกษากฎหมายในแง่มุมที่สัมพันธ์กับแนวคิดทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจว่าจะหาผู้ทรงคุณวุฒิตามขนบมาอ่านได้ยากลำบาก

แต่ประเด็นนี้เป็นเพียงความยุ่งยากเบื้องต้นเท่านั้น ปัญหาที่ติดตามมาก็คือผลการประเมินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากผลงานวิชาการทั้งหมดที่มีความยาวประมาณ 1,200 หน้า ในเดือนกันยายน 2560 คณะกรรมการฯ มีมติให้แก้ไขปรับปรุงตำราการวิจัยกฎหมายทางเลือก ด้วยเหตุผลมีความยาวทั้งสิ้น 3 บรรทัด (ตามเอกสารชี้แจง) ดังนี้

“เห็นควรให้ปรับปรุงตำรา โดยเพิ่มเติมหลักกฎหมายพื้นฐานโดยภาพรวม และหลักกฎหมายในปัจจุบันของแต่ละเรื่องย่อยๆ โดยมีฐานความเข้าใจ มุมมองทางนิติปรัชญา ซึ่งบทแรกให้ใส่พื้นฐานของกฎหมายนิติปรัชญาและหลักกฎหมายพื้นฐานของแต่ละเรื่อง” 

ในเบื้องต้น ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเหตุผลของคณะกรรมการฯ เนื่องจากเห็นว่ามติดังกล่าวไม่ได้แสดงอย่างชัดเจนว่างานของผมมีข้อบกพร่องตรงส่วนใด ทั้งคณะกรรมการฯ ยังอาจไม่เข้าใจว่างานวิชาการที่ยื่นประกอบไปนั้นไม่ใช่ตำราทางกฎหมายแบบขนบ ผมจึงต้องการที่จะอุทธรณ์ผลคำตัดสินที่เกิดขึ้น (ขอชี้แจงว่าผมไม่ได้ขวนขวายไปสืบค้นว่าใครเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแม้ว่ากระทำได้ไม่ยากนัก เนื่องจากไม่อยากเกิดความตะขิดตะขวงใจในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคนที่รู้จักมักคุ้นกัน) แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่ากรณีนี้ไม่สามารถอุทธรณ์ได้เพราะเป็นมติให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม การอุทธรณ์จะทำได้ในเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ไม่ผ่านเท่านั้น

อันแปลว่าหากคณะกรรมการฯ มีมติให้แก้ไข ผู้ยื่นขอตำแหน่งไม่สามารถโต้แย้งใดๆ ได้เลย ต่อให้เหตุผลของคณะกรรมการฯ นั้นโหลยโท่ยเพียงใดก็ตามใช่หรือไม่

ช่วงที่สอง เมื่อไม่สามารถอุทธรณ์ต่อความเห็นของคณะกรรมการฯ ผมก็จัดการแก้ไขงานเพิ่มเติมไปประมาณ 50 หน้า (แบบไม่เต็มใจ) ปัญหาที่ตามมาก็คือว่าในงานที่ยื่นเสนอไปครั้งแรกเป็นการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ (และมีการจำหน่ายในท้องตลาด) แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมีการเผยแพร่งานนี้อีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการพิมพ์ในครั้งแรกยังขายไม่หมด หากจะบากหน้าไปขอให้สำนักพิมพ์แก้ไขเพิ่มเติมก็คงเป็นเรื่องที่ชวนกระอักกระอ่วนใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

สิ่งที่ผมทำก็คือ การจัดพิมพ์แบบจำนวนจำกัด งานวิชาการที่ปรับปรุงแก้ไขจึงไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากเท่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก การจัดพิมพ์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการทำเพื่อตอบสนองต่อความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ และให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์กติกาในการขอตำแหน่งเท่านั้น    

หลังจากยื่นงานวิชาการฉบับแก้ไขปรับปรุงไปยังคณะกรรมการฯ ในที่สุดก็ได้รับความเห็นชอบและมีการนำเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งได้มีมติอนุมัติตำแหน่งศาสตราจารย์โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 (อันเป็นวันยื่นเอกสารครบถ้วน)

หากพิจารณาจาก พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยฯ และขั้นตอนตามที่งานบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยได้ประกาศให้แก่บุคลากรทราบ ถือได้ว่าขั้นตอนในส่วนที่ผมต้องดำเนินการนั้นจบสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่การดำเนินการในขั้นตอนของการโปรดเกล้าฯ ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

แต่ความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเบาปัญญาอย่างสิ้นเชิง เพราะนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยากที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

ช่วงที่สาม ภายหลังจากสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติตำแหน่ง ทางฝ่ายบุคคลของมหาวิทยาลัยก็ได้มีการติดต่อให้ดำเนินการจัดทำเอกสารและการถ่ายรูปตามวิทยฐานะของตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ครบถ้วน ผมก็ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ และก็คิดว่ากระบวนการทั้งหมดคงจะไม่มีอะไรยุ่งยากอีกต่อไป

แต่ในชั่วระยะเวลาไม่นาน นับตั้งแต่ประมาณ 2563 เป็นต้นมาก็มีการติดต่อจากมหาวิทยาลัยมาหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ส่งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานวิชาการเพิ่มเติม ทั้งที่ในตอนยื่นเอกสารเมื่อ 2558 หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้รับเอกสารโดยไม่มีการโต้แย้ง และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาและมีมติอนุมัติตำแหน่งให้เรียบร้อยแล้ว

การลงมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยย่อมแสดงให้เห็นว่าการขอตำแหน่งได้ผ่านกระบวนการทั้งหมดมาอย่างถูกต้อง และมีเอกสารที่สามารถยืนยันถึงการตรวจสอบโดยมหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจน

ผมเองก็ได้ไปพบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายท่านเพื่อขอคำอธิบายและคำชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงได้พยายามอธิบายหรือตอบคำถามที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการเพิ่มเติมเท่าที่จะเป็นไปได้ เหตุผลสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ การถูกท้วงติงจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ ทั้งต้องการให้มีการส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่สำหรับผมแล้ว ในเมื่อขั้นตอนการยื่นเอกสารเมื่อ 2558 มหาวิทยาลัยได้ตรวจสอบและรับเอกสารไว้โดยไม่มีการท้วงติง การมาขอเอกสารย้อนหลังย่อมถือเป็นการสร้างภาระที่เกินกว่าจะเข้าใจได้

การติดต่อและการชี้แจงระหว่างผมกับมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างเชื่องช้า จดหมายแต่ละฉบับที่ผมมีคำถามไปกว่าจะได้รับคำตอบก็กินเวลาหลายเดือน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมคิดว่ามีจดหมายตอบโต้กันประมาณเกือบสิบฉบับ ไม่นับรวมการสนทนาทางโทรศัพท์ซึ่งในแต่ละครั้งก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้เห็นอย่างชัดเจน เดือนกันยายน 2566 ก็ได้รับทราบข่าวอย่างไม่เป็นทางการจากมหาวิทยาลัยว่าต้องมีการแก้ไขเอกสารอีกรอบหนึ่ง ผมได้แต่เบิกตาโพลงราวกับเจอผีห่าซาตานโผล่มาหลอกหลอนยามกลางวัน (เอกสารในรอบนี้ทางต้นสังกัดรับเป็นธุระให้) และได้ปฏิเสธไปว่าโดยส่วนตัวจะไม่ดำเนินการใดๆ อีกแล้ว

ต่อมาผมได้รับจดหมายชี้แจงจากผู้รับผิดชอบว่า บัดนี้ได้นำเรื่องของผมเสนอสภามหาวิทยาลัยอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2566 คำถามสำคัญก็คือว่าสภามหาวิทยาลัยอนุมัติตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ผมไปแล้วเมื่อ 2562 แล้วทำไมจึงยังต้องมาเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังหมายความว่าเรื่องของผมก็ยังอาจกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยได้อีกแบบไม่จบไม่สิ้น ระยะเวลาอาจยืดจาก 100 เดือน เป็น 120, 150 หรือจนผมเกษียณอายุจากการทำงานไปก่อนก็เป็นได้ ใช่หรือไม่

ในช่วง 100 เดือนที่ผ่านมา ผมผ่านอะไรมาบ้างจากการทำงานในมหาวิทยาลัยที่อวดอ้างว่าตนเองเป็น World Class University

อธิการบดี 3 คน, คณบดีคณะนิติศาสตร์ 3 คน (กำลังจะมีคนที่ 4), ได้ทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกประมาณ 10 โครงการ, ได้รับรางวัลวิจัยระดับดีจากสภาวิจัยแห่งชาติ 3 ครั้ง, พิมพ์หนังสือ 2 เล่ม, บทความในหนังสือวิชาการ 8 ชิ้น, ขอทุนให้นักศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน 5 คน, วิทยานิพนธ์ที่ดูแลได้รับรางวัลทั้งจากมหาวิทยาลัยและองค์กรภายนอก ฯลฯ

เจ้าหน้าที่คณะนิติศาสตร์คนหนึ่งซึ่งรับผิดชอบการขอตำแหน่งของผมตั้งแต่ยังเป็นสาว บัดนี้ลูกเธอเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาแล้ว

ผมไม่กล้ายืนยันว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญของความล่าช้านี้ รวมทั้งผมก็ไม่แน่ใจว่าเหตุปัจจัยอันใดจะชวนให้น่าตระหนกมากกว่ากันในความล่าช้าที่เกิดขึ้น ระหว่างการกลั่นแกล้ง (ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม) หรือว่าทั้งหมดเป็นเพียงสภาวะปกติของระบบราชการในมหาวิทยาลัย ‘นอกระบบ’ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการปัดแข้งปัดขาความก้าวหน้าในทางวิชาการเลย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save