fbpx

ฟังเสียงจาก ‘ผู้หญิงทำแท้ง’ ในวันที่โทษทางอาญา การตีตรา และอคติทางศีลธรรมบีบให้ผู้หญิงตายทั้งเป็น

ทำแท้งเสรี

“ทำแท้งแล้วระวังจะมีผีเด็กมาตามนะ”

ระวังนะ ทำแท้งแล้วชีวิตจะไม่เจริญ

อย่าทำเลย มันบาป

และอีกสารพันถ้อยคำที่พร้อมจะพรั่งพรูถาโถมใส่ ‘ผู้หญิงทำแท้ง’ ทั้งวาทกรรมความเป็นหญิงและความเป็นแม่ที่แม้จะพยายามสลัดให้หลุดเพียงไหนก็มิอาจหนีพ้น ทั้งยังต้องเวียนวนอยู่กับตราบาปและความเชื่อทางศีลธรรมที่ผู้คนยัดเยียดให้ ยิ่งด้วยเกิดมาเป็นผู้หญิงในสังคมเช่นนี้ หากใครสักคนเอ่ยปากมาเพียงหนึ่งคำว่าตัดสินใจจะ ‘ทำแท้ง’ ทั้งคำถาม ข้อสันนิษฐาน และข้อความหยามเหยียดมากมายก็พร้อมประเดประดังเข้าใส่ ทว่ากลับไม่มีแม้ความเห็นอกเห็นใจสักนิดต่อผู้หญิงที่ต้องเผชิญหน้าความโดดเดี่ยวนี้เพียงลำพัง

แม้ว่ากฎหมายการทำแท้งจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมไปเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา อันมีเนื้อหาสาระให้การทำแท้งเปิดกว้างมากขึ้น กระนั้น ก็ยังไม่เปิดกว้างมากพอจะโอบรับผู้หญิงท้องไม่พร้อมทุกคนเข้าสู่ระบบ เพราะนอกจากอคติและแรงกดดันจากสังคมที่ต้องพบเจอ พวกเธอยังต้องฝ่าดงปัญหาค่าใช้จ่าย การเข้าถึงที่ยากลำบาก ไปจนถึงโทษทางอาญาที่กฎหมายกำหนดไว้ ราวกับต้องการจะป่าวประกาศให้สังคมรู้ว่าการทำแท้งนั้นมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ มากมายมหาศาลถึงเพียงไหน และเสมือนว่าเพียงแค่ต้องไปทำแท้งยังทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งแตกสลายไม่เพียงพอ

กว่าสองปีที่มีผู้คนและองค์กรจำนวนไม่น้อยพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิการทำแท้งและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง จากการเรียกร้องในเงามืดทะมึน สู่การผลักดันในพื้นที่เปิดเปี่ยมด้วยแสงสว่าง และไม่เพียงแต่การเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระเท่านั้น เพราะในวันนี้ ผู้เคยมีประสบการณ์ทำแท้งหลายคนก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการงัดข้อกับความเชื่อและค่านิยมที่บีบคั้นให้ผู้หญิงตายทั้งเป็น และมิยอมศิโรราบต่อคำดูถูกเหยียดหยามของใคร เพื่อไม่ให้มีผู้หญิงอีกแม้แต่คนเดียวที่ต้องเจ็บปวดอย่างเดียวดายเฉกเช่นเธอ

การท้องแล้วต้องทำแท้งไม่ได้สนุกนะ มันไม่เคยสนุก

“หลายครั้งเราคิดนะว่า ใช่สิ สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับคุณ คุณไม่เคยต้องมาเจ็บปวดแบบเรา ต้องรอให้วันใดวันหนึ่งคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณเจ็บปวดแบบเราเหรอ”

เราเจ็บปวดขนาดนี้ แต่ทำไมเราไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้นเลย ไม่มีใครสนใจเราเลย มันไม่แฟร์เลยสักนิดเดียวที่เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งนี้คนเดียว

นี่คือข้อความจากก้นบึ้งความรู้สึกของผู้เคยมีประสบการณ์ทำแท้งและอาสาสมัครจากกลุ่ม ‘ทำทาง’ ที่มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวแห่งความเจ็บปวดของพวกเธอ แม้เรื่องราวบางส่วนจะผ่านพ้นไปแล้วเป็นปี ทว่ากระทั่งระหว่างการพูดคุย น้ำเสียงอันสั่นเครือ แววตาเจือความเศร้า และหยดน้ำตาที่เอ่อคลอขึ้นมาเป็นระยะ ยิ่งย้ำชัดว่าการทำแท้งนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้หญิงมากถึงเพียงไหน เพราะการทำแท้งไม่เคยเป็นเรื่องสนุก และยิ่งไม่ใช่ประสบการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะอยากลองสักครั้งในชีวิตอย่างที่ใครต่อใครกล่าวหา

และหากว่าสังคมพยายามบีบบังคับให้พวกเธอเก็บตัวอ่อนในครรภ์ไว้ แล้วก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของมารดาที่ดีตามค่านิยมของสังคมนี้ต่อไป ทว่าชีวิตหลังจากเก้าเดือนจะเป็นเช่นไรก็สุดแล้วแต่ชะตากำหนด เช่นนั้นแล้ว จะผิดอะไรหากพวกเธอปรารถนาจะเลือกชะตาชีวิตด้วยตัวของพวกเธอเอง โดยมิยินยอมอ่อนข้อให้ค่านิยมหรือความเชื่อของใครมาชี้นำชีวิตของพวกเธออีกต่อไป

ไม่มีใครอยาก ‘ท้อง’ เพื่อไป ‘ทำแท้ง’ 

“ถ้าถามว่าทำไมถึงตัดสินใจทำแท้ง เพราะเราประเมินแล้วว่าตัวเองไม่ได้มีรายได้มากพอจะเลี้ยงดูเด็กอีกคนหนึ่งที่จะเกิดมาได้ บางเดือนแค่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ ยังลำบากเลย และตอนที่เรารู้ว่าเราท้อง เราไม่สามารถปรึกษาครอบครัวเรื่องนี้ได้ เพราะเรากลัวว่าเขาจะเครียด ส่วนแฟนเก่าก็พยายามเกลี้ยกล่อมเราว่า ‘คุณท้องต่อสิ คุณอดทนต่อไปอีกแค่เก้าเดือน เดี๋ยวผมส่งลูกให้แม่ผมที่ต่างจังหวัดเลี้ยง‘” 

“เขาบอกให้เราทนไปอีกเก้าเดือน แต่อีกเก้าเดือนนั้นคือการแลกชีวิตการทำงานของเราเลยนะ ซึ่งไม่ใช่แค่ปีเดียว แต่อาจกระทบไปถึงหน้าที่การงานของเราในอนาคตด้วย และปีนั้นเป็นปีที่เราเพิ่งเรียนจบ เรายังไม่พร้อมที่จะเป็นแม่นั่งเลี้ยงลูกอยู่บ้าน และเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในสมการการตัดสินใจของเขาเลย เขาไม่แม้แต่จะถามว่าเราอยากตัดสินใจอย่างไร เราจะไหวไหม เลยยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราคิดถูกแล้วที่เลือกจะเชื่อการตัดสินใจของตัวเอง”

คีรี (นามสมมติ), อาสาสมัครกลุ่มทำทาง เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ทำแท้งของเธอ ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2563 ณ ตอนนั้น คีรีอายุ 24 ปี เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงานได้ไม่ถึงปี เมื่อรู้ว่าตัวเองท้อง เธอตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ในช่วงรอยต่อก่อนจะมีการแก้กฎหมายทำแท้ง เท่ากับว่าคีรีต้องทำแท้งภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายเก่าซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2499 โดยมีเพียงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่ยกเว้นความผิดและอนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงได้ในกรณีที่ครรภ์นั้นส่งผลต่อ ‘สุขภาพ’ ของผู้หญิง อันหมายถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามคำนิยามของแพทยสภา หรือในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพิการหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่รุนแรง หรือในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิด เช่น ข่มขืน ล่วงละเมิด ข่มขู่ และการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

มากไปกว่านั้น หากอ้างอิงจากประมวลกฎหมายอาญาเดิม ที่กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ทำให้ตนเองแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งไว้ในมาตรา 301 โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และไม่ได้รองรับผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในปัจจัยอื่นๆ เช่น ความไม่พร้อมในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งกฎหมายที่บีบคั้นสถานการณ์ของผู้ที่ต้องการทำแท้งเช่นนี้เอง ที่ทำให้คีรีต้องพยายามหาหนทางทำแท้งด้วยตัวเอง

ทว่าในช่วงปี 2563 เป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดิบพอดี จากเดิมที่คีรีตั้งใจจะเลือกใช้บริการจาก ‘Women on Web’ เอ็นจีโอข้ามชาติที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงทั่วโลกให้เข้าถึงบริการทำแท้งด้วยยาที่ปลอดภัย แต่เนื่องด้วยปัญหาจากโควิด-19 ทำให้องค์กรดังกล่าวไม่สามารถให้บริการข้ามประเทศในช่วงเวลานั้นได้

“ตอนนั้นเรากังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเรามีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ว่าถ้าเลือกได้เราก็อยากจะใช้เงินเก็บก้อนนั้นให้ได้น้อยที่สุด เพราะมันเป็นเงินเก็บก้อนแรกในชีวิตหลังจากเริ่มทำงาน และกังวลเรื่องโควิด-19 ด้วย เพราะตอนแรกเราหาข้อมูลเอาไว้แล้วว่ามีองค์กรไหนบ้างที่สามารถส่งยาทำแท้งแบบปลอดภัยมาให้เราได้ แต่พอโควิดยังระบาดหนักอยู่ เราเลยต้องเริ่มหาข้อมูลใหม่ ว่าหากเป็นการทำแท้งภายในประเทศจะมีที่ไหนที่เราจะไปขอความช่วยเหลือได้”

“ตอนที่เราไปทำแท้ง ด้วยความที่กรณีของเราเป็นช่วงก่อนที่จะมีการแก้กฎหมาย โรงพยาบาลก็เลยต้องใช้วิธีการทำแท้งภายใต้เงื่อนไขเก่า คือคุณจะยุติการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพกายใจหรือถูกข่มขืน ซึ่งเราไม่เข้าเกณฑ์ทั้งสองเงื่อนไขนี้ ทางโรงพยาบาลก็เลยต้องทำให้เราเข้าข่ายการตั้งครรภ์อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพใจ เขาจะมีแบบสอบถามประเมินอาการซึมเศร้ามาให้ แล้วเราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คะแนนเข้าข่ายเป็นผู้มีภาวะซึมเศร้า เพื่อที่เราจะได้เข้าไปทำแท้งได้อย่างไม่ผิดกฎหมายตอนนั้น” 

“ซึ่งจุดนี้เราเข้าใจทางโรงพยาบาลมากๆ ที่ต้องพยายามทำให้เราทำแท้งได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย เพราะตอนนั้นกฎหมายยังไม่แก้ ก็ต้องทำให้เราเข้าช่องแคบๆ นั้นให้ได้ แต่ในฐานะคนเข้ารับบริการ เรารู้สึกแย่มากที่เราไม่สามารถยืนยันการตัดสินใจของตัวเองในฐานะคนที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนคนหนึ่งได้ แต่ต้องตัดสินใจในฐานะผู้มีภาวะซึมเศร้าเท่านั้นเราถึงจะได้ทำแท้ง”

“เรายังมีเพื่อนที่ทำแท้งในช่วงใกล้ๆ ก่อนแก้กฎหมายเหมือนกัน เขาก็มีความกังวลในเชิงว่า ถ้าฉันดูมีความสุข ดูสบายดี ฉันจะได้ทำแท้งหรือเปล่า หมอจะรู้สึกว่าฉันไม่ป่วยพอที่จะได้ทำแท้งหรือเปล่า” คีรีกล่าว

แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายการทำแท้งในปี 2564 โดยมีสาระสำคัญคือเพิ่มเงื่อนไขในมาตรา 305 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกินกว่า 12 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่เป็นความผิดทางอาญา ทว่าในตัวบทกฎหมายใหม่ยังกำหนดให้ผู้ที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โดยที่ไม่เข้าเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรา 305 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้จะเห็นได้ว่าอัตราโทษลดลงจากประมวลกฎหมายอาญาเดิม แต่คีรีมองว่าการกำหนดโทษสำหรับผู้ทำแท้งที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์จะยิ่งเป็นผลักให้เกิดการทำแท้งนอกระบบมากขึ้น เพราะอีกความเป็นจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ หากผู้ที่ต้องการทำแท้งไม่ติดต่อไปยังหาองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ เช่น กลุ่มทำทาง หรือสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ฯลฯ ก็แทบจะไม่มีช่องทางรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งที่ถูกต้อง กระทั่งชื่อโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำแท้งถูกกฎหมายได้ก็เข้าถึงได้ยากมาก

“กฎหมายใหม่เหมือนช่วยยืนยันการตัดสินใจของผู้ทำแท้ง ว่าเราสามารถตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของเราได้โดยที่เรามีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และกฎหมายก็รับรองสิทธิในการเลือกของเราด้วย แต่เราก็มองว่ายังคงมีช่องโหว่ เพราะที่แก้ไปคือมาตรา 305 เป็นเงื่อนไขว่าใครบ้างที่จะทำแท้งได้ แต่ในมาตรา 301 ที่เป็นบทกำหนดโทษของคนที่ทำแท้งกลับยังอยู่ กฎหมายกำหนดว่าคนที่ทำแท้งในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ไม่มีความผิด แต่ก็แปลว่าคนที่ทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้วพยายามไปหาซื้อยาเองโดยที่ไม่ได้ให้หมอทำจะกลายเป็นอาชญากร”

“เราเข้าใจได้ว่าเขาพยายามจะดึงคนเข้ามาทำแท้งในระบบ ให้เข้ารับบริการจากแพทย์อย่างปลอดภัย แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะการหาข้อมูลในการเข้าถึงบริการยากมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงโรงพยาบาลรัฐ แทบไม่มีใครรู้เลยว่ามีโรงพยาบาลไหนบ้างที่เปิดให้บริการ หลายคนต้องเข้าทางองค์กรที่ให้คำปรึกษาทางเลือกเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายอาจไปจบที่การซื้อยาทางอินเทอร์เน็ตเอง แล้วคนเหล่านี้จะมีสถานะเป็นอาชญากร แค่เพราะว่าเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลของรัฐ ซึ่งเรามองว่าสิ่งนี้ไม่ยุติธรรม”

นอกจากนี้ คีรีระบุว่า หากภาครัฐไม่ต้องการให้มีคนไปทำแท้งเถื่อน สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องแก้ไขคือทัศนคติของบุคลากรที่หลายครั้งพบว่าเป็นแพทย์เสียเองที่ปฏิเสธการให้บริการทำแท้งแก่ประชาชน และต้องเพิ่มสถานพยาบาลของรัฐที่ให้บริการทำแท้งครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีรายได้มากพอในการเข้ารับบริการของสถานพยาบาลเอกชน เหล่านี้คือการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และจะทำให้การทำแท้งในระบบเข้าถึงง่ายมากขึ้น มิใช่การกำหนดโทษของผู้ทำแท้งนอกระบบที่เหมือนเป็นการซ้ำเติมเหยื่อที่เจ็บปวดจากปัญหาของระบบเสียเอง

มากไปกว่านั้น ตามข้อบังคับของแพทยสภา พบว่าไม่ได้มีข้อบังคับให้แพทย์ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างไม่มีข้อยกเว้น อ้างอิงตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแนะนำส่งต่อตามระบบของสถานพยาบาลโดยไม่ชักช้า 

ดังนั้นจึงเท่ากับว่า บุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิเสธการให้บริการทำแท้งได้ เพียงแต่ต้องมีบริการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอีกแห่งต่อไป ซึ่งคีรีผู้เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่กลุ่มทำทางได้เล่าให้เราฟังถึงปัญหาของระบบการส่งต่อและการปฏิเสธการบริการของแพทย์ผู้ให้บริการ

“ในการทำงานของกลุ่มทำทาง เราได้ไปคุยกับแพทย์ผู้ให้บริการ เขายอมรับว่ามีบริการส่งต่อ แต่การส่งต่อในที่นี้คือการเอารายชื่อของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมาให้ไปติดต่อเอง ไม่ใช่ระบบส่งต่อแบบที่เราเข้าใจว่าเขาจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลปลายทางให้ จึงเหมือนเป็นการผลักผู้หญิงคนนั้นให้ต้องไปเสี่ยงต่อว่าอาจจะถูกโรงพยาบาลปลายทางปฏิเสธอีกรอบหรือเปล่า หรือเขาจะมีเงินพอไหมในการเข้ารับบริการ”

“สิ่งที่เราต้องการผลักดัน คือให้มีสถานพยาบาลรัฐครอบคลุมทุกจังหวัด เพราะการมีสถานบริการของรัฐตามจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้นยังไม่มีเพียงพอ แต่ต้องอยู่ในจังหวัดนั้นๆ เลย เพราะการทำแท้งยังมีค่าใช้จ่ายแฝงเยอะมาก และสุดท้ายจะกลายเป็นว่าคนหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงการให้บริการ เรามองว่าอย่างน้อยต้องมีจังหวัดละหนึ่งแห่ง จึงจะอำนวยความสะดวกให้คนไม่ต้องไปทำแท้งเถื่อนที่มีความอันตราย”

คีรียังบอกกับเราว่า หนึ่งในความยากที่สุดของการผลักดันการทำแท้งเสรีย่อมหนีไม่พ้นทัศนคติของหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับทัศนคติส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์เอง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องบาป-บุญ และประเด็นศีลธรรมอันอ่อนไหวเปราะบาง ที่ทำให้หลายครั้งแพทย์ตัดสินใจปฏิเสธการให้บริการทำแท้ง

“ตอนนี้กฎหมายก็เปิดแล้ว งบสนับสนุนของรัฐก็มีแล้ว แต่ว่าหมอหลายคนยังรู้สึกว่าเขาอาจได้รับ ‘ผลพลอยบาป’ จากการช่วยให้คนเข้ารับการทำแท้ง มันอาจไปขัดกับสิ่งที่เขาถูกสอนมาให้ช่วยชีวิต แต่มองว่าการทำแท้งคือการคร่าชีวิต”

“เพราะเวลาพูดเรื่องทำแท้ง หมอบางคนมักจะสนใจแค่ตัวอ่อนในท้อง แต่แทบไม่เคยมองเห็นชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าเขาเลย หลายครั้งหมอจึงปฏิเสธให้บริการ” 

ยิ่งหากพูดถึงทัศนคติที่สังคมไทยมีต่อการทำแท้งและผู้หญิงทำแท้ง ย่อมไม่หนีหายไปจากภาพจำผิดๆ ทั้งการมองว่าทำแท้งแล้วชีวิตจะไม่เจริญ ความเชื่อว่าคนทำแท้งชีวิตจะตกต่ำไปตลอดชีวิต หรือมายาคติที่ว่าทำแท้งแล้วจะมีผีเด็กติดตาม อคติทางศีลธรรมเหล่านี้ยิ่งทำให้ผู้ท้องไม่พร้อมไม่กล้าเข้ารับบริการทำแท้ง เพราะกังวลว่าจะถูกตีตราจากคนในสังคม

มากไปกว่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนในสังคมยังเข้าใจไปว่า ผู้ทำแท้งส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนที่ท้องตอนอายุน้อยและไม่เข้าใจการคุมกำเนิด หรือที่เรียกว่า ‘คุณแม่วัยใส’ แต่คีรีระบุว่า จากสถิติของผู้ทำแท้งในประเทศไทย แท้จริงแล้วคนส่วนใหญ่ที่ทำแท้งคือผู้ที่คุมกำเนิดแล้วแต่เกิดความผิดพลาด และเป็นคนวัยทำงานที่มีความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ หรือบางคนมีลูกอยู่แล้ว แต่ประเมินตนเองแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีลูกคนต่อไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดูแลลูกในตอนนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ทว่าภาพของคนกลุ่มนี้กลับไม่เคยถูกฉายขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนั้น การทำแท้งจึงถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องของคนที่รักสนุกและไม่คิดจะรับผิดชอบชีวิตตัวเอง 

“คนที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์การทำแท้งมาอย่างใกล้ชิด จะมีภาพจำว่าคนที่ทำแท้งคือคนที่อายุประมาณ 13-14 ปี เป็นคุณแม่วัยใส หรืออาจเป็นคนที่ไม่รู้จักคุมกำเนิด ซึ่งเราคิดว่ามายาคติแบบนี้เหยียดเพศด้วยนะ สังคมพยายามสั่งสอนว่าผู้หญิงพวกนี้ไม่รู้จักดูแลตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองท้องได้อย่างไร”

“แต่การท้องแล้วต้องทำแท้งไม่ได้สนุกนะ มันไม่เคยสนุก หลังจากที่เราทำแท้งแล้วมาเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาของกลุ่มทำทาง แล้วเราได้เจอกับหลายคนที่ทักมาปรึกษา เขาเครียดมากว่าจะทำแท้งดีไหม กังวลว่าทำแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป มันชัดเจนมากว่าการท้องไม่พร้อมไม่ใช่เรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนอยากจะลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต และนี่คือบริการสุขภาพ หมายความว่าเราจะใช้บริการก็ต่อเมื่อจำเป็นที่จะต้องใช้จริงๆ”

แม้ปัจจุบันสังคมบางส่วนอาจยังมองการทำแท้งในแง่ลบ และยังคงสร้างภาพจำผิดๆ เกี่ยวกับผู้ทำแท้ง แต่คีรี -ในฐานะผู้หญิงที่เคยทำแท้งและปัจจุบันผันตัวมาทำงานกับกลุ่มทำทางเพื่อช่วยเหลือผู้ท้องไม่พร้อม และพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายทำแท้งเสรี ยืนยันอย่างแน่วแน่ว่า ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายและชีวิตของพวกเธอเอง และเธอจะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ร่วมผลักดันให้กฎหมายทำแท้งโอบรับผู้ต้องการเข้ารับบริการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“หลายครั้งคำว่า ‘บาป’ เป็นเสียงของคนอื่น เป็นเสียงของสังคมที่พยายามจะควบคุมไม่ให้เราทำหรือไม่ทำอะไรกับร่างกายของตัวเอง แต่อย่าลืมว่าเสียงพวกนั้นคือเสียงภายนอก แต่เสียงภายในของเราทั้งความต้องการในการจัดการชีวิตตัวเองก็สำคัญมากเหมือนกัน”

“เพราะความไม่พร้อมและการตัดสินใจของเราเป็นของจริง คนในสังคมอาจพยายามหาแง่มุมต่างๆ มาเกลี้ยกล่อมว่า ท้องต่อดีกว่า เดี๋ยวเราก็พร้อมเอง เดี๋ยวเห็นเด็กก็รักเอง แต่พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้เผชิญความลำบากไปกับเราตลอดทั้งชีวิต เพราะฉะนั้น เรามีสิทธิตัดสินใจอย่างแน่นอนว่าจะทำอย่างไรกับเนื้อตัวร่างกายของเรา”

ค่าใช้จ่ายสูงลิ่วและอคติที่จำกัดสิทธิในการทำแท้ง

ชมพู (นามสมมติ), อาสาสมัครกลุ่มทำทาง บอกเล่าประสบการณ์ทำแท้งในช่วงเวลาที่เธออายุ 25 ปี พร้อมระบุว่า เหตุผลสำคัญหนึ่งเดียวที่ทำให้เธอตัดสินใจทำแท้งก็คือ ‘ความยากจน’ ด้วยสภาพเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมือง ไปจนถึงสภาพสังคมที่บีบคั้นให้ชมพูตัดสินใจทำแท้ง เธอยังเล่าว่าเมื่อรู้ตัวว่าท้องและวางแผนจะทำแท้ง มีคนใกล้ตัวพยายามเกลี้ยกล่อมให้ล้มเลิกความคิดนั้น ทว่าชมพูได้ทบทวนกับตัวเองแล้วว่า หากไม่มีความพร้อมที่จะดูแลเด็กที่เกิดมาให้มีชีวิตที่ดีภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงินและสภาพสังคมได้ การทำแท้งจึงเป็นคำตอบที่ดีกว่าสำหรับเธอ

“ตอนนั้นเรายังไม่แม้แต่จะสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ เราก็ไม่มีปัญญาจะไปรับผิดชอบชีวิตใครเพิ่มมากกว่านี้แล้ว สถานการณ์ตอนนั้นน่าจะก่อนโควิด-19 ระบาดไม่นาน สถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ไม่ดี แทบจะไม่เหลือเงินเก็บ ในเมื่อเราไม่พร้อมก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำแท้ง ส่วนแฟนก็เคารพการตัดสินใจเราอย่างชัดเจน” 

“เรากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมาก เพราะค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาลาบเอกชนค่อนข้างสูง เช่น ทำแท้งในอายุครรภ์ระยะเริ่มต้นจะอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท เท่าที่หาข้อมูลมาทำที่ไหนก็มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเท่านี้ และตอนนั้นเราไม่ได้มีเงินมาก เลยกลายเป็นความกังวลหลักที่ทำให้เราตัดสินใจได้ล่าช้า” 

“ตอนที่จะไปทำแท้งเรามีอายุครรภ์สูงแล้ว เพราะมีความลังเลหลายอย่าง กว่าจะตัดสินใจไปทำจริงๆ อายุครรภ์ก็ปาไป 5 เดือน และด้วยอายุครรภ์ที่สูงก็ยิ่งทำให้กังวลเรื่องความปลอดภัยไปอีก สุดท้ายเราต้องใช้เงินแทบจะก้อนสุดท้ายที่มีเพื่อเข้ารับบริการ วันนั้นพกเงินไปก้อนหนึ่ง พอจ่ายค่ากระบวนการทำแท้งไป เหลือเงินติดตัวเรากับแฟนแค่ 300 บาท”

ค่าใช้จ่ายในการทำแท้งที่สูงนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่สร้างความวิตกให้กับชมพูเป็นอย่างมาก และแม้ว่าในเวลานั้นจะมีโรงพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งฟรีตามเงื่อนไขของกฎหมายฉบับเก่า ด้วยงบประมาณสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนให้คนได้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลที่ร่วมรายการกับ สปสช. ทว่าในขณะนั้นโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการฟรีกลับมีจำนวนน้อยมากถึงมากที่สุด และไม่มีโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ แม้แต่แห่งเดียวที่มีบริการทำแท้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ชมพูที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องตัดตัวเลือกนี้ทิ้ง และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายอันสูงลิ่วในการทำแท้งที่โรงพยาบาลเอกชนไปโดยปริยาย

“เราเลือกทำแท้งที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะเรารู้ตัวว่าเราไปต่างจังหวัดคนเดียวไม่ได้ และถึงแม้จะมีโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ให้บริการทำแท้งฟรี ซึ่งตามหลักดูเหมือนเราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายแค่ค่าเดินทาง แต่ในความเป็นจริงยังมีค่าใช้จ่ายแฝงเยอะมากในการเดินทางข้ามจังหวัด เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก มันค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา ก็เลยตัดสินใจทำแท้งที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ” 

ช่วงเวลาที่ชมพูทำแท้งเป็นช่วงก่อนจะมีการแก้กฎหมายเช่นเดียวกับกรณีของคีรี และประสบการณ์ที่ชมพูต้องพบเจอในการทำแท้งในโรงพยาบาลเอกชนแทบไม่แตกต่างจากการทำแท้งในโรงพยาบาลรัฐของคีรี คือเธอต้องทำแบบประเมินสุขภาพจิตให้มีหลักฐานว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า เพื่อให้สามารถทำแท้งได้อย่างที่กฎหมายฉบับเก่าระบุไว้ ทั้งยังต้องเผชิญกับทัศนคติส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่พยายามเกลี่ยกล่อมให้เธอล้มเลิกการทำแท้ง

“ตอนไปเขียนเอกสารก่อนเข้าสู่กระบวนการจะมีให้ทำแบบประเมินว่าเรามีปัญหาด้านสุขภาพจิต แต่พอเราต้องเข้าไปตรวจสุขภาพ มีการอัลตราซาวน์ ตอนนั้นแหละที่เจ้าหน้าที่พยายามเกลี่ยกล่อมเรา บอกว่า ดูซิ เด็กมีตัวแล้วนะ ไม่เก็บไว้จริงๆ เหรอ ตอนนี้เลี้ยงไม่ได้ เดี๋ยวต่อไปก็ทำได้ เปลี่ยนใจดีไหม แต่เราก็ยืนยันชัดเจนว่าคิดมาดีแล้ว และไม่คิดจะเปลี่ยนใจ”

“ณ ตอนนั้น เรารู้ได้เลยว่ามีอคติของการที่เรามองเห็นคุณค่าการมีชีวิต เราก็มองว่าทุกคนมีชีวิตและมีค่าเหมือนกันหมด แต่ความคิดประเภทที่ว่าต้องลำบากไปด้วยกัน เรามองว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไม่อยู่กับความเป็นจริง ความเป็นจริงสำหรับเราคือโลกใบนี้และสังคม ณ เวลานี้ไม่เหมาะกับการมีลูก และเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีความคิดแบบนี้” 

นอกจากนี้ ชมพูมองว่าการที่กฎหมายฉบับปัจจุบันยังกำหนดโทษในส่วนของมาตรา 301 ว่าหากทำแท้งขณะมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ไม่ได้ทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะมีโทษทางอาญา ยิ่งเหมือนเป็นการปิดอิสรภาพและการเข้าถึงบริการหลายๆ อย่าง และกลายเป็นว่ากฎหมายทำแท้งเป็นตัวลิดรอนสิทธิของคนที่อยากเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เสียเอง

ชมพูยังกล่าวว่า แม้จะมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยขึ้นบ้างแล้ว ทว่าประเด็นสุดจำเจที่ผู้ต่อต้านการทำแท้งมักจะอ้างเหตุผลคือ “ถ้าให้ทำแท้งได้ง่ายไป เดี๋ยวคนก็แห่กันท้องทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะจะไปทำแท้งเมื่อไรก็ได้” มายาคติอันบิดเบี้ยวและบิดเบือนความไม่พร้อมของผู้หญิงคนหนึ่งให้กลายเป็นคำว่า ‘บาป’ ที่ส่งผลต่อกฎหมายและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ทั้งยังเป็นความคิดที่หล่อหลอมสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งที่หลายครั้งบุคคลที่มีอคติต่อสิ่งนี้ไม่เคยเข้าใจความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสของผู้ทำแท้ง

“ปัญหาสำคัญคือผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายกับผู้กำหนดกฎหมายไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน ทั้งที่นิติบัญญัติควรมาพร้อมกับเสียงของประชาชน และเราทุกคนควรมีสิทธิร่วมเขียนกฎหมายที่ผลกระทบกับชีวิตเรา ยิ่งถ้าผู้มีอำนาจในการแก้กฎหมายยังมีอคติ ยังใช้ทัศนคติส่วนตัวมาตัดสิน การแก้กฎหมายก็ยิ่งทำได้ยาก เพราะกฎหมายนี้เขียนโดยคนที่ไม่ได้ท้องหรือท้องไม่ได้ และไม่เคยเข้าใจปัญหา”

“หลายครั้งเราคิดนะว่า ใช่สิ สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับคุณ คุณไม่เคยต้องมาเจ็บปวดแบบเรา ต้องรอให้วันใดวันหนึ่งคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณเจ็บปวดแบบเราเหรอ ต้องเป็นแบบนั้นเหรอถึงจะแก้กฎหมายได้ เราเชื่อว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเขา ถ้าความเจ็บปวดมันอยู่ที่เขาบ้าง เขาจะเห็นมัน เข้าใจมัน และอาจจะแก้กฎหมายให้ทันทีเลยก็ได้” ชมพูกล่าว

โปรดมองผู้ทำแท้งเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจ

“เราใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุมมาตลอด เรายังไม่ได้อยากมีลูก เลยเลือกการคุมกำเนิดที่น่าจะปลอดภัยและมั่นใจได้ที่สุด แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ไปตรวจยาคุม และมารับรู้ว่าตัวเองท้องช่วงประมาณเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนที่รู้ว่าท้องเราตกใจมาก ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะการฝังยาคุมก็ช่วยคุมกำเนิดได้แบบ 99% แล้ว โอกาสที่จะท้องได้น้อยมากๆ”

“สิ่งหนึ่งที่อยากย้ำทุกคนคือ ตราบใดที่คุณมีเพศสัมพันธ์ โอกาสที่จะท้องก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะพยายามป้องกันแค่ไหนมันก็มีโอกาสเกิดได้อยู่ดี” 

ไอซ์ (นามสมมติ) อีกหนึ่งผู้มีประสบการณ์ทำแท้งบอกกับเราว่า กรณีของเธอเป็นการทำแท้งหลังจากมีการแก้กฎหมายที่ระบุให้ยุติการตั้งครรภ์ได้หากจำเป็นต้องทำเพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ หรือจำเป็นต้องทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมาก ส่วนผู้ที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่ยืนยันยุติตั้งครรภ์ หลังได้รับการตรวจและปรึกษาทางเลือกก็ทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด

โดยในกรณีของไอซ์เป็นการยุติการตั้งครรภ์ด้วยความจำเป็น เนื่องจากเธอพบว่าตัวเองตั้งครรภ์นอกมดลูก และหากไม่ทำแท้งจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ทว่าความเจ็บปวดที่เธอต้องเผชิญนั้นหนักหนาสาหัสและบีบคั้นหัวใจจนเกินกว่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรับไหว ไอซ์เล่าว่า จากประสบการณ์ในอดีตที่เคยแท้งคุกคามมาครั้งหนึ่ง ทำให้รู้สึกได้ว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้ร่างกายตนเองมีความผิดปกติ เพราะมีเลือดไหลจากช่องคลอด ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับบริการทำแท้งอย่างเร็วที่สุด

“ตอนที่รู้ว่าท้องก็ไปปรึกษาเพื่อนสนิทเรื่องทำแท้ง เพื่อนก็บอกให้ไปทำเลย เพราะถ้ารอให้อายุครรภ์นานกว่านี้จะไม่ดี บวกกับเราค่อนข้างรู้สึกไม่สบายตัว มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดตลอดเวลา เรารู้สึกแล้วว่าร่างกายเราไม่ค่อยปกติ และด้วยประสบการณ์ของตัวเองคือ เราเคยตั้งครรภ์มาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ว่าแท้งธรรมชาติ เพราะว่าอยู่ในสภาวะแท้งคุกคาม”

“เราตัดสินใจไปที่โรงพยาบาลเอกชน พอถึงช่วงอัลตร้าซาวด์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือหมอไม่เห็นตัวอ่อนของเด็ก และพบว่ามีเลือดค่อนข้างเยอะอยู่ในท้อง เขาบอกเราว่าอีกสองอาทิตย์ค่อยกลับมาตรวจใหม่อีกครั้ง แต่เขาไม่ได้ตรวจละเอียดมากพอที่จะบอกเราได้ว่าตกลงร่างกายเราเป็นอะไร กระทั่งผ่านไปประมาณสามวัน เริ่มรู้สึกแปลกๆ กับร่างกายตัวเองมากขึ้นอีก”

เมื่อเวลาล่วงเลยไปอีกสามวัน จนถึงเวลาประมาณหกโมงเย็นของวันนั้น ไอซ์เริ่มรู้สึกปวดหน่วงๆ บริเวณท้อง กระทั่งอาการปวดเริ่มรุนแรงจนทำให้เธอล้มทั้งยืน จากนั้นจึงมีคนสนิทพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง คนที่นำตัวเธอส่งโรงพยาบาลได้ช่วยแจ้งข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินฟังว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าเธอมีการตั้งครรภ์นอกมดลูก และต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทว่าความทรงจำอันเลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของไอซ์กลับเกิดขึ้นที่นั่น

“สิ่งที่เกิดขึ้นเราอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งนั้นตั้งแต่เวลา 6.45 น. จนถึงตีหนึ่ง เราได้รับการตรวจร่างกายทั้งหมดหนึ่งครั้งถ้วน วันนั้นเราพยายามให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ว่าเรารู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์และไม่ได้คิดจะเก็บไว้ เราให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพราะเราแค่คิดไปว่าถ้าให้ข้อมูลอย่างดี เราจะได้รับการดูแลรักษาที่ดีกว่านี้ แต่ในทางกลับกัน เรารู้สึกว่าวิธีการและคำถามของเขาที่มีต่อเราทำให้เรารู้สึกอับอายและไร้ค่า”

“ตอนนั้นเราเจ็บมาก เพราะปีกมดลูกเราเริ่มแตกเป็นชิ้นเนื้อออกมาแล้ว ตอนแรกก็เป็นชิ้นเล็กๆ แต่พอเข้าสู่ช่วงตีหนึ่งเรารู้สึกว่าชิ้นเนื้อเริ่มใหญ่ขึ้น แล้วเราก็ตัดสินใจว่าไม่สามารถอยู่ที่โรงพยาบาลนี้ต่อไปได้แล้ว ด้วยวิธีที่เขาปฏิบัติต่อเราและการรอคอยที่นานเกินไป เรารออยู่ในห้องฉุกเฉินร่วมหกชั่วโมง ไม่มีหมออยู่ในหวอดเลย มีคนประสบอุบัติเหตุเข้ามาในห้องฉุกเฉินแล้วตายคาเตียงไปสองคน ในขณะที่เรายังนั่งอยู่ตรงนั้น ยิ่งทำให้เราไม่อยากอยู่ที่นั่นแล้ว เราเลยขอกลับบ้าน”

“แต่เขาก็บอกว่าให้เรากลับไม่ได้ เขาจะต้องตรวจเราก่อนว่าเราท้องจริงๆ ไหม เขาถามเราว่า ‘แล้วคุณจะไปหาหมอที่ไหน โรงพยาบาลรัฐทุกที่ก็เป็นเหมือนกัน ถ้าคุณไม่สามารถไปเอกชนได้ คุณก็ต้องรออยู่ในระบบแบบนี้’ สุดท้ายเราเลยตัดสินใจเขียนจดหมายปฏิเสธการรักษา เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าเราออกจากโรงพยาบาลไป ณ เวลานี้ ถ้าเราตายหรือเป็นอะไรขึ้นมา เขาก็จะไม่รับผิดชอบและไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้น เราก็ตัดสินใจเซ็นแล้วเดินออกมาเลย”

เมื่อรอคอยไปก็ไร้วี่แววว่าจะได้รับการรักษา กระทั่งความเจ็บปวดลุกลามรุนแรงจนไม่อาจทนรอต่อไปได้ ไอซ์จึงคิดว่าหนทางเดียวที่จะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด คือต้องไปตรวจร่างกายโรงพยาบาลเอกชน แล้วให้แพทย์ออกเอกสารว่าไม่ว่าโรงพยาบาลแห่งไหนต่อจากนี้ที่เธอเลือกเข้าบริการจะไม่สามารถปฏิเสธการรักษาเธอได้ แล้วจึงค่อยเดินทางไปโรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่งเพื่อทำการผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันว่าเธอจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายของระบบสาธารณสุขอีกเป็นหนที่สอง

และหากถามว่าเหตุใดเธอจึงไม่ทำแท้งที่โรงพยาบาลเอกชนให้แล้วเสร็จในทีเดียว คำตอบนั้นยิ่งตีกลับเป็นเงาสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย นั่นคือข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไอซ์ไม่อาจเอื้อมถึง บีบคั้นให้ผู้หญิงที่กำลังทรมานเจียนตายต้องระหกระเหินเดินทางไปโรงพยาบาลมากถึงสามแห่งภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

“เราไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเอกชน ใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงก็ได้รับเอกสารและผลตรวจชัดเจนว่าเราท้องนอกมดลูก ทางโรงพยาบาลบอกว่าเราไม่ควรขยับร่างกายไปมากกว่านี้แล้ว เพราะปีกมดลูกแตกแล้ว เขายื่นข้อเสนอเรื่องรถฉุกเฉินให้ แต่ว่าเราไม่อยู่ในสถานะที่จะจ่ายเงินเพิ่มได้เยอะขนาดนั้น เราเลยต้องเดินทางไปโรงพยาบาลรัฐอีกแห่งด้วยตัวเอง รวมๆ แล้วตั้งแต่ 6.45 น. ของวันก่อนหน้า จนถึงบ่ายสามของวันที่จะเข้าผ่าตัด เราโดนตรวจภายในไปแล้วทั้งหมดมากกว่าแปดครั้ง”

เมื่อคิดไปว่าสถานการณ์ที่ไอซ์ต้องเผชิญ ณ โรงพยาบาลรัฐแห่งแรกนับเป็นความเลวร้ายที่สุดเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรับไหวแล้ว แต่เราคิดผิด เมื่อทั้งคำพูดที่ทิ่มแทงและทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งที่สองกลับรุนแรงและทำร้ายจิตใจของไอซ์ที่บอบช้ำมากเพียงพอแล้วให้แตกสลายมากขึ้นไปอีก

“การตรวจรอบสุดท้ายก่อนเข้าห้องผ่าตัด หมอจะให้เราขึ้นตรวจอีกครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นเราเจ็บมากจนเริ่มเดินไม่ไหวแล้ว และรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างประเดประดังไปหมด เราเริ่มร้องไห้แล้วบอกหมอว่าเราขอเวลาตั้งสติห้านาที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหมอจับเราอ้าขา เราบอกให้เขาหยุด เขาก็พูดขึ้นมาว่า ‘คุณกำลังทำให้หมอและคนไข้ทุกคนเสียเวลา แทนที่หมอจะทำตรงนี้ให้เสร็จแล้วไปทำอย่างอื่น เลิกร้องไห้ค่ะ น้ำตาไม่ได้ช่วยอะไร’ ตอนนั้นเองที่เราเริ่มโวยวายอย่างรุนแรง เพราะเรารู้สึกว่าเขาไม่ควรพูดหรือทำแบบนี้กับเรา” 

ในห้วงขณะที่ไอซ์เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์อันเลวร้าย เธอต้องเงียบลงเป็นระยะๆ เพื่อพักเช็ดน้ำตาและกลืนก้อนสะอื้นลงคอครั้งแล้วครั้งเล่า ความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในเนื้อตัวและหัวใจเธอส่งผ่านและถาโถมมายังตัวเรา เพราะเราต่างรู้ดีว่าการเกิดเป็นผู้หญิงในสังคมนี้ไม่ง่าย ไม่เคยง่าย ซ้ำเมื่อเป็นผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ในสังคมที่พร้อมจะตีตราเราตลอดเวลาเช่นนี้ ยิ่งทำให้ต้องกล้ำกลืนความเป็นจริงอันแสนขมขื่นลงคอไป

“สุดท้ายหมอก็เริ่มรับมือกับเราไม่ไหวแล้ว เลยเรียกแฟนเข้ามาพูดคุยเพื่อให้เราสงบสติอารมณ์ เราบอกแฟนไปว่า วันนี้ทั้งวันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครสนใจเลย เราเจ็บปวดขนาดนี้ เจ็บปวดถึงลิมิตที่เราไม่สามารถอธิบายได้แล้วว่าความเจ็บอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ทำไมเราไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้นเลย ไม่มีใครสนใจเราเลย ทำไมผู้หญิงต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนี้ด้วย มันไม่แฟร์เลยสักนิดเดียวที่เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งนี้คนเดียว” 

กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อแฟนของไอซ์พยายามพูดคุยและให้กำลังใจให้เธอใจเย็นลง และแม้ไอซ์จะบอกว่าในท้ายที่สุดเธอจะได้รับคำขอโทษจากแพทย์คนนั้น แต่ถึงกระนั้น แม้ระยะเวลามากกว่าหกเดือนแล้วที่เหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไป แต่ความเจ็บปวดนั้นไม่เคยจางหาย ทั้งยังสร้างความทรงจำอันเลวร้ายที่สลักลึกเป็นรอยแผลเป็นในใจ ยิ่งทุกครั้งที่ต้องนึกถึงหรือเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกมา ยิ่งเป็นเรื่องยากเสมอมาที่เธอจะบังคับไม่ให้ตัวเองร้องไห้ และต่อให้จะเข้มแข็งถึงเพียงไหน แต่เมื่อต้องเผชิญเรื่องราวเช่นนี้เพียงลำพัง ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันที่พาตัวเองก้าวข้ามผ่านคืนวันที่ทุกข์ทรมานเหล่านั้นไปได้

“พอถึงเวลาผ่าตัด หมอบอกว่าจะวางยาสลบ แต่เรามีปัญหาเรื่องการหยุดหายใจระหว่างหลับ ทำให้เปลี่ยนจากการวางยาสลบมาเป็นบล็อกหลังแทน เราใช้เวลาผ่าตัดไปทั้งหมดสามชั่วโมงกว่า หมอก็พยายามจะรักษาไว้ไม่ให้มดลูกเราเสียหายไปมากกว่านี้ และเรารู้สึกตัวตลอดเวลาสามชั่วโมงนั้นในขณะที่หมอทำการผ่าตัด แต่สุดท้ายการผ่าตัดก็ผ่านไปได้ด้วยดี”

“หลังจากกลับมาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ด้วยความที่เรามีแฟนและเพื่อนที่คอยดูแล แต่หลังจากนั้น ประมาณสองอาทิตย์เราก็เริ่มรู้สึกจิตตก ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตพอสมควร”

นอกจากนี้ ไอซ์บอกว่าที่โรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่เธอเข้าไปในแผนกฉุกเฉินนั้นไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องเสียค่าตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเอกชน 5,000 บาท และที่โรงพยาบาลรัฐแห่งที่สอง 25,000 บาท เท่ากับว่าไอซ์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำแท้งอย่างต่ำ 30,000 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและเวลาอันยาวนานที่เธอต้องสูญเสียไปเพื่อให้ได้รับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยจากสถานพยาบาล ยิ่งไม่ต้องพูดถึงผู้ต้องการทำแท้งที่มีรายได้ต่ำ พวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้รับแม้แต่ข้อมูลในการเข้าถึงบริการทำแท้งเสียด้วยซ้ำ

จากกรณีของไอซ์ สิ่งที่โหดร้ายกับเธอมากกว่าค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไป คือคำพูดถากถาง การปฏิบัติและทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ที่เธอต้องพบเจอ ยิ่งต้องทำแท้งด้วยภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกที่สร้างความบอบช้ำให้ร่างกายและจิตใจของเธอมากเกินพออยู่แล้ว ทว่าสิ่งที่ถูกกระทำทั้งด้วยคำพูดและแววตาของเจ้าหน้าที่ยิ่งเหมือนเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมให้เธอจมอยู่กับความเจ็บปวดมากขึ้นอีกร้อยเท่าพันทวี

“ทั้งที่เราทำแท้งด้วยเหตุจำเป็น เพราะถ้าเราไม่ทำแท้งจะอันตรายถึงชีวิตแน่นอน แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่แพทย์ปฏิบัติต่อเรา เหมือนเราถูกตั้งคำถามในหลายๆ อย่าง เรารู้สึกว่าการที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่ได้แต่งงานแต่ท้อง ความกล้าของเราที่จะพูดออกไปว่าเราไม่คิดที่จะมีลูกและตั้งใจที่จะทำแท้ง มันยิ่งปรับเปลี่ยนภาพที่เขามองเรา หรือบางครั้งก็มองผ่านเราไปเลย ยิ่งในสภาพสังคมที่เราอยู่ทำให้เราไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากใครเลย” ไอซ์กล่าว

ท้ายที่สุด ต่อให้ในปัจจุบันสังคมจะพยายามสร้างมายาคติในความเป็นหญิงและความเป็นแม่ถึงเพียงไหน แต่คีรี ชมพู ไอซ์ และผู้หญิงทำแท้งหลายต่อหลายคนในสังคมคงไม่ปรารถนาจะได้รับความเห็นใจจากใครไปมากกว่านี้ ยิ่งไม่จำเป็นต้องเพียรพยายามจะอธิบายให้ใครเข้าใจเหตุผลของพวกเธอ ในเมื่อสุดท้ายแล้ว การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ล้วนเป็นสิทธิและเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายและเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเธอใช้ชีวิตของตัวเองต่อไปได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงหวังอยู่เสมอว่า สังคมจะหยุดตั้งคำถามต่อการทำแท้งของผู้หญิงคนหนึ่ง และมองออกไปให้กว้างกว่ามุมมองอันคับแคบนั้นเสียทีว่า แท้จริงแล้วสังคมแบบไหนกันที่ตีตราและกดดันผู้ทำแท้ง มากกว่าจะเห็นอกเห็นใจพวกเธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจและต้องเผชิญความเจ็บปวดในชีวิตไม่น้อยไปกว่าใคร

และจนถึงวันนี้ เรายังคงจำเป็นต้องผลักดันการแก้ไขกฎหมายทำแท้งที่ยังมีการกำหนดโทษทางอาญา อันอาจทำให้คนที่รู้ตัวว่าอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ไม่กล้าเข้าหาบริการ และอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่บีบคั้นให้ผู้หญิงคนหนึ่งตายทั้งเป็น

“เราเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนคิดมาแล้วว่าตัวเองไม่สามารถมอบชีวิตที่ดีให้กับเด็กที่จะเกิดมาได้ และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราเชื่อว่าในวันนี้ที่ใครสักคนหนึ่งเลือกจะทำแท้ง คือการที่คุณได้ช่วยชีวิตตัวเองและเด็กในท้องเอาไว้อย่างแน่นอน นั่นคือเหตุผลที่ดีที่สุดแล้ว” ไอซ์ทิ้งท้ายไว้

ทำแท้งเสรี

ทำแท้งเสรี

ทำแท้งเสรี

ทำแท้งเสรี

ทำแท้งเสรี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save