fbpx
เบื้องหลัง #ไทยบาทแข็งที่สุดในปฐพี

เบื้องหลัง #ไทยบาทแข็งที่สุดในปฐพี

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ก่อนสิ้นปีหนึ่งวัน เงินบาทแข็งค่าหล่นทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาแถลงข่าวว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยเป็นผลจากการเร่งทำธุรกรรมก่อนสิ้นปีของผู้ประกอบการบางรายในสภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ เป็นเรื่องของความต้องการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศไม่สมดุลในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี

จริงๆ แล้ว มันอาจจะไม่ได้เป็นวันที่แปลกประหลาดอะไรนัก เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 20 สตางค์ หรือประมาณ 0.7% ในหนึ่งวัน ไม่ได้ฟังดูเยอะขนาดนั้น และเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

ความผันผวนอาจจะเกิดจากสภาพคล่องในตลาดที่มีน้อย เพราะธุรกรรมค้าเงินตราต่างประเทศมีอยู่ค่อนข้างจำกัดก่อนวันปีใหม่ ทำให้ค่าเงินขยับได้ค่อนข้างมาก รวมทั้งอาจจะมีคนพยายามทำ window dressing ในวันซื้อขายสุดท้ายของปีด้วย

แต่เพราะเลข 30 เป็นจุดสำคัญทางจิตวิทยา ทำให้คนให้ความสำคัญกับการขยับของค่าเงินบาทครั้งนี้ค่อนข้างมาก แม้ว่าพอเปิดปีใหม่มา เงินบาทก็กลับอ่อนค่าลงไปแถวๆ 30 ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐก็ตาม

 

ถ้ามองย้อนกลับไปยาวๆ จะพบว่าค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

ทิศทางค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ทิศทางค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

 

และหากเรามองข้ามค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐไป แล้วดูค่าเงินที่เรียกว่า nominal effective exchange rate (NEER) หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยกับทุกสกุล (เช่น ยูโร เยน หยวน ฯลฯ) แล้วถ่วงน้ำหนักด้วยความสำคัญของเงินสกุลนั้นๆ กับตะกร้าการค้าของไทย

เราจะพบว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นมากว่า 20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในรูป NEER ไม่พบว่ามีเงินสกุลสำคัญสกุลใดที่แข็งเท่าเงินบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

จะเรียกว่า #ไทยบาทแข็งที่สุดในปฐพี ก็คงไม่ผิดนัก

 

ค่าเงินบาทในรูป NEER แข็งค่าขึ้นถึง 20%
ค่าเงินบาทในรูป NEER แข็งค่าขึ้นถึง 20%

 

สถานการณ์ดังกล่าวหมายความว่า สำหรับสินค้าไทยที่ขายในต่างประเทศ ถ้าเราต้องการได้มูลค่าเงินบาทเท่ากับเมื่อ 3 ปีก่อน ต้องขายของแพงขึ้น 20% ในเงินสกุลต่างประเทศโดยเฉลี่ย หรือถ้าเราขายราคาคงที่ในต่างประเทศ คนขายจะได้รับเงินน้อยลง 20% โดยเฉลี่ย ซึ่งอาจจะพอแปลได้ว่า ความสามารถในการแข่งขันของเราหายไปประมาณ 20% โดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พร้อมๆ กับอำนาจการซื้อของเงินบาทที่เพิ่มขึ้น) ผลก็คือเราอาจส่งออกได้น้อยลง หรือสินค้านำเข้ามีความน่าสนใจมากขึ้นเทียบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลกระทบต่อสินค้า (tradeable goods) เช่น สินค้าอุตสาหกรรม หรือสินค้าเกษตร และเริ่มมีผลต่อบริการ เช่น การท่องเที่ยวหรือบริการทางการแพทย์ คนต่างประเทศเริ่มมองว่าต้นทุนการมาเที่ยวหรือมาอยู่เมืองไทย แม้ว่ายังถูกอยู่ แต่ก็เริ่มแพงขึ้น และเริ่มคิดหนักขึ้นกับการมาเยือนไทย

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าเรามองย้อนกลับไปไกลๆ แม้เงินบาทยังไม่กลับสู่ระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนสมัยก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 แต่ในรูปค่าเงินเฉลี่ย (NEER) ค่าเงินบาทไทยได้กลับคืนระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายความว่าความสามารถในการแข่งขันที่เราได้มาจากการลอยตัวค่าเงินเมื่อปี 2540 ซึ่งส่งผลให้ไทยฟื้นตัวเร็วมากหลังวิกฤต และเปลี่ยนการส่งออกให้เป็นเครื่องจักรผลักดันเศรษฐกิจ เราได้คืนเขาไปหมดแล้ว

 

THB NEER and REER are back to pre-1997 levels

 

การแข็งค่าของเงินบาท อาจจะเป็นอาการจากปัญหาเชิงโครงสร้างและประเด็นปัจจัยพื้นฐาน (ไม่น่าจะมาจากการเก็งกำไรค่าเงิน) โดยเฉพาะจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งจาก positive shock (เช่น การท่องเที่ยว และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก) จนกลายเป็น Dutch disease ดังที่ผมเคยเล่าถึงไปแล้ว

แต่ถ้ามองจากอีกฝั่ง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินบาทที่แข็งค่ามีต้นเหตุมาจากโอกาสการลงทุนในประเทศที่มีจำกัด ปัญหาโครงสร้างประชากร และความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เรามีเงินออมในประเทศ (ทั้งจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน) มากกว่าโอกาสการลงทุนในประเทศ จนสร้างปัญหาความสมดุลระหว่างเงินออมกับเงินลงทุน (savings-investment gap) ผลก็คือเศรษฐกิจไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จนกดดันค่าเงินอย่างที่เห็น

 

Widening S-I gap = sluggish investment + rising saving

 

เราเริ่มเห็นเงินไหลออกจากประเทศ ทั้งนักลงทุนต่างประเทศขายการลงทุนในประเทศไทย และนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศเราน้อยลง

ระยะหลังปัญหาเริ่มชัดขึ้น ในขณะที่ยอดการส่งออกของไทยหดตัว แต่การนำเข้าหดตัวมากกว่า เพราะอุปสงค์ในประเทศเหือดแห้ง การลงทุนที่มีจำกัดทำให้การนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เรายิ่งเกินดุลการค้า และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเข้าไปอีก

นอกจากนี้ ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำเทียบกับต่างประเทศ ก็สร้างแรงกดดันให้ค่าเงินแข็งขึ้นเช่นกัน

อาการเช่นนี้คล้ายกับที่ญี่ปุ่นเคยเจอเมื่อ 20-25 ปีก่อน เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเผชิญปัญหาเรื่องประชากร เกิดข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เรียกว่าญี่ปุ่นเจอปัญหาคล้ายไทยตอนนี้มาก ทั้งเศรษฐกิจโตช้า เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ และค่าเงินเยนแข็ง

แต่ปัญหาคือเรากำลังเจอปัญหาแบบคนรวย ในวันที่เราจนกว่าเขา 5-6 เท่า และเราไม่ได้เป็นเป้าหมายในการลงทุนแบบสมัยก่อนอีกต่อไป

แน่นอนว่าบาทที่แข็งค่าขึ้น น่าจะช่วยปรับปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ในระดับหนึ่ง และในที่สุดบาทอาจจะอ่อนค่าลงก็ได้ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา สร้างปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศจริงๆ

เราคงต้องสุมหัวคิดกันอย่างจริงจังแล้วว่าจะออกจากปัญหานี้อย่างไร ในวันที่เราเจอปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น

นโยบายกระตุ้นระยะสั้นเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save