fbpx
ไทยกำลังเจอ Dutch disease?

ไทยกำลังเจอ Dutch disease?

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

 

เคยได้ยินคำว่า “Dutch disease” ไหมครับ

วันนี้ผมขอชวนคุยเรื่องนี้หน่อยครับ เพราะมีสัญญาณบางอย่างเตือนว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะกำลังติดโรคนี้มาแบบอ่อนๆ

“Dutch disease” เป็นคำที่ใช้อธิบายเศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ Dutch ในช่วงทศวรรษ 1960s เมื่อมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ แม้จะเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจดัตช์ แต่เงินตราต่างประเทศที่มาจากการส่งออก ทำให้ค่าเงิน Dutch guilder แข็งค่าขึ้น จนสินค้าส่งออกที่ไม่ใช่พลังงาน โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ราคาแพงขึ้น และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป

สถานการณ์นี้ยิ่งทำให้ฐานการส่งออกพึ่งพาราคาพลังงานมากขึ้น และมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวน เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ฐานสินค้าอุตสาหกรรมก็อ่อนแอกว่าที่จะแข่งขันกับตลาดโลกได้เสียแล้ว

นอกจากนี้ การค้นพบก๊าซธรรมชาติทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจถูกทุ่มลงไปในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ซึ่งใช้ทุนมากและใช้แรงงานน้อย จนยิ่งทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศอ่อนแอ การว่างงานเพิ่มขึ้น และเมื่อค่าเงินแข็งค่าเร็วเกินไป ก็มีการลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งทำให้มีเงินไหลออก ทำให้การลงทุนในประเทศลดลง ทำลายศักยภาพระยะยาวของประเทศไปอีก

 

 

คำว่า “Dutch disease” นี้น่าจะถูกนำมาใช้โดยนิตยสาร The Economist ในปี 1977 ซึ่งสังเกตเห็นภาวะ “แข็งนอก-อ่อนใน” ของเศรษฐกิจดัตช์ (เอ๊ะ ฟังคุ้นๆ นะครับ) แม้ยอดการส่งออกดี แต่ภาวการณ์ว่างงานพุ่งขึ้นจาก 1.1% เป็น 5.1% และการลงทุนภาคเอกชนในประเทศหดหาย

แม้คำว่า “Dutch disease” มักจะใช้กับข่าวดีจากการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็อาจจะใช้กับเหตุการณ์อื่นๆ ที่นำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศได้ด้วย เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือเงินลงทุนจากต่างประเทศ

คำๆ นี้เตือนใจเราว่า ข่าวดีอาจจะกลายเป็นข่าวร้ายได้ ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี

ถ้ารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศถูกแปลงเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ก็อาจจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นแข็งค่าขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และอาจเป็นแรงกดดันให้เงินสกุลนั้นแข็งค่าขึ้น จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแข่งกับประเทศอื่นๆ (tradable goods) ลดลง

ถ้าประเทศพยายามตรึงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าขึ้น การไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศอาจจะทำให้ปริมาณเงินในประเทศนั้นเพิ่มขึ้น จนกดดันให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สุดท้ายก็ทำให้ค่าเงินที่แท้จริง (real exchange rate) แข็งค่าขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันอยู่ดี

และเมื่อรายได้เงินตราต่างประเทศเหล่านั้นหมดลง (เช่น ก๊าซธรรมชาติหมดไป หรือราคาลดลงอย่างรวดเร็ว) อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างถาวร เพราะฐานสินค้าอุตสาหกรรมได้ถูกทำลายไป ต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างกลับคืนมา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบางประเทศ เช่น นอร์เวย์ มีรายได้จากน้ำมันมูลค่ามหาศาล แต่กลับไม่เจอปัญหา Dutch disease ส่วนหนึ่งเพราะนอร์เวย์เก็บออมรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศไว้ในกองทุนความมั่งคั่ง (ในรูปแบบของกองทุนบำเหน็จบำบาญ) เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปในวันที่น้ำมันสำรองถูกใช้หมด และกองทุนนี้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศและเงินตราต่างประเทศ รายได้ต่างประเทศไม่ถูกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นทั้งหมด จึงมีผลกระทบไม่มากต่ออัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจภายในประเทศ

โรคนี้ถูกนำไปใช้อธิบายกับเหตุการณ์หลายอย่างในประวัติศาสตร์ เช่น เมื่อครั้งสเปนเจอทรัพยากรธรรมชาติจากทวีปอเมริกาสมัยศตวรรษที่ 16 หรือออสเตรเลียเจอทองในช่วงปี 1850 รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลายในยุคที่ราคาน้ำมันขึ้นไปมากๆ ก่อนจะร่วงลงมา หรือแม้กระทั่งอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม

Dutch disease อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายภาวะที่เรียกว่า oil curse หรือ resource curse หรือบางคนใช้คำว่า paradox of plenty หรือ คำสาปแห่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมักใช้อธิบายข้อสังเกตที่ว่า ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมักเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจแย่ และมีความเหลื่อมล้ำสูง และมักจะถูกปกครองโดยเผด็จการ

ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีคุณภาพของสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองต่ำ รายได้ที่หามาได้ง่ายๆ มักถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งเป็นที่มาของการคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง และการยึดอำนาจ ดังเช่นหลายประเทศในแอฟริกาและลาตินอเมริกา

 

Dutch disease กับประเทศไทย

 

ระยะหลังมีผู้คนเป็นห่วงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นไปกว่า 7% (แต่ถ้าเราดูดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับทุกประเทศคู่ค้า เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแค่ไม่ถึง 3% เพราะมีคู่ค้าที่ค่าเงินแข็งด้วย เช่น เงินยูโร)

คำอธิบายเรื่องการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

(1) ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมาก เพราะคนตั้งความหวังไว้มากกับเงินเฟ้อ และนโยบายของ Trump

(2) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า แต่ก็ลดลงไปมากหลังจากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยมา 2-3 ครั้ง

และ (3) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ไทยเกินดุลค่อนข้างมากในระยะหลังๆ ปีที่แล้วเราเกินดุลถึง 11% ของ GDP และปีนี้ก็น่าจะเกินดุลในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก ในบางเดือนเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นเกือบครึ่งปีรวมกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่การส่งออกก็ไม่ค่อยดีเท่าไร และติดลบมากว่าสามปี (เพิ่งจะกลับมาขยายตัวเมื่อไม่กี่เดือนมานี้) ผมเคยเล่าถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดว่าเป็นเครื่องสะท้อนว่าเรามีเงินออมในประเทศมากกว่าโอกาสในการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณว่าอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศอ่อนแอเต็มทน และอาจจะเป็นอาการของภาวะเงินเฟ้อต่ำก็ได้

แต่ถ้าเราไปดูไส้ในจะพบว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นมากมาจากสองส่วนใหญ่ๆ คือ (1) การเพิ่มขึ้นของดุลบริการ นั่นคือ การท่องเที่ยว และ (2) การลดลงของการนำเข้าสินค้า ซึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงไปมาก และเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงและการลงทุนที่หายไป

ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ในแต่ละไตรมาส ประเทศไทย “ส่งออก” บริการ และได้รับเงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวไตรมาสละ 1.2-1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่อยู่ที่ประมาณ 5-6 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อห้าปีก่อน  ในปัจจุบันมูลค่าการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-12% ของ GDP และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญในตัวเลขการเติบโตของประเทศ

ด้วยแนวโน้มของธุรกิจท่องเที่ยวที่ดีมาก ทรัพยากรของประเทศ (เช่น แรงงาน) ก็ไหลเข้าไปอยู่ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะเป็นภาคที่มีการขยายตัวมากที่สุด

จริงๆ แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวช่วยทำให้ฐานรายได้จากต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยมีการกระจายมากขึ้น ไม่กระจุกตัวกับสินค้าส่งออกบางชนิด และเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศ ที่น่าจะนำเงินตราต่างประเทศมาได้อีกนาน

แต่ถ้ามองจากประเทศไทยผ่านแว่นประวัติศาสตร์ รายได้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากการท่องเที่ยว ก็อาจจะเป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นในระยะหลังๆ จนทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และอาจจะเป็นอาการคล้ายกับ Dutch disease ที่ไปกระทบภาคเศรษฐกิจอื่นๆ แบบที่ประเทศอื่นเคยเจอก็ได้

ภาคส่งออกของไทยต้องไม่ชะล่าใจ ควรสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ดี และเตรียมความพร้อมรับกับความผันผวนของค่าเงินอยู่เสมอ

อย่าลืมสิ่งที่ Dutch disease เตือนเราว่า บางทีข่าวดีก็อาจจะเป็นข่าวร้ายได้เหมือนกัน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save