fbpx

ที่สุดของ ‘ความหวัง’ คือ ‘สันติภาพ’ : ความร้าวรานของคนตะวันออกกลาง เมื่อประวัติศาสตร์ยังย่ำซ้ำรอยเดิม

ตะวันออกกลาง

ปลายพู่กันจุ่มหมึกดำปาดป้ายลงบนแผ่นกระดาษ เส้นสายรวมร่างกลายเป็นตัวอักษรอารบิก คำว่า ‘ الأمل والسلام ’ ‘ความหวังและสันติภาพ’ ถูกขีดเขียนซ้ำๆ ทับกันไปมาตลอดคลิปวิดีโอความยาวกว่า 5 นาที จนทั้งหมดเหลือเพียงสีดำปื้นใหญ่ มองไม่ออกว่าอะไรคือ ‘ความหวัง’ อะไรคือ ‘สันติภาพ’

ผลงานชิ้นนี้ของรัชดี อันวาร์ (Rushdi Anwar) ชื่อว่า ‘A Hope and Peace to End All Hope and Peace’ ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะเดี่ยวของเขา ในช่วง 24 พฤศจิกายน 2023 – 10 มีนาคม 2024 ที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) โดยมีโซอี้ บัต (Zoe Butt) เป็นภัณฑารักษ์  

‘ความหวังและสันติภาพ’ ที่ลบล้างความหวังและสันติภาพทั้งมวล – การจุ่มพู่กันเขียนคำเดิมซ้ำๆ คือการเสียดสีวาทกรรมทางการเมืองที่หลายประเทศทั่วโลกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลของการกระทำความรุนแรงหนแล้วหนเล่า ทั้งสงคราม รัฐประหาร การปราบปรามและกดขี่ประชาชน เมื่อความหมายแต่เดิมแปรเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะเลือกใช้ ท้ายที่สุดจึงไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ‘ความหวังและสันติภาพ’ แท้จริงหน้าตาเป็นเช่นไร

นิทรรศการชื่อเดียวกันกับผลงานของรัชดีเองก็ฉายภาพความหวังและสันติภาพอันขมุกขมัวในภูมิภาคเอเชียตะวันตก หรือ ‘ตะวันออกกลาง’ ผ่านการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการสร้างสรรค์งานศิลปะตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีของเขา แต่ไม่เพียงแค่เล่าถึงความขัดแย้งและความรุนแรงนานาประการในดินแดนแห่งนี้ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พิเศษยิ่งไปกว่านั้น คือศิลปินยังตีแผ่เรื่องราวของ ‘เคอร์ดิสถาน’ (Kurdistan) และชาวเคิร์ด (Kurd) ชนชาติอันเก่าแก่ผู้อาศัยบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศตุรกี อิหร่าน อิรัก และซีเรีย ที่แม้จะมีจำนวนหลายสิบล้านคนบนโลก แต่พวกเขาไม่เคยมีประเทศเป็นของตนเอง ไม่เคยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง และยังคงประสบปัญหาในฐานะชนกลุ่มน้อยเรื่อยมา

รัชดี อันวาร์ คือหนึ่งในชาวเคิร์ดผู้พลัดถิ่นฐาน ที่บันทึกเรื่องราวบอกเล่าประสบการณ์ผ่านผลงานศิลปะ เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เขาเกิดที่เมืองฮาลับจา เคอร์ดิสถาน (บริเวณตอนเหนือประเทศอิรัก) อันเป็นสถานที่ที่ผู้คนถูกกดขี่ และเกิดความรุนแรงอยู่บ่อยครั้งจากกองกำลังทหารภายใต้คำสั่งของรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน (ปี 1979-2003)


รัชดี อันวาร์


ในข้อเขียนของภัณฑารักษ์ (curatorial essay) โดยโซอี้ ชื่อ ‘The Limits of a Journey of Resistance’ ส่วนหนึ่งกล่าวถึงจุดพลิกผันครั้งหนึ่งในชีวิตศิลปินของรัชดีว่า

“เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2529 ขณะนั้นรัชดีอายุ 15 ปี เขาได้รับโอกาสให้จัดแสดงผลงานภาพวาดขนาดใหญ่ที่ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นประจำเมืองฮาลับจา บ้านเกิดของเขาที่อยู่ในเขตเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรัก รัชดีดีใจที่ได้รับโอกาสนี้ ลุงของเขาก็เชื่อในพรสวรรค์ที่เขามี แต่ก่อนอื่นใด เขาจะต้องไปขออนุญาตจาก ‘หน่วยสืบราชการลับ’ ของรัฐบาลอิรักก่อน รัชดีจึงหอบเอาภาพวาดไปยังหน่วยดังกล่าว แต่ก็อดรู้สึกกังวลไม่ได้เพราะเขารู้ว่า ใครที่ได้มาที่แห่งนี้นั้นย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น

“อาคารหลังนี้เป็นที่ทำงานของกองกำลังทหารที่จุดไฟเผาหมู่บ้านชาวเคิร์ดที่ตั้งอยู่บนภูเขาใกล้กับเมืองฮาลับจา ภาพที่รัชดีวาด คือเรื่องราวความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของชาวบ้านผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์จุดไฟเผาในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบภาพวาดเดินอิดออดเข้ามาหารัชดีเขาคาบบุหรี่ไว้ที่มุมปาก แล้วถามรัชดีเป็นภาษาอาหรับด้วยน้ำเสียงโกรธเคือง ‘ทำไมแกวาดภาพรูปอะไรแบบนี้เนี่ย นี่มันยุคซัดดัม ฮุสเซนนะเว้ย! เขาทำให้บ้านเมืองเราสงบสุข แถมยังปลอดภัยอีก! ทำให้เรามีอาหารกิน! ใครสอนแกให้วาดอะไรแบบนี้เนี่ย พ่อแกเป็นคือใคร บอกมาเดี๋ยวนี้!’

“รัชดีไม่เข้าใจว่าเขาพูดอะไร แต่ ‘ผู้อำนวยการกระทรวงวัฒนธรรม’ กระซิบคำแปลให้เขาฟัง ซึ่งทำให้เขากลัวจนตัวสั่น รัชดีรู้ว่าครอบครัวจะต้องเผชิญกับอะไรถ้าบอกไป เขาจึงเลือกที่จะเงียบ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เขาแสดงภาพวาดเพียง 4 ภาพ จากที่มีทั้งหมด 11 ภาพ แต่เขาเลือกที่จะไม่แสดงผลงานในครั้งนั้น”

หนุ่มน้อยชาวเคิร์ดวัย 15 ปีได้ตระหนักรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวว่างานศิลปะมีพลังอำนาจมากแค่ไหน มันคือการต่อต้านด้วยการบันทึกสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้บันทึก คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมขึ้นจากเส้น สี และวัตถุโดยศิลปิน



ในกาลต่อมา ช่วงทศวรรษ 1989 เมื่อซัดดัม ฮุสเซน ประกาศ ‘ปฏิบัติการอันฟาล’ (Anfal campaign) ให้ทหารโจมตีหมู่บ้านชาวเคิร์ด รวมถึงเมืองฮาลับจา ด้วยการจุดไฟเผาและสารเคมี โดยอ้างว่าชาวเคิร์ดร่วมมือกับอิหร่านทำสงครามกับอิรัก แต่เป้าประสงค์แอบแฝงคือการกวาดล้างชาวเคิร์ดที่ออกมาเรียกร้องอธิปไตย รัชดีค้นพบว่าศิลปะยังเป็นสิ่งปลอบประโลมใจในคราวชีวิตเผชิญเรื่องสาหัส รายล้อมด้วยเสียงปืนเสียงระเบิด แม้ต้องจุดเทียนวาดภาพ เพราะขาดไฟฟ้าในเมืองก็ตาม

ปี 1997 รัชดีขอลี้ภัยที่ประเทศตุรกีได้สำเร็จ และสิ่งแรกที่เขาขอหลังผ่านกระบวนการสัมภาษณ์โดยสหประชาชาติ เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองยังประเทศออสเตรเลีย คือกระดาษกับหมึก เพื่อบันทึกทุกอย่างที่เขาได้พบเห็นมา – จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดหลายปีต่อจากนั้น ผลงานหลายชิ้นของศิลปินชื่อรัชดี อันวาร์ มักพูดถึงประเด็นสังคมการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อโลกตะวันออกกลาง ความเจ็บปวดในฐานะผู้พลัดถิ่น และชวนให้กระตุกคิดถึงความเสมอภาคเท่าเทียม สิทธิมนุษยชนที่คนทุกผู้พึงได้รับ

แน่นอน นิทรรศการ ‘A Hope and Peace to End All Hope and Peace’ คือ การสานต่อความตั้งใจสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับตะวันออกกลางและชาติพันธุ์เคิร์ดของเขา ผ่านงานศิลปะหลากหลายชนิด ตั้งแต่ประติมากรรม หัตถกรรม ภาพพิมพ์ คลิปวิดีโอ สารคดี ไปจนถึงภาพถ่าย เอกสาร และอื่นๆ ในฐานะ archive สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีโซอี้ บัตต์ ภัณฑารักษ์ ร่วมคัดสรรชิ้นงานเพื่อนำเสนอเรื่องราวหลักๆ ทั้งหมด 3 ส่วน

ส่วนแรก ว่าด้วยเรื่อง ‘ข้อตกลงไซกส์-ปิโกต์’ ที่เจ้าอาณานิคมเช่นอังกฤษและฝรั่งเศสจัดทำขึ้นอย่างลับๆ ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อ ค.ศ.1916 เพื่อแบ่งพื้นที่ปกครองภูมิภาคตะวันออกกลางตามผลประโยชน์ด้านทรัพยากรน้ำมันที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับ ซึ่งการแบ่งเส้นพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นต้นกำเนิดความขัดแย้งนานาประการของตะวันออกกลางจนถึงปัจจุบัน

รัชดีเลือกเล่าเรื่องราวของข้อตกลงนั้นอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาถึงที่สุด ผ่านแผนที่ภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งสร้างขึ้นจากสแตนเลส ตั้งอยู่บนกระสุนจำลองจากทองเหลืองจำนวน 40 นัด แบ่งออกเป็นสองฝั่งตามแนวนอน – ชื่อของมันคือ ‘They filled our world full of shadow, and then they tell us to seek the light’



“พวกเขาแยกตะวันออกกลางออกเป็นสองพื้นที่ ได้แก่ โซน A สีน้ำเงิน ของฝรั่งเศส และโซน B สีแดง ของอังกฤษ ฝั่งฝรั่งเศสยึดพื้นที่บริเวณอิรัก (ตอนเหนือ) ซีเรีย และส่วนหนึ่งของตุรกี ขณะที่อังกฤษปกครองอิรักตอนกลาง ไปถึงปาเลสไตน์ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยเหตุผลของการวางเส้นแบ่งเขตเช่นนี้ มีเพียงอย่างเดียว คือ ใช้เป็นเส้นทางวางท่อส่งถ่ายน้ำมัน” รัชดีอธิบายขณะนำชมผลงาน พร้อมชี้ให้ดูภาพถ่ายที่ติดบนแผนที่ ตัวแสดงเหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคนี้นับตั้งแต่เกิดการแบ่งเขตเป็นต้นมา

ยกตัวอย่างเช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวคริสเตียนอาร์เมเนียในจักรวรรดิออตโตมันปี 1915-1916 ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกในรอบศตวรรษที่ 20, การสังหารหมู่ชาวเคิร์ดหลายต่อหลายครั้ง, การโค่นล้มอำนาจของซัดดัม ฮุสเซน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ และแล้วก็ถูกล้มโดยอำนาจของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

ภาพที่ร่วมสมัย ชวนให้สะเทือนใจที่สุดภาพหนึ่ง คงหนีไม่พ้นภาพหญิงชราชาวปาเลสไตน์กำลังปิดปาก แสดงสีหน้าทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ ‘Nakba’ หรือ ‘หายนะ’ ในภาษาอาหรับ เมื่อหล่อนถูกขับไล่จากดินแดน และเผชิญกับความรุนแรงหลังประกาศจัดตั้งรัฐ ‘อิสราเอล’ ในปี 1948 ข้างๆ กัน รัชดีจัดวางภาพควันไฟและบ้านเรือนพังทลายบริเวณฉนวนกาซา สื่อถึงความขัดแย้งซึ่งปะทุออกมาเป็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในปี 2023 – กว่า 75 ปีผ่านมา ‘Nakba’ ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลง



“เรากำลังทำผิดซ้ำเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี 1948 ลองดูสิว่าเกิดอะไรขึ้นในฉนวนกาซาตอนนี้ และถ้าคุณสังเกตเห็นกระสุนปืนตรงฐานของแผนที่ตะวันออกกลาง นั่นคือตัวแทนว่าความขัดแย้งและสงครามยังคงดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้เรื่อยมา” รัชดีกล่าว

ผลงานอีกชิ้นของเขาที่กล่าวถึงผลกระทบจากเจ้าอาณานิคมเช่นกัน คือ ‘When you pray for black gold, you must deal with the burning smoke too’ ผ้าปูรองละหมาดของชาวเคิร์ด จัดวางใต้ภาพถ่ายของ มาร์ก ไซกส์ และฟรองซัวส์ จอร์จ-ปิโกต์ นักการทูตจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสที่ลงนามทำข้อตกลงลับแบ่งตะวันออกกลาง



ภาพของไซกส์ส่องสว่างด้วยสีแดง ปิโกต์ฉายแสงทับด้วยสีน้ำเงิน ตั้งประกบอยู่เหนือตำแหน่งของผ้าประหนึ่งบ่งบอกถึงสถานะอันเหนือกว่า และกำลังจ้องมองแผ่นดินที่แบ่งสรรปันส่วนระหว่างกัน ลวดลายบนผ้าทอแสดงรายละเอียดตำแหน่งเหล่าชนชาติซึ่งเจ็บปวดบอบช้ำ กลายเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ จากการแบ่งแยกเขตแดนที่ไม่คำนึงถึงผู้คนท้องถิ่นของเจ้าอาณานิคม และอาจไม่เข้าใจกระทั่งความเป็นมุสลิมของคนในดินแดนแห่งนี้

สิ่งที่หลายคนทำได้อาจมีเพียงแค่การภาวนาต่อพระเจ้า เฉกเช่นชายชาวเคิร์ดคนหนึ่งในภาพถ่ายไม่ไกลจากผืนผ้า เขากำลังยืนละหมาดด้วยเท้าอันเปลือยเปล่าข้างคูน้ำอันแห้งเหือด รองเท้าวางไว้อีกฝั่งใกล้เพียงเอื้อม แต่ไม่อาจคว้าหยิบได้

“ภาพนี้ชื่อว่า The Invisible line – He prays in Iraq, his shoes rest in Iran, both are in Kurdistan” โซอี้รับหน้าที่เล่าเรื่องราวเบื้องหลัง “ชายคนนี้ยืนอยู่บนก้อนหินในฝั่งประเทศอิรัก แต่รองเท้าของเขาวางบนฝั่งประเทศอิหร่าน ตรงกลางคือคูน้ำที่ถูกขุดโดยชาวสวนเปอร์เซียเพื่อใช้งานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมัน ตอนนี้จนกระทั่งสนธิสัญญาแอลจีเรีย (ปี 1975) กำหนดให้มันกลายเป็นสิ่งแบ่งแยกพื้นที่เคอร์ดิสถานออกจากกัน

“คนเคิร์ดที่นี่ไม่ได้รับอนุญาตให้ข้ามคูน้ำไปอีกฝั่งเพราะถือว่าเป็นการรุกล้ำอีกประเทศ ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้นานหลายทศวรรษ นี่คือตัวอย่างผลต่อเนื่องจากการแบ่งเขตประเทศตามทัศนะเจ้าอาณานิคม นี่คือหนึ่งเรื่องราวในอีกหลายพันเรื่องที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง”


โซอี้ บัตต์


เนื้อหาของนิทรรศการส่วนที่สอง เจาะจงลงไปอีกถึงเลือดเนื้อคนในแผ่นดินเคอร์ดิสถาน ผ่านอนุสรณ์ของเอซิดี มีร์ซา (Ezidi Mirza, 1600-1651) และสารคดีชีวิตของโหชยาร์ ไบยาเวลาย (Hoshyar Byawelaiy) ชายคนแรกคือวีรบุรุษทหารชาวยาซิดี ชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยของเคอร์ดิสถานซึ่งเผชิญกับการถูกกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ยุคสมัยจักรวรรดิออตโตมันเนื่องด้วยปัญหาทางเชื้อชาติและความเชื่อทางศาสนา

“ชาวยาซิดีเป็นคนเคิร์ดด้วยสัญชาติ แต่พวกเขานับถือศาสนายาซิดีซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนาเก่าแก่ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวออตโตมัน หรือปัจจุบันคือชาวตุรกีที่นับถือศาสนาอิสลาม” รัชดีเล่า ท่ามกลางความขัดแย้งอันยาวนาน ชื่อของมีร์ซาเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำที่ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนชาวยาซิดี และด้วยวีรกรรมของเขาส่งผลให้ภายหลังการเสียชีวิตเพราะถูกลอบสังหาร ชาวยาซิดีได้สร้างอนุสาวรีย์เป็นเกียรติแก่มีร์ซา ด้วยท่วงท่าของนายทหารนั่งบนหลังม้า ณ เมืองบาชิกา บ้านเกิดของเขาที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองโมซุล ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก

ทว่า “ปี 2016 กลุ่ม ISIS ได้เข้ายึดเมืองโมซุล แม้ภายหลังชาวเคิร์ดจะสามารถยึดพื้นที่กลับมา แต่ ISIS ได้ทำลายอนุสาวรีย์ของมีร์ซาไปแล้ว” โซอี้กล่าว ขณะที่ฝ่ายรัชดีเสริมว่า “อนุสาวรีย์ของจริงสร้างขึ้นจากซีเมนต์ที่มีความแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะบริเวณท้องม้า ทำให้ ISIS ไม่สามารถทำลายทั้งหมดได้ แต่บางส่วนเช่น ขา เป็นส่วนที่ค่อนข้างเปราะบาง พวกเขาใช้เครื่องยิงจรวด RPG ใช้กระสุน ใช้เลื่อยเหล็กทำลายจนเหลือเพียงเท่านี้”



‘เท่านี้’ ของรัชดี คือเท่าที่เขาจะสามารถใช้เหล็กและทองเหลืองจำลองซากอนุสรณ์มาตั้งเด่นเป็นสง่าในงานนิทรรศการของเขาได้ เพราะนอกจากจะทำลายตัวรูปปั้นแล้ว กลุ่ม ISIS ยังทำลายภาพถ่ายและหลักฐานเกี่ยวกับอนุสาวรีย์มีร์ซาไปเสียหลายชิ้น ทำให้เกิดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานให้ตรงตามต้นฉบับ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวรัชดีมองว่าตนยินดีนำเสนออนุสรณ์ชิ้นนี้ในรูปแบบซากปรักหักพังเสียมากกว่า

“อนุสาวรีย์ส่วนใหญ่มักปรากฏในรูปแบบสมบูรณ์ ทั้งม้าและผู้นำล้วนแล้วแต่สง่างาม ซึ่งทั้งหมดเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง แต่อนุสาวรีย์ชิ้นนี้ไม่ใช่แบบนั้น มันคือตัวแทนของการพังทลาย ตัวแทนของภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งถูกผู้นำหลายคนของตนบ่อนทำลายทั้งวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคมกันเอง ผมตั้งชื่องานชิ้นนี้ว่า ‘The Kingdom of dust, ruled by stones’ เพราะผมมองว่าผู้นำของเราส่วนมากเป็นคน ‘ใจหิน’ พวกเขาไม่เข้าใจคำว่าสันติภาพ ไม่ต้องการประนีประนอม เวลาเขาไปที่ใด ยึดครองที่ใด ที่นั่นจะถูกทำลายเหลือเพียงแต่ฝุ่นและเศษตะกอน”

รูปปั้นมีร์ซาในแบบของรัชดีจึงอาจไม่ใช่การยกย่อง แต่เป็นการเสียดสีเย้ยหยัน อย่างรวดร้าวและเจ็บลึก ทั้งต่อผู้สร้างและผู้ชม



ตรงกันข้ามกับเอซิดี มีร์ซา – โหชยาร์ ไบยาเวลาย เจ้าของเรื่องราวในสารคดีชื่อ ‘A man stronger than mine’ คือประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ เขาคือชายชาวเคิร์ดผู้มุ่งมั่นเก็บกู้ทุ่นระเบิดออกจากเขตเกรตเตอร์เคอร์ดิสถาน โดยปราศจากความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือกระทั่งใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยใดๆ มีเพียงความรู้จากสมัยเป็นกองกำลังชาวเคิร์ดในวัยหนุ่ม สองมือ และความตั้งใจช่วยเหลือแผ่นดินบ้านเกิดเท่านั้นที่ผลักดันให้เขาปลดชนวนระเบิดไปแล้วกว่า 2.2 ล้านลูก

“เขาเป็นคนพิการ ไม่มีขาทั้งสองข้าง แต่กลับปลดระเบิดเป็นล้านลูกด้วยตัวคนเดียว” รัชดีว่า “เราเพิ่งเดินทางไปถ่ายทำเรื่องราวของเขาเมื่อเดือนพฤษคมที่ผ่านมา คุณจะเห็นได้จากสารคดีว่าในบ้านของโหชยาร์มีระเบิดทุกชนิดที่เขาเคยปลดอยู่ที่นั่น”



จอภาพตัดสลับระหว่างฉากโหชยาร์นั่งคุยกับกล้องในบ้าน กับฉากที่เขาเดินถือเครื่องตรวจระเบิดไล่ไปตามทุ่งหญ้า ก่อนหมอบลงหลังได้ยินสัญญาณ ค่อยๆ คลานเข้าใกล้ทุ่นระเบิดเป้าหมาย โดยไม่ต้องปรุงแต่งแสงสีเสียง บางครั้งฉากเหล่านั้นก็ชวนให้คนดูระทึกใจหายวาบ เมื่อระลึกได้ว่านั่นคือฉากที่ชายคนหนึ่งกำลังขยับเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อยๆ – งานของโหชยาร์ไม่มีโอกาสให้เขาทำผิดพลาด ไม่มีเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ขณะเดียวกัน ฉากภายในบ้านของเขาถูกจัดแสงเงาและตำแหน่งข้าวของไว้เป็นอย่างดี โหชยาร์นั่งเปิดเปลือยให้เห็นหน้าตัก วางขาเทียมทั้งสองทิ้งไว้ด้านข้าง ส่วนด้านหลังวางกองระเบิดตกแต่งด้วยดอกไม้ประปราย งดงามแต่ย้อนแย้ง เรียบง่ายแต่สั่นสะเทือนอารมณ์ เพราะชีวิตของเขา รวมถึงประชาชนชาวเคิร์ดอีกมากมายดำเนินไปท่ามกลางกองระเบิดนับล้านในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา



“ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับระเบิดของเขานั้นลึกซึ้งมาก เพียงแค่เห็นลักษณะของระเบิด โหชยาร์ก็สามารถบอกได้ว่ามันมาจากประเทศไหน สงครามครั้งใด ใครเป็นคนผลิต คนขาย หรือคนนำเข้ามาในประเทศ” โซอี้กล่าว “และเขาได้ช่วยปลดชนวนทั้งหมดให้คนในเคอร์ดิสถานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแม้แต่นิดเดียว”

อดไม่ได้ที่จะเก็บมาคิด ว่าทำไมจึงมีเพียงโหชยาร์ที่ทำหน้าที่นี้เพียงผู้เดียว เผชิญกับความเป็นความตายเพียงผู้เดียว โดยไร้การเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐ จากคนที่ก่อสงครามและทิ้งระเบิดไว้ในดินแดนแห่งนี้ รัชดีกล่าวว่าชาวเคิร์ดมองโหชยาร์เป็นฮีโร่ แต่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่าหลายครั้ง ‘ฮีโร่’ ถือกำเนิดด้วยความจำใจ

ถ้าเป็นไปได้ ไม่มีใครอยากถูกยกย่องเป็น ‘ฮีโร่’ จากเศษซากความรุนแรงในบ้านเกิด โหชยาร์อาจรู้สึกเช่นเดียวกัน

ประเด็นสุดท้ายของนิทรรศการ ว่าด้วยเรื่องกลวิธีสร้างความหวาดกลัวต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง การก่อร่างสร้างภาพจำความรุนแรง การก่อการร้ายโดยกลุ่ม ISIS และการใช้โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) โจมตีประเทศต่างๆ ทั้งจากเจ้าอาณานิคมและจากผู้นำเผด็จการ อาทิ ซัดดัม ฮุสเซน

รัชดีสอดแทรกประเด็นนี้ทั่วทั้งนิทรรศการผ่านเสียงเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงแกรมโมโฟนที่ผลิตในยุคอาณานิคม เพียงเดินเข้ามาในบริเวณจัดแสดง ผู้ชมจะได้ยินเสียงคลอเคล้าเป็นพื้นหลังระหว่างพินิจดูงานศิลปะชิ้นงาน ตั้งแต่เสียงประกาศถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ข่าวการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน เสียงแตรประกอบราชพิธีและเสียงย่ำเท้าของทหารที่เดินขบวนต้อนรับการมาเยือนอิรักของกษัตริย์อังกฤษ เรียงร้อยมาถึงยุคที่ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามกับอิรัก และเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในยุคปัจจุบัน สะท้อนถึงภาพการใช้สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการโน้มน้าวใจประชาชน อ้างเหตุผลและสร้างความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอื่น แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคตะวันออกกลางเสมอมา



นอกจากนี้ รัชดียังรวบรวมสื่อประเภทอื่นมาจัดแสดงภายในนิทรรศการ ทั้งนิตยสารข่าว ภาพถ่าย และสิ่งของนานาชนิด เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายรูปแบบ รวมถึงสรุปเหตุการณ์โศกนาฏกรรมยากจะลืมเลือนในดินแดนแห่งนี้ผ่านภาพคอลลาจ 3 ภาพ อันได้แก่ ‘Burden of displacement’ การพลัดจากถิ่นฐานของคนตะวันออกกลางนับไม่ถ้วน ‘Endless war in the garden of Eden’ ไฟสงครามเผาผลาญแผ่นดินอิสราเอล-ปาเลสไตน์ไม่สิ้นสุด และ ‘Anfal Campaign’ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิร์ดในอิรัก – ในบ้านเกิดของตัวศิลปินเอง

ภาพทั้งสามด่างดำด้วยรอยไหม้และรอยกระสุน ชวนหวนนึกถึงหมึกสีดำที่แต่งแต้มลงบนกระดาษขาว

‘ الأمل والسلام ’ ‘ความหวังและสันติภาพ’

‘ الأمل والسلام ’ ‘ความหวังและสันติภาพ’

‘ الأمل والسلام ’ ‘ความหวังและสันติภาพ’

ป้ายทับตะวันออกกลางครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าสันติภาพที่แท้จริงจะมาเยือนแผ่นดินนี้เมื่อไหร่




หมายเหตุ : ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการ ‘A Hope and Peace to End All Hope and Peace’ ได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save