fbpx

เป้าหมายแรกของทวิตเตอร์ภายใต้อีลอน มัสก์ คือ ‘การสร้างรายได้’

เรื่องราวของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) กับทวิตเตอร์ยังไม่จบง่ายๆ

แม้ว่าเขาจะเข้ามาเป็นเจ้าของใหม่ของทวิตเตอร์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยเงินมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.65 ล้านล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การปลดอดีตซีอีโอ ซีเอฟโอ ผู้บริหารด้านกฎหมายและนโยบาย และที่ปรึกษาทั่วไปออกตั้งแต่วันแรก หลังจากนั้นก็มีการปรับหน้าโฮมเพจและไล่บอร์ดบริหารบริษัทออกทั้งหมด ให้ตัวเองขึ้นเป็นผู้บริหารเพียงคนเดียวในตอนนี้ ส่วนพนักงานก็มีการดึงเอาวิศวกรของเทสลามาช่วย และจะปลดพนักงานออกอีก 3,700 คน (ราวๆ 50% ของบริษัท) เพื่อลดต้นทุน และบังคับให้พนักงานที่เคยทำงานจากที่บ้านได้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศที่ซานฟรานซิสโก และสุดท้ายคือการจะนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากเรื่องโครงสร้างของบริษัทแล้ว ตอนนี้มัสก์ยังโฟกัสอย่างหนักในเรื่องการสร้างรายได้ ทำทุกหนทางเพื่อสร้างกระแสเงินให้กับบริษัท ตั้งแต่การเก็บเงินเครื่องหมาย ‘ติ๊กถูกสีน้ำเงิน’ ราว 750 บาท/เดือน สำหรับใครก็ตามที่เป็นสมาชิกรายเดือน หรือการจ่ายเงินเพื่อส่งข้อความส่วนตัวไปยังบัญชีของคนที่เป็น ‘high-profile users’ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง และนอกจากนั้นยังมีระบบ ‘paywall’ หรือระบบจ่ายเงินเพื่อดูวิดีโอสำหรับผู้ใช้งานด้วย สุดท้ายยังมีเสียงลือว่าจะปลุกชีพ Vine แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น (ที่ทวิตเตอร์ซื้อมาในปี 2012 และไม่ประสบความสำเร็จ) ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ใช้งานรุ่นใหม่ ที่เป็นเป้าหมายของบริษัทโฆษณาต่างๆ ด้วย

นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่ชายคนนี้เข้ามาบริหารทวิตเตอร์ และต่อจากนี้ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกนั้นไม่มีใครคาดเดาได้อย่างแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันนั่นก็คือการเพิ่มรายได้ให้บริษัทอย่างเร็วที่สุด เพราะดีลนี้เกิดขึ้นได้จากการทำ ‘Leveraged Buyout’ ที่มัสก์ไปกู้ยืมเงินมา 13,000 ล้านเหรียญซึ่งจะกลายเป็นหนี้ของบริษัท และบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยราวๆ 1 พันล้านเหรียญต่อปี ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์

เมื่อมาดูตัวเลขของทวิตเตอร์ที่มีกระแสเงินสดเข้าบริษัทประมาณ 630 ล้านเหรียญ ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้ต่อปี และเงินสำรองที่เคยมีอยู่ 6 พันล้านเหรียญของบริษัท ส่วนใหญ่ก็ถูกใช้ไปเพื่อให้ปิดดีลที่เกิดขึ้นนี้ แถมทวิตเตอร์ยังเป็นบริษัทที่ขาดทุน 8 ใน 10 ปีหลังสุด เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้มีเงินจ่ายหนี้เพียงพอ มัสก์ต้องตัดพนักงานออกเพื่อลดต้นทุน และแน่นอนต้องเก็บเงินเพิ่มในส่วนที่ทำได้

นอกจากเรื่องของพนักงานที่จะตัดทิ้งแล้ว ยังมีต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานของทวิตเตอร์ด้วยที่จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น มัสก์นัดพบวิศวกรเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะลดค่าใช้จ่ายต่อวันได้วันละ 1-3 ล้านเหรียญ ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยได้ไม่น้อย เพราะตอนนี้จะคาดหวังกับรายได้โฆษณาแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากบริษัทหลายแห่งไม่พอใจที่มัสก์จะผ่อนคลายมาตรการการแบนบัญชี ทำให้บุคคลที่เคยถูกแบนอย่างโดนัล ทรัมป์ ก็อาจกลับมาใช้บัญชีได้อีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ GM และ Audi สองบริษัทรถยนต์รายใหญ่ก็หยุดโฆษณาบนทวิตเตอร์ไว้ก่อนเพื่อรอดูว่ามัสก์จะพาบริษัทไปทางไหน

แม้ว่ามัสก์จะเคยให้สัมภาษณ์บนเวที TED เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าการเป็นเจ้าของทวิตเตอร์นั้น “ไม่ใช่เพื่อการสร้างรายได้ และผมไม่ได้สนใจเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจเลย” แต่พอมาถึงตอนนี้ดูเหมือนว่ามัสก์ไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว

เราเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจของโลกกำลังระส่ำระส่าย การขึ้นดอกเบี้ยของ FED อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก เศรษฐกิจมีโอกาสจะถดถอยต่อจากนี้ และแน่นอนว่าเงินโฆษณาที่นอกจากจะชะลอลงจากความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องการบริหารบริษัทและการเมืองของมัสก์แล้ว ยังจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่จะหดตัวและบริษัทหลายแห่งระวังการใช้จ่ายเกี่ยวกับโฆษณามากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก (ณ เวลาที่เขียน 04/11/2022) แต่ทรัพย์สินของเขานั้นผูกไว้กับหุ้นของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งตอนนี้ก็เทรดอยู่ที่ $215/หุ้น จากที่เคยสูงสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ $407/หุ้น ลงมาแล้วประมาณ 47%)

สำหรับฟีเจอร์อย่าง Pay Direct Message หรือการจ่ายเงินเพื่อส่งข้อความหาคนที่มีชื่อเสียง (V.I.T – Very Important Tweeter) นั้นกำลังมีการทดสอบการทำงานเบื้องต้นกันอยู่ วิธีการทำงานก็คือผู้ใช้งานทั่วไปสามารถส่งข้อความส่วนตัวไปหาคนที่มีชื่อเสียงได้โดยตรงโดยต้องจ่ายเงินค่าบริการตรงนี้ แม้จะยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนออกมาว่าเท่าไหร่ แต่คาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 2-3 เหรียญต่อข้อความ ซึ่งบางส่วนน่าจะเข้ากระเป๋าของทวิตเตอร์ และที่เหลือก็แบ่งให้คนที่รับข้อความ ทีนี้ไม่ได้หมายความว่าส่งไปแล้วจะได้รับข้อความตอบกลับเสมอ เพราะอีกฝั่งก็ต้องกดตกลงรับข้อความด้วย

ในส่วนของ ‘paywall’ ก็ลองนึกถึงแพลตฟอร์มอย่าง ‘OnlyFans’ ครับ ที่ครีเอเตอร์จะสร้างคอนเทนต์และคนที่จ่ายเงินเท่านั้นจะเข้ามาดูได้ จ่ายเงินบางส่วนให้กับคนสร้าง เก็บบางส่วนไว้กับระบบ ง่ายๆ แบบนี้ ในช่วงไม่กี่วันหลังจากที่มัสก์เข้าซื้อบริษัท เขาสร้างแบบสำรวจความคิดเห็นบนทวิตเตอร์ สอบถามว่าเขาควรเอาแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง Vine (ที่ทวิตเตอร์ปิดตัวไปเมื่อปี 2016) กลับมาไหม? โดยก็มีรายงานว่าเขาสั่งให้ทีมภายในไปตรวจสอบดูด้วยว่าการเอากลับมาใหม่เป็นไปได้หรือเปล่า และถ้ากลับมาจะมาแข่งกับติ๊กต็อกโดยตรงหรือเป็นเพียงแค่บางส่วนของทวิตเตอร์โฉมใหม่ อันนี้ยังไม่มีความชัดเจน

ส่วนบริการรายเดือน Twitter Blue แบบใหม่ที่มอบเครื่องหมาย ‘ติ๊กสีน้ำเงิน’ ที่หลังชื่อคาดว่าจะเริ่มใช้งานในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2022 ในประเทศอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยขั้นตอนการตรวจสอบจะใช้เวลาน้อยกว่าเดิมและค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ราวๆ 750 บาท มีฟังก์ชันตอบกลับ (reply) การอ้างถึง (mention) การค้นหาข้อมูล โพสต์วิดีโอและไฟล์เสียงขนาดยาวได้ มีโฆษณาน้อยลงครึ่งหนึ่ง ผู้ใช้สามารถเข้าชมเนื้อหาของครีเอเตอร์ที่เป็นพันธมิตรกับทวิตเตอร์ได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม (แต่ฟีเจอร์เหล่านี้ต้องรอยืนยันตอนเปิดตัวอีกที)

หลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าเครื่องหมายติ๊กสีน้ำเงินนี้ในบัญชีที่ถูกตรวจสอบแล้ว (verified accounts) ก็มีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ไม่เห็นต้องจ่ายเงินเลย ใช่ครับมันจะยังมีอยู่ไปสักพัก แล้วถ้าไม่จ่ายเงินรายเดือน มันก็จะหายไป ซึ่งตอนนี้บัญชีที่ถูกตรวจสอบแล้วมีอยู่ราวๆ 423,000 บัญชี ถ้าทุกบัญชีจ่าย $8/เดือน บริษัทก็จะทำเงินได้ 3,384,000 เหรียญ หรือราวๆ 40 ล้านเหรียญต่อปีเลย (ตอนนี้รายได้ทุกอย่างสำคัญหมด)

โดยทีมวิศวกรที่ดูแลในส่วนนี้กำลังทำงานกันอย่างไม่ได้หลับได้นอน เนื่องจากมีคำสั่งโดยตรงจากมัสก์ให้ปล่อยตัวภายในวันที่ 7 พฤศจิกายน ถ้าทำไม่ได้มีสิทธิ์โดนปลดออกจากงาน ล่าสุดเอสเธอร์ ครอว์ฟอร์ด (Esther Crawford) โปรดักเมเนเจอร์ที่ทำในส่วนนี้ได้แชร์ภาพของเธอนอนในถุงนอนข้างๆ โต๊ะทำงานเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2022 เขียนทวีตเอาไว้ด้วยว่า

“เมื่อทีมต้องทำงานตลอดทั้งวันเพื่อจะให้เสร็จทันเส้นตาย บางทีคุณก็ต้องนอนที่ทำงานนี่แหละ” พร้อมแฮชแท็ก #SleepWhereYouWork

https://twitter.com/evanstnlyjones/status/1587690084064669701?s=20&t=YGb0orDktY2nStEGHmPNHQ

ทวิตเตอร์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว น่าสนใจว่าต่อจากนี้มัสก์จะทำอย่างไรต่อ เขาจะหาเงินมาพอจ่ายหนี้รายปีได้ไหม บริษัทจะเลิกโฆษณากับทวิตเตอร์หรือเปล่า คนจะยอมจ่ายเดือนละ 750 บาท เพื่อติ๊กถูกสีน้ำเงินจริงๆ ไหม หรือ Vine จะกลับมาในรูปแบบไหน

สำหรับมัสก์แล้วอะไรก็เป็นไปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องถามว่าแล้วเทสลากับสเปซเอ็กซ์ไม่น้อยใจแย่หรือ?


อ้างอิง

Elon Musk, Under Financial Pressure, Pushes to Make Money From Twitter

Can Elon Musk Make the Math Work on Owning Twitter? It’s Dicey.

Twitter reportedly ready to cut about 3,700 employees

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save