fbpx

ในโลกทุนนิยม ครูไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นแรงงาน: การเติบโตและเสื่อมถอยของสหภาพแรงงานการศึกษาในอังกฤษ

เหตุใดเราควรให้ความสำคัญกับ ‘แรงงาน’ และ ‘สหภาพแรงงาน’ หลายคนอาจไม่รู้ว่าในวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานสากล ที่คนไทยเรียกว่าวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ไม่ได้เป็นวันหยุดของแรงงานทุกประเภท คนทำงานในสถานที่ราชการไม่เคยได้รับวันหยุดในวันดังกล่าว เพราะไม่ถือเป็นแรงงานตามนิยามของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

ในประเทศไทย อำนาจการต่อรองรวมกลุ่มของแรงงานมีเส้นทางที่ล้มลุกคลุกคลานมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย การรวมกลุ่มกันของแรงงานถือว่ามีพลังน้อยมากทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณเมื่อเทียบกับฝั่งทุน กลุ่มแรงงานไทยมี 3 องค์กรที่มีอำนาจต่อรองกับรัฐ นั่นคือ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรดังกล่าวยังมีการจัดตั้งในระดับจังหวัดอีกด้วย) การจัดตั้งสหภาพแรงงานมักพบเห็นได้บ่อยในภาคเอกชน แต่เหตุใดกันเล่า สหภาพแรงงานการศึกษาซึ่งอยู่ในภาคราชการจึงสำคัญ?

ทั้งงานวิจัยและการสำรวจ กระทั่งกระแสไวรัลเรื่องแบบเรียนในโซเชียลมีเดียเร็วๆ นี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่าการศึกษาเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง การศึกษาเป็นความปรารถนาหนึ่งที่เชื่อว่าจะสร้างสังคมและประชากรที่มีคุณภาพ ความพยายามปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาล้วนมีความพยายามมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือกระทั่งเผด็จการ เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งหนึ่งในไทยที่ยังไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกันเลยก็คือ การรวมตัวของบุคลากรทางการศึกษาที่เรียกว่า ‘สหภาพแรงงาน’ ในประเทศเหล่านั้นสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการศึกษาตั้งแต่การรักษาผลประโยชน์ของครู ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่เหมาะสม ภาระการสอนที่ไม่หนักจนเกินไป ห้องเรียนขนาดเล็ก ไปจนถึงการคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองที่เผชิญหน้ากับนโยบายการศึกษาอันไม่เข้าท่าที่ถูกคิดมาจากส่วนกลาง

บทความนี้จะชวนผู้อ่านไปสำรวจพัฒนาการและความเป็นไปของสหภาพแรงงานการศึกษาในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสถานการณ์การเมือง สังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงรัฐบาลที่บางครั้งก็เป็นฝ่ายเสรีนิยม อนุรักษนิยม หรือกระทั่งสังคมนิยม การเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงความซับซ้อนของระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีตัวเล่นเพียงรัฐ นักเรียนและผู้ปกครอง หรือผู้สอนที่เป็นปัจเจกเท่านั้น พลังของการรวมตัวนำไปสู่การสร้างรากฐานการศึกษาที่เราอาจไม่เคยคิดถึงได้อีกอีกด้วย

ในครั้งนี้จะขอเริ่มที่อังกฤษก่อน ณ ประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การขยายตัวของชนชั้นแรงงาน การเติบโตของสหภาพแรงงานในภาคการผลิตต่างๆ ถือว่าอังกฤษเหมาะที่จะเป็นกรณีตัวอย่างแห่งแรก

สหภาพแรงงานการศึกษา เมื่อเริ่มตั้งไข่

ตัวแทนประชาธิปไตยในที่ทำงาน

ตามประวัติศาสตร์แล้ว โครงสร้างการศึกษาของอังกฤษนั้นมีลำดับศักดิ์และเหลื่อมล้ำต่ำสูง การรวมตัวขององค์กรครูจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงโครงสร้างที่ล้อกับสภาพความเป็นจริงนี้ได้ มีหลายองค์กรที่ทำการแข่งขันกัน อย่างน้อยๆ ก็คือ องค์กรระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือระดับที่สูงกว่าที่แทบจะอยู่คนละระนาบการศึกษาอย่างสถาบันช่างเทคนิค และมหาวิทยาลัย องค์กรครูระดับประถมอย่างสหภาพแรงงานครูประถมศึกษาแห่งชาติ (National Union of Elementary Teachers: NUET) จัดตั้งขึ้นในปี 1870 สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาที่ประกาศใช้ในปีเดียว[1] เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น NUET นับเป็นสหภาพแรงงานครูที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และมีแนวโน้มว่า ครูประถมในสหภาพส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงาน องค์กรนี้จะมีบทบาทเป็นผู้นำสำคัญที่จะถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบทความนี้

การสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารระหว่างกันก็เป็นเรื่องสำคัญ ในปี 1872  NUET ได้จัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อว่า Schoolmaster อันเป็นพื้นที่สำหรับการถกเถียงด้านการศึกษา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Teacher[2] หนังสือพิมพ์เหล่านี้นอกจากให้ข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังแสดงจุดยืนทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านการศึกษาของคนในแวดวงไปด้วย  

NUET พยายามสร้างการผูกขาดทางวิชาชีพผ่านการสร้างมาตรฐานด้วยการฝึกอบรมและออกประกาศนียบัตร เช่นเดียวกับการต่อต้านกฎหมาย Revised Code of 1862 อันเป็นกฎหมายที่ส่งผลต่อความมั่นคงของครู ไม่ว่าจะเป็นการเพิกถอนเงินบำนาญ ตัดทุนสนับสนุนโรงเรียน และเปลี่ยนการจ่ายเงินตรงจากรัฐสู่ครูไปเป็นการจ่ายเงินให้กับผู้จัดการโรงเรียน และให้อำนาจตัดสินใจแก่เขาในการพิจารณาเงินเดือนสัญญาจ้างและสภาพการจ้างงาน NUET พยายามต่อสู้เรื่อยมาจนถึงปี 1895 กฎหมายนี้จึงถูกยกเลิกไป[3]

ส่วนการศึกษาระดับสูงกว่าก็ได้มีการก่อตั้งสมาคมแห่งอาจารย์ในสถาบันช่างเทคนิค (Association of Teachers in Technical Institutions: ATTI) ในปี 1904 โดยอาจารย์ในสถาบันช่างเทคนิคจำนวน 200 คนซึ่งมีฐานอยู่ที่ลอนดอน ต่อมาได้ขยายออกไปนอกเมืองหลวง 5 ปีต่อมา กลุ่มผู้สอน (lecturer) มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่าง บริสตอล เชฟฟิลด์ เบอร์มิงแฮม คาร์ดิฟและแมนเชสเตอร์ ได้จัดตั้งสมาคมแห่งผู้สอนมหาวิทยาลัย (Association of University Lecturers) ผ่านการประชุมของตัวแทนจาก 15 สถาบันในปี 1917 ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นสมาคมแห่งอาจารย์มหาวิทยาลัย (Association of University Teachers: AUT) เมื่อปี 1919 เพื่อครอบคลุมสมาชิกอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ไปด้วย[4]

องค์กรทั้งสามแสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกระหว่างครูระดับประถม อาจารย์สายช่างเทคนิค และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีการสอน วัยของผู้เรียนและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก อันที่จริงยังมีสหภาพแรงงานอีกมากที่มีขนาดเล็กและดำเนินการบนเส้นทางของพวกเขาอยู่ที่จะมาบรรจบกันบนการเรียกร้องและเคลื่อนไหว

ปีกกล้าขาแข็ง: การเติบโตของสหภาพแรงงานการศึกษา

ช่วงปี 1888-1918 สหภาพแรงงานครู เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดมากกว่าช่วงใดในประวัติศาสตร์ พวกเขาเคยมีจำนวนสมาชิกสูงถึง 6 ล้านคน NUET ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสหภาพแรงงานครูแห่งชาติ (National Union of Teachers: NUT) ในปี 1889 แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่นับเฉพาะครูโรงเรียนประถมศึกษาอีกต่อไป NUT ยังได้สมาทานแนวคิดฝ่ายซ้ายมากขึ้น นำไปสู่การโหมดของการต่อสู้เรียกร้องเชิงรุกกว่าเดิม เห็นได้จากแคมเปญเรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือนในปี 1913 ตามมาด้วยการนัดหยุดงานระดับพื้นที่มักจะร่วมกับองค์กรแรงงานต่างๆ

หลังจากที่ NUT เห็นว่าสมาชิกไม่ได้รับเงินเดือนหรือการปฏิบัติที่เป็นธรรม ปีกซ้ายของสมาชิก NUT ได้กดดันให้เกิดนโยบายที่สนับสนุนอัตราค่าจ้างแห่งชาติผ่านการร่วมเจรจาต่อรอง (collective bargaining) [5] แต่เดิมเงินเดือนครูจะถูกจ่ายตามเรทขึ้นอยู่กับภาษีท้องถิ่นนั้นๆ การต่อสู้จึงทำให้การต่อรองกลายเป็นการเรียกร้องระดับชาติมากขึ้น[6] แม้ว่า NUT จะหันซ้ายและปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเข้มข้น แต่ก็ไม่ได้ร่วมมือกับพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการ วิธีนี้ต่างไปจากสหภาพแรงงานภาคอื่น การตัดสินใจใดๆ ของสหภาพฯ ไม่ได้เกิดจากผู้นำองค์กร แต่ต้องผ่านการหารือผ่านที่ประชุม แม้ว่าครูระดับประถมศึกษาจำนวนมากจะเสนอว่าควรสนับสนุนพรรคแรงงานผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในการหยั่งเสียงของ NUT ในปี 1919 สมาชิกถึงสองในสามได้โหวตปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเชื่อว่าสหภาพควรจะเป็นอิสระและสามารถทำงานร่วมได้กับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล[7]

ในระดับโรงเรียน มีความไม่ลงรอยกันระหว่างครูประถม และมัธยม สำหรับครูระดับมัธยม พวกเขาต้องการเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างครูประถมและมัธยม โดยคงความเหนือกว่าและผูกขาดเหนือการศึกษาของชนชั้นกลาง ขณะที่ NUT อันเป็นฐานกำลังของครูประถม ต้องการลดการแบ่งแยกนี้ อุดมการณ์ทางการเมืองของครูมัธยมจะโน้มเอียงไปทางพรรคอนุรักษนิยมมากกว่า ทั้งเหตุผลเรื่องการสนับสนุนพรรคแรงงานและการแบ่งแยกระหว่างครูมัธยม นำไปสู่การแยกตัวโดยครูชายกลุ่มหนึ่งที่มีหัวอนุรักษ์นิยมแยกออกไปตั้งสมาคมครูชายแห่งชาติ (National Association of Schoolmasters: NAS) ส่วนครูผู้หญิงผู้เชื่อในเรื่องการจ่ายเงินเดือนที่ควรเท่าเทียมกันทางเพศก็แยกไปตั้งสหภาพแรงงานครูสตรีแห่งชาติ (National Union of Women Teachers: NUWT) ในปี 1919[8]

นอกจากนั้นยังเกิดที่ประชุมต่อรองเงินเดือน Burnham นำมาซึ่งการเป็นตัวแทนระดับชาติอันเป็นกลไกสำคัญที่เหล่าครูใช้ต่อรองเงินเดือนกับตัวแทนของรัฐผ่านความเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงาน

สถานการณ์เชิงบวกต่อสหภาพฯ หลังสงคราม

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์แรงงานทั่วยุโรปถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นกันถ้วนหน้า อังกฤษก็เช่นกัน สหภาพแรงงานครูได้กระโจนลงไปสู่อำนาจผ่านโครงสร้างเชิงสถาบันชนิดใหม่ในนาม ‘สามเหลี่ยมเหล็ก’ (iron triangle) อันประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์, ส่วนท้องถิ่น และสหภาพแรงงานครู ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง พื้นที่ และแรงงาน ตามลำดับ ในกลไกนี้ NUT ถือว่าสำคัญที่สุด แพลตฟอร์มนี้ทำให้สหภาพฯ สามารถแสดงความเห็นต่อนโยบายรัฐบาลได้[9]

ขณะที่ส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นด้านที่คมที่สุดในสามเหลี่ยม นอกจากอำนาจในระดับพื้นที่ พวกเขายังสังกัดอยู่กับองค์กรระดับชาติอีกหลายสมาคม เช่น สมาคมแห่งคณะกรรมการการศึกษา (Association of Education Committees: AEC) สมาคมแห่งองค์กรเทศบาล (Association of Municipal Corporations: AMC) สมาคมสภาเคาน์ตี้ (County Councils Association: CCA) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของส่วนท้องถิ่นในการต่อรองกับกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ [10] กระทรวงดังกล่าวเป็นตัวแทนผู้ว่าจ้างในการเจรจาระดับชาติกับสหภาพแรงงานครู โครงสร้างดังกล่าวอยู่ในช่วงของพระราชบัญญัติการศึกษา 1944[11]

ช่วงกลางทศวรรษ 1950 AUT กลายเป็นตัวแทนองค์กรอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่แรงงานในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์เข้าร่วม เช่นเดียวกับ AUT ในสกอตแลนด์ ในปี 1955 AUT ได้รับชัยชนะจากการเรียกร้องเงินเดือนได้สำเร็จ ต่อมาไม่นานในปี 1959 สหภาพแห่งนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสามัญแห่งแรก จำนวนสมาชิกก็เพิ่มอย่างมาก ขยายจำนวนไปถึงราว 4,500 คนในปี 1951 ขณะที่ ATTI กลายเป็นสหภาพที่เติบโตเร็วที่สุดในบริเตน ด้วยจำนวนกว่า 4 หมื่นคนที่ทำงานในสถาบันอาชีวศึกษาและโพลีเทคนิคในปี 1972 [12]

ช่วงท้ายของทศวรรษ 1960 ครูกว่าหนึ่งแสนคนเรียกร้องให้ปรับมาตรฐานค่าจ้าง และยกเลิกความแตกต่างระหว่างเงินเดือนครูประถมและมัธยม การหยุดงานครึ่งวันและหยุดงานเต็มวัน บนฐานอำนาจต่อรองของ NUT พวกเขายังเรียกร้องปฏิบัติการจากรัฐ และส่วนการศึกษาท้องถิ่น (Local Education Authority: LEA) เพื่อทำตามนโยบายของสหภาพแรงงานเกี่ยวกับอาหารในโรงเรียนและคุณสมบัติครู เกมเชิงรุกเช่นนี้ทำให้ NUT ประสบความสำเร็จในฐานะที่ต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามอย่างสมาคมการปกครองท้องถิ่น (Local Authority Associations: LAAs) แต่การต่อรองเรื่องเงินเดือนกับรัฐบาลก็เดือดขึ้นอีก เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะยอมรับการขึ้นเงินเดือนแต่ก็ยังเป็นอัตราเงินเดือนที่ขึ้นไม่เท่ากับแรงงานในภาคบริการสาธารณะอื่นๆ เหล่าครูปฏิเสธการตกลงและยืนยันที่จะต่อรองต่อไปจนได้รับการยินยอมในที่สุด[13] นั่นคือ การแสดงพลังสำคัญก่อนที่พวกเขาจะพบกับมรสุมลูกใหญ่[14]  

เมื่อ Edward Short ส.ส.ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก NUT อีกทั้งเคยเป็นครูเก่าและสมาชิก NUT ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี 1968 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งคุรุสภา (teaching council) นี่เป็นครั้งแรกที่สหภาพฯ ต่อรองโดยตรงกับรัฐมนตรี นำไปสู่รายงานในปี 1970 ที่วางเค้าโครงของธรรมนูญคุรุสภา อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานกลับพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1970 ทำให้รัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไร้การสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสหภาพแรงงานครู ต่อมารายงานดังกล่าวยังถูกปฏิเสธจากที่ประชุม NUT ในปี 1971 อย่างน่าประหลาดใจ สมาชิกเสียงข้างมากเชื่อว่า องค์กรแบบอื่นดูจะมีประสิทธิภาพกว่าในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ปกครองตัวเอง ดังนั้นสหภาพแรงงานครูจึงล้มเหลวที่จะพัฒนาความเป็นเอกภาพทางวิชาชีพในนามของสภา และโอกาสนี้จะส่งผลให้พวกเขาถูกควบคุมโดยกฎหมายและกติกาของรัฐบาล รวมไปถึงการควบคุมจัดการแบบสมัยใหม่ (managerial control) มากกว่าการเน้นด้านมิติของวิชาชีพในเวลาต่อมา[15]

ส่วน ATTI ได้ผนวกเอาสมาคมแห่งอาจารย์ในวิทยาลัยและวิทยาลัยครู (the Association of Teachers in Colleges and Departments of Education: ATCDE) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1943 (จากการรวมตัวกันของสมาคมวิทยาลัยครู และสภาแห่งผู้อำนวยการที่ก่องตั้งในปี 1913) และก่อตั้งสมาคมสำหรับอาจารย์อาชีวศึกษาและอุดมศึกษาแห่งชาติ (National Association for Teachers in Further and Higher Education: NATFHE) สำเร็จเมื่อปี 1976 ในปีเดียวกัน NATFHE กับ AUT ได้ทำข้อตกลงที่แบ่งเขตการทำงานระหว่างกัน ฝ่ายหลังยังเข้าเป็นสมาชิก TUC ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองนั้นเกิดขึ้นผ่านการเป็นพันธมิตรทางการศึกษากับสหภาพแรงงานอื่นๆ โดยเฉพาะในปี 1981 ตอนที่ต่อสู้กับรัฐบาลจากการที่ตัดลดงบประมาณด้านการศึกษา[16] ซึ่งจะนำมาสู่การรวมตัวกันในอนาคต

กำปั้นเหล็กของเสรีนิยมใหม่ และการกุมบังเหียนของแทตเชอร์ สู่การปฏิรูปการศึกษา

ชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมในปี 1979 ได้กลายเป็นสันปันน้ำสำคัญในระบบการศึกษาอังกฤษ เพราะมันนำมาซึ่งการรวมศูนย์อำนาจและการเติบโตของการตลาดในระบบการศึกษา ระหว่างปี 1979-1988 นโยบายการศึกษาได้เพิ่มการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหลักสูตร การสอบ และครู ตลาดสำหรับโรงเรียนถูกสร้างขึ้นผ่านการแข่งขันเพื่อจะเพิ่มมาตรฐานและให้โอกาสพ่อแม่เพื่อที่จะเลือกโรงเรียนที่หลากหลาย นโยบายการศึกษาถูกวิจัยอย่างเข้มข้นและโฟกัสไปยังองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยามที่มาการ์เร็ต แทตเชอร์เข้ามา ด้วยอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ นำไปสู่การปฏิรูป[17]

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐบาลที่เข้ามาในฐานะเสียงข้างมากอย่างล้นหลามทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ รัฐบาลทำลายสามเหลี่ยมเหล็ก ระหว่างรัฐบาล ท้องถิ่นและสหภาพแรงงาน มีการยกเลิกสภาโรงเรียน (School Council)[18] ที่เป็นตัวแทนของรัฐ ในระดับท้องถิ่นอิทธิพลของสหภาพแรงงานถูกจำกัดพร้อมไปกับการลดอำนาจการเมืองท้องถิ่น มีการตัดงบประมาณและจ้างเหมากิจการบางอย่างของโรงเรียนโดยเอกชน นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างอำนาจท้องถิ่นและสหภาพแรงงานครูยังถูกทำลายโดยอำนาจการแทรกแซงการตัดสินใจจากส่วนกลางที่รวมศูนย์ผ่านค่าจ้างและสภาพการจ้างงาน ในปลายทศวรรษ 1980 สหภาพแรงงานครูจึงเสื่อมถอยลงไปในระยะยาว[19]

นอกจากนั้นองค์กรด้านแรงงานการศึกษาก็เกิดรอยปริแยก เมื่อ NAS และสหภาพแรงงานครูสตรี (Union of Women Teachers: UWT) รวมตัวกันในปี 1976 กลายเป็น NASUWT และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ NUT เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ NUT เสียรังวัดก็คือ การที่ NUT ต่อสู้เพื่อขึ้นเงินเดือนในอัตรา 7.5% แต่ที่ประชุม Burnham ให้ได้เพียง 5.1% ทำให้การนัดหยุดและเฉื่อยงานยังคงต่อเนื่อง จนนำไปสู่ข้อเสนอใหม่ที่ 6.9% NASUWT และสหภาพขนาดเล็กอื่นๆ พร้อมจะรับข้อเสนอนั้น แต่ NUT ยังดึงดันไม่ยอม ด้วยกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐทำให้ NUT พ่ายแพ้ในการโหวต ซึ่งเป็นครั้งแรกในการประชุม พวกเขาแพ้ให้กับสหภาพอื่นทำให้ข้อตกลงจบลงที่การขึ้นเงินเดือน 6.9% พร้อมกับ 1.6% ในปีต่อมา (1986) สนามนี้จึงทำให้เกิดการต่อสู้กันเองของเหล่าสหภาพแรงงานการศึกษาทั้งหลาย

ในที่สุด คณะกรรมการ Burnham ที่ใช้ต่อรองเงินเดือนครูก็ถูกยุบลงและแทนที่ด้วยพระราชบัญญัติเงินเดือนครูและเงื่อนไข ปี 1987 (Teacher’s Pay and Conditions Act) กฎหมายฉบับนี้คลอดหลังจากการสไตรก์อย่างยาวนาน การต่อต้านรัฐบาลแทตเชอร์ด้วยการประท้วงช่วงนี้เอง ถือเป็นความขัดแย้งที่เลวร้ายและยาวนานที่สุดในระบบการศึกษาอังกฤษ[20] จากนั้นได้มีการจัดตั้ง Pay Review Body เพื่อให้คำปรึกษา secretary of state ในเรื่องเงินเดือนและเงื่อนไขการจ้าง กฎหมายนี้ทำให้ครูในโรงเรียนแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้อย่าง GMs และ CTCs ไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้ เนื่องจากครูจะถูกจ้างด้วยสัญญาของแต่ละโรงเรียน นอกจากนั้น GMs และ CTCs ยังมีนโยบายที่ไม่รับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย

การหายไปของกรรมการ Burnham หมายถึงการสูญเสียที่มั่นสำคัญของพวกเขาไปอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น วิกฤตนี้ยังทำให้สหภาพไม่สามารถสร้างยุทธศาสตร์แรงงานระดับชาติได้ ผลก็คือ NUT มีจำนวนสมาชิกลดลง และมีผู้เข้าร่วมประท้วงน้อยลงทุกที สมาชิกที่น้อยลงยิ่งทำให้ NUT เจอปัญหาทางการเงิน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลใช้ข้อได้เปรียบจากความอ่อนแอของเหล่าครู ประกาศแพ็คเกจการปฏิรูปผ่านกฎหมายปฏิรูปการศึกษา 1988 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง[21]

ในอีกด้าน AUT ได้มีจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นจาก 17,000 คน ในปี 1969 เป็น 33,000 ในปี 1982 การขยายตัวเช่นนี้มาจากความสำเร็จในการรับสมัครพนักงานสายวิชาการในมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี 1983 สมาคมครูในทัณฑสถานได้โหวตให้เข้าร่วมกับ NATFHE เช่นเดียวกับองค์กรแรงงานอื่นๆ ที่ทยอยเข้ามาสมทบอย่างคึกคัก[22] ทศวรรษ 1990 ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ของทั้ง NATFHE และ AUT

การฟื้นตัวของสหภาพ และการสไตรก์ในทศวรรษ 2000

การประท้วงในปี 2005 นับเป็นครั้งแรกหลังจากการยุบคณะกรรมการ Burnham เนื่องจากการนโยบายที่เพิ่มภาระการทำงานของครู กลุ่ม NUT และอีกสองสหภาพ ได้ประชุมเพื่อสนับสนุนการทำงานให้อยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์[23] ทำให้รัฐบาลเปิดโต๊ะเจรจากับสหภาพแรงงานครูในระดับชาติ ส่งผลต่อการทำข้อตกลงร่วมกันในปี 2005 ระหว่างสหภาพแรงงานครู และผู้ว่าจ้าง อันได้แก่ กระทรวงเด็ก โรงเรียนและครอบครัว ส่วนท้องถิ่น และ Welsh Assembly ข้อตกลงคือ ครูควรได้รับอนุญาตให้มีเวลาในการวางแผน เตรียมตัวและการประเมิน (PPA) และผู้ช่วยในชั้นเรียนควรทำงานด้านธุรการมากขึ้น กระนั้น NUT ก็ปฏิเสธที่ลงนามข้อตกลงเพื่อแสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยกับบางข้อเสนอ พรรคแรงงานอันเป็นรัฐบาลขณะนั้น ยังคงใช้กลไก Review Body ในการทำงานอยู่และไม่ยินยอมกลับมาใช้เจรจาแบบการประชุม Burnham เพียงแต่พยายามต่อรองกับสหภาพแรงงานครูผ่านประเด็นภาระงาน[24]

สำหรับระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย ในที่สุด NATFHE และ AUT ก็ได้ควบรวมสหภาพแรงงานทั้งสองเข้าด้วยกันผ่านการโหวตในเดือนธันวาคม 2005 ผลโหวตคือ 79.2% ของสมาชิก AUT เห็นด้วย ขณะที่ 95.7% ของ NATFHE ก็เห็นว่าควรควบรวม นำมาซึ่งการจัดตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (University and College Union: UCU) ขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2006[25]

การสไตรก์ของครูที่อยู่บนความตึงเครียดระหว่างแรงงานกับผู้ใช้บริการสาธารณะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้การเคลื่อนไหวต้องประเมินสถานการณ์ไม่ให้กระแสสนับสนุนของสาธารณะตีกลับอีกด้วย ในเดือนมีนาคม 2002 มีการประท้วงโดยสมาชิก NUT และ NASUWT ราว 3,000 คน ส่งผลต่อการปิดโรงเรียนในลอนดอนไปกว่า 2,000 แห่ง และส่งผลต่อนักเรียนกว่า 450,000 คน เรียกร้องเรื่องค่าจ้างที่เริ่มต้นที่ 17,628 ปอนด์ และหลังจากทำงานได้ 7 ปี จะอยู่ที่ 25,746 ปอนด์ และในฐานที่สูงขึ้นอยู่ที่ 27,894 ปอนด์ โดยอ้างว่าค่าจ้างต่ำเกินไปสำหรับผู้ที่ดำรงชีพอยู่ในเมืองหลวงส่งผลต่อการคงอยู่ของครูรุ่นใหม่ที่อาจต้องเปลี่ยนงานอันจะส่งผลต่อการเรียนการสอน เดือนพฤศจิกายน NUT และ NASUWT ได้มีการนัดหยุดงานหนึ่งวันเพื่อเรียกร้องค่าครองชีพ (ที่เป็นคนละส่วนกับเงินเดือน) ที่สูงขึ้น อันจะทำให้โรงเรียนประถมและมัธยมกว่าพันแห่งต้องปิดตัว โดยการเรียกร้องค่าครองชีพให้เท่ากับตำรวจนครลอนดอนที่ 6,111 ปอนด์ เพราะปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ 3,105 ปอนด์ในลอนดอนชั้นใน และ 2,043 ปอนด์ในลอนดอนชั้นนอก และเรียกร้องว่าครูในเขตชายขอบของลอนดอนควรเพิ่มจาก 792 ปอนด์เป็น 2,000 ปอนด์[26]

ในปี 2008 NUT เป็นโต้โผในการประท้วงที่ว่ากันว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 200,000 คน เป็นเหตุให้ต้องปิดโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วอังกฤษและเวลส์ โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อเพิ่มค่าจ้างและลดขนาดห้องเรียนที่ใหญ่เกินไป ส่วนสหภาพแรงงานครูที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่าง NASUWT หนุนด้วยการสนับสนุนการทำงานเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำจนกว่าจะลดภาระงานที่มากเกินไป นอกจากนั้น UCU ก็ยังเข้าร่วมสไตรก์ไปพร้อมกับ NUT เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น ข้อเรียกร้องของเหล่าครูคือ การขึ้นเงินเดือน 2.45% ในปี 2008 และ 2.3% ในปี 2009 และ 2010 เนื่องจากค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ การสไตรก์ครั้งนี้ NUT ได้คะแนนโหวต 75% จากผู้มาลงคะแนน 64,100 คน ซึ่งการเรียกร้องเช่นนี้ส่งผลไปยังข้าราชการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะตำรวจ ที่เงินเดือนแทนที่จะขึ้นเป็น 2.5% แต่ถูกลดเหลือ 1.9% อย่างไรก็ตามก็มีการตอบโต้จากเหล่าครูฝ่ายบริหารว่าการโหวตของ NUT นั้นมาจากการโหวตเพียง 32.2% ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย แสดงว่าครูส่วนใหญ่ไม่ต้องการความวุ่นวาย การสไตรก์นี้ยังเป็นการขัดขวางการเรียนของเด็ก สร้างความไม่สะดวกต่อผู้ปกครอง อีกทั้งสร้างภาระให้เพื่อนครู และมีข้อโต้แย้งว่าเงินเดือนครูที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีขึ้นมากกว่าเดิม 19% แล้ว[27]

ระลอกนี้คือการประท้วงหลังจาก การออกมาประท้วงแทตเชอร์เมื่อปี 1987 ที่ต่างไปจากสมัยแทตเชอร์คือ การประท้วงครั้งนี้อยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคแรงงาน  

เมื่อพรรคอนุรักษนิยมหวนกลับมาพร้อมการโรงเรียนที่หลุดจากอำนาจท้องถิ่น และระบบการประเมินประสิทธิภาพครู

ต่อมาพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาล พวกเขาพัฒนานโยบายโรงเรียนแบบ Academy และ Free School (Academy จะปรับเปลี่ยนจากโรงเรียนแบบเดิม แต่ Free School คือ การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่) ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทชาร์เตอร์แบบอเมริกัน (American- Style Charter School) ระบบนี้ทำให้โรงเรียนไม่ถูกควบคุมและบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม แต่เป็นความพยายามข้ามหัวการบริหารจัดการระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการจ่ายเงินจากรัฐบาลตรงไปสู่โรงเรียนแต่ละแห่งเลย เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างความเป็นผู้นำ และการใส่ใจที่สูงขึ้น[28]

แน่นอนว่า เหล่าครูในสหภาพแรงงานได้พยายามระดมทุนเพื่อการรณรงค์ต่อต้านระบบดังกล่าว เพราะเป็นที่สงสัยว่าในระบบใหม่นั้น การที่โรงเรียนเป็นอิสระจากส่วนดังกล่าวนำมาซึ่งอำนาจที่มากขึ้น ครูจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากผู้จัดการหรือผู้ว่าจ้าง พวกเขายังจัดเตรียมแพ็กเกจข้อมูลเพื่อช่วยสมาชิกและตัวแทนรวมไปถึงผู้ปกครองในการต่อต้านอีกด้วย การปรับเปลี่ยนมาสู่การต่อสู้เช่นนี้ทำให้แรงงานในโรงเรียนเห็นด้วยกับวาระของสหภาพแรงงานครู[29]

นอกจากนั้น พวกเขายังเคลื่อนไหวร่วมกับสหภาพแรงงานอื่น ช่วยเหลือเจรจาต่อรองเงินเดือนและเงื่อนไขการจ้างของสมาชิกที่ทำงานใน Academy ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูในสัญญาเดิมที่ถูกย้ายโอนไป ในการเจรจา NUT มีจุดยืนหลักคือ เจรจาการต่อรองเงินเดือน และเวลาการทำงาน และยังขวางทางผู้ที่พยายามปลดครูออกซึ่งง่ายกว่าในระบบใหม่เมื่อเทียบกับการสังกัดกับท้องถิ่น[30]

สถานการณ์ย่ำแย่ลงเมื่อ Michael Gove รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอระดับเงินเดือนที่ต่างไปตามภูมิภาค การลดเงินบำนาญครู และการนำการจ่ายเงินเดือนที่สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติการมาใช้อีกครั้ง นอกจากการตัดงบประมาณสนับสนุนแล้ว พวกเขายังพยายามจะย้ายตัวแทนสหภาพแรงงานในโรงเรียนที่มักได้รับเวลาว่างจากการสอนซึ่งได้รับเงินเดือนจากท้องถิ่น[31] 

ปี 2013 กฎหมายบังคับให้โรงเรียนจะต้องใช้ระบบเงินเดือนที่ผูกกับประสิทธิภาพ นั่นคือจ่ายเงินเดือนตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์การเรียนของนักเรียน ซึ่งได้รับคำแนะนำจาก Teacher’s Review Body โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบและให้อำนาจแต่ละโรงเรียนในการจัดการเรื่องค่าจ้าง โพลปี 2014 เผยว่ามีครูกว่า 89% สนับสนุน ขณะที่สหภาพแรงงานต่อต้านอย่างเต็มที่ พวกเขาอ้างว่าระบบใหม่นั้นขาดความโปร่งใส และความคาดหวังที่ชัดเจน ซึ่งมันเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับการให้ดุลยพินิจการควบคุมจัดการแบบบริษัทสมัยใหม่มากเกินไป พวกเขายังไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่คิดว่าจะจ่ายครูมากตามผลการสอนที่ได้ผลดี ซึ่งจะกลายเป็นว่า มันคือ การลดงบประมาณด้านการศึกษาโดยใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้าง พวกเขาต้องการให้คงระดับเงินเดือนมาตรฐานแห่งชาติที่จะประกันความมั่นคงเงินเดือนครูให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศใน OECD เช่น โรงเรียนประถม ครูประสบการณ์ 15 ปี จะอยู่ที่ 44,145 เหรียญสหรัฐต่อปี หากต่ำกว่าอยู่ที่ 37,603 เหรียญสหรัฐต่อปี จากการเรียกร้องนั้นทำให้ NUT นัดหยุดงานประท้วงอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2014 โดยมีโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งเข้าร่วม[32]

สหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย ยืนหยัดนัดหยุดงาน การต่อสู้ช่วงปี 2018-2023

ในระดับมหาวิทยาลัย UCU เป็นหัวเรือใหญ่ในการนัดหยุดงานระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย เมื่อปี 2013 พวกเขาไม่พอใจต่อการตัดค่าใช้จ่ายพนักงานมหาวิทยาลัยในหลายปีที่ผ่านมา โดยที่ผู้ว่าจ้างปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรอง ขณะที่สมาคมผู้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (Universities and Colleges Employers Association: UCEA) ได้เสนอขึ้นเงินเดือนเพียง 1% และแสดงความผิดหวังที่สหภาพฯ ไม่พอใจข้อเสนอนี้ ทั้งยังโจมตีว่ามีแรงงานเพียง 5% เท่านั้นที่โหวตให้ทำการสไตรก์ และชี้ว่าอันที่จริงแล้วค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนของสถาบันอุดมศึกษาในปีนี้ขึ้นมาแล้วถึง 3%[33]

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2018-2023 ถือเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของ UCU ที่อาจถือได้ว่าเป็นหมุดหมายของการสไตรก์ในศตวรรษที่ 21 เรื่องเริ่มจากความขัดแย้งในการเปลี่ยนแปลง Universities Superannuation Scheme (USS หรือโครงการเงินบำนาญมหาวิทยาลัย) ในปีการศึกษา 2017-2018 โดยตัวแทนผู้ว่าจ้างอย่าง Universities UK (UUK ที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย) ต้องการยุติ USS ทำให้อาจารย์ผู้สอนทั่วไปที่จะเกษียณอายุได้เงินน้อยลง 10,000 ปอนด์ต่อปี[34] การสไตรก์เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึง 20 มีนาคม 2018 นับเป็นการสไตรก์ถึง 14 วัน มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 61 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร[35]  การต่อสู้ในประเด็นนี้ยังมีอยู่อย่างยาวนานตลอด 5 ปี ล่าสุดในเดือนเมษายน 2023 ก็ยังมีการการโหวตเพื่อทำการสไตรก์อยู่[36] ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้

จะเห็นว่าท่ามกลางความเสื่อมถอยของสหภาพแรงงานการศึกษาเนื่องมาจากนโยบายรัฐ สหภาพแรงงานฯ ได้แสดงบทบาทสำคัญในฐานะเป็นปากเป็นเสียงของแรงงานอย่างเข้มแข็ง สหภาพแรงงานการศึกษาเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นฐานอำนาจต่อรองของแรงงานในระบบการศึกษา ทั้งในด้านการจ้างงาน ภาระสอน เวลาในการทำงาน รวมไปถึงเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ การนัดหยุดงาน เป็นไม้ตายสำคัญที่พวกเขาใช้ต่อรองกับรัฐและผู้ว่าจ้าง กระนั้นการใช้ไม้ตายแบบนี้ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรสหภาพแรงงานไปด้วยหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังในจุดที่ชี้เป็นชี้ตาย เพราะการนัดหยุดงานนั้นส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนจากผู้ได้รับผลกระทบนั้นๆ

เงินเดือนรายปีของพนักงานสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร
ที่มา: https://www.bbc.com/news/education-59415694
ปฏิทินการสไตรก์ของแรงงานภาคส่วนต่างๆ ในสหราชอาณาจักร
ที่มา: https://www.theguardian.com/education/2023/mar/15/uk-university-staff-breakthrough-strike-dispute-employers

บทความนี้เรียบเรียงมาจากส่วนหนึ่งของงานวิจัย พลวัตของสหภาพแรงงานการศึกษา การศึกษาเชิงเปรียบเทียบในประเทศต่างๆ


[1] Archives Hub. “National Union of Teachers Photographic Archive”. Retrieved on 28 January 2023 from https://archiveshub.jisc.ac.uk/search/archives/2bfe08bf-8fd6-3596-a601-aa1b0553428b

[2] Archives Hub. “National Union of Teachers Photographic Archive”. Retrieved on 28 January 2023 from https://archiveshub.jisc.ac.uk/search/archives/2bfe08bf-8fd6-3596-a601-aa1b0553428b

[3] Susanne Wiborg, Ibid., pp.60-61

[4] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[5] Collective Bargaining (การร่วมเจรจาต่อรอง) หมายถึงการที่ลูกจ้างเกินกว่าหนึ่งคนขึ้นไป หรือสหภาพแรงงานร่วมกันเจรจาหาทางตกลงกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สวัสดิการ วันและเวลาทำงาน การเลิกจ้างหรือประโยชน์อื่นใดของนายจ้างหรือลูกจ้างเพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้นการร่วมเจรจาต่อรองเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของลูกจ้าง สหภาพแรงงาน นายจ้างหรือสมาคมนายจ้างที่จะใช้ปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการของแต่ละฝ่ายในอันที่จะยุติปัญหาหรือข้อพิพาทแรงงานที่จะเกิดขึ้น การร่วมเจรจาต่อรอง นิยาม จาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. “คำศัพท์ด้านแรงงาน”. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566 จาก https://www.labour.go.th/index.php/en/component/seoglossary/1-dictionary/collective-bargaining

[6] Susanne Wiborg, Ibid., p.62

[7] Susanne Wiborg, Ibid., p.62

[8] Susanne Wiborg, Ibid., p.62

[9] Susanne Wiborg, Ibid., pp.65-66

[10] Susanne Wiborg, Ibid., p.66

[11] Susanne Wiborg, Ibid., p.66

[12] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[13] Susanne Wiborg, Ibid., pp.70-71

[14] Susanne Wiborg, Ibid., pp.70-71

[15] Susanne Wiborg, Ibid., pp.69-70

[16] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[17] Susanne Wiborg, Ibid., p.71

[18] สภาโรงเรียนตั้งขึ้นในปี 1964 เพื่อที่จะรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรและการสอบ NUT ดูใน Susanne Wiborg, Ibid., p.66

[19] Susanne Wiborg, Ibid., p.72

[20] Susanne Wiborg, Ibid., p. 73

[21] Susanne Wiborg, Ibid., pp. 74-75

[22] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[23] Industrial action (การกระทำเพื่อผลทางเศรษฐกิจ) หมายถึง กลวิธีที่สหภาพแรงงานนำมาใช้เพื่อผลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เช่น การชุมนุมประท้วง การคว่ำบาตร การนัดหยุดงาน นิยามจาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. “คำศัพท์ด้านแรงงาน”. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566 จาก https://www.labour.go.th/index.php/component/seoglossary/1-dictionary/I

[24] Susanne Wiborg, Ibid., pp.79-80

[25] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[26] BBC NEWS. “Teacher strike sends pupils home”. Retrieved on 7th April 2023, from http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/education/2511929.stm#table (26 November 2002)

[27] Laura Clark. ” All out: Teachers to strike for the first time in 21 years over pay”. Daily Mail online. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.dailymail.co.uk/news/article-552991/All-Teachers-strike-time-21-years-pay.html (2 April 2008), Polly Curtis, David Hencke and Lee Glendinning. “Teacher strike shuts out 1m children”. The Guardian. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.theguardian.com/education/2008/apr/24/schools.uk1  (24 April 2008), Anthea Lipsett. “Q&A: NUT strike”. The Guardian. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.theguardian.com/education/2008/apr/24/schools.uk7 (24 April 2008)

[28] UK Parliament. “The future of academies and free schools”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.parliament.uk/business/publications/research/key-issues-parliament-2015/education/academies-and-free-schools/

[29] Susanne Wiborg, Ibid., p.81

[30] Susanne Wiborg, Ibid., pp.81-82

[31] Susanne Wiborg, Ibid., p.82

[32] Susanne Wiborg, Ibid., p.82

[33] BBC NEWS. ” University strike expected to go ahead on Thursday”. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.bbc.com/news/education-24726743 (29 October 2013)

[34] University and College Union. “UCU announces 14 strike dates at 61 universities in pensions row”. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/9242/UCU-announces-14-strike-dates-at-61-universities-in-pensions-row (29 January 2018)

[35] University and College Union. “UCU announces 14 strike dates at 61 universities in pensions row “. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/9242/UCU-announces-14-strike-dates-at-61-universities-in-pensions-row (29 January 2018)

[36] University and College Union. “University staff renew strike mandate with historic ballot result”. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/12866/University-staff-renew-strike-mandate-with-historic-ballot-result (3 April 2023)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save