ในโลกทุนนิยม ครูไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นแรงงาน: การเติบโตและเสื่อมถอยของสหภาพแรงงานการศึกษาในอังกฤษ

เหตุใดเราควรให้ความสำคัญกับ ‘แรงงาน’ และ ‘สหภาพแรงงาน’ หลายคนอาจไม่รู้ว่าในวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานสากล ที่คนไทยเรียกว่าวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ไม่ได้เป็นวันหยุดของแรงงานทุกประเภท คนทำงานในสถานที่ราชการไม่เคยได้รับวันหยุดในวันดังกล่าว เพราะไม่ถือเป็นแรงงานตามนิยามของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

ในประเทศไทย อำนาจการต่อรองรวมกลุ่มของแรงงานมีเส้นทางที่ล้มลุกคลุกคลานมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย การรวมกลุ่มกันของแรงงานถือว่ามีพลังน้อยมากทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณเมื่อเทียบกับฝั่งทุน กลุ่มแรงงานไทยมี 3 องค์กรที่มีอำนาจต่อรองกับรัฐ นั่นคือ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรดังกล่าวยังมีการจัดตั้งในระดับจังหวัดอีกด้วย) การจัดตั้งสหภาพแรงงานมักพบเห็นได้บ่อยในภาคเอกชน แต่เหตุใดกันเล่า สหภาพแรงงานการศึกษาซึ่งอยู่ในภาคราชการจึงสำคัญ?

ทั้งงานวิจัยและการสำรวจ กระทั่งกระแสไวรัลเรื่องแบบเรียนในโซเชียลมีเดียเร็วๆ นี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่าการศึกษาเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง การศึกษาเป็นความปรารถนาหนึ่งที่เชื่อว่าจะสร้างสังคมและประชากรที่มีคุณภาพ ความพยายามปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาล้วนมีความพยายามมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือกระทั่งเผด็จการ เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งหนึ่งในไทยที่ยังไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกันเลยก็คือ การรวมตัวของบุคลากรทางการศึกษาที่เรียกว่า ‘สหภาพแรงงาน’ ในประเทศเหล่านั้นสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการศึกษาตั้งแต่การรักษาผลประโยชน์ของครู ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่เหมาะสม ภาระการสอนที่ไม่หนักจนเกินไป ห้องเรียนขนาดเล็ก ไปจนถึงการคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองที่เผชิญหน้ากับนโยบายการศึกษาอันไม่เข้าท่าที่ถูกคิดมาจากส่วนกลาง

บทความนี้จะชวนผู้อ่านไปสำรวจพัฒนาการและความเป็นไปของสหภาพแรงงานการศึกษาในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสถานการณ์การเมือง สังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงรัฐบาลที่บางครั้งก็เป็นฝ่ายเสรีนิยม อนุรักษนิยม หรือกระทั่งสังคมนิยม การเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงความซับซ้อนของระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีตัวเล่นเพียงรัฐ นักเรียนและผู้ปกครอง หรือผู้สอนที่เป็นปัจเจกเท่านั้น พลังของการรวมตัวนำไปสู่การสร้างรากฐานการศึกษาที่เราอาจไม่เคยคิดถึงได้อีกอีกด้วย

ในครั้งนี้จะขอเริ่มที่อังกฤษก่อน ณ ประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การขยายตัวของชนชั้นแรงงาน การเติบโตของสหภาพแรงงานในภาคการผลิตต่างๆ ถือว่าอังกฤษเหมาะที่จะเป็นกรณีตัวอย่างแห่งแรก

สหภาพแรงงานการศึกษา เมื่อเริ่มตั้งไข่

ตัวแทนประชาธิปไตยในที่ทำงาน

ตามประวัติศาสตร์แล้ว โครงสร้างการศึกษาของอังกฤษนั้นมีลำดับศักดิ์และเหลื่อมล้ำต่ำสูง การรวมตัวขององค์กรครูจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงโครงสร้างที่ล้อกับสภาพความเป็นจริงนี้ได้ มีหลายองค์กรที่ทำการแข่งขันกัน อย่างน้อยๆ ก็คือ องค์กรระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือระดับที่สูงกว่าที่แทบจะอยู่คนละระนาบการศึกษาอย่างสถาบันช่างเทคนิค และมหาวิทยาลัย องค์กรครูระดับประถมอย่างสหภาพแรงงานครูประถมศึกษาแห่งชาติ (National Union of Elementary Teachers: NUET) จัดตั้งขึ้นในปี 1870 สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาที่ประกาศใช้ในปีเดียว[1] เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น NUET นับเป็นสหภาพแรงงานครูที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และมีแนวโน้มว่า ครูประถมในสหภาพส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงาน องค์กรนี้จะมีบทบาทเป็นผู้นำสำคัญที่จะถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบทความนี้

การสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารระหว่างกันก็เป็นเรื่องสำคัญ ในปี 1872  NUET ได้จัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อว่า Schoolmaster อันเป็นพื้นที่สำหรับการถกเถียงด้านการศึกษา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Teacher[2] หนังสือพิมพ์เหล่านี้นอกจากให้ข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังแสดงจุดยืนทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านการศึกษาของคนในแวดวงไปด้วย  

NUET พยายามสร้างการผูกขาดทางวิชาชีพผ่านการสร้างมาตรฐานด้วยการฝึกอบรมและออกประกาศนียบัตร เช่นเดียวกับการต่อต้านกฎหมาย Revised Code of 1862 อันเป็นกฎหมายที่ส่งผลต่อความมั่นคงของครู ไม่ว่าจะเป็นการเพิกถอนเงินบำนาญ ตัดทุนสนับสนุนโรงเรียน และเปลี่ยนการจ่ายเงินตรงจากรัฐสู่ครูไปเป็นการจ่ายเงินให้กับผู้จัดการโรงเรียน และให้อำนาจตัดสินใจแก่เขาในการพิจารณาเงินเดือนสัญญาจ้างและสภาพการจ้างงาน NUET พยายามต่อสู้เรื่อยมาจนถึงปี 1895 กฎหมายนี้จึงถูกยกเลิกไป[3]

ส่วนการศึกษาระดับสูงกว่าก็ได้มีการก่อตั้งสมาคมแห่งอาจารย์ในสถาบันช่างเทคนิค (Association of Teachers in Technical Institutions: ATTI) ในปี 1904 โดยอาจารย์ในสถาบันช่างเทคนิคจำนวน 200 คนซึ่งมีฐานอยู่ที่ลอนดอน ต่อมาได้ขยายออกไปนอกเมืองหลวง 5 ปีต่อมา กลุ่มผู้สอน (lecturer) มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่าง บริสตอล เชฟฟิลด์ เบอร์มิงแฮม คาร์ดิฟและแมนเชสเตอร์ ได้จัดตั้งสมาคมแห่งผู้สอนมหาวิทยาลัย (Association of University Lecturers) ผ่านการประชุมของตัวแทนจาก 15 สถาบันในปี 1917 ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นสมาคมแห่งอาจารย์มหาวิทยาลัย (Association of University Teachers: AUT) เมื่อปี 1919 เพื่อครอบคลุมสมาชิกอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ไปด้วย[4]

องค์กรทั้งสามแสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกระหว่างครูระดับประถม อาจารย์สายช่างเทคนิค และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีการสอน วัยของผู้เรียนและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก อันที่จริงยังมีสหภาพแรงงานอีกมากที่มีขนาดเล็กและดำเนินการบนเส้นทางของพวกเขาอยู่ที่จะมาบรรจบกันบนการเรียกร้องและเคลื่อนไหว

ปีกกล้าขาแข็ง: การเติบโตของสหภาพแรงงานการศึกษา

ช่วงปี 1888-1918 สหภาพแรงงานครู เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดมากกว่าช่วงใดในประวัติศาสตร์ พวกเขาเคยมีจำนวนสมาชิกสูงถึง 6 ล้านคน NUET ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสหภาพแรงงานครูแห่งชาติ (National Union of Teachers: NUT) ในปี 1889 แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่นับเฉพาะครูโรงเรียนประถมศึกษาอีกต่อไป NUT ยังได้สมาทานแนวคิดฝ่ายซ้ายมากขึ้น นำไปสู่การโหมดของการต่อสู้เรียกร้องเชิงรุกกว่าเดิม เห็นได้จากแคมเปญเรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือนในปี 1913 ตามมาด้วยการนัดหยุดงานระดับพื้นที่มักจะร่วมกับองค์กรแรงงานต่างๆ

หลังจากที่ NUT เห็นว่าสมาชิกไม่ได้รับเงินเดือนหรือการปฏิบัติที่เป็นธรรม ปีกซ้ายของสมาชิก NUT ได้กดดันให้เกิดนโยบายที่สนับสนุนอัตราค่าจ้างแห่งชาติผ่านการร่วมเจรจาต่อรอง (collective bargaining) [5] แต่เดิมเงินเดือนครูจะถูกจ่ายตามเรทขึ้นอยู่กับภาษีท้องถิ่นนั้นๆ การต่อสู้จึงทำให้การต่อรองกลายเป็นการเรียกร้องระดับชาติมากขึ้น[6] แม้ว่า NUT จะหันซ้ายและปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเข้มข้น แต่ก็ไม่ได้ร่วมมือกับพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการ วิธีนี้ต่างไปจากสหภาพแรงงานภาคอื่น การตัดสินใจใดๆ ของสหภาพฯ ไม่ได้เกิดจากผู้นำองค์กร แต่ต้องผ่านการหารือผ่านที่ประชุม แม้ว่าครูระดับประถมศึกษาจำนวนมากจะเสนอว่าควรสนับสนุนพรรคแรงงานผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในการหยั่งเสียงของ NUT ในปี 1919 สมาชิกถึงสองในสามได้โหวตปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเชื่อว่าสหภาพควรจะเป็นอิสระและสามารถทำงานร่วมได้กับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล[7]

ในระดับโรงเรียน มีความไม่ลงรอยกันระหว่างครูประถม และมัธยม สำหรับครูระดับมัธยม พวกเขาต้องการเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างครูประถมและมัธยม โดยคงความเหนือกว่าและผูกขาดเหนือการศึกษาของชนชั้นกลาง ขณะที่ NUT อันเป็นฐานกำลังของครูประถม ต้องการลดการแบ่งแยกนี้ อุดมการณ์ทางการเมืองของครูมัธยมจะโน้มเอียงไปทางพรรคอนุรักษนิยมมากกว่า ทั้งเหตุผลเรื่องการสนับสนุนพรรคแรงงานและการแบ่งแยกระหว่างครูมัธยม นำไปสู่การแยกตัวโดยครูชายกลุ่มหนึ่งที่มีหัวอนุรักษ์นิยมแยกออกไปตั้งสมาคมครูชายแห่งชาติ (National Association of Schoolmasters: NAS) ส่วนครูผู้หญิงผู้เชื่อในเรื่องการจ่ายเงินเดือนที่ควรเท่าเทียมกันทางเพศก็แยกไปตั้งสหภาพแรงงานครูสตรีแห่งชาติ (National Union of Women Teachers: NUWT) ในปี 1919[8]

นอกจากนั้นยังเกิดที่ประชุมต่อรองเงินเดือน Burnham นำมาซึ่งการเป็นตัวแทนระดับชาติอันเป็นกลไกสำคัญที่เหล่าครูใช้ต่อรองเงินเดือนกับตัวแทนของรัฐผ่านความเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงาน

สถานการณ์เชิงบวกต่อสหภาพฯ หลังสงคราม

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์แรงงานทั่วยุโรปถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นกันถ้วนหน้า อังกฤษก็เช่นกัน สหภาพแรงงานครูได้กระโจนลงไปสู่อำนาจผ่านโครงสร้างเชิงสถาบันชนิดใหม่ในนาม ‘สามเหลี่ยมเหล็ก’ (iron triangle) อันประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์, ส่วนท้องถิ่น และสหภาพแรงงานครู ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง พื้นที่ และแรงงาน ตามลำดับ ในกลไกนี้ NUT ถือว่าสำคัญที่สุด แพลตฟอร์มนี้ทำให้สหภาพฯ สามารถแสดงความเห็นต่อนโยบายรัฐบาลได้[9]

ขณะที่ส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นด้านที่คมที่สุดในสามเหลี่ยม นอกจากอำนาจในระดับพื้นที่ พวกเขายังสังกัดอยู่กับองค์กรระดับชาติอีกหลายสมาคม เช่น สมาคมแห่งคณะกรรมการการศึกษา (Association of Education Committees: AEC) สมาคมแห่งองค์กรเทศบาล (Association of Municipal Corporations: AMC) สมาคมสภาเคาน์ตี้ (County Councils Association: CCA) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของส่วนท้องถิ่นในการต่อรองกับกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ [10] กระทรวงดังกล่าวเป็นตัวแทนผู้ว่าจ้างในการเจรจาระดับชาติกับสหภาพแรงงานครู โครงสร้างดังกล่าวอยู่ในช่วงของพระราชบัญญัติการศึกษา 1944[11]

ช่วงกลางทศวรรษ 1950 AUT กลายเป็นตัวแทนองค์กรอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่แรงงานในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์เข้าร่วม เช่นเดียวกับ AUT ในสกอตแลนด์ ในปี 1955 AUT ได้รับชัยชนะจากการเรียกร้องเงินเดือนได้สำเร็จ ต่อมาไม่นานในปี 1959 สหภาพแห่งนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสามัญแห่งแรก จำนวนสมาชิกก็เพิ่มอย่างมาก ขยายจำนวนไปถึงราว 4,500 คนในปี 1951 ขณะที่ ATTI กลายเป็นสหภาพที่เติบโตเร็วที่สุดในบริเตน ด้วยจำนวนกว่า 4 หมื่นคนที่ทำงานในสถาบันอาชีวศึกษาและโพลีเทคนิคในปี 1972 [12]

ช่วงท้ายของทศวรรษ 1960 ครูกว่าหนึ่งแสนคนเรียกร้องให้ปรับมาตรฐานค่าจ้าง และยกเลิกความแตกต่างระหว่างเงินเดือนครูประถมและมัธยม การหยุดงานครึ่งวันและหยุดงานเต็มวัน บนฐานอำนาจต่อรองของ NUT พวกเขายังเรียกร้องปฏิบัติการจากรัฐ และส่วนการศึกษาท้องถิ่น (Local Education Authority: LEA) เพื่อทำตามนโยบายของสหภาพแรงงานเกี่ยวกับอาหารในโรงเรียนและคุณสมบัติครู เกมเชิงรุกเช่นนี้ทำให้ NUT ประสบความสำเร็จในฐานะที่ต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามอย่างสมาคมการปกครองท้องถิ่น (Local Authority Associations: LAAs) แต่การต่อรองเรื่องเงินเดือนกับรัฐบาลก็เดือดขึ้นอีก เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะยอมรับการขึ้นเงินเดือนแต่ก็ยังเป็นอัตราเงินเดือนที่ขึ้นไม่เท่ากับแรงงานในภาคบริการสาธารณะอื่นๆ เหล่าครูปฏิเสธการตกลงและยืนยันที่จะต่อรองต่อไปจนได้รับการยินยอมในที่สุด[13] นั่นคือ การแสดงพลังสำคัญก่อนที่พวกเขาจะพบกับมรสุมลูกใหญ่[14]  

เมื่อ Edward Short ส.ส.ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก NUT อีกทั้งเคยเป็นครูเก่าและสมาชิก NUT ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี 1968 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งคุรุสภา (teaching council) นี่เป็นครั้งแรกที่สหภาพฯ ต่อรองโดยตรงกับรัฐมนตรี นำไปสู่รายงานในปี 1970 ที่วางเค้าโครงของธรรมนูญคุรุสภา อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานกลับพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1970 ทำให้รัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไร้การสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสหภาพแรงงานครู ต่อมารายงานดังกล่าวยังถูกปฏิเสธจากที่ประชุม NUT ในปี 1971 อย่างน่าประหลาดใจ สมาชิกเสียงข้างมากเชื่อว่า องค์กรแบบอื่นดูจะมีประสิทธิภาพกว่าในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ปกครองตัวเอง ดังนั้นสหภาพแรงงานครูจึงล้มเหลวที่จะพัฒนาความเป็นเอกภาพทางวิชาชีพในนามของสภา และโอกาสนี้จะส่งผลให้พวกเขาถูกควบคุมโดยกฎหมายและกติกาของรัฐบาล รวมไปถึงการควบคุมจัดการแบบสมัยใหม่ (managerial control) มากกว่าการเน้นด้านมิติของวิชาชีพในเวลาต่อมา[15]

ส่วน ATTI ได้ผนวกเอาสมาคมแห่งอาจารย์ในวิทยาลัยและวิทยาลัยครู (the Association of Teachers in Colleges and Departments of Education: ATCDE) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1943 (จากการรวมตัวกันของสมาคมวิทยาลัยครู และสภาแห่งผู้อำนวยการที่ก่องตั้งในปี 1913) และก่อตั้งสมาคมสำหรับอาจารย์อาชีวศึกษาและอุดมศึกษาแห่งชาติ (National Association for Teachers in Further and Higher Education: NATFHE) สำเร็จเมื่อปี 1976 ในปีเดียวกัน NATFHE กับ AUT ได้ทำข้อตกลงที่แบ่งเขตการทำงานระหว่างกัน ฝ่ายหลังยังเข้าเป็นสมาชิก TUC ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองนั้นเกิดขึ้นผ่านการเป็นพันธมิตรทางการศึกษากับสหภาพแรงงานอื่นๆ โดยเฉพาะในปี 1981 ตอนที่ต่อสู้กับรัฐบาลจากการที่ตัดลดงบประมาณด้านการศึกษา[16] ซึ่งจะนำมาสู่การรวมตัวกันในอนาคต

กำปั้นเหล็กของเสรีนิยมใหม่ และการกุมบังเหียนของแทตเชอร์ สู่การปฏิรูปการศึกษา

ชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมในปี 1979 ได้กลายเป็นสันปันน้ำสำคัญในระบบการศึกษาอังกฤษ เพราะมันนำมาซึ่งการรวมศูนย์อำนาจและการเติบโตของการตลาดในระบบการศึกษา ระหว่างปี 1979-1988 นโยบายการศึกษาได้เพิ่มการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหลักสูตร การสอบ และครู ตลาดสำหรับโรงเรียนถูกสร้างขึ้นผ่านการแข่งขันเพื่อจะเพิ่มมาตรฐานและให้โอกาสพ่อแม่เพื่อที่จะเลือกโรงเรียนที่หลากหลาย นโยบายการศึกษาถูกวิจัยอย่างเข้มข้นและโฟกัสไปยังองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยามที่มาการ์เร็ต แทตเชอร์เข้ามา ด้วยอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ นำไปสู่การปฏิรูป[17]

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐบาลที่เข้ามาในฐานะเสียงข้างมากอย่างล้นหลามทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ รัฐบาลทำลายสามเหลี่ยมเหล็ก ระหว่างรัฐบาล ท้องถิ่นและสหภาพแรงงาน มีการยกเลิกสภาโรงเรียน (School Council)[18] ที่เป็นตัวแทนของรัฐ ในระดับท้องถิ่นอิทธิพลของสหภาพแรงงานถูกจำกัดพร้อมไปกับการลดอำนาจการเมืองท้องถิ่น มีการตัดงบประมาณและจ้างเหมากิจการบางอย่างของโรงเรียนโดยเอกชน นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างอำนาจท้องถิ่นและสหภาพแรงงานครูยังถูกทำลายโดยอำนาจการแทรกแซงการตัดสินใจจากส่วนกลางที่รวมศูนย์ผ่านค่าจ้างและสภาพการจ้างงาน ในปลายทศวรรษ 1980 สหภาพแรงงานครูจึงเสื่อมถอยลงไปในระยะยาว[19]

นอกจากนั้นองค์กรด้านแรงงานการศึกษาก็เกิดรอยปริแยก เมื่อ NAS และสหภาพแรงงานครูสตรี (Union of Women Teachers: UWT) รวมตัวกันในปี 1976 กลายเป็น NASUWT และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ NUT เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ NUT เสียรังวัดก็คือ การที่ NUT ต่อสู้เพื่อขึ้นเงินเดือนในอัตรา 7.5% แต่ที่ประชุม Burnham ให้ได้เพียง 5.1% ทำให้การนัดหยุดและเฉื่อยงานยังคงต่อเนื่อง จนนำไปสู่ข้อเสนอใหม่ที่ 6.9% NASUWT และสหภาพขนาดเล็กอื่นๆ พร้อมจะรับข้อเสนอนั้น แต่ NUT ยังดึงดันไม่ยอม ด้วยกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐทำให้ NUT พ่ายแพ้ในการโหวต ซึ่งเป็นครั้งแรกในการประชุม พวกเขาแพ้ให้กับสหภาพอื่นทำให้ข้อตกลงจบลงที่การขึ้นเงินเดือน 6.9% พร้อมกับ 1.6% ในปีต่อมา (1986) สนามนี้จึงทำให้เกิดการต่อสู้กันเองของเหล่าสหภาพแรงงานการศึกษาทั้งหลาย

ในที่สุด คณะกรรมการ Burnham ที่ใช้ต่อรองเงินเดือนครูก็ถูกยุบลงและแทนที่ด้วยพระราชบัญญัติเงินเดือนครูและเงื่อนไข ปี 1987 (Teacher’s Pay and Conditions Act) กฎหมายฉบับนี้คลอดหลังจากการสไตรก์อย่างยาวนาน การต่อต้านรัฐบาลแทตเชอร์ด้วยการประท้วงช่วงนี้เอง ถือเป็นความขัดแย้งที่เลวร้ายและยาวนานที่สุดในระบบการศึกษาอังกฤษ[20] จากนั้นได้มีการจัดตั้ง Pay Review Body เพื่อให้คำปรึกษา secretary of state ในเรื่องเงินเดือนและเงื่อนไขการจ้าง กฎหมายนี้ทำให้ครูในโรงเรียนแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้อย่าง GMs และ CTCs ไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้ เนื่องจากครูจะถูกจ้างด้วยสัญญาของแต่ละโรงเรียน นอกจากนั้น GMs และ CTCs ยังมีนโยบายที่ไม่รับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย

การหายไปของกรรมการ Burnham หมายถึงการสูญเสียที่มั่นสำคัญของพวกเขาไปอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น วิกฤตนี้ยังทำให้สหภาพไม่สามารถสร้างยุทธศาสตร์แรงงานระดับชาติได้ ผลก็คือ NUT มีจำนวนสมาชิกลดลง และมีผู้เข้าร่วมประท้วงน้อยลงทุกที สมาชิกที่น้อยลงยิ่งทำให้ NUT เจอปัญหาทางการเงิน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลใช้ข้อได้เปรียบจากความอ่อนแอของเหล่าครู ประกาศแพ็คเกจการปฏิรูปผ่านกฎหมายปฏิรูปการศึกษา 1988 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง[21]

ในอีกด้าน AUT ได้มีจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นจาก 17,000 คน ในปี 1969 เป็น 33,000 ในปี 1982 การขยายตัวเช่นนี้มาจากความสำเร็จในการรับสมัครพนักงานสายวิชาการในมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี 1983 สมาคมครูในทัณฑสถานได้โหวตให้เข้าร่วมกับ NATFHE เช่นเดียวกับองค์กรแรงงานอื่นๆ ที่ทยอยเข้ามาสมทบอย่างคึกคัก[22] ทศวรรษ 1990 ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ของทั้ง NATFHE และ AUT

การฟื้นตัวของสหภาพ และการสไตรก์ในทศวรรษ 2000

การประท้วงในปี 2005 นับเป็นครั้งแรกหลังจากการยุบคณะกรรมการ Burnham เนื่องจากการนโยบายที่เพิ่มภาระการทำงานของครู กลุ่ม NUT และอีกสองสหภาพ ได้ประชุมเพื่อสนับสนุนการทำงานให้อยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์[23] ทำให้รัฐบาลเปิดโต๊ะเจรจากับสหภาพแรงงานครูในระดับชาติ ส่งผลต่อการทำข้อตกลงร่วมกันในปี 2005 ระหว่างสหภาพแรงงานครู และผู้ว่าจ้าง อันได้แก่ กระทรวงเด็ก โรงเรียนและครอบครัว ส่วนท้องถิ่น และ Welsh Assembly ข้อตกลงคือ ครูควรได้รับอนุญาตให้มีเวลาในการวางแผน เตรียมตัวและการประเมิน (PPA) และผู้ช่วยในชั้นเรียนควรทำงานด้านธุรการมากขึ้น กระนั้น NUT ก็ปฏิเสธที่ลงนามข้อตกลงเพื่อแสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยกับบางข้อเสนอ พรรคแรงงานอันเป็นรัฐบาลขณะนั้น ยังคงใช้กลไก Review Body ในการทำงานอยู่และไม่ยินยอมกลับมาใช้เจรจาแบบการประชุม Burnham เพียงแต่พยายามต่อรองกับสหภาพแรงงานครูผ่านประเด็นภาระงาน[24]

สำหรับระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย ในที่สุด NATFHE และ AUT ก็ได้ควบรวมสหภาพแรงงานทั้งสองเข้าด้วยกันผ่านการโหวตในเดือนธันวาคม 2005 ผลโหวตคือ 79.2% ของสมาชิก AUT เห็นด้วย ขณะที่ 95.7% ของ NATFHE ก็เห็นว่าควรควบรวม นำมาซึ่งการจัดตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (University and College Union: UCU) ขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2006[25]

การสไตรก์ของครูที่อยู่บนความตึงเครียดระหว่างแรงงานกับผู้ใช้บริการสาธารณะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้การเคลื่อนไหวต้องประเมินสถานการณ์ไม่ให้กระแสสนับสนุนของสาธารณะตีกลับอีกด้วย ในเดือนมีนาคม 2002 มีการประท้วงโดยสมาชิก NUT และ NASUWT ราว 3,000 คน ส่งผลต่อการปิดโรงเรียนในลอนดอนไปกว่า 2,000 แห่ง และส่งผลต่อนักเรียนกว่า 450,000 คน เรียกร้องเรื่องค่าจ้างที่เริ่มต้นที่ 17,628 ปอนด์ และหลังจากทำงานได้ 7 ปี จะอยู่ที่ 25,746 ปอนด์ และในฐานที่สูงขึ้นอยู่ที่ 27,894 ปอนด์ โดยอ้างว่าค่าจ้างต่ำเกินไปสำหรับผู้ที่ดำรงชีพอยู่ในเมืองหลวงส่งผลต่อการคงอยู่ของครูรุ่นใหม่ที่อาจต้องเปลี่ยนงานอันจะส่งผลต่อการเรียนการสอน เดือนพฤศจิกายน NUT และ NASUWT ได้มีการนัดหยุดงานหนึ่งวันเพื่อเรียกร้องค่าครองชีพ (ที่เป็นคนละส่วนกับเงินเดือน) ที่สูงขึ้น อันจะทำให้โรงเรียนประถมและมัธยมกว่าพันแห่งต้องปิดตัว โดยการเรียกร้องค่าครองชีพให้เท่ากับตำรวจนครลอนดอนที่ 6,111 ปอนด์ เพราะปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ 3,105 ปอนด์ในลอนดอนชั้นใน และ 2,043 ปอนด์ในลอนดอนชั้นนอก และเรียกร้องว่าครูในเขตชายขอบของลอนดอนควรเพิ่มจาก 792 ปอนด์เป็น 2,000 ปอนด์[26]

ในปี 2008 NUT เป็นโต้โผในการประท้วงที่ว่ากันว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 200,000 คน เป็นเหตุให้ต้องปิดโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วอังกฤษและเวลส์ โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อเพิ่มค่าจ้างและลดขนาดห้องเรียนที่ใหญ่เกินไป ส่วนสหภาพแรงงานครูที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่าง NASUWT หนุนด้วยการสนับสนุนการทำงานเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำจนกว่าจะลดภาระงานที่มากเกินไป นอกจากนั้น UCU ก็ยังเข้าร่วมสไตรก์ไปพร้อมกับ NUT เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น ข้อเรียกร้องของเหล่าครูคือ การขึ้นเงินเดือน 2.45% ในปี 2008 และ 2.3% ในปี 2009 และ 2010 เนื่องจากค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ การสไตรก์ครั้งนี้ NUT ได้คะแนนโหวต 75% จากผู้มาลงคะแนน 64,100 คน ซึ่งการเรียกร้องเช่นนี้ส่งผลไปยังข้าราชการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะตำรวจ ที่เงินเดือนแทนที่จะขึ้นเป็น 2.5% แต่ถูกลดเหลือ 1.9% อย่างไรก็ตามก็มีการตอบโต้จากเหล่าครูฝ่ายบริหารว่าการโหวตของ NUT นั้นมาจากการโหวตเพียง 32.2% ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย แสดงว่าครูส่วนใหญ่ไม่ต้องการความวุ่นวาย การสไตรก์นี้ยังเป็นการขัดขวางการเรียนของเด็ก สร้างความไม่สะดวกต่อผู้ปกครอง อีกทั้งสร้างภาระให้เพื่อนครู และมีข้อโต้แย้งว่าเงินเดือนครูที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีขึ้นมากกว่าเดิม 19% แล้ว[27]

ระลอกนี้คือการประท้วงหลังจาก การออกมาประท้วงแทตเชอร์เมื่อปี 1987 ที่ต่างไปจากสมัยแทตเชอร์คือ การประท้วงครั้งนี้อยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคแรงงาน  

เมื่อพรรคอนุรักษนิยมหวนกลับมาพร้อมการโรงเรียนที่หลุดจากอำนาจท้องถิ่น และระบบการประเมินประสิทธิภาพครู

ต่อมาพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาล พวกเขาพัฒนานโยบายโรงเรียนแบบ Academy และ Free School (Academy จะปรับเปลี่ยนจากโรงเรียนแบบเดิม แต่ Free School คือ การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่) ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทชาร์เตอร์แบบอเมริกัน (American- Style Charter School) ระบบนี้ทำให้โรงเรียนไม่ถูกควบคุมและบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม แต่เป็นความพยายามข้ามหัวการบริหารจัดการระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการจ่ายเงินจากรัฐบาลตรงไปสู่โรงเรียนแต่ละแห่งเลย เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างความเป็นผู้นำ และการใส่ใจที่สูงขึ้น[28]

แน่นอนว่า เหล่าครูในสหภาพแรงงานได้พยายามระดมทุนเพื่อการรณรงค์ต่อต้านระบบดังกล่าว เพราะเป็นที่สงสัยว่าในระบบใหม่นั้น การที่โรงเรียนเป็นอิสระจากส่วนดังกล่าวนำมาซึ่งอำนาจที่มากขึ้น ครูจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากผู้จัดการหรือผู้ว่าจ้าง พวกเขายังจัดเตรียมแพ็กเกจข้อมูลเพื่อช่วยสมาชิกและตัวแทนรวมไปถึงผู้ปกครองในการต่อต้านอีกด้วย การปรับเปลี่ยนมาสู่การต่อสู้เช่นนี้ทำให้แรงงานในโรงเรียนเห็นด้วยกับวาระของสหภาพแรงงานครู[29]

นอกจากนั้น พวกเขายังเคลื่อนไหวร่วมกับสหภาพแรงงานอื่น ช่วยเหลือเจรจาต่อรองเงินเดือนและเงื่อนไขการจ้างของสมาชิกที่ทำงานใน Academy ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูในสัญญาเดิมที่ถูกย้ายโอนไป ในการเจรจา NUT มีจุดยืนหลักคือ เจรจาการต่อรองเงินเดือน และเวลาการทำงาน และยังขวางทางผู้ที่พยายามปลดครูออกซึ่งง่ายกว่าในระบบใหม่เมื่อเทียบกับการสังกัดกับท้องถิ่น[30]

สถานการณ์ย่ำแย่ลงเมื่อ Michael Gove รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอระดับเงินเดือนที่ต่างไปตามภูมิภาค การลดเงินบำนาญครู และการนำการจ่ายเงินเดือนที่สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติการมาใช้อีกครั้ง นอกจากการตัดงบประมาณสนับสนุนแล้ว พวกเขายังพยายามจะย้ายตัวแทนสหภาพแรงงานในโรงเรียนที่มักได้รับเวลาว่างจากการสอนซึ่งได้รับเงินเดือนจากท้องถิ่น[31] 

ปี 2013 กฎหมายบังคับให้โรงเรียนจะต้องใช้ระบบเงินเดือนที่ผูกกับประสิทธิภาพ นั่นคือจ่ายเงินเดือนตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์การเรียนของนักเรียน ซึ่งได้รับคำแนะนำจาก Teacher’s Review Body โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบและให้อำนาจแต่ละโรงเรียนในการจัดการเรื่องค่าจ้าง โพลปี 2014 เผยว่ามีครูกว่า 89% สนับสนุน ขณะที่สหภาพแรงงานต่อต้านอย่างเต็มที่ พวกเขาอ้างว่าระบบใหม่นั้นขาดความโปร่งใส และความคาดหวังที่ชัดเจน ซึ่งมันเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับการให้ดุลยพินิจการควบคุมจัดการแบบบริษัทสมัยใหม่มากเกินไป พวกเขายังไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่คิดว่าจะจ่ายครูมากตามผลการสอนที่ได้ผลดี ซึ่งจะกลายเป็นว่า มันคือ การลดงบประมาณด้านการศึกษาโดยใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้าง พวกเขาต้องการให้คงระดับเงินเดือนมาตรฐานแห่งชาติที่จะประกันความมั่นคงเงินเดือนครูให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศใน OECD เช่น โรงเรียนประถม ครูประสบการณ์ 15 ปี จะอยู่ที่ 44,145 เหรียญสหรัฐต่อปี หากต่ำกว่าอยู่ที่ 37,603 เหรียญสหรัฐต่อปี จากการเรียกร้องนั้นทำให้ NUT นัดหยุดงานประท้วงอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2014 โดยมีโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งเข้าร่วม[32]

สหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย ยืนหยัดนัดหยุดงาน การต่อสู้ช่วงปี 2018-2023

ในระดับมหาวิทยาลัย UCU เป็นหัวเรือใหญ่ในการนัดหยุดงานระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย เมื่อปี 2013 พวกเขาไม่พอใจต่อการตัดค่าใช้จ่ายพนักงานมหาวิทยาลัยในหลายปีที่ผ่านมา โดยที่ผู้ว่าจ้างปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรอง ขณะที่สมาคมผู้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (Universities and Colleges Employers Association: UCEA) ได้เสนอขึ้นเงินเดือนเพียง 1% และแสดงความผิดหวังที่สหภาพฯ ไม่พอใจข้อเสนอนี้ ทั้งยังโจมตีว่ามีแรงงานเพียง 5% เท่านั้นที่โหวตให้ทำการสไตรก์ และชี้ว่าอันที่จริงแล้วค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนของสถาบันอุดมศึกษาในปีนี้ขึ้นมาแล้วถึง 3%[33]

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2018-2023 ถือเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของ UCU ที่อาจถือได้ว่าเป็นหมุดหมายของการสไตรก์ในศตวรรษที่ 21 เรื่องเริ่มจากความขัดแย้งในการเปลี่ยนแปลง Universities Superannuation Scheme (USS หรือโครงการเงินบำนาญมหาวิทยาลัย) ในปีการศึกษา 2017-2018 โดยตัวแทนผู้ว่าจ้างอย่าง Universities UK (UUK ที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย) ต้องการยุติ USS ทำให้อาจารย์ผู้สอนทั่วไปที่จะเกษียณอายุได้เงินน้อยลง 10,000 ปอนด์ต่อปี[34] การสไตรก์เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึง 20 มีนาคม 2018 นับเป็นการสไตรก์ถึง 14 วัน มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 61 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร[35]  การต่อสู้ในประเด็นนี้ยังมีอยู่อย่างยาวนานตลอด 5 ปี ล่าสุดในเดือนเมษายน 2023 ก็ยังมีการการโหวตเพื่อทำการสไตรก์อยู่[36] ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้

จะเห็นว่าท่ามกลางความเสื่อมถอยของสหภาพแรงงานการศึกษาเนื่องมาจากนโยบายรัฐ สหภาพแรงงานฯ ได้แสดงบทบาทสำคัญในฐานะเป็นปากเป็นเสียงของแรงงานอย่างเข้มแข็ง สหภาพแรงงานการศึกษาเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นฐานอำนาจต่อรองของแรงงานในระบบการศึกษา ทั้งในด้านการจ้างงาน ภาระสอน เวลาในการทำงาน รวมไปถึงเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ การนัดหยุดงาน เป็นไม้ตายสำคัญที่พวกเขาใช้ต่อรองกับรัฐและผู้ว่าจ้าง กระนั้นการใช้ไม้ตายแบบนี้ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรสหภาพแรงงานไปด้วยหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังในจุดที่ชี้เป็นชี้ตาย เพราะการนัดหยุดงานนั้นส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนจากผู้ได้รับผลกระทบนั้นๆ

เงินเดือนรายปีของพนักงานสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร
ที่มา: https://www.bbc.com/news/education-59415694
ปฏิทินการสไตรก์ของแรงงานภาคส่วนต่างๆ ในสหราชอาณาจักร
ที่มา: https://www.theguardian.com/education/2023/mar/15/uk-university-staff-breakthrough-strike-dispute-employers

บทความนี้เรียบเรียงมาจากส่วนหนึ่งของงานวิจัย พลวัตของสหภาพแรงงานการศึกษา การศึกษาเชิงเปรียบเทียบในประเทศต่างๆ


[1] Archives Hub. “National Union of Teachers Photographic Archive”. Retrieved on 28 January 2023 from https://archiveshub.jisc.ac.uk/search/archives/2bfe08bf-8fd6-3596-a601-aa1b0553428b

[2] Archives Hub. “National Union of Teachers Photographic Archive”. Retrieved on 28 January 2023 from https://archiveshub.jisc.ac.uk/search/archives/2bfe08bf-8fd6-3596-a601-aa1b0553428b

[3] Susanne Wiborg, Ibid., pp.60-61

[4] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[5] Collective Bargaining (การร่วมเจรจาต่อรอง) หมายถึงการที่ลูกจ้างเกินกว่าหนึ่งคนขึ้นไป หรือสหภาพแรงงานร่วมกันเจรจาหาทางตกลงกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สวัสดิการ วันและเวลาทำงาน การเลิกจ้างหรือประโยชน์อื่นใดของนายจ้างหรือลูกจ้างเพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้นการร่วมเจรจาต่อรองเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของลูกจ้าง สหภาพแรงงาน นายจ้างหรือสมาคมนายจ้างที่จะใช้ปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการของแต่ละฝ่ายในอันที่จะยุติปัญหาหรือข้อพิพาทแรงงานที่จะเกิดขึ้น การร่วมเจรจาต่อรอง นิยาม จาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. “คำศัพท์ด้านแรงงาน”. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566 จาก https://www.labour.go.th/index.php/en/component/seoglossary/1-dictionary/collective-bargaining

[6] Susanne Wiborg, Ibid., p.62

[7] Susanne Wiborg, Ibid., p.62

[8] Susanne Wiborg, Ibid., p.62

[9] Susanne Wiborg, Ibid., pp.65-66

[10] Susanne Wiborg, Ibid., p.66

[11] Susanne Wiborg, Ibid., p.66

[12] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[13] Susanne Wiborg, Ibid., pp.70-71

[14] Susanne Wiborg, Ibid., pp.70-71

[15] Susanne Wiborg, Ibid., pp.69-70

[16] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[17] Susanne Wiborg, Ibid., p.71

[18] สภาโรงเรียนตั้งขึ้นในปี 1964 เพื่อที่จะรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรและการสอบ NUT ดูใน Susanne Wiborg, Ibid., p.66

[19] Susanne Wiborg, Ibid., p.72

[20] Susanne Wiborg, Ibid., p. 73

[21] Susanne Wiborg, Ibid., pp. 74-75

[22] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[23] Industrial action (การกระทำเพื่อผลทางเศรษฐกิจ) หมายถึง กลวิธีที่สหภาพแรงงานนำมาใช้เพื่อผลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เช่น การชุมนุมประท้วง การคว่ำบาตร การนัดหยุดงาน นิยามจาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. “คำศัพท์ด้านแรงงาน”. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566 จาก https://www.labour.go.th/index.php/component/seoglossary/1-dictionary/I

[24] Susanne Wiborg, Ibid., pp.79-80

[25] University and College Union. “Our history”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/2176/Our-history

[26] BBC NEWS. “Teacher strike sends pupils home”. Retrieved on 7th April 2023, from http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/education/2511929.stm#table (26 November 2002)

[27] Laura Clark. ” All out: Teachers to strike for the first time in 21 years over pay”. Daily Mail online. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.dailymail.co.uk/news/article-552991/All-Teachers-strike-time-21-years-pay.html (2 April 2008), Polly Curtis, David Hencke and Lee Glendinning. “Teacher strike shuts out 1m children”. The Guardian. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.theguardian.com/education/2008/apr/24/schools.uk1  (24 April 2008), Anthea Lipsett. “Q&A: NUT strike”. The Guardian. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.theguardian.com/education/2008/apr/24/schools.uk7 (24 April 2008)

[28] UK Parliament. “The future of academies and free schools”. Retrieved on 6th April 2023, from https://www.parliament.uk/business/publications/research/key-issues-parliament-2015/education/academies-and-free-schools/

[29] Susanne Wiborg, Ibid., p.81

[30] Susanne Wiborg, Ibid., pp.81-82

[31] Susanne Wiborg, Ibid., p.82

[32] Susanne Wiborg, Ibid., p.82

[33] BBC NEWS. ” University strike expected to go ahead on Thursday”. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.bbc.com/news/education-24726743 (29 October 2013)

[34] University and College Union. “UCU announces 14 strike dates at 61 universities in pensions row”. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/9242/UCU-announces-14-strike-dates-at-61-universities-in-pensions-row (29 January 2018)

[35] University and College Union. “UCU announces 14 strike dates at 61 universities in pensions row “. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/9242/UCU-announces-14-strike-dates-at-61-universities-in-pensions-row (29 January 2018)

[36] University and College Union. “University staff renew strike mandate with historic ballot result”. Retrieved on 7th April 2023, from https://www.ucu.org.uk/article/12866/University-staff-renew-strike-mandate-with-historic-ballot-result (3 April 2023)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save