fbpx

คิดไปทางไหนโลกหมุนไปทางนั้น? จากยูเครน ไต้หวัน สู่เวทีประชุมผู้นำโลก

ในหลายวาระหลายเวทีพบปะทางการทูตช่วงปีนี้ เราเริ่มเห็นวาทะที่บ่งชี้ถึง ‘โลกทัศน์’ (worldview) ใหม่บางอย่างที่อาจกลายเป็นกระแสหลักในการเข้าใจระเบียบโลกที่กำลังก่อตัว แนวคิดนี้ก็คือโลกที่แบ่งเป็น ‘สองขั้วแข่งขัน’ ระหว่างชาติประชาธิปไตยและชาติเผด็จการ โดยสองขั้วที่ว่านี้ยังถูกแบ่งเป็น ‘ฝ่ายที่คอยรักษาระเบียบบนฐานกฎเกณฑ์ (rule-based order) กับฝ่ายที่จ้องทำลายระเบียบที่เป็นอยู่โดยใช้กำลัง’ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพพจน์การเผชิญหน้าแบบ ‘สงครามเย็น’ จะติดพ่วงมาพร้อมวาทกรรมนี้ รวมทั้งภาพ ‘สงครามนิวเคลียร์’ ที่ถูกย้ำบ่อยครั้งขึ้นด้วย

ในการพบปะแบบ ‘มาราธอน’ ช่วงสัปดาห์กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งเวที ASEAN – G20 – APEC วาทกรรมและโลกทัศน์ดังกล่าวมีให้ได้ยินทั้งในเวทีหลักและเวทีรอง โจโควี ผู้นำอินโดนีเซียเตือนถึงภาวะที่โลก ‘แตกแยก’ และขัดแย้งแบบสงครามเย็น ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน ยังคงเน้นจุดยืน ‘แข่งขัน’ (compete) แต่ ‘ไม่ขัดแย้ง’ กับจีน ขณะที่จีนแย้งว่าการแบ่งโลกออกเป็นฝ่ายเสรีกับเผด็จการเป็นเรื่องไม่สมควร ทั้งผู้นำสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นต่างปรามชาติที่นำอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายของตน เห็นได้ชัดว่าเป็นการส่งสารถึงเกาหลีเหนือและรัสเซียซึ่งเป็นชาติที่คอยย้ำเตือนให้โลกตระหนักว่าสงครามร้อนและสงครามนิวเคลียร์ยังคงไม่หายไปไหน

สถานการณ์โลกที่เริ่มขมวดปมแน่นจนยากจะแก้ในปีนี้ ทั้งกรณีรัสเซียบุกยูเครนและจีนซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันยิ่งทำให้โลกทัศน์การแบ่งฝักฝ่ายเผชิญหน้ากันกลายเป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้น และคงไม่คลี่คลายได้โดยง่ายด้วยคำกล่าวเตือนหรือห้ามปรามในเวทีการทูต คำพูดเหล่านี้กลับเผยให้เห็นยุทธศาสตร์และการวางแนวทางรับมือสถานการณ์อันเลวร้ายที่ต่างฝ่ายต่างกะเก็งไว้ว่าจะเกิดขึ้น และไม่อาจรอช้าตระเตรียมศักยภาพและนโยบายไปตามแนวคิดว่าโลกกำลังหมุนไปทางไหน เพื่อให้ตนสามารถรักษาความมั่นคงปลอดภัย ผลประโยชน์และความได้เปรียบของตนไว้ได้ในระเบียบโลกถัดไป

จากมุมมองที่ว่ารัฐเข้าใจ ตีความและมีทัศนะต่อโลกอย่างไรอาจส่งผลนำพาโลกให้หันเหไปในทิศทางนั้น อย่างที่เรียกว่า ‘คิดไปทางไหนทำให้ความจริงเป็นไปตามนั้น’ (self-fulfilling prophecy) ข้อเขียนนี้อยากลองวิเคราะห์สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาว่าด้วยโลกทัศน์อย่างไรบ้าง มีพื้นฐานทางวิชาการในศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรองรับประมาณไหน และรัฐในเวทีโลกเวลานี้หาทางบริหารไม่ให้สถานการณ์ดำเนินไปตามคำทำนายหรือการคาดหมายต่อสิ่งเลวร้ายข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

หนึ่งปีที่ระเบียบโลกเริ่มสั่นคลอน

จะว่าไปแล้วเหตุการณ์ความตึงเครียดที่น่ากังวลใจในภูมิภาคเอเชียอย่างกรณีช่องแคบไต้หวัน เป็นผลอย่างแยกไม่ได้จากวิกฤตยูเครนที่มองผิวเผินอาจดูเป็นเรื่องต่างที่ต่างถิ่น จับโยงกันยาก แต่หากวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดในเดือนสิงหาคมปีนี้ที่ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบปะทุถึงจุดเดือดขนาดที่จีน ‘ฟาดงวงฟาดงา’ แสดงแสนยานุภาพด้วยการซ้อมรบขนานใหญ่ พร้อมทั้งยิงขีปนาวุธหลายลูกที่บ้างก็ตกในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของญี่ปุ่น จนกลายเป็นหัวข้อใหญ่ในการหารือระหว่างมหาอำนาจกระทั่งบัดนี้ ปฏิเสธได้ยากว่าสถานการณ์นี้มีผลมาจากปัญหายูเครนและเป็น ‘self-fulfilling prophecy’ ในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ผู้ที่ติดตามปัญหาไต้หวันมาอย่างต่อเนื่องน่าจะทราบดีว่าความตึงเครียดในพื้นที่นี้เริ่มระอุมาตั้งแต่ไต้หวันเลือกตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และไช่อิงเหวินขึ้นมาเป็นผู้นำในปี 2016 จุดยืนที่อยากให้ไต้หวันเป็นเอกราชและการดำเนินการทูตเชิงรุกเข้าหาสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้จีนรู้สึกเดือดดานต่อไต้หวัน จนคำว่า ‘นโยบายจีนเดียว’ (One China policy) เป็นที่ได้ยินบ่อยและเป็นเงื่อนไขอันอ่อนไหว (sensitive) ในการคบค้าสมาคมกับจีน ดังนั้น ช่องแคบไต้หวันเป็นปัญหาที่ประชาคมนานาชาติจับจ้องมาก่อนหน้าจะมีเค้าลางว่ารัสเซียมีเจตนาบุกยูเครน แม้ว่าจะมีการผนวกไครเมียในปี 2014 น้อยคนนักที่จะนึกว่าระเบียบโลกจะถูกสั่นคลอนจากการกระทำของรัสเซีย

การเผด็จศึกสงครามของรัสเซียกระเทือนรากฐานยุทธศาสตร์คุ้มกันพันธมิตรทั่วโลก ด้วยกลไกป้องปรามแบบขยาย (extended deterrence) ของสหรัฐฯ หรือการสกัดศัตรูไม่ให้กล้าเข้ามาคุกคามมิตรประเทศด้วยการทำให้เชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่นิ่งเฉยและจะนำศักยภาพอันยิ่งใหญ่ร่วมแรงร่วมใจปราบชาติที่ก้าวร้าว แต่วิกฤตยูเครนสะท้อนให้เห็นความจริงอันน่าอัปยศ 2 อย่างคือ สหรัฐฯ ไม่สามารถส่งสัญญาณที่น่าเชื่อถือและหนักแน่นเพียงพอให้คู่อริอย่างรัสเซียไม่กล้ากระทำการอันไม่พึงประสงค์ จึงไม่อาจสกัดรัสเซียในการบุกยูเครนได้ หลังจากนั้นเมื่อพรมแดนยูเครนถูกละเมิด สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ใช้กำลังเข้าป้องกันและขับไล่รัสเซียอย่างจริงจัง เพียงแต่ใช้การคว่ำบาตรต่อรัสเซียและส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนอยู่ห่างๆ เป็นหนทางจัดการวิกฤต

อาจมองการตอบสนองของสหรัฐฯ เช่นนี้ว่ามีข้อดีคือช่วยเลี่ยงไม่ให้สงครามบานปลายและจำกัดวงการต่อสู้ แต่นั่นก็ทำให้สหรัฐฯ เกรงว่าท่าทีของตนจะส่งผลเชิงจิตวิทยาที่กระทบกลไกการป้องปรามศัตรูในที่อื่นอย่างเอเชียตะวันออก โดยอาจทำให้จีนเข้าใจว่าการอ้างและสร้างเขตอิทธิพลโดยใช้กำลังอย่างที่รัสเซียกรุยทางให้เห็นเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่มีมหาอำนาจหน้าไหนกล้าสกัดกั้นความทะเยอทะยาน เมื่อค่าเสียหายจากการท้าทายระเบียบที่นำโดยสหรัฐฯ ดูไม่ใหญ่หลวงเกินรับได้ก็น่าลองเสี่ยงเพื่อขยายอำนาจของตนเองดู

นั่นเป็นตรรกะที่ทำให้ศัตรูฮึกเหิม ขณะที่พันธมิตรลดความเชื่อถือไว้ใจและหาหนทางใหม่ทดแทนการพึ่งพิงสหรัฐฯ เมื่อผู้นำคลายความจริงจังในการธำรงกฎระเบียบที่ยืนหยัดบนฐานของอำนาจและบทบาทของสหรัฐฯ ย่อมถูกผู้ท้าชิงสั่นคลอน การที่สหรัฐฯ หวั่นเกรงว่าท่าทีที่แสดงออกต่อรัสเซียน่าจะส่งผลเสียดังกล่าวเป็นแน่ ก็ก่อให้เกิดจิตวิทยาบางอย่างที่ต้องการย้ำความหนักแน่นของตนอีกครั้งว่า ‘จะไม่ยอมให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก’ ไม่ว่าที่ไหนในโลก ดังนั้นใครอย่าได้เข้าใจว่าจุดยืนในกรณียูเครนสะท้อน ‘ตัวตน’ หรือ ‘อุปนิสัย’ ขวัญหนีดีฝ่อของสหรัฐฯ ที่จะเป็นเช่นนี้เสมอไป และอย่าได้กล้าเอาเยี่ยงอย่างรัสเซียโดยคิดว่าจะรอดพ้นการตอบโต้และลงทัณฑ์จากสหรัฐฯ ไปได้

Self-fulfilling prophecy: ตรรกะแบบกลัวสิ่งใดยิ่งทำให้เกิดสิ่งนั้น

เพื่อย้ำให้เห็นว่าตนจะไม่ยอมอ่อนข้อให้ศัตรูหน้าไหนอีกแน่ อันเป็นกลยุทธ์เพื่อกอบกู้กลไกป้องปรามระดับโลกที่ถูกวิกฤตยูเครนลดความเข้มแข็ง ประธานาธิบดีไบเดนจึงแสดงท่าทีหนักแน่นและแน่วแน่กว่าแต่ก่อนในการประกาศจุดยืนปกป้องคุ้มครองไต้หวัน เพื่อส่งสัญญาณให้จีนรับรู้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ดูดายเหมือนในกรณียูเครน ไบเดนหลุดปากหลายครั้งในวาระสำคัญต่างๆ ว่า “จะใช้กำลังป้องกันไต้หวันหากถูกจีนโจมตี” ซึ่งผู้สังเกตการณ์มองว่าส่อเจตนามากกว่าพลั้งปาก แม้ว่าทุกครั้งกระทรวงการต่างประเทศจะออกมาแก้ข่าวและกล่าวย้ำจุดยืนเดิมที่ว่าสหรัฐฯ ยึดถือ ‘หลักการจีนเดียว’ ตลอดจน ‘ยุทธศาสตร์คลุมเครือ’ (strategic ambiguity) ที่ไม่ออกตัวชัดว่าจะสนับสนุนไต้หวัน เพื่อปรามไม่ให้ไต้หวันผลักดันการประกาศเอกราชจนก่อให้เกิดวิกฤต

ความหวั่นวิตกในฝั่งสหรัฐฯ ว่าจีนจะใช้กำลังเปลี่ยนสภาวการณ์ในเอเชียอย่างการผนวกไต้หวันในเร็ววันถูกขยายให้ดูยิ่งน่าหวาดหวั่นกว่าที่เป็น จากการที่สหรัฐฯ ไม่แสดงท่าทีจริงจังกว่านี้ในกรณียูเครนจนเป็นชนักติดหลังในฐานะผู้นำระเบียบโลก สภาวะนี้กำลังส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางฝั่งเอเชียมากขึ้นด้วยปรากฏการณ์ ‘self-fulfilling prophecy’ ที่ขับเคลื่อนโดยแนวคิดและตรรกะข้างต้น นั่นคือเมื่อเกิดความกลัวว่าท่าทีของตนดูอ่อนแอไป สหรัฐฯ ก็ยิ่งหมกมุ่นที่จะยกระดับการแสดงความแน่วแน่และมุ่งมั่นต่อการป้องกันพันธมิตรและระเบียบโลก ทั้งด้วยการกระชับพันธมิตรกับชาติที่รายล้อมจีนรวมทั้งไต้หวัน ขยายบทบาทคานอำนาจกับจีน อวดแสนยานุภาพอย่างการลาดตระเวนน่านน้ำและซ้อมรบร่วมกับชาติต่างๆ

แม้การกระทำเหล่านี้มุ่งเพื่อการป้องปรามหรือสกัดไม่ให้อีกฝ่ายขยับในทางก่อปัญหาและกล้าท้าทายสถานะตน แต่การหมั่นเคลื่อนไหวเพื่อส่งสัญญาณบ่อยไปหรือแข็งกร้าวเกินพอดีก็อาจทำให้กลายเป็นท่าทียั่วยุข่มขู่จนกระตุ้นให้อีกฝ่ายรู้สึกต้องตั้งรับหรือหาทางโต้กลับอย่างช่วยไม่ได้ การสร้างสมดุลในยุทธวิธีเพื่อจำกัดเป้าหมายให้อยู่ในขอบเขตการป้องปราม ไม่ถลำกลายไปเป็นการคุกคามจึงต้องอาศัยกลยุทธ์ที่ละเอียดอ่อน อย่างที่ไบเดนก็ตระหนักในเรื่องนี้จากที่เขาย้ำจุดยืน ‘คุมการแข่งขัน’ (managed competition) ไม่ให้ดุเดือดและบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ

เหตุที่มองว่าความวิตกต่อสถานการณ์ของสหรัฐฯ และการยกระดับการป้องปรามกำลังก่อสิ่งที่สหรัฐฯ หวั่นกลัว ‘ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา’ ก็เพราะความตึงเครียดที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นอาจยิ่งผลักดันให้จีนกลายเป็นภัยตามแบบที่สหรัฐฯ นึกวาดภาพไว้ การซ้อมรบใหญ่ของจีนเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และกดดันไต้หวันหลังการเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ดูจะยืนยันประเด็นนี้ เหตุที่เพโลซีตัดสินใจเยือนไต้หวันอาจเป็นที่ถกเถียงได้หลายทาง แต่เธอก็พยายามส่งสัญญาณในเชิงป้องปรามตามแนวทางของรัฐบาลไบเดน โดยย้ำถึง ‘ความมุ่งมั่นอันไม่หวั่นไหว’ (unwavering commitment) ที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยของไต้หวัน “ในยามที่โลกแบ่งเป็นค่ายเสรีและอำนาจนิยม สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างประชากรไต้หวัน 23 ล้านคน”

จะว่าไปแล้วใช่ว่า ‘ความมโน’ ของสหรัฐฯ จะเป็นเหตุสร้างความตึงเครียดในช่องแคบฝ่ายเดียว จีนเองด้วยความคิดว่าไต้หวันจ้องจะแยกตัวเป็นเอกราชหากดำเนินท่าทีอ่อนข้อ จึงเน้นย้ำจะเอาคืนมลฑลนี้ให้ได้และหมกมุ่นกับการข่มขู่คุกคามเพื่อป้องปรามพรรค DPP ไม่ให้ประกาศเอกราช พร้อมไปกับสั่นคลอนความอยู่รอดของไต้หวันด้วยการแสดงกำลังทหารเหนือน่านฟ้าและน่านน้ำ จีนยังใช้ ‘สงครามจิตวิทยา’ (cognitive warfare) เพื่อบั่นทอนขวัญกำลังใจว่า อย่างไรไต้หวันก็หนีเงื้อมมือจีนไปไม่พ้นแน่ การกระทำเหล่านี้ยิ่งผลักดันให้ไต้หวันออกห่างและระแวดระวังจีนในฐานะภัยคุกคามหรือศัตรูที่ตนก็ต้องหาทางป้องปรามเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังบัญญัติในธรรมนูญพรรคอย่างชัดแจ้งว่าจะต่อต้านการเป็นเอกราชของไต้หวัน ในช่วงการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนยังย้ำเสมอว่าจะใช้กำลังผนวกไต้หวันหากจำเป็น ล่าสุดตอนที่พบหารือกับผู้นำสหรัฐฯ ช่วงการประชุม G20 จีนเตือนให้โลกรู้ว่าไต้หวันคือ ‘เส้นยาแดงอันดับแรก’ (the first red line) ที่ผู้ใดอย่าได้คิดฝ่าฝืน โดยถือเป็น ‘แก่นในผลประโยชน์ระดับแกน’ (core of the core interest) ของประเทศ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยิ่งทำให้รัฐบาลและผู้คนไต้หวันส่วนใหญ่มองจีนเป็นศัตรูและผลักให้ต้องทำตัวแข็งกร้าวและเข้าหาพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ รวมทั้งชาติอุดมการณ์เดียวกัน (like-minded nations) มากขึ้นเพื่อสร้างแนวร่วมสกัดกั้นจีน

ไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่าโลกทัศน์ที่แบ่งโลกออกเป็นสองขั้วอุดมการณ์ที่กล่าวข้างต้น ถูกตอกย้ำจนกลายเป็นวาทกรรมหลักจากปัญหาช่องแคบไต้หวัน การหาทางสร้างแนวร่วมเพื่อถ่วงดุลจีนได้ตอกย้ำความแตกต่างในรูปแบบการปกครองข้ามช่องแคบและการปกป้องไต้หวันในฐานะหนึ่งในรัฐเสรีประชาธิปไตย ยิ่งเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน การเกาะกลุ่มของชาติโดยแบ่งเป็นขั้วอุดมการณ์ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น โดยมีรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือถูกมองเป็นชาติเผด็จการที่กำลังพยายามทำลายระเบียบซึ่งมีหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นแกนกลาง

โลกทัศน์ v. ระเบียบโลก

ประเด็นที่ว่าโลกทัศน์มีส่วนกำหนดสถานการณ์และทิศทางของโลก เป็นหัวข้อถกเถียงสำคัญหนึ่งในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แนวคิดที่ว่าเมื่อเรามีแนวโน้มตีความและเข้าใจระเบียบโลกไปในทางใดก็มีส่วนปรุงแต่งให้โลกกลายเป็นอย่างนั้น เป็นฐานคติหลักของทฤษฎีกลุ่ม ‘หลังปฏิฐานนิยม’ (post-positivism) ซึ่งไม่ได้มองปฏิสัมพันธ์รัฐว่าถูกกำหนดโดยกฎตายตัวตามธรรมชาติเหมือนอย่างวัตถุทางกายภาพที่ศึกษาได้แบบวิทยาศาสตร์ แนวคิดกลุ่มนี้แย้งการมุ่งศึกษาสิ่งที่เกิดซ้ำและเกิดต่อเนื่อง โดยมองว่าโลกในแง่สังคมมนุษย์ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น (constructed) จากความคิดความเชื่อและการกระทำซ้ำๆ ร่วมกันจนเป็นความปกติหรือเป็นแบบแผนสืบต่อกันมาที่ดูผิวเผินอาจเหมือนเป็นไปตามธรรมชาติ

แต่ความปกติเหล่านี้ที่อาจเรียกว่า ‘ความจริงทางสังคม’ (social fact) มีคุณสมบัติต่างจากความจริงในโลกกายภาพ เพราะเมื่อมีต้นกำเนิดจากความคิดความอ่านของมนุษย์ผู้เป็นสมาชิกของสังคมแล้ว ย่อม ‘มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้’ หาใช่สิ่งคงที่ตายตัว ทัศนะที่เปลี่ยนไปทำให้พฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐเปลี่ยนไปด้วย การปรับฐานคิดเกี่ยวกับความจริงดังนี้เกิดเป็นกระแสโจมตีการศึกษาแบบดั้งเดิม หรือเหตุผลนิยม (rationalism) ที่สร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าโลกระหว่างประเทศมีรูปแบบตายตัวเป็นดังนั้นดังนี้ที่คงอยู่ถาวรตลอดไป การอ้างว่า ‘ทฤษฎีเผยให้รู้ความจริง’ ถูกมองแก้ใหม่ว่าคือการ ‘ชี้นำความคิดความเห็น’ ที่ส่งผลสร้างความจริงทางสังคมเสียมากกว่า

แนวคิดในยุคหลังจึงมองทฤษฎีและสำนักคิดกระแสหลักยุคสงครามโลกและสงครามเย็นอย่าง ‘สัจนิยม’ และ ‘สัจนิยมใหม่’ (realism / neorealism) ที่ให้ภาพเวทีระหว่างรัฐเป็น ‘สภาวะสงคราม’ (state of war)  หรือไม่ก็ ‘เกมอำนาจ’ (power politics) ว่า คือตัวแปรที่ชี้นำและปลูกฝังทัศนคติให้ผู้นำและผู้คนมีโลกทัศน์ไปในแบบนั้น ทั้งยัง ‘สั่งสอน’ ให้พร้อมรับมือกับสภาพการณ์ดังกล่าว เมื่อรัฐคิดเสมอว่าต้องตระเตรียมแสนยานุภาพเพื่อเข้าสงครามนั่นก็สร้างบรรยากาศที่อบอวลด้วยความกลัวสงครามขึ้นมาโดยปริยาย เมื่อทุกรัฐพัฒนากำลังเพื่อที่จะรบอย่างไม่หยุดหย่อน ทัศนคติเช่นนี้มีแต่จะยิ่งบ่มเพาะความหวาดระแวง ทำให้เวทีโลกเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกัน โดยทฤษฎีเป็นตัวตอกย้ำและทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้ขึ้น

ภาพที่ฉายว่ารัฐต่างๆ อยู่ใน ‘เกมที่มีผลประโยชน์ส่วนตน’ เป็นที่ตั้งและใช้เหตุผลหากลวิธีบรรลุให้ได้อันเป็นคำอธิบายแบบ ‘เหตุผลนิยม’ (rationalism / neo-neo synthesis) นั้นจำกัดการมองสารัตถะของเวทีระหว่างรัฐให้แคบลงจนลดทอนความเป็นไปได้อื่นๆ ไม่ว่าความร่วมมือจากความเห็นใจและมนุษยธรรม การสร้างหลักคุณค่าคุณธรรมและจัดการปัญหาหรือบรรลุเป้าหมายใหญ่ส่วนรวมร่วมกัน แนวคิดยุคหลังกลับเชื่อในพลังความคิดที่อาจใช้ตั้งคำถามและก้าวข้ามความปกติหรือแบบแผนที่เป็นอยู่เดิมอันไม่พึงประสงค์ได้ โดยการมองว่าระเบียบและรูปแบบความสัมพันธ์รัฐจะเป็นเช่นไร หาใช่เป็นกฎที่กำหนดโดยธรรมชาติ (of nature) แต่เป็นสิ่งที่แต่งสร้างจากความคิดอ่านและการประพฤติต่อกัน (of our making)

โลกทัศน์ยังทำงานในแง่ที่ว่าเมื่อเราเข้าใจสิ่งใดไปทางไหนแล้ว เราก็มักปฏิบัติต่อสิ่งนั้นเยี่ยงนั้น เราอาจไม่รู้เจตนาหรือตัวตนของคนอื่นหรือรัฐอื่นได้โดยแน่แท้ นั่นเป็นเพราะเรา ‘ไม่สามารถหยั่งรู้ความคิดจิตใจผู้อื่นได้’ ซึ่งเป็นปมปัญหาใหญ่ทั้งในการอยู่ร่วมในสังคมมนุษย์และการศึกษาสังคมศาสตร์ แต่การปฏิบัติต่อเขาอย่างไรอาจทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นอย่างที่เรารับรู้เข้าใจไปโดยปริยาย นักวิชาการสงครามเย็นบางสำนักมองว่าการที่สหรัฐฯ ปฏิบัติต่อสหภาพโซเวียตเป็นศัตรูมีส่วนทำให้ฝ่ายหลังต้องตั้งรับและสู้กลับ การปฏิบัติต่ออีกฝ่ายในฐานะศัตรูบีบให้เขาต้องแสดงปฏิกริยาแข็งกร้าวสนองตอบ ตัวตนและบทบาทนอกจากสร้างขึ้นด้วยความเข้าใจต่อตัวเองแล้วยังเกิดได้จากปฏิสัมพันธ์เชิงบทบาทกับผู้อื่นด้วย

ทั้งวิชาการและประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ ไม่ได้ให้สูตรตายตัวที่เชื่อได้แน่ว่าควรปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการใดเพื่อให้ได้ผลในการห้ามปรามหรือให้ยอมปฏิบัติตามความต้องการ หากเลือกแนวทาง ‘แข็งกร้าว’ ข่มขู่บังคับจะแน่ใจได้ไหมว่าอีกฝ่ายจะเกรงกลัวแล้วมีท่าทีนอบน้อม ไม่ใช่ทำให้โกรธเกรี้ยวแล้วต่อต้านเรากลับ หรือถ้าหากเราใช้แนวทาง ‘ละมุนละม่อม’ จะทำให้อีกฝ่ายตอบแทนในทางเดียวกันไหม หรือทำให้เขาได้ใจ มองเราว่าไม่จริงจังไม่กล้าหาญและกระทำบุ่มบ่ามตามอำเภอใจหรือเปล่า ผลอันไม่พึงประสงค์ของทั้งสองแนวทางนี้ตามลำดับถูกมองเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองในศตวรรษที่ 20 มาแล้ว

การบริหารปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ

ในโลกที่ความตึงเครียดระหว่างรัฐดูเหมือนจะตอกย้ำให้ความคิดของสำนักสัจนิยมแห่งยุคสงครามเย็นที่เน้นความมั่นคง ยุทธศาสตร์เกมอำนาจ และกำลังรบกำลังทหาร กลายมาเป็นแกนกลางในการเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ การมองโลกว่าแบ่งเป็นขั้ว โดยมีอีกฝ่ายเป็นอริหรือศัตรูที่จ้องต่อสู้ท้าทายตน อย่างที่ Graham Allison ให้ภาพ ‘the rise vs. the rule’ ที่ต่างฝ่ายต่างติดกับดักที่จะต้องระแวงต่อกันและอาจบานปลายไปเป็นสงครามในท้ายที่สุด แม้ในยามที่การพึ่งพาอาศัย ร่วมมือและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน โลกทัศน์และการตอบสนองด้วยชุดความเข้าใจแบบสัจนิยมนี้ อาจกำลังสร้างความจริงให้เกิดไปตามความรับรู้ ด้วยการปฏิบัติที่ทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นศัตรูขึ้นมา

ยุทธศาสตร์การป้องปรามที่กลายเป็นหัวใจขับเคลื่อนพฤติกรรมของต่างฝ่ายในเวลานี้ทั้งจีน ไต้หวัน และพันธมิตรฝ่ายสหรัฐฯ แม้จะมองเป็นนโยบายที่เหมาะสม เพราะการปรามคือการกันหรือห้าม ‘ไว้ก่อน’ เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดขยับไปในทางที่ไม่พึงประสงค์หรือฝ่าฝืนพื้นที่สำคัญของอีกฝ่าย ถือเป็นวิธีที่ใช้ได้ในการรักษาสภาวการณ์ให้อยู่คงเดิม (status quo) แต่การป้องปรามที่มีประสิทธิภาพมักตั้งอยู่บนการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าว แน่วแน่จริงจัง (resolute) และอวดเบ่งความเข้มแข็งและแสนยานุภาพ การยึดยุทธศาสตร์ป้องปรามจึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกยั่วยุ คุกคามและไม่อาจอยู่เฉยได้ด้วยเช่นกัน และหากการกระทำนั้นเกินเลยจนทำให้อีกฝ่ายขยับเพื่อตอบโต้ใดๆ แล้ว ก็อาจส่งผลลดทอนเป้าหมายการป้องปรามที่วางไว้

อย่างกรณีเพโลซีเยือนไต้หวันก็เป็นการส่งสารเพื่อปรามจีน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในช่วงหลังวิกฤตยูเครนว่าจะต้องยกระดับการป้องปรามผ่านการย้ำความมุ่งมั่นที่จะป้องกันไต้หวัน สอดคล้องกับที่ไช่อิงเหวินก็อยากเน้นให้เห็นว่าตนไม่ได้ต่อสู้ภัยจีนโดยลำพัง แต่ผลตอบรับคือ จีนมองความเคลื่อนไหวนี้เป็นการยั่วยุและใช้เป็นเงื่อนไข (pretext) ให้ยกระดับการคุกคามไต้หวันด้วยการซ้อมรบใหญ่ ซึ่งคือการปรามทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ ว่าอย่าละเมิดผลประโยชน์สำคัญของจีน ทั้งที่ต่างฝ่ายอยากรักษาสภาวะที่เป็นอยู่ แต่การกระทำยิ่งไปกระตุ้นอีกฝ่ายให้แสดงท่าทีเป็นศัตรูออกมา นอกจากต่างฝ่ายจะขยับเข้ามายืนใกล้ปากเหวในวิกฤตครั้งนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มจะมองอีกฝ่ายด้วยความวิตกและเป็นภัยคุกคามมากขึ้นต่อจากนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์แห่งการประชุมสุดยอด 3 เวทีไล่เรียงกัน เราได้เห็นสัญญาณที่ดีบางอย่างจากผู้นำหลายคู่ที่น่าจะช่วยลดความตึงเครียดซึ่งสะสมมาระหว่างปีนี้จากกรณีต่างๆ ลงได้บ้าง และอาจเป็นหนทางช่วยลด self-fulfilling prophecy โดยยับยั้งแนวโน้มการใช้ท่าทีแข็งกร้าวกระตุ้นให้อีกฝ่ายยิ่งกลายเป็นศัตรูขึ้นมาจริงๆ สัญญาณนี้นอกจากจะเห็นจากการที่ไบเดนพบหารือสีจิ้นผิงแล้ว ยังมาจากคำมั่นที่ว่าทั้งสองจะประคองความสัมพันธ์แบบแข่งขันเอาไว้ไม่ให้ไถลไปเป็นความขัดแยังทางทหาร

อาจมองสิ่งที่เห็นในเชิงบวกได้ว่าเป็น ‘การบริหารปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ’ (great power management) โดยสิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งในเวทีพหุภาคีที่เกิดขึ้นคือ การให้แน่ใจว่าคู่กรณีจะมี ‘ช่องทางสื่อสาร’ (communication channel) เปิดไว้ระหว่างผู้นำโดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน เพื่อลดการที่ต่างฝ่ายไม่เข้าใจหรือมโนกันไปจนเกินเลยถึงเจตนาของคู่พิพาท และไม่ทำให้เป้าหมายการป้องปรามลุกลามเป็นสงครามที่ไม่จงใจ (accidental war)

นอกจากช่องทางสื่อสารแล้ว การมีเวทีพบปะหลากหลายในแต่ละปียังมีส่วนช่วยเปิดโอกาสให้ผู้นำได้เจอกันหลายครั้งและหาทางลดความตึงเครียดด้วยการทูต หากตกลงกันครั้งหนึ่งไม่ได้ การพบกันซ้ำหลายครั้งที่อาจจัดข้างเคียงการประชุมเวทีหลักต่างๆ ก็มีส่วนช่วยปรับจูนความเห็นหรือใช้การทูตกดดันกันมากกว่ากำลังทหาร กลไกเหล่านี้ยังทำหน้าที่ช่วยลดความเข้มข้นของ ‘โลกทัศน์แบบแบ่งขั้ว’ จากการที่มีชาติเล็กชาติน้อยอย่างสมาชิกอาเซียนคอยเรียกสติ เพราะชาติเหล่านี้คงไม่อยากเลือกข้างและมองว่าตนได้ประโยชน์มากกว่าจากการวางตัวเป็นกลาง ขณะที่ต้องการระเบียบที่มีเสถียรภาพมากกว่าเสี่ยงสงคราม

อีกปัจจัยที่อาจช่วยโลกไม่ให้ถลำลึกไปสู่โลกทัศน์หนึ่งเดียวที่ว่าสงครามเย็นหรือสงครามใหญ่กำลังใกล้เข้ามาและชักพาชาติต่างๆ ให้เตรียมยุทธศาสตร์สำหรับสถานการณ์นั้นจนภาวะสงครามเป็นจริงตามมา คือการเปิดรับความคิดเห็นและมุมมองต่อระเบียบโลกที่หลากหลาย หรือทำให้มีตลาดวาทกรรมและความคิด (marketplace of ideas) ที่มีความคึกคัก เพื่อลดภาวะครอบงำของแนวคิดหรือโลกทัศน์หนึ่งใด เวทีวิชาการข้ามชาติและการผนวกผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักคิดเข้าไปในการพิจารณานโยบายมีส่วนช่วยให้เกิดความบันยะบันยังในเชิงความคิดและในการดำเนินท่าทีระหว่างประเทศได้

ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้การบริหารปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจลงตัวในทิศทางที่พึงประสงค์ เพราะเป้าหมายของรัฐใหญ่ใช่ว่าจะต้องตรงกันเสมอไป ขณะที่แนวโน้มการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนจะยังผลให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกันต่อไป เป็นไปได้หรือไม่ที่ทั้งมหาอำนาจและชาติส่วนใหญ่จะตั้งเป้าหมายร่วมกันในแบบที่ให้ความสำคัญต่อระเบียบบนฐานสันติภาพและผลประโยชน์นานาชาติเป็นหลักใหญ่ แม้สิ่งนี้อาจฟังดูเป็นความหวังอันห่างไกล แต่ก็อาจทำหน้าที่ช่วยต้านหรือถ่วงคานกระแสแนวคิดที่มีมานานที่ว่ารัฐสมควรหาประโยชน์แบบตัวใครตัวมัน และทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจให้อ่อนเบาลงไปได้บ้าง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save