fbpx

The Old Economies Strike Back: เมื่อ ‘เศรษฐกิจเก่า’ กระชากกลับ

ปี 2022 เป็นปีที่แปลก

ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมรับมือเทรนด์เศรษฐกิจแห่งอนาคตในโลกหลังโควิด เช่น การมาของเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) กลับเกิดปรากฏการณ์ที่นักวเคราะห์การเงินบางคนเรียกว่า ‘โลกเก่ากระชากกลับ’ หรือ The Old Economies Strike Back เมื่อ คลื่น ‘เศรษฐกิจเก่า’ กลับมาซัดรุนแรงจนคลื่นเศรษฐกิจใหม่ต้องถอย

ด้านสิ่งแวดล้อม สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งราคาพลังงานพุ่งสูง ทำให้ความมั่นคงทางพลังงานและเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน ส่งผลให้การเตรียมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างการลดก๊าซคาร์บอนในหลายประเทศสะดุด

การประชุมผู้นำที่ดาวอสของ World Economic Forum ในปีนี้ชี้ให้เห็นว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นทำให้หลายประเทศหันกลับลงทุนผลิตพลังงานแบบดั้งเดิมอย่างถ่านหินและน้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศผู้ส่งออกที่ฉกฉวยโอกาสสร้างรายได้ในยามพลังงานราคาดี ในขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองก็ผ่อนคลายมาตรการคุมการผลิตถ่านหิน และเลื่อนเป้าหมายการลดถ่านหินไปเริ่มในปี 2026 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานในประเทศ 

ส่วนหนึ่งก็เพราะภาวะราคาพลังงานสูงเสี่ยงสร้างปัญหาสังคมและการเมือง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมักมีผลทางอ้อม ผลักให้ราคาปุ๋ย อาหาร ไปจนถึงต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อในยุคที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดี ซึ่งจะกระทบกับกระเป๋าของคนรายได้น้อยรุนแรงที่สุด หลายประเทศจึงจำใจต้องหันมาชดเชยราคาพลังงานฟอสซิล แม้จะรู้ว่าอาจเป็นผลเสียต่อความยั่งยืนในระยะยาว

เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลก็โดนกระชากกลับเช่นกัน 

ในขณะที่คนธุรกิจและประเทศต่างๆ เร่งเข้าสู่ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเต็มสปีดในช่วงโควิด ปี 2022 กลับท้าทายแนวคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลคือถนนวันเวย์ทางตรงที่วิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ 

เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มเปิดให้การเดินทางเป็นไปได้สะดวกขึ้น เปลี่ยนแนวทางนโยบายให้ดำรงชีวิตอยู่กับโควิดได้มากขึ้น คนทั่วโลกกำลังกลับมาเดินทางท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ ประชุมแบบเจอหน้ากันอย่างเข้มข้นจนนักวิเคราะห์เรียกว่า เป็นการล้างแค้นจากความเก็บกดที่ไม่ได้ไปไหนมานาน (revenge traveling) 

เมื่อคนออกเดินทางมากขึ้น กิจกรรม-ธุรกรรรมออนไลน์หลายประเภทก็เริ่มชะลอตัวลง รายงานของ IMF ที่ศึกษาข้อมูลจาก Mastercard ใน 47 เศรษฐกิจพบว่า สัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์เทียบกับออฟไลน์พุ่งกระฉูดจริงในช่วงโควิด แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 กลับเริ่มแผ่วลงและย้อนกลับมาสู่เทรนด์เดิมก่อนโควิดในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา

แม้แต่เทรนด์การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) ที่เป็นประเด็นยอดนิยมในช่วงโควิดระดับมีคนตั้งคำถามว่า ออฟฟิศต่างๆ ยังจำเป็นอยู่ไหมก็เริ่มถูกตีกลับ การสำรวจของ Microsoft พบว่าประมาณ 50% ของบริษัททั่วโลกให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ และไม่นานมานี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Tesla หรือธนาคาร Goldman Sachs ก็ออกมาประกาศถึงความสำคัญในการกลับมาทำงานแบบเจอหน้ากันเช่นกัน 

สิ่งไหนชั่วคราว เทรนด์ใดยืนยาว?

การเปลี่ยนแปลงในปี 2022 ทำให้ทั้งคน ธุรกิจ องค์กร และผู้วางนโยบายต้องตั้งคำถามว่า การกระชากกลับของเศรษฐกิจเก่านั้นมาชั่วคราวหรือถาวร

ด้านหนึ่งอาจมองว่าเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่ถูกเร่งขึ้นในช่วงโควิด เช่น เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเพียงกระแสที่มาชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป สุดท้ายเราก็กลับไปสู่เทรนด์โลกก่อนโควิด 

ส่วนอีกด้านอาจคิดว่าเทรนด์เศรษฐกิจใหม่คือ ‘ของจริง’ และจะอยู่ยืนยาว การกระชากกลับของเศรษฐกิจเก่าที่เราเห็นในปีนี้เป็นเพียงพายุชั่วคราว แม้เกรี้ยวกราดในปี 2022 แต่แล้วก็จะพัดผ่านไป

วันนี้เรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าฝั่งไหนถูก แต่โดยส่วนตัวคิดว่าความจริงน่าจะใกล้เคียงข้อหลังมากกว่าข้อแรก 

เศรษฐกิจสีเขียวยังมีลมส่งแรง

แม้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้เทรนด์การลดคาร์บอนสะดุดได้บ้าง แต่เทรนด์นี้ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนอยู่หลายข้อ 

หนึ่ง กองทุนใหญ่ต่างๆ ทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับเทรนด์การลงทุนด้านความยั่งยืนอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียว กองทุนเหล่านี้ใช้ความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในภาคพลังงานผลักดันให้ธุรกิจต้องวัด carbon footprints ของตนเอง ทั้งยังต้องหามาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างต่อเนื่อง 

สอง แม้บางประเทศจะมีการหันกลับไปหาพลังงานฟอสซิลบ้างในภาวะขาดแคลนพลังงาน แต่ก็มีกลุ่มประเทศที่หันกลับไปทุ่มกับการพัฒนาพลังงานทางเลือกและลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลยิ่งกว่าเดิมในอนาคต ยุโรปคือทวีปที่ต้องการลดการพึ่งพานำเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของประเทศต่างๆ ยังอาจตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วยในอนาคต

สาม ผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนสูงกว่ารุ่นก่อนๆ รายงานของ Bain & Company และเฟซบุ๊กพบว่า กว่า 80% ของผู้บริโภครุ่นใหม่ในประเทศไทยอาจยอมจ่ายแพงขึ้นกว่า 10% หากแบรนด์นั้นได้รับการยอมรับว่าให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน โดยมีการค้นพบว่า คนรุ่นใหม่มีความกังวลและรู้สึกรับผิดชอบต่อต่อภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง (ทั้งที่อาจควรเป็นรุ่นก่อนที่ควรรู้สึกผิด) จนเกิดภาวะความเครียดที่เรียกว่า Eco Anxiety คล้ายกับที่สงครามเย็นเคยมีผลสร้างความเครียดให้กับวัยรุ่นยุคเบบี้บูมเมอร์

เศรษฐกิจดิจิทัลฝังรากลึก แต่อาจต่างกันในแต่ประเทศและอุตสาหกรรม 

ข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า ช่วงเวลา 2 ปีกว่าได้ทำให้เทรนด์ดิจิทัลฝังรากลงไปลึกเข้าไปในชีวิตคนและสังคมจนคงไม่ได้หายไปไหนง่ายๆ เพียงแต่ในแต่ละประเทศและแต่ละอุตสาหกรรมดิจิทัลอาจฝังรากลึกมากน้อยต่างกัน

หนึ่ง เศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอาจไม่เหมือนกัน ในรายงานของ IMF ที่กล่าวถึงข้างต้นชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการจับจ่ายออนไลน์ต่อออฟไลน์ในสหรัฐอเมริกาตกลงมาอยู่ที่ในระดับราวๆ เทรนด์เดิมก่อนโควิด แต่สถานการณ์ในประเทศบราซิลกลับต่างกันอย่างชัดเจน โดยแม้สัดส่วนของธุรกรรมออนไลน์ต่อออฟไลน์จะลดลงมาหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้นก็จริง แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดอย่างชัดเจน ช่วงโควิดจึงเสมือนการปรับฐานการใช้ดิจิทัลให้สูงขึ้น ซึ่งในเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหลายแห่งก็มีเทรนด์คล้ายๆ กัน

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ในเศรษฐกิจกำลังพัฒนามีระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่สูงนักก่อนโควิดระบาด โดยอุปสรรคสำคัญหนึ่งคือ การขาดทักษะทางดิจิทัล (digital literacy) ที่บ่อยครั้งก็ทำให้ไม่เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีไปด้วย 

แต่การเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ ‘บังคับ’ ให้ users เหล่านี้ได้เรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น รัฐบาลต่างๆ ก็ออกมาตราการสนับสนุนการเข้าถึงดิจิทัล ทำให้เกิดฐานผู้ใช้ใหม่ๆ ในอาเซียนเองก็มีผู้บริโภคออนไลน์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 70 ล้านคนใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าประชากรประเทศไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว ผู้ใช้หน้าใหม่จำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มที่แต่เดิมไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลมากนักก่อนโควิด เช่น ในหมู่คนรุ่นเก๋าหรือกลุ่ม SME ซึ่งในแบบสำรวจของ Sea-WEF (2021) พบว่า ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มใช้แอปดิจิทัลต่างๆ เป็นแล้ว ก็มักจะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต

สอง ในรายงานของ IMF ยังพบว่า แต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัลมีเทรนด์หลังโควิดที่แตกต่าง เช่น ฟู๊ดเดลิเวรี ค้าปลีกอีคอมเมิร์ซบางประเภทและสาธารณสุขดูจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์สูงกว่าช่วงก่อนโควิด สะท้อนพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งหมดนี้อาจสะท้อนว่ามี users ใหม่ๆ เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกแล้วอยู่ยาว และอาจกลายเป็นเทรนด์ถาวร

ในทางกลับกัน ด้านอุตสาหกรรมบันเทิงดูเหมือนว่าสัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์จะย้อนกลับไปสู่เทรนด์เดิมที่มีก่อนไวรัสระบาด โดยเหตุผลอาจเป็นเพราะในเซ็กเตอร์มี users ออนไลน์จำนวนค่อนข้างสูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด ดังนั้นธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นช่วงโรคระบาด จึงมาจากการใช้เวลาดูสื่อบันเทิงออนไลน์นานขึ้น และเมื่อเมืองเปิด คนก็กลับไปเที่ยวข้างนอก ดูหนัง ฟังเพลงแทนการดู-เล่นผ่านออนไลน์ที่บ้านที่ต้องทำมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่เรื่องทำงานในออฟฟิศหรือเปล่า แต่เป็นเรื่องความยืดหยุ่น

สุดท้าย เทรนด์ Work from Anywhere มีความซับซ้อนมากที่สุด เพราะบริษัทต่างๆ เองก็ยังลองผิดลองถูก หาสูตรที่ใช่ที่สุดของแต่ละองค์กร และแต่ละทีม

อาจกล่าวเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Future of work is still a work in progress”

ที่เราพอจะเริ่มรู้ก็คือ การทำงานทางไกล 100% ที่หลายคนเคยคิดว่าจะเป็นอนาคตไม่น่าจะใช่คำตอบ แม้กระทั่งสำหรับอาชีพที่เนื้องานที่ทำผ่านโลกออนไลน์ได้ไม่ยาก เพราะโลกออนไลน์ยังไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันกับคนและคอมมูนิตี้ได้ลึกซึ้งเท่าโลกออฟไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน การบังคับให้ทุกคนมาทำงานที่ออฟฟิศ 100% ทั้งปีแบบก่อนโควิดก็อาจไปไม่ได้แล้วเช่นกัน โดยเฉพาะในยุคที่เทรนด์ Great resignation มาแรง คนเก่งขององค์กรอาจลาออกกันยกคณะ 

สิ่งที่ชัดเจนคือ เรากำลังเข้าสู่โลกการทำงานที่ต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น (flexible work arrangement) ส่วนใหญ่ยังอาจทำงานในออฟฟิศด้วยกัน แต่อาจมีบางทีม บางคนที่มีบางช่วงขอไปทำงานทางไกล อาจเพื่ออยู่ใกล้ครอบครัว หรือด้วยเหตุผลอื่น (เช่น ไปทำ workation) โดยแต่ละทีมก็สามารถหาสูตรที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด และปรับไปตามผลที่ได้ 

2022 เป็นปีที่แปลก 

เป็นปีเทรนด์เศรษฐกิจดั้งเดิมอย่างอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เศรษฐกิจออฟไลน์ การทำงานในออฟฟิศที่เราคิดว่ามันเก่าแล้ว หวนกลับมาเคาะประตูเวียง ดึงจนเราต้องกลับมานั่งคิดและมองให้ทะลุอีกครั้งว่า เทรนด์แห่งอนาคตจะมาแน่หรือไม่ อย่างไร 

การเปลี่ยนแปลงในปีนี้มาเตือนว่า การเดินหน้าเข้าสู่โลกใหม่จะไม่ใช่ถนนเส้นตรง แต่คดเคี้ยวกว่าที่คิดและไม่ใช่ถนนวันเวย์ที่เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว

ความท้าทายของผู้นำของปีนี้คือ รักษาสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในโลกที่ยังฝุ่นตลบจากการกระชากกลับของเศรษฐกิจเก่า ในขณะเดียวกันก็ไม่เสียวิสัยทัศน์ลงทุนทรัพยากรที่มีจำกัดกับเทรนด์ระยะยาวและขับเคลื่อนองค์กร-ประเทศให้ปรับเปลี่ยนตามทันเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังมา


อ้างอิง

Pandemic’s E-commerce Surge Proves Less Persistent, More Varied

THAI DIGITAL GENERATION SURVEY รายงานผลสำรวจคนไทยยุคดิจิทัล: ฉายภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19

SME Digital Literacy กับระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทย

A SYNC SOUTHEAST ASIA REPORT: Southeast Asia, the home for digital transformation

e-Conomy SEA 2021: Roaring 20s — The SEA Digital Decade

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save