fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ ทำความเข้าใจความจน ก้าวพ้นมายาคติ

โควิดกับคนจน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงปี 2557-2562 พบว่า สัดส่วนคนจนของไทยนั้นอยู่ระหว่างร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยตัวเลขนี้ลดลงในบางปี ขณะที่บางปีกลับเพิ่มขึ้น แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นบวกโดยตลอดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ วิกฤตเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่เพียงส่งผลกระทบทางลบต่อคนจน แต่น่าจะส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เมื่อช่วงกลางปี 2563 พบว่า กลุ่มครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะคนยากจนเมืองจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่กลุ่มครัวเรือนเปราะบางอีก 1.14 ล้านครัวเรือนมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นครัวเรือนยากจน

ถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลควรดำเนินนโยบายหรือมาตรการอย่างไรเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นนี้? หนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ (Poor Economics) อาจมีส่วนช่วยทำให้เราตอบคำถามข้างต้นได้ดียิ่งขึ้น เพราะว่า “หนังสือเล่มนี้คือคำตอบขนาดยาว เพียงแต่มันไม่ใช่คำตอบประเภทที่จะตอบได้ทุกคำถาม” (น. 24)

การทดลองเพื่อบรรเทาความยากจน

ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้คืออภิชิต เบเนอร์จี และเอสแตร์ ดูโฟล ทั้งคู่เป็น 2 จาก 3 คนที่เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2019 จากผลงาน ‘แนวทางการทดลองเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจนทั่วโลก’ แนวทางการทดลองข้างต้นคือ ‘การทดลองแบบสุ่ม’ หรืออาร์ซีที (Randomized Controlled Trial: RCT) ซึ่ง “เลียนแบบการทดลองแบบสุ่มที่ใช้ในวงการแพทย์เพื่อวัดประสิทธิผลของยาใหม่ๆ” (น. 28) การทดลองเช่นนี้ “เปิดโอกาสให้นักวิจัยทำการทดลองขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบทฤษฎีต่างๆ ได้” โดยการ “เลือกพื้นที่ที่แตกต่าง หรือใช้วิธีแทรกแซงแบบอื่นๆ” เพื่อให้ “ได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นว่าจริงๆ แล้วคนจนใช้ชีวิตอย่างไร ต้องการและไม่ต้องการความช่วยเหลือที่จุดไหน” (น. 36) ตัวอย่างเช่น การทดลองเพิ่มแรงจูงใจในการให้วัคซีน และการทดลองสอนเสริมโดยครูอาสาในชุมชนในอินเดีย (บทที่ 3 และบทที่ 4) และการทดลองเพื่อแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในเคนยา (บทที่ 5)

กระนั้นการทดลองแบบสุ่มก็มิได้นำไปสู่คำตอบของทุกๆ คำถามเกี่ยวกับความยากจน หากแต่เป็นไปเพื่อตอบคำถามหลักของหนังสือเล่มนี้ว่า “เราควรกังวลเรื่องกับดักความยากจนในเวลาใดและที่ไหน” (น. 38) กล่าวอีกแบบก็คือ เบเนอร์จีและดูโฟลตั้งใจวางหนังสือเล่มนี้ให้อยู่กลางข้อถกเถียงว่าด้วยกับดักความยากจน ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยเงินช่วยเหลือเพื่อให้คนจนหลุดออกจากกับดักความยากจน ซึ่งนำโดยเจฟฟรีย์ แซกส์ ที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ต่อต้าน เช่น วิลเลียม อีสเตอร์ลี แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ด้วยเห็นว่ากับดักความยากจนไม่มีอยู่จริง

กับดักความยากจน

กับดักความยากจนในที่นี้หมายถึง “เมื่อใดก็ตามที่โอกาสในการเพิ่มรายได้หรือความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วมีอยู่จำกัดสำหรับผู้มีเงินทุนน้อย แต่กลับขยายออกมหาศาลสำหรับผู้มีเงินลงทุนมากขึ้นอีกนิดหน่อย” (น. 32) ซึ่งหนังสือเล่มนี้เสนอว่า ในบางกรณีนั้น กับดักความยากจนมีอยู่จริง ดังเช่นในกรณีของนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียซึ่ง “ธุรกิจของเธอต้องมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่งจึงจะทำกำไร” แต่ “การถูกโกงเงินทำให้ทรัพย์สินหายไปไม่เหลือ ผลักให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในโซนกับดักความยากจน” ทั้งเบเนอร์จีและดูโฟลเห็นว่า “เหตุการณ์แย่ๆ เพียงครั้งเดียวสร้างผลกระทบถาวรได้” และ “ครอบครัวหนึ่งอาจเปลี่ยนเส้นทางสู่ความเป็นชนชั้นกลางไปเป็นความยากจนถาวรได้” (น.194)

อย่างไรก็ตาม ในอีกหลายๆ กรณี กับดักความยากจนก็อาจมิได้มีอยู่จริง เช่น กับดักความยากจนจากความอดอยากของลูกจ้างเกษตรกรในจังหวัดชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย เพราะ “พวกเขาอาจหาอาหารมากินได้ง่ายๆ เพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงพอสำหรับทำงาน” แต่ “ปัญหาอาจจะอยู่ที่คุณภาพของอาหารมากกว่าปริมาณ” นอกจากนี้ “การให้เงินคนจนมากขึ้นก็อาจไม่เพียงพอเช่นกัน เพราะแม้แต่รายได้ที่สูงขึ้นก็อาจไม่ทำให้คนจนได้รับสารอาหารดีขึ้นในระยะสั้น” (น. 68-70) 

ดังนั้น ผู้เขียนทั้งสองจึงเห็นว่า การทำความเข้าใจกับดักความยากจนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ “ผู้ดำเนินนโยบายมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโลก พวกเขาคิดว่ามีกับดักความยากจนทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มี หรือมองข้ามกับดักบางจุดไป ทั้งที่มันปรากฏชัดแจ้งแก่สายตา” (น. 38) ยิ่งไปกว่านั้น “นโยบายที่แย่มากบางครั้งกำเนิดจากเจตนาที่ดีเลิศที่สุดเพราะมองปัญหาที่แท้จริงไม่ออก” (น. 331) และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมโยบายหรือมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนจึงไม่ประสบผลสำเร็จ

คนจนกับโควิด

ความเข้าใจคนจน รวมถึงกับดักความยากจนเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน เบเนอร์จีและดูโฟลเห็นว่า “คนจนไม่เพียงแต่มีชีวิตที่เสี่ยงกว่าคนฐานะดีกว่าเท่านั้น แต่เหตุการณ์แย่ๆ แบบเดียวกันยังส่งผลร้ายต่อคนจนได้มากกว่าอีกด้วย” (น. 192) และ “ด้วยความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากความอดทนเช่นนี้ เราจะสามารถชี้กับดักความยากจนในที่ที่มันมีอยู่จริง และรู้ว่าเครื่องมือไหนที่จำเป็นต้องมอบให้คนจนเพื่อช่วยพวกเขาออกจากกับดัก” (น. 350)

ย้อนกลับมาที่เมืองไทย ปัญหาความยากจน รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำมิได้เพิ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากแต่สถานการณ์โรคระบาดช่วยทำให้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจปัญหาความยากจน โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย เพราะนอกจากหนังสือเล่มนี้จะช่วยทำลายมายาคติเก่าๆ เกี่ยวกับความยากจนโดยการใช้เครื่องมือใหม่ๆ แล้ว ยังกระตุ้นให้เราพยายามทำความเข้าใจคนจน และกับดักความยากจน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในวิกฤติเช่นนี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save