fbpx
การเงินและการธนาคารในโลกคริปโต

การเงินและการธนาคารในโลกคริปโต

André François McKenzie ภาพประกอบ

1.

วันอังคารที่ 7 กันยายนที่ผ่านมาได้ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเงินโลกว่าเป็นวันที่เงินคริปโต (Cryptocurrency) อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) ได้ถูกรับรองว่า ‘ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’ เป็นครั้งแรกโดยรัฐบาลของประเทศเอล ซัลวาดอร์ และนั่นทำให้เอล ซัลวาดอร์ เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศให้บิตคอยน์มีสถานะเป็นสกุลเงินประจำชาติ

และในช่วงเช้าของวันเดียวกันนั้นเอง นักลงทุนทั่วโลกก็ได้เห็นราคาของบิตคอยน์ร่วงจากระดับราว 50,000 กว่าเหรียญสหรัฐ ลงมาต่ำกว่า 43,000 ดอลลาร์ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ความผันผวนของราคาเหรียญคริปโตเป็นเรื่องที่คนในวงการการเงินทราบกันดี และการลงทุนในเหรียญคริปโตก็ถูกจัดว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากด้วย ดังนั้นการที่เอล ซัลวาดอร์ตัดสินใจใช้บิตคอยน์เป็นเงินสกุลประจำชาติของตน จึงดูเป็นเรื่องที่แหวกธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารกลางเลยทีเดียว เพราะธนาคารกลางทั่วโลกต่างล้วนมีพันธกิจหลักคือการดูแลรักษาให้สกุลเงินประจำชาติตนมีเสถียรภาพ มีอำนาจซื้อที่มั่นคง ไม่ผันผวน

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลเอล ซัลวาดอร์จะไม่ได้มองว่าความผันผวนของราคาบิตคอยน์เป็นความเสี่ยงที่พึงหลีกเลี่ยงแต่อย่างใด เพราะในช่วงเช้าที่ราคาบิตคอยน์ได้ร่วงลงอย่างหนักนั้น รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ ได้เข้ากว้านซื้อเหรียญบิตคอยน์มาเติมคลังอีกจำนวน 150 เหรียญ หลังจากที่ได้ซื้อมาในวันก่อนหน้านั้นแล้วจำนวน 400 เหรียญ ส่งผลให้เหรียญบิตคอยน์ที่รัฐบาลของประเทศเอล ซัลวาดอร์สั่งสมมีมูลค่าทั้งหมด 550 เหรียญ

อย่างไรก็ตาม เหรียญบิตคอยน์ที่รัฐบาลถือครองนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อเป็นทุนสำรองฯ เหมือนกับที่ประเทศอื่นๆ ถือครองเงินตราสกุลหลักของโลกไว้สำหรับหนุนหลังการออกธนบัตร แต่เหรียญเหล่านี้มีไว้เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านออกจากระบบ ‘Dollarization’ ซึ่งก็คือการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราสำหรับการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทในประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่เอล ซัลวาดอร์ใช้มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อมีการประกาศให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์จึงต้องเตรียมเหรียญบิตคอยน์ให้พร้อมสำหรับเงินดอลลาร์ที่ประชาชนจะนำไปแลกเปลี่ยนกับทางการ โดยประชาชนเอล ซัลวาดอร์สามารถแลกเงินได้จากตู้บริการของทางการที่ตั้งไว้ตามจุดต่างๆ นับตั้งแต่วันอังคารที่ 7 กันยายนเป็นต้นไป

ปรากฎการณ์ Dollarization มักพบในประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจนรัฐบาลหมดหนทางแก้ไข และในที่สุดต้องยอมยกธงขาว เลิกการพิมพ์เงินของตนเอง และหันมาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักสำหรับการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศแทน โดยประเทศที่นำระบบ Dollarization มาใช้ได้แก่ เอกวาดอร์ ปานามา ไลบีเรีย และกัมพูชา  

อย่างไรก็ดี เอล ซัลวาดอร์นั้นแตกต่างออกไป เพราะเอล ซัลวาดอร์ไม่ได้ประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง หรือมีปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ไร้เสถียรภาพเกินควบคุมแต่อย่างใด ตรงกันข้ามสุขภาพเศรษฐกิจมหภาคของประเทศในปี 2001 จัดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคงแข็งแรง แต่แล้วจู่ๆ เอล ซัลวาดอร์ก็ประกาศยกเลิกเงินโคลอน (Colon) หันมาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแทน เพราะหวังว่าการใช้เงินสกุลเดียวกันกับสหรัฐฯ จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศมหาอำนาจ และกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้

น่าเสียดายที่ภาพฝันที่จะได้เห็นการไหลทะลักเข้าไปของเงินลงทุนจากต่างชาติและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเลยในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ซ้ำร้ายกว่านั้นระบบ Dollarization ยังได้ตัดเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลออกไป กล่าวคือ ประเทศเอล ซัลวาดอร์ไม่สามารถนโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจของตัวเองได้มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว

มองย้อนกลับไปพิจารณาถึงการตัดสินใจเปลี่ยนระบบการเงินของประเทศในครั้งนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่แหวกธรรมเนียมปฏิบัติและสุ่มเสี่ยง ไม่แพ้การตัดสินใจการปลดแอกจากระบบ Dollarization ด้วยการใช้บิตคอยน์เป็นเงินประจำชาติในวันนี้ ไม่เพียงแต่ตลาดการเงินที่เฝ้ามองวิวัฒนาการของบทบาทเหรียญคริปโตนับจากนี้ไป แต่ฟากฝั่งของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ก็สนใจติดตามด้วยเช่นกันว่า อนาคตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเอล ซัลวาดอร์ จะเป็นไปในทิศทางใด ประวัติศาสตร์ของความคาดหวังที่ไม่เป็นจริงเมื่อ 20 ปีก่อนจะย้อนกลับมาหลอกหลอนชาวเอล ซัลวาดอร์อีกครั้งหรือไม่

2.

มีการบันทึกว่ามนุษย์เริ่มใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเป็นครั้งแรกเมื่อราว 5,000 ปีก่อน จนปัจจุบันนี้ โลกเรามีเงินตราอยู่ทั้งสิ้น 180 สกุลเงิน

ตรงกันข้ามกับเหรียญคริปโตที่มีจุดเริ่มต้นบนหน้าประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานนี้ นั่นคือเมื่อปี 2009 ที่บิตคอยน์ได้เปิดตัวในฐานะเงินคริปโตชนิดแรก นับจากวันนั้นเป็นต้นมาก็มีเงินคริปโตก่อกำเนิดตามมาอีกมากมาย จนในปัจจุบันมีจำนวนสกุลเงินคริปโต ทั้งสิ้นกว่า 4,000 สกุลเงินแล้ว (ตัวเลข ณ เดือนมกราคม 2021)

ตลาดเหรียญคริปโตไม่ต่างไปจากตลาดเสรีที่ไร้การควบคุมจากภาครัฐ เปิดกว้างสำหรับการนำเสนอตัวเลือกเงินดิจิทัลใหม่ๆ ให้เข้ามาแข่งขันกันได้โดยไม่มีอะไรปิดกั้น ตลาดนี้จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดได้อีกมากจากเทคโนโลยีใหม่ๆ

ในยุคโลกไร้พรมแดนที่คนทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงนวัตกรรมล่าสุดได้อย่างง่ายดาย คนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และถือครองเหรียญคริปโตในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกมาหลายปีแล้ว การเติบโตของตลาดเหรียญคริปโตในช่วงปีที่ผ่านมา กอปรกับราคาบิตคอยน์ที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ได้ช่วยดึงราคาของเหรียญคริปโตอื่นๆ ขึ้นตามไปด้วย การเก็บสะสมเหรียญคริปโตในช่วงปีที่ผ่านมาจึงสร้างกำไรให้กับผู้ลงทุนมหาศาล และดึงดูดผู้สนใจรายใหม่ๆ เข้าลงทุนเพิ่มเป็นเงาตามตัว

เมื่อจำนวนคนไทยที่ถือครองเหรียญคริปโตมีเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายในบ้านเราจึงเปิดทางเลือกให้ลูกค้าสามารถจ่ายเหรียญคริปโตเพื่อชำระค่าสินค้าแทนเงินบาทได้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ได้รับรองว่าเงินคริปโตสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายก็ตาม

ปัจจุบันนี้ เราสามารถใช้เหรียญคริปโตซื้ออาหารจากผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นร้านปลาเผาในจังหวัดลำพูน ร้านก๋วยเตี๋ยวใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือร้านครัวซองก์ย่านพระราม 9 แถมยังสามารถใช้เงินคริปโตเพื่อซื้อสินค้ามูลค่าสูงอย่างคอนโดหรือรถซูเปอร์คาร์นำเข้าได้อีกด้วย

กล่าวได้ว่าเหรียญคริปโตนั้นไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่เป็น ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ แต่ยังได้เพิ่มหน้าที่ของการเป็น ‘เงินทางเลือก’ ของคนยุคใหม่ไว้อีกด้วย ระบบการชำระเงินในปัจจุบันจึงเป็นระบบที่ใช้เงินตราแบบดั้งเดิม คู่ขนานไปกับระบบที่ผู้บริโภคสามารถชำระค่าสินค้าได้ด้วยเงินดิจิทัล  

3.

ธนาคารกลางทั่วโลกต่างจับตาดูพัฒนาการของเหรียญคริปโตอย่างใกล้ชิด และเริ่มจะเห็นว่าการเติบโตของตลาดเหรียญคริปโตอาจกลายมาเป็นภัยคุกคามอำนาจในการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจมหภาคในอนาคตอันใกล้นี้ได้

แม้ว่าวันนี้อาจมีเพียงบางซอกมุมเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจเท่านั้นที่พร้อมใช้เงินคริปโตควบคู่ไปกับเงินตราสกุลหลักของประเทศ แต่หากเมื่อใดที่ความนิยมใช้เงินคริปโตแผ่ขยายเป็นวงกว้างจนครอบคลุมทั่วพื้นที่เศรษฐกิจแล้ว เมื่อนั้นนโยบายการเงิน (ซึ่งทำงานผ่านการปรับปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ) จะด้อยประสิทธิภาพลงในทันที และธนาคารกลางจะถูกลดบทบาทในการดูแลเศรษฐกิจลง จนไม่ต่างไปจากธนาคารกลางในระบบ Dollarization ในที่สุด

แนวทางที่ธนาคารกลางทั่วโลกเลือกใช้เพื่อรับมือกับการขยายตัวของตลาดเหรียญคริปโต คือดำเนินการเร่งศึกษาและพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา หรือที่เรียกว่า ‘เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง’ (Central Bank Digital Currency) ซึ่งเรียกโดยย่อว่า CBDC

โครงการพัฒนา CBDC นี้มีทั้งแบบที่ใช้ CBDC หมุนเวียนระหว่างธนาคาร (เรียกว่า Wholesale CBDC) และในแบบที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึง (เรียกว่า Retail CBDC) ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต่างเลือกพัฒนาโครงการนำร่องของตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก่อน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยของเราได้เลือกพัฒนาโครงการในแบบของ Wholesale CBDC ภายใต้ชื่อโครงการ ‘อินทนนท์’ ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ 4 ปีก่อน และคาดว่าจะนำ Retail CBDC ที่เป็นเงินบาทออกทดลองใช้ราวกลางปีหน้า

ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา CBDC โครงการอินทนนท์จะช่วยลดต้นทุนการชำระเงินระหว่างธนาคารและลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการนี้เป็นเสมือนกับการปรับปรุงระบบหลังบ้านของสถาบันการเงิน ผู้ใช้งานรายย่อยโดยส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับรู้ถึงความก้าวหน้า และอาจมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเท่าใดนัก

แต่คนในวงการการเงินมองตรงกันข้าม เพราะล่าสุดโครงการ Intanon-LionRock ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางของฮ่องกงที่อำนวยความสะดวกให้กับการชำระเงินข้ามประเทศ ได้รับการประเมินจาก Price Waterhouse Coopers (PwC) ว่าเป็นโครงการที่มีความก้าวหน้าเป็นอันดับหนึ่งของโลกในด้านการพัฒนาเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) จากการจัดอันดับความพร้อมของการใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลางในปีนี้

ที่มา : https://www.pwc.com/gx/en/industries/financial-services/assets/pwc-cbdc-global-index-1st-edition-april-2021.pdf

สำหรับการจัดอันดับความพร้อมในการใช้เงินดิจิทัลฝั่ง Retail นั้น PwC ให้คะแนนประเทศบาฮามาสและประเทศกัมพูชา มีความพร้อมในการใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชน เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ จากการที่ประเทศทั้งสองได้นำ CBDC ให้ประชาชนทั่วไปใช้งานกันแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยเงินดิจิทัลของบาฮามาสมีชื่อว่า Sand Dollar ส่วนโครงการ Retail CBDC ของกัมพูชามีชื่อเรียกว่า Bakong

เมื่อไล่ดูรายชื่อประเทศที่ติดอันดับที่มีความพร้อมของการใช้ Retail CBDC ทั้ง 10 อันดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ปรากฎชื่อของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกปรากฏอยู่เลย ยกเว้นเพียงสวีเดนเท่านั้นที่มีชื่อติดอันดับที่ 8 ตรงกันข้ามกลับพบรายชื่อประเทศที่ใช้ระบบ Dollarization อย่างกัมพูชา เอกวาดอร์ รวมถึงประเทศที่สัดส่วนของประชากร ‘Unbank’ (หมายถึง สัดส่วนของประชากรที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์เลย จึงประสบปัญหาการเข้าถึงบริการธนาคาร) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 อาทิ ยูเครน อุรุกวัย และตุรกี [1] (รวมทั้งกัมพูชาที่ประชากรร้อยละ 54 ประสบปัญหาดังกล่าว)

อันที่จริงกลุ่มประเทศแถบทะเลแคริบเบียน อย่างบาฮามาสและกลุ่มประเทศแถบแคริบเบียนตะวันออก ก็ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการธนาคารเช่นกัน เพราะประชากรในประเทศเหล่านี้ กระจายตัวอยู่ตามหมู่เกาะมากมาย ทำให้ความหนาแน่นของประชากรในบางพื้นที่ไม่มากพอที่จะจูงใจให้ธนาคารไปเปิดสาขาบนเกาะนั้นๆ ประชากรที่อาศัยตามหมู่เกาะเหล่านี้จึงต้องพึ่งพาบริการโอนเงิน หรือการขึ้นเช็คจากช่องทางอื่นที่มีต้นทุนสูงมาก ดังนั้นการนำ Retail CBDC เข้ามาใช้จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการธนาคารได้ตรงเป้า เพราะการรับส่งเงินดิจิทัลนั้นสามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้โดยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

กล่าวได้ว่าหลายประเทศที่พัฒนา Retail CBDC ไปได้ไกล มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่คล้ายกัน คือเป็นประเทศที่ธนาคารกลางต้องการยึดอำนาจในการดำเนินนโยบายการเงินกลับคืนมา (เช่น กัมพูชา และเอกวาดอร์) หรือไม่ก็เป็นประเทศที่ประชากรจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้ (เช่นกลุ่มประเทศแถบทะเลแคริบเบียน)

นี่จึงชวนให้สงสัยต่อไปว่า แล้วบรรดาประเทศที่ไม่ได้ประสบปัญหาทางการเงินและการธนาคารเช่นนี้ Retail CBDC จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนใดได้?

ดังที่ปรากฏในตารางอันดับฝั่ง Retail CBDC ของรายงาน PwC ข้างต้น ซึ่งแทบไม่ปรากฏชื่อประเทศที่มีระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้าอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือสหราชอาณาจักร แต่อย่างใด หรือแม้แต่ในบ้านเราเองที่มีช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น mobile banking พร้อมเพย์ การชำระค่าสินค้าออนไลน์ รวมไปถึงเป๋าตัง 

เมื่อกวาดตามองภูมิทัศน์ของระบบการชำระเงินในขณะนี้ ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีช่องโหว่หรือรูรั่วใดให้ Retail CBDC เข้ามาอุด


[1] ที่มา https://www.gfmag.com/global-data/economic-data/worlds-most-unbanked-countries

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save