fbpx

เรามีเด็กกำพร้าเพราะโควิดเพิ่มขึ้นเท่าไรแล้ว

คุณพ่อของเด็กคนหนึ่งฆ่าตัวตาย หลังงานศพเด็กคนนั้นบินกลับไปเรียนต่อที่ประเทศหนึ่งในยุโรป เมื่อไปถึงโรงเรียนอาจารย์ที่ปรึกษาถามว่าพบจิตแพทย์หรือยัง เด็กตอบว่ายัง อาจารย์ที่ปรึกษานัดให้เด็กพบจิตแพทย์ทันที เป็นเวลา 6 เดือน ถ้าเด็กไม่ยอมพบมิให้ศึกษาต่อ

มีคำถามว่าจนถึงวันนี้เรามีเด็กๆ ที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งคู่ หรือผู้ดูแลหลักเพราะสถานการณ์โควิดไปมากเท่าไรแล้ว และเราทำอะไรไปแล้วบ้าง หรืออย่างน้อยคือได้เริ่มวางแผนทำอะไรไปแล้วบ้าง

เรื่องการนับจำนวนไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมาก ทำได้ทั้งการนับอย่างละเอียดด้วยฐานข้อมูลไอทีอย่างดี หรือการใช้มือนับเท่าที่จะนับได้ ความสำคัญจะอยู่ที่มีใครเห็นความสำคัญมากพอที่จะเริ่มต้นนับหรือไม่และหรือยัง

มีการประมาณตัวเลขนี้จากต่างประเทศแล้ว ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรเราต้องรอต่างประเทศ เรามีงานไอทีไว้ทำอะไรและเรามีกระทรวงไอทีไว้ทำอะไร อันนี้ถามด้วยความสงสัยจริงๆ มิได้ประชดแต่อย่างใด มากกว่านี้คือเรามีกระทรวง พม. ไว้ทำอะไร รวมทั้งเรามีกรมสุขภาพจิตไว้ทำอะไร สองอันหลังนี้มีนัยของความกังขาที่เพิ่มมากขึ้น

กลับมาที่เรื่องเราควรเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และใส่ใจเรื่องนี้มากเพียงใด

เด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิดมีลักษณะพิเศษ (unique) ที่ไม่เหมือนเด็กกำพร้าจากสถานการณ์อื่น ได้แก่ สถานการณ์ปกติ สถานการณ์ก่อการร้าย

เด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิดมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปกึ่งเฉียบพลัน (subacute) กล่าวคือพ่อแม่มิได้ตายทันทีเหมือนกรณีอุบัติเหตุรถยนตร์หรือก่อการร้าย และมิได้มีเวลาเตรียมตัวเหมือนกรณีพ่อแม่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง แล้วค่อยๆ ทรุดลง เด็กกำพร้าจากโควิดมีเวลาน่าพรั่นพรึงอยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่การสูญเสียจริงจะเกิดขึ้น  

คือเวลาที่พ่อแม่ถูกพรากไปโรงพยาบาล หรือเป็นตัวเขาเองที่ถูกพรากไปจากพ่อแม่

ความพลัดพรากทั้งที่พ่อแม่ยังดูเรียบร้อยดีเป็นกรณีแตกต่าง   

เด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิดมีลักษณะการสูญเสียพ่อแม่ที่เกิดขึ้นเอง มิได้ถูกใครทำร้าย ไม่เหมือนกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ ฆาตกรรม หรือสงคราม ถ้าจะบอกว่าเชื้อไวรัสโควิดเป็นต้นเหตุ เด็กๆ ก็เห็นอยู่ว่าโควิดมิได้พรากทุกคนไป แม่ของป้อมที่โรงเรียนก็เป็นพยาบาลเหมือนกัน ไม่เห็นแม่ของป้อมตายเลย แล้วทำไมแม่ของหนูต้องตาย

ความพลัดพรากที่มีกรณีเปรียบเทียบเช่นนี้เป็นกรณีแตกต่าง  

เป็นไปได้ว่าเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิดจะได้ยินหรือรับทราบคำตำหนิว่าผู้ติดเชื้อเป็นผู้สะเพร่าในการใช้ชีวิต ไม่ใส่หน้ากาก ไม่รักษาระยะห่าง ฝืนข้อห้ามการชุมนุมงานเลี้ยงสังสรรค์ ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีญาติคนใดตำหนิพ่อแม่ของเด็กๆ ที่เสียชีวิตเลย แต่ข่าวสารเรื่องการดูแลตนเองมีให้ได้ยินทุกวัน ไม่นับว่าข่าวสารเรื่องการตำหนิมีให้ได้ยินเป็นครั้งๆ

ประเด็นคือเราไม่ทราบว่าเด็กได้ยินอะไร และที่สำคัญกว่าคือพวกเขาคิดอย่างไร

นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง นักวิชาการที่ดีมิได้รีบสรุปว่าเด็กๆ คิดอย่างไร ที่จริงแล้วนี่คืองานที่นักบำบัดต้องทำ นั่นคือลงไปดูว่าพวกเขาคิดอย่างไร แล้วพวกเขาจะจัดการหรือปรับตัวกับความคิดเหล่านั้นได้อย่างไรด้วยทรัพยากรที่พวกเขามีอยู่

นั่นคือ ผู้เลี้ยงดูคนใหม่เป็นใคร และ มีเงินเท่าไรที่จะช่วยเหลือพวกเขาต่อไปในอนาคต

เขียนถึงตรงนี้ ย้ำอีกครั้งว่าเรามิได้รีบสรุปว่ารัฐหรือใครต้องทำอะไร ข้อเขียนนี้เพียงให้ความรู้ว่าที่จริงเราควรทำอะไรบ้างหรือเปล่า ตามตำราเด็กๆ ที่สูญเสียพ่อแม่ในทุกกรณีจะต้องมีปฏิกิริยาเศร้า (grief reaction) และต้องผ่านกระบวนการโศกเศร้า (mourning process) ต้องผ่านกระบวนการปรับตัว (adjustment reaction) และต้องผ่านปฏิกิริยา 5 ขั้นตอนของคูเบลอร์-รอสส์ (Kübler-Ross Five Stage of Grief)

เรามีความรู้ชุดนี้อยู่ในตำราและอยู่ในมืออยู่แล้ว คำถามคือใครทำ

เรามาถึงสองคำถามสำคัญด้วย ใครเป็นผู้เลี้ยงดูคนใหม่และใครทำ

รัฐอาจจะต้องคิดว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูคนใหม่ คำตอบควรเป็นว่าญาติคนหนึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูคนใหม่ เราควรถามต่อไปว่าญาติคนนั้นเห็นความสำคัญของงานนี้เพียงใดและมีทรัพยากรที่จะเลี้ยงดูมากเพียงใด พูดง่ายๆ ว่ามีความรู้หรือไม่ และมีเงินมากพอหรือไม่

รัฐที่ดีควรลงไปดูทั้งสองเรื่อง นี่เป็นความคาดหวังตามที่เป็นจริง มิใช่การกดดันรัฐแต่อย่างใด นำไปสู่คำถามที่สองอีกที คือใครทำ

ง่ายที่ส่วนกลางโดยกระทรวง พม. จะสั่งนักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งลงไปทำ หรือกรมสุขภาพจิตจะสั่งหมอคนหนึ่งลงไปทำ หรือโรงพยาบาลใดๆ จะสั่งหมอคนหนึ่งลงไปทำ ไม่ว่าจะเป็นแบบลงไปทำคนเดียวหรือลงไปทำเป็นทีม ยังมีอีกสองคำถามถัดมาให้คำนึงและแก้ไข

หนึ่ง คนหรือทีมที่ลงไปทำมีความรู้มากพอหรือเปล่าว่าจะจัดการกระบวนการปรับตัวครั้งนี้ได้อย่างไร และมีความรู้มากพอหรือเปล่าว่าการช่วยเหลือด้านการเงินควรมีลักษณะเช่นไร

สอง คนหรือทีมที่ลงไปทำมีจำนวนมากเพียงพอที่จะทำงานนี้โดยมีประสิทธิภาพหรือเปล่า หรือว่าที่จริงแล้วทั้งกระทรวงหรือทั้งกรมมีคนทำได้เพียงคนเดียว คำถามนี้สำหรับโรงพยาบาลจะชัดเจนมาก เมื่อเราสั่งหมอคนหนึ่งหรือพยาบาลคนหนึ่งลงไปทำงานนี้ ใครจะตรวจรักษาผู้ป่วยปกติจำนวนมากที่โรงพยาบาลแทน

สำหรับรัฐรวมศูนย์ คำสั่งที่ไม่ดูความเป็นจริงของพื้นที่มักนำไปสู่ความเสียหายของทั้งระบบ เช่น แพทย์หรือพยาบาลละทิ้งงานประจำไปทำตามคำสั่งใหม่ ดูแลเด็กกำพร้า 3 คนด้วยการละทิ้งหน้าที่ดูแลผู้ป่วย 300 คน เป็นต้น รัฐรวมศูนย์ทำงานลักษณะนี้เสมอ 

ที่น่าเสียใจคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิเสธงานงอกเหล่านี้ยาก ในความเป็นจริงแล้วรัฐรวมศูนย์สั่งงานงอกให้แก่บุคลากรที่งานประจำล้นมือทุกวันอยู่แล้ว ที่พวกเขาจำเป็นต้องทำคือพยักหน้า ตอบว่าทำได้ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกกรณีหนึ่ง

บุคลากรบางคนละทิ้งงานประจำไปทำงานงอก บางคนไม่ยอมทำงานงอกแล้วถูกลงโทษทางวินัย เราพบทั้งสองแบบ

จะเห็นว่าแม้เรารู้ว่าควรทำอะไร เรื่องก็ไม่ง่ายเท่าไรนัก สมมติว่าวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าควรทำอะไร เรื่องจะยิ่งยากมากขึ้นไปอีก

มาตรฐานการดูแลเด็กที่สูญเสียบิดามารดาด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึงเป็นเรื่องชัดเจนมากในประเทศพัฒนาแล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save