fbpx

ศาสตร์แห่งความหดหู่ : จากมัลธัส มิลล์ ถึงเศรษฐศาสตร์มหภาค

หลายคนคงเคยได้ยินว่าเศรษฐศาสตร์ถูกป้ายฉายาให้เป็น ‘ศาสตร์แห่งความหดหู่’ (dismal science) 

นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่พูดถึงคำนี้บ่อยๆ คือ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ จากซีรีส์หนังสือ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” โดยบอกว่าเศรษฐศาสตร์ ‘หดหู่’ เพราะมองว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมี ‘ต้นทุน’ หรือ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นนักเศรษฐศาสตร์หมกมุ่นอยู่กับการประมาณ ‘มูลค่าที่เป็นตัวเงิน’ ของกิจกรรม โครงการ หรือนโยบายต่างๆ โดยอาจหลงลืมมิติทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไป 

อีกความหมายหนึ่งที่พบคือในชั้นเรียนวิชาจำพวก ‘ประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์’ ที่มักสอนนักเรียนว่า เศรษฐศาสตร์ ‘หดหู่’ เนื่องมาจากความคิดของกลุ่มเศรษฐศาสตร์คลาสสิคที่มองโลกใน ‘แง่ร้าย’ โดยเฉพาะแนวคิดของ โรเบิร์ต มัลธัส (Robert Malthus, 1766-1834) ที่เสนอว่าอย่างไรเสียมนุษยชาติต้องเจอวิกฤตแน่ๆ เพราะจำนวนประชากรมีแนวโน้มเติบโตเร็วกว่าจำนวนอาหารที่ผลิตได้ สุดท้ายมนุษย์ต้องเผชิญกับความอดอยากและยากไร้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เอาเข้าจริงแล้วทั้งสองความหมายที่แม้จะเป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ก็ยังไม่ใช่ต้นตอที่แท้จริงนะครับ 

การใช้คำว่า dismal science มีต้นตอมาจากข้อเขียนของโธมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle, 1795-1881) นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตต์ ซึ่งปรากฏในบทความ “Occasional Discourse on the Negro Question” (1849) หรืออาจแปลไทยว่า “ปาฐกถาเฉพาะกาลเรื่องกระทู้นิโกร” ข้อเขียนนี้เกิดขึ้นในบริบทที่แรงงานทาสคนดำใน West Indies ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ผลที่ตามมาคือการขาดแรงงานเพื่อทำการผลิต แม้ว่าเหล่าเจ้าของไร่คนขาวจะเสนอค่าจ้างให้ก็ตาม แต่ดูเหมือนเหล่าอดีตทาสคนดำก็ไม่อยากทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่

คาร์ไลล์มองว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากความ ‘เกียจคร้าน’ ของเหล่าอดีตทาสคนดำ เขาแสดงความเห็นว่าถ้าหากไม่ยอมทำงานโดยสมัครใจเห็นทีก็ต้อง ‘บังคับ’ กันแล้วล่ะ ซึ่งคาร์ไลล์มองว่าการบังคับในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แถมยังถูกทำนองคลองธรรมเสียด้วย เพราะเขาเชื่อว่าคนขาวเกิดมาฉลาดและเหนือกว่าคนดำอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องปกติที่ทาสคนดำต้องถูกบังคับและรับคำสั่งจากกลุ่มชนชั้น ‘เจ้านาย’ ที่เหนือกว่าตนเอง (น้ำเสียงและการใช้คำเช่น ‘คนดำ’ หรือ ‘นิโกร’ ในข้อเขียนนี้ถือว่า ‘เหยียดเชื้อชาติ’ (racist) ตามมาตรฐานของสมัยนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า ณ เวลานั้นผู้คนใช้คำพวกนี้กันตามปกติ ซึ่งบทความนี้ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริงและไม่ได้มีเจตนาเหยียดเชื้อชาติ)

แต่สิ่งที่ขัดขวางอุดมการณ์ของคาร์ไลล์อย่างสำคัญคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น กลุ่มคลาสสิคส่งเสริมความเชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพตามธรรมชาติ ดังนั้นไม่ว่าจะเพศ ชนชั้น หรือเชื้อชาติใด ย่อมมีสิทธิในการซื้อขายและเลือกที่จะทำหรือไม่ทำงานใดๆ ได้ตามอิสระ คาร์ไลล์ต่อต้านแนวคิดนี้อย่างมาก เขามองว่าการปล่อยให้กิจการใดๆ เป็นไปตามกลไกของตลาดถือว่า ‘ไร้ความรับผิดชอบ’ อย่างยิ่ง

คาร์ไลล์ได้เขียนโต้ตอบเหล่าผู้ที่สมาทานแนวทางตลาดเสรีว่า “หลักการอุปสงค์ – อุปทานได้ลดหน้าที่ของผู้ปกครองไปสู่การปล่อยให้ผู้คนเดียวดาย….[ซึ่งทั้ง]….อนาถและน่าวิตกแท้ เป็นสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่า…ศาสตร์แห่งความหดหู่

ถ้าหากตีความแล้ว คาร์ไลล์วิจารณ์เศรษฐศาสตร์สองข้อด้วยกันคือ (1) การยอมรับหลักสากลของอุปสงค์ – อุปทานที่ปล่อยให้ตลาดเป็นไปตามธรรมชาติแปลว่าไม่เอาใจใส่ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และ (2) หลักการอุปสงค์ – อุปทานไม่สามารถนำไปประยุกต์กับความสัมพันธ์ นายทาส – ทาส ระหว่างคนขาวและคนดำที่ต่างมีหน้าที่ร่วมกัน (mutual duties) อยู่แล้ว (คือฝั่งหนึ่งเกิดมาเป็นนาย ส่วนอีกฝั่งเกิดมาเป็นข้ารับใช้) ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการบังคับต่างหาก

ฉะนั้นความ ‘หดหู่’ ของเศรษฐศาสตร์ในทัศนะของคาร์ไลล์ไม่ได้เกี่ยวกับมัลธัส [1] แต่คือสภาพการณ์ที่ทฤษฎีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของคลาสสิคบั่นทอนสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นนำ ที่สามารถได้ประโยชน์จากการ ‘ขูดรีด’ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นต่างหาก คาร์ไลล์จึงโต้ตอบด้วยการแก้ปัญหาแรงงานด้วยระบอบแห่ง ‘ภาวะจำยอม’ (servitude) ดังที่เห็น

แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-1873) นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเขียนโต้ตอบคาร์ไลล์ว่าสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติพัฒนาไม่ได้มาจากการควบคุมด้วยทรราชย์ที่เข้มแข็ง หากแต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ผู้คน ‘ลุกขึ้นสู้’ เหล่าทรราชย์ต่างหาก หรืออีกนัยหนึ่งคือมิลล์กำลังบอกว่ามันผิดที่คิดว่าคนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิในการบังคับคนอีกกลุ่มได้ เพราะสิทธิอันชอบธรรมต่างเป็นสิทธิของแรงงานทุกคนไม่ว่าจะผิวดำหรือขาว ใครจะมาบังคับใครไม่ได้ทั้งนั้น (จริงๆ ตอนที่เขียนตอบโต้มิลล์ได้ปิดบังชื่อไว้ แต่สุดท้ายก็ถูกเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้จนได้)

อย่างไรก็ตาม ความหมายของศาสตร์แห่งความหดหู่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากนิยามดั้งเดิมกลายเป็นข้อวิจารณ์ว่าเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ‘หดหู่’ เนื่องด้วยลักษณะวิชาที่เอาแต่สนใจตัวเลขทำให้ละเลยมิติทางสังคม (ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นสังคมศาสตร์) ตรงนี้เข้าใจว่าเกิดจากพัฒนาการของศาสตร์ที่มุ่งความเป็นวิชาเชิงเทคนิคมากขึ้นและเศรษฐศาสตร์ค่อยๆ แยกตัวเองออกจากประเด็นทางสังคมเหมือนที่แมคคลอสกี้ (Deidre McCloskey, 1942-) บอกว่านักเศรษฐศาสตร์เป็นพวก ‘institutional ignorance’ คือไม่แยแสปัจจัยด้านสถาบันใดๆ หนำซ้ำคำวิจารณ์ยิ่งหนาหูขึ้นในบริบทของวิกฤตการเงินโลกช่วงปี 2007-2008 ที่เศรษฐศาสตร์ดูไร้ประโยชน์เหลือเกินทั้งในการทำนายและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

ในการนี้ก็มีคนออกโรงปกป้องว่าเศรษฐศาสตร์อาจจะหดหู่จริงแต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของสาขาวิชา เคิร์ซ (Heinz D. Kurz) เสนอว่าพวกที่ดูแล้วหดหู่น่าจะเป็นกลุ่มทฤษฎีนีโอคลาสสิคและพวกที่มีความคิดในแนวเดียวกัน นั่นคือเศรษฐศาสตร์มหภาคสำนักคลาสสิคใหม่ คนกลุ่มนี้สมาทานการวิเคราะห์เศรษฐกิจบนพื้นฐานของปัจเจกชนที่มีการคาดการณ์อย่างมีเหตุผล (rational expectation) และพยายามทำให้ทฤษฎีมหภาคมีฐานของจุลภาค (micro-foundation) ซึ่งดูไปแล้วก็เหมือนจะเข้าท่าแต่จริงๆ แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น

พวกเขาเชื่อมั่นการทำงานของตลาดทุกชนิดว่าสามารถ ‘เคลียร์’ ตัวเอง หรือเข้าดุลยภาพได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้ตลาดแรงงาน ดังนั้นตลาดแรงงานจึงมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มที่ (ตามทฤษฎีคือจุดเดียวกับดุลยภาพของการลงทุนมวลรวมเท่ากับอัตราการออม) สำหรับผมมองว่าข้อเสนอเรื่องการจ้างงานเต็มที่นี้ไร้สาระ เพราะตลาดไม่ได้เคลียร์ตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลา แต่น่าจะเคลียร์ในเงื่อนไขที่ความสามารถในการผลิตเพื่อขายของหน่วยธุรกิจต้องได้สัดส่วนกับการจ้างงานในระบบ (ให้เกิดการจ้างงานเต็มที่) จึงเกิดอุปสงค์มีผล (effective demand) ที่สามารถเคลียร์ตลาดได้ 

ที่สำคัญกว่านั้น การมีสิทธิและเสรีภาพในการจ้างงานหรือเลือกที่จะทำงานย่อมเป็นคนละเรื่องกับการที่เศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มที่เสมอ นอกจากนี้กลุ่มคลาสสิคเองก็ไม่เคยกำหนด (formulate) ทฤษฎีที่ว่าตลาดแรงงานต้องทำงานภายใต้กฎของราคาแบบดื้อๆ เช่นนี้ จนกระทั่งในยุคของนีโอคลาสสิคนั่นเองที่ดูดกลืนตลาดแรงงานให้เป็นเรื่องของการทำงานภายใต้ ‘ราคาที่ยืดหยุ่น’ (flexible price) อย่างอัตโนมัติ

มุมมองนี้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะส่งเสริมมุมมองว่าตลาดเสรีเป็นสิ่งที่ ‘ดี’ โดยนิจสิน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะตลาดเสรีด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ดีหรือไม่ดีโดยธรรมชาติ หากแต่รูปแบบของ ‘ศีลธรรม’ ที่กำกับมันต่างหากที่จะเป็นตัวบอกว่าตลาดดีหรือไม่ดี เช่นศีลธรรมแบบ ‘ภาวะจำยอม’ ของคาร์ไลล์ ที่ส่งเสริมตลาดค้าทาสก็ไม่น่าใช่สิ่งที่ดี (แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ มนุษย์เราก็ค้าทาสกันเป็นเรื่องปกติ)

เมื่อสภาพตลาดแรงงานมีแนวโน้มไปสู่การจ้างงานเต็มที่และตลาดก็ทำงานอย่างเสรีอยู่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์จึงสนใจเป้าหมายเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของราคา (เงินเฟ้อ) กลายเป็นว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีกินดี (well-being) อื่นๆ เช่น การกระจายรายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ สวัสดิการแรงงาน ฯลฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์น้อยมาก

มาถึงตรงนี้คงพอสรุปได้ว่า ในตอนแรกเศรษฐศาสตร์ถูกวิพากษ์จากฝ่ายต้านว่า ‘หดหู่’ เพราะข้อเสนอเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ขัดกับอุดมการณ์ที่มองมนุษย์ไม่เท่ากัน แต่ในภายหลังกลายเป็นว่าทฤษฎีตลาดเสรีที่พัฒนาขึ้นมากลับโดนวิจารณ์ว่า ‘หดหู่’ เสียเอง เพราะยึดติดกับสมมติฐานที่ไม่สมจริงแถมยังอาจจะส่งเสริมให้เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่ใส่ใจสังคมอย่างที่ควรเป็นไปเสียอีก

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้ก็ทำให้รู้ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ‘ศาสตร์แห่งความหดหู่’ เคยเป็นพลังหนึ่งที่วิจารณ์และช่วยปลดปล่อย (emancipate) ผู้คนจากความหลงผิดเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน และในปัจจุบันผมคิดว่า ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนที่ไม่แยแสปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เพราะวงการเศรษฐศาสตร์ก็มีความสนใจปัญหาทางสังคมอื่นๆ มากขึ้น แต่ในส่วนวิธีคิดยังตกอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ ‘หดหู่’ อยู่หรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ


[1] โรเบิร์ต ดิกซอน เป็นอีกคนที่อ่านคาร์ไลล์อย่างละเอียดและไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง dismal science ของคาร์ไลล์กับระบบของมัลธัสเลยโปรดู Dixon, Robert (1999). The Origin of the Term “Dismal Science” to Describe Economics. Department of Economics – Working Papers Series 715. The University of Melbourne. 

นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายคนก็มีความเข้าใจตรงกันว่าต้นตอไม่ได้มาจากโรเบิร์ตมัลธัส โปรดดู Skousen, Mark (2001). The Making of Modern Economics. M.E.Sharp และ Brue, Stanley L. and Grant, Randy R. (2013). South-Western.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save