fbpx

ศาสตร์แห่งความหดหู่ : จากมัลธัส มิลล์ ถึงเศรษฐศาสตร์มหภาค

หลายคนคงเคยได้ยินว่าเศรษฐศาสตร์ถูกป้ายฉายาให้เป็น ‘ศาสตร์แห่งความหดหู่’ (dismal science) 

นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่พูดถึงคำนี้บ่อยๆ คือ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ จากซีรีส์หนังสือ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” โดยบอกว่าเศรษฐศาสตร์ ‘หดหู่’ เพราะมองว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมี ‘ต้นทุน’ หรือ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นนักเศรษฐศาสตร์หมกมุ่นอยู่กับการประมาณ ‘มูลค่าที่เป็นตัวเงิน’ ของกิจกรรม โครงการ หรือนโยบายต่างๆ โดยอาจหลงลืมมิติทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไป 

อีกความหมายหนึ่งที่พบคือในชั้นเรียนวิชาจำพวก ‘ประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์’ ที่มักสอนนักเรียนว่า เศรษฐศาสตร์ ‘หดหู่’ เนื่องมาจากความคิดของกลุ่มเศรษฐศาสตร์คลาสสิคที่มองโลกใน ‘แง่ร้าย’ โดยเฉพาะแนวคิดของ โรเบิร์ต มัลธัส (Robert Malthus, 1766-1834) ที่เสนอว่าอย่างไรเสียมนุษยชาติต้องเจอวิกฤตแน่ๆ เพราะจำนวนประชากรมีแนวโน้มเติบโตเร็วกว่าจำนวนอาหารที่ผลิตได้ สุดท้ายมนุษย์ต้องเผชิญกับความอดอยากและยากไร้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เอาเข้าจริงแล้วทั้งสองความหมายที่แม้จะเป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ก็ยังไม่ใช่ต้นตอที่แท้จริงนะครับ 

การใช้คำว่า dismal science มีต้นตอมาจากข้อเขียนของโธมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle, 1795-1881) นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตต์ ซึ่งปรากฏในบทความ “Occasional Discourse on the Negro Question” (1849) หรืออาจแปลไทยว่า “ปาฐกถาเฉพาะกาลเรื่องกระทู้นิโกร” ข้อเขียนนี้เกิดขึ้นในบริบทที่แรงงานทาสคนดำใน West Indies ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ผลที่ตามมาคือการขาดแรงงานเพื่อทำการผลิต แม้ว่าเหล่าเจ้าของไร่คนขาวจะเสนอค่าจ้างให้ก็ตาม แต่ดูเหมือนเหล่าอดีตทาสคนดำก็ไม่อยากทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่

คาร์ไลล์มองว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากความ ‘เกียจคร้าน’ ของเหล่าอดีตทาสคนดำ เขาแสดงความเห็นว่าถ้าหากไม่ยอมทำงานโดยสมัครใจเห็นทีก็ต้อง ‘บังคับ’ กันแล้วล่ะ ซึ่งคาร์ไลล์มองว่าการบังคับในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แถมยังถูกทำนองคลองธรรมเสียด้วย เพราะเขาเชื่อว่าคนขาวเกิดมาฉลาดและเหนือกว่าคนดำอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องปกติที่ทาสคนดำต้องถูกบังคับและรับคำสั่งจากกลุ่มชนชั้น ‘เจ้านาย’ ที่เหนือกว่าตนเอง (น้ำเสียงและการใช้คำเช่น ‘คนดำ’ หรือ ‘นิโกร’ ในข้อเขียนนี้ถือว่า ‘เหยียดเชื้อชาติ’ (racist) ตามมาตรฐานของสมัยนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า ณ เวลานั้นผู้คนใช้คำพวกนี้กันตามปกติ ซึ่งบทความนี้ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริงและไม่ได้มีเจตนาเหยียดเชื้อชาติ)

แต่สิ่งที่ขัดขวางอุดมการณ์ของคาร์ไลล์อย่างสำคัญคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น กลุ่มคลาสสิคส่งเสริมความเชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพตามธรรมชาติ ดังนั้นไม่ว่าจะเพศ ชนชั้น หรือเชื้อชาติใด ย่อมมีสิทธิในการซื้อขายและเลือกที่จะทำหรือไม่ทำงานใดๆ ได้ตามอิสระ คาร์ไลล์ต่อต้านแนวคิดนี้อย่างมาก เขามองว่าการปล่อยให้กิจการใดๆ เป็นไปตามกลไกของตลาดถือว่า ‘ไร้ความรับผิดชอบ’ อย่างยิ่ง

คาร์ไลล์ได้เขียนโต้ตอบเหล่าผู้ที่สมาทานแนวทางตลาดเสรีว่า “หลักการอุปสงค์ – อุปทานได้ลดหน้าที่ของผู้ปกครองไปสู่การปล่อยให้ผู้คนเดียวดาย….[ซึ่งทั้ง]….อนาถและน่าวิตกแท้ เป็นสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่า…ศาสตร์แห่งความหดหู่

ถ้าหากตีความแล้ว คาร์ไลล์วิจารณ์เศรษฐศาสตร์สองข้อด้วยกันคือ (1) การยอมรับหลักสากลของอุปสงค์ – อุปทานที่ปล่อยให้ตลาดเป็นไปตามธรรมชาติแปลว่าไม่เอาใจใส่ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และ (2) หลักการอุปสงค์ – อุปทานไม่สามารถนำไปประยุกต์กับความสัมพันธ์ นายทาส – ทาส ระหว่างคนขาวและคนดำที่ต่างมีหน้าที่ร่วมกัน (mutual duties) อยู่แล้ว (คือฝั่งหนึ่งเกิดมาเป็นนาย ส่วนอีกฝั่งเกิดมาเป็นข้ารับใช้) ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการบังคับต่างหาก

ฉะนั้นความ ‘หดหู่’ ของเศรษฐศาสตร์ในทัศนะของคาร์ไลล์ไม่ได้เกี่ยวกับมัลธัส [1] แต่คือสภาพการณ์ที่ทฤษฎีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของคลาสสิคบั่นทอนสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นนำ ที่สามารถได้ประโยชน์จากการ ‘ขูดรีด’ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นต่างหาก คาร์ไลล์จึงโต้ตอบด้วยการแก้ปัญหาแรงงานด้วยระบอบแห่ง ‘ภาวะจำยอม’ (servitude) ดังที่เห็น

แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-1873) นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเขียนโต้ตอบคาร์ไลล์ว่าสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติพัฒนาไม่ได้มาจากการควบคุมด้วยทรราชย์ที่เข้มแข็ง หากแต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ผู้คน ‘ลุกขึ้นสู้’ เหล่าทรราชย์ต่างหาก หรืออีกนัยหนึ่งคือมิลล์กำลังบอกว่ามันผิดที่คิดว่าคนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิในการบังคับคนอีกกลุ่มได้ เพราะสิทธิอันชอบธรรมต่างเป็นสิทธิของแรงงานทุกคนไม่ว่าจะผิวดำหรือขาว ใครจะมาบังคับใครไม่ได้ทั้งนั้น (จริงๆ ตอนที่เขียนตอบโต้มิลล์ได้ปิดบังชื่อไว้ แต่สุดท้ายก็ถูกเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้จนได้)

อย่างไรก็ตาม ความหมายของศาสตร์แห่งความหดหู่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากนิยามดั้งเดิมกลายเป็นข้อวิจารณ์ว่าเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ‘หดหู่’ เนื่องด้วยลักษณะวิชาที่เอาแต่สนใจตัวเลขทำให้ละเลยมิติทางสังคม (ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นสังคมศาสตร์) ตรงนี้เข้าใจว่าเกิดจากพัฒนาการของศาสตร์ที่มุ่งความเป็นวิชาเชิงเทคนิคมากขึ้นและเศรษฐศาสตร์ค่อยๆ แยกตัวเองออกจากประเด็นทางสังคมเหมือนที่แมคคลอสกี้ (Deidre McCloskey, 1942-) บอกว่านักเศรษฐศาสตร์เป็นพวก ‘institutional ignorance’ คือไม่แยแสปัจจัยด้านสถาบันใดๆ หนำซ้ำคำวิจารณ์ยิ่งหนาหูขึ้นในบริบทของวิกฤตการเงินโลกช่วงปี 2007-2008 ที่เศรษฐศาสตร์ดูไร้ประโยชน์เหลือเกินทั้งในการทำนายและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

ในการนี้ก็มีคนออกโรงปกป้องว่าเศรษฐศาสตร์อาจจะหดหู่จริงแต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของสาขาวิชา เคิร์ซ (Heinz D. Kurz) เสนอว่าพวกที่ดูแล้วหดหู่น่าจะเป็นกลุ่มทฤษฎีนีโอคลาสสิคและพวกที่มีความคิดในแนวเดียวกัน นั่นคือเศรษฐศาสตร์มหภาคสำนักคลาสสิคใหม่ คนกลุ่มนี้สมาทานการวิเคราะห์เศรษฐกิจบนพื้นฐานของปัจเจกชนที่มีการคาดการณ์อย่างมีเหตุผล (rational expectation) และพยายามทำให้ทฤษฎีมหภาคมีฐานของจุลภาค (micro-foundation) ซึ่งดูไปแล้วก็เหมือนจะเข้าท่าแต่จริงๆ แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น

พวกเขาเชื่อมั่นการทำงานของตลาดทุกชนิดว่าสามารถ ‘เคลียร์’ ตัวเอง หรือเข้าดุลยภาพได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้ตลาดแรงงาน ดังนั้นตลาดแรงงานจึงมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มที่ (ตามทฤษฎีคือจุดเดียวกับดุลยภาพของการลงทุนมวลรวมเท่ากับอัตราการออม) สำหรับผมมองว่าข้อเสนอเรื่องการจ้างงานเต็มที่นี้ไร้สาระ เพราะตลาดไม่ได้เคลียร์ตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลา แต่น่าจะเคลียร์ในเงื่อนไขที่ความสามารถในการผลิตเพื่อขายของหน่วยธุรกิจต้องได้สัดส่วนกับการจ้างงานในระบบ (ให้เกิดการจ้างงานเต็มที่) จึงเกิดอุปสงค์มีผล (effective demand) ที่สามารถเคลียร์ตลาดได้ 

ที่สำคัญกว่านั้น การมีสิทธิและเสรีภาพในการจ้างงานหรือเลือกที่จะทำงานย่อมเป็นคนละเรื่องกับการที่เศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มที่เสมอ นอกจากนี้กลุ่มคลาสสิคเองก็ไม่เคยกำหนด (formulate) ทฤษฎีที่ว่าตลาดแรงงานต้องทำงานภายใต้กฎของราคาแบบดื้อๆ เช่นนี้ จนกระทั่งในยุคของนีโอคลาสสิคนั่นเองที่ดูดกลืนตลาดแรงงานให้เป็นเรื่องของการทำงานภายใต้ ‘ราคาที่ยืดหยุ่น’ (flexible price) อย่างอัตโนมัติ

มุมมองนี้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะส่งเสริมมุมมองว่าตลาดเสรีเป็นสิ่งที่ ‘ดี’ โดยนิจสิน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะตลาดเสรีด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ดีหรือไม่ดีโดยธรรมชาติ หากแต่รูปแบบของ ‘ศีลธรรม’ ที่กำกับมันต่างหากที่จะเป็นตัวบอกว่าตลาดดีหรือไม่ดี เช่นศีลธรรมแบบ ‘ภาวะจำยอม’ ของคาร์ไลล์ ที่ส่งเสริมตลาดค้าทาสก็ไม่น่าใช่สิ่งที่ดี (แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ มนุษย์เราก็ค้าทาสกันเป็นเรื่องปกติ)

เมื่อสภาพตลาดแรงงานมีแนวโน้มไปสู่การจ้างงานเต็มที่และตลาดก็ทำงานอย่างเสรีอยู่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์จึงสนใจเป้าหมายเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของราคา (เงินเฟ้อ) กลายเป็นว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีกินดี (well-being) อื่นๆ เช่น การกระจายรายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ สวัสดิการแรงงาน ฯลฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์น้อยมาก

มาถึงตรงนี้คงพอสรุปได้ว่า ในตอนแรกเศรษฐศาสตร์ถูกวิพากษ์จากฝ่ายต้านว่า ‘หดหู่’ เพราะข้อเสนอเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ขัดกับอุดมการณ์ที่มองมนุษย์ไม่เท่ากัน แต่ในภายหลังกลายเป็นว่าทฤษฎีตลาดเสรีที่พัฒนาขึ้นมากลับโดนวิจารณ์ว่า ‘หดหู่’ เสียเอง เพราะยึดติดกับสมมติฐานที่ไม่สมจริงแถมยังอาจจะส่งเสริมให้เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่ใส่ใจสังคมอย่างที่ควรเป็นไปเสียอีก

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้ก็ทำให้รู้ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ‘ศาสตร์แห่งความหดหู่’ เคยเป็นพลังหนึ่งที่วิจารณ์และช่วยปลดปล่อย (emancipate) ผู้คนจากความหลงผิดเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน และในปัจจุบันผมคิดว่า ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนที่ไม่แยแสปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เพราะวงการเศรษฐศาสตร์ก็มีความสนใจปัญหาทางสังคมอื่นๆ มากขึ้น แต่ในส่วนวิธีคิดยังตกอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ ‘หดหู่’ อยู่หรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ


[1] โรเบิร์ต ดิกซอน เป็นอีกคนที่อ่านคาร์ไลล์อย่างละเอียดและไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง dismal science ของคาร์ไลล์กับระบบของมัลธัสเลยโปรดู Dixon, Robert (1999). The Origin of the Term “Dismal Science” to Describe Economics. Department of Economics – Working Papers Series 715. The University of Melbourne. 

นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายคนก็มีความเข้าใจตรงกันว่าต้นตอไม่ได้มาจากโรเบิร์ตมัลธัส โปรดดู Skousen, Mark (2001). The Making of Modern Economics. M.E.Sharp และ Brue, Stanley L. and Grant, Randy R. (2013). South-Western.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save