fbpx
ไทยเจริญ ใครเจริญ? : สำรวจความเหลื่อมล้ำไทย ผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ

ไทยเจริญ ใครเจริญ? : สำรวจความเหลื่อมล้ำไทย ผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ

สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์ เรื่อง

 

ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง การเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำมีวิธีศึกษาที่หลากหลาย วิธีที่เป็นที่นิยมก็คือ การใช้ค่าสัมประสิทธิ์ GINI ในการวัดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการใช้สัมประสิทธิ์ GINI แม้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงสภาพปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้’ ได้ค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะอธิบายสภาพของความเหลื่อมล้ำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และอาจทำให้เราละเลยการเข้าใจความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จะพาไปสำรวจความเหลื่อมล้ำในอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ[1] ผ่านแนวคิดเรื่อง ‘ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ’

งานของ A.B. Atkinson ในปี 2009 ได้กล่าวถึงการศึกษาถึงส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติไว้ว่าจะช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงของรายได้ในเชิงมหภาค (รายได้ประชาชาติ) กับรายได้ในระดับจุลภาค (รายได้ครัวเรือน) ซึ่งการเติบโตของรายได้ในเชิงมหภาคนั้น เราคุ้นเคยกันดีในชื่อของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การศึกษารายได้ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติจะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจของหลายคนได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของประเทศเรานั้น ผลประโยชน์ได้ตกไปอยู่กับใครบ้าง? เท่าไหร่? และอย่างไร? 

การศึกษาความเหลื่อมล้ำผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติจะเน้นไปที่ส่วนแบ่งระหว่าง ‘แรงงาน’ กับ ‘ทุน’[2] ซึ่งช่วยให้เห็นภาพรวมที่เกี่ยวข้องกันระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับพลวัตความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาทิศทางการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งข้างต้น 


ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติคืออะไร? 


แนวคิดในการศึกษาถึงส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเป็นแนวคิดที่มีการศึกษามาตั้งแต่อดีต[3] เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ศึกษากิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างการผลิต เพื่อให้รับรู้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิตนั้นไปตกอยู่กับใครในกระบวนการการผลิตเท่าไหร่บ้าง

ในการศึกษาส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติมักจะแบ่งรายได้ประชาชาติออกเป็น 2 ส่วน[4] ได้แก่: (1) ส่วนแบ่งรายได้ของทุน (Capital Share) คือส่วนของรายได้ประชาชาติที่ถูกจัดสรรไปให้กับเจ้าของปัจจัยทุน (หรือเรียกอีกอย่างได้ว่านายทุน) ในรูปแบบของค่าเช่าและกำไรจากการดำเนินงาน และ (2) ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน (Labour Share) คือ ส่วนของรายได้ประชาชาติที่ถูกจัดสรรให้แรงงานในฐานะค่าตอบแทน[5]

ตามปกติแล้ว ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานในรายได้ประชาชาติจะมากกว่าส่วนแบ่งรายได้ของทุน เนื่องจากแรงงานในความหมายนี้หมายถึงคนที่ทำงานทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ซึ่งค่าแรงของแรงงานในที่นี้ย่อมรวมถึงค่าจ้างของ ซีอีโอ ผู้บริหาร เจ้าสัว หรือเจ้าของกิจการทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก (ค่าจ้างของเจ้าของกิจการเองนั้นไม่ได้นับเป็นส่วนแบ่งรายได้ของทุน เนื่องจากไม่ใช่รายได้ที่มาจากปัจจัยทุน แต่เป็นรายได้ในฐานะค่าตอบแทนของแรงงาน)

แต่กระนั้น ทั้งสองส่วนแบ่งต่างก็เป็นสิ่งที่สะท้อนกันและกัน หากนายทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยทุนได้ส่วนแบ่งจากรายได้ประชาชาติมากขึ้น แรงงานก็จะได้ส่วนแบ่งน้อยลงไป และหากส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานลดลงในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ในกรณีหลังอาจหมายความว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อต่อปัจเจกบุคคลที่เป็นแรงงานเท่ากับนายทุนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยทุน เพราะรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นกลับไปตกอยู่ในมือของนายทุนมากกว่า

ความเชื่อมโยงระหว่างส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติกับความเหลื่อมล้ำได้รับการสนับสนุนด้วยผลลัพธ์จากงานศึกษาของ Bengstton และ Waldenstorm (2018) ซึ่งได้ศึกษาถึงความเชื่อมโยงกันของส่วนแบ่งรายได้กับรายได้ส่วนบุคคล ใน 16 ประเทศ[6] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่ม OECD  และพบว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ส่วนแบ่งรายได้ของทุนมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์บน[7] นอกจากนี้ ส่วนแบ่งรายได้ของทุน ยังมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับค่าสัมประสิทธิ์ GINI ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยทุนได้รับส่วนแบ่งมากยิ่งขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์ GINI ก็จะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง


ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร?


ในกรณีของประเทศไทย น่าเสียดายที่ยังมีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นส่วนแบ่งรายได้อยู่น้อยมาก หนึ่งในนั้นคือ งานของ Jetin (2012) ที่ได้สำรวจลักษณะทิศทางของส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติตั้งแต่ปี 1960 จนถึงปี 2009 และชี้ให้เห็นว่า ลักษณะของส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานในประเทศไทยนั้นมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และในทางกลับกัน ส่วนแบ่งรายได้ของทุนกลับมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นในข่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ 2 ครั้ง คือ วิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540 และวิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ที่ส่วนแบ่งรายได้แรงงานมีทิศทางไปในทางที่เพิ่มมากขึ้น 

ภาพจาก Jetin, 2012 สัดส่วน ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของประเทศไทย


หากเรามองภาพจากประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2503 -2513 (ค.ศ. 1960-1970) ซึ่งเป็นช่วงของนโยบายการพัฒนาแบบ ‘นำเข้าทดแทนการส่งออก (Import Substitution)’ ส่วนแบ่งรายได้ของทุนยังอยู่ที่ระดับ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ แต่เมื่อมาถึงช่วงยุคทองทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2530 (ค.ศ. 1987-1995) ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจไปเป็นนโยบายสนับสนุนการส่งออก (Export Oriented) ส่วนแบ่งรายได้ของทุนเพิ่มสูงขึ้นไปถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ 

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาตลอดของไทย ผลได้ของการพัฒนาตกไปอยู่ในมือของนายทุนในสัดส่วนที่มากขึ้น ขณะที่ฝั่งแรงงานกลับได้รับน้อยลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น จากงานศึกษาประเทศในกลุ่ม OECD ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานได้ลดลงตลอดเวลาที่ผ่านมา และมีจุดที่ส่วนแบ่งกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ แค่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 คล้ายกันกับประเทศไทย

ภาพจาก ILO, OECD. (2015). ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเฉลี่ยจากประเทศในกลุ่ม G20


ส่วนแบ่งรายได้ กับ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้


งานศึกษาของ OECD และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า ส่วนแบ่งรายได้แรงงานที่ลดลงส่งผลต่อแรงงานทักษะระดับกลางและแรงงานไร้ทักษะ มากกว่าแรงงานที่มีทักษะระดับสูง ดังนั้น การที่ภาพรวมของส่วนแบ่งรายได้แรงงานลดลง (และส่วนแบ่งรายได้ของทุนเพิ่มขึ้น) ย่อมส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกันกับผลการศึกษาจากงานของ Bengstton และ Waldenstorm (2018) ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

นอกจากนี้ ในกรณีของประเทศไทย งานของ Jetin พบว่า ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนแบ่งรายได้แรงงานเคยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แต่ในช่วงหลัง วิกฤตทิศทางของส่วนแบ่งของแรงงานกลับลดน้อยถอยลงไป Jetin ให้ข้อสังเกตว่า ไทยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงยุคทองของการพัฒนา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจได้ทำให้การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยเหลือเพียงการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเท่านั้น ทำให้ระดับค่าจ้างของแรงงานทักษะสูงจะยังคงสูงอยู่ แต่สถานการณ์เดียวกันกลับไม่ได้เกิดกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยแรงงานทักษะระดับกลาง แรงงานไร้ทักษะ รวมไปถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่ใช่แรงงานส่วนที่ขาดแคลน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสภาพที่เกิดกับประเทศไทยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ OECD และ ILO รวมไปถึงที่งานของ Bengstton และ Waldenstorm ค้นพบ ซึ่งก็คือส่วนแบ่งรายได้แรงงานที่ลดลงของประเทศไทยได้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น  

ภาพจาก Jetin, 2012 สัดส่วน ส่วนแบ่งรายได้ในภาคอุตสาหกรรม


นอกจากนี้ ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานยังมีความเชื่อมโยงกับการบริโภคเอกชน เพราะแรงงานนำรายได้ของตนเองไปอุปโภคบริโภคสินค้าในตลาดสินค้า งานของ Jetin พบว่า การบริโภคของเอกชนในประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องสอดคล้องกับส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน โดยที่ผ่านมาสัดส่วนทั้งสองต่างก็มีทิศทางที่ลดลงสอดคล้องกัน ในช่วง 1960 การบริโภคของเอกชนอยู่ที่ระดับ 73 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2008 กลับเหลือเพียง 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานที่ลดลงจาก 85 เปอร์เซ็นต์ในปี 1960 เหลือเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ในปี 2008 ถึงแม้ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 (1996) ที่ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วก็ยังคงมีทิศทางที่ลดลงไม่ต่างกับการบริโภคภาคเอกชน 

ภาพจาก Jetin, 2012 สัดส่วน ส่วนแบ่งรายได้แรงงาน และ การบริโภคภาคเอกชน


ถึงแม้มุมมองที่เกี่ยวข้องกับส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติจะยังต้องการการถกเถียงและการศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งงานศึกษากรณีประเทศไทยของ Jetin ที่เรานำมาเล่าถึงก็ยังเป็นงานที่ได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2012 แต่กระนั้น งานชิ้นนี้ก็มีคุณประโยชน์ในการเปิดประเด็นพูดถึงส่วนแบ่งรายได้ทั้งสองอย่างในประเทศไทย และทำให้เราเห็นภาพรวมของทิศทางการเปลี่ยนแปลงในส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของไทยได้  

ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่ผ่านไปมากกว่า 10 ปีภายหลังจากงานชิ้นนี้ เราอาจอนุมานได้จากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลาหลายปีหลังได้ว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและส่วนแบ่งรายได้แรงงานของประเทศไทยน่าจะมีแนวโน้มที่แย่ไปกว่าที่เราสังเกตเห็นได้จากในงานของ Jetin (2012) เสียอีกด้วยซ้ำ ซึ่งเราคงต้องหวังให้มีงานศึกษาส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของไทยชิ้นใหม่ๆ ออกมาเพื่อพิสูจน์ข้อสังเกตนี้[8]


ความลงท้าย


การทราบถึงภาพรวมของทิศทางการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งระหว่างทุนกับแรงงาน อาจจะพาเราไปสู่คำตอบว่า ส่วนแบ่งจากเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องถูกส่งต่อไปยังปัจจัยแรงงานและปัจจัยทุนเท่าไร อย่างไรบ้าง รวมถึงทำให้เรามองเห็นภาพรวมความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น  

อีกทั้งการทราบถึงลักษณะต่างๆ เหล่านี้ยังช่วยทำให้เราสามารถตั้งคำถามถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของประเทศว่า ทำไมถึงส่งผลให้ทิศทางของส่วนแบ่งรายได้ตกไปอยู่กับปัจจัยทุนเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะพิจารณาต่อไปได้ถึงแนวนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตว่า จะสร้างนโยบายการพัฒนาอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงได้


ผู้เขียน: สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์  ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ้างอิง

Jetin, B. (2012). Distribution of income, labour productivity and competitiveness: is the Thai labour regime sustainable?. Cambridge Journal of Economics, 36(4), 895-917.

ILO, OECD. (2015). The labour share in G20 economies. Report prepared for the G20 Employment Working Group, Antalya, February.

Bengtsson, E., & Waldenström, D. (2018). Capital shares and income inequality: Evidence from the long run. The Journal of Economic History78(3), 712-743.

Atkinson, A. B. (2009). Factor shares: the principal problem of political economy?. Oxford Review of economic policy25(1), 3-16.


[1] ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการศึกษาเพียงแค่ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทั้งหมดอย่างครอบคลุมเช่นกัน เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมมีหลากหลายแง่มุม ตัวชี้วัด หรือวิธีการทางสถิติในการทำความเข้าใจ (อ่านเพิ่มเติม: ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21) แต่ในบทความชิ้นนี้ อยากจะนำผู้อ่านไปศึกษาแง่มุมเพิ่มเติมที่อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย

[2] ในทางเทคนิคแล้ว รายได้ประชาขาติเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี โดยจีดีพีจะนับการผลิตทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ส่วนรายได้ประชาชาติจะนับเพียงแค่ที่ใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตเท่านั้น

[3] การศึกษาเรื่องส่วนแบ่งรายได้อาจจะนับย้อนไปได้ถึงสมัยของ เดวิด ริคาร์โด แต่ความเป็นที่สนใจของแนวคิดเรื่องนี้ลดลงในระยะเวลาหลัง การแบ่งปัจจัยทุน และแรงงานในการผลิต ถูกลดรูปให้มาอยู่ในฟังก์ชั่นแบบง่ายๆ ในสมการที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์จำนวนมากรู้จักกันดี อย่าง Cobb-Douglas Function อ้างอิงจาก Atkinson (2009)

[4] ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานโดยทั่วไปจะนับโดยใช้ compensation of employee ในบัญชีประชาชาติเป็นตัวตั้ง โดยจะมีส่วนของรายได้ผสม (Mixed income) เข้าไปรวมด้วยในการคำนวณ เช่นเดียวกันกับในส่วนแบ่งรายได้ของทุน

[5] แรงงานหลายๆคนก็เป็นนายทุนด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น พวกที่เป็นเจ้าของกิจการเอง ซึ่งรายได้จะถูกจัดสรรไปอยู่ในฐานะของรายได้ผสม (Mixed Income) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างทั้งสองนั้นอาจจะไม่สามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนมากนัก ซึ่งมีวิธีการทางเทคนิคหลายประการในการนำมาแบ่งให้เป็น Labour Share และ Capital Share ซึ่งจะขอละไว้ในที่นี้ 

[6] ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เดนมาร์ค, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา 

[7] ยกเว้นในอาร์เจนตินา ที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับประเทศอื่นๆ

[8] จากการคำนวณของผู้เขียนเองพบว่า ในช่วงปี 1990 – 2019 ทิศทางของส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง หากดูแนวโน้มตลอดที่ผ่านมา 

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save