fbpx
ไทยเจริญ ใครเจริญ? : สำรวจความเหลื่อมล้ำไทย ผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ

ไทยเจริญ ใครเจริญ? : สำรวจความเหลื่อมล้ำไทย ผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ

สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์ เรื่อง

 

ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง การเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำมีวิธีศึกษาที่หลากหลาย วิธีที่เป็นที่นิยมก็คือ การใช้ค่าสัมประสิทธิ์ GINI ในการวัดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการใช้สัมประสิทธิ์ GINI แม้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงสภาพปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้’ ได้ค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะอธิบายสภาพของความเหลื่อมล้ำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และอาจทำให้เราละเลยการเข้าใจความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จะพาไปสำรวจความเหลื่อมล้ำในอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ[1] ผ่านแนวคิดเรื่อง ‘ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ’

งานของ A.B. Atkinson ในปี 2009 ได้กล่าวถึงการศึกษาถึงส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติไว้ว่าจะช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงของรายได้ในเชิงมหภาค (รายได้ประชาชาติ) กับรายได้ในระดับจุลภาค (รายได้ครัวเรือน) ซึ่งการเติบโตของรายได้ในเชิงมหภาคนั้น เราคุ้นเคยกันดีในชื่อของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การศึกษารายได้ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติจะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจของหลายคนได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของประเทศเรานั้น ผลประโยชน์ได้ตกไปอยู่กับใครบ้าง? เท่าไหร่? และอย่างไร? 

การศึกษาความเหลื่อมล้ำผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติจะเน้นไปที่ส่วนแบ่งระหว่าง ‘แรงงาน’ กับ ‘ทุน’[2] ซึ่งช่วยให้เห็นภาพรวมที่เกี่ยวข้องกันระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับพลวัตความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาทิศทางการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งข้างต้น 


ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติคืออะไร? 


แนวคิดในการศึกษาถึงส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเป็นแนวคิดที่มีการศึกษามาตั้งแต่อดีต[3] เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ศึกษากิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างการผลิต เพื่อให้รับรู้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิตนั้นไปตกอยู่กับใครในกระบวนการการผลิตเท่าไหร่บ้าง

ในการศึกษาส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติมักจะแบ่งรายได้ประชาชาติออกเป็น 2 ส่วน[4] ได้แก่: (1) ส่วนแบ่งรายได้ของทุน (Capital Share) คือส่วนของรายได้ประชาชาติที่ถูกจัดสรรไปให้กับเจ้าของปัจจัยทุน (หรือเรียกอีกอย่างได้ว่านายทุน) ในรูปแบบของค่าเช่าและกำไรจากการดำเนินงาน และ (2) ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน (Labour Share) คือ ส่วนของรายได้ประชาชาติที่ถูกจัดสรรให้แรงงานในฐานะค่าตอบแทน[5]

ตามปกติแล้ว ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานในรายได้ประชาชาติจะมากกว่าส่วนแบ่งรายได้ของทุน เนื่องจากแรงงานในความหมายนี้หมายถึงคนที่ทำงานทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ซึ่งค่าแรงของแรงงานในที่นี้ย่อมรวมถึงค่าจ้างของ ซีอีโอ ผู้บริหาร เจ้าสัว หรือเจ้าของกิจการทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก (ค่าจ้างของเจ้าของกิจการเองนั้นไม่ได้นับเป็นส่วนแบ่งรายได้ของทุน เนื่องจากไม่ใช่รายได้ที่มาจากปัจจัยทุน แต่เป็นรายได้ในฐานะค่าตอบแทนของแรงงาน)

แต่กระนั้น ทั้งสองส่วนแบ่งต่างก็เป็นสิ่งที่สะท้อนกันและกัน หากนายทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยทุนได้ส่วนแบ่งจากรายได้ประชาชาติมากขึ้น แรงงานก็จะได้ส่วนแบ่งน้อยลงไป และหากส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานลดลงในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ในกรณีหลังอาจหมายความว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อต่อปัจเจกบุคคลที่เป็นแรงงานเท่ากับนายทุนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยทุน เพราะรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นกลับไปตกอยู่ในมือของนายทุนมากกว่า

ความเชื่อมโยงระหว่างส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติกับความเหลื่อมล้ำได้รับการสนับสนุนด้วยผลลัพธ์จากงานศึกษาของ Bengstton และ Waldenstorm (2018) ซึ่งได้ศึกษาถึงความเชื่อมโยงกันของส่วนแบ่งรายได้กับรายได้ส่วนบุคคล ใน 16 ประเทศ[6] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่ม OECD  และพบว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ส่วนแบ่งรายได้ของทุนมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์บน[7] นอกจากนี้ ส่วนแบ่งรายได้ของทุน ยังมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับค่าสัมประสิทธิ์ GINI ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยทุนได้รับส่วนแบ่งมากยิ่งขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์ GINI ก็จะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง


ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร?


ในกรณีของประเทศไทย น่าเสียดายที่ยังมีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นส่วนแบ่งรายได้อยู่น้อยมาก หนึ่งในนั้นคือ งานของ Jetin (2012) ที่ได้สำรวจลักษณะทิศทางของส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติตั้งแต่ปี 1960 จนถึงปี 2009 และชี้ให้เห็นว่า ลักษณะของส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานในประเทศไทยนั้นมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และในทางกลับกัน ส่วนแบ่งรายได้ของทุนกลับมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นในข่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ 2 ครั้ง คือ วิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540 และวิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ที่ส่วนแบ่งรายได้แรงงานมีทิศทางไปในทางที่เพิ่มมากขึ้น 

ภาพจาก Jetin, 2012 สัดส่วน ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของประเทศไทย


หากเรามองภาพจากประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2503 -2513 (ค.ศ. 1960-1970) ซึ่งเป็นช่วงของนโยบายการพัฒนาแบบ ‘นำเข้าทดแทนการส่งออก (Import Substitution)’ ส่วนแบ่งรายได้ของทุนยังอยู่ที่ระดับ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ แต่เมื่อมาถึงช่วงยุคทองทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2530 (ค.ศ. 1987-1995) ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจไปเป็นนโยบายสนับสนุนการส่งออก (Export Oriented) ส่วนแบ่งรายได้ของทุนเพิ่มสูงขึ้นไปถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ 

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาตลอดของไทย ผลได้ของการพัฒนาตกไปอยู่ในมือของนายทุนในสัดส่วนที่มากขึ้น ขณะที่ฝั่งแรงงานกลับได้รับน้อยลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น จากงานศึกษาประเทศในกลุ่ม OECD ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานได้ลดลงตลอดเวลาที่ผ่านมา และมีจุดที่ส่วนแบ่งกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ แค่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 คล้ายกันกับประเทศไทย

ภาพจาก ILO, OECD. (2015). ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเฉลี่ยจากประเทศในกลุ่ม G20


ส่วนแบ่งรายได้ กับ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้


งานศึกษาของ OECD และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า ส่วนแบ่งรายได้แรงงานที่ลดลงส่งผลต่อแรงงานทักษะระดับกลางและแรงงานไร้ทักษะ มากกว่าแรงงานที่มีทักษะระดับสูง ดังนั้น การที่ภาพรวมของส่วนแบ่งรายได้แรงงานลดลง (และส่วนแบ่งรายได้ของทุนเพิ่มขึ้น) ย่อมส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกันกับผลการศึกษาจากงานของ Bengstton และ Waldenstorm (2018) ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

นอกจากนี้ ในกรณีของประเทศไทย งานของ Jetin พบว่า ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนแบ่งรายได้แรงงานเคยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แต่ในช่วงหลัง วิกฤตทิศทางของส่วนแบ่งของแรงงานกลับลดน้อยถอยลงไป Jetin ให้ข้อสังเกตว่า ไทยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงยุคทองของการพัฒนา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจได้ทำให้การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยเหลือเพียงการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเท่านั้น ทำให้ระดับค่าจ้างของแรงงานทักษะสูงจะยังคงสูงอยู่ แต่สถานการณ์เดียวกันกลับไม่ได้เกิดกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยแรงงานทักษะระดับกลาง แรงงานไร้ทักษะ รวมไปถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่ใช่แรงงานส่วนที่ขาดแคลน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสภาพที่เกิดกับประเทศไทยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ OECD และ ILO รวมไปถึงที่งานของ Bengstton และ Waldenstorm ค้นพบ ซึ่งก็คือส่วนแบ่งรายได้แรงงานที่ลดลงของประเทศไทยได้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น  

ภาพจาก Jetin, 2012 สัดส่วน ส่วนแบ่งรายได้ในภาคอุตสาหกรรม


นอกจากนี้ ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานยังมีความเชื่อมโยงกับการบริโภคเอกชน เพราะแรงงานนำรายได้ของตนเองไปอุปโภคบริโภคสินค้าในตลาดสินค้า งานของ Jetin พบว่า การบริโภคของเอกชนในประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องสอดคล้องกับส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน โดยที่ผ่านมาสัดส่วนทั้งสองต่างก็มีทิศทางที่ลดลงสอดคล้องกัน ในช่วง 1960 การบริโภคของเอกชนอยู่ที่ระดับ 73 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2008 กลับเหลือเพียง 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานที่ลดลงจาก 85 เปอร์เซ็นต์ในปี 1960 เหลือเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ในปี 2008 ถึงแม้ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 (1996) ที่ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วก็ยังคงมีทิศทางที่ลดลงไม่ต่างกับการบริโภคภาคเอกชน 

ภาพจาก Jetin, 2012 สัดส่วน ส่วนแบ่งรายได้แรงงาน และ การบริโภคภาคเอกชน


ถึงแม้มุมมองที่เกี่ยวข้องกับส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติจะยังต้องการการถกเถียงและการศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งงานศึกษากรณีประเทศไทยของ Jetin ที่เรานำมาเล่าถึงก็ยังเป็นงานที่ได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2012 แต่กระนั้น งานชิ้นนี้ก็มีคุณประโยชน์ในการเปิดประเด็นพูดถึงส่วนแบ่งรายได้ทั้งสองอย่างในประเทศไทย และทำให้เราเห็นภาพรวมของทิศทางการเปลี่ยนแปลงในส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของไทยได้  

ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่ผ่านไปมากกว่า 10 ปีภายหลังจากงานชิ้นนี้ เราอาจอนุมานได้จากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลาหลายปีหลังได้ว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและส่วนแบ่งรายได้แรงงานของประเทศไทยน่าจะมีแนวโน้มที่แย่ไปกว่าที่เราสังเกตเห็นได้จากในงานของ Jetin (2012) เสียอีกด้วยซ้ำ ซึ่งเราคงต้องหวังให้มีงานศึกษาส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของไทยชิ้นใหม่ๆ ออกมาเพื่อพิสูจน์ข้อสังเกตนี้[8]


ความลงท้าย


การทราบถึงภาพรวมของทิศทางการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งระหว่างทุนกับแรงงาน อาจจะพาเราไปสู่คำตอบว่า ส่วนแบ่งจากเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องถูกส่งต่อไปยังปัจจัยแรงงานและปัจจัยทุนเท่าไร อย่างไรบ้าง รวมถึงทำให้เรามองเห็นภาพรวมความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น  

อีกทั้งการทราบถึงลักษณะต่างๆ เหล่านี้ยังช่วยทำให้เราสามารถตั้งคำถามถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของประเทศว่า ทำไมถึงส่งผลให้ทิศทางของส่วนแบ่งรายได้ตกไปอยู่กับปัจจัยทุนเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะพิจารณาต่อไปได้ถึงแนวนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตว่า จะสร้างนโยบายการพัฒนาอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงได้


ผู้เขียน: สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์  ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ้างอิง

Jetin, B. (2012). Distribution of income, labour productivity and competitiveness: is the Thai labour regime sustainable?. Cambridge Journal of Economics, 36(4), 895-917.

ILO, OECD. (2015). The labour share in G20 economies. Report prepared for the G20 Employment Working Group, Antalya, February.

Bengtsson, E., & Waldenström, D. (2018). Capital shares and income inequality: Evidence from the long run. The Journal of Economic History78(3), 712-743.

Atkinson, A. B. (2009). Factor shares: the principal problem of political economy?. Oxford Review of economic policy25(1), 3-16.


[1] ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการศึกษาเพียงแค่ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทั้งหมดอย่างครอบคลุมเช่นกัน เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมมีหลากหลายแง่มุม ตัวชี้วัด หรือวิธีการทางสถิติในการทำความเข้าใจ (อ่านเพิ่มเติม: ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21) แต่ในบทความชิ้นนี้ อยากจะนำผู้อ่านไปศึกษาแง่มุมเพิ่มเติมที่อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย

[2] ในทางเทคนิคแล้ว รายได้ประชาขาติเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี โดยจีดีพีจะนับการผลิตทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ส่วนรายได้ประชาชาติจะนับเพียงแค่ที่ใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตเท่านั้น

[3] การศึกษาเรื่องส่วนแบ่งรายได้อาจจะนับย้อนไปได้ถึงสมัยของ เดวิด ริคาร์โด แต่ความเป็นที่สนใจของแนวคิดเรื่องนี้ลดลงในระยะเวลาหลัง การแบ่งปัจจัยทุน และแรงงานในการผลิต ถูกลดรูปให้มาอยู่ในฟังก์ชั่นแบบง่ายๆ ในสมการที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์จำนวนมากรู้จักกันดี อย่าง Cobb-Douglas Function อ้างอิงจาก Atkinson (2009)

[4] ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานโดยทั่วไปจะนับโดยใช้ compensation of employee ในบัญชีประชาชาติเป็นตัวตั้ง โดยจะมีส่วนของรายได้ผสม (Mixed income) เข้าไปรวมด้วยในการคำนวณ เช่นเดียวกันกับในส่วนแบ่งรายได้ของทุน

[5] แรงงานหลายๆคนก็เป็นนายทุนด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น พวกที่เป็นเจ้าของกิจการเอง ซึ่งรายได้จะถูกจัดสรรไปอยู่ในฐานะของรายได้ผสม (Mixed Income) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างทั้งสองนั้นอาจจะไม่สามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนมากนัก ซึ่งมีวิธีการทางเทคนิคหลายประการในการนำมาแบ่งให้เป็น Labour Share และ Capital Share ซึ่งจะขอละไว้ในที่นี้ 

[6] ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เดนมาร์ค, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา 

[7] ยกเว้นในอาร์เจนตินา ที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับประเทศอื่นๆ

[8] จากการคำนวณของผู้เขียนเองพบว่า ในช่วงปี 1990 – 2019 ทิศทางของส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง หากดูแนวโน้มตลอดที่ผ่านมา 

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save