fbpx
รวยต่อไม่รอแล้วนะ! : คุยกับ ธร ปีติดล ในวันที่พิษจากโควิดผลักช่องว่างระหว่างเรากับเขาให้กว้างขึ้น

รวยต่อไม่รอแล้วนะ! : คุยกับ ธร ปีติดล ในวันที่พิษจากโควิดผลักช่องว่างระหว่างเรากับเขาให้กว้างขึ้น

ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ช่วงนี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เห็นเพียงแต่บรรยากาศเงียบเหงา ร้างผู้คน ร้านอาหารเล็กๆ ริมสองข้างทางถึงกับต้องแปะป้ายขอปิดกิจการชั่วคราวเพราะแบกรับต้นทุนที่มีอยู่ไม่ไหว แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปที่ร้านอาหารชื่อดังบางร้านในห้างสรรพสินค้ากลับมีผู้คนมากมายเข้าคิวเพื่อรอกิน ภาพที่แสนจะแตกต่างกันนี้ชวนให้เรารู้สึกขมในใจและอดที่จะเกิดคำถามไม่ได้ว่า ด้วยเหตุใดถึงทำให้สองร้านอาหารที่แม้จะอยู่ใต้เงื่อนไขเดียวกันกลับเจอผลกระทบที่ต่างกัน สาเหตุเป็นเพราะร้านหนึ่งวางแผนรับมือได้ดีกว่าอีกร้าน หรือเป็นเพราะเงื่อนไขที่ต้องแบกรับของทั้งสองไม่เคยเท่ากันตั้งแต่ต้น ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นเช่นนี้

อย่างที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วทั้งโลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจขนานใหญ่ สัดส่วนคนจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง อ้างอิงจากรายงาน ‘Poverty and Shared Prosperity 2020: Reversals of Fortune’ ที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก พบว่าสัดส่วนคนจนทั่วโลกในปี 2563 พุ่งไปถึงร้อยละ 9.1 จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.4 และหากวกกลับมามองสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมามีกลุ่มครัวเรือนเปราะบางถึง 1.14 ล้านครัวเรือนที่เสี่ยงกลายเป็นกลุ่มครัวเรือนยากจน ตัวเลขทั้งสองนี้บ่งบอกว่าโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนจะกลับมาเป็นโจทย์หลักของทุกรัฐบาล

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความจริงอีกด้านที่ชวนให้เราต้องขยี้ตาอ่านซ้ำ เมื่อ Bloomberg Billionaires Index เผยว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางภาวะโรคระบาดแต่กลุ่มมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 500 อันดับแรกของโลกสามารถสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมี Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon ครองตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดอันดับหนึ่งของโลกด้วยมูลค่าความมั่งคั่งที่สูงถึง 190,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในบรรดาลิสต์รายชื่อของมหาเศรษฐีทั้ง 500 คน ได้ปรากฏชื่อของ 3 เศรษฐีไทย ได้แก่ เจริญ สิริวัฒนภักดี จากไทยเบฟเวอเรจและทีซีซี กรุ๊ป, สารัชถ์ รัตนาวะดี จากกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, และธนินท์ เจียรวนนท์ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ติดโผด้วยเช่นกัน

พูดถึงเหล่าเศรษฐีเมืองไทยก็ชวนนึกย้อนไปถึง ‘สองเหตุการณ์’ ในปี 2563 ที่แม้คนไทยหลายต่อหลายคนกำลังถูกภาระทางเศรษฐกิจถาโถมเข้าใส่ แต่เศรษฐีไทย 2 ใน 3 จากรายชื่อข้างต้นกลับสามารถขยายอาณาจักรของตัวเองได้อีกขั้น ซึ่งสองเหตุการณ์ดังกล่าวคือ การปิดดีลของซีพีกับโลตัส และมูลค่าหุ้นของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 270%  ทำให้เขากลายมาเป็นเศรษฐีหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามมีนักคิดบางคนมองว่า การเกิดวิกฤตอาจจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เนื่องจากภาครัฐจะมุ่งเน้นไปที่การเก็บภาษีคนรวยมากขึ้นเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังคงสภาพคล่องไว้ได้ดีที่สุด แต่เมื่อดูจากข้อมูลข้างต้นก็ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้วว่าจะเป็นไปตามที่เหล่านักคิดคาดการณ์กันไว้หรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ มีเพียงการจนลงของคนชั้นล่างและการรวยขึ้นของคนชั้นบน ยังไม่มีสัญญาณที่คน 2 กลุ่มจะขยับเข้าใกล้กัน นอกจากนี้นโยบายทางเศรษฐกิจก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถลอยขึ้นมาได้ด้วยตัวมันเอง แต่มีภาครัฐเป็นผู้กำหนดว่าจะเลือกเส้นทางแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบทของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ’รัฐบาลประยุทธ์’ ทำให้หลายคนเฝ้าตั้งคำถามว่าเส้นทางการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบไหนกันที่เขาคิดจะไปต่อ ใครคือคนกลุ่มแรกที่เขาคำนึงถึงเมื่อเกิดภาวะวิกฤต

ภาวิณี คงฤทธิ์ ชวน ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด มาร่วมถอดรหัสความรวย เพราะเหตุใดคนรวย top1% ถึงรวยขึ้น แม้จะอยู่ในภาวะโรคระบาด พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าการจัดการโรคระบาดของภาครัฐในครั้งนี้สะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนอย่างไร

 

 

1% SURVIVED! เมื่อเหล่าคนรวยคือผู้รอดเพียงหนึ่งเดียวในภาวะโรคระบาด

 

“เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ต้องเข้าใจก่อนว่ามันประกอบไปด้วยคน 3 กลุ่ม คือ คนรวย คนจน และคนชนชั้นกลาง ซึ่งความเหลื่อมล้ำจะเปลี่ยนไปในแนวทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าผลกระทบของมันกระจายไปสู่คนที่มีฐานะต่างกันอย่างไร ซึ่งเมื่อย้อนกลับมามองลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 เราพบว่ารอบนี้เป็นผลกระทบที่หนักกับคนข้างล่างมากกว่าคนข้างบน”

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ย้อนให้ฟังถึงหน้าตาของความเหลื่อมล้ำที่เปลี่ยนไปหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า วิกฤตสุขภาพครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบให้กับคนชั้นล่างอย่างแสนสาหัส โดยสามารถแบ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นออกมาเป็น 2 ทางด้วยกัน ทางแรกคือผลกระทบด้านความเสี่ยงสุขภาพ ที่คนชั้นล่างมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักทำงานที่ต้องพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลา ความเสี่ยงด้านสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่พวกเขาเลี่ยงไม่ได้ ส่วนผลกระทบในทางที่ 2 ก็สืบเนื่องมาจากทางแรก ในเมื่อการทำงานของพวกเขาล้วนข้องเกี่ยวอยู่กับการทำงานนอกบ้าน มาตรการล็อกดาวน์จึงส่งผลกระทบโดยตรง ด้วยลักษณะงานที่ไม่สามารถปรับตัวไป work from home ได้ ต่างไปจากคนชั้นกลางที่มีความสามารถในการปรับตัวได้สูงกว่า

ในทางกลับกัน คนชั้นบนกลับเผชิญความเสี่ยงในด้านการปรับตัวน้อยกว่ามาก ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลานี้ยังถือเป็นช่วงเวลาที่เหล่าคนรวยสามารถสะสมความมั่งคั่งได้เพิ่มขึ้นด้วย ธรชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะกระทบฐานความมั่งคั่งของคนชั้นบนได้คือการล้มลงของตลาดการเงิน แต่เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤตโรคระบาด ไม่ใช่วิกฤตการเงิน จึงไม่ได้กระทบต่อตลาดการเงินโดยตรง ด้วยเหตุนี้เองตัวเลขของตลาดหุ้นทั่วโลกจึงยังคงวิ่งสูงขึ้น แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

“ส่วนใหญ่คนที่รวยจนติดท็อปประเทศหรือท็อปโลก ไม่ได้เก็บเงินในลักษณะเงินฝากแต่เป็นการลงทุนในหุ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในตลาดการเงิน ฉะนั้นเมื่อตลาดการเงินยังวิ่งขึ้นได้ ก็ไม่แปลกที่เขาจะรวยขึ้น และในอีกด้าน ระนาบใหญ่ของเศรษฐีระดับโลก ณ วันนี้ล้วนเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี พอเกิดวิกฤตโควิดขึ้นมา ปรากฏว่าธุรกิจของเขาไม่ได้แย่ลง แถมยังเป็นโอกาสในการขยายผลิตภัณฑ์และลูกค้าของแต่ละบริษัท เพราะวิกฤตโควิดทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้คนมากขึ้น ฉะนั้นผมมองว่า ความเหลื่อมล้ำในระดับสากลจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ที่สำคัญ สิ่งที่พูดไปก่อนหน้านี้เป็นแค่ความเหลื่อมล้ำในระดับสังคมของแต่ละประเทศ เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องศักยภาพการในการจัดการปัญหาที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ความต่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนเพิ่มขึ้นไปอีก”

ธรทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ ที่ดูท่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากวิธีการจัดการโรคแบบ ‘ตัวใครตัวมัน’ แต่ละประเทศแยกย้ายกันไปเสาะหาวัคซีนให้คนของประเทศตัวเอง แน่นอนว่าประเทศที่มีเงินพร้อมกว่าย่อมจัดการกับโรคระบาดได้ก่อน เมื่อจัดการโรคได้ ก็มีสิทธิ์ที่เศรษฐกิจจะไปต่อ ฉะนั้นภาพของการทิ้งห่างระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคได้กับประเทศที่ยังไม่สามารถจัดการได้จะเป็นภาพที่เราจะเห็นต่อจากนี้แน่นอน

 

ก่อนไวรัสระบาด คนจน(ไทย) ก็เจ็บหนักอยู่แล้ว

 

ไม่ว่าจะมาจากสำนักไหนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลังจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตัวการที่จะต้องรับผิดชอบกับปัญหานี้คงหนีไม่พ้นเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ความเหลื่อมล้ำที่แสดงผลให้เราเห็นอย่างชัดเจนในช่วงเวลานี้ อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคชนิดนี้เพียงอย่างเดียว เพราะหากเราลองมองย้อนไปสัก 5 ปี ก่อนหน้า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทยก็ไม่ได้อยู่ในขั้นที่น่าพึงพอใจ แถมยังมีเรื่องชวนให้นักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคนกังวลใจ ว่าทำไมในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจ (แม้จะโตน้อย) กลับมีตัวเลขของความยากจนพุ่งสูงขึ้นถึง 2 หนด้วยกัน

“จริงๆ ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงประมาณกลางปี 2558 ก็พอสังเกตได้ว่าความเหลื่อมล้ำมีเทรนด์ปรับตัวลดลง แต่ถึงแม้ตัวเลขจะดูดีขึ้น ก็มีเรื่องที่ยังน่าเป็นห่วง อย่างแรกคือเรื่องการกระจายฯ แม้ว่าคนชั้นล่างจะไล่ตามขึ้นมาได้จริงๆ แต่เป็นการไล่ตามคนชั้นกลางเพราะคนชั้นกลางหยุดชะงัก แต่เมื่อเทียบกับคนชั้นบนสุดจะพบว่าทิ้งห่างกันไปไกลมาก

“อย่างที่สองคือเรื่องศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเองของคนจนหรือคนที่มีรายได้ 20% ล่างสุด จากเดิมที่คิดกันว่าคนจนดูมีศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเองเพิ่มมากขึ้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น งานวิจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อสังเกตว่าตัวเลขที่ดูดีขึ้นของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของตัวเอง แต่เกิดจากการได้รับเงินโอน (remittance) จากลูกหลานที่ส่งมาให้ รวมไปถึงเงินช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ ฉะนั้นหากลองตัดเงินโอนเหล่านี้ทิ้งไป ก็จะเห็นเลยว่าความเหลื่อมล้ำในไทยไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างที่เราคิดกันเท่าไหร่”

แม้เทรนด์เรื่องความเหลื่อมล้ำในช่วงหลังปี 2540 จะฟังดูน่าเป็นห่วง แต่ผู้อำนวยการจากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่น่ากังวลเท่ากับสถานการณ์ในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.

“หลังปี 2559 เป็นต้นมา เราพบว่าความเหลื่อมล้ำปรับตัวขึ้น ในแง่หนึ่งมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ของคนจนในประเทศไทยที่อยู่ในขั้นแย่มาก ถ้าย้อนกลับไปดูจริงๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะโตช้า แต่โดยรวมยังสามารถโตขึ้นได้ประมาณ 3% แต่ความยากจนกลับเพิ่มขึ้นถึง 2 ครั้งในปี 2559 และ 2561 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างรู้กันดีว่า ในประเทศที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจแบบไทย โอกาสที่ความยากจนจะเพิ่มขึ้นแบบนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก และยังมีคำถามที่ตามมาคือ แล้วที่โต 3% มันไปโตอยู่ที่ตรงไหน

“อย่างงานของ ธนสักก์ เจนมานะ ซึ่งดูการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พบว่าในช่วงเวลานั้น แม้คนชั้นล่างจะจนลง แต่คนชั้นบนก็ยังไปได้ค่อนข้างดีอยู่ เลยเกิดเป็นข้อสังเกตขึ้นว่า คนชั้นบนอาจจะรับเอาผลจากการเติบโตในช่วงนี้ไปเป็นหลักหรือเปล่า คนที่ติดตามเศรษฐกิจไทยก็มักจะบอกกันอยู่เสมอว่า ‘เศรษฐกิจไทยแข็งบนอ่อนล่าง’ ด้วยเหตุนี้เองจึงพอสรุปได้ว่าในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยไม่ใช่แค่โตโดยรวมแย่ลง แต่การโตนี้ยังลงไปไม่ถึงคนข้างล่างด้วย ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโรคโควิด-19 น่าเป็นห่วงมากๆ”

 

 

หลังโควิด-19 : ‘คนรวย’ ขอผูกขาดความมั่งคั่ง

 

“ต้องอธิบายก่อนว่า วิกฤตโควิดในรอบนี้มีลักษณะซับซ้อนกว่าวิกฤตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตตอนปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) หรือ ปี 2551 (วิกฤตซับไพร์ม) ก็ตาม สองวิกฤตก่อนหน้านี้ล้วนเป็นวิกฤตการเงิน แต่วิกฤตโควิดไม่ใช่”

ธรเปรียบเทียบให้เห็นถึงความต่างของวิกฤตโควิดกับวิกฤตการเงินที่ผ่านมา โดยผลกระทบสำคัญของวิกฤตการเงินคือการล้มลงของธนาคารและการพังลงของตลาดทุน เนื่องจากวิกฤตการเงินโยงอยู่กับความมั่งคั่งในตลาดทุนและตลาดเงินโดยตรง ทำให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มคนชั้นบนที่มีแหล่งรายได้มาจากตลาดเหล่านี้  แต่ลักษณะผลกระทบของวิกฤตโควิดนั้นต่างออกไป วิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหยุดชะงัก เป็นผลให้การจ้างงานจำนวนมากต้องหยุดตามไป ค่าจ้างซึ่งเป็นรายได้หลักของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจึงหายหรือลดลงตามไปด้วย แต่ตลาดทุนกลับไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้เท่าไหร่ ดังนั้นคนชั้นบนจึงน่าจะรักษาความมั่งคั่งที่ตนเองสะสมไว้ได้และสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนักเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมา

คำถามที่น่าขบคิดต่อไปคือ ถ้าเหล่าเศรษฐีไม่ได้รับผลกระทบพร้อมๆ กับมีเงินเหลือไว้ต่อยอดความมั่งคั่ง

อะไรคือสิ่งที่เหล่า ‘คน Top 1%’ คิดจะทำต่อไปหลังจากนี้

“ผมคิดว่ามีหนึ่งนัยยะที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2540 ที่พอเทียบเคียงกับปัจจุบันได้ นั่นคือการปรับแถวของเหล่าเศรษฐี ในช่วงเวลานั้นจะเห็นการไล่ซื้อกิจการต่างๆ ที่เปลี่ยนหลายบริษัทใหญ่ๆ ให้กลายเป็นอาณาจักรของตัวเอง ซึ่งเราอาจจะได้เห็นภาพในลักษณะนี้อีกครั้ง ก็น่าเป็นห่วงว่าคู่แข่งธุรกิจที่น้อยรายลงอาจจะนำไปสู่ปัญหาการผูกขาดที่เริ่มส่งสัญญาณมาให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น ประเด็นการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ กรณีนี้เป็นการเพิ่มอำนาจเหนือตลาดของซีพีและขยายอาณาจักรของตัวเองขึ้นไปอีกขั้น แต่อาจจะด้วยวิกฤตโควิดและสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ข่าวนี้ไม่ได้เป็นที่พูดถึงเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่การผูกขาดเป็นประเด็นที่ประเทศไทยควรให้ความสนใจ และผู้ที่ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดต่างก็ระบุว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้”

 

ถ้าคนจนไม่ได้จนเพราะขี้เกียจฉันใด คนรวยก็ไม่ได้รวยเพียงเพราะขยันฉันนั้น

 

แม้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลายมาเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงมากขึ้น แต่ชุดความเชื่อที่เชื่อกันว่า  ‘คนจนคือคนขี้เกียจ หรือ คนรวยคือคนขยัน’ ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยมาในสังคมไทย หลายคนเลือกผลักปัญหานี้ให้เป็นเรื่องของปัจเจกมากกว่าที่จะมองเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วความรวยจนมีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากแค่ใครขยันทำงานกว่าใคร

“ต้องเข้าใจก่อนว่าความเหลื่อมล้ำขึ้นและลงได้เสมอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายที่ส่งผลต่อการกระจายรายได้และทุน ยกตัวอย่างเช่นโครงสร้างการเก็บภาษี ถ้าในประเทศที่เก็บภาษีรายได้แบบก้าวหน้ามาก ก็อาจจะดึงให้คนข้างบนเข้ามาใกล้คนกลุ่มอื่นมากขึ้น หรืออย่างในกรณีการสะสมความมั่งคั่ง ก็เกี่ยวข้องกับภาษีมรดก เพราะมรดกคือช่องทางในการถ่ายทอดความมั่งคั่งระหว่างรุ่นสู่รุ่น ประเทศที่เก็บภาษีมรดกได้น้อยหรือไม่มีเลย ก็เอื้อให้ความมั่งคั่งแบบมหาศาลของเศรษฐีสามารถสะสมและส่งต่อระหว่างรุ่นได้เยอะ”

“ทั้งนี้ เรื่องที่ยกตัวอย่างมาล้วนเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาอีกที และถ้าถามกลับไปว่าใครเป็นคนกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ แน่นอนว่าคือสถาบันการเมือง ฉะนั้น ในเมื่อความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องที่เราควบคุมทิศทางไม่ได้ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า สถาบันการเมืองของเรามีความสนใจและมีศักยภาพที่จะมาจัดการนโยบายเหล่านี้ได้มากน้อยขนาดไหนต่างหาก”

 

 

เมื่อการจัดการโควิดสะท้อนว่ารัฐ ‘แคร์’ ใครในวิกฤตนี้

 

“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คือคำสัญญาที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบให้กับประชาชนไทย

แต่ดูเหมือนว่าการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมาปรากฏร่องรอยของการทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลังแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการการเยียวยา ที่ควรจะถูกนำมาใช้อย่างทันท่วงที แต่กลับเป็นไปอย่างล่าช้า มาตรการป้องกันการระบาดของโรคอย่างคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ก็ถูกตั้งคำถามว่า เกณฑ์ที่ใช้เลือกสั่งปิดหรือเปิดสถานที่นั้นเป็นธรรมหรือไม่ เมื่อสถานที่ที่ถูกสั่งปิดส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทำมาหากินของคนชั้นแรงงาน แต่สถานที่ที่สามารถเปิดให้บริการได้กลับมีทุนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ หรือจะเป็นกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่โดนตั้งข้อสังเกตจากสังคมว่ามีความล่าช้าและคลุมเครือในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะผลิตวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

“ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับวิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจ มักจะดึงลักษณะที่ไม่ปกติของระบบการเมืองออกมา เพราะทันทีที่เกิดวิกฤต รัฐต้องตัดสินใจว่าจะเลือกกระจายผลกระทบอย่างไรและไปที่ใคร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นไปในลักษณะ win-win solution แต่จะมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบมากกว่าเสมอ เพราะวิกฤตทำให้รัฐเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลือกว่าจะดูแลใครก่อน เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุกรัฐบาลเสมอมา

“เราต้องกลับมาถามว่า ระบบการเมืองในปัจจุบันเป็นระบบการเมืองที่แคร์ใคร วิกฤตโควิดสะท้อนชัดแล้วว่าภาครัฐดูแลใครมากกว่ากัน ในแง่หนึ่งการที่เขาออกมาตรการมาช่วยเหลือล่าช้าและปล่อยให้คนข้างล่างจัดการตัวเองเป็นหลัก ก็สะท้อนแล้วว่าระบบการเมืองปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่ต้องแคร์ประชาชนมากนัก เพราะไม่ว่าอย่างไรเขาก็สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างมั่นคง ตราบใดที่ฐานอำนาจอย่าง ทหาร ข้าราชการ และ ทุนใหญ่ ยังสนับสนุนเขาอยู่”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลประยุทธ์ถูกตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่มีกับทุนใหญ่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน เคยกล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลต่อธุรกิจขนาดใหญ่น่าเป็นห่วงตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเลือกวางตัวไม่เป็นอิสระจากกลุ่มทุนใหญ่ เช่น การออกมติ ครม. ให้มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้สัมปทานดิวตี้ฟรี (Duty Free) ล่วงหน้าไป 2 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ทั้งๆ ที่ยังเป็นการระบาดในช่วงแรก หรือการออกมาตรการอุดหนุนเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านของ กสทช. ที่จ่ายเงิน 100 บาทให้ค่ายมือถือ แลกกับเน็ต 10 GB ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เมือง ซึ่งดูจะเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงเป้าหากเทียบกับการลดค่าบริการ การกระทำต่างๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้ออกนโยบายบนฐานของความเห็นอกเห็นใจประชาชน

ธรขยายความเพิ่มเติมว่า ภาครัฐมีศักยภาพในการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชั้นล่างซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลัก แต่ด้วยลักษณะการเมืองในปัจจุบันที่ผู้นำมักแสดงอำนาจเหนือประชาชนและอำนาจการจัดการถูกดึงไว้อยู่กับระบบราชการ ทำให้การจัดการปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นไปในเชิงควบคุม สั่งสอน มากกว่ามุ่งช่วยเหลือ หากภาครัฐยังคงดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไป ดูท่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะโจทย์ต่อไปหลังจากนี้คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และการมองเศรษฐกิจโลกชนิดอ่านขาด แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่จุดแข็งของระบบราชการเลยแม้แต่น้อย

“ตอนนี้เรายังอยู่ในขั้นควบคุมการระบาดพร้อมๆ กับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าเปลี่ยนขั้นเป็นการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเดินหน้าหลังวิกฤต โดยมีโจทย์หลักเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือเผลอๆ อาจจะไปถึงขั้นการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขึ้นใหม่ ถ้าเราไปถึงขั้นนั้นโดยยังมีแนวทางในการบริหารงานที่ไม่แคร์คนข้างล่างหรืออำนาจยังอยู่ในมือทหาร-ราชการ สถานการณ์จะยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะระบบการเมืองที่จะตอบโจทย์การฟื้นฟูได้ดีที่สุดควรจะต้องเป็นระบบการเมืองที่เปิดกว้างกว่านี้ การจะฟื้นเศรษฐกิจให้ได้ดีต้องทำมากกว่าการทำงานตามคำสั่ง ต้องอาศัยไอเดียใหม่ๆและคนที่มีกึ๋น มีวิสัยทัศน์ จากทุกภาคส่วนมาช่วยกัน ถ้ายังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้คงคิดเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีไม่ได้หรอก”

 

ถึงเวลาพลิกฟื้น ‘ระบบสวัสดิการ’

 

แม้วิกฤตจะสร้างผลกระทบในทางลบมากกว่าทางบวก แต่หากมองอีกแง่ วิกฤตก็เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง ไม่ต่างจากเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง การล้มลงครั้งยิ่งใหญ่ของสถาบันการเงินนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) แล้ววิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใด

“วิกฤตโควิดจะทำให้คนพูดถึงระบบสวัสดิการกันมากขึ้น จากเดิมที่เรามักบอกว่า เมื่อคุณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี คุณต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง หรือคุณขาดรายได้เพราะไม่พัฒนาฝีมือ เราผลักความรับผิดชอบให้เป็นเรื่องของปัจเจก แต่วิกฤตสุขภาพรอบนี้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันสามารถเกิดภาวะที่ตลาดไม่ทำงาน ฉะนั้นนอกเหนือจากการบอกให้ผู้คนดิ้นรนด้วยตัวเอง เราจำเป็นต้องมีสวัสดิการพื้นฐานไว้รองรับพวกเขา ดีเบตเรื่องสวัสดิการพื้นฐานจึงถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง”

ในระดับโลก เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หนึ่งนโยบายที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นคือ นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI: Universal Basic Income) หรือการให้เงินรายเดือนแก่ประชาชนโดยไร้เงื่อนไข หลายคนมองว่านโยบายนี้อาจจะเป็นยารักษาที่เข้ามาช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้แคบลงได้ ซึ่งก็น่าสนใจว่า UBI จะมีที่ทางแบบไหนในสังคมไทย

“สำหรับเรื่อง UBI ประเทศไทยยังอยู่ในระบบที่ไกลจากเรื่องนี้มาก ในแง่หนึ่งถ้าเราสามารถทำให้ระบบสวัสดิการที่มีอยู่ครอบคลุมทุกกลุ่มและทุกฟังก์ชัน เราอาจจะได้อะไรที่มีส่วนคล้ายกับ UBI บ้าง  อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ของระบบสวัสดิการประเทศไทยคือขนาดของมัน เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ระบบสวัสดิการบ้านเรายังมีขนาดเล็กมาก พูดง่ายๆ คือแม้เราจะมีสวัสดิการเด็กเล็ก มีเบี้ยคนชรา มีเบี้ยคนจน แต่มันเป็นสวัสดิการในขนาดที่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสวัสดิการเดียวกันในประเทศพัฒนาแล้ว เรียกได้ว่าของไทยคือเพียงพอแค่ให้มีชีวิตรอด แต่ไม่เพียงพอที่จะนำมาซึ่งโอกาสหรือคุณภาพพื้นฐานในชีวิต แถมยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการตรงนี้”

เมื่อลองไปดูจำนวนเงินของสวัสดิการต่างๆ พบว่ายังมีขนาดที่ไม่สอดคล้องกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่เงินอุดหนุนเด็กเล็กในช่วงอายุ 0-6 ปี ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนเพียงแค่เดือนละ 600 บาท และจ่ายให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ด้านเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายให้กับบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาทเช่นกัน ก่อนจะเพิ่มให้อีก 100 บาทในทุกๆ 10 ปี นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีอายุ 90 ปีขึ้นไปถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1000 บาท ส่วนเบี้ยคนจนหรือที่ในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ มีจำนวนเงินช่วยเหลืออยู่ที่เดือนละ 200-300 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินช่วยเหลือในแต่ละเดือน เงินช่วยเหลือค่ารถโดยสารสาธารณะ และสิทธิลดค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น

ธรกล่าวทิ้งท้ายว่า “สวัสดิการถือเป็นฐานแรกในการทำให้สังคมเท่าเทียมกัน ถ้าเราแก้ไขเรื่องนี้ได้ ก็มีแนวโน้มที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้อีกเยอะ วิกฤตโควิดเปิดช่องโหว่เรื่องเด็ก คนชรา และแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนจำนวนมหาศาลของประเทศให้ได้เห็นกันแล้ว หลังจากนี้เรามีหน้าที่ต้องไปจัดการช่องโหว่ต่างๆ ระบบสวัสดิการจึงเป็นโจทย์สำคัญในการฟื้นฟู

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจในครั้งนี้กระเทือนชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะคนชั้นล่างที่ขาดสวัสดิการรองรับ ผู้คนจะสนใจประเด็นนี้กันมากขึ้น จึงอยากให้ระบบการเมืองเปิดมากขึ้นด้วย เพื่อที่จะได้นำไปสู่กระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ ไม่ใช่แค่พูดกันไปในกลุ่มประชาชนแต่ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของนโยบายรัฐได้”

 

 

ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง หนึ่งความรู้สึกที่มักเกิดขึ้นตามมาเสมอคือความไม่เป็นธรรม วิกฤตโควิดได้ฉายให้เห็นชัดแล้วว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างขนาดมหึมาในการทำให้คนเท่ากัน แม้โรคระบาดจะแพร่กระจายอย่างไม่เลือกหน้า แต่การรับมือกับผลกระทบนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความต่างนี้ไม่ได้เกิดจากการที่เรามีเพศ อายุ มันสมอง หรือเชื้อชาติที่ต่างกัน แต่เกิดจากการที่เบาะรองรับของแต่ละคนไม่เท่ากัน

บางคนมีเบาะหนายิ่งกว่าตึก 10 ชั้น

บางคน –อย่าว่าแต่เบาะ– แค่ผืนดินให้เหยียบยืนอาจยังไม่มีเป็นของตัวเอง

เมื่อมองให้ลึกลงไป เบาะรองรับที่ว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงเพราะการกระทำของเรา แต่ยังข้องเกี่ยวกับอีกหลายปัจจัย ด้วยเหตุนี้เอง การมีเบาะรองรับพื้นฐาน (ที่ใช้ได้จริง)  สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ยอดบนสุด 1% หรือ ล่างสุด 20% จึงเป็นสิ่งที่เราจะมองข้ามไม่ได้ และขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายแล้วว่า นับจากนี้ประเทศไทยจะเลือกเดินไปทางไหน จะเลือกเดินไปข้างหน้าด้วยกัน หรือ จะเลือกทิ้งใครไว้ข้างหลังเหมือนอย่างที่ผ่านมาๆ

คงจะดีกว่าหากทุก ‘ชัยชนะ’ ต่อจากนี้จะมีประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่มีแค่ ‘เขา’ ที่เป็นผู้ชนะ แล้ว ‘เรา’ ต้องยอมจำนนอยู่ร่ำไป

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save