fbpx
สามพี่น้องผู้ปฏิวัติโลกการเงิน

สามพี่น้องผู้ปฏิวัติโลกการเงิน

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

โลกการเงินกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ระบบธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ หรือแม้แต่เงินตราที่เราใช้ซื้อของ ก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้

หากเปรียบ ‘ภาคการเงิน’ เป็นเสมือนธุรกิจครอบครัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่พ่อแม่กำลังส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นลูกบริหารต่อไป หน้าตาของ ‘ธุรกิจ’ นั้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกๆ ที่มารับช่วงต่อเป็นคนอย่างไร

วันนี้ผมอยากชวนมาทำความรู้จักกับ ‘สามพี่น้อง’ ที่จะมาสานต่อ ปฏิรูป หรือแม้แต่ปฏิวัติวงการนี้

 

พี่ใหญ่ = การเงิน

 

พี่ใหญ่ ชื่อ Finance หรือ การเงิน มีอายุห่างจากน้องรองและน้องเล็กหลายปี ทำงานกับพ่อแม่มานานที่สุด เป็นคนเก่งและมีประสบการณ์มากมายในการรับมือกับความเสี่ยงสารพัดรูปแบบ

งานสำคัญของพี่ใหญ่คือ เอาเงินออมของคนมาใช้ปล่อยกู้หรือลงทุนกับคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งอาจจะเป็นคน ธุรกิจหรือแม้แต่รัฐบาล จึงต้องมีกระบวนการที่รัดกุมเพื่อไม่ให้เงินตกไปอยู่กับคนที่จ่ายคืนไม่ได้ คนที่ชอบชักดาบ หรือคนที่ใช้เงินในทางผิดกฎหมาย (Credit and Counterparty risks)

ต้องไม่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มราคาร่วง (Market risk) ต้องให้สภาพคล่องเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไม่มีเงินสดจะให้เมื่อคนมาถอนเงินฝาก (Liquidity risk) และต้องไม่ปฏิบัติการผิดพลาดทำเงินสูญหาย (Operational risk) ฯลฯ

ด้วยความที่ตนเองก็เคยผิดพลาดผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง พี่ใหญ่จึงเป็นคนมีระเบียบเข้มงวด ช่างระมัดระวัง ไม่ชอบความเสี่ยง และยึดหลักทำงานที่สืบทอดกันมา จนทำให้บางครั้งอาจขาดความยืดหยุ่นและจำกัดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

แม้จะพี่ใหญ่เป็นคนเก่ง แต่เขายังเป็นคนขรึมๆ และไม่ค่อยอธิบายในสิ่งที่ตัวเองทำ จนบางครั้งคนทั่วไปมองว่าเขาเป็นคนเข้าใจยาก

 

พี่รอง = ดิจิทัล

 

พี่รองชื่อว่าดิจิทัล มีนิสัยแตกต่างกับพี่ใหญ่อย่างสิ้นเชิง เขาเป็นคนชอบคิดพลิกแพลงหาวิธีใหม่ๆ ในการทำธุรกิจเสมอ

หากพี่ใหญ่ยึดกรอบธรรมเนียมประเพณีที่เคยทำกันมา พี่รองก็เห็นว่ากรอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก้าวข้ามได้เพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่าของลูกค้า (Customer centric mindset) 

ในขณะที่พี่ใหญ่เป็นคนขรึมๆ ไม่พูดมาก แต่พี่รองเป็นคนเข้าถึงง่ายมาก ชอบคุณกับลูกค้า ทำให้มีจุดสัมผัสกับลูกค้ามาก และใช้ข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาธุรกิจของตัวเอง (Data driven business) 

เวลาจะลองทำอะไรใหม่ พี่ใหญ่จะบอกว่าต้องคิดแล้วคิดอีก ปรับแผนหลายรอบ แต่พี่รองจะบอกว่าควรลองทำไปก่อนเลยในวงเล็กๆ คุยกับลูกค้าแล้วเอาผลที่ประเมินที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ (Agile) เสมือนว่าลูกค้าเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยคิดด้วย (Co-creation)

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะพี่รองเรียนจบ เข้ามาทำงานในธุรกิจที่บ้านเต็มตัว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ยกตัวอย่างเช่น ในด้านการชำระเงิน การจ่ายหรือโอนเงินแบบทันที ที่ไหนก็ได้เวลาไหนก็ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมกลายเป็นเรื่องปกติ

การปล่อยสินเชื่อ จากที่เคยต้องใช้หลักประกัน สลิปเงินเดือน พิจารณาสินเชื่อหลายวัน เทคโนโลยี Digital lending ในปัจจุบันสามารถใช้ข้อมูลของผู้ขอกู้พิจารณาจากโลกดิจิทัลอนุมัติสินเชื่อได้ภายในไม่กี่นาที 

ในการลงทุน จากที่เคยต้องใช้ที่ปรึกษาการเงินค่าตัวแพงช่วยแนะนำ ปัจจุบัน Robo-advisor สามารถใช้ AI คิดให้ได้ว่าควรออมเงินเดือนละเท่าไหร่ แล้วไปลงทุนบริหารเงินให้เราอัตโนมัติตามเป้าหมายทางการเงินและระดับความเสี่ยงที่เราเลือก 

แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หลายครั้งก็ทำให้พี่ใหญ่กับพี่รองขัดแย้งกัน ด้วยความคิดและนิสัยที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว พี่รองก็มองว่าพี่ใหญ่ไม่ยอมปรับตัว ส่วนพี่ใหญ่ก็มักจะคิดว่าน้องรองทำอะไรเร็วเกินไป

 

น้องเล็ก = DLT

 

แต่คนที่จะมีโอกาสปฏิวัติวงการได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ปฏิรูป คือน้องเล็กของบ้านที่มีชื่อเต็มคือ Distributed ledger technology หรือชื่อเล่นก็คือ DLT แต่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในนามแฝงว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) รากฐานของเงินคริปโตอย่างบิตคอยน์

น้องเล็กเป็นคนมีความสามารถพิเศษสูงมากและเข้ากับคนง่าย หลายฝ่ายเลยมักพยายามแย่งตัวไปทำงานด้วย

ฝ่ายแรกที่ได้น้องเล็กไปร่วมงานด้วยคือ ฝั่งที่ต้องการลดความสำคัญของ ‘ตัวกลาง’ (Intermediaries) ที่เป็นหัวใจสำคัญของภาคการเงินมาแต่ไหนแต่ไร

จากเดิม ธนาคารเป็นตัวกลางเชื่อมผู้จ่ายเงินและรับเงิน เชื่อมคนออมและคนกู้เงินที่ไม่รู้จักกัน โบรกเกอร์เชื่อมผู้ขายสินทรัพย์กับผู้ซื้อ บริษัทประกันเชื่อมผู้รับความเสี่ยงไม่ได้กับผู้ที่พอรับได้ ฯลฯ คนกลุ่มนี้พยายามใช้ DLT มาพัฒนา Decentralised finance (Defi) ที่สามารถทำให้ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง หรือมีน้อยลง) 

คนกลางเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยซอฟต์แวร์ด้านการเงินประเภทหนึ่งที่สามารถทำให้ธุรกรรมทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติทันทีที่ฝ่ายหนึ่งทำตามเงื่อนไขต่างๆ ครบ (Smart contract) โดยไม่ต้องมีมนุษย์หรือองค์กรอยู่ตรงกลาง เช่น ทันทีที่มีรายได้เข้าบัญชีผู้กู้จะถูกโปรแกรมให้หักเงินส่วนหนึ่งคืนผู้ปล่อยกู้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คนกลางดำเนินการ ทั้งนี้โปรแกรมเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นบนบล็อกเชนที่มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง

 

ปฏิวัติ ‘เงินตรา’ (Money) ไม่ใช่แค่ ‘การเงิน’ (Finance)

 

แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หยุดแค่นั้น เขาตั้งคำถามต่อไปอีกว่าน้องเล็ก DLT สามารถสร้าง ‘สกุลเงิน’ ใหม่เลยได้ไหม ท้าทายหลักการพื้นฐานเดิมที่ว่า ธนาคารกลางแต่ละประเทศเท่านั้นที่สามารถ ‘พิมพ์เงิน’ ให้ทุกคนใช้

การเกิดขึ้นของเงินคริปโตแบบบิตคอยน์ และเงินดิจิทัลสกุลใหม่ที่สร้างโดยเอกชนเช่นลิบร้า (เวอร์ชั่นแรก) เป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘เงินตรา’ (Money) ที่ ‘สร้าง’ ขึ้นมาโดยเครือข่ายของคนที่ไม่รู้จักกันด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็อาจมีค่าเหมือนเงินตราที่แบงค์ชาติแต่ละประเทศพิมพ์ได้ หากผู้บริโภคและธุรกิจเชื่อและยอมรับมัน

การปฏิวัติวงการเงินให้ใช้ตัวกลางน้อยลงก็ถือว่าหัวก้าวหน้ากว่าทั้งพี่ใหญ่และพี่รองแล้ว แต่การสร้างสกุลเงินใหม่นั้น ถือเป็นเพดานใหม่โดยสิ้นเชิง เพราะมันสามารถลดความสามารถของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ในการคุมเงินไหลเข้า-ออกและนโยบายการเงินได้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มสุดซอยนี้ จึงโดนฝั่งรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเบรกกันเต็มที่

 

กระจายอำนาจหรือรวมศูนย์?

 

แต่เมื่อรัฐบาลต่างๆ ถูกท้าทายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็เริ่มคิดได้ว่า “ทำไมเราไม่ชวนน้องเล็กมาทำงานกับเราด้วย” เพราะหากนำ DLT มาประยุกต์ใช้ ก็อาจ ‘อัพเกรด’ ทำให้เงินสกุลที่เรา ‘พิมพ์’ อยู่ได้ 

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยตื่นตัว ‘ติวเข้ม’ พัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า Central bank digital currency (CBDC) โดยพยายามพัฒนา ‘เงิน’ ให้มีฟีเจอร์หลายอย่างที่ไม่แพ้เงินคริปโต เช่น สามารถใช้ได้ 24 ชั่วโมง จ่ายเงินเรียลไทม์ โอนเงินข้ามประเทศได้ง่ายขึ้นและถูกลง ฯลฯ และที่กำลังฮือฮาที่สุดคงหลีกไม่พ้น DCEP ของจีนที่สามารถใช้ได้แม้ยามไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ต ใกล้เคียงกับการเป็น ‘เงินสดดิจิทัล’ มาก

เสมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะน้องเล็กคนนี้จากที่เคยทำงานกับกลุ่มที่พยายามกระจายอำนาจลดตัวกลาง (Decentralisation) กลายมาทำงานอยู่กับฝั่งธนาคารกลาง ซึ่งในบางกรณีอาจนำไปสู่การเพิ่มการรวมศูนย์อำนาจทางการเงิน (Centralisation) ยิ่งกว่าเดิม 

 

 สามพี่น้องในสถาบันการเงินแห่งอนาคต?

 

เทรนด์ปัจจุบันที่เริ่มมาให้เห็นแล้วคือ ทุกสถาบันการเงินแม้อาจมีจุดเริ่มต้นต่างกัน แต่ก็หันมามีทั้ง ‘พี่ใหญ่’ และ ‘พี่รอง’ อยู่ด้วยกัน โดยมีสามรูปแบบใหญ่ๆ

หนึ่ง กลุ่มสถาบันการเงินอาจเริ่มต้นจากการมีแค่ ‘พี่ใหญ่’ แต่ภายหลังก็ได้เปิดโอกาสให้พี่รองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นคือ ต่างทำ Digital transformation ไม่มากก็น้อย 

บ้างก็แค่มีแอพฯ ของตนเอง บางแห่งปรับระบบไอทีหลังบ้านตัวเองจนคล้ายบริษัทเทคโนโลยี บางแห่งแยกตัวเปิดดิจิทัลแบงค์เป็นแบรนด์ต่างหาก และบางที่ถึงขนาดแยกออกมาทำบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การเงินด้วยซ้ำ

สอง ฝั่งฟินเทคเองก็รู้แล้วว่าถ้าเก่งเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ไม่แกร่งด้านการควบคุมความเสี่ยงด้าน compliance (การปฏิบัติตามกฎกติกาที่ซับซ้อน) ก็ไปได้สวยยากในภาคการเงิน จึงมีหลายเจ้าหันมาจับมือกับสถาบันการเงินดั้งเดิมมากขึ้น 

สาม อีกประเภทคือ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่หันเข้ามาทำการเงิน หากธนาคารทำ Digital transformation ฝั่งนี้ก็คือบริษัทเทคฯ ที่ทำ Financial transformation จ้างทีมที่มีประสบการณ์ด้านการเงินเข้ามาเสริมจุดอ่อน ปรับกระบวนการทำงานจนมีความสามารถบริหารความเสี่ยงได้ไม่แพ้ธนาคาร 

ส่วน DLT น้องเล็กก็เริ่มถูกปรับมาใช้แบบ ‘เฉพาะจุด’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันและตลาดการเงิน โดยเฉพาะในส่วนที่ระบบแบบดั้งเดิมยุ่งยากและมีความซับซ้อนสูง เช่น ในประเทศไทยมีบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน เพื่อลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและลดขั้นตอนในการทำงาน หรือการโอนเงินต่างประเทศที่ทั้งยุ่งยากและต้นทุนสูง เป็นต้น

 

สามพี่น้องจะพาภาคการเงินไปทางไหน?

 

คลื่นการเปลี่ยนแปลงภาคการเงินที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สุดท้าย สามพี่น้องจะปฏิรูปหรือปฏิวัติการเงินในแต่ละประเทศเพียงใด คงขึ้นอยู่กับบทบาทของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในประเทศนั้นๆ ด้วย

เพราะฉะนั้น นอกจากจะต้องรู้จักสามพี่น้องแล้ว ต้องรู้จักกับ ‘พ่อแม่’ ซึ่งเป็นผู้วางกฎกติกาและนโยบายอีกด้วย

พวกเขาปล่อยลูกๆ ทำธุรกิจกันเองเสมือนรัฐเปิดพื้นที่ให้เอกชนทำเองเพียงใด สร้างบรรยากาศให้มีการแข่งขันมากแค่ไหน?

พวกเขากำกับดูแลโดยรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันความเสี่ยง (พี่ใหญ่) และการสร้างนวัตกรรม (พี่รองและน้องเล็ก) ได้ดีแค่ไหน? 

พวกเขาสามารถสร้างและรักษาความน่าเชื่อถือ (trust) ในระบบการเงินได้เพียงใด?

ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการคาดการณ์อนาคตภาคการเงินของประเทศ

เรามาคอยดูกันครับว่าสามพี่น้องและพ่อแม่จะนำพา ธุรกิจครอบครัวที่ชื่อ ‘ภาคการเงิน’ ของประเทศไทยไปทางไหน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save