fbpx

อานันท์ ปันยารชุน ในวัย 91

หากถามคนหลายรุ่นในปัจจุบันว่า ใครคือนายกรัฐมนตรีของไทยที่อยู่ในใจมากที่สุด

เชื่อได้ว่าชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ผู้ดำรงตำแหน่งสองสมัยในช่วงระหว่างปี 2534-2535 น่าจะเป็นคนหนึ่งที่มีผู้คนชื่นชมมากที่สุด คนยกมือไหว้ได้สนิทใจ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่าสามสิบปี

ปีนี้คุณอานันท์มีอายุ 91 ปีแล้ว ท่านเกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ผู้เขียนรู้จักท่านมายี่สิบกว่าปี และมีโอกาสได้ทานอาหารกับท่านเงียบๆ ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องในวันคล้ายวันเกิด

ท่านเป็นนักเรียนนอก จบการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และรับราชการกระทรวงต่างประเทศอยู่ในวงการทูตมาตลอดชีวิตราชการ

ในปี พ.ศ. 2518 คุณอานันท์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปกรุยทางเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชจะเดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา คุณอานันท์ยังมีโอกาสได้จับมือกับประธานเหมา เจ๋อ ตง และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศในวัยเพียง 43 ปี 

แต่หลังการทำรัฐประหารจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คุณอานันท์ ข้าราชการหัวก้าวหน้าในเวลานั้น ได้ถูกคณะรัฐประหารสั่งพักงาน โดยถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ครอบครัวได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจมาก ถือเป็นมรสุมชีวิตครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิต และแม้ผลการสอบสวนจะบริสุทธิ์ทุกข้อหา แต่ก็ถูกย้ายให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนี ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ด้วยความอึดอัดใจจึงลาออกจากอาชีพราชการและหันหน้าสู่วงการธุรกิจเต็มตัว

“เหตุการณ์ครั้งนั้นถือว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน่ากลัวมาก เป็นมรสุมชีวิตครั้งร้ายแรงที่สุด มันกระเทือนมาถึงสภาวะทางจิตใจของครอบครัวจนถึงทุกวันนี้ ” คุณอานันท์รำลึกความหลังเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนอย่างสั้นๆ 

หลังจากคณะนายทหารในนาม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ได้ร่วมกันทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณในปี พ.ศ. 2534 คุณอานันท์ได้รับเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ตลอดเวลาในการดำรงตำแหน่ง ได้เชิญคนมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตมาร่วมคณะรัฐมนตรี ไม่ยอมอยู่ใต้อิทธิพลของคณะรัฐประหารที่พยายามจะเข้ามากดดันหาผลประโยชน์หลายครั้ง

“ช่วงเวลานั้น ผมต้องขัดแย้งกับกลุ่มนักธุรกิจใหญ่บางกลุ่มที่ร่วมมือกับนายทหารจ้องจะเข้ามาหาประโยชน์” 

หลังจากลาออกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านยังคงติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ แต่หันหลังให้กับตำแหน่งทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ไม่สนใจหัวโขน แม้จะมีข่าวลือต่างๆ นานาในช่วงที่บ้านเมืองวิกฤติว่า ท่านจะเข้ามารับตำแหน่งอีก

ท่านเล่าว่ารู้จักคนทุกฝ่าย นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ชาวบ้าน ผู้นำนักศึกษา โดยเฉพาะนักการเมืองรู้จักดี ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เพราะเป็นคนชอบเรียนรู้ตลอดเวลา 

“วันก่อนเพิ่งไปงานเปิดตัว 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 เจอ ส.ว.หลายคน แต่ไม่คุยกันเรื่องการเมือง เพราะรู้ว่าต่างคนคิดอะไร”

“เพื่อนหลายกลุ่มที่สนิทกัน ก็ไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องการเมืองเสมอไป โลกนี้มีเรื่องอื่นให้คุยตั้งเยอะแยะ”

“แต่ในชีวิตมีเพื่อนคราวลูกคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อสังคมจริงๆ และเปลี่ยนชีวิตผม คือคุณมด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ผู้ล่วงลับไปแล้ว) คือตลอดชีวิตผมนี่ทำงานต่างประเทศ ใช้ชีวิตอยู่ในวงคนชั้นสูงมาตลอด แต่มดทำให้ผมรู้จักประเทศไทย รู้จักชนบท รู้จักความยากจนของคนจนจริงๆ แกพาผมไปพบปะชาวบ้านตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะชาวบ้านที่เขื่อนปากมูล ผมทึ่งแกมาก ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อคนจน คนยากไร้มาตลอด แต่จิตใจยังนิ่งและจริงใจเสมอ ผมรู้จักมดมายี่สิบกว่าปี และถือว่าเป็นบุญของผมที่ได้มารู้จักมด มดเป็นผู้ให้ผมมากว่าผมเป็นผู้ให้เขา มดอาจจะไม่รู้ตัวว่าให้อะไรแก่ผม แต่ผมรู้ดี”

ในวงสนทนาท่านตลอดสองสามชั่วโมงให้แง่คิดการใช้ชีวิตในวัย 91 ที่น่าสนใจมาก

1. ท่านเรียนรู้ตลอดเวลา ติดตามข่าวสารและทันสมัยเสมอ ไม่เคยตกยุค อาทิ รู้จักคำว่า ‘หิวแสง’ เป็นอย่างดี รู้จักผ่านคลิปที่สอนสำนวนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ ท่านบอกว่าคนคิดสำนวนนี้เก่งมาก อ่านแล้วเห็นภาพเลย ส่วนคำว่า ‘ทัวร์ลง’ รู้จักมาก่อนแล้ว เพราะสถานการณ์ช่วงนี้ มีรถทัวร์มาลงที่บ้านเป็นประจำ พูดพลางหัวเราะ

2. ท่านบอกว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ท่านคิดเชิงบวกตลอด คบเพื่อนต่างรุ่นต่างวัย หลายคนคิดไม่เหมือนกันก็ไม่เป็นไร แต่เป็นเพื่อนพูดคุยกันได้ แต่ไม่ต้องคุยกันทุกเรื่อง คนทุกคนมีทั้งข้อดีข้อเสีย เราพยายามมองข้อดีของพวกเขา

3. ใช้ชีวิตและทำงานมาตลอดแบบไม่ซีเรียส ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง แม้ว่าโลกจะเลวร้ายลง แต่ไม่เคยสิ้นหวัง เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ

4. ท่านลาออกจากกรรมการทุกตำแหน่งมานานแล้ว เพราะเราต้องยอมรับว่า ตามโลกไม่ทันทุกเรื่องและไม่จำเป็นต้องตามให้ทันทุกเรื่อง “อย่างธนาคารที่เคยเป็นประธานบริษัท เราก็ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ของแบงก์กิ้ง ต้องปล่อยให้เด็กๆ ทำดีกว่า ไม่ใช่รุ่นเราที่ต้องไปมีอำนาจ มีตำแหน่งแล้ว เป็นอุปสรรคขององค์กรเปล่าๆ”

5. เราควรสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสทำงานเยอะๆ ให้เขาเข้ามามีอำนาจ ให้เขาเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ต้องยอมรับว่าสังคมจะเดินไปข้างหน้า เพราะคนกลุ่มนี้เป็นหลัก โลกเปลี่ยนแปลงและหมุนเร็วมาก ส่วนคนรุ่นเราต้องรู้จักพอ รู้จักถอยได้แล้ว

6. ชีวิตของคนมีหลายด้าน อย่าเพิ่งตัดสินคนจากการพูดคุยกับเพื่อนไม่กี่ครั้ง เพราะแต่ละคนมีเบื้องหลังรายละเอียดของชีวิตไม่เหมือนกัน พยายามเข้าใจคนก่อนจะตัดสินคน

7. ออกกำลังกายด้วยการเดินเสมอ อาทิตย์ละสามวัน ทุกวันนี้สมองยังใช้การได้ ความจำยังดี ตายังเห็น หูยังไม่ตึง อวัยวะสำคัญที่สุดคือขา ต้องหมั่นดูแล หากยังเดินได้ถือว่าโชคดีที่สุด ไม่เป็นภาระของใคร

8. กินอาหารได้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่กินพออิ่ม เพิ่มเติมคือวิสกี้ใส่น้ำแข็งสักแก้ว 

9. แต่งงานมาหกสิบกว่าปี เข้าใจคำว่าคู่ชีวิตมากขึ้น ยิ่งอายุมาก ยิ่งรู้สึกว่ารักภรรยามากขึ้น 

ดึกแล้ว พวกเราขับรถไปส่งท่านถึงบ้าน ท่านบอกว่า “ขอบคุณมากนะสำหรับอาหารค่ำมื้อนี้ที่สนุกมาก แต่ผมยังไม่นอนหรอก รอดูถ่ายทอดเทนนิส หรือฟุตบอลก่อนนอน” 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save