fbpx

สิ้นสุด Merkelism?: 16 ปี เยอรมนีในมือ ‘อังเกลา แมร์เคิล’

และแล้ว เยอรมนีกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล.

อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งจากพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democratic Union: CDU) ‘แม่’ (Mutti) แห่งเยอรมนี และ ‘ราชีนีแห่งยุโรป’ (Queen of Europe) ได้อำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (และตลอดกาล) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2021 หลังจากครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 4 วาระ เป็นเวลายาวนานถึง 16 ปีผ่านระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง ทนทาน และซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ตำนาน’ ที่โลกต้องจารึก

นับตั้งแต่แมร์เคิลเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2005 คลื่นวิกฤตยักษ์ใหญ่หลายลูกกระหน่ำซัดเยอรมนีไม่ยั้ง เริ่มต้นจากวิกฤตการเงินโลกและวิกฤตยูโรโซนปี 2008-2009 ต่อด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยปี 2015 วิกฤตเสรีประชาธิปไตยหันขวาจากการผงาดขึ้นของพรรค Alternative for Germany (AfD) ปี 2017 และแน่นอน วิกฤตไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา

แต่กระนั้น แมร์เคิลยังคง ‘ยืนหนึ่ง’ อย่างสงบนิ่งท่ามกลางลมพายุการเมืองที่ปั่นป่วนและผันผวนที่สุดในโลกยุคหนึ่งจนขึ้นชื่อว่าเธอคือ ‘พลังแห่งเสถียรภาพ’ บ้างก็ว่าเป็น ‘ผู้จัดการวิกฤต’ หรือแม้กระทั่ง ‘ผู้นำแห่งโลกเสรี’ ที่พยุงเยอรมนี สหภาพยุโรปและโลกเสรีไว้ไม่ให้แหลกสลายในช่วงเวลาอันยากลำบาก

น่าฉงนว่าเธอทำเช่นนั้นได้อย่างไร สมดั่งฉายาแค่ไหน และเธอเปลี่ยนเยอรมนีไปอย่างไรบ้าง

ว่ากันว่าการเมืองแบบ ‘Merkelism’ – การเดินเกมการเมืองสายกลาง (centrism) เน้นเชิงปฏิบัติ เน้นผลสัมฤทธิ์ ประวิงเวลาตัดสินใจยันวินาทีสุดท้าย[1] สร้างฉันทมติเพื่อขยายแนวร่วม กีดกันผู้คัดค้าน และสลายความเป็นการเมืองในประเด็นต่างๆ คือแหล่งที่มาของเสถียรภาพ การครองอำนาจอันยาวนาน และเป็นเบื้องหลังการดำเนินนโยบายหลายอย่างที่ได้รับการยกย่องว่าก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้าต่อวิกฤตทั้งในเยอรมนีและสหภาพยุโรป แต่ในแง่หนึ่ง บางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยมรดกทางการเมืองที่กำกวม ไร้หลักที่แน่นอน และขาดวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคต กล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่หลายประการภายใต้ยุคแมร์เคิลมีมิติที่ซับซ้อนอยู่ไม่น้อย

ในสนามการเมืองเยอรมนี ระบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองมักผลิตรัฐบาลผสม 2-3 พรรคออกมา หากจะช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคต้องได้รับความนิยมจากคะแนนเลือกตั้งและมีแต้มต่อในการสร้างฉันทมติที่กว้างขวางพอในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคต่างอุดมการณ์

หนทางที่แมร์เคิลเลือกในการนำพรรค CDU/CSU[2] เข้าสู่อำนาจ คือการขยับท่าทีและนโยบายพรรคจากการเมืองแบบขวากลางอนุรักษนิยมมาสู่ตรงกลางของสเปกตรัมมากขึ้น มีความเสรีนิยมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้พรรคสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเสรีนิยมอย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย (Free Democratic Party: FDP) หรือที่ยิ่งไปกว่านั้น ร่วมกับพรรคซ้ายกลางอย่างพรรคโซเชียลเดโมแครต (Social Democrat Party: SPD) ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองหลักของเยอรมนี จัดตั้งรัฐบาลตามสูตร grand coalition ร่วม 3 วาระ แนวทางเช่นนี้ช่วยให้การประนีประนอมในการดำเนินนโยบายตามธรรมเนียมการเมืองเยอรมนีเกิดขึ้นได้ง่าย และที่สำคัญกว่านั้น ยังช่วยให้รัฐบาลแมร์เคิลโอบรับวาระและออกนโยบายที่กว้างขวางไปกว่าจุดยืนแบบอนุรักษนิยม

การทำโพลสำรวจ public opinion อย่างเข้มข้นและสม่ำเสมอคืออีกหนึ่งวิธีที่แมร์เคิลใช้เพื่อจับกระแสการเมืองในสังคมและตัดสินใจออกนโยบายเพื่อตอบสนองต่อบรรยากาศทางการเมืองในหมู่ประชาชนและรักษาความนิยมของรัฐบาลและพรรค

นี่คือส่วนผสมที่สร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลแมร์เคิล และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เยอรมนีหลายต่อหลายครั้ง แม้ส่วนผสมเช่นนี้จะไม่ได้ทำงานกับทุกนโยบายในน้ำหนักที่เท่ากันก็ตาม

หลายนโยบายที่แมร์เคิลออกมานับว่ามีความเสรีและก้าวหน้าเลยเส้นอนุรักษนิยม อย่างเช่นการปฏิรูปสวัสดิการครอบครัวในปี 2007 ที่ให้สิทธิลางานเลี้ยงบุตรที่ยืดหยุ่นขึ้นสำหรับคู่ชีวิตทั้งสองฝ่าย หรือนโยบายประกันค่าแรงขั้นต่ำในปี 2015 และที่น่าเซอร์ไพรส์ไปกว่านั้น ไม่มีใครคาดคิดว่ารัฐสภาภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษนิยมคริสเตียนจะผ่านกฎหมายสมรมระหว่างเพศเดียวกันในปี 2017 แม้ว่าแมร์เคิลจะสงวนท่าทีในการสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวก็ตาม

สองการตัดสินใจครั้งใหญ่ของแมร์เคิล ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความเห็นสนับสนุนของสาธารณะ อย่างการปฏิเสธการปิดพรมแดนเยอรมนีเพื่อรับผู้ลี้ภัยราว 1 ล้านคนจากตะวันออกกลางช่วงฤดูร้อนปี 2015 อันเป็นที่มาของวาทะก้องโลก “We can do this!” (“Wir schaffen das!”) (แต่หลังจากผ่านช่วงต้นของวิกฤต ความเห็นสาธารณะก็เปลี่ยนไปอีกทาง) และการประกาศยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายใน 10 ปี เพียงไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลอมละลายที่ฟุกุชิมะในปี 2011 เปลี่ยนทิศทางนโยบายพลังงานของเยอรมนีอย่างถอนรากถอนโคนไปสู่การเตรียมเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พรรค CDU มีแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งทวนกระแสหลักสังคมเยอรมัน

กระนั้น การตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ย่อมตามมาด้วยผลกระทบอันใหญ่ยิ่ง นโยบายเปิดพรมแดนที่นำไปสู่การหลอมรวมความเป็นอื่นให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเยอรมัน ต้องแลกมาด้วยกระแสตีกลับจากฝ่ายขวาสุดโต่งที่ปฏิเสธความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างพรรค AfD ส่วนนโยบายพลังงานก็ต้องแลกมาด้วยการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนที่ล่าช้ากว่าที่ควร เพราะระหว่างเส้นทางสู่ความยั่งยืน การเร่งยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์กลับยิ่งเพิ่มการพึ่งพาพลังงานถ่านหินอย่างเลี่ยงไม่ได้  

แน่นอน แนวทางการเมืองเช่นนี้มีราคาที่ต้องจ่ายอยู่บ้าง แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามรดกจากการเมืองแบบ Merkelism ได้เปลี่ยนโฉมเยอรมนี สร้างเสถียรภาพทางการเมืองอันเข้มแข็ง พาเยอรมนีก้าวสู่ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น และอาจเรียกได้ว่าก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้คุณค่าสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมดำรงต่อไปในสังคมเยอรมัน ในขณะเดียวกันก็พาเยอรมนีถอยห่างออกมาจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์สมัยนาซีอีกก้าวหนึ่ง

เฉกเช่นเดียวกัน แมร์เคิลได้ทิ้งมรดกทางการเมืองที่น่าจดจำไว้ในเวทีสหภาพยุโรป – และหลายคนยกย่องว่านี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดการดำรงตำแหน่งผู้นำของแมร์เคิล – ในฐานะผู้จัดการวิกฤตและนักปฏิบัติผู้รักษาความเป็นเอกภาพไม่ให้โปรเจ็กต์รวมยุโรปล่มสลาย

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตยูโรโซนเมื่อปี 2009 ในจังหวะที่การออกจากสหภาพการเงินของกรีซอาจกำลังกลายเป็นคำตอบสุดท้ายเพื่อจัดการปัญหาหนี้สาธารณะ สหภาพยุโรปภายใต้การนำของแมร์เคิลตัดสินใจออกเงินกู้พร้อมมาตรการการคลังรัดเข็มขัดเพื่อกู้วิกฤตการเงินในกรีซ รวมทั้งในไอร์แลนด์ อิตาลี และสเปนที่ตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสายเช่นกันไม่ต่างจากกรีซ เพราะ “หากยูโรโซนล่ม ยุโรปก็ล่ม” (“If the euro fails, then Europe fails.” )

การตัดสินใจในวินาทีวิกฤตของแมร์เคิลช่วยรักษาไม่ให้ยูโรโซนล่มสลาย และทำให้เธอกลายเป็น ‘ผู้นำในทางปฏิบัติของสหภาพยุโรป’ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่การรักษาเอกภาพในยูโรโซนก็ตามมาด้วยความโกรธเคืองของบรรดาลูกหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรปใต้จากมาตรการรัดเข็มขัด จนกลายเป็นกระแสประชานิยมเอียงซ้ายและความไม่พอใจในบรรดาประเทศเจ้าหนี้ยุโรปเหนือ (ส่วนมากคือแบงค์เยอรมัน ฝรั่งเศส ดัตช์) ที่ต้องจ่ายเงินกู้อุ้มประเทศที่ไร้วินัยการคลัง อีกทั้งหลังวิกฤต แมร์เคิลก็ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์อะไรในการปฏิรูปยูโรโซนหรือต่อเติมสหภาพการคลังในโครงสร้างเพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอย

แต่เพียงแค่ยูโรโซนได้รับการกู้ชีพจนพ้นขีดวิกฤตกลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง รอยร้าวในสหภาพยุโรปถูกเชื่อมประสาน และไม่มีประเทศใดที่ต้องเก็บกระเป๋าออกจากยูโรโซนไป เท่านี้ก็สิ้นสุดปฏิบัติการของนักจัดการวิกฤตแล้วไม่ใช่หรือ?

ต่อมาในฤดูร้อนปี 2015 เยอรมนีในฐานะพี่ใหญ่แห่งสหภาพยุโรปถูกท้าทายอีกครั้งด้วยบททดสอบทางมนุษยธรรม เมื่อผู้อพยพจากตะวันออกกลางหลั่งไหลเข้าสู่พรมแดนสหภาพยุโรป  — คำถามมีอยู่ว่าระหว่างผู้นำลิเบอรัล-ผู้นำสิทธิมนุษยชนและนักปฏิบัติ บทบาทไหนคือมรดกที่แท้จริงจากแมร์เคิลกันแน่

การตัดสินใจเปิดพรมแดนเยอรมนี เรียกร้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เพื่อนร่วมสหภาพยุโรปเปิดรับผู้ลี้ภัย และยกเลิกระเบียบสหภาพยุโรปในการลงทะเบียนผู้ลี้ภัย ณ พรมแดนแรกที่ผู้อพยพมาถึงชั่วคราวนั้นพิสูจน์ว่า ในช่วงเวลาที่วิกฤตมนุษยธรรมต้องได้รับการกอบกู้มากที่สุด เยอรมนีภายใต้แมร์เคิลคือผู้นำลิเบอรัลตัวจริงในสหภาพยุโรป แม้จะนำมาซึ่งความไม่พอใจของกลุ่มประเทศหน้าด่านในยุโรปตะวันออกอย่างฮังการี และไม่ได้มีการกลับมารื้อระบบจัดการผู้ลี้ภัยและผู้อพยพในสหภาพยุโรปภายหลังวิกฤตสิ้นสุดก็ตาม

แต่บทบาทผู้รักษาคุณค่าลิเบอรัลแบบสหภาพยุโรปของเยอรมนีไม่ได้ดำรงอยู่เช่นนั้นเสมอไป เมื่อมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาข้องเกี่ยวในระดับที่มากพอ นี่จึงเป็นเหตุที่เยอรมนีมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนต่อการคว่ำบาตรโปแลนด์และฮังการีตามกระบวนการของสหภาพยุโรปจากการละเมิดหลักนิติธรรม ทำลายความเป็นอิสระของระบบตุลาการและเสรีภาพของภาคประชาสังคม

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าแนวทางแบบ Merkelism ได้ทิ้งมรดกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอันแสนอิหลักอิเหลื่อไว้ในระดับสหภาพยุโรป — แต่แน่นอนว่าแนวทางเช่นนี้ก็ไม่ได้ลบล้างความกล้าหาญของแมร์เคิลในวิกฤตผู้ลี้ภัย

ย่อมเป็นธรรมดาที่ตลอดช่วงระยะเวลา 16 ปีของแมร์เคิลจะมีทั้งขาขึ้นและขาลง ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน (แต่ส่วนมากเป็นดอกไม้) แนวทางการเมืองแบบ Merkelism ไม่ได้ประกันทุกสิ่ง แต่ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มรดกทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แมร์เคิลฝากไว้อย่างแน่นอนคือ เสถียรภาพและการยึดรวมความต่างไว้ไม่ให้แตกสลายในแบบที่ยากจะเลียนแบบ

การอำลาจากเส้นทางการเมืองของแมร์เคิลได้สร้างสุญญาการทางการเมืองครั้งใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ทั้งโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) จากพรรค SPD และอาร์มิน ลาสเช็ต (Armin Laschet) ทายาททางการเมืองสายกลางของแมร์เคิลจากพรรค CDU ที่กำลังช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่กันอยู่ในขณะนี้ได้ให้คำมั่นสัญญาณไว้ว่าจะรับไม้ต่อจากแมร์เคิล แต่เมื่อถึงเวลาเริ่มบรรเลงบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองเยอรมนี แน่นอนว่าตำนานการเมืองแบบ Merkelism ก็จำต้องสิ้นสุดลง

Tschüss Mutti! (Goodbye Mom!)


[1] การตัดสินใจเช่นนี้ โดยเฉพาะในการตัดสินใจระดับสหภาพยุโรปกลายเป็นเอกลักษณ์ของแมร์เคิล จนกระทั่งเกิดศัพท์แสลงที่เรียกวิธีการตัดสินใจลักษณะนี้ในหมู่คนเยอรมันว่า ‘Merkeln’ หรือ ‘to merkel’ ในภาษาอังกฤษ

[2] ในการเมืองระดับสหพันธรัฐ พรรค CDU จะทำงานในรูปแบบสหภาพร่วมกับพรรค CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอุดมการณ์อนุรักษนิยมคริสเตียนระดับท้องถิ่นในแคว้นบาวาเรีย สาเหตุที่ทั้งสองพรรคต้องทำงานร่วมกันเนื่องจากกฎหมายการเลือกตั้งระบุห้ามไม่ให้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เหมือนกันแข่งขันกันในการเลือกตั้งทั่วไป

อ้างอิง


Merkel legacy: EU’s queen with a tarnished crown

How Angela Merkel’s centrist politics shaped Germany and Europe

Will Angela Merkel’s Ambiguous Legacy Last?

The Singular Chancellor

After Merkel

The Post-Heroic Legacy of Angela Merkel

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save