fbpx
ประชาธิปไตย (ไม่) เสรีในการเมืองโปแลนด์

ประชาธิปไตย (ไม่) เสรีในการเมืองโปแลนด์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

บรรยากาศในกรุงวอร์ซอสะกิดให้นึกถึงเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้เสมอ ทั้งอาคารคอนกรีตสีเทาที่เป็นร่องรอยบอกว่าที่แห่งนี้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก่อนที่ระบอบจะล่มสลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ตัดด้วยบรรยากาศแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและประชาธิปไตยพาเข้ามาในโปแลนด์ องค์ประกอบทั้งสองอย่างของเมืองเล่าประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านระบบการเมืองจากคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาธิปไตยในตัวมันเอง

Warsaw landscape

แต่หลังจากการเปลี่ยนผ่าน การเมืองโปแลนด์ดำเนินเส้นทางเสรีประชาธิปไตยตามครรลองหรือไม่ ก็ยังเป็นคำถามที่สหภาพยุโรป ชมรมรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยแห่งทวีปยุโรปย้ำถามโปแลนด์มาตั้งแต่พรรค Law and Justice เข้ามาเป็นรัฐบาลและเริ่มออกแผนปฏิรูประบบตุลาการหลายชุดตั้งแต่ช่วงปี 2015 เป็นต้นมา โดยอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งและเสียงที่ประชาชนสนับสนุน ล่าสุดพรรค Law and Justice เพิ่งชนะจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่สองไปเมื่อสิ้นปี 2019 และยังคงยืนยันคำตอบเดิมว่า “การปฏิรูปแบบที่เป็นอยู่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และจะทำให้ประชาชนชาวโปลเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง” (!?) ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลนี้กำลังบ่อนทำลายคุณค่าและความหมายของประชาธิปไตย

ประเด็นถกเถียงมีอยู่ว่าการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีลักษณะอำนาจนิยมทำให้โปแลนด์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือเป็นมากน้อยแค่ไหน อย่างไรกันแน่ ชวนสำรวจภูมิทัศน์การเมืองโปแลนด์ไปพร้อมกันในบทความชิ้นนี้

 

เมื่อเด็กดีในวันนั้น กลายเป็นเด็กดื้อในวันนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1989 การเจรจาโต๊ะกลม (Round-table talks) ระหว่างรัฐบาลคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านซึ่งนำโดยสหภาพแรงงาน Solidarity ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์โปแลนด์ ผลจากการตกลงเจรจานำไปสู่การล่มสลายลงของระบอบคอมมิวนิสต์ และเปลี่ยนไปรับระบอบการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยควบคู่กับการเปิดเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดเสรีได้อย่างราบรื่น โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ

แน่นอนว่าโปแลนด์ไม่ได้รับมาเพียงสถาบันและกลไกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เป็นสื่อกลางในการใช้อำนาจแทนและเพื่อประชาชน (ซึ่งก็คือการเลือกตั้งที่พวกเรารู้จักกันดี) เท่านั้น แต่รับแนวคิด ‘เสรีนิยม’ ที่เสมือนหัวใจของระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกัน

การเคารพชีวิต สิทธิเสรีภาพ และทรัพย์สินของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงเคารพหลักนิติธรรมซึ่งเป็นการแบ่งแยกอำนาจเพื่อจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ละเมิดหลักสิ่งที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ฯลฯ โปแลนด์โอบรับหลักการเชิงคุณค่าที่สุดแสนจะคุ้นหูเหล่านี้ไว้

ในภาพใหญ่ โปแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1990 และยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ได้สร้างภาพจำของโปแลนด์ในฐานะ ‘เด็กหน้าห้อง’ ในวิชาการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย โดยเฉพาะในสายตาของสหภาพยุโรปผู้เผยแพร่ระบอบและคุณค่าประชาธิปไตยหลักในโลก โปแลนด์นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการเจรจาอย่างสันติ และเมื่อเจรจาสำเร็จแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจให้เป็นแบบเสรีนิยมก็เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ

แต่แล้วภาพจำก็กลายเป็นแค่อดีตให้จดจำ เมื่อปี 2015 พรรค Law and Justice ชนะเลือกตั้งทั้งในสนามการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสนามการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ (สภาเซม) พลิกบทบาทมาเป็นรัฐบาล โดยพรรคสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างที่ไม่มีพรรคการเมืองใดทำได้มาก่อนตั้งแต่โปแลนด์เปิดให้มีการเลือกตั้งเสรีหลังการสิ้นสุดลงของระบอบคอมมิวนิสต์ และเบียดพรรค Civic Platform ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมขวากลาง ให้ไปเป็นพรรคฝ่ายค้านแทน

ว่ากันว่ารัฐบาล Law and Justice ค่อยๆ ลบคำว่า ‘เสรี’ ออกจาก ‘เสรีประชาธิปไตย’ ทีละน้อย แต่คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ยังคงอยู่

ประชาธิปไตยแบบ Law and Justice

พรรค Law and Justice มองประชาธิปไตยอย่างไรกันแน่?

พรรค Law and Justice เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบขวาอนุรักษนิยมชาตินิยม นั่นหมายความว่าพรรคให้ความสำคัญกับความเป็นชาติโปลิช คำว่า ‘ชาติโปลิช’ ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงประเทศชาติที่เราเห็นกันอยู่บนแผนที่ แต่หมายถึง ‘ความรู้สึกร่วม’ ระหว่างคนที่พูดภาษาโปลิช มีวัฒนธรรมแบบโปลิช มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับประวัติศาสตร์โปแลนด์ นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกซึ่งเป็นค่านิยมดั้งเดิมในยุโรปกลาง

พรรคใช้ความรู้สึกร่วมที่ว่านี้เป็นจุดตั้งต้นในการเล่นเกมการเมืองประชาธิปไตย

นอกจากนี้ พรรค Law and Justice เชื่อว่า ‘การเมืองประชาธิปไตย’ ที่แท้จริง จะต้องแสดงเจตจำนงของคนโปล ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งคือหนทางตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะเลือกใครก็ตามแต่ที่จะรับอำนาจประชาชนไปใช้แทน และเมื่อประชาชนได้เลือกแล้วว่า พรรค Law and Justice จะเป็นผู้รับช่วงต่อที่จะแสดงเจตจำนงในนามประชาชน ดังนั้นอะไรก็ตามในระบบการเมืองที่ไม่ได้โอบอุ้มเจตจำนงของประชาชนไว้ หรือขัดขวางไม่ให้พรรคใช้อำนาจที่ประชาชนให้ไว้ พรรคถือว่าเป็นการเมืองที่ผุพัง ลวงหลอกประชาชนชาวโปล เพราะกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังดึงเอาอำนาจออกไปจากมือชาวโปล ไม่ให้การเมืองเป็นของชาวโปลอย่างแท้จริงสักที

ในสายตาของสหภาพยุโรปและพรรคการเมืองเสรีนิยมอื่นๆ อาจมองว่า ‘การปฏิวัติ ค.ศ.1989’ ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อโปแลนด์ปรับมาใช้ระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตยและรับมาตรการ Shock Therapy เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นระบบทุนนิยม แต่สำหรับ Jarosław Kaczyński หัวหน้าพรรค Law and Justice ผู้กุมชะตากรรมการเมืองโปแลนด์แม้ไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาล มองว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นมาหลังปี 1989 ไม่ใช่ระบอบการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรม เพราะเหล่าชนชั้นนำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบการเมืองหลังยุคคอมมิวนิสต์ หรือสหภาพยุโรปที่ Kaczyński มองว่าเป็น ‘คนนอก’ ไม่ได้สร้างระบบการเมืองที่ประชาชนคนโปลธรรมดาเป็นเจ้าของ แต่อำนาจกลับเป็นของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ออกแบบระบบขึ้นมาเท่านั้น

Jarosław Kaczyński หัวหน้าพรรค Law and Justice ผู้กุมทิศทางการเมืองโปแลนด์ ภาพถ่ายโดย Piotr Drabik/Flickr
Jarosław Kaczyński หัวหน้าพรรค Law and Justice ผู้กุมทิศทางการเมืองโปแลนด์ ภาพถ่ายโดย Piotr Drabik/Flickr

เพราะฉะนั้น พรรค Law and Justice ที่เชื่อว่าตนนั้นคือตัวแทนชาวโปล จะต้องสร้างระบบการเมืองขึ้นมาใหม่ และระบบนั้นต้องเป็นของประชาชนชาวโปลตัวจริง ชนชั้นนำทั้งที่เป็นชนชั้นนำเก่าจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่หลงเหลือมาจากสมัยสงครามเย็นและชนชั้นนำที่เข้ามาในระบบการเมืองหลังคอมมิวนิสต์จะต้องออกไป

นี่ก็คือภารกิจของพรรค Law and Justice ที่จะต้องทวงคืนการเมืองกลับมาให้เป็นของประชาชนชาวโปลเสียที และอาวุธที่พรรคจะใช้สร้างระเบียบการเมืองคือ การปฏิรูประบบตุลาการ

Rule of Law or Law of the Ruler?

พรรค Law and Justice มองว่า เมื่ออำนาจที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถือไว้คืออำนาจของประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารก็ควรจะสามารถออกกฎหมายและนโยบายได้อย่างราบรื่น โดยที่การใช้อำนาจของประชาชนไม่ควรจะมีอำนาจอื่นมาขัดขวาง

ดังนั้นอำนาจอื่นที่ไม่ได้เลือกมาจากประชาชนที่เหลืออยู่ตามหลักการการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ ก็คืออำนาจตุลาการ และอำนาจขานี้เองที่พรรค Law and Justice มองว่าเป็นเครื่องกีดขวางทางกฎหมายที่ทำให้ ‘การใช้อำนาจในนามของประชาชน’ นั้นติดขัด ด้วยเหตุนี้ พรรคจึงเชื่อว่าต้องมีการปฏิรูปตุลาการเพื่อถอนรากถอนโคนอำนาจเก่าที่ยังคงอยู่ในระบบ และจะต้องหาวิธีให้ระบบตุลาการ ‘เป็นอำนาจของประชาชน’

และการปฏิรูปตุลาการของรัฐบาล Law and Justice นั้นแน่นอนว่าชอบธรรม เพราะพรรคมองว่า พรรคใช้อำนาจประชาชนมอบให้ในการจัดระเบียบระบบตุลาการใหม่

การปฏิรูปตุลาการที่รัฐบาลออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2015 เริ่มต้นด้วยการออกกฎหมายปรับเปลี่ยนโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนทั้งเงื่อนไขสัดส่วนของผู้พิพากษาและกระบวนการศาล รวมทั้งแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์หรือสนับสนุนพรรค Law and Justice ทั้งหมดนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล (ของประชาชน) ไปโดยปริยาย

นอกเหนือไปจากนี้ รัฐบาลก็ยังออกกฎหมายให้สมาชิกส่วนหนึ่งของสภาตุลาการแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการรักษาความเป็นกลางทางการเมืองของฝ่ายตุลาการมาจากการแต่งตั้งของสภาเซม (Sejm หรือสภาล่าง)

เห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปตุลาการสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

การปฏิรูปตุลาการที่จริงแล้วส่งผลให้พรรค Law and Justice เท่านั้นที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ประชาชนอย่างที่พรรคอ้าง อำนาจที่เทไปที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงน้ำหนักให้ตาชั่งเอียง การปฏิรูปตุลาการที่จริงแล้วอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ฝ่ายตุลาการตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองมากกว่า และเป็นเพียงการเปลี่ยนอำนาจไปสู่อีกมือหนึ่ง ซึ่งพรรค Law and Justice พยายามที่จะดึงให้อำนาจอยู่ในมือของพรรคเท่านั้น

กล่าวคือ หลักนิติธรรมกำลังถูกบิดเบือน และเหตุนี้ก็ทำให้รัฐบาล Law and Justice มีปัญหากับสหภาพยุโรปเพราะรัฐบาลโปแลนด์กำลังละเมิดคุณค่าหลักของสหภาพยุโรป

แต่พรรค Law and Justice ก็มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่หรือ?

ประชาธิปไตย แต่ไม่เสรี?

คำว่าประชาธิปไตย เป็นคำที่เราใช้กันอย่างคุ้นชินได้ยินจนคุ้นหู เมื่อได้ยินคนหนึ่งอาจจะนึกถึงแค่การเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง แต่อีกคนหนึ่งอาจจะนึกถึงการที่รัฐเคารพสิทธิของสามัญชนคนธรรมดาอย่างเรา ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ที่จริงแล้วคำว่าประชาธิปไตยถูกใช้ซ้ำไปซ้ำมาจนเราลืมพิจารณาไปว่าความหมายคืออะไรบ้าง ประชาธิปไตยหมายถึงทั้งการเปิดให้ ‘ประชาชน’ เลือกผู้ที่จะมอบอำนาจของตนให้ใช้แทนอย่างเสรีและเป็นธรรม และความหมายของประชาธิปไตยที่ผสมปนเปไปกับคำว่าเสรีนิยม ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถือคุณค่าเสรีนิยมจะใส่ใจต่อการปกป้องสิทธิของประชาชน ยึดหลักนิติธรรมที่แบ่งแยกอำนาจรัฐ

เมื่อเราดูกรณีที่เกิดขึ้นในโปแลนด์ แน่นอนว่ารัฐบาล Law and Justice มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและนิยมเสียงข้างมาก แต่พรรคยึดถือ ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ หรือเปล่านั้น การปฏิรูปตุลาการ ตลอดจนความพยายามควบคุมเสรีภาพของสื่อ นโยบายปฏิเสธผู้ลี้ภัยและนโยบายต่อต้าน LGBTQ ที่ยังไม่ได้พูดถึงในที่นี้ ก็ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าการเมืองโปแลนด์ในปัจจุบันนั้นตกอยู่ในสภาพ ‘ประชาธิปไตย (ไม่) เสรี’ (Illiberal democracy)

อ่านเพิ่มเติม:

Sheri Berman, Democracy and Dictatorship in Europe (New York: Oxford University Press)

What does Jarosław Kaczyński want? Poland and the rule of law

THE ANATOMY OF ILLIBERAL STATES: ASSESSING AND RESPONDING TO DEMOCRATIC DECLINE IN TURKEY AND CENTRAL EUROPE

Is Europe’s Problem Illiberal Majoritarianism or Creeping Authoritarianism?

Six arguments PiS uses to justify Poland’s judicial overhaul – and why they are wrong

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save