fbpx

เรื่องเดือด 2024: โลกระอุ-เศรษฐกิจติดกับดัก-การเมืองไม่ทันความเปลี่ยนแปลง

ศักราช 2024 เริ่มต้นขึ้น ถือเป็นที่น่าจับตามองทั้งเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในรอยต่อช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญใหม่กำลังจะถูกเขียนขึ้นและเป็นข้อถกเถียงทางความคิดอย่างหนัก ขณะเดียวกันโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีปัญหา แม้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยศึก สงคราม และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

101 จึงใช้โอกาสนี้เปิดวงสนทนา 101 Round Table จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2024 เพื่อมองอนาคตภายใต้สภาวะระอุ โลกจะเดินหน้าไปอย่างไร และประเทศไทยอยู่จุดไหนบนกระดานนี้ ร่วมกันวิเคราะห์เงื่อนไขที่จะพาเราผ่านสถานการณ์ในและนอกได้อย่างราบรื่นไปกับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวและนักวิชาการอิสระ และดำเนินการสนทนาโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

อำนาจเก่ากับการเมืองใหม่ โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่ยังกระท่อนกระแท่น

หลังจากการก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่มากว่า 20 ปีนี้ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อธิบายว่าการเมืองไทยเผชิญหน้ากับชนชั้นนำเดิมที่ครองอำนาจหรือเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางต่างๆ ทางสังคมโดยไม่อยู่หน้าฉาก ขณะเดียวกันสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการและได้เห็นคนกลุ่มใหม่ลุกขึ้นมามีบทบาทท้าทายอำนาจเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้น ความเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงของอำนาจเดิมกลับเป็นปัญหาใหญ่ ณ ปัจจุบัน

ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ชนชั้นนำไทยสามารถตระหนักได้ว่าเวลาใดควรดึงคนกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมใช้อำนาจ หรือประนีประนอม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกระทั่งถึงปีที่แล้วคือความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ เมื่อชนชั้นนำยังคงมองโลกด้วยวิธีคิดแบบเดิม ความน่ากังวลอยู่ที่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนทั่วไป

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เฉพาะสังคมไทย แต่รวมถึงสังคมอื่นๆ ที่มองตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้า (advanced democracy) ล้วนเผชิญกับปรากฏการณ์กิจกรรมทางการเมืองข้ามกรอบเชิงสถาบันหรือสถาบันการเมืองแบบมีตัวแทนไม่สามารถรองรับกิจกรรมทางการเมืองของผู้คนได้ ทำให้ได้เห็นรูปแบบของการเมืองใหม่ รวมถึงพื้นที่แสดงออกใหม่หลายที่ และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในการเมืองไทยเช่นเดียวกัน

ชลิดาภรณ์มองว่า ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษนิยมหรืออำนาจเก่ามีหลายเรื่องที่ต้องจัดการภายใน ซึ่งการรัฐประหาร 2014 ก็เป็นหนึ่งในการพยายามจัดการนั้น แต่ภายหลังจากการรัฐประหารและการเปลี่ยนผ่านบางประการในฝ่ายอนุรักษนิยม ก็พบว่าอนุรักษนิยมไม่มีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่สามารถจัดการได้ด้วยกรอบการมองโลกแบบเดิมอย่างที่กำลังกระทำอยู่

“ในขณะที่ไทยยังไม่ขยับไปไหนทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐก็ไม่ได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ปีนี้อาจมีเรื่องหนักหน่วงหลายประการในทางการเมือง”

สำหรับโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยในปี 2024 มีหลากประเด็น ทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง การทลายขั้วอำนาจเดิมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายคนอาจมุ่งเน้นไปที่เรื่องของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงประชาธิปไตยและความหวังใหม่ของสังคม ชลิดาภรณ์จึงให้ข้อเสนอว่า สังคมควรนำสองเรื่องนี้มาวางกรอบใหม่ ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุยและปรองดอง แน่นอนว่าการร่างกฎหมายเหล่านี้ย่อมมีการถกเถียง แต่ควรเป็นการถกเถียงที่จบในพื้นที่สนทนานั้นและก้าวต่อด้วยกันให้ได้

แม้ว่าพลวัตของฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายก้าวหน้าที่ออกมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ทั้งในส่วนพรรคการเมือง หรือการเมืองนอกกรอบนั้นไม่มีเอกภาพนัก แต่ชลิดาภรณ์กลับไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะความไม่มีเอกภาพในฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะจัดการกับความไม่มีเอกภาพนั้นอย่างไร การโต้เถียงกันในฝ่ายก้าวหน้าไม่ได้แปลว่าความเป็นประชาธิปไตยอ่อนแอ หากสามารถโอบความต่างนี้ไว้ได้นั่นคือความเข้มแข็ง

“ประเทศไทยที่ผ่านมามองไม่เห็นปัญหาหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองในและนอกประเทศ ซึ่งฐานคิดแบบเดิมของรัฐไทยจัดการปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ การจัดการกับสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความสามารถในการเข้าใจประเด็นอย่างมาก จึงอยากให้มองเป็นภาพใหญ่ที่คนในสังคมไทยสามารถร่วมกันคิด ด่ากัน เถียงกันได้ แต่ต้องหาทางออกร่วมกัน เราเสียเวลามาสองทศวรรษโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย”

ชลิดาภรณ์กล่าวว่า สังคมไทยไม่อาจฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นนำได้ ในที่สุดแล้วภาคประชาชนต้องทำอะไรหลายต่อหลายอย่างเพื่อเป็นข้อเสนอของภาคประชาชน พรรคการเมืองที่อยู่ในกระบวนการต้องร่วมผลักดัน โดยไม่ให้อำนาจมาจากบนลงล่าง หากไม่ทำอะไรเลย ในที่สุดไม่เพียงแต่การเผชิญหน้าทางการเมืองเท่านั้น การจัดการเรื่องของเศรษฐกิจ หรือภูมิศาสตร์โลกที่ร้อนระอุก็จะแผดเผาและทำให้เห็นปัจจัยที่ผลักให้ต้องทำอะไรบางอย่างอยู่ดี

ชลิดาภรณ์ทิ้งท้ายว่า ในตอนนี้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว และการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างต่อเนื่องคือ การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการมองโลกและการให้คุณค่าแก่คนหลายกลุ่ม เราอาจใช้เวลาในการรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ในไม่ช้าก็เร็ว ชลิดาภรณ์เชื่อว่า การมีความหวังและใช้พื้นที่ทางการเมืองเท่าที่ตัวเองมีก็สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้

ดังนั้น ชนชั้นนำไทยจะรับรู้หรือมองเห็นหรือไม่ ท้ายสุดจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เพราะสังคมหนีการเปลี่ยนแปลงไม่พ้น

การล้มลงของสถาบันดั้งเดิมหรือขั้วอำนาจที่เป็นผู้กำหนดนโยบายมาโดยตลอดนั้น มักจะไม่ได้ถูกล้มเพราะความเกลียดชัง แต่ถูกล้มเพราะการมองไม่เห็นคุณค่า (indifferent) ของผู้คน ไม่เห็นว่าควรจะมีอยู่อีกต่อไป

“ฉะนั้น หากมีคนแสดงความเกลียดชัง พวกท่านควรจะดีใจ เพราะมันแปลว่าผู้คนยังสนใจอยู่ แต่หากเมื่อใดที่มันไม่มีการพูดถึง ไม่มีการให้ค่าอีกแล้ว นั่นคือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของจริง” ชลิดาภรณ์กล่าว

สิ้นสุดโลกาภิวัฒน์ กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ โจทย์ทางเศรษฐกิจโลกที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวัง

การที่ชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัวและประนีประนอมให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาเฉพาะกับการเมืองในประเทศเท่านั้น อภิชาต สถิตนิรามัย ชี้ว่าสิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อประเทศไทยที่จะปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะที่เรียกว่า โลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่ (neoliberal globalization) ซึ่งสร้างความขัดแย้งและทำให้โลกหันขวา เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศพุ่งสูงขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์ชนชั้นกลางบนของโลกถูกบีบ หรือ the middle-class squeeze พวกเขามองว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ชีวิตของพวกเขายังคงเป็นแบบเดิม ไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาได้ ประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) จึงถูกปฏิเสธมากขึ้น

กระนั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมาค่อนข้างปรากฏชัดว่า โลกาภิวัฒน์แบบเดิมได้จบลงแล้ว และกำลังจะเริ่มต้นยุคใหม่ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้ว (advanced economies) เริ่มแข่งขันกันสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือที่เรียกกันว่า industrial policy ในความหมายเฉพาะทางเศรษฐศาสตร์คือการที่รัฐเพิ่มบทบาทโดยไม่ปล่อยให้ตลาดเสรีทำงานอย่างอิสระเช่นเดิม และรัฐจะเป็นผู้ชี้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาออก Chip Act และ Inflation Reduction Act ที่สะท้อนว่าอเมริกาต้องการจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการสร้างอุตสาหกรรมภายในใหม่ ในขณะที่ยุโรปมีโครงการผลิตเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (green transition) หรืออินเดียมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production-Linked Incentive Scheme) โดยรัฐอัดฉีดเงินจำนวนมากเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่

สิ่งนี้ทำให้การลงทุนข้ามประเทศลดน้อยลงจากการดึงอุตสาหกรรมกลับคืนสู่ประเทศตัวเอง สะท้อนถึงการสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ในรอบสามสิบปี นับตั้งแต่เกิดข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากประเทศยากจนสู่ประเทศรายได้ปานกลาง และพุ่งทะยานค่อนข้างเร็วจากการยึดเหนี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) รวมถึงโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเมื่อกระแสนี้จบลง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหนัก

แม้ว่าโลกจะเข้าสู่ยุคทางเศรษฐกิจใหม่แล้ว สังคมไทยยังคงติดกับดักทางเศรษฐกิจอยู่ โดยอภิชาตชี้ให้เห็นอยู่สามเรื่องใหญ่คือ

หนึ่ง – กับดักแก่ก่อนรวย เมื่อกระแสโลกาภิวัฒน์ลดลง ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคอุตสาหกรรมส่งออก ประเทศไทยไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการเป็นฐานลงทุนของนักลงทุนใหม่อีกต่อไป เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยค่อนข้างแพง ทำให้เราเสื่อมความสามารถทางการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจล่าช้า และการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เข้มข้นขึ้นทุกปี ล้วนแล้วแต่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมแก่ก่อนรวย

สอง – กับดักความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้เป็นอีกชนวนของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น การเมืองสีเสื้อ ที่มีการตอบสนองของ middle class squeez เช่นเดียวกัน

สาม – กับดักเศรษฐศาสตร์ คือไทยเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (small open economy) มีการพึ่งพาต่างประเทศที่สูงเกินไป ทำให้ความผันผวนระหว่างโลกภายนอกส่งผลกระทบเข้ามาในทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นความผันผวนที่อย่างชัดเจน ด้วยประเทศไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวสูง รวมถึงระดับการส่งออกนำและนำเข้าที่รวมแล้วเป็น 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP สิ่งนี้คือกับดักจากการพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป

อภิชาตแนะว่า หากต้องการจะปรับสมดุลใหม่ (rebalance) เพื่อให้ประเทศไทยหลุดออกจากกับดักเหล่านี้ การสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์อาจไม่ได้ส่งผลเสียอย่างเดียว หากแต่เป็นโอกาสด้วยเช่นกัน เราจำเป็นต้องทราบว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจของเราคืออะไร ต้องทำอะไรเพื่อให้เกิดการเติบโตขึ้น เช่น ออกจากเส้นทางอุตสาหกรรมแบบเก่าที่เน้นทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ลดอัตราพึ่งพิงจากต่างประเทศโดยส่งเสริมเศรษฐกิจภายใน (domestic economy)

สิ่งที่เรียกว่า industrial policy จึงสำคัญ ไม่จำเป็นต้องทำไปเพื่อแข่งขันกับใคร เพราะเราไม่ได้มีทรัพยากรเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะสร้างเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) ในไทยได้ แต่ใช้วิธีที่ไม่ต้องใช้เงินหนุนมากในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่

“สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้หากเราปรับระบบการเมืองใหม่ เพราะรัฐควรมีบทบาทนำในการพาเศรษฐกิจเข้าสู่ระยะใหม่ กำหนดกระบวนการนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้กระบวนการนี้ไปได้ เป็นไปได้คือต้องมีทั้งการเติบโตที่ดี (growth) และ การแบ่งสรรที่ดี (distribution)”

ประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงกระบวนการทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุน ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างไม่เป็นมิตรต่อสังคม

อภิชาตจำแนกชนชั้นนำการเมืองไทยที่ถูกเรียกรวมกันออกมาได้อย่างน้อยสามขา คือ political class ชนชั้นนำทางการเมือง ไม่ว่าจะขึ้นสู่อำนาจด้วยรถถังหรือบัตรเลือกตั้งก็ตาม, traditional class ชนชั้นอภิสิทธิ์ดั้งเดิม และ capitalist หรือกลุ่มทุน

“สามอย่างนี้เป็นชนชั้นนำหลักของไทยที่จับมือกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ชะตากรรมของประเทศจะดีจะชั่วขึ้นอยู่กับพวกเขา”

อภิชาตมองว่า ตัวเขาคงไม่มีคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายหรือแนวคิดเช่นนี้เกิดขึ้นจริง การเมืองไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกกระบวนการพัฒนาทั้งหมดกระท่อนกระแท่น ปัญหามากมายถูกซุกไว้ใต้พรม ประเด็นสำคัญคือ ความขัดแย้งทางการเมืองมักตามมาด้วยความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เมื่อการเมืองไร้เสถียรภาพ นักการเมืองก็มักจะมองปัญหาระยะสั้นทั้งหมด พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว เพราะรู้ว่าสังคมการเมืองไทยไม่ค่อยคงที่ (instable) ฉะนั้น การวางแผนระยะยาวจึงมักไม่ได้อยู่ในกรอบคิด

แม้จะดูเหมือนไม่มีทางออกให้กับเรื่องนี้ แต่อภิชาตกล่าวว่า ‘status quo is not an option’ การดำรงอยู่แบบเดิมไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม ผลการเลือกตั้งปี 2566 ชี้ให้เห็นแล้วว่าเป็นแผ่นดินไหวทางการเมือง หากชนชั้นนำไม่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และเราหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสามขาหลักที่ควบคุมทิศทางของประเทศอยู่ ต่อจากนี้อาจอยู่ได้ยากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมไทยทั้งเศรษฐกิจและการเมืองจะเข้าสู่จุดหักเหพร้อมๆ กัน นำมาสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะฉากทัศน์ใหม่ภายนอกได้เกิดขึ้นแล้ว

“ต่างคนต่างต้องเป็น active citizen ถ้าถามว่าจะยุให้คนทำอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลง ก็คงจะยุให้ทำแบบนี้ในพื้นที่ของตน เช่น หากคุณเป็นนักธุรกิจ แล้วคุณรู้ว่าอุตสาหกรรมของคุณกำลังสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันไปเรื่อยๆ คุณจะทำอย่างไรให้คนในแวดวงเดียวกันร่วมหารือ หาทางออก และผลักดันให้เป็นนโยบายรัฐ”

“มันมีแนวรบเล็กๆ จำนวนมหาศาลที่เราต้องเข้าไปสู้ เมื่อมองภาพใหญ่อาจจะยาก ปฏิรูปสามขาหลักจะทำอย่างไร นึกภาพไม่ออกหรอก ฉะนั้น การมีอะไรที่ชัดเจนให้ภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นแนวร่วมได้บ้างก็เป็นทางออกอันหนึ่ง” อภิชาตกล่าว

เดินหน้าประเทศไทยในวันที่การเมืองโลกยังร้อนระอุ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เริ่มต้นอธิบายการเมืองโลกที่ประเทศไทยและภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ โลกในมุมของสุภลักษณ์เห็นการโคจรในเชิงความมั่นคงและการทหาร รวมถึงเกิด hotspot เป็นหย่อมๆ เต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่จุดที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดอย่างเมียนมา ตั้งแต่ที่ มิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารในปี 2021 ทำให้เกิดการต่อต้านมากมาย แต่เหตุการณ์ระอุขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มต่อต้านและกองกำลังชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งเปิดปฏิบัติการที่เรียกว่า 1027 เข้ายึดเมืองสำคัญที่อยู่ชายแดนทางตอนเหนือของเมียนมาเอาไว้ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาโต้ตอบด้วยการโจมตีทางอากาศ (air strike) ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในพื้นที่ไทยมากขึ้น

ถัดไปที่ตะวันออกกลางของโลก เกิดศึกระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งขัดแย้งมานานกว่าศตวรรษ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมา ความขัดแย้งนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนภูมิประเทศและความมั่นคงทางการเมืองของพื้นที่บริเวณนั้น จากการที่ฮามาสถล่มออกมาจากกาซาและได้รับการตอบโต้ที่รุนแรงจากอิสราเอล ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ประเทศไทยเองก็สร้าง diplomatic branding จากเหตุการณ์นี้ไม่น้อย

เหนือดินแดนของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ขึ้นไป เกิด hotspot จากการที่กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส (Islamic State: IS) โจมตีอิหร่านด้วยระเบิดเมื่อไม่นานมานี้ สืบเนื่องจากกรณีของอิสราเอลและฮามาส ฝ่ายอิหร่านผู้เป็นพันธมิตรของฮามาสกล่าวโทษอิสราเอลเรื่องการสนับสนุนกลุ่มไอเอสให้มาโจมตีอิหร่าน ทั้งนี้ไอเอสเองก็เป็นศัตรูกับอิสราเอลเช่นกัน และวัตถุประสงค์หลักจากการโจมตีอิหร่านของกลุ่มไอเอสคือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางอุดมการณ์ศาสนา รวมถึงเรื่องผลประโยชน์ดินแดนต่างๆ

ถัดจากตะวันออกกลางขึ้นไป สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่มีทีท่าจะสงบ และทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจคือ แหล่งโซ่อุปทานทางด้านอาหารและพลังงานในเขตพื้นที่นั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก

คาบสมุทรเกาหลีก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่สงบตลอดปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังคงกระทำการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อยู่เสมอ การทดลองในกระบวนพัฒนานั้นสร้างความสะพรึงให้แก่คาบสมุทรเกาหลี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่เกาหลีเหนือ-ใต้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ซึ่งข่าวการแลกเปลี่ยนอาวุธ รวมถึงทักษะการพัฒนาอาวุธ ระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียไม่นานนี้ ก็คล้ายจะทำให้ทั่วโลกหวั่นวิตก

ถัดจากคาบสมุทรเกาหลีลงมาพบกับปัญหาช่องแคบไต้หวัน ระหว่างจีนและไต้หวัน ซึ่งไต้หวันเองเป็นแหล่งผลิต semiconductor อันดับหนึ่งของโลก สิ่งที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ด้วยกระทบกระเทือนโซ่อุปทาน

ทะเลจีนใต้ก็เป็นอีก hotspot หนึ่งในภูมิภาคเอเชีย สิ่งที่ปรากฏคือ สมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 4-5 ประเทศขัดแย้งกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้ ฉะนั้น ความตึงเครียดก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

และในช่วงใกล้ๆ กันนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์สมัยใหม่ คือการแข่งขันทางด้านทหารระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยจีนขยายอิทธิพลลงมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่เป็นประเด็นมากที่สุดคือการสร้างฐานทัพเรือทางตอนใต้ของกัมพูชา ซึ่งติดกับอ่าวไทย และไทยเองก็ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เลือกข้างไม่ได้ และหากไม่เลือกก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพของความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ hotspot ต่างๆ เกิดขึ้นรายล้อมประเทศไทยเป็นครึ่งวงกลมปกคลุมศีรษะ ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศควรพิจารณาให้มาก สุภลักษณ์แนะว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องคิดเพียงเรื่องทางการทหาร แต่ต้องคิดถึงการใช้ทักษะทางการทูตในการป้องกันประเทศ (defense diplomacy)

สำหรับเรื่องจุดที่ต้องสนใจทางการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะรัฐบาลเพื่อไทยนี้ สุภลักษณ์กล่าวว่าสามารถมองเป็นผลพวงสืบเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วก็ย่อมได้ รัฐบาลที่แม้จะนำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยโดดเด่นเรื่องทางการต่างประเทศ แต่ ‘การเมืองเลว’ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ไทยไม่สามารถแสดงบทบาทอะไรบนเวทีระหว่างประเทศได้ หรือบางครั้งการแสดงออกก็ไม่เข้ายุคเข้าสมัย

“สถานการณ์ที่เรามีรัฐประหาร ข่มเหงฆ่าฟันประชาชน แต่กลับไปสมัครเป็นสมาชิกของ Human Rights Council นี่คือการไม่รู้จักตัวเอง แม้แต่เรื่องทางการทหาร เราตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำจากจีนโดยอาศัยจากความต้องการของกองทัพที่ฝันว่าอยากจะมีเรือดำน้ำ แต่ไม่ได้มองภูมิศาสตร์ของโลกเลยว่า ความจริงจีนไล่แจกเรือดำน้ำในหลายประเทศทีอยู่รอบประเทศเรา แล้วทำไมเรายังต้องซื้อ หรือหากคิดในทางตรงข้าม ทำไมเราไม่ซื้อของประเทศอื่น อย่างชาติตะวันตกที่เราคุ้นเคยมากกว่าเพื่อสร้างความสมดุล

“รัฐบาลปัจจุบันก็พยายามจะทำและหาบทบาทใหม่เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าแรงกระตุ้นที่ส่งมายังไม่ค่อยดี รัฐบาลพยายามที่จะกลับมาให้ความสนใจกับการทูตของเราใหม่ เพิ่มเป้าหมายทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะมาตอบสนองปัญหาเศรษฐกิจภายใน เพียงแต่ว่าแรงส่งของเราไม่มี อานิสงส์ของรัฐบาลที่แล้วก็ไม่ได้ทำไว้ เพราะปัญหาทางการเมืองของเรา หลายประเทศเขาไม่ต้อนรับให้ไปแสดงวิสัยทัศน์อะไร ในขณะเดียวกันคู่แข่งอย่างเวียดนามก็โดดเด่นขึ้นมา ประเทศไทยถูกมองข้ามไปในหลายๆ ครั้ง”

สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สุภลักษณ์คิดว่า ประเทศไทยต้องตระหนักเอาไว้และมองประเด็นนี้ให้ลึกมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง

“ผมคิดว่าโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นมันปิดประตูตายไปแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาทำให้เรารับรู้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถแม้แต่จะหยิบยกเรื่องชนชั้นนำสามขามาพูด หรือยังไม่มีใครจะกะเทาะมันออกมาได้ แล้วทำให้นายทุนกับขุนศึกได้รับการปฏิรูปอย่างที่ควรจะเป็น สองสิ่งนี้ต้องทำพร้อมกัน คุณไม่สามารถเสนอปฏิรูปอย่างใดอย่างหนึ่งได้

“ถามว่าผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ผมเห็น แต่ถามว่าผมทำอะไรได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าผมตัวเล็กเกินไป และที่สำคัญเริ่มแก่ อาจจะทำให้รู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะเข้าไปจัดการความเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ สร้างการกระตุ้นเตือน ช่วยกันพูด ช่วยกันวิพากษ์สิ่งที่เราเห็น ใครมีกำลังผลักดันอะไรก็ทำอย่างนั้น หาสิ่งที่ตัวพอจะทำได้ เพื่อนำไปสู่จุดใหญ่ในอนาคต” สุภลักษ์ทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save