fbpx

ใครเป็นตัวเต็งตัวตึงในการเลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024

ตามกำหนดเดิม อินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศและการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในหน้าคือปี 2024 และหากไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งคือวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว (2023) เคยมีข่าวลือว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีออกไปนำไปสู่การออกมาชุมนุมประท้วงของนักศึกษาอินโดนีเซียนับพันคน ผู้ชุมนุมประท้วงเห็นว่าการเลื่อนการเลือกตั้งจะทำให้ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระเท่านั้น เงื่อนไขดังกล่าวเกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 1999 หลังการสิ้นสุดอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึงเจ็ดสมัย ตั้งแต่ปี 1967-1998

ประธานาธิบดีโจโก วีโดโดปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว และยืนยันว่าเขาเองสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามกรอบเวลาเดิม เรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งก็ซาไป แต่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งกลับมาเป็นประเด็นร้อนในสังคมอินโดนีเซียอีกครั้ง เมื่อพรรค Partai Rakyat Adil Makmur หรือพรรค Prima ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจาการ์ตากลางจากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิ์พรรค Prima ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากว่าพรรค Prima ไม่สามารถลงทะเบียนได้ตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้พรรค Prima กล่าวว่าเป็นเพราะระบบซอฟต์แวร์ของ กกต. อินโดนีเซียที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ศาลจาการ์ตากลางได้มีคำตัดสินให้ กกต. อินโดนีเซียระงับกิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการจัดการเลือกตั้งและกล่าวว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดคือในปี 2025[1]

คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้ง พวกเขามีความเห็นว่าหากปัญหาอยู่ที่ระบบซอฟต์แวร์ของ กกต. ก็ควรแก้ปัญหาตรงนั้น ไม่ใช่ล้มกระดานการเลือกตั้งทั้งหมด และการเลื่อนการเลือกตั้งจะเป็นการทำลายกระบวนประชาธิปไตยที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่เมื่อปี 1998 วันที่ 10 มีนาคม กกต. อินโดนีเซียได้ยื่นคำร้องต่อศาลจาการ์ตากลางเพื่ออุทธรณ์คำพิพากษาชองศาลในกรณีดังกล่าว

เลื่อนไม่เลื่อนเลือกตั้ง: ใครหนุน ใครต่อต้าน ใครได้ ใครเสียประโยชน์

ผู้ที่จะได้ประโยชน์หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งก็คือประธานาธิบดีโจโก วีโดโดที่จะขยายเวลาในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป และการอยู่ในตำแหน่งจะเป็นผลดีในการหาเสียงให้กับผู้ที่โจโก วีโดโดสนับสนุนหรือต้องการวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองต่อไป และพรรคการเมืองที่ยังไม่พร้อม สมัครไม่ทัน หรือไม่ผ่านเงื่อนไขการลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2024 ก็จะมีโอกาสได้ลงทะเบียนอีกครั้งหากมีการเลือกตั้งเลื่อนออกไป นอกจากนี้ผู้ที่สนับสนุนให้เลื่อนการเลือกตั้งเห็นว่าอยากให้โจโก วีโดโดอยู่ต่อเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และวิกฤตเศรฐกิจเสียก่อน

เมื่อตอนมีกระแสข่าวลือว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งในช่วงปีที่แล้ว มีปฏิกิริยาจากบรรดานักศึกษาและนักกิจกรรมทันทีว่าไม่เห็นด้วยและได้มีการชุมนุมประท้วงจนเป็นข่าวมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษาเท่านั้น พรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน หลังคำพิพากษาของศาลจาการ์ตากลางให้กกต.อินโดนีเซียระงับกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ได้ออกมาแสดงท่าทีทันที พรรค NasDem สนับสนุน กกต. อินโดนีเซียในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลจาการ์ตากลางและได้กล่าวด้วยว่าในขณะที่ยังไม่รู้ผลการอุทธรณ์ ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็ต้องดำเนินต่อไป[2] นอกจากพรรค NasDem แล้ว พรรค Partai Kebangkitan Bangsa (PKB) ก็สนับสนุน กกต.อินโดนีเซียในอุทธรณ์เช่นกัน โดยมีความเห็นว่าคำพิพากษาของศาลจาการ์ตากลางนั้นทำเกินหน้าที่และศาลสูงสามารถวินิจฉัยคำพิพากษาดังกล่าวได้[3] พรรค Partai Persatuan Pembangunan (PPP) ก็สนับสนุนกกต.อินโดนีเซียเช่นเดียวกัน ผู้นำพรรค PPP กล่าวว่าการกระทำของ กกต. อินโดนีเซียถูกต้องแล้วเพราะการตัดสินของศาลจาการ์ตากลางนั้นขัดรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนที่ 8: ใครเป็นตัวเต็งตัวตึง

การพัฒนาประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งของอินโดนีเซียคือการที่ประชาชนอินโดนีเซียสมารถเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงและประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงสองวาระเท่านั้น โดยประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้แก่ ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ในการเลือกตั้งปี 2004 ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องลงเป็นคู่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับความสนใจจากสื่อและชาวอินโดนีเซียอยู่เสมอ เพราะเป็นการกำหนดชีวิตทางการเมืองของพวกเขาในช่วงระยะห้าปีในการดำรงตำแหน่ง

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 (หากไม่เลื่อน) จะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 8 ของประเทศ มีการพูดถึงว่าที่ผู้ลงรับสมัครตั้งแต่ปี 2022 และผู้ที่เสนอตัวอย่างเปิดเผย ไม่กระมิดกระเมี้ยนคือหัวหน้าพรรค Gerindra นาย ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อายุ 71 ปี อดีตนายทหาร อดีตบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน มาในปีนี้การพูดถึงเรื่องว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นเรื่องที่สื่อต่างๆ นำเสนอกันแทบทุกวัน ปราโบโวลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วสามครั้งและหากลงในปี 2024 อีกก็จะเป็นครั้งที่ 4 ทำลายทุกสถิติของการลงรับสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งหากเขาประสบความสำเร็จไปถึงฝันในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะเป็นประธานาธิบดีที่ก่อให้เกิดการดีเบตอย่างมากแน่นอน เนื่องจากว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณีโดยเฉพาะในช่วงยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต

หนึ่งในตัวเต็งที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุดในฐานะว่าที่ผู้สมัครประธานาธิบดีได้แก่ กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo), ปราโบโว ซูเบียนโต และ อานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan) ชื่อกันจาร์ ปราโนโว อายุ 54 ปี ในฐานะหนึ่งในตัวเต็งที่จะเป็นว่าที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งประธานาธิบดีปรากฏผ่านสื่ออย่างคึกคักในช่วงสองปีที่ผ่านมา กันจาร์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลางและได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากโจโก วีโดโดประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กันจาร์มีภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองที่ติดดิน เข้าถึงง่าย คล้ายๆ กับโจโก วีโดโด

นอกจากนั้นยังมี อานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan) อายุ 53 ปี อีกหนึ่งตัวเต็งและน่าจับตาดู เขาเป็นอดีตผู้ว่าการจาการ์ตา (ค.ศ. 2017-2022) และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม (ค.ศ. 2014-2016) ผู้มีภาพความเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัด ในการเลือกตั้งผู้ว่าการจาการ์ตาเขาได้รับคะแนนจากกลุ่มชาวมุสลิมที่สนับสนุนเขาในการลงแข่งกับอาฮก (Ahok) หรือ บาซูกี จาฮายา ปูรนามา (Basuki Tjahaja Purnama) นักการเมืองอินโดนีเซียเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสเตียนโปรเตสแตนต์ อดีตผู้ว่าการจาการ์ตา (ค.ศ. 2014-2017) ที่เคยถูกตัดสินจำคุกสองปีจากข้อหาดูหมิ่นศาสนา

ในบรรดาตัวเต็งต่างๆ มีการพูดถึง ปวน มหารานี (Puan Maharani) วัย 49 ปี สตรีหนึ่งเดียวในฐานะว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ปวน มหารานีเป็นบุตรสาวของเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี และหลานสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกและบิดาแห่งเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันปวนดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนประชาชนอินโดนีเซียหญิงคนแรกของประเทศ อย่างไรก็ตามหากเทียบกับคนอื่นๆ ปวนดูเหมือนจะมีภาษีน้อยที่สุดถึงแม้ว่าจะเป็นทายาทสายตรงของซูการ์โนก็ตาม เธอไม่มีความโดดเด่นทางการเมืองเท่ากับปราโบโว กันจาร์ หรืออานีส

นักวิเคราะห์การเมืองอินโดนีเซียประเมินว่าอานีส บัสเวดันจะได้รับการสนับสนุนจาก Koalisi Perubahan (แนวร่วมการเปลี่ยนแปลง) ที่เป็นการทำงานร่วมกันของสามพรรคการเมือง ได้แก่ พรรค Nasdem พรรค Demokrat และ พรรค Partai Keadilan Sejahtera (PKS) พรรค Nasdem ได้ประกาศสนับสนุนอานีส บัสเวดันมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในขณะที่ปราโบโวจะลงชิงตำแหน่งโดยกลุ่ม Koalisi Kebangkitan Indonesia Raya (แนวร่วมการตื่นขึ้นของอินโดนีเซียอันยิ่งใหญ่) ที่เป็นการประสานงานกันระหว่างพรรค Gerindra กับ พรรค PKB ส่วนกันจาร์ ปราโนโวถูกคาดน่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรค PDI-P ผ่าน Koalisi Indonesia Bersatu (แนวร่วมอินโดนีเซียรวมเป็นหนึ่ง) ร่วมกับพรรค Golkar พรรค Partai Amanat Nasional (PAN) และพรรค PPP[4] อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ (กลางเดือนมีนาคมปี 2023) ก็ยังไม่มีความแน่นอนและชัดเจนจากพรรค PDI-P ว่าจะสนับสนุนใครในการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี

ล่าสุดวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมามีข่าวโยนหินถามทางถึงความเป็นไปได้ที่จะเป็นคู่ปราโบโวกับกันจาร์ ซึ่งทางฝ่ายพรรค PDIP ของนางเมกาวตี ซูการ์โนปุตรีได้ยืนยันว่านางเมกาวตีหัวหน้าพรรค PDIP แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่าใครจะเป็นคู่ที่ดีที่สุด ดังเช่นที่เมกาวตีเคยสนับสนุนโจโก วีโดโดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2014 และ 2019 และหากจะเป็นไปได้หากจะเป็นคู่ปราโบโว-กันจาร์ ก็คือปราโบโวต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพราะหากเป็นการเสนอและสนับสนุนโดยพรรค PDIP ผู้สมัครประธานาธิบดีต้องมาจากพรรค PDIP[5] ก่อนหน้านี้แกนนำพรรค Gerindra ได้ออกมาพูดว่าทางพรรคเปิดกว้างที่จะดึงกันจาร์มาเข้าร่วมในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยมีเงื่อนไขคือปราโบโวต้องลงในตำแหน่งประธานาธิบดี และยังสำทับว่าปราโบโวอาวุโสกว่ากันจาร์ถึง 15 ปี ซึ่งเป็นเครื่องการันตรีถึงประสบการณ์ในทางการเมืองที่มีมากกว่าดั้งนั้นจะให้ปราโบโวลงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตามตราบใดที่ยังไม่มีการลงทะเบียนสมัครและเห็นการประกาศคู่สมัครอย่างเป็นทางการ กระแสข่าวลือการจับมือระหว่างขั้วการเมืองต่างๆ มีมาให้เห็นและทำให้แปลกใจได้อยู่เรื่อยๆ นอกจากคู่ ปราโบโว-กันจาร์, กันจาร์-ปราโบโวแล้ว ยังมีการเสนอชื่อคู่ ปราโบโว-อายร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต (Airlangga Hartarto) หัวหน้าพรรค Golkar, อานีส-อากุส ฮารีมูรตี ยูโดโยโน (Agus Harimurti Yudhoyono) บุตรชายของซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน, กันจาร์-อีริค ธอฮีร์ (Erick Thohir), ปราโบโว-อีริค ธอฮีร์, อานีส-ปวน มหารานี, อานีส-กันจาร์ หรือ อานีส-ปราโบโว เป็นต้น

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน[6]

หลายสถาบันได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี อันที่จริงมีการทำการสำรวจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว จากผลการสำรวจล่าสุดตอนต้นเดือนมีนาคมปีนี้พบว่าชื่อว่าที่ผู้ลงสมัครที่รับสมัครเลือกตั้งสามอันดับแรก คือ อานีส บัสเวดัน กันจาร์ ปราโนโว และปราโบโว ซูเบียนโต

1. Lembaga survei Indonesia Political Opinion ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,200 คนระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคมปี 2023 โดยให้ประชาชนเลือกจากห้ารายชื่อ ผลการสำรวจครั้งนี้ออกมาว่า คนเลือกอานีส บัสเวดัน 32.6%, กันจาร์ ปราโนโว 26.8%, ปราโบโว ซูเบียนโต 25.1%, อากุส ฮารีมูรตี ยูโดโยโน 7.0% และปวน มหารานี 3.9%

2. การทำการสำรวจโดย Median ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 จากผู้ทำแบบสอบถามทั้งสิ้น 400 คน อายุระหว่าง 17-60 ปี ผลการสำรวจเป็นดังนี้ ปราโบโว ซูเบียนโต 20.5%, กันจาร์ ปราโนโว 18.9%, อานีส บัสเวดัน 17.9%, ริดวัน กามิล (Ridwan Kamil) 9.0% และอากุส ฮารีมูรตี ยูโดโยโน 3.5%

3. Indonesia Polling Stations (IPS) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนระหว่างวันที่ 15-24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2023 จำนวนทั้งสิ้น 1,200 คน ผู้ตอบแบบสอบถามเลือก ปราโบโว ซูเบียนโต 33.2%, กันจาร์ ปราโนโว 22.1%, อานีส บัสเวดัน 20.9%, ริดวัน กามิล 6.2% และอากุส ฮารีมูรติ ยูโดโยโน 4.3%

4. Lembaga Survei Political Statistics (POLSTAT) ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 จำนวน 1,220 คน อายุ 17 ปีขึ้นไป ผลปรากฏว่า ปราโบโว ซูเบียนโต 33%, กันจาร์ ปราโนโว 20.6%, อานีส บัสเวดัน 19.4%, ริดวัน กามิล 6.4% และอากุส ฮารีมูรติ ยูโดโยโน 3.5%

5. Survei dan Polling Indonesia (SPIN) ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ผู้ตอบแบบสอบถาม 1,230 คน ผลคือ ปราโบโว ซูเบียนโต 33%, กันจาร์ ปราโนโว 20.6%, อานีส บัสเวดัน 20.0%, ริดวัน กามิล 8.0% และอากุส ฮารีมูรติ ยูโดโยโน 3.0%

6. Litbang Kompas ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 มกราคมถึง 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 จาก 1,202 คน ผลการสำรวจคือ กันจาร์ ปราโนโว 25.3%, ปราโบโว ซูเบียนโต 18.1%, อานีส บัสเวดัน 13.1% และริดวัน กามิล 8.4% และหากแยกย่อยดูผู้ตอบแบบ.สอบถามจาก Gen Z (สอบถามผู้มีอายุระหว่าง 17-26 ปี) เลือกกันจาร์ 28%, ปราโบโว 20.6%, ริดวัน 9.1% และอานีส 8.8%

สัดส่วนของประชากรอินโดนีเซียในปัจจุบันคือ[7]

– Gen Boomer (อายุระหว่าง 59-77 ปี) 13.43% คิดเป็นประชากรประมาณ 31.01 ล้านคน

– Gen X (อายุระหว่าง 43-58 ปี) 21,88% คิดเป็นประชากรประมาณ 58.65 ล้านคน

– Gen Y (อายุระหว่าง 27-42 ปี) 21,88% คิดเป็นประชากรประมาณ 58.65 ล้านคน

– Gen Z (อายุระหว่าง 11-26 ปี) 27.94% คิดเป็นประชากรประมาณ 74.93 ล้านคน

– Post Gen Z (เกิดตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป)

จากผลการสำรวจของสถาบันและองค์กรต่างๆ มีชื่อปราโบโว ซูเบียนโตมาเป็นอันดับแรกและอันดับที่สอง หากจะสกัดไม่ให้ปราโบโวชนะในการเลือกตั้งคงต้องเป็นคู่กันจาร์ ปราโนโว-อานีส บัสเวดัน แต่ถ้าหากว่าปราโบโว สามารถจับมือและต่อรองทางการเมืองกับกันจาร์ ปราโนโวและพรรค PDIP ซึ่งหมายถึงเมกาวตีซึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกันมาก่อนได้จริง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ชื่อประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซียจะเป็นปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งตกค้างมาจากยุคระเบียบใหม่ และจะเป็นการตอกย้ำวลีที่ว่า “ในทางการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”


[1] S. Dian Andryanto (ed.), “Pemilu 2024 Ditunda, Partai Prima Beri Balasan Sentilan Mahfud MD dan Hasto Kristiyanto,” Tempo, 11 March 2023, https://nasional.tempo.co/read/1701164/pemilu-2024-ditunda-partai-prima-beri-balasan-sentilan-mahfud-md-dan-hasto-kristiyanto

[2] Firda Cynthia Anggrainy, “NasDem: Putusan PN Jakpus Belum Inkrah, Tahapan Pemilu Tetap Harus Jalan, DetikNews, 13 March 2023, https://news.detik.com/pemilu/d-6616866/nasdem-putusan-pn-jakpus-belum-inkrah-tahapan-pemilu-tetap-harus-jalan

[3] Firda Cynthia Anggrainy, “Dukung KPU Banding, PKB Yakin PT Koreksi Putusan PN Jakpus Tunda Pemilu,” DetikNews, 13 March 2023, https://news.detik.com/pemilu/d-6616665/dukung-kpu-banding-pkb-yakin-pt-koreksi-putusan-pn-jakpus-tunda-pemilu

[4] Fitria Chusna Farisa (ed.), “Pilpres 2024 Diprediksi Diikuti 3 Capres: Ganjar, Prabowo, dan Anies,” Kompas, 1 March 2023, https://nasional.kompas.com/read/2023/03/01/05500061/pilpres-2024-diprediksi-diikuti-3-capres–ganjar-prabowo-dan-anies

[5] Amirullah (ed.), “Soal Peluang Duet Prabowo-Ganjar, PDIP Sebut Megawati akan Putuskan Pasangan Terbaik,” Tempo, 13 March 2023, https://nasional.tempo.co/read/1701982/soal-peluang-duet-prabowo-ganjar-pdip-sebut-megawati-akan-putuskan-pasangan-terbaik

[6] เรียบเรียงจาก Tiara Aliya Azzahra, “Elektabilitas Para Bakal Capres di 6 Survei Terkini,” Detiknews, 12 March 2023, https://news.detik.com/pemilu/d-6614110/elektabilitas-para-bakal-capres-di-6-survei-terkini และ Novianti Setuningsih (ed.), “Elektabilitas Ganjar Teratas di Litbang “Kompas”, PDI-P: Itu Buah Kaderisasi,” Kompas, 23 February 2023, https://nasional.kompas.com/read/2023/02/23/14494291/elektabilitas-ganjar-teratas-di-litbang-kompas-pdi-p-itu-buah-kaderisasi

[7] “6 Macam Generasi di Indonesia, Kamu Termasuk yang Mana?,” eCampuz, https://blog.ecampuz.com/6-macam-karakter-tipe-generasi-di-indonesia/

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save