fbpx

ไต้หวันหลังเลือกตั้ง 2024 : วิเคราะห์ฉากทัศน์สำคัญ กับ สิทธิพล เครือรัฐติกาล

เลือกตั้งไต้หวัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แลดูเหมือนว่าโลกได้หมุนย้อนสู่ ‘วิกฤตสงคราม’ (War Crisis) และภาวะความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) พังทลาย ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ต่างบ่งชี้สภาพการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่นอกเหนือจากนี้ ทั่วโลกยังมีความขัดแย้งคุกรุ่นที่อาจรอวันปะทุ ตัวอย่างเช่น ‘ไต้หวัน’ ซึ่งตกอยู่ท่ามกลางข้อพิพาทกับจีนแผ่นดินใหญ่มาอย่างยาวนาน

ด้วยความเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของฝั่งทะเลจีนใต้ หลายประเทศ รวมถึงชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจึงจับจ้องความเคลื่อนไหวของการเมืองไต้หวัน โดยเฉพาะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2024 ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ชนะเป็นสมัยที่ 3 ทำให้ข้อพิพาทระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มีท่าทีผ่อนคลายลง เมื่อรวมกับถ้อยแถลงก่อนหน้านี้ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนที่ว่า ‘การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างสงครามกับสันติภาพ‘ ทั้งหมดสร้างความกังวลแก่นานาชาติว่าความตึงเครียดของช่องแคบไต้หวัน จะนำไปสู่ ‘สงคราม’ หรือท้ายที่สุดไต้หวันและจีนจะหาจุดร่วมโดยไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหารและแสวงหนทาง ‘สันติภาพ’ ได้

101 ชวนสนทนากับ สิทธิพล เครือรัฐติกาล ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ และที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวิเคราะห์เจาะลึกผลการเลือกตั้งไต้หวัน 2024 ที่จะพาโลกไปสู่ ‘สงคราม’ หรือ ‘สันติภาพ’ พร้อมมองฉากทัศน์ของไต้หวันและจีน รวมถึงฉากทัศน์ของไต้หวันและโลกต่อจากนี้


YouTube video


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One Ep.316 ไต้หวันหลังเลือกตั้ง 2024 – สงครามหรือสันติภาพ? เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2024


เสียงสะท้อนของประชาชนไต้หวันผ่านการเลือกตั้ง 2024


การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง 2 เรื่องพร้อมกัน ได้แก่ การเลือกประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เมื่อกล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) นำโดย วิลเลียม ไลชิงเต๋อ ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 5.6 ล้านเสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 40 จากคะแนนเสียงทั้งหมดนั้น จะถือเป็นชัยชนะที่น่าอภิรมย์ สมควรแก่การเฉลิมฉลองหรือไม่ คงต้องมองย้อนไปถึงข้อมูลการเลือกตั้งครั้งก่อน

การเลือกตั้งในปี 2020 ไช่อิงเหวินชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 8.1 ล้านเสียง ถือว่ามากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงของไต้หวันนับตั้งแต่ปี 1996 แต่ในปี 2024 นี้ แม้พรรค DPP จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ชนะในจำนวนที่ลดลง ส่วนพรรคอันดับที่ 2 คือ พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ได้คะแนนเสียง 4.6 ล้านเสียง และอันดับที่ 3 คือ พรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ได้คะแนนเสียง 3.6 ล้านเสียง

ด้านการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ พรรค DPP ไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ ต่างจากช่วง 8 ปีที่ผ่านมาที่พรรค DPP ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ เดิมเคยได้ 61 ที่นั่ง ลดลงไปเหลือ 51 ที่นั่ง จากทั้งหมด 113 ที่นั่ง ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีผู้เลือกพรรค DPP น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

“เป็นชัยชนะก็จริง แต่ว่าเป็นชัยชนะที่ทั้งจำนวน Popular vote ของประธานาธิบดีลดลง และไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติได้  ดังนั้น การผลักดันนโยบายของพรรค DPP ในอนาคตจึงน่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร” สิทธิพลกล่าว

คะแนนที่น้อยลงไปของพรรค DPP ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายภายในประเทศที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชนไต้หวัน เนื่องจากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ปีหลัง หรือสมัยที่ 2 ของไช่อิงเหวิน พรรค DPP มีปัญหาด้านการบริหารนโยบายภายในอยู่หลายอย่าง เช่น การจัดสรรที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพง หรือช่วงโควิด-19 ที่ประชาชนไต้หวันได้รับวัคซีนล่าช้าเพราะพรรค DPP ต้องการวัคซีนจากโลกตะวันตกเท่านั้น แม้จะมีข้อเสนอจากฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่พร้อมจะช่วยเหลือก็ตาม หรือการเปลี่ยนข้อกำหนดเรื่องการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากปัจจัยความตึงเครียดข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวันและจีน จากเดิมที่ระยะเวลาในการเกณฑ์ทหารอยู่ที่ 4 เดือน เปลี่ยนเป็น 12 เดือน เป็นต้น

แต่ในแง่หนึ่ง ต่อให้พรรค DPP มีข้อบกพร่องด้านการบริหารหลายอย่าง สุดท้ายก็ยังสามารถชนะการเลือกตั้งได้ บ่งชี้ว่าจุดยืนเรื่องความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของประชาชนไต้หวัน


ระบบการเมืองสองพรรค และทางเลือกที่สาม


การมีพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ในฐานะทางเลือกที่สาม ถือว่ามีส่วนทำให้คะแนนของสองพรรคใหญ่อย่างพรรค DPP และพรรค KMT ลดลง เพราะในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2000 ที่พรรค KMT หลุดจากการเป็นรัฐบาลครั้งแรก การเมืองในไต้หวันกลายเป็นการเมืองระบบสองพรรคที่มีความขัดแย้งกันสูง ทั้งยังเป็นความขัดแย้งเชิงอคติที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน

“เวลาพรรค DPP เสนอสิ่งใดมา พรรค KMT จะต้องคัดค้านโดยอัตโนมัติ หรือถ้าพรรค KMT เสนอสิ่งใดมา พรรค DPP ก็จะคัดค้านโดยอัตโนมัติ สภาวะแบบนี้อยู่กับการเมืองไต้หวันมา 20 กว่าปี จึงควรจะมีทางเลือกที่สามที่สามารถกำหนดนโยบายอะไรพ้นไปจากการขัดแข้งขัดขาของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ไม่ถูกอคติทางการเมืองทำลาย ดังนั้นพรรค TPP ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่โดดเด่น และสามารถแย่งคะแนนเสียงจากทั้งพรรค DPP และ KMT ไปเยอะพอสมควร” สิทธิพลอธิบาย

นอกจากนี้ หากดูจากการสำรวจทัศนคติประชาชนไต้หวันจำนวนมาก พบว่า ไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาลและมีจุดยืนจะประนีประนอมกับจีนแผ่นดินใหญ่ หรือเอนเอียงไปในทางเชิดชูอัตลักษณ์และเอกราชของไต้หวันก็ตาม คนจำนวนมากตระหนักดีว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือการบริหารความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ให้เกิดความตึงเครียด ดังนั้น เรื่องการบริหารความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ให้ราบรื่นหรือทำให้เกิดความตึงเครียดน้อยที่สุดเป็นสิ่งที่ประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการ


ปฏิกิริยาของจีนต่อผลการเลือกตั้งไต้หวัน 2024


หลังผลการเลือกตั้งออกมา สำนักงานกิจการไต้หวันแห่งชาติของจีนได้แถลงว่า “ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่อาจทำลายความจริงที่ว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนได้” ทั้งทางการจีนก็ได้กล่าวแล้วว่า แนวทางการรวมชาติของจีนคือ จีนจะยอมเจรจากับไต้หวันก็ต่อเมื่อรัฐบาลของไต้หวันยอมรับฉันทมติ 1992 (1992 Consensus)

ฉันทมติ 1992 เป็นข้อตกลงที่เกิดจากการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของจีนแผ่นดินใหญ่และเจ้าหน้าที่ของไต้หวัน เพื่อหาจุดยืนร่วมกันในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ และได้จุดยืนว่าในอนาคตอันไกลโพ้น (Ultimate goal) ชาติจีนจะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แม้ความคิดเห็นเรื่องการรวมประเทศของจีนและไต้หวันอาจไม่ตรงกันเรื่องวิธีการในการรวมประเทศ แต่อย่างน้อยเรามีจุดยืนร่วมกันแล้วว่าจะพัฒนาไปทิศทางใด

ด้านความเห็นจากพรรคการเมือง พรรค KMT ยังสนับสนุนจุดยืนฉันทมติ 1992 อยู่ ขณะที่พรรค DPP ไม่ยอมรับ โดยให้ความเห็นว่า เราควรจะเคารพความจริงที่ว่าตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา สองฝั่งช่องแคบต่างมีรัฐบาลแยกเป็นอิสระออกจากกันและกัน และไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องกลับไปรวมกันอีก


ฉากทัศน์ของจีนและไต้หวันในอนาคต


ยุคของรัฐบาลไช่อิงเหวิน จีนได้เพิ่มจำนวนการซ้อมรบ ปล่อยบอลลูนสอดแนม หรือมาตรการกีดกันทางด้านเศรษฐกิจกับไต้หวันมากขึ้น เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจึงทำให้ทั่วโลกกังวลว่าจีนจะใช้กำลังจัดการกับไต้หวัน แต่สิทธิพลกลับคิดว่าฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นจะยังไม่ถึงขั้นนั้น สิ่งที่จีนทำเป็นเพียงการสร้างแรงกดดันเพื่อให้รัฐบาลไต้หวันยอมรับฉันทมติ 1992

“จีนค่อนข้างคิดคำนวณผลได้ผลเสียของสงครามพอสมควร กรณีความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ อย่าลืมว่าไม่ได้มีปัจจัยเฉพาะจีนและไต้หวันเท่านั้น ยังมีสหรัฐอเมริกาอีกด้วย เพราะฉะนั้นการจะใช้กำลังในการรวมไต้หวัน เป็นเรื่องที่จีนต้องพยายามหลีกเลี่ยง เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสมัยที่ 3 ของพรรค DPP และเป็นสมัยที่ 1 ของไลชิงเต๋อ คือปฏิบัติการในเชิงจิตวิทยา ปฏิบัติการในการบีบคั้นทางการทูต การบีบคั้นทางการทหาร หรือการบีบคั้นทางเศรษฐกิจจะหนักข้อขึ้น” สิทธิพลกล่าว

ส่วนฉากทัศน์ที่สิทธิพลหวังให้เกิดมากที่สุด คือทั้งจีนและไต้หวันต่างประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติเรื่องการรวมชาติตามทัศนคติของจีน อุดมคติเรื่องอัตลักษณ์และความเป็นเอกราชของไต้หวัน หากแนวคิดยึดมั่นการรวมชาติของจีนสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเลือดเสียเนื้อ คนเป็นล้านจะต้องสูญเสียชีวิต และเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าทางการทหารกับสหรัฐฯ จีนจะถือว่าเรื่องนี้ถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนทางฝั่งไต้หวันก็ต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน

หากพิจารณาท่าทีของพรรค DPP ในการเป็นรัฐบาลครั้งแรกปี 2000-2008 ที่นำโดยประธานาธิบดี เฉินสุยเปี่ยน จากยุคเฉินสุยเปี่ยน 8 ปีแรก และไช่อิงเหวิน 8 ปีหลัง จะสังเกตได้ว่าไช่อิงเหวินมีท่าทีต่อต้านจีนน้อยกว่าเฉินสุยเปี่ยน เพราะได้บทเรียนจากยุคเฉินสุยเปี่ยนว่าหากทำอะไรแรงเกินไปจะส่งผลทางลบอย่างคาดไม่ถึง แสดงให้เห็นว่าพรรค DPP ก็เรียนรู้จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพจริง และไม่ทำอะไรสุ่มเสี่ยงโดยพลการ

อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์นี้ก็ถือว่าเป็นไปได้ยาก สิทธิพลกล่าวถึง 2 แนวทางในฐานะที่เป็นผู้ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า “แนวทางแรกคือวิเคราะห์โดยดูตามสภาพจริง เราคาดหวังอะไรมากไม่ได้กับความขัดแย้ง และอีกแนวทางหนึ่งคือการหาวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้โดยคำนวณความคุ้มค่าเรื่องความมั่นคงในชีวิตของมนุษย์เป็นสำคัญ”

แม้กล่าวว่าฉากทัศน์ที่จีนใช้กำลังกับไต้หวันจะไม่เกิด แต่หากในอนาคตไลชิงเต๋อประกาศเอกราชของไต้หวัน แก้รัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนชื่อประเทศ แสดงชัดเจนว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีนอีกต่อไป จีนคงใช้กำลังกับไต้หวัน ถึงกระนั้นพรรค DPP ก็รู้ดีว่าการยั่วยุให้จีนโกรธคงไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ทั้งอาจทำให้คะแนนนิยมของพรรคลดลงด้วย


พรรค DPP ยุคไลชิงเต๋อ : การจัดการความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ


สิทธิพลชี้ว่าแนวนโยบายความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบและนโยบายภายนอกของไต้หวันคงไม่ต่างจากยุคไช่อิงเหวินมากนัก ด้านหนึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่ไลชิงเต๋อจะลุกขึ้นมายอมรับฉันทมติ 1992 เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับหลักการจีนเดียว หากพรรค DPP ลุกขึ้นมายอมรับหลักการจีนเดียว ก็เสมือนเป็นการทำลายเหตุผลของการมีอยู่ของพรรค

ทั้งนี้ ไลชิงเต๋อบอกชัดเจนว่าไม่ได้ปิดกั้นการเจรจากับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่มีเงื่อนไขว่า “ไต้หวันยินดีจะมีการเจรจากับจีนแผ่นดินใหญ่ก็ต่อเมื่อแผ่นดินใหญ่ยอมรับว่าสองฝั่งช่องแคบมีสถานะเป็นประเทศเท่ากัน” ด้านฝั่งจีนบอกว่า “ณ ปี 1949 ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสาธารณรัฐจีนอีกต่อไปแล้ว คนที่ย้ายไปอยู่ที่ไต้หวันคือกลุ่มการเมืองกลุ่มกบฏที่ไม่ยอมจำนนเท่านั้น ไต้หวันมีสถานะเป็นแค่มณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ด้วยอุดมคติที่ต่างกันของไต้หวันและจีนจึงทำให้โอกาสที่จะเกิดการเจรจานั้นเป็นไปได้ยาก

“ทั้งฝั่งจีนและฝั่งไต้หวันควรประนีประนอมกันให้มากที่สุด หาจุดกึ่งกลางที่จะก่อให้เกิดความมั่นคง เกิดเสถียรภาพ ไม่เกิดการใช้กำลังข้ามช่องแคบไต้หวัน สวัสดิภาพของผู้คนคือสิ่งสำคัญมากกว่าชัยชนะทางการทหาร” สิทธิพลกล่าว


พรรค DPP ยุคไลชิงเต๋อ: ความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ


สิ่งที่ไต้หวันพยายามทำมาตลอดตั้งแต่ยุคไช่อิงเหวิน คือ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) โดยมีเป้าหมายคือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ รวมไปถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ภายใต้ร่มนโบายใหญ่ดังกล่าว รัฐบาลไช่อิงเหวินดำเนินนโยบายย่อยหลายด้าน เช่น ฟรีวีซ่าให้กับผู้ถือพาสปอร์ตไทย การส่งเสริมเรื่องทุนการศึกษาในการเรียนภาษาจีน เป็นต้น ซึ่งสิทธิพลมองว่าในยุครัฐบาลไลชิงเต๋อแนวนโยบายนี้คงจะดำเนินต่อไป

ทว่าในอนาคต การบริหารนโยบายมุ่งใต้ใหม่มีแนวโน้มลำบากมากขึ้น ในแง่ที่ว่าจีนพยายามสกัดกั้นไต้หวัน โดยจีนอาจมีทุนการศึกษาเพิ่มให้กับกลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ในอนาคต และหากดูองค์ประกอบของสภานิติบัญญัติที่พรรค DPP ไม่ได้เสียงข้างมาก อาจทำให้การออกนโยบายเป็นไปด้วยความลำบาก ซึ่งพรรค DPP จะต้องเจรจากับพรรค KMT และ TPP เพื่อขอเสียงสนับสนุน นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพรรค DPP และ KMT เนื่องจากเป็นพรรคคู่ตรงข้ามกันมาตลอด

การสกัดกั้นจากจีนยังเป็นปัจจัยหลักของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของไต้หวัน เนื่องจากเศรษฐกิจของไต้หวันยังพึ่งพาจีนอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของไต้หวันในจีน หรือการส่งออกจากไต้หวันไปจีน สิทธิพลมองว่าถ้าพรรค DPP ยังคงท่าทีไม่ประนีประนอมกับจีน จีนอาจมีมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจกับไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของไต้หวัน และทำให้สภาวะเศรษฐกิจของไต้หวันแย่ลง

“ด้านหนึ่งก็เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเชิดชูอัตลักษณ์ของไต้หวัน แต่ถ้าทำมากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและส่งผลให้ฐานเสียงของพรรค DPP ลดลงได้ การเลือกตั้งไม่ได้ตัดสินที่ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างเดียว การเลือกตั้งยังถูกตัดสินด้วยผลการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจด้วย” สิทธิพลอธิบาย

เมื่อถามถึงข้อตกลงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับจีน (Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) ว่าจะถูกยกเลิกหรือไม่ สิทธิพลให้ข้อคิดเห็นว่าอาจจะมีการกีดกันมากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นยกเลิก เพราะจีนพยายามแยกรัฐบาลไต้หวันกับประชาชนไต้หวันออกจากกัน รัฐบาลพรรค DPP อาจจะเป็นศัตรูกับจีน แต่กับประชาชนไต้หวันนั้นไม่ใช่ จีนกล่าวมาตลอดว่าประชาชนไต้หวันเป็น ‘เพื่อนร่วมชาติ’ ดังนั้นจีนคงไม่ถึงขั้นทำลายเศรษฐกิจของไต้หวันให้ย่อยยับด้วยการยกเลิกข้อตกลงทางเศรษฐกิจ เพราะจีนต้องการชนะใจประชาชนไต้หวัน


อนาคตของไต้หวันและความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา


สิ่งที่จะได้เห็นต่อจากการเลือกตั้งคราวนี้ คือความตึงเครียดข้ามช่องแคบไต้หวันจะทวียิ่งขึ้น เพราะชัยชนะสมัยที่ 3 ของพรรค DPP เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องการ และจุดยืนของทั้งสองฝั่งก็ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเปิดการเจรจากันได้ เรื่องการซ้อมรบ การปล่อยบอลลูนสอดแนม การใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาหรือการบีบคั้นทางเศรษฐกิจ จะเกิดมากขึ้นและเกิดถี่กว่ายุคไช่อิงเหวิน

ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจับตามอง คือสหรัฐอเมริกาที่มีพันธะกับไต้หวันตามข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่จะต้องพิทักษ์ไต้หวัน ซึ่งหากวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างจีนและไต้หวัน ก็ต้องดูท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย

จากที่ผ่านมาจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐ คือต้องการเห็นการระบุสถานภาพปัจจุบัน (Status quo) ของไต้หวัน แต่ความหมายของ Status quo ของแต่ละฝ่ายกลับไม่เหมือนกัน กอปรกับไม่มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ทำให้สถานภาพที่เป็นอยู่ของไต้หวันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย

Status quo ตามแบบฉบับไต้หวันของพรรค DPP คือ การยอมรับสถานะปัจจุบันที่เป็นอยู่ โดยทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันต่างเป็นประเทศ มีรัฐบาลเป็นของตนเอง และไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

Status quo ตามแบบฉบับสหรัฐอเมริกา คือ สถานะของไต้หวันยังกำกวม เพราะสหรัฐฯ ยอมรับในเชิงหลักการว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่จีนไม่ได้มีอำนาจเข้ามาปกครองไต้หวัน ทั้งสองฝั่งช่องแคบต่างมีรัฐบาลเป็นของตนเอง

Status quo ตามแบบฉบับจีนแผ่นดินใหญ่ คือ ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน 

สำหรับการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในปี 2024 สิทธิพลมองว่าทั้งพรรคเดโมแครต (Democrat Party) หรือพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ต่างเห็นตรงกันว่า “ไต้หวันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกโดยรวม” ฉะนั้นไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล จุดยืนหรือข้อตกลงในการพิทักษ์ไต้หวัน หรือการรักษา Status quo ตามแบบสหรัฐฯ เหนือช่องแคบไต้หวันจะยังคงอยู่

หากกล่าวตามมุมมองทางฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ไต้หวันนับว่าสำคัญมากกว่ายูเครน เพราะเป็นจุดที่สหรัฐฯ ละทิ้งไม่ได้ ถ้าหากสหรัฐฯ ละทิ้งไต้หวันและปล่อยให้จีนมีอำนาจครอบครองไต้หวัน จะส่งผลอย่างยิ่งต่อภูมิรัฐศาสตร์ของฝั่งทะเลจีนใต้ เพราะจีนจะสามารถฝ่าวงล้อมของหมู่เกาะที่เป็นแนวพันธมิตรของสหรัฐและขยายอำนาจทางทะเล จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนดุลอำนาจทางทะเลในภาคพื้นแปซิฟิก และสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบเสียยิ่งกว่ารัสเซียบุกยูเครน

“เมื่อต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนที่ชัดเจนเช่นนี้ ไม่มีการลดราวาศอกซึ่งกันและกัน มันจึงสุ่มเสี่ยงจะเกิดการใช้กำลัง ทุกฝ่ายควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ถึงแม้จะยากและต้องใช้เวลาหลักสิบปีหรือหลายสิบปีก็ตาม เรื่องการรวมชาติดูสำคัญก็จริง แต่ถ้าเรารวมชาติแล้วนำไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ สูญเสียทางเศรษฐกิจ สูญเสียชีวิตผู้คน มันเป็นเรื่องที่คุ้มค่าหรือไม่ เรามาหาวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันได้ไม่ดีกว่าหรือ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะย้ำทั้งกับจีน สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ทั้งสามต้องคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่การใช้กำลัง แต่เป็นไปเพื่อตอบรับสิ่งที่เป็นอยู่ ที่มากกว่านั้นคือตอบรับสวัสดิภาพชีวิตผู้คน สงครามไม่ก่อให้เกิดผลดีใดใดทั้งสิ้น” สิทธิพลทิ้งท้าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save