fbpx

[ความน่าจะอ่าน] 1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น: บันทึกความทรงจำเบื้องหลังมรดกแห่งอุดมการณ์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ของศิลปินหัวขบถผู้ท้าทายอำนาจรัฐ อ้าย เว่ยเว่ย

ในโลกศิลปะร่วมสมัยในยุคสมัยนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักศิลปินชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน ผู้มีชื่อว่า อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินประติมากรรม สื่อประสม ศิลปะจัดวาง ศิลปะแสดงสด สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลก แถมยังเป็นบุคคลที่ถูกทางการจีนหมายหัวมากที่สุดคนหนึ่ง

นอกจากจะมีโอกาสได้ชมผลงานของศิลปินผู้นี้ที่มาจัดแสดงในประเทศไทยในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ในกรุงเทพฯ กับสองตา และมีโอกาสได้สัมภาษณ์เขาสั้นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากเขาไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างน่าเสียดายแล้ว

ล่าสุดเรามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับตัวตนของอ้าย เว่ยเว่ยอย่างใกล้ชิดจากการได้อ่านหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาอย่าง 1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น ที่ไม่เพียงเปิดเผยแรงบันดาลใจเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับกระบวนการทำงานศิลปะของเขาอย่างละเอียดลึกซึ้งเท่านั้น หากยังบอกเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของเขาตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกเลยด้วยซ้ำ ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราวชีวิตของอ้าย เว่ยเว่ย เข้ากับชีวิตของบุคคลผู้มีอิทธิพลที่สุดในชีวิตของเขา นั่นก็คือ อ้าย ชิง พ่อของเขา ผู้เป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ที่ปาโบล เนรูดา กวีเอกของโลกชาวชิลีเรียกขานว่าเป็น ‘เจ้าชายแห่งบทกวีจีน’ (หน้า 119) ร้อยรัดไปกับประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของประเทศจีนในช่วงสองรุ่นสองยุคสมัยได้อย่างแนบเนียนแต่ทรงพลัง

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เราพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในชีวิตของอ้าย ชิง และอ้าย เว่ยเว่ย อยู่หลายประการ แรกสุด ทั้งอ้าย ชิงและอ้าย เว่ยเว่ย ต่างก็เป็นนักเรียนนอกผู้เดินทางไปศึกษาร่ำเรียนศิลปะในต่างแดน ในขณะที่อ้ายชิงผู้พ่อเดินทางไปร่ำเรียนในปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นศูนย์กลางของโลกศิลปะในยุคทศวรรษ 1920 อ้าย เว่ยเว่ยผู้ลูกก็เดินทางไปร่ำเรียนในนิวยอร์ก ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นศูนย์กลางของโลกศิลปะในยุคทศวรรษ 1980 เช่นเดียวกัน

ในขณะที่อ้ายชิงได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการศิลปะหัวขบถของยุโรปอย่างเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) หรือ ‘ลัทธิเหนือจริง’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ดังที่ปรากฏในหนังสือว่า

“ในงานเขียนของตัวเอง พ่อค้นหาภาษาที่เข้าถึงความจริงในสังคม และความรู้สึกเชิงอารมณ์ ‘ผมรู้สึกผะอืดผะอมทุกครั้งที่พบว่าตัวเองกำลังใช้สำนวนตามแบบแผน’ พ่อเขียน ‘มันทำให้ผมสะอิดสะเอียนเมื่อกวียอมแลกด้วยถ้อยคำซ้ำๆ ซากๆ ที่ได้ยินจนเบื่อหู’ พ่อได้รับแรงบันดาลใจจากการทดลองของลัทธิเหนือจริงของฝรั่งเศส ในสมุดวาดภาพของพ่อจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกชั่วขณะตามวิถี ‘ความเป็นอัตโนมัติทางจิต’ ของอองเดร เบรอตง* (*หมายเหตุ ในหนังสือแปลผิดเป็น อองเดร เลอบง)” (หน้า 45)

อ้าย เว่ยเว่ยเองก็ได้รับอิทธิพลมาจากขบวนการศิลปะแหกคอกของยุโรปอย่าง ดาด้า (Dada) ที่ถือเป็นขบวนการพี่น้องของเซอร์เรียลลิสม์ดังที่ปรากฏในหนังสือเช่นเดียวกันว่า

“ช่วงกลางทศวรรษ 1980 โลกศิลปะยังคงหมกมุ่นอยู่กับแนวนีโอ-เอ็กเพรสชันนิสม์ของเยอรมัน ซึ่งเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ใช้สีสดดิบและฝีแปรงหยาบๆ ส่วนผมถูกดึงเข้าหาแนวโน้มต่อต้านวัฒนธรรมของดาด้า ผมเชื่อมต่อไวโอลินเข้ากับพลั่ว ผมฝังถุงยางอนามัยไว้บนเสื้อกันฝนของกองทัพจีนและใช้เส้นลวดจากไม้แขวนเสื้อสร้างสรรค์ผลงาน ผมรังสรรค์รูปโปรไฟล์ของมาร์แซล ดูชองป์ ผมสะดุดตาผลงานของดูชองป์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟียตั้งแต่ช่วงแรกที่มาถึงอเมริกา และเป็นเพราะการตอกย้ำของเขาว่าศิลปะเป็นสติปัญญา ไม่ได้เป็นเพียงประสบการณ์ภาพเท่านั้น สิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจตลอดชีวิตของผม ความสนใจที่เขามีต่อแบบธรรมดาๆ ที่ ‘สำเร็จรูป’ มีอิทธิพลต่อการผลิตผลงานศิลปะของผมซึ่งโน้มไปทางนั้นอยู่แล้ว” (หน้า 208)

ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งคู่ต่างก็หวนกลับมาใช้ชีวิตและทำงานในแผ่นดินแม่เหมือนๆ กัน ในขณะที่อ้าย ชิง เดินทางจากออกจากปารีสกลับมาเป็นกวีผู้ยืนหยัดเคียงข้างมวลชนชาวจีน อ้าย เว่ยเว่ย ผู้ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโดดเด่นจับตาในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ในแวดวงศิลปะนิวยอร์ก แต่ผลงานของเขาก็ขายไม่ออกเลยแม้แต่ชิ้นเดียว (หน้า 209) เขาต้องเดินทางกลับมายังประเทศจีนอย่างผิดหวัง แต่ด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัว ก็ทำให้เขาสามารถค้นหารากเหง้าของตัวเองจนพบ ด้วยการขุดคุ้ยงานศิลปะจีนโบราณที่รอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในร้านขายของเก่ามาทำงานศิลปะจนประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินระดับโลกได้ในที่สุด

ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ ทั้งคู่ยังต่างเป็นศิลปินหัวขบถผู้เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐเผด็จการไม่ต่างกัน พวกเขาถูกคุกคาม จับกุม คุมขัง ลิดรอน และปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกเหมือนๆ กัน

ในขณะที่ อ้าย ชิง เป็นหนึ่งในกวีเอกของจีนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักจากบทกวีวิพากษ์วิจารณ์สังคมจนถูกลงโทษและเนรเทศไปเป็นกรรมกรใช้แรงงานหนักในค่ายกักกักในซินเจียงอันหนาวเหน็บทุรกันดารในช่วงยุคสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม (ในตอนนั้นอ้าย เว่ยเว่ยในช่วงวัยเยาว์ก็ติดสอยห้อยตามพ่อของเขาไปด้วย) ถึงแม้อ้าย ชิงจะถูกลงทัณฑ์ในข้อหาเป็นซากเดนศักดินาและชนชั้นกระฎุมพีผู้จบการศึกษาจากตะวันตก แต่เราก็ทราบได้จากหนังสือเล่มนี้ว่าเหตุผลที่แท้จริงนั้นคือการพูดความจริงอย่างไม่ไว้หน้าผู้มีอำนาจรัฐของเขาต่างหาก ดังประโยคที่อ้าย เว่ยเว่ย กล่าวถึงพ่อของเขาว่า

“ทำไมผู้คนจึงไม่พูดสิ่งที่อยู่ในความคิดของพวกเขาจริงๆ ออกมาเป็นเวลานานหลายปี? พ่อตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะความจริงทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ และมันจะนำมาซึ่งการลงโทษอย่างโหดเหี้ยม ทำลายทั้งตัวเองและคนในครอบครัว” (หน้า 171)

อ้าย เว่ยเว่ยเองก็เป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้มีชื่อเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในด้านสิทธิมนุษยชนและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจนถูกทางการจีนหมายหัว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายจนบาดเจ็บจนต้องผ่าตัดสมอง ที่หนักหนาที่สุดคือการถูกทางการจับกุมตัวไปกักขังอย่างลับๆ เป็นเวลานานถึง 81 วัน โดยมีผู้คุมเฝ้าจับตาไม่ห่างในทุกอิริยาบถตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนนอนหลับ กินอาหาร หรือแม้แต่ตอนเข้าส้วม และถูกสอบสวนนับครั้งไม่ถ้วน

หลังจากถูกปล่อยตัวจากการคุมขังไม่นานนัก เขาก็ทำงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า S.A.C.R.E.D. (2011-2013) ซึ่งบอกเล่าถึงประสบการณ์การถูกจองจำของเขาแบบโคตรตรงไปตรงมา ด้วยรูปแบบของหุ่นจำลองไฟเบอร์กลาสของตัวเขาเองในสถานที่คุมขัง โดยจำลองทั้งหน้าตาเสื้อผ้าของตัวเขาและผู้คุม รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในห้องขังแห่งนั้น ทั้งหมดถูกทำออกมาอย่างละเอียดสมจริงไม่ผิดเพี้ยนในขนาดย่อส่วน และนำไปจัดแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างเวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) ในปี 2013 นับเป็นการแฉเรื่องราวสกปรกในการใช้อำนาจมืดอันไม่เป็นธรรมของรัฐบาลจีนให้ชาวโลกได้เห็นอย่างจะแจ้งโดยไม่ต้องปริปากพูดให้เปลืองน้ำลาย ซึ่งอ้าย เว่ยเว่ย เล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่ถูกคุมขังลับ และการเผชิญหน้าการถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐลงในหนังสือเล่มนี้อย่างเปี่ยมสีสัน ยียวน และชวนขันขื่นอยู่ไม่น้อย

หนังสือยังเผยให้เห็นว่าความเป็นศิลปินขบถนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของอ้าย เว่ยเว่ย ก็อาจจะเป็นมรดกทางความคิดและอุดมการณ์ที่ส่งผ่านจากรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูกก็เป็นได้ ดังหลักฐานจากคำพูดของอ้าย ชิง ที่ว่า

“หากปราศจากประชาธิปไตยทางการเมือง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางศิลปะ คุณไม่สามารถคาดหวังได้ว่าประชาธิปไตยจะถูกใส่พานมาถึงมือคุณ คุณจะได้ประชาธิปไตยผ่านการต่อสู้เท่านั้น” (หน้า 171)

มรดกแห่งอุดมการณ์ของศิลปะแห่งการต่อต้านเช่นนี้ปรากฏชัดในจิตวิญญาณของอ้าย เว่ยเว่ยผ่านข้อความของเขาในหนังสือที่ว่า

“สำหรับวัฒนธรรมทั่วไป ศิลปะต้องเป็นตะปูในดวงตา เป็นเหล็กแหลมที่ตอกลงไปในเนื้อ เป็นก้อนกรวดในรองเท้า นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อศิลปะ” (หน้า 224)

ท้ายที่สุด อ้าย เว่ยเว่ย ก็ถ่ายทอดมรดกแห่งอุดมการณ์ที่ว่านี้ของอ้าย ชิง พ่อของเขา ส่งผ่านไปยังอ้าย เหล่า ลูกชายของเขาอีกทอดหนึ่ง

“เมื่อผมคิดถึงพ่อ ความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นจากการที่ผมขาดความอยากรู้อยากเห็นว่าพ่อต้องอดทนกับความยากลำบากเพียงใด และจากการขาดความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจที่ผมแสดงออกขณะผมยังเด็ก ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผมถูกกักขังลับ ผมไม่กลัวว่าจะไม่ได้พบลูกชายอีกครั้ง แต่ผมกลัวว่าผมอาจไม่มีโอกาสให้เขาได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของผม จึงเกิดความคิดว่า ถ้าถูกปล่อยตัว ผมควรบันทึกสิ่งที่ผมรู้เกี่ยวกับพ่อ และเล่าให้ลูกชายฟังอย่างเปิดเผยว่าผมเป็นใคร ชีวิตมีความหมายต่อผมเพียงใด ทำไมเสรีภาพจึงล้ำค่านัก และทำไมเผด็จการจึงหวาดกลัวศิลปะ ทั้งนี้เพื่อถมช่องว่างระหว่างเรา และหวังว่าความเชื่อมั่นของผมจะเป็นสิ่งที่เขามองเห็นได้ รวมทั้งสัมผัสได้ด้วยหัวใจและจิตใจของเขา” (หน้า 398)

หนังสือเล่มนี้แสดงให้เราเห็นว่า เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบุคคลผู้หนึ่ง ย่อมต้องมีคนรุ่นก่อนหน้าเป็นบันได แรงบันดาลใจ และแรงเกื้อหนุนผลักดันเสมอ เพราะมนุษย์เราไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนอย่างโดดเดี่ยวลำพัง หากแต่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากแรงกายแรงใจชีวิตเลือดเนื้อของคนรุ่นก่อนหน้าเราทั้งสิ้น

หากเปรียบการชมงานศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย ได้กับการชมภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมที่เปี่ยมทั้งสุนทรียรส คุณค่าทางความคิด และแรงบันดาลใจแล้ว หนังสือ 1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น เล่มนี้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับสารคดีเบื้องหลังการทำงาน หรือบันทึกความทรงจำเบื้องหลังคนทำงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยรสชาติ คุณค่า และแรงบันดาลใจอันท่วมท้นไม่แพ้กัน


1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น (1000 Years of Joys and Sorrows: A Memoir by Ai Weiwei)

อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) เขียน

อัลลัน เฮช. บาร์ แปลอังกฤษ

ดรุณี แซ่ลิ่ว แปลภาษาไทย

สดใส ขันติวรพงศ์ บรรณาธิการฉบับภาษาไทย

สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save