fbpx

กว่า 1 ปีล่วงผ่านหลังปิดโรงเรียน โลกการเรียนรู้เดินอยู่ตรงไหนแล้ว?

ภาพจาก lucas law

ก่อนโลกจะก้าวเข้าสู่ปี 2020 โลกการศึกษาตกอยู่ในวิกฤตเรื้อรังอยู่แล้ว แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 เข้ามาปั่นป่วนโลกการเรียนรู้จนรั้วโรงเรียนต้องปิดลง วิกฤตที่ดูเหมือนจะพร่าเลื่อนกลับเด่นชัดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

และเมื่อวิกฤตเริ่มคลายตัว คำถามมีอยู่ว่า โลกการศึกษาจะพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้อย่างไร

101 ชวนถอดบทเรียนจากรายงานพิเศษ The state of school education: One year into the COVID pandemic จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ลงไปสำรวจ 33 ประเทศเพื่อคลี่ให้เห็นว่า 1 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกการเรียนรู้ โลกการเรียนรู้บางแห่งในโลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่งของโลกการศึกษาลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง ระบบการศึกษา-ครู-นักเรียนได้รับการโอบอุ้มไม่ให้ร่วงหล่นอย่างไร แล้วโลกการศึกษาควรเดินหน้าไปอย่างไรต่อหลังวิกฤตค่อยๆ ส่อแววว่าจะคลี่คลาย

บางครั้ง การมองย้อนถอดบทเรียนจากโลกอาจช่วยให้ไทยมองเห็นทางไปต่อชัดขึ้นหลังโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง

ปิดโรงเรียน – เสี่ยงสูญเสียการเรียนรู้

ยากที่จะปฏิเสธว่าการปิดโรงเรียนได้กลายเป็นหนึ่งในสภาวะปกติ (ใหม่) ไปชั่วขณะหนึ่งของโลกการศึกษา ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการระบาดย่อมต้องยอมจ่ายด้วยราคาแสนแพง นั่นคือการสูญเสียการเรียนรู้และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียนทั่วโลก และที่หนักหนาไปกว่านั้นคือ การสูญเสียระดับการพัฒนาประเทศในอนาคต

แน่นอนว่าแต่ละประเทศตัดสินใจออกแบบมาตรการและจำนวนวันในการปิดโรงเรียนต่างกันไปตามเงื่อนไข จากรายงานพิเศษของ OECD ใน 33 ประเทศ พบว่าจำนวนวันในการปิดโรงเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างที่เข้าใจกัน แต่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายนโยบายการศึกษาในภาพรวม โครงสร้างระบบสาธารณสุข นโยบายสาธารณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการระบาด

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ในบรรดาประเทศที่ OECD สำรวจ โดยเฉลี่ยแล้วโรงเรียนระดับอนุบาลปิดทำการราว 42 วัน ระดับประถมศึกษาปิดทำการเฉลี่ย 54 วัน ส่วนในการศึกษาระดับมัธยม โรงเรียนระดับมัธยมต้นปิดทำการเฉลี่ย 63 วัน และระดับมัธยมปลายเฉลี่ยที่ 67 วัน โดยแต่ละประเทศตัดสินใจเปิด-ปิดโรงเรียนแต่ละระดับชั้นและในแต่ละพื้นที่ด้วยระยะเวลาที่ต่างกัน จะเห็นว่าในออสเตรีย อิสราเอล ลัตเวีย โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ปิดโรงเรียนมัธยมปลายนานกว่าโรงเรียนประถมอย่างน้อยเฉลี่ย 20 วัน ในขณะที่ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สาธารณรัฐเช็กเลือกปิดโรงเรียนระดับประถมนานกว่าโรงเรียนระดับมัธยมปลาย

เมื่อขยับไปดูระยะเวลาการปิดทำการของโรงเรียนระดับมัธยมปลาย จะพบว่ามีตั้งแต่ประเทศที่ปิดโรงเรียนระยะเวลาน้อยกว่า 40 วันอย่าง เดนมาร์ก เยอรมนี นอร์เวย์ และฝรั่งเศส ไปจนถึงประเทศที่ปิดโรงเรียนยาวนานไม่น้อยกว่า 100 วันอย่างโปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัก คอสตาริกา ตุรกี และนานถึง 156 วันในแทบทุกภูมิภาคในโคลอมเบีย

คำถามมีอยู่ว่า ระยะเวลาวันปิดโรงเรียนบอกอะไร?

สิ่งที่ OECD มองว่าน่ากังวลคือ ประเทศที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ค่อยดีนักคือประเทศที่มีระยะยาวเวลาการปิดโรงเรียนนานที่สุด เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับผลคะแนนการสอบ PISA ด้านการอ่านในปี 2018 อาจกล่าวได้ว่า ในประเทศที่ระบบการศึกษาที่คุณภาพไม่ค่อยดีนักอาจะต้องเผชิญต่อสภาวะการสูญเสียการเรียนรู้และโอกาสในการเรียนรู้ที่รุนแรงหนักกว่าเดิมหลังปี 2020 นั่นหมายความว่าโควิดไม่ได้เพียงแค่ถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับโลกให้กว้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังขยายช่องว่างคุณภาพทางการศึกษาระหว่างประเทศต่างๆ ให้กว้างขึ้นด้วย

สำหรับผลกระทบต่อนักเรียน แม้ยังยากที่จะประเมินว่าการปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของนักเรียนอย่างไรบ้าง แต่หากมองจากมุมเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประมาณการณ์ว่านักเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมปลายอาจได้รับเงินเดือนน้อยลงร้อยละ 3 ในทุก 3 เดือนที่ขาดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และในระยะยาว การสูญเสียการเรียนรู้ของนักเรียนอาจนำไปสู่การสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตถึง 504 พันล้านดอลล่าร์ในแอฟริกาใต้ และ 14.2 ล้านล้านดอลล่าร์ในสหรัฐอเมริกาทุก 3 เดือนที่ขาดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือ สภาวะการสูญเสียการเรียนรู้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในสสังคมยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

เมื่อโรงเรียนปิด การสูญเสียการเรียนรู้ย่อมเลี่ยงไม่ได้ แต่จะบรรเทาได้มากหรือน้อย หรือบรรเทาได้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พลิกวิกฤต ปิดช่องว่างการเรียนรู้

ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงเรียนครั้งใหญ่ ในประเทศที่ OECD ลงไปสำรวจส่วนมากพยายามหาหนทางที่หลากหลายในการบรรเทาและป้องกันภาวะสูญเสียการเรียนรู้ของนักเรียน ช่วยเหลือครูและครอบครัวของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถม และนักเรียนที่ตกอยู่ในภาวะเปราะบางและเสียเปรียบด้านการเรียนรู้และมีความเสี่ยงในการสูญเสียการเรียนรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทราบกันดีว่าการเรียนออนไลน์หรือการศึกษาทางไกลคือหนทางไม่กี่หนทางที่จะช่วยประคับประคองการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วโลกรอวันโรงเรียนเปิดอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกัน การเรียนออนไลน์ก็ไม่ใช่ช่องทางที่นักเรียนทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และแน่นอนว่าไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการเรียนในห้องเรียน สภาวะเช่นนี้จึงตอกย้ำความเสี่ยงในการสูญเสียการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่ไม่ได้ประโยชน์จากการเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รายงานพิเศษของ OECD ระบุว่ากว่า 71% ของประเทศที่ลงไปสำรวจออกมาตรการเพื่อบรรเทาและลดช่องว่างการเรียนรู้ในระดับประถม 64% ในโรงเรียนระดับมัธยมต้น และ 58% ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย โดยมีการออกกลไกในระดับโรงเรียนเพื่อติดตามนักเรียนที่ไม่มาเรียนและมีการปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อให้นักเรียนเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยประมาณ 65%-75% ของประเทศที่ลงไปสำรวจ 40% มีการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อช่วยให้นักเรียนกลับเข้าเรียน นอกจากนั้น ประมาณ 20-30% มีการงดเว้นค่าเล่าเรียน ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การเดินทาง หรือมื้ออาหารเพื่อจูงใจให้นักเรียนกลับมาเรียน อย่างเช่นในคอสตาริกา เอสโตเนีย โปแลนด์ โปรตุเกส ฮังการี สเปน และตุรกี

นอกจากนี้ ในบางประเทศยังออกมาตรการเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีความเปราะบาง เช่น ที่ลัตเวียยังเปิดให้มีการเรียน on-site ได้ในโรงเรียนพิเศษสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษด้านสุขภาพจิต หรือในบางประเทศก็เปิดให้มีการสอนแบบตัวต่อตัวแก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทาง – ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมต้องรอให้มีวิกฤตโรคระบาดก่อนถึงเริ่มออกมาตรการช่วยให้นักเรียนที่เสียเปรียบเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น?

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าการปิดโรงเรียนนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับนักเรียนทุกคน นอกจากมาตรการเฉพาะที่พยุงให้นักเรียนก้าวต่อไปในโลกแห่งการเรียนรู้ได้ราบเรียบที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในแง่หนึ่ง การปิดโรงเรียนหมายถึงเวลาที่หายไปและวิธีการสอนที่จำกัดจำเขียด และความเครียดของนักเรียนที่ต้องอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ทั้งมหดนี้บีบบังคับให้โรงเรียนต้องปรับหลักสูตรและปรับระยะเวลาการสอนเพื่อไม่ให้นักเรียนและครูรับภาระจากการเรียนการสอนมากเกินไป และยังได้เรียน-สอนอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย

สภาวะดังกล่าวทำให้โรงเรียนต้องเลือกว่าจะคงความครอบคลุมแต่ไม่ลงลึกของหลักสูตรและเนื้อหาวิชา เลือกที่จะลดความครอบคลุมเพื่อให้สอนเนื้อหาส่วนที่สำคัญได้ลึกขึ้น เลือกว่าจะให้ความสำคัญในการสอนวิชาใดบ้างเป็นพิเศษ ซึ่งคณิตศาสตร์และการอ่านมักเป็นวิชาที่โรงเรียนจัดอันดับความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ หรือทำให้โรงเรียนต้องปรับการสอนในห้องให้เน้นไปที่การสอนเนื้อหาใหม่มากกว่าการทบทวนบทเรียนในกรณีที่เปิดโรงเรียนได้ มีมากกว่าครึ่งของประเทศที่ OECD ลงไปสำรวจปรับภาคการศึกษาและหลักสูตรในช่วงการระบาดปี 2020 และเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปี 2021 เลยทีเดียว

ขยับออกมานอกห้องเรียน รายงานพิเศษยังชี้ให้เห็นว่า หลายประเทศที่มีการสำรวจข้อมูลพยายามใช้ประโยชน์จากช่องทางการสื่อสารหลากหลายประเภทระหว่างโรงเรียน-ครู-ผู้ปกครองเพื่อช่วยลดช่องว่างการสื่อสารและช่วยให้โรงเรียนและผู้ปกครองยังร่วมกันสนับสนุนพัฒนาการของนักเรียนได้ โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมและมัธยมต้น โดยส่วนมากโรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจออกแบบแนวทางในการสื่อสารเอง ช่องทางสื่อสารที่โรงเรียนมักนิยมใช้ได้แก่ แพลตฟอร์ม e-school ของโรงเรียน หรือใช้การโทรศัพท์เพื่อติดตามการเรียน ส่วนวิธีที่ใช้แค่ในไม่กี่ประเทศที่สำรวจได้แก่ แบบฟอร์มเซอร์เวย์ผู้ปกครองออนไลน์เพื่อรับฟีดแบค หรือการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งมีเพียงแค่เบลเยียม ไอร์แลนด์ ชิลี และญี่ปุ่นเท่านั้นที่ใช้วิธีการดังกล่าว

เมื่อการระบาดเริ่มคลี่คลายจนการกลับมาเปิดโรงเรียนกลายเป็นทางเลือกเชิงนโยบายอีกครั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปิดโรงเรียนเพื่อให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อไปได้ คือความปลอดภัยของนักเรียนและครู ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย รายงานพิเศษระบุว่าหัวใจสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการตัดสินใจระดับท้องถิ่นที่มีความยืดหยุ่นและมีการสื่อสารมาตรการต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงมาตรการทางสาธารณสุขที่ชัดเจน

โลกการเรียนการสอนแบบดิจิทัล

หนึ่งปีที่ผ่านมาในช่วงโรงเรียนปิด การเรียนออนไลน์และการเรียนทางไกลได้กลายเป็นลมหายใจของโลกการศึกษา ผลักให้ทั้งครู และนักเรียนต้องปรับตัวกับการเรียน-การสอนทางไกลอย่างเร่งด่วน แม้ว่าการเรียน-การสอนเช่นนี้จะถือว่ายังใหม่อยู่มากก็ตาม

รายงานพิเศษเผยว่าในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ แพลตฟอร์มออนไลน์ถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนแทบทุกระดับชั้น โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษา การเรียนผ่านโทรทัศน์และ take-home packages ถูกนำมาใช้เช่นกัน แต่มักใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมมากกว่า ส่วนการเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือมักใช้ในระดับมัธยมเป็นส่วนมาก

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างในแง่ของเทคโนโลยีที่แต่ละโรงเรียนมีและศักยภาพในการใช้เครื่องมือของครูอย่างมีประสิทธิภาพยังคงกว้างอยู่มากตั้งแต่ก่อนวิกฤตโรคระบาดทั้งระดับในประเทศและระหว่างประเทศ เฉกเช่นเดียวกัน ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะสามารถเข้าอุปกรณ์การเรียนออนไลน์หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ ข้อมูลจากรายงงานฉบับพิเศษระบุว่า 89% ของประเทศที่ทำการสำรวจมีการออกมาตรการช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ได้ (เช่น คอมพิวเตอร์และแท็บเลต) และ 81% ที่ใช้แพลตฟอร์มการเรียนที่มีความยืดหยุ่น นักเรียนสามารถเลือกเรียนตามจังหวะที่เหมาะสมกับตนเองได้ สองมาตรการนี้จัดได้ว่าเป็นมาตรการที่ใช้กันมากที่สุดในบรรดามาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยลด digital divide

ในแง่การสอน ครูเองก็ต้องเผชิญต่อความท้าทายเช่นกัน การเปลี่ยนรูปแบบการสอนจาการสอนตัวต่อตัวในห้องเรียนไปเป็นการสอนทางไกลหรือการสอนแบบลูกผสมทั้งในห้องเรียนและในโลกดิจิทัลนั้นเปลี่ยน ‘งาน’ ของครูไปไม่น้อย นอกจากเครื่องมือในการเตรียมการสอนที่เปลี่ยนไปแล้ว การสอนออนไลน์ยังต้องการทักษะการสอนที่ต่างไปจากการสอนในห้องเรียนเพื่อให้การสอนยังคงมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือการสอนแบบลูกผสมก็ต้องอาศัยทักษะการสอนที่หลากหลายยิ่งกว่าเดิมเพราะความยืดหยุ่นจากการที่ใช้ได้ทั้งห้องเรียนจริงและแพลตฟอร์มออนไลน์หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ในกว่า 74% ของประเทศที่ OECD ทำการสำรวจ รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนเทรนนิงพัฒนาทักษะการสอนของครู และกว่า 73% รัฐบาลลงไปสนับสนุนอุปกรณ์การสอนและทักษะ ICT ให้แก่ครู   

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาที่การสอนออนไลน์คือหนทางหลัก เกิดเครือข่ายครูที่สนับสนุนและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับทักษะการสอนใหม่ๆ จำนวนมาก อย่างชุมชนครูในเบลเยียมแฟลนเดอร์ใช้พื้นที่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในการจัดเสวนาและ webinar สำหรับครู ส่วนที่เกาหลีใต้ รัฐบาลก็จัดตั้งเครือข่ายตัวแทนครู 10,000 รายที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสอนออนไลน์เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือคำปรึกษา ส่วนในนอร์เวย์ก็มีการรวมกลุ่มออนไลน์ระหว่างครูเพื่อแลกเปลี่ยนแหล่งการเรียนรู้ทักษะการสอนต่างๆ เช่นกัน

ก่อร่างสร้างระบบการศึกษาสู่อนาคต

ในช่วงเวลาที่โลกยังคงตกอยู่ในวิกฤตการระบาด รายงานของ OECD พบว่า ในประเทศที่มีการสำรวจข้อมูล รัฐบาลยังคงจัดสรรงบประมาณโดยจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณด้านการศึกษาไว้เป็นลำดับต้นๆ และที่ยิ่งไปกว่านั้น 65% ของประเทศที่มีการสำรวจมีการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาทั้งในระดับชั้นประถมและมัธยม และไม่มีประเทศใดในกลุ่มสำรวจลดงบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาเลยในปีการศึกษา 2019/2020 (แต่ละประเทศอาจจัดสรรในรายละเอียดต่างกัน เช่น อาจให้ความสำคัญในการเพิ่มมาตรการรักษาสุขอนามัยในโรงเรียน หรือปิดช่องว่างการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มที่เสียเปรียบ) ยิ่งไปกว่านั้น หลายประเทศที่สำรวจดำเนินการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาในปีการศึกษา 2020/2021 แต่ในขณะเดียวกัน โลกยังต้องเผชิญต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายอย่างมาก

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่รับมือกับวิกฤตนี้ได้อย่างราบรื่น หรือยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเดินหน้าหาทางออก แต่ในแง่หนึ่ง วิกฤตการระบาดครั้งนี้เปิดให้เห็นศักยภาพในการริเริ่มนวัตกรรมการเรียนการสอนของระบบการศึกษาในหลายประเทศ

ในช่วงเวลาแห่งการระบาด นวัตกรรมการสอนคือทางรอด แต่เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดได้อีกครั้งหลังวัคซีนได้กลายเป็นทางออกของวิกฤต นวัตกรรมเหล่านี้คือบทเรียนที่ต้องถอดและเป็นหน่ออ่อนที่จะพาโลกการเรียนรู้ให้ไกลกว่าเดิม แข็งแกร่งทนทาน และยืดหยุ่นกว่าที่เคยเป็นมา และหากจะปล่อยให้หน่ออ่อนเหล่านี้เติบโตงอกงามได้ รัฐต้องเล่นบทบาทสนับสนุน ปล่อยให้ครูและโรงเรียนเป็นผู้เล่นสำคัญในการใช้และสร้างสรรค์ออกแบบนวัตกรรมการสอน รวมทั้งระบบการศึกษาก็ต้องปรับเปลี่ยนให้พร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลง

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไม่ให้ความเจ็บปวดทางการเรียนรู้ที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า และไม่ให้หุบเหวแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลึกลงกว่าเดิม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save