fbpx

Zomia ตอนที่ 4: ประเทศไทยต้องอยู่อย่างไรกับความขัดแย้งในดินแดนแห่งนี้

ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในเมียนมาภายหลังการรัฐประหารปี 2021 อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่สืบเนื่องต่อยอดมาเป็นระยะเวลายาวนานตลอดประวัติศาสตร์ของดินแดนจุดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Zomia ดังที่อธิบายมาแล้วใน 3 ตอนแรกของบทความชุดนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ต้องไปนึกฝันว่าประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวจะสามารถหาแนวทางสันติภาพยุติความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืนในระยะเวลาอันสั้น เพราะต้นตอของปัญหามันสืบเนื่องยาวนาน หมักหมมมานับศตวรรษ

ภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป ประเด็นที่ไทยต้องห่วงกังวลอย่างน้อยที่สุด 4 ประเด็น ได้แก่

1. อุบัติเหตุบริเวณแนวชายแดนที่อาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยและเมียนมามีพรมแดนติดกันเป็นระยะทางถึง 2,401 กิโลเมตร จากจุดเหนือสุดของประเทศไทยในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต่อเนื่องตลอดทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันตก และลงถึงภาคใต้ที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และชายแดนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดนอย่างเป็นทางการ ดังนั้นโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ณ บริเวณชายแดนจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก โดยอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นในสองรูปแบบ

รูปแบบแรกคือ หากมีการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน อาทิ ฝ่ายไทยเข้าจับกุมกลุ่มผู้ลักลอบตัดต้นไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติในบริเวณชายแดน และเหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการใช้อาวุธเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ทำผิดกฎหมาย แล้วหากกระสุนหรือวัตถุระเบิดหลุดเข้าไปเขตแดนของเมียนมาโดยมิได้ตั้งใจ โดยที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยและฝ่ายความมั่นคงของเมียนมา หรือฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณนั้น ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันล่วงหน้าว่าจะมีการปฏิบัติภารกิจในลักษณะดังกล่าวในห้วงเวลานั้น ความเข้าใจผิดเหล่านี้อาจจะลุกลามรุนแรงจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ

เช่นเดียวกับในรูปแบบที่สองที่อุบัติเหตุอาจเกิดจากความเข้าใจผิด อาทิ เมื่อมีการปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบ SAC (State Administration Council หรือสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย เป็นประธาน) อย่างรุนแรงในพื้นที่ใกล้ชายแดน โดยปัจจุบันประเทศไทยตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว (Temporary Safety Areas: TSAs) เอาไว้รองรับแล้วถึง 13 ศูนย์เฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก และยังมีในบริเวณอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ สาธารณสุข ให้ความปลอดภัย และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในทุกมิติ แต่บางครั้งกลุ่มผู้อพยพชั่วคราวเหล่านี้เดินทางเข้ามาพร้อมๆ กันเรือนหมื่น และเมื่อเหตุการณ์สงบ พวกเขาก็ต้องการกลับบ้านในฝั่งเมียนมาด้วยความเป็นห่วงบ้านเรือน ทรัพย์สิน ไร่นา ปศุสัตว์ ซึ่งฝ่ายไทยเองก็ต้องการให้พวกเขาได้กลับไปด้วยเช่นกัน เพราะฝ่ายไทยก็ระวังในเรื่องภาระระยะยาว โดยต้องอย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลี้ภัยของชาวเมียนมาจำนวนมากมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ภายหลังเหตุการณ์ 8888 ประเทศไทยมีพื้นที่พักพิงชั่วคราวในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา 9 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด และจนถึงเดือนมีนาคม 2023 ยังมีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาตกค้างอยู่ในประเทศไทยถึง 91,004 คน[1]

แน่นอนว่าฝ่ายไทยเองก็มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าว เพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีไว้สำหรับชาวต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร อย่างไรก็ตามในช่วงที่คนเรือนพัน เรือนหมื่น เดินทางข้ามพรมแดนในเวลาวิกฤตที่ทุกคนไม่มีเอกสารระบุตัวตนใดๆ การตรวจสอบหลักฐานยืนยันตัวตนว่าใครเป็นใครแทบจะทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้นอุบัติเหตุอาจจะเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่นในกรณีชาย 3 คนที่ถูกส่งตัวออกจากประเทศไทยในวันที่ 4 เมษายน 2023 แล้วทั้ง 3 คนถูกกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (Karen Border Guard Force: BGF) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนระบอบ SAC จับกุมตัว และมีแนวโน้มว่าจะถูกนำไปซ้อม ทรมาน และบางรายงานเชื่อว่า เสียชีวิต กรณีเช่นนี้หากกลับมาพิจารณาหลักฐานจากทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะพบว่าทั้ง 3 คนมีหลักฐานเข้ามาในประเทศไทย โดยแจ้งว่าเดินทางเข้ามาเพื่อเข้าร่วมงานศพญาติ เมื่อฝ่ายไทยส่งกลับออกไปยังเมียนมาแล้ว พวกเขาก็ถูกจับกุม และมีหลักฐานให้ทราบได้ในภายหลังว่าทั้ง 3 นายแท้จริงแล้วคือ หน่วยคอมมานโดกองพันสิงโตของกองกำลังกอทูเล (Kawthoolei Army: KTLA)

เหตุการณ์ความเข้าใจผิดดังกล่าวยกระดับความรุนแรงในพื้นที่ โดยในวันที่ 10 เมษายน 2023 หน่วยคอมมานโดกองพันสิงโตของกองกำลังกอทูเล (KTLA) เข้าโจมตีกองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมาและกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง BGF ในหมู่บ้าน Hteewapalaw และ Hteekawhtaw ในเมืองเมียวดีติดชายแดนไทย ส่งผลให้กำลังพลฝั่งรัฐบาลทหารเมียนมากว่า 80 คนเสียชีวิต และทำให้ประชาชนอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามายังประเทศไทยจำนวนหลายพันคน[2] ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ได้รับผลกระทบทางลบด้วยเช่นกัน เพราะถูกนำไปสร้างกระแสต่อเนื่องว่าประเทศไทยไม่เคารพกติกาสากลในหลักการ ‘ไม่ผลักดันกลับ’ อันเป็นหลักการพื้นฐานได้ยืนยันสิทธิของผู้ลี้ภัยที่จะต้องไม่ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญภัยร้ายแรงต่อชีวิตหรืออิสรภาพ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้เริ่มต้นใน อนุสัญญา ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย และได้รับการยอมรับและปฏิบัติเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้วในปัจจุบัน

2. ขบวนการค้ามนุษย์ อาวุธและสินค้าผิดกฎหมาย

ดังที่ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วในเบื้องต้นว่า ณ ขณะนี้มีประชาชนเมียนมามากกว่า 1 ล้านคนต้องการอพยพออกนอกประเทศเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในประเทศปลายทางที่พวกเขาต้องการอพยพออกไปมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม กลุ่มเบงกาลี-โรฮิงญา ต้องการเดินทางออกไปยังประเทศโลกมุสลิม โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางผ่านออกไปย่อมต้องผ่านเข้าในดินแดนเขตแดนของประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มผู้อพยพจำนวนมากที่ได้เห็นตัวอย่างของแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีรายได้สูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ก็ทำให้คนเหล่านี้ต้องการอพยพเข้ามาในประเทศไทย และเหตุการณ์ที่น่าเศร้าคือมีกลุ่มมิจฉาชีพที่กระทำการเป็นขบวนการระหว่างประเทศในการค้ามนุษย์ (human trafficking) ซึ่งนอกจากจะหลอกเอาเงิน เอาทรัพย์สินจำนวนมากจากผู้อพยพแล้ว ในหลายๆ ครั้งก็เป็นการล่อลวงบุคคลผู้อพยพให้ไปทำงานที่ผิดกฎหมายในประเทศปลายทาง รวมทั้งในบางครั้งก็มีการทิ้งผู้อพยพระหว่างทางให้บาดเจ็บ ป่วย ล้มตายอยู่ในพื้นที่ชายแดน

ในขณะที่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ก็ทำให้สถานการณ์ในเมียนมาเกิดการขาดแคลนสินค้าบางประเภท ตลาดมืดสำหรับของเถื่อนสินค้าลักลอบเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางกองทัพมดลำเลียงสินค้าเหล่านี้ผ่านทั้งการซุกซ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับบริเวณด่านชายแดน หรือแม้แต่การขนส่งสินค้าผ่านช่องทางธรรมชาติก็เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้นำไปสู่การคอร์รัปชันมูลค่ามหาศาล และทำเป็นกระบวนการในทั้ง 2 ฟากของชายแดน และเมื่อมีปฏิบัติการในการจับกุมขบวนการลักลอบค้าของเถื่อนเหล่านี้ก็ต้องย้อนกลับไปอ่านในข้อที่ 1 นั่นคือความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบริเวณแนวชายแดนที่อาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ

การลักลอบขนส่งอาวุธระหว่างประเทศโดยผิดกฎหมายก็เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง อย่างที่ได้อธิบายในเบื้องต้นแล้วว่าความรุนแรงของเหตุการณ์ในเมียนมามาจากทั้งสองฝ่าย แน่นอนในกรณีฝ่ายกองทัพและกองกำลังภาคประชาชนที่สนับสนุนกองทัพและระบอบ SAC เราทราบที่มาของอาวุธของกองกำลังเหล่านี้ได้อย่างแน่นอนว่ามาจากการสนับสนุนของกองทัพ

แต่ในกรณีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มประชาชนติดอาวุธ PDF ที่สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ NUG จำนวนกว่า 65,000 นาย คำถามสำคัญคือพวกเขาเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนอาวุธปืนและวัตถุระเบิดจากแหล่งไหน โดยต้องอย่าลืมว่าอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้จากเรือกสวนไร่นา หากแต่ต้องผลิตใน Military Industrial Complex ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีอยู่ในเมียนมา ไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนก็ไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตและส่งมอบอาวุธเหล่านี้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าอาวุธเหล่านี้ต้องมีการลักลอบส่งเข้าไปในเมียนมาจากประเทศมหาอำนาจ การแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาเริ่มต้นมาตลอดตั้งแต่การรัฐประหาร ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือการที่อดีตนายทหารแห่งกองทัพสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าไปฝึกกิจกรรมที่คล้ายกับกิจกรรมทางทหารให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณชายแดนเมียนมา โดยเข้าไปในนามองค์กรเอกชน (NGOs)[3] 

คำถามที่ชวนคิดต่อคือ หากคุณผู้อ่านเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธ และได้รับอาวุธเข้ามา 100 หน่วย คุณจะนำอาวุธทั้ง 100 หน่วยเข้าประหัตประหารกับฝ่ายสนับสนุนระบอบ SAC เลยทั้งหมด หรือในสถานการณ์จริง ที่คุณต้องดูแลเลี้ยงดูครอบครัว และลูกน้องในปกครอง คุณต้องการเงินทุนสนับสนุน และในเมื่ออาวุธเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้ามาในช่องทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้จะนำอาวุธที่ได้รับมอบมา ไปขายในตลาดมืด ขบวนการลักลอบค้าอาวุธผิดกฎหมาย (arm-trafficking) จึงไม่ใช่เรื่องเกินจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ที่ยังมีกลุ่มกองกำลังที่เคลื่อนไหวเรียกร้องในมิติต่างๆ ลองนึกภาพว่าหากอาวุธเหล่านี้หลุดเข้ามาในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย หรือไม่ก็อาจตกอยู่ในมือของกลุ่มที่ยังใช้ความรุนแรงในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซาบาห์ของมาเลเซีย หมู่เกาะทางตอนใต้ฟิลิปปินส์ หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อะไรจะเกิดขึ้น

ปัญหาของเมียนมาจึงมีความใกล้ตัวพวกเราในหลายประเทศในภูมิภาค และยิ่งพื้นที่เหล่านี้เชื่อมโยงกันด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน การปราบปรามควบคุมจึงทำได้ยากอย่างยิ่ง

3. ขบวนการผลิตและลักลอบค้ายาเสพติด

สามเหลี่ยมทองคำคือชื่อที่ตั้งขึ้นโดยสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency: CIA) ในช่วงทศวรรษ 1950 โดยดินแดนรอยต่อของสามประเทศคือ ไทย เมียนมา และ สปป.ลาว ครอบคลุมพื้นที่ราว 950,000 ตารางกิโลเมตร การที่พื้นที่ตรงนี้ได้รับการขนานนามมาจากเหตุผลด้วยว่าตรงนี้คือแหล่งปลูกฝิ่น และผลิตภัณฑ์จากฝิ่นแหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการผลิตเฮโรอีนคุณภาพสูงภายใต้ตราสินค้า สิงโตคู่เหยียบลูกโลก Double UO Globe ซึ่งถือเป็นเฮโรอีนบริสุทธิ์เกรดสูงสุด (เกรด 4 หรือ China White) คำถามที่สำคัญคือ เฮโรอีน มอร์ฟีน และเมตาแอมเฟตามีน ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และต้องมีห้องปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสังเคราะห์ฝิ่น แล้วพื้นที่ห่างไกลในเทือกเขาสลับซับซ้อนอย่างสามเหลี่ยมทองคำมีเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างไร

ตำนานยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำที่ต่อยอดจากการเป็นแหล่งปลูกวัตถุดิบอย่างฝิ่นอย่างจริงจัง เริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1940 เมื่อพรรคชาตินิยมของสาธารณรัฐจีน (Kuo Min Tang: KMT 國民黨) เริ่มเพลี่ยงพล้ำเสียทีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมือง แกนนำรัฐบาลสาธารณรัฐจีนนำโดย นายพล เจียง ไค เช็ค (Chiang Kai-shek 蔣介石) เริ่มต้นขนย้ายกำลังคนและทรัพย์สมบัติหนีออกจากแผ่นดินจีน ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวัน ในขณะที่ในทิศใต้กรมทหารราบที่ 278 แห่งกองพลที่ 93 จำนวน 300 นาย นำโดยนายพล Tuan Shiwen (ชื่อไทย นาย ชีวัน คำลือ) สนธิกำลังกับกรมทหารราบที่ 193 กองพลที่ 26 อีกจำนวน 400 นาย นำโดยนายพล Li Wen-huan (ชื่อไทย นาย ชัย ชัยสิริ) ซึ่งทั้งสองกองพลนี้มาจากกองทัพที่ 8 แห่งกองทัพจีนคณะชาติ ที่บัญชาการโดยพลเอก หลี่ หมี (Li Mi 李彌) ประจำการอยู่ ณ มณฑลยูนนาน

กองพลเหล่านี้ยังไม่ยอมจำนนต่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีน จึงอพยพกองกำลังของตนไหลลงมายังบริเวณตะเข็บชายแดนพม่า ลาว และไทย ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และได้เปลี่ยนชื่อกองกำลังของพวกเขาเป็น Anti-Communist National Salvation Army อย่างไรก็ตามรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่เกาะไต้หวันไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินและกำลังทหารกับกองพลเหล่านี้ได้ ในขณะที่ฝ่าย CIA ที่เคยให้การสนับสนุนทางการเงินกับสาธารณรัฐจีนและกองพลเหล่านี้มาโดยตลอดก็เริ่มเปิดกิจการใหม่ นั่นคือสายการบิน Air America เพื่อใช้เป็นหน่วยงานบังหน้าในการเข้ามาปฏิบัติภารกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงของสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 นั่นจึงทำให้นายพล หลี่ หมี และ Air America สร้างความร่วมมือกันเป็นครั้งแรกในปี 1954[4]

ในขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยงานที่เป็นต้นกำเนิดของ CIA สองหน่วยงาน คือ Office of Strategic Services (OSS) และ Office of Naval Intelligence (ONI) เองก็ได้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ Charles “Lucky” Luciano เจ้าพ่อมาเฟียองค์การอาชญากรรมแห่งแคว้นซิซิเลีย (Sicily) ที่เป็นศัตรูกับผู้นำเผด็จการ เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini) ทั้งนี้เพื่อแลกกับข่าวกรองและการให้ความคุ้มครองท่าเรือสำคัญของอีตาลี ซึ่งจะเป็นทำเลยุทธศาสตร์ของกองทัพสัมพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกที่อิตาลี อย่างไรก็ตามแม้หลังสงคราม Luciano จะต้องติดคุกในสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนั้น เขาก็ได้รับการอภัยโทษ และกลับสู่อิตาลีอีกครั้ง และสร้างอาณาจักรมาเฟียขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่หลายๆ โครงการของ CIA เคยทำการทดลอง นั่นคือการศึกษาผลของสารเสพติดชนิดต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนรีดความลับต่างๆ จากผู้ต้องหา และขณะนี้เทคโนโลยีการผลิตเฮโรอีนได้ตกอยู่ในมือของกลุ่มมาเฟียแล้ว[5]

อีกหนึ่งโมเดลที่ CIA ทำสำเร็จคือการนำเงินจากการค้ายาเสพติดเหล่านี้ สนับสนุนให้มาเฟียซิซิเลียสามารถเข้ามาสร้างเครือข่ายกับ Corsican Mobsters ที่มีฐานปฏิบัติการในเมืองมาร์แซย์ (Marseille) ของฝรั่งเศส เกิดเป็นเครือข่ายยาเสพติดในยุโรปที่เรียกว่า the French Connection เพื่อต่อสู้กับสหภาพคอมมิวนิสต์ (Communist Unions) ที่มีอิทธิพลในเวลานั้น โมเดลนี้ได้ผลดีมาก เพราะ CIA หรือฝ่ายสหรัฐไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลในการทำงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้สำเร็จ เพียงแต่บริหารจัดการเครือข่ายยาเสพติดให้ดี ประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ให้ลงตัว[6]

โมเดลดังกล่าว พร้อมๆ กับการเปิดตัวของสายการบิน Air America ที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ให้กับการเคลื่อนย้ายบุคลากร ยาเสพติด และอาวุธ รวมทั้งเป็นบริษัทแฝงเพื่อประโยชน์ในการโยกย้ายงบประมาณ[7][8][9] ก็มาบรรจบกันกับ แหล่งวัตถุดิบการเพาะปลูกฝิ่นขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกรองจากอัฟกานิสถาน และยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายพลจีนทั้งสามคนที่ต้องการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างลงตัว และนั่นคือที่มาของอาณาจักรยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกในบริเวณเทือกเขาสลับซับซ้อนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นามว่าสามเหลี่ยมทองคำ

ยาเสพติดในดินแดนเทือกเขาเหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยต้นแบบการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แตกต่างอย่างสุดขั้วในสภาพเงื่อนไขทางสังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งมีประเด็นความมั่นคงเข้ามาผสมด้วยนี้ และถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยโมเดลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในระดับโลกคือโมเดลโครงการหลวง ที่ริเริ่มโดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในปี 1969 ด้วยความต้องการที่จะหาแนวทางการแก้ปัญหาชาวเขาที่ปลูกฝิ่นในทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยการพัฒนาหาแหล่งรายได้ทดแทนอื่นๆ จากนั้นปรัชญาการพัฒนาโครงการ “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา” จึงเกิดขึ้น

โครงการหลวงเป็นมูลนิธิที่รวบรวมข้อริเริ่มและงานวิจัยที่วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวเขาเป็นเป้าหมายหลัก โดยมีเป้าหมายรองคือการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยผ่านการลดพื้นที่การปลูกฝิ่น และการฟื้นฟูสภาพป่า โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ต่อเนื่องจากระบบแม่น้ำในภาคเหนือสู่ระบบแม่น้ำในที่ราบภาคกลาง นอกจากจะเน้นการพัฒนาในพื้นที่แล้ว โครงการหลวงยังมีโครงการต่อเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของการผลิต แปรรูปสินค้าเกษตรจากพื้นที่บนเทือกเขาสู่โรงงาน และวางช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน และอีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้การดำเนินการโครงการหลวงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ คือสถานะพิเศษของพระองค์ท่านที่เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจทำให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการหลวงดำเนินงานในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 35 ศูนย์ โ

โครงการหลวงได้รับการยอมรับในระดับโลกและได้รับรางวัล Ramon Magsaysay Award สาขา Peace and International Understanding ในปี 1988 และ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2006 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Project: UNDP) ก็ทูลเกล้าฯ ถวาย ‘UNDP Human Development Lifetime Achievement Award’ จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตลอดพระชนม์ชีพ

นั่นทำให้ปัญหาแหล่งผลิตยาเสพติดทางฝั่งไทยลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ แม้ว่าจะยังมีปัญหาเรื่องการเป็นเส้นทางขนส่ง และยังคงเป็นตลาดให้กับยาเสพติดสังเคราะห์ประเภทใหม่ๆ โดยเฉพาะ Methamphetamine และ Ketamine แต่เฮโรอีนและมอร์ฟีนกลับไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่ากับในตลาดสหรัฐอเมริกาและในยุโรป ผู้เล่นรายใหม่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเรื่อยไป

หนึ่งในนั้นคือรุ่นเก่าอย่าง โล ซิน ฮาน (Lo Hsing Han/ Law Sit Han/ လော်စစ်ဟန်/罗星汉) เจ้าพ่อเฮโรอีนแห่งสามเหลี่ยมทองคำในยุคทศวรรษ 1960-1970 ที่ถูกจับกุมตัวในประเทศไทยในปี 1973 แม้จะได้รับโทษประหารชีวิต แต่เขาก็กลับได้รับการอภัยโทษในปี 1980 โดยต้องกลับไปติดคุกต่อในพม่า ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มชาติพันธุ์ว้าและโกก้าง กำลังทำสงครามกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่า นายพล ขิ่น ยุ่น (Khin Nyunt ခင်ညွန့်) ในปี 1989 ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกองทัพ (ก่อนที่เขาได้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2003-2004) ได้พิจารณาว่า หากใช้บริการเครือข่ายของ โล ซิน ฮาน ในการเข้าไปประสานผลประโยชน์ ก็จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ลุกลามนี้ได้ แน่นอนว่าในการนี้เขาได้รับผลตอบแทนเป็นการนิรโทษกรรมในประเทศเมียนมา พร้อมกับการเดินทางกลับไปทวงบัลลังก์ราชาเฮโรอีนคืนจากขุนส่า ที่ขึ้นมาคุมวงการนี้แทนในช่วงที่เขาติดคุกทั้งในไทยและเมียนมา

โล ซิน ฮาน ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทวงคืนตำแหน่ง พร้อมขยายโครงการสังเคราะห์เฮโรอีนออกไปอีกถึง 17 แห่ง ซึ่งแน่นอนว่าในเวลานี้เขามีสหายสนิทอยู่ในกองทัพแล้วนั่นก็คือนายพล ขิ่น ยุ่น หลังจากกลับมาเป็นราชาเฮโรอีนได้อีกครั้ง โล ซิน ฮาน เริ่มต้นวางแผนเกษียณอายุโดยสร้างอาณาจักรธุรกิจ Asia World ที่ลงทุนในกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่นทางด่วน สนามบิน ท่าเรือ ท่อส่งน้ำมัน ฯลฯ แล้วก็ล้างมือในอ่างทองคำโดยการเป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับงานแต่งงานสุดอลังการของลูกสาวผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา ตาน ฉ่วย พร้อมกับการขอให้อำนาจรัฐยกเว้นการดำเนินคดีย้อนหลังทั้งหมด และวางมือจากวงการยาเสพติดในปี 2006

อีกราชายาเสพติดที่เรารู้จักกันดีก็คือ ขุนส่า (Khun Sa ခွန်ဆာ, Zhang Qifu, 張奇夫, จันทร์ จางตระกูล, Tun Sa, U Htet Aung) อดีตนักรบที่ได้รับฝึกหัดด้านยุทธวิธีทั้งจากพลพรรคก๊กมินตั๋งที่มาตั้งอยู่ในรัฐฉานเมื่อสาธารณรัฐจีนแตก และยังได้รับการฝึกอาวุธจากกองทัพพม่า แต่ผันตัวไปเป็นนักรบเรียกร้องเอกราชให้กับรัฐฉานบ้านเกิด ขุนส่าอาศัยช่วงเวลาสุญญากาศเมื่อ โล ซิน ฮาน ถูกจับ และเข้ามาเป็นราชายาเสพติดในปี 1976 และแน่นอนว่าเมื่อราชายาเสพติดอย่างโล ซิน ฮาน สามารถทำความเข้าใจกับรัฐบาลและกองทัพเมียนมาได้ ทางออกของขุนส่าจึงไม่ใช่การทำสงครามมาเฟียเพื่อชิงความเป็นใหญ่กับโล ซิน ฮาน แต่กลายเป็นการนำลูกน้องในกองทัพ Mong Tai Army เรือนหมื่นเข้ามอบตัวต่อทางการเมียนมาในปี 1996 คืนตำแหน่งราชายาเสพติด ร่วมสร้างภาพให้กองทัพพม่าได้รับการยอมรับมากขึ้นในสายตาชาวโลก และตนเองก็สามารถล้างมือในอ่างทองคำ โดยการนำพาครอบครัวและบริวารเข้ามาอยู่ในนครย่างกุ้ง และสร้างอาณาจักรธุรกิจในธุรกิจเหมืองแร่ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างทำโครงการขนาดใหญ่ในพม่า

นอกจากนี้ยังมีรายใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน คือกลุ่มซานเก้อ (Sam Gor 三哥)) ซึ่งแปลว่า ‘พี่สาม’ หรืออีกชื่อที่นิยมเรียกกันคือ ‘The Company’ กลุ่มซานเก้อเกิดขึ้นจากการรวมตัวของมาเฟียยาเสพติดในบริเวณชายแดนเมียนมาและมาเฟียจีน 5 กลุ่ม ได้แก่ 14K, Bamboo Union, Big Circle Boys, Sun Yee On และ Wo Shing Wo เข้าด้วยกัน มีความเชื่อว่าบุคคลที่ถูกเรียกว่าพี่สามคือ ชาวจีนที่ถือสัญชาติแคนาดา นามว่า เซี่ย จื่อ เล้อ (Xie Zhile, Tse Chi Lop, 谢志乐) ซึ่งพึ่งถูกจับตัวโดยตำรวจเนเธอร์แลนด์ในปี 2021 และถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในออสเตรเลียในปี 2022 โดยกลุ่มซานเก้อเป็นกลุ่มยาเสพติดรุ่นใหม่ๆ ที่เน้นยาสังเคราะห์ อาทิ Methamphetamine และ Ketamine ควบคู่ไปกับการค้าเฮโรอีน โดยเชื่อว่ากลุ่มซานเก้อในปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 40-70% ในตลาดเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเวียดนาม โดยมีฐานการผลิตยาเสพติดอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำฝั่งรัฐฉานในประเทศเมียนมา

ประเด็นที่น่าห่วงกังวลก็คือ หากระบอบ SAC ของผู้นำเผด็จการทหารเมียนมาได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุด (maximum pressure) จนทำให้ประเทศและระบอบขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ไม่สามารถจับจ่ายซื้อหาสินค้าจากตลาดโลกเข้าไปบริโภคในเมียนมา ไม่สามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่สามารถซื้ออาหาร อาวุธ และยารักษาโรค ที่เมียนมาไม่สามารถผลิตเองได้ ขณะที่ทางการเมียนมา ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดเจนว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับอดีตราชายาเสพติด ไม่ว่าจะเป็น โล ซิน ฮาน ที่ถึงแม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ลูกชายอย่าง Steven Law (หรือ Tun Myint Naing) และอาณาจักรธุรกิจ Asia World ก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับ ขุนส่า ที่ตัวเขาเองอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าลูกน้องเรือนหมื่นที่ยอมมอบตัวกับรัฐบาลเมียนมาในเวลานั้นและไม่ต้องถูกดำเนินคดี แต่ยังคงมีองค์ความรู้ที่พร้อมที่จะนำกลับมาสร้างอาณาจักรยาเสพติดได้ใหม่ในทุกเมื่อ คำถามคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากในท้ายที่สุด เมื่อผู้นำเผด็จการและกองทัพกลายมาเป็นกลไกในการบริหารอาณาจักรยาเสพติดเสียเอง ประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกันและมีความเปราะบางต่อปัญหายาเสพติด รวมทั้งประชาคมนานาชาติจะต้องได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายแน่นอน

4. ความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

นอกจากพรมแดนที่ยาวเหยียดต่อเนื่องกัน 2,401 กิโลเมตรแล้ว ต้องอย่าลืมว่า ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานจากเมียนมามากกว่า 1.88 ล้านคน โดยตัวเลขสถิติทางการจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ณ เดือน มีนาคม 2023 มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย 1,881,575 คน ร่วมกับแรงงานชนกลุ่มน้อยอีก 92,720 คน[10] ซึ่งแน่นอนว่าในความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างยิ่ง โดยผู้สังเกตการณ์หลายท่านเชื่อว่าแรงงานเมียนมาในไทยอาจจะพุ่งสูงถึง 5-7 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในฐานะปัจจัยการผลิตที่ทำให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการในระดับภูมิภาคได้อย่างแข็งแกร่ง และในอีกมิติหนึ่ง ผู้คนเหล่านี้คือผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่อุดหนุนกิจการต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ จะเกิดอะไรขึ้นหากแรงงานกลุ่มนี้หายออกไปจากระบบ ภาคการผลิตอาจต้องหยุกชะงัก เช่นเดียวกับกำลังซื้อภายในประเทศที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่การพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าก๊าซธรรมชาติที่ไทยนำเข้าจากเมียนมาคิดเป็น 16% ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของประเทศไทย[11] โดยก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาจะมาจาก 3 แหล่งคือ ยาดานา เยตากุน และซอติก้า แน่นอนว่าสัดส่วนดังกล่าวอาจจะดูว่าไม่สูงมากนัก แต่หากพิจารณาในมิติภูมิเศรษฐศาสตร์ ก๊าซธรรมชาติเหล่านี้มีต้นทุนที่ถูกที่สุดเนื่องจากขนส่งเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางระบบท่อส่งก๊าซ และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะก๊าซเหล่านี้จะถูกส่งเข้าโรงผลิตไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งในจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 5,400 Mw[12] ซึ่งนั่นหมายความว่า หากก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ไม่สามารถส่งออกจากเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยได้ตามปกติแล้ว พื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จะขาดแคลนไฟฟ้า และนั่นก็ย่อมหมายถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศ

อนึ่ง การค้าและการลงทุนของไทยในเมียนมาเองก็มีมูลค่ามหาศาล ตลาดของผู้บริโภคขนาด 57.5 ล้านคนในประเทศเมียนมาเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของประเทศไทยทั้งการค้าสินค้าและการค้าบริการ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ประเทศเมียนมาปิดประเทศเนื่องจากอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึงการเปิดตลาดในช่วงสั้นๆ และกลับเข้าสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2021 สินค้าไทยคือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยืนหนึ่งมาโดยตลอดในสายตาของผู้บริโภคชาวเมียนมา ดังนั้น นอกจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ไม่คบค้า ไม่ค้าขายกับเมียนมา จะหมายถึงความเดือดร้อนแสนสาหัสของชาวบ้านร้านตลาดในเมียนมาแล้ว ต้องอย่าลืมว่า ผู้นำเผด็จการทหารและเครือข่าย มีเงินทองมหาศาล แม้จะมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากทุกประเทศ พวกเขาก็ยังสามารถแสวงหาสินค้า แม้จะราคาแพงขึ้น แต่ก็คงไม่ได้เดือดร้อน ในขณะที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่ยากจน การเปิดช่องทางให้สินค้าและบริการจากฝั่งไทยสามารถเข้าไปจำหน่ายในเมียนมาได้โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือการช่วยให้ชีวิตชาวเมียนมาที่เดือดร้อนอยู่แล้ว ไม่ต้องลำบากมากยิ่งขึ้นจากราคาสินค้าที่แพงมหาศาลหากมีการปิดการค้าขาย การคว่ำบาตรกับเมียนมายังหมายถึงการตัดโอกาสการทำธุรกิจของธุรกิจไทยเองด้วย

เห็นได้ว่าประเด็นที่ไทยต้องห่วงกังวลอย่างน้อย 4 ประเด็นที่กล่าวมาทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะยากลำบากในการดำเนินนโยบาย หากรุนแรงแข็งขืนสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจกับผู้นำระบอบเผด็จการมากกลายเป็นศัตรู นั่นก็เท่ากับประเทศไทยจะมีความสุ่มเสี่ยงที่ยุ่งยากซับซ้อนและใกล้บ้านมากที่สุด ในขณะที่หากคบค้าใกล้ชิดจนเกินไปกับผู้นำระบอบเผด็จการ ก็เท่ากับเป็นการผิดต่อหลักการสากล ประเทศไทยก็จะไม่มีความสง่างาม ไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

ต่อประเด็นเมียนมา ประเทศไทยก็ใช้วิธีการทูตแบบเงียบ (Quiet Diplomacy) ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับทุกฝ่ายผ่านเวที Track 1.5 และ/หรือ Track 2 นั่นคือผ่านวงวิชาการ ผ่านพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ แต่เป็นสาระสำคัญในการรับรู้สถานการณ์ สร้างความเข้าใจ เพื่อหวังจะนำไปสู่การขยายผลเดินหน้านโยบาย ที่ผ่านมา แม้วิธีการนี้จะถูกวิจารณ์ถึงความเหมาะสมและประสิทธิผล แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการดำเนินนโยบายนโยบายในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ยังไม่เพียงพอ

ผู้เขียนมองว่า การดำเนินโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องไปให้ไกลกว่าในระดับส่วนกลาง และ/หรือ ในระดับนานาชาติ เพราะกรุงเทพฯ หรือกรุงจาการ์ตา ในอินโดนีเซีย อันเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการอาเซียน หรือยิ่งห่างไกลออกไป อย่างนครเจนีวา ในสวิสเซอร์แลนด์ และมหานครนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา อันเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ไม่มีทางรู้สถานการณ์ดีเท่ากับภาคเอกชนและภาคราชการที่อยู่ในจังหวัดชายแดน ซ้ำยังไม่ต้องกล่าวถึง วอชิงตัน ดีซี, โตเกียว หรือปักกิ่ง ที่ย่อมมองสถานการณ์ดังกล่าวด้วยมุมมองของการรักษาผลประโยชน์ของตนมากกว่าสิ่งอื่น

แน่นอนว่าคนที่อยู่ในอำเภอเมืองเองก็ไม่มีทางรู้ดีเท่ากับกลไกที่ต้องอยู่ที่ชายแดน ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลไทยจะจัดให้มีการประชุมที่บูรณาการทุกภาคส่วนจริงๆ ตั้งแต่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ กลไกในระดับต่างประเทศ อาทิ เอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่ที่องค์การระหว่างประเทศ เมืองหลวงทั้งของมหาอำนาจ และเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่ประจำอยู่ ณ ประเทศไทย ให้ลงพื้นที่ไปนั่งคุยกับพ่อค้าและข้าราชการในระดับจังหวัด และก็มีตัวแทนจากฝ่ายปกครองท้องถิ่น ภาคประชาชน รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกลาโหมทั้งจากส่วนกลาง กองทัพภาค และในพื้นที่ชายแดน มานั่งคุยกัน เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์จริงๆ จากในพื้นที่ว่าโอกาสคืออะไร ความท้าทายคืออะไร เรื่องต้องเฝ้าระวัง และข้อห่วงกังวลคืออะไร และส่วนกลาง รวมถึงความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ประชาคมอาเซียน จะดำเนินการเรื่องใดได้บ้างในรูปแบบที่เป็นเชิงรุก (pro-active) มากยิ่งขึ้น

เห็นได้ว่าพื้นที่ Zomia ดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แค่เพียงแต่กรณีเมียนมาประเทศเดียวที่ก็มีความยุ่งยากซับซ้อน ยังไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งระหว่างจีน-อินเดีย ในกรณีทิเบต และอรุณาจัลประเทศ ที่เป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาตลอดประวัติศาสตร์ หรือกรณีชาวม้งใน สปป.ลาว ที่มีความขัดแย้งกับพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เนื่องจากในช่วงสงครามกลางเมืองในประเทศลาว ท่ามกลางสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (1955-1975, สงครามอเมริกัน-เวียดนาม) และ ครั้งที่ 3 (1978-1991, สงครามกัมพูชา) ชาวม้งเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธและองค์ความรู้ทางยุทธวิธีและเงินทุนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกาให้ดำเนินการสงครามต่อต้านพรรคประชาชนปฏิวัติลาวซึ่งต้องการเปลี่ยนผ่านจากพระราชอาณาจักรลาว สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

จนถึงปัจจุบันความขัดแย้งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจใกล้บ้าน อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขง การบริหารจัดการเครือข่ายการผลิตและตลาดซื้อ-ขายพลังงาน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบถนน ราง ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน ระบบโทรคมนาคม ฯลฯ แน่นอนว่าจะยิ่งทำให้บทบาทของเมืองที่อยู่ในพื้นราบ ณ จุดศูนย์กลางของอำนาจรัฐ ขยายอิทธิพลเข้าไปกล้ำกรายในพื้นที่ห่างไกลที่ในอดีตอยู่ไกลแสนไกลจากอำนาจส่วนกลางอย่างพื้นที่ Zomia หรือ ดินแดนแห่งเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบที่ซับซ้อน รุนแรงถาโถม และมีพลวัตสูง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้


[1] https://www.unhcr.org/th/unhcr-in-thailand

[2] Thai PBS จี้ “ไทย” สอบกรณีส่งกลับ 3 ผู้ต่อต้านรัฐบาลเมียนมา https://www.thaipbs.or.th/news/content/326661

[3] ผู้จัดการออนไลน์. 12 ม.ค. 2565. NGO มะกันเปิดหน้าชัด! Free Burma Rangers อ้างมนุษยธรรม ฝึกทหารให้ชาวบ้านสู้กับ รบ.พม่า. https://mgronline.com/indochina/detail/9650000003648

[4] Shan Herald Agency for News. “The Kuomintang”. 2005-07-26. http://www.shanland.org/general/NinP/The-Kuomintang/ https://web.archive.org/web/20070928095143/http://www.shanland.org/general/NinP/The-Kuomintang/

[5] Institute for Policy Studies. A Tangled Web: A History of CIA Complicity in Drug International Trafficking. Congressional Record. INTELLIGENCE AUTHORIZATION ACT FOR FISCAL YEAR 1999 (House of Representatives – May 07, 1998) https://irp.fas.org/congress/1998_cr/980507-l.htm

[6] Institute for Policy Studies. A Tangled Web: A History of CIA Complicity in Drug International Trafficking. Congressional Record. INTELLIGENCE AUTHORIZATION ACT FOR FISCAL YEAR 1999 (House of Representatives – May 07, 1998) https://irp.fas.org/congress/1998_cr/980507-l.htm

[7] Robbins, Christopher (1985). The Ravens. New York: Crown. p. 94. ISBN 0-9646360-0-X.

[8]  “Air America and Drugs in Laos”. Los Angeles Times. L.A. TIMES ARCHIVES. OCT. 5, 1990. https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1990-10-05-me-1489-story.html

[9] The Politics of Heroin: CIA Complicity in the Global Drug Trade, by McCoy, with Cathleen B. Read and Leonard P. Adams II, 2003, p. 385 ISBN 1-55652-483-8

[10] สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว. สถิติจำนวนต่างด้าวที่ได้รับการทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ฉบับประจำเดือน มีนาคม 2566. กลุ่มงานพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว. ฝ่ายทะเบียนและสารสนเทศ กกจ.ที่ 09/2566 สบต. 7 https://www.doe.go.th/prd/download/download_by_pool_file/100400

[11] ศูนย์บริการลูกค้าโรงไฟฟ้าและตลาดค้าส่งก๊าซธรรมชาติ เครือปตท. ภาพรวมก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย. https://gsm.pttplc.com/content.aspx?id=Wa8FWO27Pecs0As94Dw5gQ%3D%3D

[12] ราช กรุ๊ป. โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก. https://www.ratch.co.th/th/our-business/power-business/conventional-power-plants?page=1


อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ Zomia ตอนที่ 1: ทำความรู้จักดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ Zomia ตอนที่ 2: สหภาพแห่งพม่า รอยร้าวแห่งชาติพันธุ์ที่ขัดแย้ง

อ่านตอนที่ 3 ได้ที่ Zomia ตอนที่ 3: จากระเบิดเวลาลูกแรก สู่ลูกล่าสุด ผ่านการรัฐประหารเมียนมา 2021

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

9 Jun 2021

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน: ว่าด้วยคำในป้ายหน้าค่ายทหาร

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง ชวนตั้งคำถามกับชุดคำ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ที่สลักอยู่บนป้ายหินอ่อนที่ปรากฏอยู่ทุกหน้าค่ายทหารว่า กองทัพกำลังปกป้องอะไรอยู่กันแน่?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

9 Jun 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save