fbpx

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน: ว่าด้วยคำในป้ายหน้าค่ายทหาร

ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึ่งจะเป็นไทยแท้ แต่ถ้าใครแสดงตนว่าเป็นอิสระแก่ตน ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้ใดดังนี้ ต้องจัดว่าผู้นั้นเป็นคนไม่มีชาติ เพราะคนคนเดียวหรือหมู่เดียวจะตั้งตนเป็นชาติต่างหากหาได้ไม่…การที่ผู้ใดยอมสละอำนาจอันชอบธรรมเช่นนี้ต้องเข้าใจว่าเพราะเห็นแก่สาธารณประโยชน์และความสะดวกแก่มหาชนยิ่งกว่าเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง … คือผู้มีความภักดีจริง รักชาติจริง ผู้ที่ไม่ยอมคือผู้ที่รักชาติแต่ปาก

“ความเป็นชาติโดยแท้จริง”

โดย อัศวพาหุ (รัชกาลที่ 6)

หนังสือพิมพ์ไทย พ.ศ. 2458

ผมมีโอกาสได้เลคเชอร์นักศึกษาเอกหนังสือพิมพ์ที่กำลังจะจบในปีการศึกษาล่าสุด สัมผัสได้ว่าหลายคนประหวั่นพรั่นพรึงกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง ด้วยค่าของคำว่า ‘หนังสือพิมพ์’ ไม่ได้ขลังเหมือนสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน บทบาทของสื่อสารมวลชนหรือพลวัตของธุรกิจสื่อทำให้อาชีพนักหนังสือพิมพ์ถูกตั้งคำถาม และตัวธุรกิจในประเทศไทยเองก็ดูเหมือนกำลังจะโรยรา

เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยาก แม้ว่าคณาจารย์จะพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เหมาะสมกับโลกปัจจุบันเพื่อให้นักศึกษาอยู่รอดแล้วก็ตาม แต่คำที่ถูกแปะป้ายไว้บนตัวเราก็จะตามเราไปทุกที่

‘คำ’ มีอิทธิพลต่อการสร้างความรู้สึกและจินตนาการของคนที่ได้อ่านเป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่าหากเปลี่ยนแค่คำ บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้อาจมีพลังมากกว่าที่เราคิด

และเรื่องคำนี่แหละ ทำให้ผมตั้งคำถามกับป้ายที่ผมคุ้นเคยและเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ นั่นคือป้ายหน้าค่ายทหาร

หน้าค่ายทหารเกือบทุกแห่งในประเทศจะมีป้ายทำจากหินอ่อนบ้าง หินขัดบ้าง สลักประโยค ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน’ โดดเด่นอย่างมั่นคงด้วยตัวอักษรวิจิตรใหญ่หนา เป็นเหมือนคำขวัญประจำใจเพื่อบอกว่าหน้าที่ของทหารหาญของไทย ต้องปกป้องสิ่งใดบ้าง

คำเหล่านี้มีที่มา และความหมายอย่างไรกัน

 

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์: ความหมายที่มาพร้อมธงชาติ

ต้องเท้าความเดิมก่อนว่า ป้ายหน้าค่ายทหารสมัยก่อนมีแค่คำว่า ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ทั้งสามคำมาพร้อมกับการสร้างความเป็นชาติในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นผู้นำ ‘คำ’ เหล่านี้มาใช้ พร้อมกับการเปลี่ยนธงชาติจากธงรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง มาเป็นธงแถบสีแดงขาวและธงไตรรงค์สามสีในท้ายที่สุด

แม้จะมีเรื่องเล่าและบันทึกเกี่ยวกับพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนธงจากเดิมซึ่งเป็นรูปช้างมาเป็นธงแถบสีว่าเพื่อความสะดวกสบาย ลดความยุ่งยาก ความไม่สง่างามหรืออะไรก็ตาม แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าลึกๆ แล้ว การเปลี่ยนธงชาติไทยเป็นการทำให้สยามดู ‘เป็นตะวันตกมากขึ้น’ (westernization) มีการกล่าวอ้างว่าอย่างเปิดเผยว่า รัชกาลที่ 6 ต้องการให้ธงของสยาม ดูใกล้เคียงกับธงของฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ทว่า แม้ธงสยามจะดูคล้ายธงของชาติตะวันตก แต่ความหมายกลับค่อนข้างแตกต่างกัน

ในช่วงที่อังกฤษเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการปลุกระดมคนในชาติเพื่อสู้กับศัตรูฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี อังกฤษใช้คำขวัญปลุกใจเหล่าทหารหนุ่มว่า ‘For God, King and Coutntry’ (‘เพื่อพระเจ้า กษัตริย์ และประเทศชาติ’ ซึ่งต่อมาคำพวกนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในวัฒนธรรมของอังกฤษ มีการเปลี่ยนแปลงและนำไปใช้ในหลายบริบทนะครับ ตั้งแต่เปลี่ยนจาก King เป็น Queen ตัดคำว่า God ออก ท้ายสุดมันยังกลายเป็นชื่อวงดนตรีร็อคในอังกฤษ เชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมป๊อปของอังกฤษในช่วง 50 ปีหลังจากนั้น)

รัชกาลที่ 6 รับแนวความคิดนี้มา ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากพระองค์พำนักอยู่ที่อังกฤษเป็นเวลานาน เมื่อนิวัติกลับสยามจึงปรับเอามาใช้ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้มีความเจริญทัดเทียม มีอารยะและเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สงคราม จึงเกิดเป็นที่มาของคำขวัญ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ พร้อมๆ กับการเปลี่ยนธงชาติ

จริงๆ สีแดง น้ำเงิน ขาว ในโลกตะวันตกไม่ได้ถูกใช้เป็นตัวแทนของชาติ ศาสนาหรือสถาบันกษัตริย์ แต่สีทั้งสามสีถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองแบบสาธารณรัฐเสียด้วยซ้ำ โดยถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1568 ช่วงการปฎิวัติของชาวดัตช์ที่ต้องการเป็นเอกราชจากการปกครองของสเปนในสงครามที่เรียกกันว่า ‘สงคราม 80 ปี’ (Eighty Year’s Wars) ระหว่างปี 1568-1648 แต่เดิมในช่วงศตวรรษที่ 14 ส่วนของสีแดงนั้นเคยเป็นสีส้มซึ่งเป็นสีของกษัตริย์ แต่ต่อมาเมื่อการปฎิวัติสำเร็จ สีส้มถูกเปลี่ยนเป็นสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองแบบสาธารณรัฐแทน 

ชาวฝรั่งเศสนำธงนี้ไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของการปฎิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มต้นในพฤษภาคมปี 1789 แต่มีการปรับเปลี่ยนจากแนวนอนให้เป็นแนวตั้ง เสมือนว่าเป็นเหมือน ‘เสาหลัก’ ของอุดมการณ์ทางการเมืองและให้ความหมายแถบสามสี แดง น้ำเงิน ขาวว่า ‘เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ’ เมื่อการปฎิวัติฝรั่งเศสสำเร็จ ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาเลยนำเอาสีสามสีนี้ไปใช้เพื่อสื่อความหมายของอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นชาติที่ยึดโยงอยู่กับประชาชน 

สำหรับประเทศไทย ในยุคของการเข้าสู่ความทันสมัย ธงชาติและสามสีนี้ไม่ได้ใช้ในความหมายที่เข้าใจกันในโลกตะวันตก แต่เปลี่ยนเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกเท่านั้น (นัยว่าประดับหัวเรือแล้วดูเนียนๆ ไปกับเขา) สามสีและสามคำของไทยก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ผูกโยงไปกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งขณะนั้นถือเป็นศูนย์กลางของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเหนียวแน่น ผ่านทางการปฎิรูปสถาบันทหารและคุณค่าของความเป็นชาย ที่ถูกทำให้เป็น ‘คนของกษัตริย์’ อีกที 

สาระในศาสนา

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 สถาบันศาสนาก็มีความเคลื่อนไหวค่อนข้างมากและได้ยกภาพของพุทธศานาให้เป็นของกษัตริย์ (และชาติ) โดยสมบูรณ์ และยังอิงอยู่กับความเป็นตะวันตกอยู่เช่นกันครับ เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้การนับ ‘พุทธศักราช’ แทน ‘รัตนโกสินทรศก’ ให้เป็นศักราชทางราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2457  ซึ่งจะว่าไป ก็เป็นไปตามธรรมเนียมของตะวันตกที่นับปีศักราชให้สัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ จากนั้นไม่นานนัก ปี 2463 ก็มีการบัญญัติธรรมเนียมอีกอย่าง ซึ่งได้อิทธิพลที่พระองค์ได้มาจากศาสนาคริสต์อีกเช่นกัน นั่นคือการส่งบัตรอวยพรในวันวิสาขบูชาซึ่งก็เป็นธรรมเนียมของตะวันตกที่จะส่งส่งบัตรอวยพรในวาระคริสตสมภพ

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2462 ก็โปรดให้เปลี่ยนเรียกกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ และย้ายกระทรวงธรรมการเอาไปรวมอยู่ในราชสำนักตามประเพณีเดิม นี่เป็นครั้งแรกที่แยกการศึกษาฝ่ายศาสนากับฝ่ายบ้านเมืองให้อยู่ต่างที่ต่างสังกัดกัน

กระทรวงธรรมการที่สังกัดราชสำนักมี 2 กรม คือ กรมสังฆการี มีหน้าที่เป็นเจ้าทะเบียนสงฆ์และดูแลพระอาราม ส่วนกรมกัลปนา มีหน้าที่ดูแลที่ธรณีสงฆ์ โดยมีกองศาสนสมบัติมีหน้าที่รักษาสมบัติสงฆ์ ส่วนกองปริยัติธรรมมีหน้าที่บำรุงการศึกษาในพระพุทธศาสนา

จากปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด ก็จะเห็นได้ว่าศาสนาเองก็ถูกปรับเปลี่ยนค่อนข้างมากและถูกทำให้เป็นสากลมีความเทียบเคียงกับตะวันตกมากขึ้น พยายามลดความเป็นพหุศาสนา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของดินแดนแถบกันชน (buffer zone) แห่งนี้ที่ผู้คนทั้งจากจีน อินเดียและมลายูมาตั้งรกราก ติดต่อค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิมานาน

อิทธิพลทั้งศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู อิสลามและลัทธิจากจีนและศาสนาอื่นๆ ต่างผสมปนเปและแพร่กระจายและอยู่ร่วมกันมานานแล้ว โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมมานาน ทั้งจากจีน ฮินดู และอิสลาม 

บันทึกของหมอบรัดเลย์ระบุไว้ว่า จากที่เข้ามาสำรวจดินแดนแถบนี้พบว่า ‘คนมุสลิมในปัตตานีมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าคนสยาม’ นั่นแสดงให้เห็นว่า สังคมแบบพหุวัฒนธรรมมีมานานและความแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ แต่การสถาปนาพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาแห่งชาติและผูกโยงกับกษัตริย์คือจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราะความเป็นพหุศาสนา พหุวัฒนธรรมในสายของทหาร (ซึ่งเป็นตัวแทนของกษัตริย์) ดูขัดกับหลักการของ ‘ส่วนกลาง’

การแก้ปัญหาที่เกิดจากความหลากหลายที่ง่ายที่สุดก็คือ การใช้หลักการแบบทหาร นั่นคือปกครองและป้องกัน แต่ไม่ได้สร้างความกลมกลืนและเข้าใจ

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจตั้งแต่แรกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยิ่งเมื่อดูประวัติศาสตร์การปกครองของเราเอง หากดูจากรายชื่อนายกรัฐมนตรี 29 คนของไทย 13 คนมาจากทหารและนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดก็หนีไม่พ้นทหาร แน่นอนว่าไม่ได้เชี่ยวชาญทักษะในเชิงวัฒนธรรมอาจเหมือนการปกครองแบบทหาร นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไทยถึงไม่สามารถสร้างกลไกให้ความหลากหลายวัฒนธรรมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เหมือนที่เราเห็นสุเหร่าอยู่ข้างศาลเจ้าจีนอย่างในสมัยก่อน 

การจัดการปัญหาความขัดแย้งทางความคิด (ไม่ใช่แค่ศาสนา) ชนชั้นปกครองของเราจึงถนัดที่จะใช้เครื่องมือการจัดการแบบทหารมากกว่าเครื่องมืออย่างอื่น

ประชาชน ผู้มาทีหลัง

จากป้ายหน้าค่ายทหาร คำว่า ‘ประชาชน’ เป็นคำที่ถูกเติมมาทีหลังในช่วงไม่ถึง 20 ปีมานี้ เข้าใจว่ามีการทยอยเติมคำว่าประชาชนเข้าไปตามค่ายทหารหลายๆ ค่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงสถานที่ทำงาน กรมกองต่างๆ ของทหาร บางค่ายก็เปลี่ยนแล้ว แต่ก็ยังมีบางค่ายที่ยังไม่ได้เปลี่ยน อันนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรมาวัดในการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน เช่นว่าเป็นป้ายประวัติศาสตร์หรือไม่ ถึงเปลี่ยนไม่ได้ หรือว่าค่ายทหารไม่มีงบประมาณ อันนี้ก็ไม่ทราบได้  

ผมเองพยายามไปค้นหาเอกสาร ถามหาผู้รู้ ก็ไม่เจอว่ามีใครกล่าวถึงเรื่องการเปลี่ยนป้ายนี้ไว้อย่างจริงจัง ไม่มีประวัติแน่ชัดนักว่าคำว่า ‘ประชาชน’ ถูกเติมเข้ามาเพราะอะไร ใครเป็นต้นคิดเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี การมีคำว่าประชาชนในป้าย สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนกับชนชั้นปกครองและระบอบทหารธิปไตย จริงๆ ก็เริ่มส่งผลบ้างนะครับ แม้ว่ามันอาจไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการเติมคำนี้ลงไปเพื่อลดแรงปะทะทางสังคมก็ตามที แต่เชื่อว่าการเขยิบมาอยู่บนเวทีเดียวกัน แถวเดียวกันกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แม้ว่าจะมาทีหลังและต่อท้ายแถวหลังสุด ก็แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ตลอด 80 กว่าปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเรา

แอบคิดเล่นๆ ว่าถ้าหากคำว่า ‘ประชาชน’ ถูกเติมไว้ด้านหน้าทั้งสามคำนี้แทนที่จะไปต่อท้าย ความรู้สึกของประชาชนต่อความเป็น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และทหารจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนกัน

อ้างอิง

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์: Nation, Religion, King Ep1

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์: Nation, Religion, King Ep2

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์: Nation, Religion, King Ep3

ที่มา “ธงชาติไตรรงค์” ไอเดียใครออกแบบ ทำไมเลือกใช้สีแดง-น้ำเงิน-ขาว

อุดมการณ์ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ของไทย มีที่มาจากคำขวัญรณรงค์สงครามของอังกฤษ ในสงครามโลกครั้งที่ 1

แผ่นดินของไทยปัญหาของคนไทย (7) : เรื่องปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ตอน ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ (Endless Conflict)

เสวนา: เมื่อประชาธิปไตย≠อิสลาม การเมืองปาตานีกับความหวังสันติภาพ?

การวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างไทยพุทธ-มุสลิม ในพื้นที่ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตาน

87 ปี ประชาธิปไตย ทหารเป็นนายก 14 นาย “ตำรวจ” เป็นได้แค่คนเดียว

ทหารในการเมืองไทย: ใครจะพานายพลพวกนี้ออกไป

เช็กชื่อนายกฯสายทหาร-ใครบ้างมาจากการยึดอำนาจ

ทหารกับการเมืองไทย : โดย สร อักษรสกุล

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save