fbpx

Zomia ตอนที่ 1: ทำความรู้จักดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดินแดนเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Massif) ถูกนำขึ้นเป็นข้อเสนอทางวิชาการในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดย ณอน มิโชด์ (Jean Michaud) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาสังคม (Social-Anthropology) แห่งมหาวิทยาลัย Université Laval ประเทศแคนาดา[1]

แผนที่แสดงพื้นที่ Zomia ดินแดนแห่งเทือกเขาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA Massif) และดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Massif)
ที่มา: Jean Michaud – Journal of Global History (เพิ่มเติมแนวแม่น้ำโดยผู้เขียน)

ถึงแม้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งนี้จะถูกบัญญัติชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่นี้มีคำจำกัดความที่กว้างใหญ่มากกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยลักษณะร่วมของพื้นที่นี้คือเป็นดินแดนที่อยู่ในพื้นที่สูงมากกว่า 300 เมตร (1,000 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล กว้างใหญ่และกินอาณาบริเวณครอบคลุม 9 ประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศจีน; ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย; ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบังกลาเทศ; เทือกเขาสูงในประเทศเมียนมา; ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย; สปป.ลาว, แนวเทือกเขาอันนัมของประเทศเวียดนาม และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา; รวมทั้งพื้นที่ทางตอนเหนือคาบสมุทรมลายูของประเทศมาเลเชีย

ในทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ พื้นที่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะดินแดนประมาณ 25,000 ตารางกิโลเมตรนี้คือ บ้านของประชากรมากกว่า 100 ล้านคน และยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรมากกว่า 1,800 ล้านคน

สิ่งที่หลายๆ ท่านมักจะมองข้ามไป นั่นคือเมื่อเรากล่าวถึงดินแดนแห่งเทือกเขา เรามักจะยึดติดกับกับดักทางจิตวิทยาที่ยึดติดกับพื้นที่สูง ห่างไกลจากชุมชนขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์กายภาพ และในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน (ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดในหนังสือ The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia โดย James C. Scott ในปี 2009) นั่นคือ พื้นที่สูงเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับชุมชนเบื้องล่างที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ เพราะพื้นที่สูงเหล่านี้คือแหล่งกำเนิดของระบบแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของทั้งเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บนที่ราบสูงทิเบต หลังคาของโลก ที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี ก็ใช่ว่าหิมะจะไม่ละลาย เมื่อหิมะละลาย ปริมาณน้ำมหาศาลเหล่านี้ก็จะไหลจากเทือกเขาสูงชันเหล่านี้ ไปรวมกันกับน้ำจากแหล่งต้นน้ำต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้จนกลายเป็นแม่น้ำสายสำคัญๆ ที่หล่อเลี้ยงทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำคงคา (गंगा Ganges) พรหมบุตร (ब्रह्मपुत्र Brahmaputra) ซึ่งเป็นสองในห้าแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมและเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย

ในประเทศจีน ที่ราบสูงทิเบตคือหอคอยกักเก็บน้ำ (water tower) แหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญทุกๆ สายในจีน ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง (扬子江 Yángzǐ Jiāng หรือ 长江 Cháng Jiāng) แม่น้ำเหลือง (黄河 Huáng hé) แม่น้ำจูเจียง (珠江 Zhū Jiāng หรือ Pearl River) ในประเทศจีน รวมทั้งแม่น้ำโขง (Mekong) หรือแม่น้ำล้านช้าง (澜沧江 Láncāng Jiāng) ที่ไหลต่อเนื่องจากจีนตอนใต้จนกลายเป็นแม่น้ำนานาชาติแห่งประชาคมอาเซียนของเรา รวมทั้งในฝั่งตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดจะอยู่ในแนวแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy, Ayeyarwady, ဧရာဝတီမြစ်) และแม่น้ำสาละวิน (Salween, သံလွင်, Thanlwin) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของเมียนมาและไทย

ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาของไทยก็เกิดขึ้นจากการรวมของแม่น้ำสี่สายคือ ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเกิดขึ้นจากเทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาแดนลาว และเทือกเขาหลวงพระบาง ดินแดนเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำแห่งชีวิตเหล่านี้ ซึ่งประชากรมากกว่า 250 ล้านคนในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปอาศัยอุปโภคบริโภค ใช้ในกระบวนการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในทุกกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม

แม่น้ำจากเทือกเขาเหล่านี้คือปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในฐานะเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์จากท่าเรือริมชายฝั่งมหาสมุทรสู่ที่ราบสูงทางตอนบนของอาเซียนบนบก ในขณะเดียวกัน กระแสน้ำจากเทือกเขาสูงเหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของเมียนมาและ สปป.ลาว จากการขายพลังงานสะอาดที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมป่าไม้และเหมืองแร่ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขา

เทือกเขายังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประชากรจำนวนมากในภูมิภาค ทรัพยากรที่สำคัญของป่าไม้บนเทือกเขาอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะมีคุณประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม ลดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติ ทั้งภัยจากความแห้งแล้งและอุทกภัยแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมยาและบริการทางการแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต ดังนั้นในมิติเศรษฐกิจ ‘เศรษฐกิจแห่งเทือกเขา’ (Mountain Economies) จึงมีนัยสำคัญต่อประชาคมอาเซียน จีน และอินเดียเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม พื้นที่เทือกเขาเหล่านี้เองก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อภัยธรรมชาติ ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากภาคอุตสาหกรรมและมลพิษจากเมืองใหญ่ในพื้นที่ราบ หลายๆ ครั้งชุมชนบนเทือกเขากลายเป็นผู้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม เมืองใหญ่ในที่ราบทางตอนล่างกลับเรียกร้องให้ชุมชนบนเทือกเขาต้องยอมที่จะลดโอกาสของตนเองในการจะพัฒนาให้มีความทันสมัย โดยใช้ข้ออ้างในเรื่องของการอนุรักษ์

ในขณะเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดทางสภาพภูมิศาสตร์ทำให้เทือกเขากลายเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก และมีต้นทุนโลจิสติกส์สูง จนทำให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เทือกเขาเหล่านี้มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อยลงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนบนพื้นราบ หรือชุมชนบริเวณชายฝั่ง หากพิจารณาจากตัวเลขของธนาคารโลกในรายงาน Doing Business เราจะพบว่าประเทศที่ไม่มีชายฝั่งทะเล (landlocked countries) มีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนในการทำการค้าระหว่างประเทศที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังต้องมีการใช้เอกสารในการส่งออกและนำเข้าจำนวนมากกว่าประเทศที่มีชายฝั่งอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากต้องมีการข้ามแดนและผ่านแดนหลายครั้งกว่าสินค้าจะเดินทางไปถึงท่าเรือ และแน่นอน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งนานมากกว่าประเทศที่มีชายฝั่ง

ในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม เทือกเขาสูงชันสลับหุบเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำเหล่านี้ทำให้เกิดการกระจายตัวของชุมชนที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่การขยายโอกาสในภาคบริการการท่องเที่ยว ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งความสวยงามตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

นอกจากคำเรียกภูมิภาคดังกล่าวว่าดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกคำเรียกหนึ่งที่เป็นที่นิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากเราต้องการศึกษาในมิติสังคมวิทยา มานุษยวิทยา คือคำว่า ‘Zomia’ ซึ่งถูกใช้เป็นครั้งแรกในงานของ Willem van Schendel แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมในปี 2002[2] และถูกทำให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในงานของ James C Scott แห่งมหาวิทยาลัยเยลล์ในปี 2009[3] โดยคำว่า Zomia มีที่มาจากคำว่า Zomi ในภาษากลุ่ม Chin-Kuki-Mizo ที่แปลว่า คนบนที่สูง (highlanders) โดย Willem van Schendel เลือกใช้คำนี้เนื่องจาก เขาพบว่ามีประชากรกว่า 10 ล้านคนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมร่วมในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้กระจายตัวกันอยู่ทั่วทั่งดินแดนแห่งเทือกเขาในบริเวณภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (โดยเฉพาะในรัฐมิโซรัม, มณีปุระ, ตริปุระ, อัสสัม และ นาคาแลนด์) ยาวตลอดถึงบริเวณรัฐฉิ่น, รัฐยะไข่ และเขตสะกาย ของประเทศเมียนมา รวมทั้งบางส่วนในประเทศบังกลาเทศ

นอกจากกลุ่ม Chin-Kuki-Mizo แล้ว ม้ง (Hmong) ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ที่มีประชากรราว 11.2 ล้านคน[4] ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในพื้นที่เทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรในราว 9 ล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณตอนใต้ของจีน, 1 ล้านคนในเวียดนาม, 5 แสนคนใน สปป.ลาว และราว 2.5 แสนคนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณพรมแดนที่เป็นเทือกเขาสูงใน เมียนมา อินเดีย และบังกลาเทศ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งยังมีกลุ่มวัฒนธรรมแยกย่อยตามกลุ่ม/ชนเผ่าในแต่ละพื้นที่อีกด้วย แต่สิ่งที่ถือเป็นแกนกลางทางวัฒนธรรมของม้งคือการใช้ภาษาในตระกูลเดียวกัน นั่นคือภาษาในตระกูล Tibeto-Burman

ดังนั้นในดินแดนเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือบริเวณ Zomia นี้จึงมีลักษณะร่วมกันอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1) อยู่บนพื้นที่สูงในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีระบบนิเวศที่ซับซ้อน

2) ในอดีตเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางอำนาจ มีสภาพชายขอบ (state of marginality) ทำให้อยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบที่คลุมเคลือระหว่างความเป็นรัฐอิสระ และรัฐที่ขึ้นต่อศูนย์กลางอำนาจ (ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นราบด้านล่างหรือ lowlands)

3) มักเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวกันอย่างเบาบาง มีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มบ้างในบางวาระบางโอกาส และมักจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง และมักจะผสมปนเปความเชื่อต่างๆ เข้าด้วยกันจนมีลักษณะเด่นเฉพาะกลุ่ม

แต่ในศตวรรษที่ 21 ความเชื่อมโยงระหว่างพื้นราบและเทือกเขาดูจะมีความผูกพันกันมากยิ่งขึ้น ในทางรัฐศาสตร์ อำนาจการปกครองจากพื้นล่างต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปควบคุมความเป็นไปบนเทือกเขามากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ทำให้พื้นที่ Zomia กลายเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากทั้งในแง่ความต้องการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอันมีค่า โดยเฉพาะสินแร่ ป่าไม้ พลังงาน และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ไปจนถึงเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ต้องการเชื่อมโยงแหล่งผลิตและตลาดทั้งภายในและระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวเองก็มีค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปในการเดินทางออกนอกพื้นที่อาศัยเดิมของตนเพื่อเข้าไปหางานทำในพื้นที่ด้านล่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ในขณะนี้เราเห็นสองมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ของจีนที่ตัดข้ามผ่านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมๆ กับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน เข้าไปในพื้นที่สูงชัน ห่างไกล ชายขอบอย่าง Zomia หรือดินแดนเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คู่ขนานไปกับการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน โดยมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักวิชาการผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่อง Zomia ดินแดนเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย อย่าง รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช วิเคราะห์ไว้ว่า สองมหายุทธศาสตร์นี้จะก่อให้เกิดการปรับรูปภูมิศาสตร์ใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อดินแดนแห่งนี้[5] ยกระดับให้อาณาบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เราต้องให้ความสนใจเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยดุลยภาพได้ศัพท์บัญญัติปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘ZOYIFIC’ อันเกิดจากการประสมคำสามส่วนเข้าด้วยกันระหว่าง Zomia + Yī dài yī lù[6] + Indo-Pacific[7]

ในบทความตอนต่อไป ผู้เขียนจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักหนึ่งในพื้นที่ของ Zomia ที่เปราะบางมากที่สุด และเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ… ‘เมียนมา’…


Remark: มีการแก้ไขเนื้อหาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2566


[1] Michaud J., 1997, “Economic transformation in a Hmong village of Thailand.” Human Organization 56(2) : 222-232.

[2] Willem van Schendel, ‘Geographies of knowing, geographies of ignorance: jumping scale in Southeast Asia’, Environment and Planning D: Society and Space, 20, 6, 2002, pp. 647–68.

[3] James C. Scott, The art of not being governed: an anarchist history of upland Southeast Asia. New Haven, CT: Yale University Press, 2009.

[4] What is the actual number of the (H)mong in the World by Jacques Lemoine, Ph.D. Hmong Studies Journal, 2005, 6: 1-8. http://hmongstudies.org/LemoineHSJ6.pdf

[5] Preecharush, D. (2021). From “Zomia” to “One Belt One Road” and “Indo-Pacific”: The New Geographic Adjustment of Asia. Thai Journal of East Asian Studies, 25(1), 82–102. Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/easttu/article/view/247178

[6] 一带一路 Yī dài yī lù หรือ 1 แถบ 1 เส้นทาง อันเป็นชื่อเรียกเดิมของมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI)

[7] ดุลยภาค ปรีชารัชช (2565) “ZOYIFIC ผ่าภูมิศาสตร์เอเชีย จาก โซเมีย ถึง อี้ไต้ อี้ลู่ และ อินโด-แปซิฟิก” สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN :9786165945912

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save