fbpx

Zomia ตอนที่ 2: สหภาพแห่งพม่า รอยร้าวแห่งชาติพันธุ์ที่ขัดแย้ง

ดินแดนเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Massif) หรือ Zomia คือพื้นที่ใหม่ในทางภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะร่วมกันอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1) อยู่บนพื้นที่สูงในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีระบบนิเวศที่ซับซ้อน

2) ในอดีตเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางอำนาจ มีสภาพชายขอบ (state of marginality) ทำให้อยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบที่คลุมเครือระหว่างความเป็นรัฐอิสระ และรัฐที่ขึ้นต่อศูนย์กลางอำนาจ (ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นราบด้านล่าง; lowlands)

3) มักเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวกันอย่างเบาบาง มีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มบ้างในบางวาระบางโอกาส และมักจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง และมักจะผสมปนเปความเชื่อต่างๆ เข้าด้วยกันจนมีลักษณะเด่นเฉพาะกลุ่ม

ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ หนึ่งในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในบริเวณเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พวกเราชาวไทยต้องทำความเข้าใจ เฝ้าระวัง และเตรียมยุทธศาสตร์ในการมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดคือ ‘เมียนมา’

เมียนมาคือทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงแนวเทือกเขาสูงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงสู่อ่าวเบงกอล แห่งมหาสมุทรอินเดีย ตามทิศทางเหนือ-ใต้ และเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ภูมิภาคเอเชียใต้ ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ดังนั้นเมียนมาจึงเป็นสี่แยกทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ และไม่เพียงสำคัญในทางภูมิศาสตร์เท่านั้น หากแต่มีความเปราะบางสูงสุดในทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเมียนมาในปัจจุบันมีปัญหาความรุนแรงของความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศอันมีรากของสาเหตุความขัดแย้งที่หยั่งลึกมาตลอดประวัติศาสตร์กระบวนการสร้างชาติของเมียนมา

กระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ตามทฤษฏีทางรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุโรปมาตั้งแต่ปี 1648 จากการลงนามของผู้นำรัฐต่างๆ ในยุโรปภายใต้สัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน หรือสนธิสัญญาโอสนาบรึคและมึนสเตอร์ (Westfälischer Friede, Peace of Westphalia, Treaties of Osnabrück and Münster) ที่นำไปสู่กระบวนการสร้างรัฐชาติ (nation state) สมัยใหม่ แต่กว่าที่แนวคิดการสร้างชาติเหล่านี้จะเผยแพร่เข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้ที่เต็มไปด้วยคนต่างเผ่า ต่างกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยร่วมกัน ไม่เคยมีความชัดเจนทั้งในเรื่องแกนกลางอำนาจรัฐ ขอบเขตพื้นที่ของรัฐ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในรัฐ รวมทั้งขอบเขตอำนาจรัฐที่สามารถบริหารจัดการอำนาจอธิปไตย

ยิ่งในกรณีเมียนมา ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติที่อยู่ในรัฐอันเกิดขึ้นผ่านกระบวนการสร้างชาติ (nation building) ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เกิดขึ้น เนื่องจากการล่มสลายของศูนย์กลางอำนาจแบบจารีตเดิมของราชวงศ์คองบอง (ကုန်းဘောင်မင်းဆက် Konbaung dynasty หรือ ราชวงศ์อลองพญา အလောင်းဘုရားမင်းဆက်, Alaungphra/ Alompra dynasty) เกิดขึ้นเสียก่อนจากการทำสงครามทั้งสามครั้งกับอังกฤษ (First Anglo-Burmese War 1824-1826; Second Anglo-Burmese War 1852-1853 และ Third Anglo-Burmese War 1885) ทำให้ดินแดนแห่งนี้ตกเป็นอาณานิคมและในที่สุดก็ถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย (British India) ยาวนานกว่า 111 ปี (1826-1937) และเมื่อมีการประกาศแยกพม่าออกจากอินเดียในปี 1937 ทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะในพม่าเองก็เดินหน้าเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ กลุ่มชาตินิยมพม่าจะเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชให้พม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิญี่ปุ่น และสามารถจัดตั้ง State of Burma ขึ้นในปี 1943 แต่การดำเนินนโนบายทั้งหมดก็อยู่ภายในการกำหนดโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ดี จนกระทั่งกองกำลัง British India Army เข้ายึดนครย่างกุ้งได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 1945 พม่าก็กลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมของอังกฤษอีกครั้ง

ความพยายามของคนพม่าเองในการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องเอกราช และสร้างความคิดเรื่องการสร้างชาติเกิดขึ้น ในนาม Anti-Fascist Organisation (AFO) ในปี 1944 เมื่อผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (Communist Party of Burma: CPB) ทะขิ่น โซ (Thakin Soe; คำว่า Thakin ทะขิ่น เป็นคำที่กลุ่มชาตินิยมใช้เรียกเป็นคำนำหน้าชื่อตนเอง เช่น ทะขิ่น โซ ทะขิ่น ออง ซาน เป็นต้น) จับมือกับ นายพล ออง ซาน (Aung San) ผู้นำกองกำลังแห่งชาติพม่า (Burma National Army: BNA และสามแกนนำพรรคประชาชนปฏิวัติ (People’s Revolutionary Party: PRP) คยอว์ เญน (Kyaw Nyein), ทะขิ่น ชิต (Thakin Chit) และ บะ เซว (Ba Swe) เพื่อขับไล่จักรวรรดิญี่ปุ่นออกจากพม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเมื่ออังกฤษกลับเข้าปกครองและยึดย่างกุ้งได้อีกครั้ง AFO ก็มีการปฏิรูปสายการบังคับบัญชา และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People’s Freedom League: AFPFL ဖက်ဆစ်ဆန့်ကျင်ရေး ပြည်သူ့လွတ်လပ်ရေး အဖွဲ့ချုပ်)

แน่นอนว่า ฝ่ายอังกฤษเองก็ไม่มีความไว้วางใจ AFPFL เนื่องจากในอดีตสมัยเป็น AFO คนกลุ่มนี้เองที่เป็นตัวแทนให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น การชุมนุมอย่างสงบในบริเวณพระมหาเจดีย์ชเวดากองเกิดขึ้นในปี 1946 และในท่ามกลางการชุมนุมนั้นเอง แกนนำของฝ่าย AFPFL ก็แตกคอกันเอง โดยฝ่ายนายพล ออง ซาน ต้องการการเจรจากับอังกฤษโดยใช้แนวสันติวิธี ในขณะที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์พม่าไม่ต้องการเจรจา แต่ต้องการใช้กองกำลังเข้าปลดปล่อยพม่าจากการเป็นอาณานิคม นั่นทำให้ในที่สุดเกิดการแตกแยกจนมีการขับแกนนำหลายคนออกจาก AFPFL จะเห็นได้ว่าจนถึง ณ ขณะนี้ พม่า ในเวลานั้น ก็ยังคงไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อเริ่มต้นกระบวนการสร้างชาติได้ เพราะในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์พม่า ณ ศูนย์กลางอำนาจที่นครย่างกุ้ง เริ่มต้นกระบวนการจัดตั้งองค์กรสถาบัน หากแต่ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และไม่เคยสร้างความร่วมมือกันได้จริง โดยทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอาณานิคมอย่างจักรวรรดิอังกฤษที่มีนโยบายหลักคือการแบ่งแยกและปกครอง

หลังการชุมนุม ณ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ณ ขณะนั้น เคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee) ได้เชิญ ออง ซาน และคณะ ให้เดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อหาทางเจรจาในกระบวนการส่งมอบเอกราชให้กับพม่า นายพล ออง ซาน และ นายกรัฐมนตรี แอตต์ลี ได้ลงนามในสนธิสัญญา Aung San – Attlee Agreement ในวันที่ 27 มกราคม 1947 โดยมีการกำหนดเงื่อนไขว่า คนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะรวมตัวกัน เพื่อเดินหน้ากระบวนการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อจัดรูปแบบการปกครองของตนเอง โดยในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไป พม่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภาพอังกฤษ (British Commonwealth) พม่าจะสามารถเข้าควบคุมและจัดตั้งกองทัพของตนเองได้ รวมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งอังกฤษจะสนับสนุนให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ที่พึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตามในการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ แกนนำของ AFPFL อย่าง ทะขิ่น โซ กลับไม่ยอมลงนาม เช่นเดียวกับที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์ฉาน ก็ไม่ยอมรับผลการเจรจาและลงนามสนธิสัญญาในครั้งนี้

นั่นทำให้เมื่อกลับจากอังกฤษ นายพลออง ซาน ต้องเดินทางขึ้นไปเมืองปางหลวง ในรัฐฉาน ทางตอนเหนือ ชายแดนระหว่างไทยและพม่า เพราะในปี 1946 เมื่อกองกำลังสัมพันธมิตรได้ยึดคืนดินแดนรัฐฉานจากการปกครองของไทยภายใต้ชื่อดินแดน สหรัฐไทยเดิม ได้สำเร็จ ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ เจ้าฟ้าไทใหญ่กลุ่มต่างๆ ที่กระจายตัวกันเป็นอาณาจักรเล็กๆ บนเทือกเขาที่สูงชันของดินแดน Zomia ได้เคยมารวมตัวกันในการประชุมปางหลวงระหว่างวันที่ 20-28 มีนาคม 1946 และมติที่จะให้รัฐฉานเข้าร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์พม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ รวมทั้งได้มีความพยายามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการก่อตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา (Supreme Council of the United Hills Peoples) ขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางในการเจรจากับตัวแทนของชาติพันธ์พม่าที่อยู่ในจุดศูนย์กลางอำนาจที่ย่างกุ้ง

ดังนั้นเมื่อ นายพล ออง ซาน เดินทางกลับจาก กรุงลอนดอน เขาและคณะจึงเดินทางกลับไปที่เมืองปางหลวงอีกครั้ง โดยการประชุมปางหลวง ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-12 กุมภาพันธ์ 1947 โดยในครั้งนี้มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น (Kachin) และ ฉิ่น (Chin) เข้าร่วม โดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (Karen) ส่งตัวแทนเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพราะในขณะนั้นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยังต้องการสถาปนารัฐของตนเองในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีจนถึงชายฝั่งทะเลในอ่าวเบงกอล (มะริด) ในขณะที่ในการประชุมครั้งนี้ไม่มีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่อื่นๆ เข้าร่วม โดยเฉพาะ มอญ อาระกัน และ ปาโอ

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement ပင်လုံစာချုပ်) ก็สามารถลงนามได้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 กระบวนการในการจัดตั้งรัฐเอกราชรัฐใหม่ในรูปแบบของสหพันธรัฐ (Federal State) ดูเหมือนจะใกล้จะเกิดขึ้นได้จริง โดยหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสร้างเงื่อนไขร่วมกัน อาทิ ในสหภาพพม่าที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ หากต้องมีการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนชายขอบ ดินแดนชายแดน และดินแดนในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องมีการจัดตั้งสภาบริหารระดับสูง (Executive Council) ขึ้นมาเพื่อตัดสินใจ โดยสภาบริหารระดับสูงนี้ต้องมีรองประธานสภาฯ อย่างน้อย 2 คนมาจากการเสนอชื่อของสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา รวมถึงยังมีหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับกันด้วยว่า พื้นที่เหล่านี้ต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองในรูปแบบเขตปกครองตนเองที่มีอำนาจเต็มในการบริหารกิจการภายในของตนเอง (Full Autonomy in Internal Administration) และยังกำหนดด้วยว่าประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์จะมีสิทธิขั้นพื้นฐานได้เฉกเช่นเดียวกันกับประชาชนในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นขอสงวนสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐ/ประเทศอิสระเอาไว้ เช่นเดียวกับที่ รัฐฉาน ฉิ่น และคะฉิ่น ขอให้ตนเองสามารถบริหารจัดการงบประมาณและการจัดเก็บรายได้ของตนเอง

แม้ว่าสนธิสัญญาปางหลวงจะถือเป็นความสำเร็จ และนำประเทศพม่าไปสู่การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ในเดือนเมษายน ปี 1947 แต่การเลือกตั้งในครั้งนั้น ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์มอญ กระเหรี่ยง และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ไม่สนับสนุนนายพล ออง ซาน ก็ไม่ยอมรับและไม่ขอมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง นั่นจึงทำให้ 176 เสียงจากที่นั่งทั้งหมด 201 เสียงที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภาร่างรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกของ AFPFL ที่อยู่ในปีกของนายพล ออง ซาน ซึ่งนายพลอองซานก็พยายามแก้ไขปัญหาการไม่มีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ โดยการเชิญให้ผู้นำของกลุ่มกะเหรี่ยง Mahn Ba Khaing, ผู้นำกลุ่มไทใหญ่ Sao Hasm Htun หรือตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ทมิฬที่มาจากอินเดียใต้ อย่าง Abdul Razak เข้ามาร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี

มาถึงจุดนี้คุณผู้อ่านจะเห็นแล้วว่า ในพื้นที่เทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Zomia ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางอำนาจ มีสภาพชายขอบ (state of marginality) ทำให้อยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบที่คลุมเครือระหว่างความเป็นรัฐอิสระและรัฐที่ขึ้นต่อศูนย์กลางอำนาจ เกิดเป็นความซับซ้อนในการสร้างรัฐและกระบวนการสร้างชาติในพื้นที่นี้

แต่ในกรณีของพม่า การเกิดขึ้นของรัฐเอกราชแห่งใหม่นี้ที่ในช่วงแรกควรจะเกิดขึ้นในรูปแบบของสหพันธรัฐ (Federal State) ซึ่งแต่ละรัฐของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถดำเนินนโยบายปกครองตนเองได้อย่างอิสระ กลับกลายเป็นสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อชายฉกรรจ์ 4 นายในชุดเครื่องแบบทหารพร้อมอาวุธครบมือ ปืนกล Tommy, ปืน Sten และระเบิดมือ ขับรถจิ๊บทหาร บุกเข้าไปในอาคารที่เคยเป็นที่ทำการของรัฐบาลอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคม ในเวลา 10.30 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 แล้วกราดยิงเข้าไปในห้องประชุมที่ นายพล ออง ซาน และคณะรัฐมนตรีของเขาอีก 8 คน กำลังนั่งประชุมกันอยู่ ผลคือ ทั้ง 9 คนเสียชีวิต

เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ลอบสังหารบุคคลสำคัญอื่นๆ นั่นคือ ในกระบวนการหาคนวางแผนและคนลงมือสังหารมาลงโทษนั้นก็จะเต็มไปด้วยทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) โดยในกรณีของพม่านี้ บุคคลที่ถูกจับกุมภายในวันเดียวกันกับเหตุการณ์ลอบสังหาร คือ อู ซอว์ (U Saw) อดีตนายกรัฐมนตรีของ British Burma หรือตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษในสมัยอาณานิคม แม้ว่าจะมีการสืบสวนสอบสวน จนในที่สุดนำไปสู่คำตัดสินประหารชีวิต อู ซอว์ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีอีกหลากหลายทฤษฎีที่กล่าวอ้าง รวมทั้งกล่าวหา ว่าใครกันแน่คือผู้อุกอาจทำการลอบสังหาร นายพล ออง ซาน และคณะในคราวนั้น คำกล่าวหาบางเรื่องถึงกับ สร้างทฤษฎีว่าเป็นฝีมือของหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษที่เป็นผู้ลงมือกระทำการ

หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร รัฐบาลอังกฤษแต่ตั้งให้ อู นุ (U Nu: ဦးနု) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญเริ่มประชุมอีกครั้งและดำเนินการประชุมไปจนถึงวันที่ 24 กันยายน 1947 ตัวแทนจากรัฐต่างๆ ที่เคยแสดงความต้องการให้จัดตั้งสหพันธรัฐอย่างแท้จริง กลับเริ่มหวาดระแวงในความปลอดภัยในชีวิตจนในที่สุดรัฐธรรมนูญของพม่า กำหนดให้รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบ ‘สหภาพแห่งพม่า’ (Union of Burma) โดยในสหภาพแห่งพม่านี้ รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการถอนตัวได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญตามสนธิสัญญาเพื่อลดแรงกดดัน โดยระบุเงื่อนไขดังนี้

1) ต้องรวมกันเป็นสหภาพแห่งพม่าเพื่อประกาศเอกราช และจะร่วมกันเป็นสหภาพแห่งพม่าต่อไปอีก 10 ปีจึงจะเริ่มต้นกระบวกนการถอนตัวได้

2) ในกระบวนการถอนตัวจากสหภาพต้องได้เสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 ของสภาแห่งรัฐ

3) ผู้นำของรัฐต้องแจ้งให้ผู้นำของสหภาพทราบเพื่อดำเนินการลงประชามติ และสิทธิในการถอนตัวออกจากการร่วมเป็นสหภาพนี้มีเฉพาะกับรัฐฉานและรัฐคะยาเท่านั้น ในขณะที่คะฉิ่นและกะเหรี่ยงปฏิเสธการเข้าร่วมสหภาพตั้งแต่แรก และรัฐฉิ่นถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเองตั้งแต่แรก

กระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศสหภาพแห่งพม่าเกิดขึ้นและได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม 1948 พร้อมๆ กับการฝังระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดขึ้นอีกครั้งในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อแต่ละรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ

ระเบิดเวลาลูกนี้จะมีขนาดใหญ่และส่งผลสะเทือนเลือนลั่นขนาดไหนก็ต้องไปดูข้อมูลทางมนุษยวิทยาว่า ประเทศพม่าประกอบขึ้นด้วยทั้งหมด 135 กลุ่มชาติพันธุ์ (เท่าที่มีการรับรองโดยรัฐบาล) นั่นยิ่งเป็นการขับเน้นให้เห็นถึงคุณสมบัติของ Zomia ที่ว่า ดินแดนเทือกเขาสูงชันเหล่านี้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวกันอย่างเบาบาง มีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มบ้างในบางวาระบางโอกาส และมักจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง และมักจะผสมปนเปความเชื่อต่างๆ เข้าด้วยกันจนมีลักษณะเด่นเฉพาะกลุ่ม

กลุ่มคนใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาแตกต่างกันอย่างน้อย 64 กลุ่มภาษา จำแนกออกได้เป็น 8 กลุ่มหลัก นั่นจึงทำให้ในปัจจุบันประเทศเมียนมา ประกอบด้วย 14 เขตการปกครอง จำแนกเป็น 7 เขต ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า (ซึ่งประกอบขึ้นจาก 9 กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่เรียกตนเองว่า พม่า หรือ Burman) มีประชากรคิดเป็น 68% ของประชาชนทั้งประเทศ และอีก 7 รัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่พม่า ทั้ง 7 รัฐประกอบไปด้วย กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ฉานหรือไทใหญ่ที่ประกอบขึ้นจาก 33 กลุ่มชาติพันธุ์ย่อย (รวมทั้งกลุ่มชาวม้ง หรือเย้า, ขมุ, ก้อหรืออีก้อ, ลหุ, ปาโอ หรือ กะเหรี่ยงดำ, ฉานแดง, และว้า ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้กระจายตัวเข้ามายังดินแดนของไทย, สปป. ลาว และเวียดนาม) กลุ่มไทใหญ่นี้มีสัดส่วนประชากร 9% ของประชากรทั้งประเทศ อันดับที่ 3 คือ กะเหรี่ยง (Kayin / Karen) ที่มีประชากรราว 7% และมีกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย 11 กลุ่ม ในขณะที่คะฉิ่น (Kachin) ประกอบขึ้นจาก 12 กลุ่มย่อย, คะยา (Kayah) 9 กลุ่มชาติพันธุ์ย่อย, ฉิ่น (Chin) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือสุดที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนต่อเนื่องจากเทือกหิมาลัยที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กระจายตัวถึง 53 กลุ่มชาติพันธุ์ย่อย และกลุ่มที่น่าจะใกล้เคียงในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์แต่กลับแตกต่างอย่างยิ่งกับกลุ่มชาติเบงกาลี-โรฮิงญาที่ทางการพม่าไม่ยอมรับ นั่นคือกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ (Rakhine) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ ซึ่งประกอบขึ้นจาก 7 กลุ่มชาติพันธุ์ย่อย

ประวัติศาสตร์เดินมาถึงจุดที่รัฐใหม่กำลังก่อตัว แต่กระบวนการสร้างชาติยังไม่เคยเกิดขึ้น ระเบิดเวลาแห่งความแตกแยกได้ถูกกดสวิตช์ให้เริ่มต้นนับถอยหลัง รอเวลาอีก 10 ปีที่จะระเบิดออก ปฏิกิริยาลูกโซ่จากการระเบิดที่จะเกิดขึ้นและส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นจนแม้ในศตวรรษที่ 21 ปฏิกิริยาลูกโซ่แห่งความขัดแย้งก็ยังไม่จบ


อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ Zomia ตอนที่ 1: ทำความรู้จักดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save