fbpx

Zomia ตอนที่ 3: จากระเบิดเวลาลูกแรก สู่ลูกล่าสุด ผ่านการรัฐประหารเมียนมา 2021

ระเบิดเวลาลูกแรกที่ถูกวางเอาไว้ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งโดยเงื่อนไขตามธรรมชาติและเงื่อนไขที่มนุษย์สร้างขึ้นบนดินแดนเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Zomia เริ่มต้นจากการที่ดินแดนต่างๆ ขอแยกตัวออกจากสหภาพแห่งพม่าในปี 1958 หรือ 10 ปีทันทีหลังจากการประกาศเอกราชในปี 1948

การขอแยกตัวส่งผลกระทบในรูปแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ที่นอกจากจะกระจายตัวต่อเนื่องทางพื้นที่ภูมิศาสตร์แล้ว ยังต่อเนื่องข้ามช่วงเวลามาจนถึงปัจจุบันด้วย โดยการจุดชนวนระเบิกลูกแรกเริ่มต้นจากการขอแยกตัวออกจากสหภาพโดยรัฐฉาน หรือกลุ่มเจ้าฟ้าไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการสร้างสนธิสัญญาปางหลวง นี่คือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มแรกที่ขอแยกตัวออกจากสหภาพตามเงื่อนไขที่วางกันเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

คุณผู้อ่านลองหลับตาแล้วจินตนาการดูว่า ปฏิกิริยาของรัฐบาลกลางที่กรุงย่างกุ้งจะเป็นอย่างไร หากพื้นที่กว่า 1.55 แสนตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ ซึ่งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสินแร่เงิน ตะกั่ว สังกะสี แร่รัตนชาติ ป่าไม้สัก แหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ และที่สำคัญคือเป็นแหล่งปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ของโลก (ซึ่งแน่นอนว่าในอดีตสร้างรายได้จำนวนมากให้กับผู้มีอิทธิพลในประเทศ) กำลังจะขอแยกตัวประกาศเอกราช

แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นการตอบรับจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อู นุ (ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพที่นำโดยนายพล เน วิน) ก็คือการส่งกองทัพเข้าไปดูแลรักษาความสงบในเดือนกุมภาพันธ์ 1962 ซึ่งนั่นเท่ากับการเข้าไปยึดครอง และสร้างโศกนาฏกรรมต่อราชวงศ์ของเจ้าฟ้ากลุ่มต่างๆ โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่นายพล เน วิน จะทำการรัฐประหาร และนั่นก็ทำให้สิทธิการแยกตัวของกลุ่มชาติพันธุ์สูญสลายไปพร้อมๆ กับรัฐธรรมนูญของพม่าในเวลานั้น

ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหารในเดือนมีนาคม 1962 นายพล เน วิน เคยได้รับคำเชิญให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์มาแล้วหนึ่งรอบในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 1958 – 4 เมษายน 1960 เพราะแม้ว่านายกรัฐมนตรี อู นุ จะเป็นผู้สนับสนุนและทำงานมาอย่างใกล้ชิดกับนายพล ออง ซาน ตั้งแต่ขบวนการเรียกร้องเอกราช หากแต่ยังไม่สามารถแสดงบารมีและความสามารถในการบริหารจัดการประเทศที่พึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ได้อย่างที่ทุกฝ่ายต้องการ อู นุ ไม่สามารถควบคุมได้แม้แต่พรรคการเมืองของตนเอง นั่นคือ AFPFL ที่แตกออกเป็นสองฝ่าย และมีแนวโน้มจะเข้าไปสนับสนุนฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น อู นุ จึงแก้เกมโดยการเชิญนายพล เน วิน เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐบาลรักษาการ

หลังจากที่ประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง และ อู นุ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง นายพล เน วิน ก็ลงจากตำแหน่งในรอบแรก แต่แล้วอีกเพียงสองปี ต่อจากนั้น ความอ่อนแอของรัฐบาล อู นุ ก็เลวร้ายยิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศก็ยิ่งอ่อนแอลงไปอย่างมากจากภัยคอร์รัปชันที่ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลของประเทศตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม นั่นทำให้นายพล เน วิน ทำรัฐประหารในวันที่ 2 มีนาคม 1962

แนวคิดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเพื่อประกาศเอกราชโดยนายพล ออง ซาน และ/หรือ การเข้าสู่อำนาจของนายพล เน วิน ได้สร้างจิตสำนึกให้กับบุคลากรระดับสูงของกองทัพพม่าเรื่อยมาว่า กองทัพคือปัจจัยเดียวในการสร้างและรักษา เอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศ สำหรับพวกเขา แม้ว่าการขึ้นมาของนายพล เน วิน และการประกาศแนวนโยบายโดดเดี่ยวตนเอง ไม่คบค้าสมาคมกับประเทศอื่นๆ ในโลก และประกาศใช้แนวทางสังคมนิยมแบบพม่า (Burmese Way to Socialism, 1962–1988) ต่างก็เป็นไปเพื่อรักษาเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศ ป้องกันมิให้ดินแดนต่างๆ ที่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ต้องแยกตัวออกไป และพม่ากลายเป็นเพียงประเทศเล็กๆ แน่นอนว่าความคิดเช่นนี้คือความบิดเบี้ยว แต่มันเป็นความบิดเบี้ยวที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

คำถามคือไม่มีใครคิดที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบเช่นนี้หรือ คำตอบคือ มี และมีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เพียงไม่กี่เดือนหลังจากการรัฐประหารของนายพล เน วิน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 1962 นิสิตนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้งออกมาประท้วงการรัฐประหาร คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ประท้วงสูงสุดอาจมีถึงกว่า 5,000 คน และในวันที่ 7 กรกฎาคม 1962 กองทัพก็ส่งกองกำลังเข้าไปสลายการชุมนุม แน่นอนว่า ไม่มีใครทราบตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอน แต่ก็มีการประมาณการกันตั้งแต่ 15 ราย ไปจนถึงมากกว่า 100 ราย และทำให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้งถูกประกาศปิดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่การลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เรียกรวมกันว่า Ethnic Armed Organisations (EAOs) ก็มีจำนวนมากถึง 57 กลุ่ม (ขณะนี้ยังมีกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ประมาณ 37-40 กลุ่ม)

ความบิดเบี้ยวทางแนวคิดที่ว่า กองทัพคือผู้ปกป้องเอกราชและผู้รักษาอำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวยังคงเกิดขึ้นตลอดทั้งประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมียนมา อาทิ เมื่อนายพล เน วิน ผู้นำเผด็จการนำพาประเทศพม่าให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในโลก คุณภาพชีวิตของประชาชนย่ำแย่ ในขณะที่นอกกรุงย่างกุ้ง ความรุนแรงของการปะทะระหว่างกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ทวีความรุนแรงมากยึ่งขึ้นเรื่อยๆ มหาอำนาจพยายามแทรกแซง ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มใช้นโยบายให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้เป็นรัฐกันชน เพราะไม่ต้องการคบค้ากับพม่า และต้องการป้องกันอาชญากรรมบริเวณชายแดน

ความเลวร้ายเหล่านี้นำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่นายพล เน วิน และคณะผู้บริหารในนาม Burma Socialist Programme Party (BSPP) โดยนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเริ่มทำการชุมนุมมากว่าต่อเนื่อง และมีการนัดหมายการชุมนุมใหญ่ให้เกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 นั่นทำให้ในวันนั้นเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การลุกฮือ 8888’ (8888 Uprising) โดยนิสิตนักศึกษา ประชาชน นักธุรกิจ ทุกภาคส่วน แม้แต่พระสงฆ์ ต่างก็ออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการ BSPP ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ออกมาชุมนุม ณ ใจกลางกรุงย่างกุ้ง อีกเรือนแสนที่มัณฑะเลย์ และอีกหลายพื้นที่ในเขตเมืองทั่วประเทศ ทั้งหมดเพื่อเรียกร้องให้นายพล เน วิน ออกจากตำแหน่ง และสร้างประเทศขึ้นมาใหม่

เหตุการณ์ 8888 จบลงด้วยโศกนาฏกรรมกองทัพเข้าปราบปรามประชาชน ตัวเลขทางการแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 350 ราย แต่ตัวเลขที่ประมาณการณ์กันมีตั้งแต่ขั้นต่ำ 3,000 ราย ไปจนถึงกว่า 10,000 ราย และในท้ายที่สุดในวันที่ 18 กันยายน 1988 นายทหารกลุ่มใหม่ที่นำโดยนายพล ซอ หม่อง (Saw Maung စောမောင်) และคณะ ในนามสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC နိုင်ငံတော် အေးချမ်းသာယာရေး နှင့် ဖွံ့ဖြိုးရေး ကောင်စီ) ก็อ้างสิทธิ์ว่า ต้องการเข้ามาปราบปรามความไม่สงบและเข้ามาครอบครองประเทศอีกครั้ง ผู้นำระดับสูงของกองทัพพม่าก็ยังเชื่อว่า การออกมาทำรัฐประหารครั้งนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศ นายพล เน วิน ถูกนำตัวไปกักบริเวณในบ้านของตน จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2002

หลังการรัฐประหารซ้อนรัฐประหาร นายพล ซอ หม่อง เปลี่ยนชื่อขบวนการของเขาใหม่ว่า สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council: SLORC နိုင်ငံတော် ငြိမ်ဝပ်ပိပြားမှု တည်ဆောက်ရေးအဖွဲ့) และมีความพยายามในการสร้างชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ การเปลี่ยนชื่อประเทศ จากสหภาพแห่งพม่า (Union of Burma) เป็นสหภาพแห่งเมียนมา (Union of Myamar) ในวันที่ 19 มิถุนายน 1989 และเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2011 เป็น สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar) โดยหนึ่งในเหตุผลของทางการ (SLORC) ในขณะนั้นคือการลดทอนความเป็นหนึ่งของชนชาติพม่า (Burman) ลง และอยากให้ชื่อของประเทศเป็นศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ SLORC ยังมีความพยายามให้มีการเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ นาง ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi  အောင်ဆန်းစုကြည်) บุตรีของนายพล ออง ซาน เดินทางกลับประเทศพม่า และเข้าร่วมกับแกนนำเหตุการณ์ 8888 ก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Legue for Democracy: NLD) ขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 1988 ก่อนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย เชื่อกันว่าผลการเลือกตั้งในปี 1990 นั้น พรรค NLD ชนะเลือกตั้งถึง 392 ที่นั่ง จากทั้งหมด 492 ที่นั่ง ซึ่งแน่นอนว่า SLORC ไม่พอใจอย่างยิ่ง และยกข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง รวมทั้งกักบริเวณนาง ออง ซาน ซูจี ตั้งแต่ปี 1990–2010

การเปลี่ยนแปลงภายใน SLORC เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1992 เมื่อนายพล ซอ หม่อง ยื่นใบลาออกกะทันหันในวันที่ 23 เมษายน 1992 โดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ ในขณะที่นักสังเกตการณ์หลายคนเชื่อว่า เหตุผลแท้จริงคือ ซอ หม่อง เองไม่ได้มีบารมีมากเพียงพอในการควบคุมทุกองคาพยพ เมื่อเทียบกับผู้นำเผด็จการคนใหม่ นั่นคือ นายพล ตาน ฉ่วย (Than Shwe သန်းရွှေ)

ตาน ฉ่วย เองก็เป็นผู้นำเผด็จการเมียนมาที่สร้างความประหลาดใจให้กับชาวโลกได้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเขาประกาศจะให้มีการเดินหน้ากระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมาอีกครั้งภายหลังการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution ရွှေဝါရောင်တော်လှန်ရေ) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2007 โดยการเดินขบวนครั้งนี้เกิดขึ้นจากความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับจากการยกเลิกการให้เงินอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติและราคาพลังงาน โดยการเดินขบวนครั้งนี้ถูกเรียกว่าการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ เนื่องจากพระสงฆ์จำนวนมากลงมาเป็นผู้เดินขบวนประท้วงภายหลังจากเห็นความเดือดร้อนของประชาชน

SLORC ประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2008 และปูทางไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยระหว่างปี 2011-2015 ตาน ฉ่วย ประกาศล้างมือในอ่างทองคำ ขอยุติทุกบทบาททางกองทัพและการเมืองในเดือนมีนาคม 2011 แลกกับข้อตกลงลับๆ ที่ว่าจะไม่มีใครตามไปเช็กบิลกับสิ่งที่เขาได้ดำเนินการลงไปตลอดช่วงเวลาของการเป็นผู้นำตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดยตัวเขาเองยังสร้างหลักประกันต่อเรื่องนี้ไว้สองหลัก คือการคัดเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญสองตำแหน่งด้วยตัวของเขาเอง นั่นคือประธานาธิบดีพลเรือน (อดีตนายพล) เตง เส่ง (Thein Sein သိန်းစိန်) และผู้บัญชาการกองทัพ มิน อ่อง หล่าย (Thein Sein သိန်းစိန်) ซึ่งทั้งสองก็ดูเหมือนจะปฏิบัติภารกิจของตนที่ได้รับมอบหมายเอาไว้อย่างดีมีประสิทธิภาพ นั่นคือ เตง เส่ง กลายเป็นประธานาธิบดีที่นำการเปลี่ยนผ่านเมียนมาเข้าสู่เวทีประชาธิปไตยที่โลกยอมรับตลอดช่วงปี 2011-2021 ในขณะที่ มิน อ่อง หล่าย เองก็ยังคงสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อ (ที่บิดเบี้ยว) ต่อไป ได้ว่า การดูแลรักษาเอกราช อำนาจอธิปไตยและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ต้องเป็นบทบาทของกองทัพเท่านั้น

ก่อนการลงจากอำนาจของ ตาน ฉ่วย รัฐบาลเมียนมาประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2010 โดยก่อนหน้านั้นมีการทยอยปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ซึ่ง ออง ซาน ซูจี และแกนนำพรรค NLD หลายๆ คนก็ถูกปล่อยตัว อย่างไรก็ตามพรรค NLD ประกาศคว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันการเลือกตั้งในปี 2010 ส่งผลให้พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด แต่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 ออง ซาน ซูจี ก็ได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นเป็นสมาชิกรัฐสภา พร้อมๆ กับสมาชิกพรรค NLD อีก 43 ที่นั่งจากทั้งหมด 45 ที่นั่งที่มีการเลือกตั้ง ออง ซาน ซูจี ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และเริ่มบทบาททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในการเลือกตั้งปี 2015 พรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยได้ที่นั่ง 86% ในรัฐสภา แม้ว่า ออง ซาน ซูจี จะถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่า บุคคลที่มีคู่สมรสและบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติไม่สามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ แต่เธอก็รับบทบาทใหม่ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counselor) ซึ่งมีบทบาทนำยิ่งกว่าประมุขของรัฐ

แน่นอนว่า ถึงแม้ ณ จุดนี้ เมียนมาจะดูเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง นักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้าไปลงทุนอย่างมากมายมหาศาล แต่กับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายขอบบนเทือกเขาสูงอันเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือในพื้นที่ Zomia การย่ำยีบีฑาก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดทศวรรษ 1990 กองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามกองกำลังและฐานที่มั่นของชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแนวทางไม่สนับสนุนนโยบายรัฐกันชน หันมาใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ควบคู่กับการที่เศรษฐกิจเมียนมาเองก็เปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

การใช้กำลังปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่รุนแรงมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งน่าจะเป็นในปี 2006 เมื่อกองทัพเข้าไปปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ Karen National Liberation Army (KNLA) ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งในคราวนั้นมีการประมาณการว่ากลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 5 แสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง หรืออีกครั้งในปี 2009 ที่กองทัพเมียนมาเข้าโจมตีกลุ่มติดอาวุธ Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) ซึ่งเป็นชาวโกก้าง ทำให้มีผู้อพยพจำนวนกว่า 30,000 คน หนีข้ามชายแดนเข้าไปอยู่ในฝั่งจีนด้านมณฑลยูนนาน ซึ่งสร้างปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเมียนมามาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับในปี 2010 ที่กองทัพเข้าปราบปรามกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ Democratic Karen Buddhist Army – Brigade 5 (DKBA-5) ทำให้มีผู้อพยพข้ามลำน้ำเมย ด้านชายแดนจังหวัดตากเข้ามาในประเทศเรือนหมื่น

2016-2017 ก็เป็นอีกครั้ง ที่แม้จะอยู่ในช่วงของรัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดย ออง ซาน ซูจี แต่ความขัดแย้งและการส่งกองทัพขึ้นไปปราบปรามชนกลุ่มน้อยก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นการตอบโต้การก่อการร้ายของกลุ่ม Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) ที่สังหารทหารพม่าในบริเวณตะเข็บชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศไป 9 นาย ทำให้กองทัพเมียนมาส่งกองกำทัพไปล้อมปราม เผาหมู่บ้าน และบางสื่อรายงานว่าเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) ชาวเบงกาลี-โรฮิงญาในปี 2017 จนทำให้มีผู้อพยพชาวเบงกาลี-โรฮิงญา เดินทางลี้ภัยเข้าไปในประเทศบังกลาเทศหลายแสนคน

นอกจากชายแดนเทือกเขาสลับซับซ้อนทางภาคตะวันตกของรัฐอาระกันแล้ว ทางภาคเหนือ การรวมกลุ่มของกองกำลังติดอาวุธในนามพันธมิตรภาคเหนือ (Northern Alliance) อันประกอบไปด้วย Arakan Army (AA), Kachin Independence Army (KIA), the Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) และ the Ta’ang National Liberation Army (TNLA) จนก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในเมือง Muse ซึ่งเป็นเมืองด่านหน้าการค้าชายแดนในรัฐฉาน และเป็นพรมแดนระหว่างจีนและเมียนมาก็ลุกลามขึ้น จนในที่สุดกองทัพอากาศถึงกับดำเนินการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเพื่อถล่มเมืองทางภาคเหนือ โดยจนกระทั่งถึงก่อนการรัฐประหารในปี 2021 การปะทะกันระหว่างพันธมิตรภาคเหนือและกองทัพก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ได้รับความเสียหายสูงสุดคือชาวไทใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเขตเมือง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง แต่นายทหารที่ขึ้นไปปราบปรามความรุนแรงกลับใช้วิธีคิดในการกลืนชาติ ลบล้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยกเลิกวัฒนธรรม ประเพณี ทำลายโบราณสถานที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพียงเพื่อต้องการให้พวกเขากลายเป็นคนที่จะมีแนวคิดเหมือนชาวพม่ากระแสหลัก ซึ่งแน่นอนว่านี่คือชุดความคิดที่บิดเบี้ยวอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม จนถึงปี 2021 ก่อนที่จะมีการทำรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แนวคิดที่ว่ากองทัพคือผู้รักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันของผืนแผ่นดินเมียนมา รักษาความสงบ เอกราช และอำนาจอธิปไตยของชาติ ก็ยังคงดำเนินอยู่โดยมีระบบและมีการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในปี 2008 กำหนดให้กองทัพยังคงมีที่ทางและมีบทบาทในรัฐสภาและในคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจน

ในรัฐสภาเมียนมาหรือสภาแห่งสหภาพ (Pyidaungsu Hluttaw ပြည်ထောင်စု လွှတ်တော် Assembly of the Union) มีการระบุไว้ชัดเจนถึงโควตาการดำรงตำแหน่งที่คัดสรรโดยกองทัพ รัฐสภาหรือสภาแห่งสหภาพของเมียนมาประกอบขึ้นจากสองสภา คือ 440 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives, ပြည်သူ့ လွှတ်တော် Pyithu Hluttaw) และอีก 224 ที่นั่งจากสภาแห่งชาติพันธุ์ (House of Nationalities အမျိုးသားလွှတ်တော် Amyotha Hluttaw) รวมเป็นทั้งหมด 664 ที่นั่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 166 ที่นั่ง (100 ส.ส. และ 66 ตัวแทนสภาแห่งชาติพันธุ์) มาจากการคัดสรร และนำเสนอชื่อโดยผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา (Commander-in-Chief of the Defence Services)

ขณะที่ในคณะรัฐมนตรีเมียนมา หรือรัฐบาลสหภาพ (Union Government  ပြည်ထောင်စုအစိုးရအဖွဲ့) มีรัฐมนตรีจำนวน 2 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำกองทัพนั่นคือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Ministers of Defence) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและกิจการชายแดน (Ministers of Home Affairs and Border Affairs) ที่ต้องคัดเลือกจากบุคลากรในกองทัพเมียนมา (Defence Services, Tatmadaw တပ်မတော်) โดยจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีย่อยด้านความมั่นคงที่ประกอบขึ้นจาก 7 คน มีประธานาธิบดี ผู้บัญชาการกองทัพ รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้บังคับบัญชาการกองทัพระดับสูง ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมด้านความมั่นคงนี้ 4 ที่นั่งมาจากกองทัพ และ 3 ที่นั่งมาจากรัฐบาล

ดังนั้น ตราบใดก็ตามที่การบริหารงานยังคงอนุญาตให้กองทัพได้แสดงบทบาท การประสานงานและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกองทัพและรัฐบาลพลเรือนก็ยังคงเกิดขึ้นได้

แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2020 และจะมีการเปิดสมัยประชุมของรัฐสภาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กลับมีสัญญาณว่า ต่อไปนี้ กองทัพจะไม่สามารถควบคุมกิจกรรมต่างๆ ได้ดั่งที่เคยเป็นมา เนื่องจาก พรรค NLD ที่นำโดย ออง ซาน ซูจี สามารถชนะการเลือกตั้งได้ถึง 258 ที่นั่งในตำแหน่ง ส.ส. และอีก 138 ที่นั่งในสภาชาติพันธุ์ ในขณะที่พรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ได้รับคะแนนเสียงเพียง 31 ที่นั่งในทั้งสองสภา ดังนั้นหากรวมเสียง 31 เสียงของ USDP และ อีก 166 เสียงที่แต่งตั้งโดยกองทัพเข้าด้วยกัน ก็จะมีคะแนนเสียงเพียง 197 เสียงเท่านั้น (ไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก) ซึ่งนั่นหมายความว่า หาก NLD และสมาชิกรัฐสภาจากส่วนอื่นๆ สามารถรวมตัวกันได้ ซึ่งก็มีแนวโน้มจะรวมตัวกันได้สูงมาก จะมีคะแนนเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 นั่นก็แปลว่า ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะสามารถลดบทบาทของกองทัพได้ และนี่คือสิ่งที่ฝ่ายกองทัพที่นำโดยนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่มีวันยินยอม

การเจรจาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลดบทบาทของกองทัพในการบริหารจัดการประเทศรวมทั้งบทบาทด้านนิติบัญญัติ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างสองฝ่าย แต่ไม่มีฝ่ายใดยอมประนีประนอม นั่นจึงนำไปสู่การแตกหักผ่านการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นำโดยนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะในนาม State Administration Council: SAC (နိုင်ငံတော်စီမံအုပ်ချုပ်ရေးကောင်စီ) และความรุนแรงระลอกใหม่ที่มาจากทั้งสองฝ่ายสร้างกองกำลังเข้าประหัตประหารกันก็เกิดขึ้น ทั้งฝ่าย SAC ที่มีกองทัพเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน Pyusawhti (ပျူစောထီး) และ Pyuminhti (ပျူမင်းထီ) โดยที่ฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG အမျိုးသားညီညွတ်ရေး အစိုးရ) ก็มีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organisation: EAOs တိုင်းရင်းသား လက်နက်ကိုင် အဖွဲ့အစည်း) และกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน (People’s Defence Force: PDF ပြည်သူ့ကာကွယ်ရေးတပ်မတေ) อีก 65,000 นาย นั่นทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาเกิดขึ้นจากทุกฝ่าย

จนถึงเดือนเมษายน 2023 จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) พบว่าประชาชนเมียนมากว่า 1,805,000 คนต้องกลายเป็นผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง ในจำนวนนี้ 1,086,000 คน ต้องการอพยพออกนอกประเทศเมียนมา และมีจำนวนผู้อพยพที่เดินทางออกนอกประเทศเมียนมาไปแล้วกว่า 84,000 คน ในขณะที่หน่วยงานภาคประชาชนในเมียนมา Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) รายงานตัวเลขผู้ถูกจับกุมโดยรัฐบาลในฐานะผู้ต่อต้านระบอบ SAC ว่ามีจำนวนถึง 21,850 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ได้รับการปล่อยตัวเพียง 4,004 คนเท่านั้น ในขณะที่อีก 17,846 คนยังคงถูกจองจำ และจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2023 มีผู้เสียชีวิตแล้วโดยเป็นการกระทำของฝ่ายรัฐบาล SAC ถึง 3,459 ราย ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการนับจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายจากการกระทำโดยทุกฝ่ายรวมกันย่อมมีตัวเลขที่สูงยิ่งกว่านี้

ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในเมียนมาเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อประเทศไทย โดยประเด็นที่ไทยต้องห่วงกังวลมีอย่างน้อย 4 ประเด็น ได้แก่

1) อุบัติเหตุบริเวณแนวชายแดนที่อาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ

2) ขบวนการค้ามนุษย์ อาวุธและสินค้าผิดกฎหมาย

3) ขบวนการค้ายาเสพติด

4) ความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ประเด็นเหล่านี้จะมีวิเคราะห์กันต่อในตอนต่อไปของซีรีส์ Zomia


อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ Zomia ตอนที่ 1: ทำความรู้จักดินแดนแห่งเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ Zomia ตอนที่ 2: สหภาพแห่งพม่า รอยร้าวแห่งชาติพันธุ์ที่ขัดแย้ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save