fbpx

ถนนไปสู่ความฝัน Mulholland Drive

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นสำหรับนักดูหนังเกิดขึ้นแบบไม่อึกทึกครึกโครม นั่นคือหนังของเดวิด ลินช์ เข้ามาฉายในโรงหนังบ้านเรา 2 เรื่อง ได้แก่ Twin Peaks:Fire Walk With Me และ Lost Highway (นำเข้ามาฉายโดย Documentary Club)

ก่อนหน้านี้ เคยมีหนังของเดวิด ลินช์เข้าฉายบ้านเราเมื่อเนิ่นนานไกลโพ้นมาแล้ว คือ The Elephant Man (1980) และ Dune (1984) แต่ทั้ง 2 เรื่อง ถือเป็นงานของเดวิด ลินช์ในแบบทำขึ้นตามใบสั่งของสตูดิโอ ไม่ใช่หนังสะท้อนบุคลิกตัวตนของเขา อันเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เดวิด ลินช์เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับคนสำคัญของโลกภาพยนตร์ มีเอกลักษณ์และสไตล์เฉพาะตัวเด่นชัด พูดแบบรวบรัดตัดความ นี่คือคนทำหนังฝีมือชั้นครูในแขนงสาขา ‘ดูยาก เข้าใจยาก แต่สนุกสนานวายป่วงสุดๆ’

ผมมีนิยามสั้นๆ สำหรับหนังของเขาว่า เป็นหนังที่ดูแล้ว ‘เพริดเพลิน’ (ไม่ได้พิมพ์ผิดสะกดผิดนะครับ)

ด้านหนึ่งทำให้ผู้ชมตกตะลึงพรึงเพริดไปกับรายละเอียดที่พิศวงชวนงุนงง เต็มไปด้วยความประหลาด เพี้ยน และหลอน โดยปราศจากการให้คำอธิบาย จนเหมือนพลัดหลงเข้าไปในดินแดนแห่งฝันร้าย

แต่ในด้านตรงข้าม คือการเล่าเรื่องสะกดตรึงชวนติดตาม ด้วยความแม่นยำแตกฉานในการใช้ศิลปะภาพยนตร์ เล่นแร่แปรธาตุกับประเภทหนัง (genre) บนพล็อตที่ผู้ชมคุ้นเคย อาทิ เรื่องฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน จนผิดแผกแปลกไปกลายเป็นอีกรูปโฉมหนึ่ง เร่งเร้าความอยากรู้อยากเห็น ไม่อาจคาดเดาล่วงหน้า กระทั่งเกิดเป็นความสนุกบันเทิงที่มีรสชาติเฉพาะตัว ในแบบที่ผู้ชมถ้าดูแล้วไม่รักหนังของเขา  ก็อาจจะเกลียดและสาปส่งไปเลย

เรื่องที่จะรู้สึกกลางๆ ก้ำกึ่งแบ่งรับแบ่งสู้กับหนังของเดวิด ลินช์ ผมคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

เท่าที่ติดตามผลงานมาจำนวนหนึ่ง ผมพอจะสรุปได้ว่าตัวเองอยู่ในฝั่งชอบงานของเดวิด ลินช์ แต่เป็นความชอบที่ปะปนระคนกับความรู้สึกยำเกรงมากเท่าๆ กัน

พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือผมดูไม่รู้เรื่อง และไม่เคยเข้าใจหนังของเดวิด ลินช์ ความชอบทั้งหลายประดามีล้วนจำกัดอยู่ในกรอบแคบๆ เพียงแค่สนุกและแปลก

ประสบการณ์ดู Twin Peaks: Fire Walk With Me และ Lost Highway ในโรงหนัง ช่วยผมได้มากทีเดียว

อย่างแรกคือคุณภาพความสมบูรณ์ของภาพและเสียง ให้ความรู้สึกต่างจากการดู DVD ทางบ้านบนจอขนาดเล็กชนิดฟ้ากับเหวในทันที เรื่องภาพนั้นพอจะกะประมาณได้อยู่ก่อนแล้วนะครับว่าคงให้ผลลัพธ์ความน่าตื่นตาตื่นใจผิดไกลกัน แต่สิ่งที่นึกไม่ถึงเลยก็คือเสียง

หนังของเดวิด ลินช์ มีการออกแบบเสียงที่ประณีตมากๆ (โดยตัวเขาเองรับผิดชอบดูแลตำแหน่ง sound design) ทั้งการเล่นกับความเงียบ เสียงประกอบ ดนตรี รวมถึงเสียงหึ่งๆ คลอเป็นแบ็กกราวนด์ ทั้งหมดนี้ออกฤทธิ์เขย่าขวัญสั่นประสาทผู้ชมได้อย่างน่าทึ่ง และทำให้หลายๆ ฉากเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะปกติธรรมดา เต็มไปด้วยความไม่น่าไว้วางใจ

คุณูปการต่อมาของการดูในโรงผ่านโปรแกรมฉายจำนวน 2 เรื่องในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ช่วยให้ผู้ชมจับสังเกตลักษณะร่วมสำคัญๆ ในหนังของเขาได้สะดวกง่ายขึ้น

ที่เด่นชัดคือโครงสร้างการเล่าเรื่อง ขึ้นต้นมาบอกเล่าเหตุการณ์หนึ่ง แต่แล้วขณะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม สนุกเข้มข้นได้ที่ จู่ๆ ก็เปลี่ยนปุบปับไปเล่าอีกเรื่องเอาดื้อๆ แบบไม่คำนึงถึงที่มาที่ไปและความต่อเนื่อง ก่อนจะขมวดจบนำพาทั้ง 2 เรื่องมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยให้ร่องรอยเบาะแสประมาณหนึ่ง และทิ้งปริศนาคาใจในปริมาณใกล้เคียงกัน

ถัดมาคือความเหลื่อมซ้อนปนกันระหว่าง 2 เหตุการณ์ ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องในหนังของเดวิด ลินช์ เหมือนเทคนิคการเปลี่ยนฉากที่เรียกกันว่า dissolve คือขณะภาพจากฉากที่กำลังจะจบค่อยๆ เลือนออกหายไป ภาพจากฉากใหม่ก็ค่อยๆ เลือนแล้วชัดขึ้นในเวลาเดียวกัน

ต่างเพียงแค่มันไม่ใช่การ dissolve โดยเปลี่ยนภาพเปลี่ยนฉาก แต่เป็นการซ้อนเรื่องราวและเหตุการณ์

วิธีเล่าเรื่องเช่นนี้สอดคล้องกับสิ่งสำคัญต่อมา คือการผสมปนกันระหว่างความจริง จินตนาการนึกฝันของตัวละคร ภาพหลอนลวงตา จนกระทั่งยากจำแนกแยกแยะว่าอะไรคือความจริง

นี่ยังไม่นับรวมการใส่และสร้างรายละเอียดปลีกย่อยในลีลาเฉพาะตัวของเขา เช่น ตัวละครคนแคระ (ซึ่งปรากฏในแทบทุกเรื่อง) ผ้าม่านสีแดง รวมถึงเหตุการณ์เหนือจริงต่างๆ นานา (บนพล็อตและการเล่าเรื่องที่ปราศจากอภินิหาร)

2 ปัจจัยหลักๆ นี้แหละครับที่ทำให้หนังของเดวิด ลินช์ กลายเป็นของน่ากลัวสำหรับผม และเกิดเป็นความเข้าใจไปว่าหนังของเขาดูยาก เข้าใจยาก เนื่องจากมีอะไรต่อมิอะไรที่ชวนกังขา และปราศจากคำตอบคำอธิบายอยู่เต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม การดู Twin Peaks: Fire Walk With Me และ Lost Highway ในโรงระยะไล่เลี่ยกัน ก็ทำให้ผมเกิดความคิดเห็นอีกแบบ ผมรู้สึกว่าการค้นหาแยกแยะว่าส่วนไหนในหนังเป็นความจริงกับความไม่จริงออกจากกัน การลำดับเหตุการณ์ระหว่างเรื่องเล่า 2 เรื่อง เพื่อค้นหาก่อน-หลัง หรือต้น กลาง ปลาย รวมถึงเสาะแสวงหาคำตอบว่า 2 เหตุการณ์นั้นเกี่ยวโยงกันได้อย่างไร เป็นความยียวนกวนอารมณ์กลั่นแกล้งคนดูของเดวิด ลินช์ ล่อหลอกให้เราท่านเล่นเกมตีความ โดยไม่มีคำตอบถูกต้องแท้จริง

เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับหนังของเขามากขึ้น ผมก็สนุกไปกับการปะติดปะต่อเพื่อถอดปริศนาเหล่านี้เหมือนกัน และที่สนุกมากคือ เมื่อได้ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ และคลี่คลายไปทีละเปลาะ หนังของเขาก็วางกับดักพาผู้ชมไปพบกับทางตัน มีชิ้นส่วนไม่ลงล็อก เชื่อมต่อกันไม่ได้ ไม่เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน จนต้องโยนข้อสันนิษฐานนั้นทิ้งไปแล้วเริ่มต้นใหม่ (และพบบทสรุปลงเอยเดิมๆ)

เปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้น คลับคล้ายการเล่นเกมลูกบาศก์รูบิกนะครับ เราหมุนสลับจนเป็นสีเดียวกันทีละด้าน แล้วก็พบว่าซีกส่วนน้อยที่เหลือยังกระจัดกระจายและอับจนหนทาง พอพยายามต่อไปก็เละ จนต้องเริ่มใหม่ การถอดรหัสหนังของเดวิด ลินช์ให้ความบันเทิงและประสบการณ์คล้ายกันเช่นนั้น

นอกจากนี้ การดูหนังเดวิด ลินช์ 2 เรื่องในโรง ทำให้ผมพบอีกอย่างว่า ท่ามกลางความงุนงงในการจำแนกว่าอะไรเป็นอะไร? หมายถึงสิ่งใด? สิ่งที่เรียกว่าแก่นเรื่องหรือประเด็นสำคัญได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าและเหตุการณ์เอาไว้เสร็จสรรพแล้ว

พูดอีกแบบคือมันเป็นหนังเข้าใจยากก็ต่อเมื่อพยายามค้นหาคำตอบ อะไรจริง? อะไรไม่จริง? และหาเหตุผลว่าทั้งสองส่วนนี้เชื่อมโยงเหลื่อมซ้อนกันอีท่าไหน? แต่ในแง่ว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนประเด็นใด นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… หนังของเดวิด ลินช์ไม่ได้ดูยากแต่อย่างไร เพียงแค่ห่อหุ้มไว้ด้วยวิธีเจ้าเล่ห์ แกล้งทำให้ดูขลัง และลวงให้ผู้ชมเฉไฉไปในทิศทางอื่น

อันที่จริง ผมควรจะเขียนถึง Twin Peaks: Fire Walk With Me หรือ Lost Highway แต่ด้วยความไม่ประจวบเหมาะด้านเวลา จึงต้องเปลี่ยนมาแนะนำเรื่อง Mulholland Drive แทน เนื่องจากมีให้ดูใน prime video (รวมถึงงานเด่นอีกเรื่องในช่วงก่อนหน้าอย่าง Blue Velvet)

อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาส ผมแนะนำให้ดูทุกเรื่องนะครับ

Mulholland Drive เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์หญิงสาวผู้หนึ่งในชุดราตรีสีดำกำลังเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งบนถนนมัลฮอลแลนด์ แต่แล้วจู่ๆ รถก็หยุดจอด ชายที่นั่งด้านหน้าเอื้อมตัวมาพร้อมเล็งปืนใส่หญิงสาว ขณะเหตุการณ์กำลังคับขัน วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งก็ขับรถ 2 คันแข่งกันด้วยความคึกคะนอง ผ่านความคดโค้งของถนนบนเนินเขา และเกิดอุบัติเหตุชนรถที่หญิงสาวนั่ง

เธอรอดชีวิต มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ เดินกระเซอะกระเซิงไต่ลงเนินไหล่ทาง จนกระทั่งลงถึงที่ราบ และหลบซ่อนตัวในพุ่มไม้หน้าบ้านหลังหนึ่งจนหลับไป

เมื่อตื่นขึ้นในเช้าต่อมา เจ้าของบ้านกำลังขนกระเป๋าสัมภาระใส่ท้ายรถเพื่อเดินทางไกล หญิงสาวฉวยโอกาสที่ทุกคนกำลังวุ่นวายไม่ทันสังเกต หลบเข้าไปซ่อนตัวในบ้าน

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หญิงสาวชื่อเบ็ตตีเดินทางมายังแอลเอเพื่อทดสอบบทเป็นดารา เธอเข้าพักในบ้านหลังเดียวกับที่สาวลึกลับซ่อนตัว (บ้านดังกล่าวเป็นบ้านป้าของเบ็ตตี)

ทั้งสองคนพบเจอกัน ด้วยความเข้าใจผิดของเบ็ตตี เธอจึงไม่ได้ขับไล่แขกแปลกหน้าออกจากบ้าน และผูกไมตรีต่อกันจนทราบความว่าหญิงสาวลึกลับ (ซึ่งใช้ชื่อริตา โดยได้ความคิดมาจากโปสเตอร์หนังเรื่อง Gilda ซึ่งนำแสดงโดยริตา เฮย์เวิร์ธ) มีอาการสูญเสียความทรงจำ

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าหนังของเดวิด ลินช์ มักจะเล่าเหมือนมีหนัง 2 เรื่องอยู่ในงานชิ้นเดียวกัน Mulholland Drive ก็เป็นเช่นนั้น

บนความยาวทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 26 นาทีของ Mulholland Drive หนังเรื่องที่หนึ่งกินความราวๆ 100 นาที เล่า 3 เหตุการณ์สลับไปมา เรื่องแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างเบตตีกับริตาที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับการสืบหาสาเหตุว่าก่อนประสบอุบัติเหตุจนสูญเสียความทรงจำ ตัวตนแท้จริงของริตาคือใคร?

เรื่องถัดมาคือภารกิจเดินทางมายังฮอลลีวูดของเบ็ตตี โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าวงการบันเทิงเป็นดาราดัง

เรื่องสุดท้าย เล่าถึงผู้กำกับหนังชื่อดัง ซึ่งกำลังค้นหานางเอกสำหรับหนังที่กำลังจะเริ่มลงมือถ่ายทำ แต่ยังไม่พบคนที่เหมาะใจ ซ้ำร้ายยังถูกมาเฟียผู้มีอิทธิพลพยายามยัดเยียดเด็กในสังกัดให้รับบทนางเอก เมื่อปฏิเสธแบบไม่ยี่หระ ผลสืบเนื่องติดตามมาก็กลายเป็นความเดือดร้อนยุ่งยากจากการถูกพวกนอกกฎหมายตามรังควาน

ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้เล่าแบบดูง่าย เข้าใจง่าย สนุกชวนติดตามมาก โดยคั่นบางช่วงบางตอนด้วยการแทรกฉากที่ทำให้ผู้ชม ‘เหวอ’ ตามสไตล์ถนัดของเดวิด ลินช์อยู่บ้างเล็กน้อย (เช่น ฉากชายสองคนคุยกันในร้านอาหารเกี่ยวกับฝันร้ายที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และฉากคุยโทรศัพท์เป็นทอดๆ เหมือนลูกโซ่ ซึ่งเริ่มจากคนแคระท่าทางลึกลับ)

โดยรวมแล้วเหมือนหนังสืบสวนสอบสวนท่ามกลางฉากหลังเกี่ยวข้องกับวงการหนังที่ดูสนุก เข้าใจไม่ยาก โดดเด่นด้วยการเล่าแต่ละฉาก ด้วยจุดเริ่มประหลาดๆ แล้วคลี่คลายด้วยเหตุการณ์ฉูดฉาดจัดจ้าน (ที่เก่งมากคือการใช้วิธีเล่าทำนองนี้ ควบคุมคนดูจนเบ็ดเสร็จ ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะพาไปพบเจออะไร กลายเป็นความน่าติดตามและเล่นกับความกระหายใคร่รู้ของผู้ชมได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ)

เรื่องเล่า 3 เหตุการณ์นี้คืบหน้าและค่อยๆ เชื่อมโยงเข้าหากัน จนใกล้จะคลี่คลายเฉลยความลับสำคัญสุดว่าริตาคือใคร? และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอต้องถูกปองร้าย?

คำเฉลยก็คือหนังเรื่องที่สอง ในช่วงสี่สิบกว่านาทีสุดท้าย ซึ่งผมขออนุญาตไม่เล่านะครับว่ามีเค้าโครงเช่นไรบ้าง กล่าวได้เพียงว่าเมื่อเล่าครบทั้ง 2 ส่วนแล้ว มันสั่นสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกมาก กลายเป็นงานดรามาที่ยอดเยี่ยม สะท้อนแก่นเรื่องเด่นชัดบาดลึก และแน่นอนว่าพ่วงโยงมาด้วยข้อสงสัยชวนฉงนอีกโขยงใหญ่

ชื่อหนัง Mulholland Drive ตั้งตามชื่อถนนสายหนึ่งในถิ่นย่านฮอลลีวูด ไม่ได้เป็นฉากหลังหลักๆ ของเรื่องราวส่วนใหญ่ มันถูกกล่าวถึงไม่กี่ครั้ง หนแรกคือริตาบอกเล่าว่าขณะประสบอุบัติเหตุ เธอกำลังเดินทางไปที่นั่น ส่วนอีกครั้งในตอนท้าย (ของหนังเรื่องที่สอง) เราได้เห็นตัวละครเดินทางไปยังบ้านหลังหนึ่งบริเวณนั้น

ขยายความเพิ่มเติมจากรายละเอียดที่หนังเกริ่นไว้ คือถนนมัลฮอลแลนด์มีนัยยะโยงไปถึงวงการหนัง

ชื่อนี้ยังทำให้นึกไปถึงหนังคลาสสิกอีกเรื่อง นั่นคือ Sunset Boulevard หนังปี 1950 ผลงานกำกับของบิลลี ไวล์เดอร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นงานสะท้อนภาพด้านลบของฮอลลีวูดออกมาได้อย่างเจ็บปวดเย้ยหยัน

แง่มุมสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งหนังชื่อเกี่ยวกับถนนทั้งสองนี้มีตรงกัน นั่นคือความฝันของคนหนุ่มสาวที่เดินทางมายังเมืองหลวงของโลกภาพยนตร์ พกพาความฝันสวยหรูว่าวันหนึ่งจะประสบความสำเร็จ กลายเป็นดาราดัง แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากฝันนั้นจะไม่ใกล้เคียง โลกของความเป็นจริงที่ปรากฏกลับโหดร้ายตรงกันข้าม

ผมคิดว่านี่คือแก่นสารใจความสำคัญของ Mulholland Drive และความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ก็คือการสะท้อนประเด็นดังกล่าวด้วยกลวิธีแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร ที่ร้ายกาจกว่านั้นคือตลอดเส้นทางการเล่าเรื่องส่วนใหญ่ หนังไม่ได้ทำให้คนดูตระหนักหรือคิดไปถึงแง่มุมเหล่านี้เลย จนกระทั่งดำเนินไปสู่ท่อนปลายนั่นแหละ ประเด็นนี้จึงเผยแสดงออกมาอย่างแหลมคม เสียดเย้ย ทิ่มแทง และเป็นโศกนาฏกรรมที่ตราตรึงทำร้ายจิตใจเหลือเกิน

พ้นจากแง่มุมนี้แล้ว Mulholland Drive ก็เจริญรอยตามหนังรุ่นคุณพ่ออย่าง Sunset Boulevard ด้วยการพูดถึงด้านลบอื่นๆ ของวงการหนัง (เช่นเรื่องของผู้กำกับหนังที่โดนอิทธิพลมืดคุกคาม) กระทั่งว่าการสูญเสียความทรงจำของริตาก็ยังมีความหมายเปรียบเปรยไปได้ถึงการที่ระบบในฮอลลีวูดทำให้ใครต่อใครสูญเสียตัวตนที่แท้จริง (อันนี้ผมคิดลอยๆ คร่าวๆ ยังไม่ได้ไตร่ตรองหาเหตุผลที่รัดกุม ผู้อ่านไม่พึงเชื่อคล้อยตาม)

และที่เด่นชัดมากคือการสะท้อนถึงความเป็นมายาในโลกภาพยนตร์ ผ่านความคลุมเครือ กึ่งจริงกึ่งฝัน  ระหว่างความจริงกับความไม่จริงทั้งหลายประดามีสารพันสารพัน

หากเปรียบกันว่าฮอลลีวูดเป็น ‘โรงงานแห่งความฝัน’ Mulholland Drive ของเดวิด ลินช์ก็นำเสนอได้ใกล้เคียงกับคำเทียบเปรยนั้น

เพียงแต่ ‘โรงงานแห่งความฝัน’ ของเดวิด ลินช์ เป็นฝันร้ายนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save