fbpx

2 สตรีผู้ลงเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกของสยาม ‘เครือวัณณ์ และ อนงค์ บุนนาค’

เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก

สมนามเอกราชแท้ ชาติไทย

สมศักดิ์แห่งมหัยย์ ราชเผ้า

สมบุญเลิศพิลัย พุทธศาสน์

สมบทระเบียบเค้า กฎแท้รัฐธรรม นูญเทอญ

เครือวัณณ์[1]

โคลงสี่สุภาพบทปิดท้ายส่งความสุขปีใหม่เมื่อ พ.ศ.2477 ข้างต้นโดย ‘เครือวัณณ์’ ในวารสารดวงประทีป ของหลวงวิจิตรวาทการ สะท้อนภาวการณ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 อันเป็นคืนวันฟ้าใหม่ที่ประชาราษฎรคงยังแสดงศรัทธาปสาทะอันแรงกล้าต่อ 4 สถาบันหลักเป็นสรณะ คือ ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ’ เจ้าของนามปากกานี้นอกเหนือจากเป็นประพันธกรสตรีฝีมือเยี่ยม เธอยังเป็นหนึ่งในสองสตรีผู้อาสาลงรับเลือกสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศสยาม เมื่อปลายปี 2476 นามว่า นางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ พร้อมกับอีกหนึ่งอิสตรีนางสาวอนงค์ บุนนาค


ภาพวาดสตรีเทอดรัฐธรรมนูญ


ทันทีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง นับแต่การสถาปนาปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ประเทศสยามแสดงให้เห็นความก้าวหน้าด้านการให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งครอบคลุมหลากหลายคุณสมบัติของพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเพศ หรือวุฒิการศึกษา เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต้นทางประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาเมื่อเบื้องแรกประชาธิปไตยก็มิได้ให้โอกาสแก่คนผิวสีและชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริง ขณะที่ ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส กรีซ สวิสเซอร์แลนด์ คิวบา และเม็กซิโกต่างปิดกั้นไม่ให้สตรีสามารถร่วมเลือกตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ เช่นเดียวกับมหาอำนาจเอเชียที่ชาวสยามชอบมองเป็นต้นแบบอย่างญี่ปุ่น[2]


เลือกตั้งครั้งแรกประเทศสยาม พ.ศ.2476 (ภาพจากปฏิทินป๋วย พ.ศ.2566)


การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศสยามอุบัติขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ภายหลังจากการสถาปนารัฐธรรมนูญเกือบหนึ่งปี เป็นความล่าช้าจากวิกฤตการณ์ปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะการปิดสภาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ของนายกรัฐมนตรีคนแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) จนเป็นเหตุให้คณะราษฎรจำต้องกระทำการปฏิวัติซ้ำเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ศกเดียวกัน เพื่อเปิดสภาและดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายที่ค้างคาไว้อย่างเร่งด่วน กระทั่งแม้เดือนตุลาคมก็ยังเกิดความขัดแย้งระดับสงครามกลางเมืองกรณี ‘กบฏบวรเดช’ กระนั้นการดำเนินการเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับสมรภูมินั้นก็ยังคงดำเนินไปตามกำหนด คงมีเพียงจังหวัดธนบุรี และจังหวัดพระนคร ที่กำหนดช้าเกินกว่ากำหนดการเดิม คือวันที่ 15 พฤศจิกายน เล็กน้อย โดยขยับไปวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน (จัดขึ้นเชิงสะพานพุทธฝั่งธนบุรี) และวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน (สนามหลวง) ตามลำดับ รวมถึงจังหวัดที่ได้รับความกระทบกระเทือนอีกสองแห่งคือ นครราชสีมาและเพชรบุรี ที่ดูจะล่าช้ากว่าเพื่อนคือจัดเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 27 และ วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน ตามลำดับ[3]


เข็มกลัดผู้แทนตำบล พ.ศ.2476 (ภาพโดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์)


ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศนี้เป็น ‘การเลือกตั้งทางอ้อม’ คือให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบล เพื่อเป็นตัวแทนคัดเลือกผู้แทนราษฎรประจำจังหวัด จากข้อมูลที่ผู้เขียนพบในหนังสือสารคดีการเมือง พ.ศ.2522 สรุปไว้ว่า “จำนวนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีทั้งสิ้น 4,278,231 คน ทว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 1,773,532 คนคิดเป็นร้อยละ 41.45 ได้เป็นผู้แทนราษฎร 78 คน จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์มากที่สุดคือเพชรบุรี คือร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน คือร้อยละ 17.71”[4]

ในขณะที่อีกหนึ่งข้อมูลให้ตัวเลขพลเมืองที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต่างกันไว้ด้วยจำนวน 6,489,250 คน หรือราว 50-54 ของราษฎรทั้งหมด ทุกจังหวัดมีผู้แทนได้ 1 คน (จำนวน 70 จังหวัด) มีเพียง พระนคร 3 คน อุบลราชธานี 3 คน นครราชสีมา 2 คน ร้อยเอ็ด 2 คน มหาสารคาม 2 คน และเชียงใหม่ 2 คน เนื่องด้วยเป็นเขตเลือกตั้งที่มีคนเกิน 2 แสนคน[5] ดังนั้นยอดรวมของผู้แทนราษฎรประเภทเลือกตั้งจึงอยู่ที่ 78 คน เมื่อผนวกเข้ากับ ส.ส.ประเภทแต่งตั้งอีกจำนวนเท่ากัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนั้นจึงมีทั้งสิ้น 156 ที่นั่ง


หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายงานข่าวการเลือกตั้ง


บรรยากาศการเลือกตั้งระยะนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก ‘หนังสือพิมพ์ประชาชาติ’ นำเสนอข่าวอย่างตามติดและเข้มข้นขึ้นนับแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 โหมโรงด้วยการเสนอข่าว เช่น “การเลือกตั้งครั้งแรก (6 ต.ค.)” “ผู้สมัครในจังหวัดพระนครมีรวมทั้งสิ้น 34 คน จังหวัดพระนครจะมีผู้แทนได้ 3 คน (7 ต.ค.)” “อยุธยาแข็งขันในการจัดการเลือกตั้งผู้แทน ให้ผู้สมัคร์แถลงนโยบายตามลำดับฉลาก (12 ต.ค.)” “พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทอดพระเนตร์การเลือกตั้งผู้แทนตำบลที่หัวหินวันที่ 10 (13 ต.ค.)” “การเลือกผู้แทนตำบลจะสิ้นสุดในวันที่ 29 (28 ต.ค.)”

สืบเนื่องถึงเดือนถัดมาพฤศจิกายน ท่ามกลางกระแสควันหลงกรณีกบฏบวรเดชที่ยังคงนำเสนอพาดหัวข่าวแทบทุกวัน ด้านผลการเลือกตั้งทั่วประเทศก็เริ่มทยอยสอดแทรกเป็นระยะในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ  เช่น “นายวงศ์ แสนศิริพันธ์ เปนผู้แทนจังหวัดแพร่ (3 พ.ย.)” “กำหนดเลือกผู้แทนพระนครแลธนบุรี (7 พ.ย.)” “ร.ท.ทองดำ คล้าย โอภาศ นายทหารกองหนุน เคยเปนผู้ก่อการปฏิวัติ ร.ศ.130 ได้ถูกเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีณบุรี (8 พ.ย.)” “นายวงศ์แสน ศิริพันธ์ได้รับเลือกเปนผู้แทนจังหวัดแพร่ (10 พ.ย.)” “ผลการเลือกตั้งผู้แทนจังหวัดสมุทรสงคราม นายสุวรรณ มหัฆกาญจน ได้รับเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎร (11 พ.ย.)”  “ผู้ได้รับเลือกเปนผู้แทนจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดตราด, จังหวัดแม่ฮ่องสอน, จังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดอุทัยธานี, จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดนครพนม (13 พ.ย.)” “ค้านการเลือกตั้งผู้แทนนนทบุรีเปนคนที่ 2 ว่าเกินเวลาครึ่งชั่วโมงให้เลือกกันใหม่ (16 พ.ย.)” “ผู้ได้รับเลือกตั้งเปนผู้แทนจังหวัดอุบล…นายทองอิน ภูริพัฒน์ เปนผู้ได้ที่ 1 นายเลียง ไชยกาล ได้ที่ 2 นายเนย สุจิมา ได้ที่ 3 และกองการโฆษณาได้รับข่าวว่า นายสว่าง ศรีวิโรจน์ อายุ 40 ปี อาชีพทนายความ ได้รับเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี. (16 พ.ย.)” “ผู้แทนธนบุรีได้แก่นายทองอยู่ พุฒพัฒ (20 พ.ย.)” “นายกิมเส็ง สินธุเสก ได้รับเลือกเปนผู้แทนจังหวัดราชบุรี (20 พ.ย.)” เป็นต้น


3 ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีในการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ.2476 (ขอบคุณภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี) และรายงานผลการเลือกตั้ง


ระหว่างการเลือกตั้งนี้ พระปกเกล้ายังประทับอยู่ในจังหวัดสงขลาหลังกรณีกบฏบวรเดช รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์แถลงว่า “พระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรการเลือกผู้แทนราษฎรที่จังหวัดสงขลาตลอดเวลา ผู้ส่งข่าวพิเศษของเราประจำจังหวัดสงขลา ได้โทรเลขรายงานเข้ามาว่า การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้น ได้กระทำกันแล้ว. นายเจือ ศรียาภัย ได้รับเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎร โดยได้รับคะแนน 37 คะแนน จากคะแนนทั้งหมด 106 คะแนน พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรความเปนไปในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของจังหวัดนี้ตลอดเวลา. นับว่าจังหวัดสงขลาได้รับความพากพูมใจในการเลือกตั้งผู้แทนอย่างเต็มที่.”[6]

ครั้นได้ตัวผู้แทนราษฎรครบแล้ว พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระนคร เพื่อเปิดสภาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2476 และนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกครั้งนั้นคือพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าผู้ก่อการ 2475

วันนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเปิดสภา ดังมีใจความสรุปสถานการณ์ระยะนั้นทั้งหมดไว้อย่างดีว่า


หนังสือพิมพ์ประชาชาตินำเสนอพระราชดำรัสเปิดสภาผู้แทนราษฎร 10 ธันวาคม พ.ศ.2476


พระราชดำรัสเปิดสภาผู้แทนราษฎร (พาดหัวข่าว)

ว่าสภาได้ดำเนินเปนประโยชน์ตลอดมา ทรงสรรเสริญทหารและผู้ร่วมมือปราบกบฏ

ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย

วันที่ 10 ธันวาคม เปนวันศุภมงคลวารสำหรับประชาชนชาติไทย เมื่อปีกลายนี้เปนวันประกอบพระราชพิธีพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ตราและประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เพื่อประชากรจะได้ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์สืบไป.

การที่จะให้รัฐธรรมนูญเปนผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์นั้น จะต้องมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กอปร์ด้วยสมาชิกทั้ง 2 ประเภท ดั่งมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้มีการปิดประชุมสภาผุ้แทนราษฎร และการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนวันที่ 20 มิถุนายน จึงได้กลับใช้รัฐธรรมนูญโดยบริบูรณ์ทุกมาตรา.

รัฐบาลของข้าพเจ้าได้รีบเร่งจัดการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและผุ้แทนราษฎรตามกำหนดบทพระราชกฤษฎีกา และได้จัดการทุกอย่างเพื่อให้ประชาราษฎรได้อยู่เย็นเปนสันติสุข

รัฐบาลของข้าพเจ้าได้เริ่มจัดการแก้ไขโภคภัย ได้เริ่มจัดการแก้ไขระเบียบราชการบริหาร ได้ดำริวิธีการเทศบาลและการศึกษาอบรม เพื่อให้เหมาะสมแก่ความต้องการแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประชาราษฎรจะได้รับความฝึกฝนในวิชาการบ้านเมืองให้เพียงพอแก่ความต้องการนั้นโดยเร็ว บทบัญญัติเฉพาะแห่งการรัฐธรรมนูญจะได้หมดอายุและรัฐธรรมนูญจะได้บรรลุภาวะอันสมบูรณ์เต็มที่

ในเดือนตุลาคม ได้มีผู้ก่อกรรมทำเข็ญด้วยกำลังอาวุธ เปนภัยต่อชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ รัฐบาลของข้าพเจ้าจำใจต้องปราบปรามด้วยกำลังทหาร กองทัพของข้าพเจ้าได้กระทำหน้าที่โดยเคร่งครัด กล้วหาญเต็มใจยอมเสียสละเลือดเนื้อ บรรดาข้าราชการและประชาราษฎรก็ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยปราบอย่างเข้มแข็ง ประเทศชาติจึงได้คืนสู่สภาพสงบ ทั้งนี้นับว่าเปนอุปการคุณแก่ชาติบ้านเมืองอันสมควรจะตรึงตราไว้

บัดนี้การบ้านเมืองเปนปรกติแล้ว ทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศเปนไปโดยสนิทสนมตลอดกาล

สภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการเปนประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยเรียบร้อยตลอดมา ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ขอบใจสมาชิกแห่งสภานั้นโดยทั่วกันด้วย

ส่วนการเลือกตั้งนั้นเล่า ก็ได้ดำเนินมาจนเปนผลสำเร็จเรียบร้อย ข้าพเจ้าจึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 สมทบกับประเภทที่ 1 ซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งมาและข้าพเจ้าขอถืออุดมฤกษ์นี้ เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 เปนการประชุมสมัยสามัญตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไป

ขออำนาจคุณพระรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกได้คุ้มครองรักษาท่านสมาชิกทั้งหลาย ให้ปรึกษาราชการแผ่นดินให้เปนคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง สมดั่งประสงค์จำนงหมายในการที่ได้อนุมัติประสิทธิประสาทรัฐธรรมนูญนั้นเทอญ.”[7]


กบฏบวรเดช ตุลาคม พ.ศ.2476 (ภาพจากปฏิทินป๋วย พ.ศ.2566)


สองศรีสตรีผู้อาสาราษฎร ลงสมัคร ส.ส. ครั้งแรก


จากรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2476 จำนวน 590 คน[8] พบรายชื่อสองศรีสตรี คือนางสาวมยูร สุวรรณกาญจนสุวรรณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนางสาวอนงค์ บุนนาค จังหวัดธนบุรี (จังหวัดพระนครควบรวมกับจังหวัดธนบุรี เป็น ‘นครหลวงกรุงเทพธนบุรี’ เมื่อ พ.ศ.2514[9] และเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น ‘กรุงเทพมหานคร’ ปีถัดมาเมื่อ พ.ศ.2515[10])

ข้อมูลของสตรีเพียงสองนางที่ร่วมลงเลือกตั้งในคราวนั้นนับว่าปรากฏอย่างลางเลือนบางเบายิ่งนัก[11] บทความนี้ผู้เขียนเพียงสามารถนำเสนอเรื่องราวพร้อมรูปภาพของเธอทั้งสองผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยที่ส่วนตัวพานพบนำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง


นางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ (ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสุราษฎร์ธานี)


เครือวัณณ์ “นางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ”


เบื้องต้นได้เพียงข้อสันนิษฐานว่าสตรีท่านนี้เป็นธิดาของ พระพิไชยเดชะ (เลียบ กาญจนสุวรรณ)[12]ผู้เขียนยังไม่เคยพบว่าครอบครัวเธอได้พิมพ์อนุสรณ์งานศพหรือไม่อย่างไร โชคดีว่าผลงานของเธอยังพอพบได้จากวารสารดวงประทีป [13] ที่ก่อตั้งโดยหลวงวิจิตรวาทการ โดยเธอเริ่มเขียนลงวารสารนี้ในเล่มปฐมฤกษ์ 11 สิงหาคม พ.ศ.2474 ในบทความที่ชื่อว่า ‘ไม่ลืมเลย’ (ปีที่ 1 เล่มที่ 1) ด้วยนามปากกา ‘เครือวัณณ์’ ทั้งยังคงลงต่อเนื่องเป็นระยะ เช่น ‘รักกับหลง’ (ปีที่ 1 เล่มที่ 4-11 กันยายน พ.ศ.2474) ‘มารดาของโลก’ (ปีที่ 1 เล่มที่ 5-21 กันยายน พ.ศ.2474) จนล่วงถึงระยะเลือกตั้งเมื่อฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ปรากฏหน้าแทรกโฆษณาหาเสียงของเธอ เขียนโดยคอลัมนิสต์ประจำนามแฝง ‘เพิ่มอิศระ’ พร้อมภาพถ่ายอย่างคมชัดของเธอประกอบ เนื้อหามีใจความต่อไปนี้


ปกวารสารดวงประทีปฉบับโฆษณาหาเสียงให้ ‘เครือวัณณ์’


“สตรีผู้สมัครเปนผู้แทนราษฎร

ถ้าท่านผู้อ่านทั้งหลายจะยังไม่ลืมดวงประทีปในสมัยปีที่ 1 แล้ว ท่านก็คงยังจำนามนักเขียนของดวงประทีปในสมัยนั้นได้คนหนึ่งคือ “เครือวัณณ์” เครือวัณณ์เปนนักเขียนของคณะดวงประทีปที่มีชื่อเสียงเด่นในสมัยนั้นเปนอันมาก เครือวัณณ์ได้เขียนเรื่องอ่านเล่นทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องสั้น เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิชาความรู้และกวีนิพนธ์ เรื่องของเครือวัณณ์ได้รับความนิยมชมชื่นว่าเปนเรื่องที่นำความเพลิดเพลิน ความคิดนึกและคติธรรมแปลก ๆ มาสู่ผู้อ่าน จนมีผู้พอใจมาขอเรื่องของเครือวัณณ์พิมพ์ขึ้นแจกในงานศพเปนพิเศษ และเรื่องที่ได้รับเกียรติยศยิ่งนี้คือเรื่อง “มารดาของโลก” นอกจากจะเขียนเรื่องลงในดวงประทีปแล้ว เครือวัณณ์ยังได้เขียนบทนำลงในไทยใหม่อีกเปนครั้งคราว นามว่าเครือวัณณ์ได้ติดอยู่ในความทรงจำของนักอ่านทั่วไป และเปนนามที่ได้รับความนิยมมาแล้วอย่างแพร่หลาย แต่บางทีท่านจะยังรู้จักเครือวัณณ์น้อยเกินไป เครือวัณณ์ไม่เปนแต่นักเขียน เครือวัณณ์เปนนักการเมืองด้วย และเปนนักการเมืองที่เตรียมตัวจะเข้าต่อสู้ในวงการเมืองอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอแนะนำให้ท่านรู้จักเครือวัณณ์มากขึ้นอีก ขอให้ท่านโปรดรู้จักไว้ว่า เครือวัณณ์ของดวงประทีปนั้น คือนางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ สตรีผู้สมัครเปนผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี.

สตรีผู้สมัครเปนผู้แทนราษฎร ! บางทีจะใหม่ และแปลกเกินไปสำหรับเมืองไทย และบางทีเราจะฟังกันอย่างให้ความยุติธรรมน้อยเกินไปด้วย ประเทศสยามได้ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมากว่าหกร้อยปีแล้ว และเพิ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เข้าระบอบประชาธิปตัย เมื่อพุทธศักราช 2475 การปกครองแบบนี้จึงเรียกกันว่าแบบใหม่ ถึงจะไม่ใหม่สำหรับโลก แต่ก็ใหม่สำหรับเมืองไทย และเมื่อเราได้รับรองการปกครองแบบใหม่นี้ด้วยความเต็มใจแล้ว ก็เหตุไฉนเราจะรู้สึกใหม่และแปลกต่อสตรีผู้สมัครเปนผู้แทนราษฎรให้เกินไปนัก เมื่อสตรีผู้นั้นได้กระทำตนตามแบบผู้รักชาติ และกระทำเพื่อให้บทรัฐธรรมนูญมาตราถึงซึ่งความสมบูรณ์สมดังที่เราได้รับพระราชทานไว้.

เครือวัณณ์เปนสตรีคนแรกของประเทศสยามที่ได้ยื่นใบสมัครเข้ารับเลือกเปนผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ใช่จะน้อยหน้าจังหวัดอื่นในจำนวนผู้รับเลือก แต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีเครื่องชูขวัญยิ่งกว่าหลายจังหวัด ในการที่มีสตรีสมัครเข้ารับเลือกเปนผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าได้ทราบว่าการที่เครือวัณณ์กล้าสมัครเข้าแข่งขันกับบรรดาผู้สมัครอื่น ๆ นั้น ไม่ใช่เพราะเครือวัณณ์จะทะนงตัวว่ามีความสามารถยิ่งกว่าผู้สมัครทั้งหลาย แต่หากเครือวัณณ์มีความพูมใจอยู่ข้อหนึ่งว่าตนเองมีเลือดชาวปักษ์ใต้แท้ ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาช้านาน และทราบชีวิตจิตต์ใจของชาวสุราษฎร์ดีว่ายังขาดอะไร และสมควรจะเพิ่มเติมอะไรให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเครือวัณณ์จึงกล้าหวังว่าเธอสามารถจะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมจังหวัดได้ และพาชื่อเสียงของสุราษฎร์ธานีให้ก้าวหน้าได้ไม่แพ้จังหวัดอื่น.

เครือวัณณ์เปนสตรีผู้ที่ชำนาญการค้าขาย ได้ทำการติดต่อกับมหาชนทั่วไปตลอดจนชาวต่างประเทศ แต่เครือวัณณ์มีนิสสัยรักการเมือง และเอาใจใส่ในการบ้านเมืองอยู่เปนนิจ บรรดามิตรสหายที่สนิทกับเครือวัณณ์ย่อมทราบดีว่า ถึงแม้จะเปนหญิง แต่หัวใจของเครือวัณณ์ก็มีความรักชาติไม่แพ้ชาย และมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เห็นชาติไทยประสพความเจริญก้าวหน้าให้ไพศาลยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งของเราไม่ตัดสิทธิของสตรี และเปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในกิจการของชาติได้ดังนี้ จึงเปนโอกาสดียิ่งที่เครือวัณณ์จะได้สำแดงน้ำใจที่รักชาติได้ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

แต่หน้าที่ของผู้แทนราษฎรไม่ใช่หน้าที่ ๆ เล็กน้อย เปนหน้าที่ ๆ ใหญ่หลวงและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเปนผู้ที่ได้รับมอบฉันทะจากราษฎรหน่วยหนึ่งให้ขึ้นมามีส่วนร่วมในความเปนอยู่ของประเทศชาติและความเสื่อมความเจริญของจังหวัดนั้น ๆ ก็ย่อมตกอยู่แก่ผู้แทนของตน เพราะฉะนั้นการเลือกผู้แทนจึงเปนของจำเปนอย่างยิ่งที่จะพินิจพิเคราะห์ให้คนที่มีความรู้ความสามารถและความคิด ความเห็นอันที่สมแก่ท้องถิ่น เพราะถ้าเลือกผิดราษฎรในจังหวัดนั้น ก็จะต้องเสียใจไปตลอดเวลา 4 ปี เปนความเสียใจที่จะต้องนั่งดูความผิดโดยไม่มีทางจะแก้ไข ด้วยเหตุนี้ผู้แทนตำบล จึงเปนของสำคัญยิ่งเพราะเปรียบเหมือนดวงตาและดวงใจของราษฎรทั้งหมด ที่จะเลือกเฟ้นและหาผู้แทนราษฎรให้เหมาะแก่รูปถิ่นของตน ในเรื่องนี้หลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้าเปนผู้แทนตำบล ข้าพเจ้าจะเลือกผู้แทนจังหวัดที่มีดวงหน้าอันแสดงลักษณะว่าเปนคนมีศีลธรรมและโอบอ้อมอารี – เปนเลือดเนื้อของแถบถิ่นดินแดนจังหวัดของข้าพเจ้า – มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด ไม่ใช่คนจรมา – ทราบกิจการความเปนไปในท้องที่ดี – มีความรู้กว้างขวาง และมีลักษณะเปนคนกล้าหาญไม่กลัวใคร” ถ้าลักษณะของผู้แทนราษฎรควรเปนตามนัยที่กล่าวมานี้ ก็เปนลักษณะที่ชาวสุราษฎร์ธานีย่อมทราบดีว่ามีอยู่ในเครือวัณณ์อย่างพร้อมบูรณ์ และจึงเปนลักษณะที่ควรแก่ผู้แทนสุราษฎร์ธานีอย่างยิ่ง

วันกำหนดเลือกตั้งได้เคลื่อนใกล้เข้ามาแล้ว ในไม่ช้าเราจะได้ทราบคำประกาศชื่อผู้แทนของสุราษฎร์ธานี และถ้าผู้แทนที่ได้รับเลือกนั้นจะเปนสตรีสาวผู้ชำนาญการเขียนและรอบรู้เอาใจใส่ในการเมืองมาแล้วเช่นเครือวัณณ์ เราจะพลอยปีติและปลื้มใจด้วยเพียงไร ในน้ำใจของชาวสุราษฎรที่ยอมยกย่องให้เกียรติยศแก่สตรี และยอมรับให้สตรีไทยมีถานะเท่าเทียมชาติทั้งหลาย ชื่อเสียงและมิ่งขวัญของสุราษฎร์ธานีจะเปนเครื่องเชิดชูเด่นอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและเปนการแน่นอนที่เครือวัณณ์จะสามารถทำประโยชน์นี้และนำความก้าวหน้ามาสู่จังหวัดสุราษฎร์ได้ไม่แพ้ผู้แทนจังหวัดอื่น เครือวัณณ์เปนนักเขียนที่มีชื่อเสียงดีมากแล้วในเชิงการประพันธ์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอหวังล่วงหน้าว่าเครือวัณณ์จะเปนผู้แทนที่สามารถมากผู้หนึ่งในวงการเมืองซึ่งชาวราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะไม่ต้องรู้สึกเสียใจเลยถ้าเขาเลือก.

เพิ่มอิศระ”[14]


ขุนวรศาสนดรุณกิจ (ฝ้าย บุญเลี้ยง) ส.ส.คนแรกจังหวัดสุราษฎร์ธานี


ถึงแม้เธอจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อ ‘ขุนวรศาสนดรุณกิจ’ (ฝ้าย บุญเลี้ยง – พ.ศ.2442-2486[15]) นางสาวมยูรยังกลับมาฝากฝีไม้ลายมือเชิงกวีด้วยโคลงสี่สุภาพไว้ในวารสารดวงประทีปฉบับปีใหม่ พ.ศ.2477 บทประพันธ์ชิ้นนี้ฉายให้เห็นถึงวรรณศิลป์ที่สละสลวยงดงามไม่ต่างไปจากรูปโฉมโนมพรรณของผู้แต่งแม้แต่น้อย ความว่า


ส.ค.ส.

๏ บัดดิถีปีเก่าคล้อย คลาลับ

ที่หนึ่งจิตรมาศถับ ถั่นตั้ง

จัตวาศกจอนับ ปีใหม่

สองสี่เศษเจ็ดยั้ง เจ็ดสร้อยพุทธกาล

๏ บรรณสารประทีปเอื้อน อวยพร

ทั่วผู้อุปกรณ์ กิจเกื้อ

มีน้ำจิตต์สุนทร ทุกท่าน

ขอจุ่งสพสืบเมื้อ มลากสิ้นศุภผล

๏ ยื่นชนม์พรรณะแผ้ว โรคา

เจริญสุขยิ่งพลา เลิศเรื้อง

ของใดดั่งปรารถนา สบเสร็จ

ห่างสิ่งพิบัติเบื้อง มั่นร้ายคลายจอง

๏ อีกปองลิขิตไหว้ วันทา

คุณพระตรัยรัตนา เทพเจ้า

จงแผ่มหิทธา นุภาพ

ปกปักพิทักษ์เผ้า แผ่นหล้าแหล่งสยาม

๏ สพความผาสุกฟื้น ฟูเมือง

ขอเทศไทยประเทือง เกียรติก้อง

ปราศทุกข์ยุกเข็ญเปลือง ปลดปลอด ไทยนา

ทวยพศกทั่วถิ่นพ้อง โภครื้อเรืองอุดม

๏ สมนามเอกราชแท้ ชาติไทย

สมศักดิ์แห่งมหัยย์ ราชเผ้า

สมบุญเลิศพิลัย พุทธศาสน์

สมบทระเบียบเค้า กฎแท้รัฐธรรม นูญเทอญ

เครือวัณณ์[16]


วรรณรูป ส.ค.ส.รัฐธรรมนูญ (ปฏิทินป๋วย พ.ศ.2566 อ้างอิง https://www.the101.world/honoring-the-constitution-calendar-2023/ )


นางสาวอนงค์ บุนนาค (ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดธนบุรี)


นางสาวอนงค์ บุนนาค


ก่อนหน้าการย่างกรายเข้าพระนครของ ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ ของพระองค์เจ้าบวรเดชเพียงไม่กี่วัน หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 10 ตุลาคม รายงานข่าว นางสาวอนงค์ บุนนาค สมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี พร้อมภาพถ่ายที่ไม่ใคร่คมชัดนัก โดยรายงานว่า

“ทราบว่าเมื่อวันที่ 26 เดือนก่อนได้มีการประชุมผู้สมัครรับเลือกตั้งเปนผู้แทนตำบลในจังหวัดธนบุรีประมาณ 150 คน ณ บ้าน ‘สุภาพ’ นางสาวอนงค์ บุนนาค ซึ่งยื่นสมัครเปนผู้แทนราษฎรธนบุรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการบำรุงจังหวัดธนบุรีโดยยืดยาว เปนหัวข้อสำคัญ 6 ประการ ตอนหนึ่งนางสาวอนงค์กล่าวว่า ‘แลข้าพเจ้าเห็นว่าสตรีไทยก็ควรเปนผู้นำเกียรติยศของชาติไทยให้เชิดชูชาติไทยของเราได้บ้าง ข้าพเจ้าขอหารือท่านที่มีหวังเปนผู้แทนตำบลทั้งหลายที่มาในที่นี้ทั่วกันว่า เมื่อท่านเห็นว่าในระหว่างผู้แทนราษฎรเต็มจำนวน 76 คนนั้นเปนชายไปเสียหมด ควรต้องมีสตรีไทยให้เปนผู้นำเกียรติของสตรีสยามทั้งหลายไว้สักคนหนึ่ง เมื่อท่านทั้งหลายมา ณ ที่นี้เห็นควรให้มีสตรีด้วยข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะสมัครเปนผู้แทนราษฎร และร้องเรียนต่อรัฐบาลตามหลัก 6 ข้อที่กล่าวมาแล้ว”[17]

ภายหลังที่เธอไม่ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส. นางสาวอนงค์ บุนนาค ได้เขียนบทความ ‘ภาพปริศนา และ กำเนิดรัฐธรรมนูญประเทสยุโรป เอเซีย (สยาม)’ ในหนังสือ ‘เทอดรัฐธรรมนูญ’[18] ที่จัดพิมพ์จำหน่ายในงานรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2476 อันถือเป็นปีที่จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นการปราบกบฏสดๆ ร้อนๆ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นางสาวอนงค์ได้เขียนสนับสนุนรัฐบาลในกรณีนี้ไว้ว่า

“เจ้าบวรเดชเกลี้ยกล่อมหลอกลวงใช้อำนาจทหารเพ็ชร์บุรี อยุธยา. วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 เจ้าบวรเดชระดมทหารจังหวัดนครราชสีมาให้มาตั้งทัพที่เหนือคลองบางเขน ทัพใหญ่อยู่ดอนเมือง ฯลฯ ทหารฝ่ายรัฐบาล มีนายพันโทหลวงพิบูลย์สงครามเปนผู้บังคับการกองผสม ได้รุกทหารฝ่ายกบฏขึ้นไปถึงจังหวัดนครราชสีมา อุบล ฯลฯ เจ้าบวรเดชกับพวกหนีข้ามเขตต์แดนเข้าไปยังอินโดจีน สิ้นการปราบกบฏภายใน 2 สัปดาห์ รัฐบาลได้ชัยชนะ.”

และเธอได้กล่าวปิดท้ายเทิดทูน 4 สถาบันหลักของชาติขณะนั้นเช่นเดียวกับนางสาวมยูรไว้ว่า

“วันที่ 8-9-10-11-12 ธันวาคม พ.ศ.2476 ธันวาคม พ.ศ.2476 บรรจบรอบปี รัฐบาลได้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญวันนี้แล้ว ซึ่งเปนมหามงคลของประชาราษฎร ชาวไทยให้บังเกิดความปีติยินดีโดยทั่วกัน ข้าพเจ้าขอให้ประชาชนชาวสยามที่อยู่ในศักราชพระสาสนาทั่วหล้าทุกหมู่เหล่า จงมีความสามัคคีธรรมสุขสำราญ รักประเทศ ชาติ สาสนา พระมหากษัตริย์ เทอดทูนรัฐธรรมนูญไว้เปนมิ่งขวัญของชาติไทยต่อไปเทอญ.


ปกหนังสือเทอดรัฐธรรมนูญหลังกบฏบวรเดช พ.ศ.2476


อนึ่ง หนังสือที่ระลึกฉบับนี้ยังรวบรวมงานเขียนเทิดทูนวีรชนของฝ่ายรัฐบาลจากชัยชนะที่มีต่อคณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) รวมถึงเรื่องสั้นจากปลายปากกาของ ‘ศรีบูรพา’ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง ‘ลาก่อนรัฐธรรมนูญ’


นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส.จังหวัดธนบุรีคนแรก


ผู้ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดธนบุรีปีนั้นคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ.2442-2514) ส.ส.ท่านนี้ต่อมาริเริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ จนสำเร็จมีรัฐพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 ก่อนที่ในปีถัดมาจะขึ้นปราศรัย ‘ไฮด์ปาร์ค’ เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์การเมือง และในท้ายที่สุดสละเรือน ออกบวชเป็นพระภิกษุจนวาระสุดท้ายของชีวิต[19]


ปิดท้าย


รัฐนาวาภายใต้การนำของพระยาพหลพลพยุหเสนาสิ้นสุดวาระลงเมื่อ พ.ศ.2480 จึงมีการจัดการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรกของประเทศสยาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 แต่ก็ยังคงไร้ซึ่งสุภาพสตรีได้รับเลือกเข้าไปทำงานในรัฐสภา จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2492 จึงได้ ส.ส.สตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย เธอผู้นั้นคือ อรพิน ไชยกาล[20] ภริยาของ ส.ส.คนดังท่านหนึ่งที่ได้รับการเลือกตั้งทุกครั้งจากจำนวน 7 สมัยในยุคสมัยของผู้นำคณะราษฎรนี้ ผู้นั้นคือ ‘เลียง ไชยกาล’ แห่ง จ.อุบลราชธานี


นางอรพิน ไชยกาล ส.ส.สตรีคนแรกของประเทศไทย


บทความชิ้นนี้ผู้เขียนประสงค์เพียงเพื่อเติมต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ประกอบประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศไทยอันเป็นวาระรำลึกครบ 90 ปี นับแต่ปฐมกาลเมื่อปลาย พ.ศ.2476 จวบจนถึงอนาคตกาลอันใกล้ที่กำลังจะบังเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 นี้


อดีตนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อคราวเลือกตั้งซ่อมจังหวัดพระนคร พ.ศ.2483




[1] ดวงประทีป ปีที่ 3 เล่มที่ 22 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2477, น.3.

[2] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัยเรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม เสนอต่อ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า กันยายน พ.ศ.2464, น.35.

[3] ประชาชาติ วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ปีที่ 2 ฉบับที่ 345, น.3.

[4] ใหม่ รักหมู่ และ ธวัชชัย ไพจิตร, บันทึก 25 นักการเมือง วิเคราะห์การเลือกตั้งในไทย, พ.ศ.2522, (นพรัตน์), น.8-9.และ ดู สนิท เจริญรัฐ นักหนังสือพิมพ์ นักประชาสัมพันธ์ นักการเมือง, น.81.

[5] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัยเรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม เสนอต่อ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า กันยายน พ.ศ.2464, น.87.

[6] ประชาชาติ วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ปีที่ 2 ฉบับที่ 346, น.1.

[7] ประชาชาติ วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2476 ปีที่ 2 ฉบับที่ 360, น.2.

[8] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัยเรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม เสนอต่อ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า กันยายน พ.ศ.2464, น.110,

[9] ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 88 ตอน 144 (21 ธันวาคม 2514), น.816-819.

[10] ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอน 190 (13 ธันวาคม 2515), 187-201.

[11] อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (8 มีนาคม พ.ศ. 2561), การเลือกตั้งครั้งแรก! กับ สตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วมทางการเมือง จุดเชื่อมต่อ https://thematter.co/thinkers/women-first-election/

[12] เงินตรานะโม ความเชื่อ หลักฐาน และการพิสูจน์จริงปลอม ดู https://www.facebook.com/klubnakorn/posts/2929049700714454/?locale=th_TH

[13] 1 ปีแรก พ.ศ.2474-2475 ออกเป็นรายปักษ์ วันที่ 11 และ 21 ของทุกเดือน จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเริ่มเสริมเนื้อหาที่เป็นการเมืองมากขึ้นและจัดพิมพ์เป็นรายสัปดาห์เมื่อขึ้นปีที่ 2

[14] ดวงประทีป, ปีที่ 3 เล่ม 3 วันที่ 19 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476, 4 หน้าแทรกระหว่าง หน้า 8 และ หน้า 9.

[15] ประวัติครู 16 มกราคม พ.ศ.2505, (โรงพิมพ์คุรุสภา), น.173-186.

[16] ดวงประทีป ปีที่ 3 เล่มที่ 22 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2477, น.2-3.

[17] หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2476 ปีที่ 2 ฉบับที่ 305, น.5.

[18] หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), เทอดรัฐธรรมนูญ, พ.ศ.2476, (สยามพณิชยการ), น.232-239.

[19] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ชีวิตอุทิศแด่ “พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และ พระนิพพาน” ส.ส.พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ.2442-2514), ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2561), น.122-151. และ ดู “ทองอยู่ พุฒพัฒน์” อดีตส.ส.เลื่องชื่อ ตำนานโต้โผไฮด์ปาร์ค-อดข้าวประท้วงรัฐบาลจอมพล ป. จุดเชื่อมต่อ https://www.silpa-mag.com/history/article_88899

[20] นรนิติ เศรษฐบุตร, อรพิน ไชยกาล จุดเชื่อมต่อ http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=อรพิน_ไชยกาล

หมายเหตุ : บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย นางสาวสุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save