fbpx

ทำไมนักวิจัยโกง?

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจจะได้เห็นหรือได้ยินข่าวคราวเรื่องการโกงของอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยในสถาบันวิจัย ด้วยการจ่ายเงินเพื่อให้ชื่อตัวเองเข้าไปอยู่ใน ‘เปเปอร์’ หรือผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ได้มีส่วนร่วมทำอะไรด้วยเลยแม้แต่น้อย 

เรื่องนี้สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะผิดจริยธรรมร้ายแรง พื้นฐานของการเผยแพร่ความรู้ใหม่หรือผลงานวิจัยใหม่ที่เพิ่งค้นพบ มีสมมติฐานหลักของคนในวงการคือ สิ่งที่อ้างไว้ในเปเปอร์ผ่านการทำวิจัยมาจริง โดยคนที่มีชื่อปรากฏในเปเปอร์นั้นๆ 

ผลงานนั้นๆ อาจจะถูกหรือผิด คำว่า ‘ผิด’ ในที่นี้ เช่น ได้ผลสรุปจากการทดลองผิด เพราะทำการทดลองไม่รัดกุมมากพอ หรือผู้ทำมีความรู้เรื่องสถิติไม่มากพอ ทำให้ตีความผลการทดลองผิดพลาดไปด้วย เรื่องแบบนี้เป็นความขัดข้องทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

แต่จะต้องไม่ใช่ผลงานที่ตีพิมพ์อย่างไม่ซื่อสัตย์ในรูปแบบต่างๆ  

การฉ้อโกงในทางวิทยาศาสตร์มีได้หลายรูปแบบ แต่แบ่งได้เป็นแบบใหญ่ๆ รวม 3 แบบ[1] คือ แบบแรกเรียกว่า plagiarism หรือที่ราชบัณฑิตสภากำหนดศัพท์บัญญัติให้ใช้แทนว่า ‘การลอกเลียนข้อมูล หรือการลอกเลียนวรรณกรรม หรือการโจรกรรมทางวรรณกรรม’ ซึ่งได้แก่ การนำผลงานของคนอื่นมาใช้ โดยไม่ระบุหรืออ้างอิงแหล่งที่มา ทำเสมือนว่าตนเองเป็นผู้สร้างสรรค์และทำผลงานนั้นขึ้นเอง   

แบบที่ 2 เรียกว่า falsification data หรือ ‘การปลอมแปลงข้อมูล’ หรือการสร้างข้อมูลที่ผิดความเป็นจริงหรือเป็นเท็จ หรือแก้ไขข้อมูลจริงให้ผิดไป เช่น ตัดบางออกหรือเติมบางค่าเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ตรงตามสมมติฐานหรือทฤษฎีที่ต้องการ

และแบบสุดท้ายเรียกว่า fabrication หรือการแต่งหรือสร้างข้อมูลปลอม บางทีก็หนักข้อขนาด ‘มโน’ เปเปอร์ขึ้นทั้งฉบับ โดยไม่ได้ทำการทดลองหรือทดสอบใดๆ ทั้งสิ้น ในวงการมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘การทำแล็บแห้ง (drylabbing)’ ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกับที่คนไทยใช้กัน เพราะคนไทยมักใช้คำว่า ‘แล็บแห้ง’ ในความหมายว่า ทำนายผลการทดลองในชั้นเรียนที่ไม่มีโอกาสทำจริงๆ เช่น ทำแล็บเคมีแบบที่สถาบันศึกษาไม่มีห้องทดลองเคมีหรือไม่มีเงินซื้อสารเคมีให้ทดลอง จึงอ่านวิธีการทดลองและใช้ความรู้ทางทฤษฎีในการคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น  

อันที่จริงยังมีการโกงข้อมูลอีกหลายแบบ เช่น การออกแบบวิธีการทดลองใหม่ตามคำขอของผู้ให้ทุนการวิจัย หรือการปกปิดข้อมูลไม่แจ้งไว้ในเปเปอร์ว่า ได้รับเงินทุนจากผู้สนับสนุนที่อาจเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น การทดลองเกี่ยวกับผลกระทบจากควันบุหรี่ที่ได้ทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ ฯลฯ 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ขออธิบายวงจรการวิจัยและตีพิมพ์สักเล็กน้อย 

เริ่มจากการที่นักวิจัยคิดสร้างสมมติฐานหรือทฤษฎีที่เชื่อว่า มีความสำคัญและมีประโยชน์สำหรับมนุษยชาติขึ้นมาสักอย่าง แล้วก็เขียนไปขอเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานให้ทุนที่ไหนสักแห่งที่มีขอบเขตการให้ทุนใกล้เคียงกับเรื่องที่จะทำ เมื่อได้ทุนมาแล้วก็ทำการทดลอง เมื่อเสร็จสิ้นจึงสรุปผลการทดลองเขียนเป็น ‘เปเปอร์’ ขึ้นมาสักฉบับ แล้วส่งไปยังวารสารที่เหมาะสมเพื่อตีพิมพ์  

เมื่อทางบรรณาธิการของวารสารได้รับเปเปอร์นั้นไว้แล้ว ก็จะหาคนในสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงมาอ่านคัดกรอง เรียกคนทำหน้าที่นี้ว่า รีวิวเวอร์ (reviewer) ซึ่งมักจะมีอย่างน้อย 2–3 คน โดยให้ความเห็นว่า เปเปอร์นั้นตรงกับขอบเขตวารสารนั้นเพียงใด เป็นความรู้ใหม่ที่เหมาะสมพอจะยอมรับให้ตีพิมพ์ได้หรือไม่ หรือควรทดลองเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ชัดเจนมากขึ้น

การตีพิมพ์ผลงานหรือเปเปอร์ดังกล่าว ถือเป็น ‘หน้าที่’ หนึ่งของนักวิจัยทั่วโลกที่ถือปฏิบัติกัน เป็นการแบ่งปันข้อมูลความรู้เพื่อให้คนอื่นได้ต่อยอดความรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ ดังคำพูดที่มักอ้างกันว่าคนกล่าวคือ ไอแซก นิวตัน ประโยคนั้นคือ “การที่เรามองไปข้างหน้าได้ ก็เพราะเรายืนอยู่บนไหล่ยักษ์” 

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศไทยจำนวนมาก จึงมักให้ค่ากับการตีพิมพ์เปเปอร์ใน ‘วารสารชั้นนำ’ เช่น Nature หรือ Science หรือวารสารอื่นๆ ที่มีค่า impact factor สูงๆ ซึ่งเป็นค่าที่อ้างอิงจาก ‘น้ำหนักความสำคัญ’ ของวารสารนั้น โดยดูจากการที่มีคนนิยมอ้างอิงเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด 

วารสารใดเก่าแก่มีชื่อเสียงมาก มีมาตรฐานการคัดกรองสูง ก็มักมีค่า impact factor สูงไปด้วย   

จะเห็นได้ว่าเปเปอร์แต่ละฉบับ จะต้องผ่านการยืนยัน ‘ความโปร่งใส’ โดยเริ่มจากผู้ที่มีชื่อร่วมในฐานะ ‘ผู้เขียนร่วม’ ต้องช่วยกันดูและตรวจสอบข้อมูลว่าเกิดจากการทดลองจริง จากนั้นผู้เชี่ยวชาญคนอื่นในวงการเดียวกันที่มาช่วยอ่านทบทวน ดูความเป็นไปได้ทางทฤษฎีเป็นด่านที่ 2 โดยทั้ง 2 ขั้นตอนนั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า สิ่งที่ระบุไว้ในเปเปอร์นั้นต้องผ่านการทำวิจัยมาจริงและไม่ได้มั่วขึ้นมาเอง 

การที่มีข่าวคนประกาศจะรับใส่ชื่อลงในเปเปอร์ โดยคิด ‘ค่าป่วยการ’ นั้น จึงถือเป็นการผิดจริยธรรมร้ายแรง และการที่มีคนไทยเข้าไปเอี่ยวด้วยในเรื่องแบบนี้ จึงถือเป็นเรื่องน่าอดสูอย่างยิ่ง   

แต่ถึงรู้อย่างนี้ก็ยังมีคนไทยและคนทั่วโลกที่ทำเรื่องทำนองนี้อยู่ แสดงว่ามี ‘แรงจูงใจ’ บางอย่างอยู่แน่ๆ คำถามสำคัญคือ อะไรกันแน่ที่เป็นแรงจูงใจ? จะมีทางป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นได้หรือไม่?

ลองมาดูตัวอย่างสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์และสถิติการโกงในอดีตกันก่อนครับ 

วันที่ 20 มกราคม 2006 วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Science มีประกาศ ‘ถอน (retract)’ เปเปอร์ที่มีชื่อเสียงของนักวิจัยเกาหลี อู ซุก ฮวัง (Woo Suk Hwang) ที่ได้รับการอ้างอิงมากมาย[2] อันที่จริงเขากลายเป็นฮีโร่ของประเทศเกาหลีที่มีรูปบนแสตมป์ด้วยซ้ำไป!  

เพียง 2 ปีก่อนหน้านี้ ฮวังได้รับชื่อเสียงในฐานะเป็นคนที่โคลนเอ็มบริโอมนุษย์ได้เป็นคนแรก แต่ความจริงก็คือ เปเปอร์ที่ว่าเป็นการมโน แต่งขึ้นทั้งหมด ทั้งวิธีการทดลองและข้อมูลการทดลอง และเขาตีพิมพ์ลงวารสาร Science ถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่ละครั้งได้รับเงินก้อนโตจากสถาบันที่ทำงานอยู่เป็นผลตอบแทนที่ผลิตเปเปอร์ระดับดีมากขนาดนั้นได้   

แต่แค่ 2 เปเปอร์ ที่ได้ลงในวารสารชั้นนำระดับโลกก็ยังถือว่าน้อยอยู่ อันที่จริงแม้จะพยายามตรวจสอบกันอย่างรัดกุมแล้ว แต่วารสาร Nature และ Science ยังมีการประกาศถอนเปเปอร์ฉ้อฉลที่จับได้รวมกัน 16 เปเปอร์ใน 2 ปี (2002–2003) โดยทั้งหมดนั้นมีชื่อนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันคนหนึ่งคือ แจน เฮนดริก ชอน (Jan Hendrick Schön) ร่วมเป็นชื่อผู้เขียนหรือไม่ก็เป็นรีวิวเวอร์อยู่[3]  

ในปี 2001 เขาเคยมีเปเปอร์ตีพิมพ์ถี่ถึง 1 ฉบับในทุก 8 วัน โดยทั้งหมดนั้นรอดหูรอดตาคนที่เกี่ยวข้อง และหลบรอดช่องโหว่ของระบบไปได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว  

แต่สถิติมีไว้ทำลาย ในปี 2011 นักไวรัสวิทยาชาวญี่ปุ่นชื่อ นาโอกิ มอริ (Naoki Mori) ทำสถิติโดนถอนเปเปอร์จำนวน 28 เปเปอร์ และแพทย์ชาวเยอรมัน โยอาชิม โบลดต์ (Joachim Boldt) ทำสถิติระดับยากทำลายไว้ที่ 69 เปเปอร์[4]  

มีงานวิจัยที่ชี้ว่ามีการถอนเปเปอร์มากขึ้นจริง เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของทั้งคนทำวิจัยและสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่เปลี่ยนไป 

จากการศึกษาเปเปอร์จำนวน 2,047 ฉบับที่มีการถอนออกไป พบว่าเฉลี่ยแล้วกว่าจะตรวจพบความฉ้อฉลได้ใช้เวลา 32.9 เดือน (หรือเกือบ 3 ปี) แต่หากนับเฉพาะที่ตีพิมพ์ก่อนปี 2002 ใช้เวลาถึง 49.8 เดือน (หรือมากกว่า 4 ปีเล็กน้อย) 

ขณะที่หลัง ปี 2002 เป็นต้นมา ใช้เวลาลดลงเหลือ 23.8 เดือน (หรือราว 2 ปี)

จึงน่าจะเป็นสัญญาณเตือนที่ดีสำหรับคนที่คิดจะโกงโดยใช้ทางลัดลงสู่นรกเส้นนี้ว่า ยุคนี้โดนจับได้เร็วกว่าแต่ก่อน และเมื่อถูกจับได้แล้วก็จะเท่ากับหมดอนาคตในวงการนี้ก็ว่าได้ คล้ายกับกรณีแพทย์โดนยึดใบประกอบโรคศิลปะ     

อย่างไรก็ตาม เปเปอร์คอร์รัปชันพวกนี้ถือว่าหายากในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะหากนับตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา ท่ามกลางเปเปอร์จำนวนมากกว่า 21 ล้านฉบับที่ตีพิมพ์กันในวารสารหลายพันหรือนับหมื่นชื่อ มีแค่เพียงมากกว่า 1,000 ฉบับเล็กน้อยเท่านั้นที่โดนจับได้ว่าทำผิดจริยธรรมและต้องถอนออกจากสารบบ[5]

การประกาศถอนเปเปอร์ดังกล่าวมีความหมายว่า ให้ทำเสมือนไม่เคยมีเปเปอร์ดังกล่าวตีพิมพ์ และห้ามอ้างอิงใดๆ อีกต่อไป 

แน่นอนว่าอาจมีคนคิดว่า ต้องมีอีกจำนวนหนึ่งแน่ๆ ที่ยังเล็ดรอดหลุดไปได้ ไม่โดนจับ แต่ก็ไม่น่าจะมากเป็นสิบเท่าแน่ แม้จะโกงกันถึง 10,000 ฉบับก็ยังน้อยมากหากเทียบกับ 21 ล้านฉบับ (ไม่ถึง 0.05%)   

คนในวงการวิทยาศาสตร์รู้ดีว่า การโกงแบบนี้ไม่มีทางจบลงด้วยดีแน่อยู่แล้ว ไม่คุ้มกับความเสี่ยงเลย แต่กระนั้นก็ยังมีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่ทำเช่นนี้อยู่–ทำไม? โดยเฉพาะรายที่ทำซ้ำๆ หลายสิบเปเปอร์ 

การแข่งขันที่สูงเพื่อชื่อเสียง ผลตอบแทน และอนาคต รวมทั้งกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การสร้างผลงาน เพื่อให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้หรือได้เลื่อนตำแหน่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเลือกทำตัวเป็นพวกขี้โม้ ต้องคอยคุยโอ่เรื่องผลงาน ต้องเล่นการเมืองในที่ทำงาน และใช้เส้นสายในการหาทุน ทั้งหมดนั้นล้วนมีส่วน ไม่มากก็น้อยที่นำไปสู่เส้นทางอัปยศดังกล่าว 

หากสรุปง่ายๆ อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นนักวิจัยก็ยังเป็นปุถุชนที่มีความโลภโกรธหลง และพร้อมจะหลงผิดทำอะไรที่ไม่เข้าท่าอยู่นั่นเอง   

แต่อาจมีนักวิจัยส่วนหนึ่งที่ทำไปด้วยความดื้อรั้น ไม่ยอมรับว่าทฤษฎีที่ตนสนับสนุนอยู่นั้นผิด และต้องเลิกล้ม เพราะงานชั่วชีวิตตั้งอยู่บนสมมติฐานนั้น จนไม่อาจยอมรับความจริงได้ 

บางคนอาจมองเรื่องการพบการฉ้อโกงในวงการวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องแย่ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การค้นพบและจัดการ ‘อย่างเหมาะสม’ เป็นมืออาชีพและเน้นความถูกต้องตามจรรยาบรรณ จะกลับเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับวงการวิจัย และอาจเป็นตัวอย่างให้กับคนในวงการอื่นได้ เพราะอย่างที่เราเห็นกันอยู่ว่า ในหลายวงการนั้นการคอร์รัปชันแทบไม่ได้รับการแก้ไขเลย หากเป็นผู้มีอำนาจหรือเส้นสายเกี่ยวข้องอยู่  

นอกจากนี้ การหาทางอุดช่องโหว่ในระบบ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากขึ้นอีก และการเอาจริงเอาจังของคนร่วมวงการในการร่วมตรวจสอบและดูแลทุกขั้นตอนของการตีพิมพ์ น่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่ต้องคิดหาวิธีปรับปรุงให้มากขึ้นอีก   

ผลลัพธ์จึงขึ้นกับบรรดาผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยยึดถือหลักศีลธรรมจรรยา และทำอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากข้อยกเว้นหรือการเล่นพรรคเล่นพวก หากทำเช่นนี้ได้ ข่าวฉาวแบบนี้ก็อาจจะพอมีประโยชน์กับวงการได้บ้าง

References
1 https://www.enago.com/academy/scientific-misconduct-why-do-researchers-cheat/
2 https://www.science.org/doi/10.1126/science.1124926
3 https://en.wikipedia.org/wiki/Sch%C3%B6n_scandal#Withdrawn_journal_papers
4 https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0068397
5 https://psmag.com/environment/scientists-cheat-nature-fraud-science-68795

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save