fbpx
When Saturday comes : การถ่ายทอดฟุตบอลกับความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและวัฒนธรรมลูกหนัง

When Saturday comes : การถ่ายทอดฟุตบอลกับความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและวัฒนธรรมลูกหนัง

ตฤณ ไอยะรา[1] เรื่อง

เมื่อวันเสาร์มาถึง

ใครที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมป๊อปอังกฤษคงเห็นวลี “เมื่อวันเสาร์มาถึง (When Saturday comes)” ผ่านตามาบ้าง

วลีข้างต้นแฝงนัยยะว่า หลังจากการทำงานในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์อย่างเหน็ดเหนื่อย ก็ได้เวลาพักผ่อนและปลดปล่อยอารมณ์ไปกับเกมฟุตบอลในเวลาบ่ายสามโมงของวันเสาร์ แฟนบอลต่างเข้าสนามบอลหรือผับ (pub – public house) เพื่อเข้าไปชมและเชียร์ทีมรักของตนในวันเสาร์อย่างมุ่งมั่น

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกทั้งใบเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวอังกฤษที่ตื่นเต้นกับการชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแบบสดๆ แต่แฟนบอลในส่วนอื่นของโลกยังซึมซับวัฒนธรรมความบันเทิงของการรับชมการหวดลูกหนังในคืนวันเสาร์ ดังเห็นได้จากการเกิดขึ้นและขยายตัวของผับและร้านอาหารที่ถ่ายทอดเกมฟุตบอลให้ชมกัน แม้แต่กลุ่มคนที่ไม่ได้อินกับเกมลูกหนังจนเกินพอดีจนต้องติดตามการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ หลายคนยังติดเชื้ออาการคลั่งไคล้ “ฟุตบอลโลก” ที่มักถูกเรียกในอีกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “การแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนพิภพ (the greatest show on earth)” จนยอมอดหลับอดนอนดูการแข่งขันของนักเตะจากทวีปต่างๆ

ทำไมการชมการถ่ายทอดฟุตบอลจากพื้นที่ห่างไกลในช่วงสุดสัปดาห์ (หรือกลางสัปดาห์) ที่เดิมเป็นวิถีชีวิตของชาวตะวันตกจึงกลายสภาพเป็นวัฒนธรรมร่วมของโลกไปได้?

การสถาปนาสถานะความเป็นวัฒนธรรมบันเทิงโลกของการชมฟุตบอลมีจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงเวลาไหน?

การขยายตัวของการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเกมลูกหนังอย่างไร?

ผู้เขียนพยายามใช้คำถามในการชวนถกกับผู้อ่านถึงวิวัฒนาการและแรงสะเทือนของการเป็นวัฒนธรรมของเกมฟุตบอล โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดการแข่งขันที่เป็นการก่อรูปกิจกรรมร่วมกันข้ามพื้นที่ภายในช่วงเวลาเดียวกัน

 

เมื่อวัฒนธรรมฟุตบอลเดินทางไปรอบโลก

วัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบอันเป็นช่วงเวลาของการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนข้ามชาติที่ขับเคลื่อนด้วยรัฐมหาอำนาจ โดยเฉพาะจักรวรรดิอังกฤษ สุภาพบุรุษชาวอังกฤษทั้งที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้จัดการ กะลาสี รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน เป็นกลุ่มคนที่สาธิตการเตะลูกหนังให้กับคนพื้นเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จนพวกเขาเหล่านั้นเกิดแรงบันดาลใจในการเตะลูกหนังและดัดแปลงสไตล์การเตะให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมมากขึ้น

กรณีอันน่าสนใจคือ อาร์เจนติน่า ที่ผู้คนในท้องถิ่นเรียนรู้ฟุตบอลจากสโมสรกีฬาที่ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษ และทำการพัฒนาสไตล์การเล่นให้ขับเน้นความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้น ใส่ความสนุกสนานและอารมณ์ร่วมเข้าไปในการเล่นมากขึ้น ฟุตบอลที่เป็นวัฒนธรรมนำเข้าจากต่างประเทศจึงกลายสภาพเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของสังคมอาร์เจนติน่าไปโดยปริยาย ดังเห็นได้จากการใช้ศัพท์ในการเต้นแทงโกอย่าง “Enganche” เรียกชื่อผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุกหลังกองหน้า

ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลนำไปสู่วัฒนธรรมการรับชมเกมการแข่งขัน เพราะกลุ่มผู้ชมฟุตบอลเกิดความรู้และความความเข้าใจในกติกาและวิธีการเล่นของเกมลูกหนังจนสามารถซึมซับความตื่นเต้นและสวยงามของกีฬาประเภทนี้ได้

เฉกเช่นเดียวกับการนำเข้าการเล่นฟุตบอล การถ่ายทอดการแข่งขันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกมลูกหนัง โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดเกมลูกหนังระดับนานาชาติที่แพร่หลายไปยังหลายประเทศ

กรณีที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกิจกรรมข้างต้นในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกมฟุตบอล คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก นับตั้งช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ

 

เมื่อธุรกิจการถ่ายทอดสดเปลี่ยนวัฒนธรรมฟุตบอล

บทความเรื่อง “When Football Went Global: Televising the 1966 World Cup” ของ Chisari บรรยายว่า การถ่ายทอดฟุตบอลครั้งแรกเกิดขึ้นในการแข่งขันในปี ค.ศ. 1954 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเทคนิคของการถ่ายทอดการแข่งขันจากภาพขาวดำเป็นภาพสีเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1970 ณ ประเทศเม็กซิโก

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2002 ณ ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีประเทศที่รับชมการถ่ายทอดทั้งสิ้น 213 ประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าประเทศที่มีสถานะสมาชิกภาพขององค์กรสหประชาชาติในขณะนั้นเสียอีก

กระนั้นก็ตาม Chisari กล่าวว่า ฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 1966 เป็นจุดเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการขยายตัวของการถ่ายทอดที่มีต่อวัฒนธรรมฟุตบอลในภาพรวม เพราะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนสภาพเกมลูกหนังจากการแข่งขันกีฬาให้เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัวมากขึ้น อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจสื่อและองค์กรกำกับดูแลเกมฟุตบอล พร้อมไปกับความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมฟุตบอลที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจประเภทใหม่

การขยายตัวของการถ่ายทอดเกมฟุตบอล ทำให้ธุรกิจสื่อเข้าไปกดดันหรือมีอิทธิพลต่อการจัดการเกมลูกหนังของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า (FIFA) และฝ่ายหลังพร้อมนำข้อเสนอของฝ่ายแรกเข้ามาพิจารณาหรือปรับเปลี่ยนให้เกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ เพราะการถ่ายทอดเสกสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลให้แก่ทั้งสองฝ่าย ในด้านหนึ่ง การถ่ายทอดนำมาซึ่งรายได้อันน่าดึงดูดให้แก่ฟีฟ่า จากการสนับสนุนของธุรกิจเอกชนและการขายสิทธิ์ในการเป็นผู้ผูกขาดการเผยแพร่ภาพการแข่งขัน และในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจสื่อได้รับผลประโยชน์จากการขายสิทธิ์ในการรับชมให้แก่กลุ่มผู้บริโภคพร้อมกับขายเวลาในการโฆษณาสินค้าและบริการให้กับกลุ่มบรรษัทมากขึ้น

ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการถ่ายทอดสดสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มธุรกิจสื่อและฟีฟ่าบรรลุข้อตกลงในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการแข่งขันและคุณสมบัติของสนามกีฬา เพื่อให้เอื้อกับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากขึ้น เช่น หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่า ในรอบแปดทีมสุดท้ายและสี่ทีมสุดท้าย ฟีฟ่าสามารถจัดการแข่งขันได้ไม่เกินวันละสองคู่และหนึ่งคู่ตามลำดับ เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดการแข่งขันของสองคู่ในเวลาที่ทับซ้อนกัน อันทำให้ธุรกิจสื่อสูญเสียรายได้ เพราะจำนวนผู้ชมในแต่ละเกมลดน้อยลง

การประนีประนอมระหว่างสื่อและฟีฟ่าเห็นได้ชัดเจนในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1966 ที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษรับเป็นเจ้าภาพ โดยสื่อได้ขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่การแข่งขันในบางนัดเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดการแข่งขันในเวลาเดียวกันกับที่ทีมชาติอังกฤษลงเตะ เพื่อไม่ให้สูญเสียรายได้บางส่วนไป หรือตัวอย่างที่ร่วมสมัยขึ้นมาคือ การเปลี่ยนแปลงเวลาของนัดชิงชนะเลิศของการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรป หรือยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก (UEFA Champions League) จากเดิมที่เตะกันในช่วงค่ำคืนกลางสัปดาห์ ให้ทำการฟาดแข้งในช่วงคืนวันเสาร์แทน เพื่อสามารถถ่ายทอดในเวลาที่เข้าถึงกลุ่มแฟนบอลได้อย่างกว้างขวางขึ้น

นอกจากนั้น การสร้างหรือปรับปรุงสนามฟุตบอลที่ใช้ทำการแข่งขัน ต้องไม่คิดถึงเพียงแค่การสร้างประสบการณ์ร่วมของผู้ชมหรือกองเชียร์ แต่ยังต้องติดตั้งอุปกรณ์สร้างความสะดวกให้แก่การถ่ายทอดการแข่งขัน เช่น การสร้างห้องแถลงข่าวสำหรับสื่อมวลชนโดยเฉพาะ หรือการกระจายกล้องโทรทัศน์ไปทั่วสนามฟุตบอล เพื่อทำให้ผู้ชมทางบ้านเห็นการแข่งขันจากมุมมองที่หลากหลายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

การถ่ายทอดได้ขยายขอบฟ้าทางกาละและเทศะของสนามที่ใช้ในการแข่งขันที่เดิม หน้าที่การใช้งานของสนามไม่ได้จำกัดอยู่แค่การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ณ สถานที่นั้นโดยตรง แต่ต้องทำให้ผู้ชมในสถานที่ห่างไกลสามารถรับชมเกมการแข่งขันในเวลาเดียวกันได้อย่างราบรื่นขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น การถ่ายทอดสดยังทำให้สนามมีรายได้จากการขายพื้นที่รอบสนามให้กับการโฆษณามากขึ้น

ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการถ่ายทอดฟุตบอลส่งผลให้ฟีฟ่าเปลี่ยนแปลงตัวเองจากองค์กรส่งเสริมกีฬาลูกหนัง มาเป็นองค์กรธุรกิจมากขึ้น สภาวะแบบนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจาก โจอัว ฮาเวลานจ์ (Joao Harvelange) ได้รับเลือกเป็นประธานฟีฟ่าในปี ค.ศ. 1974 โดยฮาเวลานจ์ ได้สร้างพันธมิตรกับบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง อดิดาส (Adidas) ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาและแฟชั่น และโคคา-โคล่า (Coca-Cola) เจ้าพ่อแห่งตลาดน้ำอัดลม และยังได้ก่อตั้งบริษัท ISL (International Sport and Leisure) เพื่อดูแลการต่อรองรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาและสิทธิในการถ่ายทอด

 

เมื่อฟุตบอลกลายเป็นสินค้า

การถ่ายทอดเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้ากระบวนการทำให้เกมฟุตบอลมีลักษณะเชิงพาณิชย์ (commercialization) อย่างเข้มข้นขึ้น

การปรับตัวด้านธุรกิจของฟีฟ่านำมาซึ่งการสรรเสริญและคำสาปแช่งสู่องค์กร ในด้านหนึ่ง รายได้ที่เพิ่มขึ้นช่วยทำให้ฟีฟ่ามีทรัพยากรในการส่งเสริมกิจกรรมฟุตบอล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมลูกหนังในระดับเยาวชน ดังเห็นได้จากการเริ่มต้นจัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลกในระดับอายุต่างๆ ในอีกด้านหนึ่ง ผลประโยชน์อันมหาศาลเป็นเมล็ดพันธุ์ของความฉ้อฉล (corruption) นานับประการในฟีฟ่า อันนำไปสู่การบั่นทอนคุณค่าขั้นพื้นฐานขององค์กรแห่งนี้

ในขณะเดียวกัน การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลในวงการฟุตบอล ทั้งผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างนักเตะและผู้จัดการทีม และผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อมอย่างแฟนบอล

Chisari บรรยายในบทความของเขาว่า เมื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1966 ดำเนินไปถึงช่วงท้ายของการแข่งขัน ความแตกต่างระหว่างสัดส่วนผู้ชมสุภาพบุรุษกับผู้ชมสุภาพสตรีลดลงจากการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มแม่บ้านเริ่มซึมซับวัฒนธรรมฟุตบอล โดยเฉพาะศัพท์เทคนิคของการเล่น จากการชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ การถ่ายทอดทำให้กีฬาฟุตบอลมีความ “สากล” มากขึ้นไปอีก เนื่องจากสามารถนำผู้หญิงที่ไม่ใช่กลุ่มคนดูดั้งเดิมมาสนุกกับเกมได้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ชมที่เป็นผู้หญิงมีนัยยะว่า ธุรกิจสื่อสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกลุ่มลูกค้าผู้หญิงกลุ่มใหม่ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้รับค่าเช่าเวลาโฆษณาจากผู้ผลิตสินค้าเพื่อผู้หญิง

สำหรับนักฟุตบอล การถ่ายทอดทำให้มุมมองต่อพวกเขาเปลี่ยนจาก “นักกีฬา” ที่มีตัวตนเฉพาะในวันแข่งขัน มาเป็น “มนุษย์ธรรมดา” (human being) มากขึ้น เพราะโทรทัศน์ไม่ได้เพียงแค่แสดงภาพของการฟาดแข้งในสนาม แต่ยังจัดรายการแสดงความเห็น (commentary) ที่ฉายภาพชีวิตประจำวันในฐานะคนเดินดินของนักฟุตบอลและผู้จัดการทีมในมิติต่างๆ เช่นครอบครัวและสถานภาพทางการสมรส หรือรูปแบบการรับประทานอาหาร

การเผยให้ถึงมิติชีวิตส่วนตัวของนักเตะอาชีพเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรม “การแห่แหนผู้ที่มีชื่อเสียง (celebrity)” ในวงการฟุตบอล จากเงื่อนไขข้างต้น ชื่อเสียง (ทั้งในด้านดีและเลว) ของผู้เล่นและผู้จัดการทีมไม่ได้มาจากวีรกรรมในสนามเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับพฤติการณ์ส่วนตัวนอกสนามหญ้าอีกด้วย

การเปลี่ยนนักเตะจากนักกีฬาอาชีพไปเป็นดาราบนสนามหญ้ายังทำให้ตัวนักฟุตบอลต้องคำนึงถึงการจัดการด้านธุรกิจของตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะรายได้ของพวกเขาไม่ได้มาจากค่าจ้างและโบนัสของสโมสรหรือหน่วยงานที่พวกเขาสังกัดเพียงอย่างเดียว พวกเขาต้องจัดการรายได้เสริมจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าที่ครอบคลุมหลากหลายตั้งแต่รองเท้าฟุตบอลไปจนถึงรถกระบะ ปรากฏการณ์ข้างต้นสร้างความไม่พอใจให้กับกูรูลูกหนังบางส่วนที่แสดงความเห็นว่า วัฒนธรรมแห่แหนคนดังทำให้คุณค่าเกมลูกหนังลดทอนลงไป เพราะในหลายครั้ง ชีวิตนอกสนามนำไปสู่ความเสื่อมถอยของการแข่งขันในสนาม

ถึงแม้ว่า การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลอาจมอบสิ่งไม่พึงประสงค์ให้แก่เกมลูกหนังบางประการ แต่มันช่วยทำให้ฟุตบอลมีสถานะเป็นภาษาสากลที่เอื้อให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักและรับรู้ถึงดินแดนที่ห่างไกลจากชีวิตประจำพวกเขา เพราะถ้าไม่มีการแพร่ภาพฟุตบอลโลก ประชาชนชาวไทยจำนวนมากคงไม่รู้จักประเทศที่ไม่มีบทบาทในการเมืองโลกอย่างแคเมอรูน เซเนกัล โรมาเนีย บัลแกเรีย ปารากวัย เอกวาดอร์ คอสตาริกา ฮอนดูรัส

ในท้ายที่สุด การถ่ายทอดสดฟุตบอลทำให้เราเห็นว่า เกมลูกหนังไม่ได้อยู่ในปริมณฑลของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นกิจกรรมประการหนึ่งที่ก่อรูปและถูกก่อรูปจากระบบเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่

 

อ้างอิง

Chisari, F. (2006). When Football Went Global: Televising the 1966 World Cup. Historical    Research. 31 (1), pp. 42 – 54.

Radnedge, K. (2016). Joao Harvelange Leaves Behind a Huge Legacy and a Tainted Reputation. Accessed 30 April 2017.

Vickery, T. (2012). For Better or Worse? How Havelange’s Global Vision

Wilson, J. (2016). Angels with Dirty Faces: The Footballing History of Argentina. London: Orion

 

[1] นักเรียนทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่จดจำชื่อนักเตะ ผู้จัดการ และประวัติศาสตร์ฟุตบอล ได้แม่นกว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save