fbpx

หวั่นใจชำรุด มนุษย์ต่างดาว: จักรวาลแสนกว้างใหญ่ แล้วเมื่อไหร่เอเลียนจะติดต่อเรามาสักที

“มีอยู่สองความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นจริง คือมีเพียงพวกเราเท่านั้นที่อยู่เพียงลำพังในจักรวาลนี้ กับอีกอย่างคือ -เราไม่ได้อยู่เพียงลำพังอย่างที่ว่า แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ล้วนน่าสะพรึงกลัวทั้งสิ้น” อาเธอร์ ซี คลาร์ก นักเขียนวรรณกรรมไซ-ไฟเลื่องชื่อจาก The Sentinel (1951) และ 2001: A Space Odyssey (1968) เคยกล่าวไว้เช่นนั้น

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปี ประเด็นเรื่องสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกหรือมนุษย์ต่างดาวก็ดูเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของมนุษย์อยู่เนืองๆ ยิ่งในเดือนที่ผ่านมานี้ที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งเผชิญหน้ากับวัตถุบินได้ลึกลับแถบน่านฟ้าอเมริกาเหนือ ส่วนญี่ปุ่นก็เพิ่งพบลูกบอลเหล็กปริศนาระบุที่มาไม่ได้ เกยตื้นอยู่บนชายหาด ท่ามกลางความเป็นไปได้มากมายที่หลายคนลองเสนอความเห็น พ้นไปจากเรื่องการเป็นวัตถุสอดแนมจากนานาประเทศ หรือขยะกองใหญ่จากทะเล คือเรื่องที่ว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเป็นชิ้นส่วนจากยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตนอกโลกก็เป็นได้!?

เอ็นริโก เฟอร์มี นักฟิสิกส์ชาวอิตาเลียน เคยตั้งคำถามสำคัญไว้ตั้งแต่ปี 1950 ว่า ในบรรดากาแล็กซีทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก และดวงดาวจำนวนมหาศาลที่ล่องลอยอยู่ท่ามกลางกาแล็กซีเหล่านี้ รวมทั้งดาวเคราะห์ที่โคจรวนเวียนรอบดาวฤกษ์ สร้างสภาพแวดล้อมในลักษณะเดียวกับที่โลกอุบัติขึ้นเมื่อสี่พันล้านปีก่อนเคยทำไว้ -แล้วสิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่นไปอยู่เสียที่ไหนหมด 

ในเวลาต่อมา ข้อคำถามนี้ของเฟอร์มีก็ถูกเรียกในนาม ‘ข้อขัดแย้งของเฟอร์มี’ (Fermi Paradox) หรือคือการตั้งคำถามต่อประเด็นที่ว่า หากมองตามความเป็นไปได้แล้ว ย่อมมีโอกาสสูงมากที่เอกภพนี้จะยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอีก หากแต่ข้อขัดแย้งที่ตามมาคือ เหตุใดมนุษยชาติจึงยังไม่เคยพบปะมนุษย์ต่างดาวตัวเป็นๆ เลย

การพยายามหาหลักฐานและเหตุผลมาตอบข้อขัดแย้งของเฟอร์มีก็สนุก นักวิทยาศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่า ก็เป็นไปได้ที่มนุษย์ต่างดาวจะมีอยู่จริง แต่ก็เป็นไปได้อีกเช่นกันที่อารยธรรมหรือเทคโนโลยีของพวกเขาเหล่านั้นจะยังไม่พัฒนาจนสามารถข้ามดวงดาวหรือกาแล็กซีมาเพื่อสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีฟ้าได้ หรือไม่ก็อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมไล่เลี่ยกัน และต่างก็ยังไม่มีใครหาทางเดินทางข้ามกาแล็กซีเพื่อติดต่อกันและกันได้ ไปจนถึงอีกระดับ คือมนุษย์ต่างดาวล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิกว่าเรา และเป็นผู้ปกครองเราอยู่เนืองๆ

ภาพถ่ายติดวัตถุบินได้ปริศนาที่นิวเจอร์ซีย์, สหรัฐฯ ปี 1952 (ที่มาภาพ)

แน่นอนว่าที่ผ่านๆ มา ก็เคยมีหลักฐานที่ว่า มนุษย์เคยพบวัตถุลึกลับไม่ทราบที่มาหลายต่อหลายครั้ง A flying saucer (หรือที่แปลเป็นภาษาไทยได้ตรงตัวสุดๆ ว่า ‘จานบิน’) ใช้นิยามวัตถุลึกลับบินได้ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนจานราวๆ มาอยู่นานหลายปี แต่ครั้งที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็นครั้งที่ เคนเนธ อาร์โนล อ้างว่าพบวัตถุลึกลับที่มีหน้าตาเหมือนจานเมื่อปี 1947 ที่กลายเป็นพาดหัวใหญ่ของหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับจนกลายเป็นคำที่หลายคนเรียกติดปาก ก่อนที่ในเวลาต่อมา กองทัพอากาศของสหรัฐฯ จะนิยามศัพท์ให้วัตถุปริศนาบินได้เหล่านี้ว่า unidentified flying object หรือ UFO ตามมาด้วยยุคเฟื่องฟูของความเชื่อเรื่องสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกกำลังมาเยือนมนุษยชาติ (อันจะเห็นได้จากหนังหลายๆ เรื่องในเวลานั้นก็ออกแบบยานอวกาศจากต่างดาวให้มีลักษณะคล้ายจานบินได้จริงๆ เช่น The War of the Worlds, 1953 หรือ Invaders from Mars, 1953) 

แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่แข็งแรงมากพอจะยืนยันได้ว่า มนุษย์เคยพบเจอกับมนุษย์ต่างดาวมาแล้ว กระทั่งภาพถ่ายหลายต่อหลายภาพก็ยังถูกมองว่าเป็นของปลอมหรือทฤษฎีสมคบคิด อันจะหวนกลับไปสู่ทฤษฎีของเฟอร์มีที่ว่า หากมนุษย์ต่างดาวมีจริงและทรงภูมิมากพอจะเดินทางมายังดาวเคราะห์ดวงนี้ เหตุใดมนุษยชาติจึงไม่เคยติดต่อหรือสนทนาอย่างเป็นทางการกับพวกเขาได้เลย 

มีคนเสนอคำตอบหลากหลาย บ้างก็ว่าอาจมาเยือนได้แล้วก็จริง แต่การสื่อสารนั้นก็เป็นอีกเรื่องและอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่า เป็นต้นว่าการเกิดการเหลื่อมกันของสัญญาณหรือคลื่นอากาศที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นหรือเผชิญหน้ากันได้โดยตรง หรือความแตกต่างกันด้านกระบวนการคิดก็อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพยายามสื่อสารแบบเดียวกับที่เห็นใน Arrival (2016) หนังมนุษย์ต่างดาวที่เดินเรื่องด้วยนักภาษาศาสตร์ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกพวกนี้อาจเป็น ‘สิ่งอื่น’ ที่อยู่นอกเหนือจากความเข้าใจ จากจินตนาการของมนุษย์แล้วโดยสิ้นเชิง

วัตถุปริศนาบนท้องฟ้าที่ซิซิลี, อิตาลี ปี 1954 (ที่มาภาพ)

อย่างไรก็ดี หากไปถาม สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยา เขาจะบอกแค่ว่า “ก็เป็นไปได้ที่เอเลียนจะเกลียดเรานะ”

“ถ้าเอเลียนเคยมาเยือนเราจริงๆ ละก็ ผมว่าคงออกมาเหมือนตอนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกานั่นแหละ ซึ่งผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาเป็นผลดีต่อชนพื้นเมืองเท่าไหร่ด้วย” เขาบอก “ผมจินตนาการว่าพวกเขาคงอยู่บนยานอวกาศขนาดยักษ์ ใช้ทรัพยากรจากดาวบ้านเกิดตัวเองหมดแล้ว เอเลียนลักษณะนี้เลยกลายเป็นสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวพเนจรไปเรื่อย มองหาดาวเคราะห์ดวงใหม่เพื่อไปพิชิตและตั้งรกราก” (มีคนตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดเช่นนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ Independence Day, 1996 ที่ว่าด้วยมนุษย์ต่างดาวผู้เสาะแสวงหาดาวดวงใหม่อยู่เรื่อยไปหลังผลาญใช้ทรัพยากรดาวดวงก่อนหน้าจนราบเป็นหน้ากลอง)

“เรารู้อะไรเกี่ยวกับเอเลียนไม่มากนัก แต่เรารู้สิ่งที่เกี่ยวกับมนุษย์แน่ๆ ถ้าคุณลองไปดูในประวัติศาสตร์ การติดต่อกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิน้อยกว่าจบลงด้วยหายนะ -อย่างน้อยก็จากมุมมองของพวกเขา และการเผชิญหน้ากับระหว่างกลุ่มอารยธรรมที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่ากับกลุ่มอารยธรรมดั้งเดิมก็จบลงไม่ดีเอาเสียเลย อารยธรรมของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิอาจล่วงหน้าพวกเราไปหลายพันล้านปีก็ได้ และหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าพวกเขานั้นช่างทรงพลัง ทั้งยังเป็นไปได้ว่าอาจไม่ได้เห็นเราต่างไปจากเวลาที่เรามองแบคทีเรีย”

สอดรับกันกับอีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือ สมมติฐานสวนสัตว์ (zoo hypothesis) เป็นการตั้งสมมติฐานเมื่อปี 1973 ผ่านแนวคิดที่ว่า สิ่งมีชีวิตทรงภูมิจากนอกโลกนั้นมีอยู่จริง และจงใจหลีกเลี่ยงการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์มาโดยตลอด เนื่องจากต้องการให้สิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีฟ้าได้พัฒนา เติบโต สร้างอารยธรรมตามลำดับขั้นโดยปราศจากการแทรกแซงของผู้ดูแล (หรือคือมนุษย์ต่างดาว) ประหนึ่งคล้ายเราเป็นตัวละครในเกม The Sims ที่ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยมนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ไม่กดออกคำสั่งให้เราทำหรือไม่ทำอะไร เพียงแต่เฝ้ามองดูการเคลื่อนไหว เติบโตและดับสูญไปตามเวลาเท่านั้น เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันขึ้นมาได้คือ มนุษยชาติต้องข้ามผ่านพรมแดนเรื่องจริยธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจบางประการเสียก่อน (หรือที่หลายคนมองว่า เมื่อมนุษย์เข้าใกล้สังคมยูโทเปียอันสมบูรณ์แบบมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งในเวลาต่อมา ซี คลาร์ก หยิบเอาทฤษฎีนี้ไปเขียนใส่ในงานเขียนของเขาอย่าง The Sentinel (1951) และ Childhood’s End (1953)

เอวี โลบ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์และผู้เขียนหนังสือ Extraterrestrial: The First Signs of Intelligent Life Beyond Earth (2021) บอกว่า มีความเป็นไปได้มากทีเดียวที่มนุษย์ต่างดาวนั้นไม่ได้ปรารถนาจะสนทนากับมนุษยชาติ “เหมือนที่เราก็ไม่ได้อยากคุยกับพวกมดพวกปลวกนั่นแหละครับ” เขาบอก 

แต่ถ้าสมมติว่า วันใดวันหนึ่ง มนุษย์โลกและมนุษย์ต่างดาวติดต่อกันขึ้นมาได้จริงๆ (ไม่ว่าจะผ่านเงื่อนไขใดก็ตาม เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพัฒนาเทคโนโลยีจนทะลุขีดจำกัดได้, ข้ามกำแพงการสื่อสาร หรือแม้แต่เมื่อมนุษย์เข้าใกล้ความเป็นยูโทเปียได้ในที่สุด) เราจะทำอย่างไรต่อไป

ภาพจินตนาการ ‘เอเลียน (บุก) มายังโลกมนุษย์’ นั้นเกิดขึ้นหลายต่อหลายหน หลากรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏชัดอยู่ในภาพยนตร์ ทั้งที่มาแบบศัตรูใน Independence Day (ที่ก็กลายเป็นหนังชาตินิยมของสหรัฐฯ ไปในที่สุด กับฉากประธานาธิบดีพูดปลุกใจให้ประชาชนร่วมมือกันต่อสู้ผู้รุกรานที่ ‘เป็นอื่น’ และ ‘เลวร้าย’) หรือ Mars Attacks! (1996) หนังไซ-ไฟสุดโป๊งเหน่งที่ก็ว่าด้วยความร้ายกาจของมนุษย์ต่างดาวหน้าตาเหมือนสมองมนุษย์ ตลอดจนมนุษย์ต่างดาวแบบที่เป็นมิตรบ้าง-ไม่เป็นมิตรบ้างใน Men in Black (1997) หรือที่แสนจะเป็นมิตรน่ารักแบบใน E.T. the Extra-Terrestrial (1982)

แต่กับภาพที่ว่า มนุษยชาติจะทำอย่างไรหากวันหนึ่งเราติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวได้จริงๆ นั้นดูเหมือนจะยังเป็นภาพจินตนาการที่เลือนลาง 

Men in Black (1997)

ดร. จอห์น เอลเลียต นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์​ (a computational linguist) มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ ให้ความเห็นว่าหากมนุษย์ต่างดาวมาเยือนจริงๆ มนุษยชาติไม่มีทางตั้งรับได้แน่นอน “ลองดูความพินาศต่างๆ ตอนเราเจอโควิด-19 ถล่มสิ เราไม่พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นได้โดยกะทันหัน ไม่ว่าจะความพร้อมในด้านการรับมือกับความป่วยไข้, ด้านวิทยาศาสตร์, สังคมศาสตร์หรือการเมืองก็ไม่ไหวสักอย่าง แล้วเราก็รับมือไม่ได้อีกเหมือนกันถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดพลาดขึ้นมา”

“ตอนนี้เราทำได้แค่มองหาสัญญาณ​ (จากสิ่งมีชีวิตนอกโลก) แต่สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนคือ หากติดต่อกันได้จริงๆ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เราต้องการกลยุทธ์ ต้องการเห็นภาพเพื่อจะได้เข้าใจว่าจะต้องรับมืออย่างไร พูดง่ายๆ คือใช้ชีวิตแบบคำขวัญเหล่าลูกเสือที่ว่า ‘จงเตรียมพร้อม’ น่ะ”

ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามใหญ่จากหลากหลายแง่มุม เริ่มตั้งแต่หากเราได้รับสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาวจริงๆ เราควรตีความสัญญาณหรือข้อความนั้นอย่างไร รัฐบาลใดควรรับมือกับข้อความนี้ หรือข้อความดังกล่าวควรได้รับการเผยแพร่ต่อสายตามนุษยชาติหรือไม่ และใครจะเป็นคนส่งข้อความกลับไปในฐานะตัวแทนชาวโลกทั้งปวง!? ยังไม่นับว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างหลังเราติดต่อสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตต่างโลก มีโอกาสที่มันจะเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไปเลยหรือไม่ ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกอย่างไรหากมีประจักษ์พยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเราไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตโดดเดี่ยวในจักรวาลนี้ ระบบกฎหมายเราจะระบุถึงประเด็นนี้ไว้ในแง่ไหน ศาสนาและความเชื่อจะเปลี่ยนแปลงหรือเข้ามามีบทบาทต่อปรากฏการณ์นี้อย่างไร ฯลฯ

กล่าวแบบรวบรัด ลำพังแค่ได้ติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวอยู่ห่างๆ ก็จินตนาการฉากทัศน์ขึ้นมาได้ร้อยพันแปดรูปแบบ ชนิดเอาไปสร้างเป็นหนังภัยพิบัติได้ครึ่งโหล โดยยังไม่ต้องมีเพื่อนบ้านจากนอกโลกปรากฏตัวแม้แต่ฉากเดียวยังได้ และเป็นไปได้มากว่าหากมนุษย์ต่างดาวติดต่อชาวโลกได้ในเวลานี้ สิ่งที่ประชาคมโลกต้องรับมือเป็นอันดับแรกนั้นอาจไม่ใช่ชาวผู้มาเยือน แต่อาจเป็นความโกลาหลจากสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วบนดาวเคราะห์สีฟ้าดวงนี้ด้วยกันนั่นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save