fbpx
คอร์รัปชันแบบไหนดี (ก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ!)

คอร์รัปชันแบบไหนดี (ก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ!)

มีคนบอกว่า มนุษย์เราคอร์รัปชันกันสองแบบใหญ่ๆ แบบแรกเหมือนการค่อยๆ ‘ลงเหว’ ไปทีละนิดๆ คือค่อยๆ ฉ้อค่อยๆ ฉลทีละเล็กละน้อย แต่ทำบ่อยๆ กับอีกแบบหนึ่งคือร่วงหล่นลงหน้าผาไปพรวดเดียวเลย คือปกติแล้วจะไม่ฉ้อฉลอะไร แต่ถ้ามีโอกาสคอร์รัปชันแล้วได้ประโยชน์ก้อนโต ก็อาจจะทำ เรียกว่าทำทีเดียวรวยไปเลย

ค่อยๆทำ

คอร์รัปชันแบบแรกนั้น เขาเรียกว่าเป็นการฉ้อฉลเล็กๆ น้อยๆ หรือ Petty Corruption ส่วนแบบหลังเรียกว่า Grand Corruption ซึ่งมีคนศึกษาเยอะนะครับ ว่ามนุษย์เราถนัดคอร์รัปชันแบบไหนมากกว่ากัน

ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า การคอร์รัปชันนั้น มันจะมีการ ‘ดึง’ กันอยู่ระหว่างผลประโยชน์ที่ตัวตนคนนั้นๆ จะได้รับ กับ ‘ภาพลักษณ์’ ของตัวตน พูดง่ายๆ ก็คืออยากดูดี ไม่อยากคอร์รัปชันหรอก แต่ถ้าได้ผลประโยชน์มากพอ ก็สามารถคอร์รัปชันได้ ด้วยเหตุนี้ เลยมีการศึกษาเยอะทีเดียวที่คิดว่า คนส่วนใหญ่เวลาคอร์รัปชันจะ ‘ค่อยๆ ทำ’ เป็นการคอร์รัปชันทีละเล็กละน้อย เพื่อรักษา ‘ศีลธรรมส่วนตัว’ เอาไว้ไม่ให้เสียไป

เขาบอกว่า ต่อให้ทำอะไรผิดๆ แต่คนเรามีแนวโน้มจะ ‘หาเหตุผล’ มาสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งในตอนแรกจะเริ่มจากการเบี่ยงเบนเล็กๆ น้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ‘ตกบันไดพลอยโจน’ ไปเรื่อยๆ ทีละน้อย

แต่พร้อมกันนั้น ตัวตนและศีลธรรมของคนคนนั้นก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้ในที่สุด คนคนนั้นก็จะสามารถคอร์รัปชันอะไรใหญ่โตได้

มีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า ในประเทศที่มีการคอร์รัปชันกันอย่างกว้างขวางแพร่หลายนั้น การ ‘ติดสินบน’ ถือว่าเป็นการคอร์รัปชันที่ไม่ร้ายแรงอะไร แถมยังเป็นการกระทำที่ได้รับการยอมรับในเชิงสังคมอีกต่างหาก โดยเฉพาะการติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไปมีผลในทางปฏิบัติ คือทำให้งานเดิน ลื่นไหล หรือมี Practicality ขึ้นมาด้วยซ้ำ

ที่น่าสนใจก็คือ เขาบอกว่าสังคมที่มีการคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เยอะๆ มันส่อแสดงให้เราเห็นว่าเป็นกระบวนการทางสังคม คือเป็นเรื่องวัฒนธรรมร่วมของคนในสังคมนั้นๆ มากกว่าจะเป็นเรื่องปัจเจก (แต่ไม่ได้แปลว่าปัจเจกไม่มีส่วนเลยนะ)

ตู้มเดียวรวย

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาอีกด้านหนึ่งที่เชื่อว่า การคอร์รัปชันอาจเกิดขึ้นจากการที่ ‘โอกาส’ มาอยู่ตรงหน้า เป็นโอกาสทองประเภทที่ไม่ได้ผ่านมาบ่อยๆ คือถ้าเสี่ยงครั้งเดียวก็อาจจะรวยไปเลยก็ได้ เนื่องจากจะทำให้ได้ผลประโยชน์ก้อนโต จึงเป็นเรื่องที่ยั่วยวนใจอย่างยิ่ง

ที่สำคัญ การคอร์รัปชันแบบนี้ ยังเป็นการช่วย ‘พยุง’ ตัวตนทางศีลธรรมของคนคนนั้นเอาไว้ด้วย ไม่เหมือนการคอร์รัปชันแบบแรกที่ทำบ่อยๆ แม้จะเป็นการทำทีละเล็กละน้อย แต่เมื่อทำบ่อยก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีคุณธรรม ไร้ศีลธรรมประจำใจ ผลลัพธ์ก็คือจะทำให้ตัวตนภายในค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่การคอร์รัปชันแบบตู้มเดียวอยู่นี่ คนคอร์รัปชันยังสามารถเชิดหน้าชูคอบอกสังคมได้ว่าตัวเองเป็นคนดี พูดง่ายๆ ก็คือ การทำแค่ครั้งเดียวนั้น มันช่วยให้ ‘หลอกตัวเอง’ (หรือเรียกได้เพราะๆ ก็คือ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง) ได้ดีกว่า เพราะเป็นพฤติกรรมเพียงครั้งเดียว

มีคนวิเคราะห์ว่า ถ้าการคอร์รัปชันแบบเล็กๆ น้อยๆ บ่อยๆ หน เกิดขึ้นในสังคมที่มี ‘วัฒนธรรมคอร์รัปชัน’ โอบอุ้มอยู่จนทำให้คนไม่รู้สึกผิดที่จะฉ้อฉลแล้วละก็ การคอร์รัปชันประเภท ‘ตู้มเดียวรวย’ หรือทำครั้งเดียวแต่ใหญ่โตไปเลย ก็มักเกิดขึ้นในสังคมที่มีมาตรฐานศีลธรรมสูงกว่า และมักเป็นสังคมที่มีความเป็นอยู่ดีกว่าด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์มันต้องเยอะมากพอที่จะยั่วยวนใจให้ลงมือทำได้ ไม่คอร์รัปชันแค่เรื่องเล็กเรื่องน้อยหรอก

เหนือฟ้ายังมีฟ้า

เอาเข้าจริง ทั้งคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ กับคอร์รัปชันแบบตู้มเดียวรวยนั้น พูดได้ว่าเป็นคอร์รัปชันประเภทเดียวกัน เพราะวิธีคิดวิธีทำเป็นแบบเดียวกัน ผิดกันก็แต่ขนาดของการคอร์รัปชันเท่านั้น คือถ้าถูกจับได้ไล่ทัน ก็ต้องถูกลงโทษแน่ๆ ไม่ว่าจะลงโทษด้วยมาตรการทางสังคมหรือลงโทษทางกฎหมายจริงๆ

แต่คุณรู้ไหม ในโลกนี้ยังมีการคอร์รัปชันอีกแบบหนึ่งที่ ‘เหนือชั้น’ กว่าคอร์รัปชันทั้งสองอย่างที่ว่ามา มันคือ ‘การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ’ (Systemic Corruption) หรือที่เราเรียกว่า คอร์รัปชันเชิงนโยบายนั่นเอง

คอร์รัปชันแบบนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความอ่อนแอหรือจุดอ่อนของระบบทั้งหมด มันไม่ใช่การที่คนคนหนึ่งจะฉ้อฉลอยู่ ‘ใต้ระบบ’ แต่เป็นการที่คนหรือคณะบุคคล เข้าไปใช้จุดอ่อนของระบบเพื่อ ‘ควบคุมระบบ’ ให้ระบบตอบแทนผลประโยชน์บางอย่างมาให้ตัวเอง คอร์รัปชันแบบนี้เห็นได้ยากมาก จะเกิดได้ ต้องมีฐานของการคอร์รัปชันทั้งแบบที่หนึ่งและแบบที่สองปนกัน คือเป็นทั้งเรื่องวัฒนธรรมและมีผลประโยชน์จูงใจมากมายมหาศาลรองรับอยู่จนทำให้สังคมนั้นๆ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อกำจัดคอร์รัปชันแบบนี้ออกไป

ถ้าลองย้อนกลับมาดูสังคมไทยของเรา ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อย-ว่าการคอร์รัปชันทั้งสามแบบนี้ เราเป็นแบบไหน

เอ๊ะ! หรือว่าเราจะเหมาเป็นหมดทั้งสามแบบเลยก็ไม่รู้!

 

อ่านเพิ่มเติม

งานวิจัย The Road to Bribery and Corruption : Slippery Slope or Steep Cliff? ของ Nils C. Köbis, Jan-Willem van Prooijen, Francesca Righetti และ Paul A. M. Van Lange จาก SAGE Journals, January 1, 2017

ชวนเรามาตั้งคำถามว่า คอร์รัปชันมันเป็นแบบไหนกันแน่ ระหว่างแบบค่อยๆ ทำ (Slippery Slope) กับแบบตู้มเดียวรวย (Steep Cliff) โดยจะใช้การทดลองทางสังคมเข้ามาช่วย อ่านยากหน่อยเพราะมีสูตรคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการคำนวณการทดลอง แต่ถ้าเข้าใจหลักการของมันแล้วจะสนุก

 

งานวิจัย Ethical Fading: The Role of Self-Deception in Unethical Behavior ของ Ann E. Tenbrunsel และ David M. Messick จาก Social Justice Research, June 2004

ชวนลงลึกถึงพฤติกรรมการ ‘หลอกตัวเอง’ ว่าไม่ได้คอร์รัปชัน ในบทความนี้บอกไว้เลยว่าพฤติกรรมพวกนี้ Thick (อาจจะบอกว่าหนังหนาก็คงได้) มาก และมีลักษณะ Self-Ingrained คือปลูกฝังลงลึกในตัวของมันเอง

 

งานวิจัย Corruption, Social Judgment and Culture: An Experiment  ของ Timothy C. Salmony และ Danila Serraz จาก Southern Methodist University, October 25, 2016

พูดถึงการคอร์รัปชันกับวัฒนธรรม ใช้การทดลองทางสังคมเพื่อทดสอบสมมุติฐาน และดูว่าสังคมจะใช้ Norm ของตัวเองในการลดคอร์รัปชันได้อย่างไร

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save