fbpx

เศรษฐกิจพัฒนา แต่ชีวิตคนธรรมดาติดลบ: ทำความรู้จักระบบสวัสดิการผลิตภาพนิยมในเกาหลีใต้

เรื่องราวความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถของผู้นำประเทศ คงเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีสำหรับประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้รับการขนานนามบนเวทีโลกให้เป็น ‘ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน’ ฉายาที่ได้จากการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านบาดแผลจากสงครามและความยากจน สู่ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก

แต่ท่ามกลางเรื่องราวสวยงามทางตัวเลขสถิติ ในประเทศเดียวกันนั้นกลับมีคนฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศกลุ่ม OECD โดยจำนวนมากตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานหนักเพื่อพัฒนาประเทศมาทั้งชีวิต แต่ในบั้นปลายชีวิตกลับมีฐานะยากจน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับจนในระดับที่สูงมาก

บทความชิ้นนี้ จึงอยากชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักระบบสวัสดิการในเกาหลีใต้ ที่เปรียบเป็นตาข่ายคุ้มครองทางสังคมให้แก่ประชาชน ไปสำรวจกันว่า ในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสวยหรู มีการออกแบบนโยบายในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนมากน้อยแค่ไหน และเราจะสามารถถอดบทเรียนมาปรับใช้ในประเทศของเราได้อย่างไรบ้าง

อดีตที่เจ็บปวด

 ‘เจ็บมาเยอะ’ คงเป็นคำที่ใช้บรรยายเรื่องราวในอดีตของประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ. 1905-1945 จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องตกอยู่ภายใต้การดูแลของประเทศชนะสงครามอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ที่เข้ามาควบคุมดูแลให้เกาหลีสามารถจัดตั้งรัฐบาลเป็นของตนเอง แต่ทว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ จนทำให้เกิดสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-1953) แบ่งแยกประเทศเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จนถึงปัจจุบัน

ความบอบช้ำจากสงครามและความยากจนของประชาชน เปรียบเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกาหลีใต้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในยุคของนายพลปาร์ค ชุงฮี (Park Chung Hee) ดำรงตำแหน่งในปี ค.ศ. 1961-1979 ที่วางแผนพัฒนาประเทศด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออก รวมไปถึงการสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่างซัมซุง ฮุนได แดวู ฯลฯ หรือ ‘กลุ่มแชโบล’ (Chaebol) เป็นแนวหน้าในการทำธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจจากชนชั้นนำเป็นผล ทำให้ประเทศเกาหลีใต้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว หรือ GDP Per Capita ที่ในปี 1970 อยู่ที่ 279 ดอลลาร์ แต่ในปี 1990 ขยับสูงขึ้นถึง 6,610 ดอลลาร์ เพิ่มสูงขึ้นถึง 2,000 กว่าเปอร์เซ็นต์ และสามารถเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในปี 1996

จากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่สวยหรู เราไปดูระบบสวัสดิการที่ใช้ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนกันบ้าง ?

สวัสดิการแบบ ‘ผลิตภาพ’

เมื่อกล่าวถึงระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้แล้ว นักวิชาการด้านนโยบายสังคมจัดให้อยู่ในรูปแบบของ ‘สวัสดิการผลิตภาพนิยม’ (Productivist Welfare Pluralism)

สวัสดิการประเภทนี้ เกิดจากการที่นักวิชาการเห็นว่าระบบสวัสดิการทั้ง 3 รูปแบบที่จัดโดย กุสตา เอสปิง แอน-เดอร์สัน (Gøsta Esping-Andersen) ได้แก่ เสรีนิยม (Liberal), อนุรักษ์นิยม (Conservative) และสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic) สอดคล้องกับรูปแบบของประเทศตะวันตกมากกว่า แต่ไม่เพียงพอที่จะใช้อธิบายรูปแบบสวัสดิการในประเทศเอเชียตะวันออกอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ลักษณะเด่นของสวัสดิการแบบผลิตภาพนิยมจะเน้นการให้สวัสดิการที่มุ่งให้ประชาชนเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือมีรายได้จากการทำงาน มองประชาชนเป็นพลังในการผลิตสินค้า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต ไม่ได้มองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิที่ควรให้แบบถ้วนหน้าทุกคน เพราะมองว่าการจัดสวัสดิการแบบให้เปล่าจะเป็นภาระด้านงบประมาณ

อีกหนึ่งฐานคิดสำคัญสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออก คือ ‘วัฒนธรรมขงจื๊อ’ เน้นหลักจารีตประเพณี ยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติหรือกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพผู้อาวุโส รับผิดชอบในหน้าที่ตัวเองเพื่อให้ไม่เบียดเบียนส่วนรวม ดังนั้น การจัดสวัสดิการในเอเชียตะวันออกจึงไปผูกกับความรับผิดชอบของบุคคล เช่น ต้องทำงานตามหน้าที่จึงจะได้รับสวัสดิการ เป็นต้น

เร่งพัฒนาเศรษฐกิจก่อนสวัสดิการ

สถานการณ์ที่บีบคั้นจากสงครามและความยากจน ทำให้เกาหลีใต้ต้องพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตก่อน เมื่อดูสถิติการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงปี 1970 พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ร้อยละ 23.3 และ 22.4 ของงบประมาณ ตามลำดับ โดยเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและลงทุนด้านการศึกษาเพื่อสร้างแรงงาน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมคิดเป็นเพียงร้อยละ 13.8 ของงบประมาณเท่านั้น

ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เกาหลีใต้ได้เริ่มลงทุนด้านสวัสดิการสังคมเพื่อดูแลประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1990 คิดเป็นร้อยละ 21.6, ปี 2000 ร้อยละ 24.8, ปี 2013 ร้อยละ 33.6 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การจัดสวัสดิการของเกาหลีใต้ จึงสอดคล้องกับหลักการของสวัสดิการแบบผลิตภาพนิยม เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศที่ต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต และหลักการของขงจื๊อ ที่เน้นให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้เกาหลีใต้เน้นการจัดสวัสดิการในรูปแบบประกันสังคม (Social Insurance) ที่รัฐสร้างหลักประกันความมั่นคงให้ แต่มีข้อแม้ว่าประชาชนต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศ

สร้างความมั่นคงด้วยประกันสังคม

หากดูข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการของประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างปี 1990-2013 จะพบว่า มีค่าเฉลี่ยสัดส่วนการใช้จ่ายในด้านการประกันสังคม (Social Insurance) มากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งมากกว่าการบริการสังคม (Social Service) และการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) ที่รวมกันได้เพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น

สำหรับการประกันสังคมในเกาหลีใต้นั้น มี 4 รูปแบบหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ประชาชน เริ่มต้นจากประกันอุบัติเหตุในการทํางาน (Industrial Accident Compensation Insurance Act) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1964 ซึ่งให้ประโยชน์ทดแทนหากเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน, การประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) เริ่มต้นปี 1977 มอบสิทธิการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการตรวจสุขภาพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (The National Pension Scheme) เริ่มต้นปี 1988 ที่ให้คนทำงานจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อรับเงินบำนาญกรณีทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ และการประกันการจ้างงาน (Employment Insurance Act) เริ่มใช้ในปี 1995 เพื่อแก้ไขปัญหาว่างงาน และมีสวัสดิการช่วยเหลือในช่วงหางานทำ

หลักการประกันสังคม จึงเปรียบเป็นหัวใจหลักของรัฐในการดูแลสวัสดิการให้แก่ประชาชนในเกาหลีใต้ ที่เน้นย้ำในเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ผ่านการทำงานและส่งเงินสมทบเข้าระบบประกัน นอกจากนั้น ยังมีการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) ที่ให้สวัสดิการแก่กลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินจากหน่วยงานภาครัฐได้ เช่น เงินช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย เงินช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรหลาน สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรี ฯลฯ โดยประชาชนต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบสิทธิ์ก่อน จึงจะมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือ คล้ายกับแนวทางการจัดสวัสดิการแบบเสรีนิยม (Liberal) ที่ใช้กลไกการตลาดทำหน้าที่จัดสรรสวัสดิการ และรัฐจัดให้แค่สวัสดิการพื้นฐานเท่านั้น

เมื่อนโยบายจากรัฐเป็นแบบนี้แล้ว สิ่งที่ชวนให้สงสัยต่อคือชีวิตประชาชนคนธรรมดานั้นจะเป็นอย่างไร?  

คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งแก่ยิ่งจน

คู่รักหนุ่มสาวที่มีอุปสรรคในชีวิตคู่เพราะความแตกต่างด้านฐานะ กลายเป็นเรื่องราวที่แฟนซีรีส์เกาหลีใต้คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากทำให้คนดูอย่างเราต้องเอาใจช่วยคู่พระนางให้สมหวังแล้ว เรื่องดังกล่าวยังเป็นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

เมื่อดูข้อมูลความแตกต่างของรายได้คนเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1990 จะพบว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดในประเทศหรือกลุ่ม Top 10%  มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจาก 35 % เป็น 45 % ในปี 2020 ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่ม Bottom 50% กลับมีรายได้น้อยลงไปอีก คือ จาก 21% เป็น 16%

ภาพที่ 1 กราฟเปรียบเทียบรายได้ของประชาชนเกาหลีใต้ในกลุ่ม Top 10% (เส้นสีแดง) และ กลุ่ม Bottom 50% (เส้นสีน้ำเงิน) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 -2020

ทาง OECD และ IMF ได้เห็นตรงกันว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น คือ ความแตกต่างของรายได้ระหว่างพนักงานประจำ (Regular work) และพนักงานชั่วคราว (Non regular work) ในเกาหลีใต้ พนักงานประจำนั้นมีสัญญาการทำงานที่ชัดเจน ได้รับการเซ็นสัญญาการทำงานระยะยาวกับนายจ้าง ส่วนพนักงานชั่วคราว คือพนักงานรายวัน ทำงานในสัญญาการจ้างระยะสั้น รวมไปถึงงานฟรีแลนซ์ต่างๆ  

ปี 2020 เกาหลีใต้มีสัดส่วนของพนักงานชั่วคราวที่สูงกว่ากลุ่มประเทศใน OECD คือร้อยละ 26.1 ของแรงงานในประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11.4 และสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนพนักงานชั่วคราวร้อยละ 15.4

ภาพที่ 2 สัดส่วนของพนักงานชั่วคราวเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศต่างๆ ในปี 2020 | ที่มาภาพ The Korea Herald

นอกจากมีจำนวนพนักงานชั่วคราวสูงแล้ว ความแตกต่างระหว่างรายได้ของพนักงานประจำกับชั่วคราวมีแนวโน้มเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเทียบสถิติจากปี 2010 ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของพนักงานประจำนั้นมากกว่าพนักงานชั่วคราว 1.03 ล้านวอน หรือราว 27,000 กว่าบาท สิบปีต่อมา (ค.ศ. 2020) ความแตกต่างนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 1.52 ล้านวอนหรือ 40,000 กว่าบาท ต่างกันเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น

ภาพที่ 3 สถิติรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเปรียบเทียบระหว่างพนักงานประจำ (Regular) และพนักงานชั่วคราว (Non regular) | ที่มาภาพ The Korea Herald

พิจารณาคุณภาพชีวิตของคนเกาหลีใต้ในปี 2021 จากอัตราความยากจนสัมพัทธ์ (Relative poverty rate) ซึ่งเป็นวิธีการวัดความยากจนของประชาชน โดยเปรียบเทียบมาตรฐานการดำรงชีวิตของครัวเรือนกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉลี่ย พบว่าคนเกาหลีใต้ที่ถือว่ายากจนมีอยู่ประมาณร้อยละ 15.3 สูงเป็นอันดับ 9 ในกลุ่มประเทศ OECD และมีปัญหาที่น่าวิตกคือประชาชนวัยชรา

จากผลสำรวจพบว่า คนชรากว่าครึ่งในเกาหลีใต้มีฐานะยากจน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประเทศกลุ่ม OECD ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจของประเทศเติบโต แต่ชีวิตคนชราในเกาหลีใต้กลับตรงกันข้าม

จากปัญหากระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม งานที่ทำก็มีรายได้น้อย ทำให้วัยแรงงานมีเงินไม่มากพอที่จะดูแลคนสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น หญิงชราวัย 70 ปี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่าเธอต้องเข้ามารับอาหารกลางวันฟรีจากมูลนิธิเอกชน เพราะเธอขาดรายได้ในการดำรงชีวิต การจะหวังพึ่งลูกหลานก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาก็ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน เธอบอกว่าไม่ต้องการเงินมากนัก แค่พอให้ประทังชีวิตก็พอ

“คุณจะเก็บเงินไว้ใช้ตอนบั้นปลายชีวิตได้ยังไง ถ้าต้องอยู่ด้วยรายได้แบบเดือนชนเดือนมาตลอด”  คุณยายโช คยองซุก วัย 82 ปี ให้สัมภาษณ์กับ BBC สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรนจนถึงบั้นปลายชีวิต โดยคุณยายโชต้องออกมาอาศัยอยู่คนเดียวเนื่องจากหย่าร้างกับสามี ลูกสาวก็มีรายได้ไม่พอเหมือนกับลูกหลานคนชราส่วนใหญ่ เธอต้องหางานเป็นพนักงานชั่วคราวเพื่อประทังชีวิต และอย่างที่กล่าวมาแล้ว รายได้ของพนักงานชั่วคราวในเกาหลีใต้นั้นมีไม่มากนัก

จากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก เราไปดูกันว่าระบบสวัสดิการจากรัฐจะช่วยเหลือชีวิตประชาชนได้อย่างไร ?

ภัยร้ายของความยากจนและความช่วยเหลือที่ไปไม่ถึง

“ฉันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้ และจำเป็นต้องพาลูกสาวไปด้วย” ข้อความที่หญิงวัย 41 ปี เขียนเอาไว้ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมกับลูกสาว หลังจากที่สามีของเธอเพิ่งตัดสินใจฆ่าตัวตายไปก่อนหน้านั้น เหตุเกิดที่เมืองชุงชองเหนือ เมื่อปี 2018 สาเหตุมาจากปัญหาหนี้สินของครอบครัวที่แบกรับไว้ไม่ไหว

คล้ายกับเหตุการณ์ในปี 2014 ในเขตซงพา กรุงโซล ที่พบแม่และลูกสาวอีก 2 คน ฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว โดยผู้เป็นแม่มีอายุมากกว่า 60 ปี ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกสาวสองคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดัน ครอบครัวของเธอประสบปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2002 ในที่เกิดเหตุพบซองจดหมายบรรจุเงิน 700,000 วอน พร้อมข้อความระบุว่า “พวกเราขอโทษ เงินทั้งหมดเป็นค่าเช่าห้องและค่าน้ำค่าไฟที่ค้างอยู่”

ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นชีวิตประชาชนที่ไร้ทางออกเมื่อเจอปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาใหญ่คือระบบสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง

เหตุการณ์ที่กรุงโซล ในปี 2014 มีสาเหตุจากการที่ครอบครัวไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากระบบสวัสดิการสังคมได้ เพราะเกณฑ์การตรวจสอบสิทธิ์ที่ระบุว่าลูกสาวทั้ง 2 คนเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่ได้ป่วยด้วยโรคร้ายแรง ทั้งที่ความเป็นจริง สุขภาพของทั้งคู่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ คล้ายกับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าลูกของเขามีรายได้รวมสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่ความเป็นจริงคือเขาไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับลูกและขาดการติดต่อมานานแล้ว

เมื่อไม่ได้รับสวัสดิการ ความยากจนจึงเข้าถาโถมชีวิตที่ไร้ทางออก เรื่องในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกระทั่งสำนักข่าว The Korea Times ต้องจัดทำรายงานข่าว Welfare system failing to rescue poor รายงานถึงความล้มเหลวของระบบสวัสดิการในการช่วยเหลือคนยากจน โดยเล่าถึงครอบครัวที่พ่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนต้องพักรักษาตัวหลายเดือน แต่ครอบครัวไม่สามารถได้รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ เพราะมีรายได้รวมระบุไว้ในประวัติการจ่ายภาษีก่อนหน้านี้ที่ ‘มากกว่า’เกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้ครอบครัวต้องรอรับเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิเอกชนแทน

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบกิจการที่พักอาศัยต่างๆ ให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเสี่ยงให้แก่เจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคมรับทราบ เพื่อเข้าแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

เรื่องราวดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นปัญหาการจัดสรรสวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจง ที่ต้องวัดเกณฑ์ความยากจนว่าจนจริง จึงจะได้รับการช่วยเหลือ แต่ผลลัพธ์คือกระบวนการคัดกรองที่ไม่รัดกุม จึงทำให้ประชาชนที่ควรได้รับกลับไม่ได้รับสิทธินั้น

ใครๆ ก็อยากมั่นคง แต่จะทำอย่างไรเมื่อมีเงินน้อย

ระบบสวัสดิการเกาหลีใต้ที่เน้นเรื่องการประกันสังคมให้ประชาชนมีความมั่นคง โดยเฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (The National Pension Scheme) สวัสดิการสำคัญที่เน้นสร้างความมั่นคงหลังเกษียณอายุ แต่ทว่าน่าเสียดายที่สิทธินั้นกลับไม่ได้ครอบคลุมทุกคน

ข้อมูลพบว่า มีแรงงานชั่วคราวที่เข้าร่วมกองทุนเพียงร้อยละ 37.8% ต่างกับพนักงานประจำที่เข้าร่วมถึงร้อยละ 88 เนื่องจากสัญญาการทำงานที่ไม่ครอบคลุมจากนายจ้าง รายได้ไม่เพียงพอจ่ายเงินสมทบ ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาเรื่องการทำงาน ฯลฯ จึงทำให้พวกเขาเป็นผู้ตกหล่นในการได้รับสวัสดิการ

จากวัยแรงงานที่มีสิทธิไม่ครอบคลุม ขาดความมั่นคงในชีวิต เมื่อล่วงเลยไปถึงวัยชราแล้ว กลับเจ็บช้ำยิ่งกว่า เพราะการขาดรายได้ในวัยแรงงานได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตในบั้นปลาย

“หลายอาชีพยังได้ค่าแรงน้อย ทำให้ไม่สามารถจ่ายบำนาญรายเดือนหรือค่าเบี้ยประกันต่างๆ ได้ ผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จึงได้รับเงินสวัสดิการน้อยมาก” ผศ.ดร.คิม ซอง วอน อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว นักวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ กล่าวถึงปัญหาของระบบสวัสดิการที่ส่งผลต่อความยากจนในวัยชรา เนื่องจากระบบบำนาญแห่งชาติ (National Pension) จะคำนวณเงินบำนาญที่ได้จากฐานเงินเดือนของแต่ละคน 

เมื่อประชาชนมีรายได้น้อย ลองไปดูการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือ รายจ่ายสาธารณะ (Public social spending) ที่นำมาดูแลประชาชนทั้งค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล เงินบำนาญ ฯลฯ ของเกาหลีใต้กันบ้าง

แม้จะมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นเมื่อเทียบกับงบประมาณของรัฐบาล เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว เกาหลีใต้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ไล่มาตั้งแต่ปี 1990 ที่มีเพียงร้อยละ 2.68 ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 11.11 แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2000 แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่น โดยในปี 2022 ใช้จ่ายไปร้อยละ 14.8 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD คือร้อยละ 21.1

ภาพที่ 4 สถิติสัดส่วนรายจ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ Public social spending เทียบกับ GDP ของประเทศเกาหลีใต้ และสถิติของประเทศอื่น ปี 1990-2016 | ที่มาภาพ Our World in Data

ด้วยระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้ที่เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน โดยเฉพาะกับระบบบำนาญที่มีอายุเพียง 35 ปี แต่ต้องเจอกับความท้าทายจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดที่ต่ำ การจัดสรรงบประมาณจึงต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน

ดังนั้น หากเกิดเป็นคนยากจนในเกาหลีใต้ นอกจากจะมีรายได้ที่ไม่เพียงพอแล้ว การหวังจะได้รับสวัสดิการที่ดีจากรัฐจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยงบประมาณความช่วยเหลือที่ยังไม่มากนัก และยังเสี่ยงต่อการตกหล่นในการรับสวัสดิการช่วยเหลือ การจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงต้องอาศัยการต่อสู้ดิ้นรนที่มากกว่าคนอื่น

แล้วสวัสดิการที่ดีควรเป็นเช่นไร ?

เรื่องราวระบบสวัสดิการในเกาหลีใต้ ทำให้เราเรียนรู้แนวทางในการจัดการสวัสดิการแบบผลิตภาพ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสวัสดิการในเอเชียตะวันออกที่แตกต่างจากโลกตะวันตก ทั้งแนวคิดพื้นฐานที่มองว่าสวัสดิการควรให้เฉพาะคนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ การเน้นย้ำในหน้าที่ความรับผิดชอบของประชาชนตามแบบวัฒนธรรมขงจื๊อ ที่ว่าคนที่จะมีสิทธิได้รับต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน แนวทางดังกล่าวมีทั้งข้อดีที่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต และข้อเสียคือการที่ประชาชนต้องตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการ

ในโลกนี้คงไม่มีใครบอกได้ว่าระบบสวัสดิการแบบไหนจะดีที่สุด นโยบายสวัสดิการขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละประเทศ ทั้งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรมในสังคมของประชาชน นโยบายสวัสดิการในแต่ละประเทศอาจมีการผสมผสานทั้งแบบผลิตภาพ แบบถ้วนหน้า หรือเฉพาะเจาะจงก็เป็นได้ แต่หัวใจสำคัญที่ผู้ออกแบบนโยบายสวัสดิการต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ คือการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างด้านฐานะเพียงใด

เพราะการได้รับสวัสดิการที่ทั่วถึง จะทำให้ประชาชนมีที่พักพิงในยามทุกข์ยาก และมีแรงลุกขึ้นยืนอย่างแข็งแกร่ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

อ้างอิง

  1. บทความ  The South Korean welfare state system: with special reference to the future of social insurance systems” โดย Jinsoo Kim, Christina Hießl ในหนังสือ The Routledge International Handbook to Welfare State Systems บรรณาธิการโดย Christian Aspalter
  2. บทความวิชาการ “สวัสดิการที่เน้นผลิตภาพและสวัสดิการที่เน้นการคุ้มครองกับการลดความเหลื่อมล้ำ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์
  3. https://thailand.korean-culture.org/th/152/korea/69
  4. https://www.blockdit.com/posts/61239122fc3cd70c7d75ce22
  5. https://becommon.co/life/korean-elderly-social-welfare-service/
  6. https://www.isranews.org/article/isranews-article/118719-worsak-4.html
  7. https://www.macrotrends.net/countries/KOR/south-korea/gdp-gross-domestic-product

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save