fbpx

เธออยู่ในเทพนิยายผิดเรื่อง We Have Always Lived in the Castle (บนดวงจันทร์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ)

นิยายของเชอร์ลีย์ แจ็คสันได้รับการแปลเป็นไทย 2 เรื่อง คือ The Haunting of Hill House (บ้านหลังนี้มีคนตาย) ซึ่งผมเคยเขียนแนะนำเล่าสู่กันฟังไปแล้ว เมื่อราวๆ ต้นปี 2565 และ We Have Always Lived in the Castle (บนดวงจันทร์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ) ซึ่งจะชวนอ่านกันในครั้งนี้

งานเขียนของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน เหมือนอาหารจานแปลกรสชาติไม่คุ้นลิ้น ถ้าชิมแล้วชอบ ก็น่าจะประทับใจกับเรื่องอื่นๆ ของเธอได้หมด แต่ถ้าลองอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วไม่ถูกจริต ก็มีสิทธิจะสาปส่งเรื่องที่เหลือได้ไม่ยากเช่นกัน

พูดง่ายๆ คือพิสูจน์กันจากการอ่านแค่เรื่องเดียวก็ทราบผลเรียบร้อย ว่าจะชอบหรือจะชัง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากพอๆ กันทั้ง 2 ทางนะครับ

ในด้านติดลบ นิยายของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน วางตำแหน่งตนเองอยู่ในขนบของนิยายกอธิค แต่รายละเอียดภายในกลับผิดแปลก ไม่เป็นไปตามที่ผู้อ่านคุ้นเคยจากนิยายแนวนี้ ไม่มีอารมณ์สยองขวัญแบบที่คาดหวังว่าจะได้เจอ แต่เป็นความน่าสะพรึงกลัวลึกๆ (ซึ่งผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกว่าไม่เห็นจะมีอะไรเลย), เต็มไปด้วยความคลุมเครือและปริศนาชวนสงสัยที่ไม่ได้รับการคลี่คลายให้กระจ่างชัด จนกระเดียดไปทางซับซ้อนเข้าใจยาก, บรรยากาศหม่นมัว ปราศจากความรื่นรมย์ จนส่งผลให้รู้สึกไม่เป็นสุขอยู่ตลอดการอ่าน และที่สำคัญคือ ตัวละครมักมีความป่วยไข้ไม่ปกติในจิตใจ และความสลับซับซ้อน จนนำไปสู่ความรู้สึกหลอน

ในทางกลับกัน นิยายของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน ก็โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว สดและแปลกใหม่ แม้จะเขียนขึ้นนานหลายสิบปีแล้ว มีจังหวะการเล่าและดำเนินเรื่องที่ ‘ขัดแย้งและกลมกลืนกัน’ อย่างน่าทึ่ง เช่นบทบรรยายพรรณนาซึ่งดูเหมือนย้ำคิดย้ำทำวนเวียนอยู่กับรายละเอียดเดิมๆ แต่ขณะเดียวกันเหตุการณ์ก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว กระชับฉับไว, พฤติกรรมและความคิดอ่านของตัวละครหลักแลดูแปลกเพี้ยนพิลึกพิลั่น ทว่าพร้อมๆ กันนั้นก็เต็มไปด้วยความลึก หนักแน่น และสมจริง (ความน่ากลัวที่รู้สึกขณะอ่าน เกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่ดูจริงและเป็นไปได้), ความคลุมเครือและแง่มุมชวนสงสัยที่มีอยู่มากมาย ก็ส่งผลให้ ‘ตัวบท’ นั้นเปิดกว้าง สามารถตีความหมายกันได้หลายนัยยะ

นี่ยังไม่นับรวมถึงความเก่งกาจทางวรรณศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายฉาก สถานที่ ดินฟ้าอากาศได้อย่างมีชีวิตชีวา และนำมาสนับสนุนเรื่องเล่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พูดกว้างๆ คือเป็นนิยายที่เขียนเก่ง เขียนได้น่าอ่าน ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ความเก่งกาจในการเขียนของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน ปรากฏชัดตั้งแต่ย่อหน้าแรก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น the best opening paragraph

เรื่องเริ่มต้นขึ้นอย่างนี้ครับ

“ฉันชื่อแมรี แคเธอรีน แบล็ควูด อายุสิบแปดปี ใช้ชีวิตอยู่กับคอนสแตนซ์ผู้เป็นพี่สาว บ่อยครั้งฉันคิดว่า ถ้าโชคเข้าข้าง ฉันคงได้เกิดเป็นมนุษย์หมาป่า เพราะสองนิ้วที่อยู่ตรงกลางของมือทั้งสองข้างของฉันมีความยาวเท่ากัน แต่ฉันจำเป็นต้องพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ฉันไม่ชอบการอาบน้ำ ไม่ชอบหมา และเสียงหนวกหู ฉันชอบคอนสแตนซ์ พี่สาวของฉัน ริชาร์ด แพลนทาเจเน็ท และเห็ดพิษ อะมานิตาฟัลลอยด์ คนอื่นในครอบครัวของฉันตายหมดแล้ว”

ย่อหน้าดังกล่าว เด่นด้วยการให้ข้อมูลหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวละคร ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานทั่วไป รวมถึงนิสัยใจคอมุมมองความคิด ซึ่งส่อเค้าว่ามีความไม่ปกติธรรมดา (และเมื่ออ่านต่อไปอีกเพียงเล็กน้อย ผู้อ่านยิ่งจับสังเกตได้ถึง ‘ความไม่ปกติ’ ของแมรี แคเธอรีนมากขึ้นตามลำดับ)

ถัดมาคือ เป็นย่อหน้าเปิดที่เกริ่นเป็นนัยๆ ถึงโทนและอารมณ์ของเรื่อง ซึ่งเกี่ยวพันกับความตาย

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นย่อหน้าเปิดเรื่องที่ดึงดูด เร่งเร้าความสนใจให้อยากติดตามอ่านเรื่องราวที่เหลือทั้งหมด

เรื่องเล่าจากปากคำของแมรี แคเธอรีน เป็นการเล่า ณ ช่วงขณะปัจจุบัน หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลงแล้ว (เป็นการเล่าย้อนไปสู่ช่วงเวลาราวๆ 5 เดือนก่อนหน้านั้น)

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ในนิยายเรื่องนี้ (ซึ่งจะค่อยๆ เล่าแสดงออกมาเป็นระยะๆ ระหว่างการดำเนินเรื่อง) เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวคือ การวางยาพิษฆาตกรรมหมู่ครอบครัวแบล็ควูด พ่อ แม่ น้องชายของแมรี แคเธอรีน โดโรธี (ภรรยาของอาจูเลียน-น้องชายของพ่อ) เสียชีวิตหลังมื้ออาหารค่ำ

มีผู้รอดชีวิตเพียง 3 คน คือ จูเลียน (ซึ่งได้รับผลกระทบจนพิการ ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น) คอนสแตนซ์ เนื่องจากเธอไม่แตะต้องอาหารที่มียาพิษ และตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฆาตกร ก่อนที่การดำเนินคดีจะจบลงด้วยคำตัดสินว่าเธอไม่มีความผิด และแมรี แคเธอรีน ซึ่งถูกทำโทษให้เข้านอน โดยอดอาหารมื้อเย็น

มองในแง่ความเป็นนิยายเกี่ยวกับฆาตกรรมลึกลับ สิ่งที่ผู้อ่านอยากรู้มากสุดคือ ใครคือฆาตกร? และสาเหตุแรงจูงใจในการก่อคดีคืออะไร?

จะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ไม่ทราบ  นิยายเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเสาะแสวงหาคำตอบต่อข้อสงสัยทั้ง 2 ประการเลยนะครับ

ประเด็นใครเป็นฆาตกรนั้นมีคำเฉลย แต่ก็รวบรัดและสั้นมาก ปราศจากรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนว่าลงมือตอนไหน และฆาตกรทำได้อย่างไร

ส่วนเหตุผลแรงจูงใจในการฆ่า ยิ่งเบาบาง คลุมเครือ ไม่ชัดเจนหนักขึ้นไปอีก จนอาจสรุปความได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้และความเข้าใจของผู้อ่าน

สิ่งสำคัญที่ We Have Always Lived in the Castle หรือเรื่องเล่าจากปากคำของแมรี แคเธอรีน ตั้งใจจะบอกกล่าวก็คือ เรื่องราวตลอด 6 ปีต่อมาของผู้รอดชีวิตทั้งสาม พวกเขามีสภาพชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

อาจูเลียนในสภาพพิกลพิการ ทุกข์ทรมานกับอาการป่วยไข้ หมกมุ่นสนใจอยู่กับการรวบรวมข่าวฆาตกรรมครั้งนั้น การเขียนบันทึก พยายามรำลึกทบทวนรายละเอียดทุกอย่างใน ‘วันเกิดเหตุ’ แต่อุปสรรคสำคัญคืออาการความทรงจำสับสนปนเประหว่างปัจจุบันกับอดีต

คอนสแตนซ์มีอาการป่วยเป็นโรค agoraphobia (โรคกลัวที่ชุมชน ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลแบบหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวล เมื่อต้องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ทำให้คิดไปได้ว่า หากมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยใครๆ ได้ รวมทั้งหวาดกลัวสถานที่หรือสถานการณ์ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอับอายและเกิดอาการตื่นตระหนก ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่สถานที่อันมีผู้คนเนืองแน่นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงสถานที่คับแคบ ปกปิดมิดชิด รวมทั้งกลัวการถูกทอดทิ้งให้อยู่ในบ้านตามลำพัง)

ตรงนี้ขอแทรกเพิ่มเติมเล็กน้อยนะครับว่า ในชีวิตจริงเชอร์ลีย์ แจ็คสันก็ป่วยเป็นโรคนี้

อาการป่วยของคอนสแตนซ์เกิดขึ้นหลังจากคดีที่เธอตกเป็นผู้ต้องหาสิ้นสุดลง นับจากนั้นเธอก็กักขังตนเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่กล้าเข้าไปในหมู่บ้าน หวาดกลัวคนแปลกหน้าที่เข้ามาใกล้บริเวณที่พักอาศัย ไม่ยอมรับแขกที่แวะมาเยี่ยมเยียน ยกเว้นบางคนที่คุ้นเคยกันมาก่อน (แต่ถึงกระนั้น การแวะมาของแขกเหรื่อเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยความอึดอัด และเป็นไปอย่างรวบรัด)

คนสุดท้ายคือ แมรี แคเธอรีน ซึ่งดูผิวเผินแล้ว เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในอดีตน้อยสุด และดูปกติสุดทั้งในทางกายภาพและจิตใจเมื่อเทียบกับอีก 2 คน

แต่เมื่อติดตามเรื่องเล่าจากปากคำของแมรี แคเธอรีน ไปเรื่อยๆ ผู้อ่านจะยิ่งรู้สึกว่าตัวละครนี้ไม่ปกติ

หากอ่านโดยหลงลืมข้อมูลในย่อหน้าแรกที่ระบุว่า เธออายุสิบแปดปี ตลอดการอ่านทำให้รู้สึกอยู่ไม่เว้นวายว่า นี่เป็นเรื่องเล่าจากมุมมองปากคำของ ‘เด็กหญิง’ มากกว่า ‘หญิงสาว’

แมรี แคเธอรีนคิดอ่านเหมือนเด็ก มีโลกส่วนตัวในจินตนาการเกี่ยวกับดวงจันทร์ ที่ซึ่งทุกอย่างดีงาม ปราศจากเรื่องร้าย มีแมวชื่อโจนาสเป็นเพื่อนสนิท (และสามารถคุยกันรู้เรื่อง) มีพฤติกรรมและความเชื่อประหลาด (คล้ายๆ การถือโชคลาง) เช่น นำสิ่งของต่างๆ มาฝังไว้ทั่วบริเวณบ้าน แทนคำขอบคุณเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปด้วยดี การแขวนสมุดบันทึกของพ่อไว้บนต้นไม้ เพื่อป้องกันภัยร้ายที่จะเข้ามาคุกคามเธอกับพี่สาว รวมถึงความนึกคิดอยากให้ใครต่อใครที่มุ่งร้ายต่อเธอ หรือเป็นคนที่เธอเกลียด พบจุดจบลงเอยด้วยความตาย

ตัวนิยายเล่ากว้างๆ ถึงต้นสายปลายเหตุที่ผู้รอดชีวิตทั้งสามในครอบครัวแบล็ควูดมีอาการไม่ปกติ จูเลียนนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกินยาพิษ ส่วนอาการของคอนสแตนซ์และแมรี แคเธอรีน น่าจะมีต้นตอจากปฏิกิริยาท่าทีของผู้คนในหมู่บ้าน

เบื้องลึกเบื้องหลังที่แท้จริงอาจจะมีเหตุปัยจัยอื่นๆ มากไปกว่านั้น แต่ในความเข้าใจรับรู้ของแมรี แคเธอรีน ปัญหาทั้งหมดคือ ‘โลกภายนอก’

ว่ากันตามเนื้อเรื่อง จุดใหญ่ใจความของ We Have Always Lived in the Castle คือการปะทะขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวแบล็ควูดที่รอดชีวิตทั้งหมด กับบรรดาชาวบ้านที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง คิดและเชื่อตัดสินไปเองโดยไม่ทราบความจริงที่แท้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในคืนฆาตกรรมหมู่ สรุปฟันธงว่าคอนสแตนซ์เป็นฆาตกรใจโหด ตั้งแง่รังเกียจ ต่อต้านไม่เป็นมิตร นินทาว่าร้าย เลยเถิดถึงขั้นล้อเลียน กลั่นแกล้ง ทำให้กรณีโศกนาฏกกรรมกลายเป็นหัวข้อประเด็นล้อเลียน ทำเล่นเป็นเรื่องสนุก

ในแง่นี้ We Have Always Lived in the Castle เป็นนิยายแนวกอธิคที่น่าทึ่งในการ ‘ย้อนศร’ จากขนบปกติทั่วไป ซึ่งมักจะกำหนดให้ตัวบ้านที่เป็นฉากหลักของเรื่องเต็มไปด้วยปริศนาลึกลับ (ในนิยายเรื่องนี้ ความลึกลับในบริเวณบ้านยังคงมีอยู่ แต่เป็นความลับใน ‘คืนเกิดเหตุ’ ที่ไม่ได้รับการคลี่คลายให้กระจ่าง) จนนำไปสู่ความน่าสะพรึงกลัว (เมื่อความลับบางประการ เปิดเผยออกมา)

แต่การย้อนศรที่สำคัญก็คือ เมื่อเปรียบเทียบความน่ากลัวไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นในบ้าน กับบริเวณหมู่บ้านที่อยู่ภายนอก อย่างหลังสยองขวัญกว่ามากมายนัก

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวละครอีกรายคือ ชาร์ลส์ แบล็ควูด ญาติของสองสาวพี่น้อง ซึ่งเป็นผู้ร้ายตัวสำคัญของเรื่อง ก็เป็นภัยคุกคามที่มาจากภายนอก (และน่ากลัวมากขึ้น เมื่อชาร์ลส์สามารถรุกล้ำเข้ามาถึงภายใน)

อาจพูดได้อีกแบบว่า เรื่องเล่าของแมรี แคเธอรีน จับความถึงความพยายามสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ภายในบริเวณบ้านที่ล้อมรอบไปด้วยความชั่วร้าย ความพยายามดูแลคุ้มครองพี่สาวให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ นานาของเธอ การคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนแน่ชัดตายตัว ทำให้บ้านและผู้คนที่อยู่ในบ้านดำเนินชีวิตไปตามปกติอย่างเป็นสุข (มีรายละเอียดที่ตอกย้ำอยู่ตลอดเรื่องว่า สองพี่น้องทำความสะอาดและจัดวางข้าวของทุกอย่างในบ้านตรงตำแหน่งเดิมโดยไม่มีการเคลื่อนขยับ)

พูดอีกแบบคือทุกสิ่งทุกอย่างที่คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือความปลอดภัย ขณะที่ความแปรเปลี่ยนไม่เหมือนเดิมคืออันตรายหายนะ และสิ่งที่ท้าทายมากสุดคือ การมาของชาร์ลส์ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน (มีรายละเอียดหนึ่งที่น่าสนใจ คือนาฬิกาพกของพ่อ ซึ่งชาร์ลส์ถือวิสาสะนำมาเป็นสมบัติของตนเอง และจัดการไขลานจนสามารถเดินได้เป็นปกติ แต่แล้วในเวลาต่อมา แมรี แคเธอรีนก็จัดการทำให้มันเสียหายจน ‘เวลาหยุดเดิน’)

ความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ขับเคลื่อนเรื่องราวไปสู่ฉากไคลแมกซ์ที่น่าสะพรึงกลัว (จากความโหดร้ายที่คนเรากระทำต่อกัน) สะเทือนอารมณ์ ทรงพลัง และบทสรุปปิดท้ายที่เปิดกว้างให้ผู้อ่านคิดไปได้หลายแบบ เป็นได้ทั้งตอนจบในแบบ happy ending หรืออาจจะเป็นทิศทางตรงกันข้าม

ผมควรกล่าวไว้ด้วยนะครับว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้อ่านนิยายเรื่องนี้จะจับประเด็นเนื้อหาสาระเป็นอื่น แตกต่างห่างไกลจากที่ผมเข้าใจและกล่าวมา

มีบทวิจารณชิ้นหนึ่งที่ผมอ่านเจอ  (ไม่ระบุนามผู้เขียน) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นในปี 1962 ช่วงเวลาไม่นานก่อนที่การเคลื่อนไหวทางสังคมในทศวรรษที่ 1960 และ 70 จะเริ่มต้นขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการย้อนไปสู่ความคิดอนุรักษนิยมที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปี 1950 ผู้หญิงถูกคาดหวังให้อยู่บ้านเพื่อทำอาหาร ทำความสะอาด และช่วยเหลือสามีทุกวิถีทาง ครอบครัวถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางของสังคม ควรจะสร้างความสงบสุขและความสามัคคี เช่นเดียวกับการตอบสนองต่อการกดขี่คือความโกรธ แนวโน้มความรุนแรงของแมรี แคเธอรีน อาจเป็นปฏิกิริยาของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน ต่อการค้นพบตัวเองในบรรยากาศทางสังคมที่ปิดกั้นนี้

หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงวิธีการกดขี่ผู้หญิงในยุคก่อนๆ นั่นคือ การล่าแม่มด ระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึง 18 ผู้หญิงหลายแสนคนถูกทรมาน แขวนคอ หรือเผาทั้งเป็นในอเมริกาเหนือและยุโรป เนื่องจากต้องสงสัยว่าใช้คาถาอาคม ปรากฏการณ์นี้ถูกตีความว่าเป็นวิธีการปราบปรามผู้หญิงที่พยายามได้รับอำนาจในสังคมชายเป็นใหญ่

โดยนัยนี้ อาจมองได้ว่าแมรี แคเธอรีน เป็นแม่มดที่หลบหนีจากการเผาไหม้และความบ้าคลั่งของฝูงชน

ข้อความข้างต้นนี้ ผมยกมาเป็นองก์แถม สำหรับคนที่ชื่นชอบนิยายเรื่องนี้ไว้พิจารณาประกอบกับความเห็นของผม (ซึ่งไม่ตรงกันเลย)

เป็นปกติธรรมดาของวรรณกรรมชั้นดีนะครับ ที่จะจุดประกายความคิดของผู้อ่านไปได้หลากหลายแง่มุม We Have Always Lived in the Castle มีคุณสมบัติเช่นนี้อยู่เพียบพร้อม

โดยส่วนตัว ผมชอบแง่มุมเกี่ยวกับความลุ่มหลงในเทพนิยาย จินตนาการของแมรี แคเธอรีน การหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงในบางขณะ คุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ตัวละคร ‘หญิงสาวที่ไม่ยอมโต’ อย่างแมรี แคเธอรีน เหมาะที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกของเทพนิยาย มากกว่าการดำรงอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

ความชอบดังกล่าว ทำให้ผมอ่านจบรอบแรกแล้ว หยิบอ่านซ้ำรอบสองทันที หมายใจจะจับสังเกตรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นเทพนิยายผิดเรื่องที่ตัวละครประสบพบเจอ

ผลก็คือผมพบว่า มีความเป็นไปได้ว่าความจริงในนิยายเรื่องนี้ (ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ) อาจแตกต่างตรงข้ามหักล้างกับสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมด ตัวละครสามารถเปลี่ยนฝ่ายสลับขั้วกันได้อย่างน่าพิศวง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save