fbpx

บ้านผีสิง The Haunting of Hill House

ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยรู้จักและไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับเชอร์ลีย์ แจ็คสัน ทั้งงานเขียนของเธอ คำยกย่องชื่นชม รวมถึงการมีอิทธิพลและแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนเรื่องสยองขวัญรุ่นหลังจำนวนมาก

ครั้งแรกสุดที่ผมผ่านตาชื่อและผลงานของเธอ ปรากฏผ่านซีรีส์ปี 2018 เรื่อง The Haunting of Hill House โดยไมค์ ฟลานาแกน ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน

The Haunting of Hill House ฉบับนิยาย เพิ่งแปลเป็นภาษาไทยเมื่อปีกลาย ตั้งชื่อไทยว่า “บ้านนี้มีคนตาย” (งานเด่นอีกชิ้นหนึ่งของเชอร์ลีย์ แจ็คสันที่มีฉบับภาษาไทยแล้วก็คือ “บนดวงจันทร์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” แปลจากเรื่อง We Have Always Lived in the Castle)

ผมได้ดูซีรีส์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ส่วนฉบับนิยายนั้นเพิ่งอ่านจบสดๆ ร้อนๆ เทียบเคียงแล้วก็แตกต่างกันมาก จนแทบจะเป็นคนละเรื่อง ข้อมูลหลายแหล่งระบุว่าเป็น loosely based on/loosely adaptation หรือการดัดแปลงแบบหลวมๆ ไม่ได้เคร่งครัดเดินตามตัวเรื่องเดิม

นิยายเรื่อง The Haunting of Hill House ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1959

เชอร์ลีย์ แจ็คสันเกิดปี 1916 ที่ซาน ฟรานซิสโก เธอมีวัยเด็กที่ยากลำบาก เปลี่ยวเหงา ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ไม่สู้จะดีนัก

หลังจากเรียนจบและแต่งงาน แจ็คสันเป็นแม่บ้านควบคู่ไปกับการทำงานเขียน เส้นทางอาชีพของเธอประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ชีวิตส่วนตัวกลับตรงกันข้าม ไร้สุข แปลกแยก โดดเดี่ยว และพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความเคารพและการยอมรับจากสามี (สแตนลีย์ เอ็ดการ์ ไฮแมน นักวิจารณ์วรรณกรรมที่มีชื่อเสียง และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เบนนิงตัน คอลเลจ) ซ้ำร้ายกว่านั้น เธอป่วยเป็นโรค agoraphobia (โรคกลัวที่ชุมชน ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกหวาดกลัว กังวล เมื่ออยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ ซึ่งคิดว่าหากมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือพึ่งพาใครๆ ได้ รวมถึงหวาดกลัวสถานที่หรือสถานการณ์ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอับอายและเกิดอาการตื่นตระหนก ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่สถานที่อันมีผู้คนเนืองแน่นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงสถานที่คับแคบ ปกปิดมิดชิด รวมทั้งกลัวการถูกทอดทิ้งให้อยู่ในบ้านตามลำพัง)

เชอร์ลีย์ แจ็คสันเสียชีวิตในปี 1965 ขณะมีอายุได้ 48 ปี

ผลงานของเชอร์ลีย์ แจ็คสันทั้งเรื่องสั้นและนิยาย ทำให้เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนคนสำคัญในแนวทางลึกลับและสยองขวัญ

กล่าวเฉพาะ The Haunting of Hill House งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการประเมินค่าว่าเป็นหนึ่งใน ‘เรื่องผี’ ที่ดีเยี่ยมสุดในศตวรรษที่ 20 และมักจะถูกเชิดชูสรรเสริญเคียงคู่กับ The Turn of the Screw ของเฮนรี เจมส์ (เรื่องนี้ฉบับภาษาไทยมี 2 สำนวนแปล คือเรื่อง ‘ขวัญหาย’ โดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ และ ‘เธอยังอยู่เหย้าเขายังเฝ้าเรือน’ โดยสำนักพิมพ์ Merry go Round) ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์โดยไมค์ ฟลานาแกนในชื่อ The Haunting of Bly Manor

The Haunting of Hill House เป็นนิยายจำพวก ‘บ้านผีสิง’ ซึ่งเป็นแขนงย่อยของกลุ่มวรรณกรรมที่เรียกกันว่า gothic novel

พล็อตเรื่องคร่าวๆ เล่าถึงด็อกเตอร์จอห์น มอนทากิว ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา ซึ่งสนใจศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เฝ้าตามหา ‘บ้านผีสิง’ เพื่อทำการพิสูจน์ จนกระทั่งพบเจอบ้านเก่าโบราณอายุ 80 ปีชื่อฮิลล์เฮาส์ จึงทำสัญญาเช่าระยะสั้น จากนั้นก็เชื้อเชิญผู้คนที่มีคุณสมบัติเข้าข่าย เพื่อเดินทางไปใช้ชีวิตในบ้านดังกล่าวร่วมกัน ประกอบไปด้วยหญิงสาววัย 32 ปีชื่อเอเลนอร์ แวนซ์ (เรื่องราวทั้งหมดต่อมาเล่าผ่านมุมมองของเธอ) คนต่อมาเป็นหญิงสาวบุคลิกเชื่อมั่น ร่าเริงแจ่มใสชื่อทีโอดอรา รายสุดท้ายเป็นชายหนุ่มชื่อลูค แซนเดอร์สัน หลานชายคุณนายแซนเดอร์สันผู้เป็นเจ้าของบ้าน และเป็น ‘ว่าที่’ ทายาทซึ่งจะได้รับมรดกครอบครองบ้านหลังนี้ในอนาคต

เหตุการณ์ที่เหลือถัดจากนี้ไปจนจบ คือผู้คนดังกล่าวเดินทางไปใช้ชีวิตในบ้านฮิลเฮาส์ แล้วก็ต้อง ‘เจอดี’ ตามคาด ประสบกับเหตุการณ์ประหลาด (และสยอง) ต่างๆ นานา

ดูเผินๆ แล้วก็เป็นเค้าโครงเรื่องเหมือนๆ กับเรื่องประเภท ‘บ้านผีสิง’ ทั่วไปจำนวนมาก แต่ The Haunting of Hill House กล่าวได้ว่าแตกต่าง ไม่เหมือนใคร อย่างชัดเจนตลอดทั่วทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นงานเขียนอายุ 60 กว่าปีที่ยังคงล้ำยุค มาก่อนกาลและอมตะเหนือกาลเวลา สดใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (สูงปรี๊ดหรือสูงเป็นเปรตเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของเรื่องสยองขวัญ) แม้จะอ่านกันในปัจจุบันก็ตาม

ความแตกต่างนี้เข้าลักษณะที่เรียกกันว่า terror rather than horror เป็นความน่ากลัวในเชิงเขย่าขวัญมากกว่าจะเป็นความน่ากลัวแบบสยองขวัญ

พูดอีกแบบคือมันเป็นความกลัวที่เล่นกับปฏิกิริยา อารมณ์ความรู้สึก ความคิดเบื้องลึกในใจของตัวละคร มากกว่าจะเป็นความกลัวที่เกิดจากการจู่โจมด้วยภาพแหวะๆ หรือการหลอกหลอนเล่นงานอย่างโหดร้ายของภูติผีปีศาจ

ลักษณะข้างต้นนั้น อาจทำให้ผู้อ่านบางท่านติดตามนิยาย The Haunting of Hill House จบลง ด้วยความรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ากลัวเลย กับอีกหนึ่งความเป็นไปได้คือน่ากลัวสุดๆ

ผมอยู่ในข่ายประเภทหลัง ตามประสาคนกลัวผีเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว แต่ความรู้สึกกลัวที่เกิดจากการอ่าน The Haunting of Hill House ก็ไม่ได้เป็นไปในแบบเดียวกับการดูหนังผีหรืออ่านเรื่องผีทั่วๆ ไป

ต่างกันอยู่มากทีเดียว ไม่มีความกลัวในแบบขนลุกซู่ ไม่กล้าเข้าห้องน้ำยามวิกาล หรือกลัวจนต้องนอนคลุมโปง แต่เป็นความกลัวในลักษณะเหมือนมีบางสิ่ง (ซึ่งบอกออกมาเป็นรูปธรรมไม่ได้ว่าคืออะไร) รบกวนจิตใจ ทำให้รู้สึกไม่เป็นสุข ไม่ปลอดภัย ไม่น่าไว้วางใจ ห่อหุ้มด้วยอารมณ์หลอนๆ อยู่ตลอดเวลา

ความเหนือชั้นต่อมาของ The Haunting of Hill House ซึ่งผมคิดว่ายอดเยี่ยมมาก ก็คือมันเป็นเรื่องผีที่ไม่มีผีนะครับ

มีการหลอกหลอน ความไม่ปกติ เหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว ความไม่ชอบมาพากล สารพัดสารพันตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยรูปแบบวิธีการหลากหลาย แต่ไม่มีตรงไหนแห่งใดเลยที่ผู้อ่านจะได้พบเห็นเจอะเจอผีมาปรากฏให้เห็นกันจะๆ ซึ่งๆ หน้า

ผมสันนิษฐานว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ The Haunting of Hill ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ‘เรื่องผี’ ที่ดีที่สุด น่าจะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก

อย่างแรกคือ การสร้างความน่ากลัว อย่างต่อมาคือ ความน่ากลัวนั้นเชื่อมโยงไปสู่ความลึก

ปัจจัยอย่างแรกนั้นแพรวพราวและหลากหลายวิธีการมาก เริ่มตั้งแต่รายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางและวิธีเดินทางไปยังบ้านฮิลเฮาส์ ซึ่งเต็มไปด้วยความลี้ลับ ปฏิกิริยาท่าทีไม่เป็นมิตรของผู้คนในหมู่บ้านชื่อฮิลส์เดลที่มีต่อบ้านฮิลล์เฮาส์ การพรรณนาวาดภาพเกี่ยวกับตัวบ้านผีสิงให้เห็นถึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่พิลึกพิลั่น บุคลิกนิสัยและพฤติกรรมแปลกๆ ของแม่ครัวและผู้ดูแลบ้าน การสร้างบรรยากาศ การใช้สภาพอากาศ ทั้งความเหน็บหนาว ฝน หมอก แสงแดด ขับเน้นความ ‘ไม่น่าอยู่’ การเล่นกับเสียงโดยปราศจากภาพ การใช้ประโยชน์จากทิวทัศน์ภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขาที่รายล้อมบริเวณบ้าน ทำให้ตัวละครมีสภาพเหมือนตกอยู่ในบริเวณจำกัดที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง รวมถึง ‘ฉากผีหลอกที่ไม่มีผี’ ซึ่งโยงไปยังลักษณะเด่นสำคัญคือ ความก้ำกึ่งคลุมเครือ และการละเว้นข้ามผ่านข้อมูลบางอย่างที่ผู้อ่านอยากรู้

อย่างหลังนี้โดดเด่นมาก เมื่อถึงคราวต้องเล่าเกี่ยวกับอดีตอันชั่วร้ายของบ้านผีสิง ซึ่งผู้อ่านทราบแต่เพียงคร่าวๆ ถึง ‘ประวัติไม่ดี’ ของตัวบ้าน แต่ไม่กระจ่างชัดไปเสียทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์เลวร้ายที่ผู้เช่าจำนวนมาก แทบไม่มีรายใดอยู่ได้เกิน 3 วัน แต่ไม่มีการเปิดเผยว่าผู้คนเหล่านี้เจอะเจอสิ่งใดมาบ้าง

เหนือสิ่งอื่นใดคือการทำให้บ้านมีชีวิต และกลายเป็นตัวละครสำคัญ ซึ่งหลอกหลอน ครอบงำ และทำร้ายผู้คนที่พำนักอาศัย ตั้งแต่แผนผังอันสลับซับซ้อนของห้องหับต่างๆ มากมาย ความคิดเบื้องต้นของผู้สร้างบ้านที่มีสภาพจิตใจผิดเพี้ยนไม่ปกติ จนทำให้บ้านสำเร็จเสร็จสิ้นกลายเป็นเคหาเหย้าเรือนที่พิลึกพิลั่น

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตลอดทั่วทั้งเรื่องของ The Haunting of Hill House เต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่ปกติหรือมีฉาก ‘ผีหลอก’ มากมายเต็มไปหมด แต่ในทางตรงกันข้าม ความก้ำกึ่งคลุมเครือ รวมถึงลักษณะวิธีการของการหลอกหลอนที่แตกต่างจากเรื่องผีตามมาตรฐาน ก็ส่งผลให้สามารถมองได้อีกแบบว่า ไม่มีฉากผีหลอกอยู่เลย ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงแค่ตัวละครคิดนึกรู้สึกไปเอง

ตรงนี้เกี่ยวโยงแนบเนื่องไปยังจุดเด่นต่อมา นั่นคือ ความลึก

เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละเก้าสิบของ The Haunting of Hill House เล่าผ่านมุมมองของเอเลนอร์ ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง

นิยายให้พื้นเพความเป็นมาเกี่ยวกับเอเลนอร์ไว้ว่า เธอใช้เวลาสิบเอ็ดปีที่ผ่านมา ดูแลแม่ที่ป่วยและพิการ (มิหนำซ้ำยังเป็นหญิงชราอารมณ์ร้าย) มีชีวิตโดดเดี่ยว ช่างคิดช่างฝัน สับสนว้าวุ่น ปราศจากความเชื่อมั่นในตนเอง ขัดแย้งกับครอบครัวของพี่สาว และอยากจะหลบหนีให้พ้นจากทุกสิ่งดังกล่าว

พื้นฐานนิสัยข้างต้น ส่งผลให้เรื่องเล่าผ่านมุมมองของเอเลนอร์ ‘ไม่ปกติ’ ไปโดยปริยาย ทั้งผู้คนต่างๆ ที่เธอพบเจอ โดยเฉพาะอีก 3 ชีวิตที่ต้องมาล่มหัวจมท้ายด้วยกันในบ้านฮิลล์เฮาส์ บทสนทนาที่เกิดขั้นกับใครต่อใคร (นิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยฉากสนทนาในลักษณะ ‘ต่างคน ต่างคุย’ ไปคนละเรื่อง จนเกือบๆ จะถึงขั้น ไม่มีใครสนใจใคร) ความรู้สึกของเอเลนอร์ต่อสิ่งต่างๆ ที่แปรผันไปมาอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ ความรู้สึกที่เธอมีต่อบ้านฮิลล์เฮาส์ และความรู้สึกที่มีต่อทีโอดอรา

อย่างแรกนั้นเป็นอารมณ์พลิกผันไปมา ระหว่างความหวาดหวั่นพรั่นพรึง ความเปราะบางจนไม่อาจทนทานอยู่ที่นี่ได้อีกต่อไป ความปรารถนาจะหลบหนีไปให้พ้นจากบ้านหลังนี้ แต่ในอีกด้าน เอเลนอร์ก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกรื่นรมย์ (หลังจากผ่านเหตุสยองน่ากลัวไปแล้ว) ความอบอุ่นผูกพันในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น หลังจากผ่านประสบการณ์ ‘ไม่มีใคร’ มาตลอดทั้งชีวิต ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

อารมณ์ความรู้สึกทั้งสองขั้วนี้พลิกผันไปมาตลอดเวลา

ความรู้สึกที่มีต่อทีโอดอราก็เช่นกัน ทั้งสองพักห้องติดกัน และด้วยความเป็นเพศเดียวกัน จึงเกิดความสนิทสนมมากกว่าสมาชิกรายอื่นๆ แต่ตลอดเวลาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก็ก้ำกึ่งระหว่างความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียด บางขณะก็ชิงดีชิงเด่นกัน หยอกล้อกลั่นแกล้งกัน บางขณะก็ปลอบโยนช่วยเหลือกัน พึ่งพาอาศัยกัน (เพื่อที่จะผ่านความกลัว)

พูดอีกอย่างได้ว่า สภาพจิตใจของเอเลนอร์ (ซึ่งละม้ายคล้ายกับชีวิตจริงของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน) มีความสลับซับซ้อนและมีแนวโน้มของความป่วยไข้ในจิตใจ มีความเปราะบางอ่อนแอ

พื้นฐานข้างต้นของเอเลนอร์นี้ นำพาผู้อ่านไปสู่แง่มุมสำคัญของ The Haunting of Hill House (ซึ่งเป็นส่วนที่ผมคิดว่า ‘สยองลึก’ มากสุด) นั่นคือ การที่ตัวละครค่อยๆ ถูกหลอกหลอนและครอบงำโดย ‘บ้านผีสิง’ ทีละน้อย จนกระทั่งถึงขีดขั้นถลำลึก ‘กู่ไม่กลับ’ เกินกว่าจะไถ่ถอนตนเองออกมา

แง่มุมนี้ ทำให้ผมเข้าใจและเกิดความกระจ่างแจ้งว่า เพราะเหตุใดนักเขียนนิยายสยองขวัญยอดนิยมอย่างสตีเฟน คิงจึงยกย่องชื่นชมเชอร์ลีย์ แจ็คสัน และเคยกล่าวถึงความยอดเยี่ยมของ The Haunting of Hill House ไว้มากมาย ในหนังสือชื่อ Danse Macabre (งานเขียนประเภท non-fiction ปี 1981) พูดถึงเรื่องสยองขวัญในนิยาย, รายการโทรทัศน์, รายการวิทยุ, หนังและหนังสือการ์ตูนอย่างละเอียดยิบ

ตัวละครที่เปราะบางทางด้านจิตใจและความหมกมุ่นหลงใหล จนกระทั่งถูกครอบงำโดยสถานที่อันมีประวัติความเป็นมาน่าสะพรึงกลัว ซึ่งถ่ายทอดออกมาอย่างทรงพลังใน The Haunting of Hill House มีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทำให้สตีเฟน คิง เขียนนิยายเรื่องเด่นชิ้นสำคัญของเขาอย่าง The Shining ออกมา

หัวใจสำคัญของทั้งสองเรื่องนี้ใกล้เคียงกันมาก แทบจะเรียกได้ว่าถอดแบบกันมาเลยทีเดียว แตกต่างกันเพียงแค่รายละเอียด รวมถึงทิศทางวิธีการเร้าอารมณ์ (ซึ่งต่างกันมาก)

แต่ที่แตกต่างกันมากสุดคือ อารมณ์ในบั้นปลาย ขณะที่ The Shining มุ่งไปยังความตื่นเต้นเร้าใจ และสร้างความกลัวให้กับผู้อ่านในรูปแบบสยองขวัญเต็มอัตรา The Haunting of Hill House กลับมีบทสรุปที่หม่นเศร้า สะเทือนอารมณ์ และน่ากลัวแบบยะเยือกลึก

อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้อ่านในตอนจบของ The Haunting of Hill House ส่งผลให้นักวิจารณ์หลายท่านมองว่า เอเลนอร์เป็นตัวละครแอนตีฮีโรที่โดดเด่น (และมีความลึก) มากสุดคนหนึ่งในแวดวงนิยายสยองขวัญ มีแง่มุมให้ผู้อ่านขบคิดตีความกันได้อย่างหลากหลาย ทั้งในเชิงจิตวิเคราะห์ ทั้งในการเทียบเคียงระหว่างนิยายกับชีวิตจริงของผู้แต่ง

แต่ที่โดดเด่นกว่านั้น คือมันทำให้แก่นเรื่องของ The Haunting of Hill House ว่าด้วยการปะทะขัดแย้งระหว่างพลังอำนาจเหนือธรรมชาติกับปมทางจิตวิทยา, การเสาะแสวงหาบ้านที่แท้จริง (ของเอเลนอร์), พิษสงและความปวดร้าวของชีวิตที่โดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคมรอบข้าง รวมทั้งความกลัวเบื้องลึกในจิตใจมนุษย์ ยิ่งทวีความเข้มข้นและทรงพลัง

มีบทสนทนาช่วงหนึ่ง (หน้า 160) ตัวละครคุยกันดังนี้

ผมคิดว่าเราก็แค่กลัวตัวเราเอง” ด็อกเตอร์พูดช้าๆ

“ไม่ใช่หรอกครับ” ลูคแย้ง “เราแค่กลัวที่จะมองเห็นตัวเองต่างหาก มองเห็นตัวเองอย่างแจ่มชัด ในสภาพที่ไร้สิ่งอำพรางปกป้อง”

บทสนทนาข้างต้นนี้น่าจะเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดสุด ในการอธิบายว่า The Haunting of Hill House น่ากลัวในลักษณะใด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save