fbpx
วรุตม์ อินทฤทธิ์

“สังคมศึกษา วิชาการเมืองในโรงเรียน” – วรุตม์ อินทฤทธิ์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

 

 

“เพราะสังคมศึกษา คือวิชาการเมืองเบื้องต้นสำหรับนักเรียน”

หากกวาดตามองรายวิชาต่างๆ ในโรงเรียน สังคมศึกษา ถือเป็นศาสตร์เดียวที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ

แต่ขณะเดียวกัน เนื้อหาวิชาดังกล่าวก็ถูกกำหนดโดยรัฐเสียส่วนใหญ่ ว่าเด็กควรรู้จักการเมืองแบบไหน จดจำประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างไร และเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณลักษณะแบบใด

ในวันที่นักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งคำถามต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล และกล่าวขวัญถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย วิชาสังคมศึกษาควรจะให้อะไรกับพวกเขา การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนไปหรือไม่ เราจะสามารถหยิบยกสถานการณ์ปัจจุบันมาพูดคุยกันในชั้นเรียนได้มากน้อยแค่ไหน

101 สนทนากับ วรุตม์ อินทฤทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เจ้าของงานศึกษาเรื่อง “สังคมศึกษาและการสร้างความเป็นพลเมืองดีภายใต้ระบอบการเมือง การปกครองไทย” ไล่เรียงบทเรียนสังคมศึกษาซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองแต่ละยุค มาจนถึงวันที่ครูต้องปรับตัว สอนเด็กรุ่นใหม่ผู้กลายเป็นกำลังสำคัญของการเคลื่อนไหวตอนนี้

 

สังคมศึกษา คือวิชาการเมืองเบื้องต้นในโรงเรียน

 

เมื่อพูดถึงการเมือง คนเจเนอเรชันพ่อแม่ของเรามักเข้าใจว่า เป็นเรื่องของนักการเมือง หรือเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จริงๆ การเมืองเป็นเรื่องของการตัดสินใจให้คุณค่าว่าใครจะได้อะไร เมื่อไร อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ควรได้งบประมาณเท่าไร ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราโดยตรง และยังรวมไปถึงการกำหนดเนื้อหาในหลักสูตรการศึกษา ว่าคุณเรียนจบแต่ละระดับชั้นต้องรู้อะไรเท่าไร และควรมีคุณลักษณะอย่างไร

ถ้าเรามองเนื้อหาวิชาสังคมศึกษา จะเห็นว่าถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ให้สอนความรู้เรื่องของศีลธรรม จรรยา หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้ว คุณต้องยึดมั่นในระบอบการปกครอง เป็นศาสนิกชนที่ดี มีความภูมิใจ รักความเป็นชาติไทย และต้องธำรงความเป็นไทย นั่นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังกำหนดความเป็นพลเมืองดีผ่านวิชาสังคมศึกษา ดังนั้น สังคมศึกษาจึงแทบจะแยกไม่ออกจากการเมือง เมื่อรัฐมีความเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแนวคิดอะไรบางอย่าง รัฐจะสอดแทรกแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาผ่านเนื้อหาวิชาสังคมศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับนโยบายมาปรับ นี่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว

มองในอีกแง่หนึ่ง สังคมศึกษาก็ถือได้ว่าเป็นวิชาการเมืองเบื้องต้นสำหรับนักเรียน เพราะเป็นศาสตร์เดียวที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงระบอบการเมืองการปกครอง รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีกี่มาตรา ลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นอย่างไร รู้คอนเซปต์เรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ รวมถึงศีลธรรมทางพุทธศาสนา และหลักธรรมเบื้องต้นของศาสนาต่างๆ เป็นวิชาสำคัญที่ทำให้เด็กเข้าใจการเมือง

ถ้าไม่มีการเมือง เราก็คงไม่ต้องเรียนสังคมศึกษา ไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดว่าควรเป็นบุคคลแบบไหนตามแนวคิดของรัฐ สองสิ่งนี้จึงเกี่ยวข้องกันอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

พัฒนาการสังคมศึกษาแต่ละยุคการเมือง

 

ในยุคก่อนที่จะมีระบบการศึกษาเป็นแบบแผนจริงจัง การเรียนวิชาสังคมศึกษาหรือตำราเรียนวิชานี้ฉบับแรกที่ได้รับการยอมรับ คือ ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการทำความดี ความชั่ว นำมาสู่ค่านิยมเรื่องกตัญญูรู้คุณ

ต่อมา เมื่อระบบการศึกษาถูกพัฒนาเป็นแบบแผน เนื้อหาวิชาแรกที่ถูกกำหนดในสังคมศึกษา จึงเป็นวิชาจรรยา ซึ่งผูกโยงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าในแง่หนึ่ง รัฐอาจไม่ใช่องค์กรเดียวที่มีบทบาทต่อนิยามความเป็นพลเมืองดีเท่านั้น เรายังถูกกำหนดโดยสถาบันศาสนาด้วย

การเรียนยุคแรกๆ เน้นความเป็นพลเมืองดีตามหลักศาสนา มาจนถึงช่วงรัชกาลที่ 6-7 ในช่วงนั้น หากเราเทียบวิธีการสร้างรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ระหว่างรัชกาลที่ 5 กับรัชกาลที่ 6 จะเห็นว่าความเป็นสมมติเทพของกษัตริย์น้อยลงไป รัชกาลที่ 5 มีความเข้มแข็งมากกว่า สามารถบริหารราชการแผ่นดินสามารถเป็นไปตามนโยบายของพระองค์มากกว่า นอกจากนี้ คนยังเกิดการตั้งคำถามต่อการปกครองมากขึ้น เรามีกบฏร.ศ.130 ในสมัยนั้น

สิ่งที่รัชกาลที่ 6 ทำ คือ การปลูกฝังเนื้อหาบางอย่างลงในแบบเรียนสังคมศึกษา ซึ่งดำเนินมาถึงปัจจุบัน คือ อุดมการณ์เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อปลูกฝังคนรุ่นใหม่ผ่านการเรียนการสอนรายวิชานี้

จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในพ.ศ. 2475 สังคมศึกษาไม่ได้มีแค่เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้ว เพราะคณะราษฎรได้ยกอีกหนึ่งอย่างเข้ามาอยู่ในรายวิชานี้ และอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย คือ เรื่องของรัฐธรรมนูญ เพราะในช่วงแรกหลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ไม่นาน หน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องทำให้พลเมืองต้องเข้าใจระบอบการปกครองแบบใหม่ เด็กต้องเรียนรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มีความเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น หลักสูตรปีพ.ศ. 2480 ที่เป็นหลักสูตรแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รายวิชาหน้าที่พลเมืองหรือที่เกี่ยวข้องจะมีเรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้น เด็กต้องเรียนรู้การเคารพรัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเราจะไม่เห็นภาพแบบนี้ในรายวิชาก่อนพ.ศ. 2475 เพราะยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราผูกสังคมศึกษาไว้กับเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสำคัญ

แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ จะพบว่าอำนาจของคณะราษฎรมีเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น คือช่วงปีพ.ศ. 2475-2490 ก่อนถูกรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการว่า เป็นจุดเริ่มต้นของทหารอาชีพเข้ามาเป็นทหารการเมือง พอเกิดรัฐประหารปีพ.ศ. 2490 จนนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2492 กลุ่มที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ คือ กลุ่มของควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก เราก็ได้เห็นเนื้อหาวิชาสังคมศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป

เราเห็นเนื้อหาเกี่ยวกับการสำนึกบุญคุณวีรชนมากขึ้น การเรียนประวัติศาสตร์เริ่มให้ความสำคัญกับตัวบุคคล คำว่า บุคคล ในที่นี้ คือ ผู้นำในยุคราชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อเด็กเรียนแล้ว ต้องสำนึกบุญคุณ เห็นความสำคัญของบรรพกษัตริย์ของชาติ เนื้อหาหรือวัตถุประสงค์เหล่านี้ เราไม่เคยมีมาก่อนในแบบเรียนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ

ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มควง อภัยวงศ์ เป็นกลุ่มอนุรักษนิยม และค่อนข้างรอยัลลิสต์ จึงผลักดันรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ส่งผลไปยังหนังสือเรียน กล่อมเกลาเยาวชนหรือพลเมืองในภายภาคหน้าให้เป็นไปตามแนวคิดกลุ่มผู้มีอำนาจใหม่ ฉะนั้น จุดเน้นของสังคมศึกษาช่วงพ.ศ. 2475 กับหลังพ.ศ. 2490 จึงแตกต่างกัน เรียกได้ว่าช่วงหลังมีความชาตินิยมมากขึ้น

ความชาตินิยมนี้ดำเนินเรื่อยมา ยุคของจอมพลป. พิบูลสงคราม ก็เน้นเรื่องชาตินิยมผ่านประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ จนถึงสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เกิดความลักลั่นอย่างหนึ่ง คือ เราพยายามปลูกฝังความเป็นไทย ความรักชาติผ่านหนังสือเรียน แต่การเมืองขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของจอมพลสฤษดิ์ หรือจอมพลถนอม ล้วนเป็นไปตามนโยบายของอเมริกา ซึ่งขณะนั้นเข้ามามีอำนาจในเมืองไทยเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

และนอกจากการให้ความสำคัญเรื่องวีรชน หนังสือสังคมศึกษายังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ที่มีหัวใจสำคัญ คือ การตั้งคำถาม ถกเถียงกันได้อย่างอิสระ แต่สถานการณ์ขณะนั้น อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน ใช้คำว่าถูก “แช่แข็งทางการเมือง” อยู่ สังคมเป็นโหมดแช่แข็ง ไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ไม่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม นี่จึงเป็นความลักลั่นว่า คนที่ได้รับการศึกษาก็เริ่มตั้งคำถามต่อระบอบการปกครอง ว่าทำไมสิ่งที่เขาเรียนในหนังสือเรียนถึงไม่เหมือนกับสภาพสังคมจริง

สุดท้าย ผลจากการขยายการศึกษาแบบประชาธิปไตย ที่สอนให้คนตั้งคำถาม มีส่วนร่วมต่อระบอบการเมืองการปกครอง แต่สังคมไม่เปิดโอกาสโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาพูด เขียน พิมพ์ และแนวคิดชาตินิยมที่เราปลูกฝังในบทเรียน ก็กลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กลุ่มนักศึกษาออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาล ต่อต้านอิทธิพลของอเมริกา กล่าวได้ว่าผลจากการกำหนดหลักสูตรแบบเรียนเหล่านั้น สะท้อนกลับไปยังตัวรัฐบาลซึ่งไม่ยอมปรับเปลี่ยนแนวคิด หรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองทำ

สำหรับเนื้อหาสังคมศึกษาล่าสุด เนื่องจากปีพ.ศ.2557 เกิดการรัฐประหารขึ้น ทำให้สังคมศึกษาเพิ่มเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์มากขึ้น และแยกรายวิชาหน้าที่พลเมืองออกมา โดยวิชาดังกล่าวมีเพิ่มเนื้อหาค่านิยม 12 ประการของคสช. ในขณะนั้น แต่ปัจจุบัน ก็ไม่ได้เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนแล้ว ขึ้นอยู่กับตัวครูผู้สอนแต่ละแห่งมากกว่าว่าจะสอนวิชาพลเมืองกันอย่างไร

 

สิ่งที่สังคมศึกษา เลือกสอน และไม่สอน

 

สังคมศึกษาเป็นวิชาที่บูรณาการสังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เข้าไปสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน เป็นการทำให้เนื้อหาเหล่านั้นง่ายขึ้น และปูพื้นฐานให้เด็กในโรงเรียนเข้าใจถึงความเป็นพลเมือง แต่ในมหาวิทยาลัย เวลาเราเรียนเนื้อหาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ เราเรียนแก่นของมัน ทำให้ได้เรียนตำราเรื่องเดียวกันจากนักคิดหลายๆ คน ได้เห็นหลายๆ มิติ ซึ่งในโรงเรียนขาดไป เพราะถูกกำหนดโดยกระทรวงให้เรียนแค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้นที่เขาคิดว่ารู้แค่นี้ก็พอ

มีหลายเหตุการณ์ที่เนื้อหาวิชาสังคมศึกษาไม่มี ยกตัวอย่าง เราได้เรียนเหตุการณ์ 14 ตุลา ในโรงเรียน แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา เราจะได้เรียนเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ในหนังสือเรียนแทบไม่พูดถึงเลย เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจอยากให้ลืม อยากให้จบไปโดยเร็ว ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากนั้นมีการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ที่ไม่เพียงทำให้นักศึกษาในขณะนั้นได้รับการอภัยโทษ แต่ผู้กระทำผิดทั้งหมดก็ได้รับอภัยโทษเช่นกัน จนไม่อาจเอาผิดกับผู้กระทำผิดคนใดได้เลย เมื่อหนังสือเรียนไม่พูดถึง เด็กก็เริ่มตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร ทุกวันนี้เด็กที่ออกไปชุมนุมมักหยิบยกเหตุการณ์ 6 ตุลามาพูดถึงกันมาก สะท้อนให้เห็นว่าเขาสงสัยกับเนื้อหาที่ถูกข้ามไปในแบบเรียน

นอกจากนี้ เนื้อหาบางอย่างในหนังสือเรียนก็อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์สุโขทัย เราถูกสอนให้เชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่เมื่อเรียนในระดับอุดมศึกษา จะพบว่ามันเป็นเพียงกุศโลบายบางอย่างที่พยายามบอกว่าบ้านเมืองเรารุ่งเรืองเท่านั้น สุโขทัยตั้งไกลจากลุ่มแม่น้ำ ไม่เหมือนอยุธยา ดังนั้น สุโขทัยไม่ได้อุดมสมบูรณ์ขนาดนั้น ต้องสร้างเขื่อนขึ้นมาให้นำน้ำมาใช้ในเมือง พอไม่ได้อุดมสมบูรณ์มันก็เลยเสื่อมเร็ว

อีกตัวอย่างหนึ่งคือประวัติศาสตร์กษัตริย์ของอยุธยา ในหนังสือเรียนมักบอกเราอยู่เสมอว่าไม่นับขุนวรวงศาธิราชเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว พอเราไปดูหลักฐานประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดี จะเห็นได้ว่าขุนวรวงศาธิราชมีการบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เพราะงั้นก็ควรถูกนับเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งเช่นเดียวกัน นี่คือความแตกต่างของการเลือกเนื้อหาที่ไปบอกเด็ก และเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจอาจกำลังชี้นำอะไรบางอย่างผ่านแบบเรียนสังคมศึกษาในโรงเรียนอยู่

 

ความชาตินิยมในแบบเรียน

 

อันที่จริง แนวคิดชาตินิยมในหลักสูตรการศึกษาก็มีอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้โจ่งแจ้ง ชัดเจนนัก เช่น หลักสูตรของอังกฤษ วิชา citizenship ของเขามีเนื้อหาการ shape nation ว่าพัฒนาการที่ผ่านมาส่งผลต่อการสร้างความเป็นอังกฤษได้อย่างไร หรืออังกฤษมีอิทธิพลต่อชาติอื่นอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างความเป็นชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังในแบบเรียนของอังกฤษ หรือประเทศใกล้กันอย่างสิงคโปร์ ก็เน้นความเป็นชาตินิยมอยู่เหมือนกัน อย่างวิชาสังคมศึกษาในสิงคโปร์ก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติ (national identity) ให้เด็กได้เรียน

แต่การเรียนการสอนเหล่านั้น เขาเน้นการโต้แย้ง วิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ อยู่บนหลักเหตุผล ต่างจากการเรียนด้วยแนวคิดชาตินิยมแบบในบ้านเรา ที่เรียนเพื่อเชื่อฟังและอย่าตั้งคำถาม เราต้องเชื่อฟังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจอะไรบางอย่าง

ถ้าถามว่าแนวคิดชาตินิยมเป็นเรื่องดีไหม เป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้คนเกิดความรู้สึกร่วมกันในชาติ เมื่อคนมีความรู้สึกร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะทำให้เขาเห็นความสำคัญของการกระทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ชาติดำรงอยู่ แต่ตอนนี้ เหมือนคนในบ้านเรายังไม่เข้าใจว่าชาติคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าดูการเรียนการสอนสังคมศึกษา ชาติมักจะอิงกับสถาบันอะไรบางอย่าง หรืออิงกับผู้มีอำนาจ มากกว่าอิงกับประชาชนหรือพลเมือง นี่จึงเป็นจุดแตกต่างกันระหว่างสังคมศึกษาชาตินิยมในสังคมไทยและประเทศเสรีตะวันตก

หากการเรียนแบบชาตินิยมของเราเป็นการเรียนไปด้วย เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามไปด้วย เช่น ชาติคืออะไรกันแน่ หรือทำไมเราต้องมีแนวคิดแบบชาตินิยม มีข้อโต้แย้งอะไรบ้างตามแบบหลักสูตรอังกฤษ ก็จะทำให้แนวคิดชาตินิยมไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำร้ายกันเอง หรือไม่ถูกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอ้างว่าตัวเองเป็นชาติ ถ้าเรายังเรียนชาตินิยมแบบเชื่อฟังทุกอย่าง ไม่ตั้งคำถามกับอะไรเลย เรียนแล้วปฏิบัติตามระบบอุปถัมภ์นั้น ก็จะมีกลุ่มคนบางกลุ่มอาจอ้างความเป็นชาติไว้ที่ตัวเองได้

 

สอน ‘ศีลธรรมทางศาสนา’ อย่าปะปนกับ

‘ศีลธรรมทางการเมือง’

 

ในการเรียนการสอนประชาธิปไตยของบ้านเรา มักเป็นการรวมกันระหว่าง ‘แนวคิดศีลธรรมทางศาสนา’ กับ ‘ศีลธรรมทางการเมือง’

ศีลธรรมทางศาสนา เราอิงมาจากหลักพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งบ่อยครั้งการทำดีเชื่อมโยงกับความกตัญญูรู้คุณ ส่วนศีลธรรมทางการเมือง คือ ความอดทนทางการเมือง อดทนต่อความแตกต่าง ส่วนร่วมทางการเมืองหรือตั้งคำถามต่อระบบการปกครอง สำหรับประเทศเสรีประชาธิปไตย เขาจะแยกสองเรื่องนี้ออกจากกันชัดเจน แต่บ้านเรายังมีการปะปนกันอยู่

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเคยช่วยเหลือคุณมาก่อน ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ แน่นอนว่าความรู้สึกที่คุณมีต่อผม คือ คุณคิดว่าอย่างน้อยควรจะตอบแทนผมสักครั้งหนึ่ง วันดีคืนดีผมลงเลือกตั้ง ต่อให้ผมอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด หรือบริหารประเทศดีที่สุด แต่คุณก็มีโอกาสเลือกผมมากกว่าคนอื่น เพราะคุณใช้ศีลธรรมทางศาสนาเรื่องความกตัญญูที่มีต่อผมมาเลือกผม ทั้งที่จริงๆ แล้ว คุณควรจะตัดเรื่องนี้ออกไปในกระบวนการทางการเมืองทั้งหมด

ทำนองเดียวกัน ถ้าผมเป็นรัฐบาล ให้เงินคุณ 5000 บาทต่อเดือนช่วงโควิด-19 ถ้าเรามองด้วยกรอบศีลธรรมทางการเมือง เราก็จะมองว่ารัฐมีหน้าจัดสวัสดิการให้แก่เราตามสิทธิ แต่ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่านี่คือบุญคุณ รัฐมาช่วยเหลือเราตอนลำบาก ทำให้เราได้ลืมตาอ้าปากได้ เมื่อไรที่เรามองแบบนี้ จะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยมาก

ถึงบางเรื่องอาจจะมีความใกล้เคียงกันมากระหว่างสองสิ่งนี้ เช่น การฆ่าคนตาย เป็นการกระทำผิดศีลธรรมทางศาสนาและผิดกฎหมาย แต่ผมก็ยังคิดเห็นว่าควรมองแบบแยกจากกัน ฆ่าคนสร้างเวรกรรมเวร และต้องรับบทลงโทษทางกฎหมายด้วย ถ้าเรานำศีลธรรมทางศาสนามาตัดสินศีลธรรมทางการเมือง ผมมองว่าเราไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยได้

การเรียนการสอนก็เช่นเดียวกัน สมมติว่าผมเป็นผู้ใหญ่ที่หัวอนุรักษนิยมมาก เจอเด็กคนหนึ่งที่ตั้งคำถามตลอด ผมอาจจะมองว่าเด็กคนนั้นก้าวร้าว ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ นี่เป็นการนำศีลธรรมทางศาสนาไปสอนเขา ทั้งที่สิ่งที่เขาตั้งคำถาม คือ ศีลธรรมทางการเมือง ถ้าเราฝึกให้เด็กตั้งคำถาม ถามได้ แล้วเราแยกแยะให้เป็น ว่าอะไรที่มาจากศาสนา หรือมาจากการเมือง ประชาธิปไตยในบ้านเราน่าจะไปไกลกว่านี้

 

คุยการเมืองกันในห้องเรียนได้ไหม

 

หากถามว่าเราสามารถหยิบยกสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมาถกเถียงกันในชั้นเรียนได้ไหม ผมมองว่าตามหลักการจริงๆ ควรมี เพราะการเมืองควรเป็นเรื่องที่เราพูดกันได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผมไปนิเทศนักศึกษาฝึกสอนในโรงเรียนต่างๆ เวลามีเด็กตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมือง ครูส่วนใหญ่ก็พยายามหลีกเลี่ยง ให้ไปหาข้อมูลนอกห้อง ไม่ก็เปลี่ยนเรื่อง ทั้งหมดนี้ เพราะคนมีความคิดว่าเมื่อพูดถึงการเมืองต้องทะเลาะกัน ต้องมีการแบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย การเมืองจะนำมาสู่ความวุ่นวาย เป็นผลมาจากการที่เราถูกหล่อหลอมในช่วงที่มีการแบ่งสีเสื้อ เรียนรู้ผ่านสื่อมามากมาย จนครูในโรงเรียนหรือเด็กที่โตมาเป็นครูในวันนี้ มองการเมืองเป็นเรื่องวุ่นวาย ไม่อยากให้เด็กพูดเยอะ ถามเยอะ ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนของครูสังคม

อันที่จริงผมคิดว่าควรเปลี่ยน mindset ใหม่ ว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติและมีอยู่ทุกที่ แค่เรามาอยู่ร่วมกันในโรงเรียน ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียน ก็เป็นเรื่องการเมืองแล้ว เราควรจะหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่อยู่นอกชั้นเรียนมาคุยกันได้ ให้เป็นเรื่องปกติของการเรียนการสอน ซึ่งครูสังคมศึกษาต้องถามตัวเองด้วยว่า ตอนนี้ตัวเองมี mindset ต่อเรื่องชุมนุม หรือกิจกรรมทางการเมืองอย่างไร กล้าหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลงการสอน

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ครูรุ่นใหม่ก็ยังมีความหวั่นเกรงต่อการคุยเรื่องการเมืองอยู่อย่างชัดเจน ทุกวันนี้ลูกศิษย์ผมถามอยู่เสมอว่าถ้าเด็กตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ควรจะตอบอย่างไรผมก็ตอบว่าถ้าผมเป็นคุณ ต้องไปสอนนักเรียนในโรงเรียน ผมจะสอนให้นักเรียนลองชั่งน้ำหนักค่าเสียโอกาส ระหว่างการไปชุมนุมกับไม่ไปชุมนุม แบบไหนที่เขาจะมีโอกาสมากกว่ากัน

ถ้าไปชุมนุม เราไม่รู้ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นไหม ตกลงว่าเขาเข้าใจจุดประสงค์ของการชุมนุมแล้วหรือยัง ถ้าไปแล้วอาจจะต้องขาดเรียน มีค่าใช้จ่ายนะ แต่ถ้าไม่ไป เขารับได้ไหมกับสถานการณ์ความเป็นอยู่ตอนนี้ รับได้ไหมที่เขากับอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ รับได้ไหมกับการที่ภาษีของถูกจัดสรรในรูปแบบที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ ครูมีหน้าที่ตั้งคำถามเหล่านี้ และให้เด็กคิดเองว่าแบบไหนที่เขาอยากจะทำ

 

เป็นเด็กควรตั้งใจเรียน มากกว่ามายุ่งกับการเมือง?

 

ผมคิดว่าวาทกรรม “เด็กควรตั้งใจเรียน ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เกิดจากความไม่เข้าใจ หรือยึดว่าการเมืองเป็นเรื่องของใครบางคน ซึ่งอันที่จริงแล้ว การเมืองถือเป็นเรื่องของทุกคน อย่างที่ผมว่า เราสั่งให้เขาใส่เครื่องแบบนักเรียนมาโรงเรียน สั่งให้เขาเรียนเนื้อหาความเป็นพลเมืองเหล่านี้ แล้วทำไมเราถึงพูดว่าเขาไม่เกี่ยวกับการเมือง

ถ้าเราอ้างคำของอริสโตเติล คนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็คงมีแค่พระเจ้ากับสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น ทุกคนต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมืองเท่านั้น การที่เด็กไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองก็เป็นสิทธิที่เขาทำได้ ผมคิดว่านักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมในวันนี้เกิดจากการที่เขารู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีความปลอดภัย มองไม่เห็นอนาคต รวมถึงเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมภาษีที่คนเสียไปถูกจัดสรรไปกับเรื่องอื่นๆ มากกว่าคุณภาพชีวิตของคน ปากท้องของคน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนมีปัญหาเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานสำคัญ

เมื่อนักเรียนนักศึกษามองไม่เห็นอนาคต และต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงออกไปชุมนุมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ด้วยความเชื่อว่าถ้ารัฐดี การเก็บภาษีนำไปใช้พัฒนาสิ่งที่ควรจะพัฒนา น่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ถ้าสังเกตกระแสในทวิตเตอร์ เราจะเห็นการระดมความคิดว่า #ถ้าการเมืองดี เราจะได้อะไรที่ดีมาบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง และไม่เพียงแค่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา คนที่ออกไปชุมนุมตอนนี้ก็ล้วนเป็นคนที่เดือดร้อนจากนโยบายรัฐ และต้องการให้ประเทศนี้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่ผูกขาดความเจริญ ความร่ำรวยแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ถ้ารัฐจัดสวัสดิการให้คนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เข้าถึงทรัพยากรได้เสมอภาคกัน มีการกระจายรายได้ ความมั่นคงเผื่อแผ่ไปยังคนทุกกลุ่ม ไม่ได้ผูกขาดโดยนายทุน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันอะไรบางอย่างที่มั่นใจได้ว่าอนาคตของพวกเขาจะปลอดภัยและยั่งยืน ภาพการชุมนุมในวันนี้คงไม่เกิดขึ้น และคำปรามาสอย่างไล่กลับไปตั้งใจเรียนก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนตัวผมเชื่อว่าคำเหล่านี้มาจากคนไม่เสียประโยชน์ สมมติว่าถ้าวันนี้รัฐบาลประกาศลดเงินเดือนข้าราชการลงเหมือนที่บริษัทห้างร้านเอกชนต่างๆ ทำ หรือเลย์ออฟคน คนที่ไปชุมนุมก็คงมีข้าราชการ ครูต่างๆ รวมถึงครูสังคมศึกษาอยู่บนถนนด้วยแน่นอน

 

สอนสังคมศึกษาอย่างไรดี

ในวันที่นักเรียนตื่นตัวทางการเมือง

 

ปัจจุบัน เราเห็นว่าเด็กเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น หากเป็นครูสังคมที่เข้าใจ Global Citizenship หรือความเป็นพลเมืองโลก แน่นอนว่าย่อมเปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถาม แสดงความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ แต่ถ้าเป็นครูที่อยู่ในมิติระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบที่ต้องปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา ครูเหล่านี้ก็อาจไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถามใดๆ และสอนไปตามสิ่งที่เขาเชื่อ ฉะนั้น สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเป็นประเด็นท้าทายของครูสังคมศึกษามากๆ เลยว่า ตกลงเราต้องการให้เด็กเติบโตไปเป็นคนแบบไหนกันแน่

ทั้งนี้ ไม่ว่าตัวครูเองจะเชื่อแบบไหน หน้าที่สำคัญของครูสังคม คือ ต้องไม่ชักจูง ต้องไม่อคติ ต้องสอนให้เด็กคิดและมีเหตุผลจากข้อมูล เราไม่สามารถบอกได้ว่าคุณควรรัก หรือเกลียดคนกลุ่มไหน ในมุมมองของผม ถึงมนุษย์อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีความเป็นกลางที่แท้จริง แต่ครูก็ต้องแสดงออกให้ไม่ชี้นำ เมื่อไรก็ตามที่ครูบอกให้นักเรียนรักหรือเกลียดกลุ่มไหน อคติเหล่านี้จะติดตัวเด็ก และอาจจะเป็นอันตราย เขาอาจจะคิดว่าอีกฝ่ายเลว เป็นปีศาจ โกงชาติบ้านเมือง ทำให้ยอมรับการทำลายชีวิต หรือทำลายการยอมรับความเห็นต่างได้โดยไม่รู้สึกผิด

ฉะนั้น สังคมศึกษาต้องสอนให้คนไม่อคติ สอนให้คิดต่อ สอนด้วยคำว่า ‘ทำไม’ ทำไมคุณคิดเช่นนั้น มีเหตุผลอะไร สอนให้เด็ก think critically คิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องไปคิดให้เด็กว่าควรจะเป็นคนอย่างไร ต้องรู้เรื่องเท่าไหน อย่าไปชุมนุม หรือไปชุมนุมเลย ปล่อยให้เขาชั่งน้ำหนักเอาเอง

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการสอนสังคมศึกษาไม่ค่อยจะตอบโจทย์ความอยากรู้ของนักเรียน เวลานักเรียนถาม ครูเองก็มักจะเลี่ยงไม่ตอบ เพราะครูอาจจะเกรงอำนาจบางอย่าง หรืออยู่ในระบบราชการที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นกระทบกระทั่งต่อการเมือง หรือผู้มีอำนาจ จุดนี้ผมคิดว่า อย่างน้อยครูน่าจะชวนให้เขาหาหลักฐานอื่นๆ นอกจากเนื้อหาในตำราเรียน สมมติว่าเขาสงสัยในสิ่งที่ตำราเรียนเขียนไว้ ก็ลองชวนให้เขาหาหลักฐานที่ต่างออกไปมาดูกัน และวิเคราะห์ว่าจากข้อมูลแหล่งต่างๆ เขาเชื่อหรือเห็นด้วยกับแนวคิดไหน โดยครูอาจจะช่วยเด็กชั่งน้ำหนักก็ได้ว่า เรื่องไหนที่น่าจะเป็นไปได้ เชื่อถือได้หรือไม่ได้ อีกมุมมองด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกันเป็นอย่างไร แบบนี้ชั้นเรียนจะตอบโจทย์สังคมมากขึ้น และเป็นการปกป้องตัวครูเองด้วยว่าไม่ได้สอนแบบชี้นำเด็ก เราว่ากันด้วยหลักฐาน และเหตุผลที่มีต่อหลักฐานนั้นๆ

ตอนนี้ ถ้าจะให้เติมอะไรลงในเนื้อหาสังคมศึกษา ผมก็คิดว่าน่าจะต้องเติมเรื่อง argument ข้อโต้แย้งต่างๆ สอนให้เด็กฝึกโต้แย้งกันในชั้นเรียนเลย เช่น อาจจะหยิบยกสถานการณ์ ข่าวสารบ้านเมืองมาพูดคุยกัน หรือเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันก็ได้ นำมาให้นักเรียนดีเบทความคิดเห็นกันดู ถ้าเราฝึกให้เขาได้โต้แย้งกันในชั้นเรียนแบบนี้ ผมมองว่าเขาจะโตไปเป็นคนมีเหตุผลนะ

อย่างไรก็ตาม คำตอบของผมอยู่ภายใต้บริบทที่เราคิดว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่โอเคที่สุด ถ้าวันหนึ่งระบอบการเมืองการปกครองของเราเปลี่ยนไปจากประชาธิปไตยเป็นแบบอื่น ข้อเสนอต่างๆ ของผมในวันนี้อาจจะไม่เวิร์กก็ได้

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save