fbpx

ชวนอ่าน ‘สัตว์สงคราม’

ถ้าหากเขียนบทความนี้ส่ง The101.world ตั้งแต่หลายเดือนก่อนหลังจากไปร่วมวงเสวนาเปิดตัวหนังสือ สัตว์สงคราม : ประวัติศาสตร์บาดหมางที่ก่อร่างสร้างโลก บทความก็คงล้อไปตามที่ได้จัดประเด็นไปพูดในวงเสวนาวันนั้น แต่เมื่อบทความนี้มาเขียนในขณะที่ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวว่าข้อมติที่บราซิลในฐานะประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเสนอให้ประณามฮามาสในการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน พร้อมกับเรียกร้องทุกฝ่ายรวมทั้งอิสราเอลให้เคารพกฎหมายระหว่างประเทศตามพันธกรณีของตน และขอให้หยุดยั้งการใช้กำลังเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ถูกสหรัฐอเมริกาในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ใช้สิทธิ์วีโตให้ตกไป การเขียนบทความชวนอ่าน สัตว์สงคราม จึงต้องเปลี่ยนทางไป

แต่ก่อนจะเปลี่ยน ต้องเล่าย้อนว่า ตอนตอบรับคำชวนสำนักพิมพ์ Bookscape ไปร่วมวงเสวนาเพื่อแนะนำหนังสือของมาร์กาเร็ต แมคมิลลานเล่มนี้ คนคุ้นเคยกันทักข้าพเจ้าว่า จะมีอะไรไปเสวนากับเขา ในเมื่ออาจารย์ไม่เคยไปรบสงครามกับใครที่ไหน ทหารก็ไม่เคยเป็น

ข้าพเจ้าแจ้งให้คนหยอกเล่นทราบ (และถือโอกาสเรียนท่านผู้ฟังในวันเสวนาด้วย) ว่า ไม่รู้หรอกหรือว่าสาขา IR ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ น่าจะเป็นสาขาวิชาเดียวในโลกวิชาการ ที่ผลิตความรู้โดยเปิดเผยสำหรับให้เหตุผลความชอบธรรมแก่การใช้กำลังความรุนแรงระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ที่เรียกว่า สงคราม และหาทางทำให้วิธีใช้กำลังในการสงครามเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามบีบบังคับเจตจำนงที่มีประสิทธิภาพและได้ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น คนคิดวิธีที่ว่าได้เก่งฉกาจฉกรรจ์คนหนึ่งยังได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ไปแล้วเรียบร้อย โดยสถาบันที่เป็นผู้มอบรางวัลก็ไม่ได้รู้สึกแหนงใจตัวเองอย่างใด ที่มีรางวัลในสาขาสันติภาพไว้มอบให้ใครๆ ที่มีคุณูปการถึงขั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีใครเห็นความยอกย้อนที่จะจัด-รับรางวัลสันติภาพกันในชื่อของผู้ประกอบการที่สะสมความมั่งคั่งมาจากการผลิตและค้าอาวุธ  บางสำนักทฤษฎีของ IR ยังถือสงครามว่าเป็นสถาบันรากฐานที่ทำให้สังคมระหว่างประเทศดำรงคงอยู่ได้เป็นปกติ  ถ้าหากดุลอำนาจยังไม่พอแก่การ ก็เสนอดุลแห่งความหวาดกลัวมาเสริม และออกทฤษฎีรับรองให้ว่า ความกลัวภัยจากสงครามนิวเคลียร์ใช้รักษาสันติภาพยืนยาวให้มนุษย์ได้ ในขณะที่สงคราม ทั้ง civil และ uncivil ถูกเลือกมาเป็นหนทางสู่สันติภาพ แต่สันติภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้บอกเลิกหรือเป็นสิ่งที่มาแทนสงคราม สงครามไม่ใช่สถาบันที่จะถูกแทน สิ่งที่ถูกแทนได้และถูกแทนเป็นระยะเรื่อยมาคือการดูแลการฆ่าฟันกันในสงครามให้ชอบด้วยหลักการ และเหตุผลอันชอบธรรมในการทำสงคราม เหตุผลสำหรับการระดมพลเข้าสู่สงคราม และเหตุผลในวิธีใช้การขู่ด้วยสงครามให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งล้วนเป็นความรู้อยู่ในความชำนาญของ IR จะหาความรู้สาขาใดใช้เหตุผลด้วยความเยือกเย็นมองเห็นความรุนแรงในสงคราม และความรุนแรงที่เกิดจากการเตรียมให้พร้อมสำหรับสงครามเป็นวิธีบรรลุและผดุงเป้าหมายดีงามอย่างสันติภาพ ระเบียบระหว่างประเทศ การพัฒนารัฐและรัฐธรรมนูญปกครองตัวเอง หรือแม้กระทั่งปลดปล่อยมนุษยชาติจากความทุกข์ยากเช่นนี้ หาไม่มีแล้ว

ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองตรองเหตุผลในการดูแลการฆ่าฟันกันในสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสของลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติในวันที่เธอใช้สิทธิออกเสียงวีโตข้อมติที่บราซิลเสนอก็ได้ เธอบอกว่า จะต้องให้เวลาแก่การดำเนินการทางการทูตของสหรัฐฯ ที่กำลังทำงานอย่างหนักมากเหลือเกินในภาคพื้นดินได้มีโอกาสสำแดงผลก่อน ส่วนอังกฤษที่ทีแรกเลือกงดออกเสียง ก็ปรี่ออกมาสนับสนุนเหตุผลของสหรัฐฯ ในทันใด  

มาเรียนจากเธอหรือจากเราสิคะ … ไม่สิ เราควรพูดตรงนี้ใหม่อย่างให้ได้รสของ soft power ยิ่งขึ้น ว่า เมื่อเห็นตัวอย่างจากการทำงานอันหนักทางการทูตในการจัดการปัญหาปาเลสไตน์ตลอดมาเช่นนี้แล้ว  มาเรียน IR สำนักอังกฤษ – อเมริกันกันนะคะทุกคน

พร้อมกับขยิบตา

ด้วยเหตุที่สงครามเป็นเรื่องใหญ่  IR จึงมิได้ผูกขาดการศึกษาและแปดเปื้อนในการสร้างความรู้ให้สงครามอยู่แต่เพียงสาขาเดียว กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การทำสงครามได้ดึงความรู้จากทุกสาขาไปใช้ประโยชน์ บางสาขานำสงครามมาสร้างความสะเทือนใจให้เป็นศิลปะเพื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการรบ เพื่อเผยโฉมหน้ามนุษย์ในยามมองความรุนแรงท่ามกลางความตาย หรือเพื่อสงครามนั้นเอง บางสาขาก็รับเงินวิจัยผลิตความรู้รับใช้การพัฒนาระบบอาวุธและสมรรถนะของกิจการทหารโดยตรงทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะในด้านการยิงและบุกโจมตี การเคลื่อนไหวลำเลียงส่งกำลังเข้าหาเป้าหมาย การสกัดกั้นป้องกันและต้านรับการโจมตี การติดต่อสื่อสารและควบคุมบังคับบัญชา การจัดการข้อมูลการข่าว เข้าถึงภูมิสังคมและความคิดจิตใจคนฝ่ายตรงข้ามในสมรภูมิ การพัฒนาวัสดุส่วนประกอบและโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ประโยชน์ทั้งทางพลเรือนและทางทหารไปพร้อมกัน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีสำหรับการสงครามและสำหรับเทคโนโลยีสงครามในแต่ละรูปแบบ รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรทำการรบสงครามในแต่ละประเภท ความรู้ว่าด้วยการสงครามจึงมีอยู่ไพศาล ทั้งบนดินพื้นราบและในป่าเขา ในน่านน้ำทะเลหลวง เหนือฟากฟ้าอากาศ จากห้วงอวกาศลงไปถึงใต้บาดาลลึก ในเมืองใหญ่อุตสาหกรรมและในชนบทดงดอย โดยยังไม่นับรวมความรู้เกี่ยวกับสงครามเฉพาะ หรือประสบการณ์การรบในสมรภูมิหนึ่งสมรภูมิใดในสงครามเฉพาะเหล่านั้น และผลของสงครามเหล่านั้นในทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวาลัยที่อาศัยหล่อเลี้ยงชีวิต

งานเขียนเกี่ยวกับสงครามจึงมีหลายทางให้เลือก บางกลุ่มนำเสนอความรู้จากด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นความรู้เฉพาะซึ่งถูกนำมาใช้ในการทำสงคราม หรือพยายามเสนอความเข้าใจสงครามกับมนุษย์และพัฒนาการในสังคมมนุษย์จากความรู้เฉพาะสาขาวิชาการ ซึ่งนอกจากรัฐศาสตร์แล้ว ยังมีจากจิตวิทยา สังคมวิทยา หรือมานุษยวิทยา มาร่วมด้วยช่วยกัน หนังสือบางเล่มมุ่งให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับสงครามเป็นการทั่วไป บางเล่มเสนอยุทธวิธีการรบและ/หรือการรักษาชีวิตรอดในระหว่างการรบสงคราม ซึ่งอาจรวม -หรืออาจรวมไปไม่ถึง- การไม่ยอมสูญเสียความเป็นมนุษย์ให้แก่สงคราม ชื่อหนังสือฉบับแปลในพากย์ไทยเล่มนี้ที่ตั้งไว้ว่า สัตว์สงคราม จึงบ่งนัยน่ากริ่งเกรงที่ควรติดตามหาคำตอบอยู่ว่า ในการให้การก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ ‘ก่อร่างสร้างโลก’ นอกอุทยานเอเดนสวนสวรรค์ สงครามสูบอะไรจากมนุษย์ตกสวรรค์ไปเป็นการแลกเปลี่ยนนอกเหนือจากชีวิตคน สังคมสมัยใหม่ทุกหนแห่งที่จัดตั้งกำลังรบและแข่งขันกันเตรียมศักย์สงครามให้รุดหน้าไปไม่หยุดยั้งต้องจ่ายราคาตอบแทนในรูปใด และรีดควักจากใครไปจ่ายราคานั้น ที่ยิ่งมาก็ยิ่งสูงลิ่วขึ้นไปทุกที โฉมหน้าของ garrison state ใช้การเมืองประชาธิปไตยอำพรางตนเองไว้อย่างไรอาจเป็นความหมายของ deep state ที่รัฐศาสตร์สหรัฐฯ ยังไม่ได้ค้นหาต่อจากที่ Harold Lasswell ตั้งประเด็นไว้เมื่อหลายทศวรรษก่อน

คนเขียนเรื่องสงคราม จึงมีทั้งที่เขียนให้คนอ่านได้รับความรู้แบบ hedgehog หรือเม่น ที่รู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างลงลึก กับคนที่เขียนให้คนอ่านรับความรู้แบบ fox หรือสุนัขจิ้งจอก คือให้รู้อะไรหลายอย่างอันน่ารู้ และควรรู้ ผสมผสานความหมายหลายแง่มุมเพื่อขยายส่วนต่างๆ ของภาพรวมใหญ่ออกมาให้ความเข้าใจลึกซึ้งขึ้น งานของมาร์กาเร็ต แมคมิลลานเล่มนี้เป็นแบบหลัง ความที่เธอเป็นนักประวัติศาสตร์ และไม่ได้ต้องการจะพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเองสำหรับอธิบายสงคราม หรือมีความปรารถนาอยากยกระดับความรู้และฐานะของสาขาวิชาประวัติศาสตร์ไปแข่งกับความรู้ในสายวิทยาศาสตร์เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่สังกัดไต่อันดับชื่อเสียง เธอจึงเขียนให้ความรอบรู้เกี่ยวกับสงคราม และผลดีร้ายของความรุนแรงที่สังคมทุกสมัยจัดตั้งขึ้นมาห้ำหั่นฆ่าฟันกัน ให้เราอ่านเก็บรับความรู้ในเรื่องความเป็นความตายของมนุษย์อย่างกว้างขวาง นำเสนอมุมมองในแบบ on the one hand / on the other hand อย่างรอบด้าน แม้ว่าคนที่เคยผ่านสงครามมาจริงยากที่จะมีความเห็นต่อสงครามได้อย่างสมดุลแบบเธอ 

และแน่นอนว่า เรามีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ในเมืองไทย ที่อยู่ในสันติภาพและห่างไกลปลอดภัยจากสงครามมายาวนาน

แต่ความรู้สึกว่ายังปลอดภัยดังว่า ในทางจิตวิทยาจะบอกว่าขึ้นอยู่กับบริบทในขณะที่อ่านเป็นอันมาก ว่าท่านอ่านโดยมีอะไรเป็นบริบท ที่พาให้ท่านเปิดประเด็นเห็นความหมายในตัวบทที่อ่าน และความคิดความเข้าใจที่ได้จากการอ่านนั้นได้เรียกการตริตรึกนึกตรองอย่างมีวิจารณญาณแบบสัมพันธบทต่อไปกับเรื่องใด จากงานของใคร หรือในขณะที่อ่าน สัตว์สงคราม ท่านกำลังคิดถึงสถานการณ์สงครามครั้งไหน ที่ไหน คิดถึงคนตัดสินใจและสาเหตุการตัดสินใจทำสงคราม หรือว่าคิดถึงคนที่กำลังตกเป็นเหยื่อของสงคราม

ลองอ่าน สัตว์สงคราม ในบริบทของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในเวลานี้และความทุกข์สาหัสของคนปาเลสไตน์ที่ตกเป็นเหยื่อสงครามกันดูไหมครับ 

วิธีหนึ่งในการกำหนดเอกสารสำหรับอ่านประกอบการศึกษาแต่ละหัวข้อของวิชาที่เรียน คือ การคัดเลือกเนื้อหาบางส่วนจากตัวบทขนาดใหญ่ตัดตอนออกมาเป็นปริจเฉทให้ผู้เรียนได้เก็บประเด็น แง่คิด และความเข้าใจรวมทั้งโต้ตอบกับตัวบทที่ได้อ่านเพื่อคิดต่อหรือนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยน เราอาจยืมกลวิธีเดียวกันนี้มาใช้ในบทความแนะนำหนังสือเล่มนี้ของมาร์กาเร็ต แมคมิลลานได้ เพราะเธอตั้งใจเขียนให้เราคิด

ในสำนวนแปลของ สุทธิมาน ลิมปนุสรณ์ ปริจเฉทจาก สัตว์สงคราม ของมาร์กาเร็ต แมคมิลลาน ที่ที่นี่ขอคัดเลือกมาพาท่านคิดตาม ต่อความรุนแรงที่ฉนวนกาซาเวลานี้ มีดังนี้


จากบทที่ 9 สงครามในจินตนาการและความทรงจำ

บางครั้ง ศิลปะก็ส่งสารเฉพาะจากหลายศตวรรษก่อนให้เราได้ยิน บทกวีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบทหนึ่งจากอารยธรรมสุเมเรียน เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช คร่ำครวญถึงผลแห่งความปราชัยว่า

          ศัตรูย่ำเท้าเข้ามาในห้องของข้า!

เอื้อมมือสกปรกมาหา!

… มันถอดเสื้อคลุมของข้า แล้วสวมใส่ให้ภรรยาตน

ตัดสร้อยอัญมณีของข้า แล้วนำไปสวมให้ลูกตน

จากนี้ข้าจะเป็นฝ่ายเหยียบย่ำที่พำนักของมันบ้าง


จากบทที่ 8 กติกาที่ไร้ความหมาย

กระทั่งการตัดสินว่าใครเป็นผู้กระทำผิดในสงครามที่ไร้ความชอบธรรมและจะจัดการกับบุคคลเหล่านั้นอย่างไรก็ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ […] หนังสือ War and Peace [ตอลสตอยเขียนให้เจ้าชายอังเดร ตัวละครเอก] บรรยายว่า …

การสวมบทบาทในสงครามนั้นชั่วร้าย เช่นเดียวกับการสวมบทบาทผู้โอบอ้อมอารีและอื่นๆเหมือนความเอื้ออาทรและความอ่อนไหวของสุภาพสตรีผู้พะอืดพะอมเมื่อเห็นลูกวัวถูกเชือด เธอมีเมตตามากจนทนเห็นเลือดไม่ได้ แต่กลับบริโภคสตูเนื้อลูกวัวอย่างเอร็ดอร่อย พวกเขาพูดถึงกฎของสงคราม ความกล้าหาญ ธงสงบศึก การแสดงมนุษยธรรมต่อผู้บาดเจ็บ และเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เหลวไหลไร้สาระ


จากบทส่งท้าย

นอกจากนี้ เรายังใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งอาจส่งผลให้ระเบียบนานาชาติยิ่งคลอนแคลน แม้การแยกแยะว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่ใหม่จริงๆ จะยากเสมอในประวัติศาสตร์ […] ในอนาคต สงครามจะแบ่งเป็นสองระดับเช่นเดียวกับในปัจจุบัน ระดับหนึ่งใช้กองกำลังมืออาชีพและเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและสังคมที่เป็นระบบระเบียบ อีกระดับคือการต่อสู้ของกองกำลังที่จัดระเบียบอย่างหลวมๆ และใช้อาวุธต้นทุนต่ำ สิ่งที่ชัดเจนอีกอย่างคือสงครามทั้ง สองประเภทจะทับซ้อนกัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอาจขู่จะถล่มอัฟกานิสถานจนไม่เหลือคู่ต่อสู้ … แต่เขาผู้นั้นย่อมไม่อาจปกป้องพลเมืองอเมริกันให้พ้นจากภัยคุกคามได้ สมรภูมิรบได้ขยายพื้นที่ไปผนวกรวมแนวหลังไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 บัดนี้เส้นแบ่งระหว่างแนวรบต่างๆ ตลอดจนเส้นแบ่งระหว่างสงครามกับสันติภาพจึงถูกลบเลือนไป


จากบทที่ 3 วิถีและครรลอง

การใช้เทคโนโลยที่ก้าวหน้าในขณะนั้น ซึ่งรวมถึง ปืน ชุดเกราะ และเหล็กกล้า ทำให้ชาติตะวันตกยึดครองส่วนอื่นๆ ของโลกได้ก่อนที่ชนชาติที่ถูกปราบปรามจะเรียนรู้วิธีตอบโต้ […] การใช้เทคโนโลยีในสงครามเป็นประเด็นว่าด้วยการแข่งขันระหว่างการพัฒนาอุปกรณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ กับการพัฒนาวิธีจัดการกับอุปกรณ์นั้นๆ เสมอมา


จากบทที่ 2 ชนวนสงคราม

ผู้มีหน้าที่ตัดสินใจในสงครามมักคิดว่าชัยชนะจะยุติปัญหาทั้งหมดได้ในพริบตา ปี 1998 กองทัพอเมริกันหมดเปลืองเวลาไปมากกับเกมสงครามเพื่อพัฒนาและทดสอบแผนโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน เวลาต่อมา นายพลแอนโธนี ซินนี (Anthony Zinni) หัวหน้าหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐฯ ภาคกลาง ผู้รับผิดชอบปฏิบัติการในตะวันออกกลางกล่าวว่า “ผมแปลกใจมากที่เรามีแผนโจมตีกองทัพของซัดดัมแต่กลับไม่ได้เตรียมแผนฟื้นฟูอิรักไว้เลย” เขาประเมินกลยุทธ์ในเกมสงครามปี 1999 และได้ข้อสรุปว่า กองกำลังที่บุกอิรักจะต้องประสบปัญหามากมาย อิรักน่าจะแตกแยกออก “ตามแนวพรมแดนศาสนาและ/หรือเชื้อชาติ” แล้วกองกำลังแต่ละฝ่ายจะต่อสู้กันเพื่อแก่งแย่งอำนาจ พร้อมกับที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับความเป็นปฏิปักษ์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  ในปี 2002 เมื่อสหรัฐฯ เดินหน้าสู่สงครามอิรัก เกมสงครามครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายจึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อทดสอบความสามารถของกองกำลังอเมริกันในการเอาชนะมหาอำนาจนิรนามแห่งตะวันออกกลาง ฝ่ายสหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบชัดเจนด้านยุทโธปกรณ์ที่ก้าวหน้า ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รถถัง เครื่องบิน และเรือรบ อย่างไรก็ตาม แม่ทัพฝ่ายศัตรูที่อ่อนแอกว่ามากในเกมกลับสร้างความปั่นป่วนได้ด้วยการปิดวิทยุสื่อสาร และใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อส่งข้อความต่างๆ จนฝ่ายสหรัฐฯ ใช้เครื่องตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์ติดตามการเคลื่อนไหวได้ยาก เขาวางแผนใช้กองกำลังระเบิดพลีชีพในสปีดโบ๊ตทำลายเรือรบอเมริกัน 16 ลำ จนกระทรวงกลาโหมต้องพักรบกลางคัน แล้วเปลี่ยนกติกาของเกมใหม่ เรือรบจำนวนดังกล่าวถูกกู้กลับมาอย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมกับที่แม่ทัพฝ่าย “ศัตรู” ในเกมถูกสั่งให้ยุติการป้องกันภัยทางอากาศและเผยฐานที่มั่นสำคัญ เขาตัดสินใจลาออกอย่างแค้นเคือง

กรณีข้างต้นซึ่งแสดงลักษณะของสงครามอสมมาตร (asymmetric war) หรือภาวะที่ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าก่อกวนและท้าทายฝ่ายที่แข็งแกร่งกว่าด้วยวิธีแหวกขนบ เป็นสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกองกำลังร่วมทั้งในอัฟกานิสถานและอิรัก พวกเขาถูกโจมตีโดยกองโจรที่ติดต่อสื่อสารกันผ่านช่องทางที่ปลอดภัยและใช้ระเบิดดัดแปลงราคาถูก โดยมากเป็นปลอกกระสุนหรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งห่อหุ้มระเบิดและชิ้นส่วนโลหะ เช่น ตะปูธรรมดาที่จุดชนวนได้ด้วยเทคโนโลยีราคาถูกที่มีอยู่แล้ว อย่างรีโมตคอนโทรลรถของเล่น หรือรีโมตประตูโรงรถ อุปกรณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กองกำลังยึดครองในทั้งสองประเทศ …

สงครามมีแรงขับเคลื่อนในตัวเองและมักจะเริ่มต้นได้ง่ายกว่ายุติ ดังที่กองกำลังร่วมได้เห็นประจักษ์แล้วในอิรัก ปัจจุบันรัฐบาลต่างๆ อาจหวังจะทำสงครามที่มีการจำกัดขอบเขต รวมถึงการพึ่งพา “แผนปราบปรามความไม่สงบ” (police action) แทน แต่เมื่อได้เข้าร่วมสงครามแล้วก็พบว่าตนถอนตัวออกมาได้ยาก ชัยชนะอันเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงการที่ฝ่ายชนะบังคับฝ่ายแพ้ให้หยุดรบได้อาจต้องอาศัยต้นทุนสูงจนน่าตกใจ แต่การสงบศึกแบบประนีประนอม ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้รับทุกสิ่งที่ต้องการ ก็เป็นแผนที่ชนชั้นนำและสาธารณชนมักไม่ยอมรับเช่นกัน เป้าหมายของสงครามนั้นมีแนวโน้มขยายตัวเมื่อต้นทุนทั้งที่เป็นชีวิตและทรัพย์สินกับความปรารถนาที่จะแก้แค้นพอกพูนขึ้น จากนั้นเพื่อจะยับยั้งความปั่นป่วนทางการเมืองและสังคม บรรดาผู้นำทางการเมืองก็มักให้สัญญากับสาธารณชนว่าจะมอบสิ่งตอบแทนพิเศษให้พวกเขา


จากบทที่ 5 ปลุกปั้นพลรบ

สงครามมีเกณฑ์ของตัวเองและกฎที่เก่าแก่และยืนยงถาวรที่สุดข้อหนึ่ง คือ หากเป็นไปได้ควรไว้ชีวิตผู้ยอมจำนนและพลเรือน กระนั้นเราต่างเคยได้ยินหรือรู้จักการปล้นสะดมเมือง การประหารชีวิตนักโทษ การถล่มโบสถ์ที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยหรือโรงนาที่ถูกวางเพลิง และเราจดจำชื่อการสังหารหมู่ได้แม่น … สำหรับชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ ช่วงสงครามเวียดนาม เหตุการณ์ที่หมีลาย (My Lai massacre) หรือการสังหารหมู่เมื่อทหารอเมริกันธรรมดากลุ่มหนึ่งออกอาละวาดทั่วหมู่บ้าน เป็นภาพแทนความป่าเถื่อนที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสงครามนั้น … มารดาของมีดโลซึ่งให้สัมภาษณ์กับซีมัวร์ เฮิร์ซ (Seymour Hersh) ผู้เปิดโปงเรื่องนี้เป็นคนแรก พูดถึงลูกชายของตนว่า “ฉันให้เด็กชายนิสัยดีกับพวกเขาไป แล้วพวกเขาก็ส่งฆาตกรกลับมา”


จากบทที่ 7 พลเรือน

มีความพยายามปกป้องผู้บริสุทธิ์จากพลังทำลายล้างของสงครามตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมามากมาย ในหลายยุคและหลายสถานที่ พลเรือนถูกมองเป็นกลุ่มที่แยกขาดจากทหาร พร้อมกฎเกณฑ์กำหนดว่าแต่ละกลุ่มในสงครามควรได้รับการปฏิบัติต่างกันอย่างไร เช่น พลเรือนไม่ควรถูกนับเป็นผู้ร่วมต่อสู้ และควรละเว้นชีวิตของพวกเขา ชีวิตของผู้คนรอบข้าง รวมถึงทรัพย์สินของคนเหล่านี้ กระนั้นกฎต่างๆ ก็ถูกละเมิดหรือเพิกเฉยได้ง่าย ด้วยอารมณ์ที่โหมกระพือในสงคราม และพลเรือนก็ต้องทุกข์ทรมานหากพวกเขาอยู่ใกล้สนามรบและอยู่ในเมืองที่ถูกปิดล้อม

[…] การทารุณกรรมพลเรือนนั้นมีจุดประสงค์ให้พวกเขายอมจำนน และสั่งสอนว่าการต่อต้านใดๆ ไม่มีวันสัมฤทธิผล


จากบทที่ 1 มนุษยชาติ สังคม และสงคราม

คาร์ล ฟอน เคลาเซอวิทซ์ (Carl von Clausewitz) นัก ทฤษฎีชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ระบุไว้ในข้อเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาว่า “สงครามคือการใช้ความรุนแรงเพื่อบังคับคู่ต่อสู้ให้กระทำตามความประสงค์ของเรา”


จากบทที่ 4 สงครามสมัยใหม่

เหตุผลหนึ่งที่กองทัพทั้งหลายกำหนดแผนการเพื่อทำสงครามระยะสั้นและรู้ผลเด็ดขาดก่อนปี 1914 คือทั้งพวกเขาและผู้นำพลเรือนหลายคนเกรงว่า สังคมสมัยใหม่จะพังทลายลงระหว่างสงครามอันยาวนาน …นอกจากนี้ อาจเพราะมีความหวังว่า สงครามจะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดปัญหาต่างๆ และอาจนำพาความสงบสุขมาให้ในวันข้างหน้า ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปก็เห็นได้ชัดว่า เป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ พวกเขาหลงคิดว่าพายุที่กำลังตั้งเค้า อากาศทึบทึม ฟ้าแลบแปลบปลาบ ฟ้าร้องสนั่น และฝนที่ตกหนักอยู่ชั่วครู่ชั่วยามนี้จะติดตามมาด้วยอากาศสดชื่นและท้องฟ้าสีคราม


จากบทที่ 6 ประจัญบาน

เรายังพอมีหวังกันอยู่ไหมที่จะเข้าใจหรือรับรู้ว่าการต้องต่อสู้กับเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร?


จากบทนำ

“สงครามยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ดังเช่นที่เป็นมาตลอด”

– สเวตลานา อะเลกซีวิซ

จาก The Unwomanly Face of War

         


    เมื่ออ่านปริจเฉทจาก สัตว์สงคราม ในระยะเวลาที่สมรรถนะศักย์สงครามได้รับการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง ก่อแรงผลักดันให้แต่ละฝ่ายแข่งขันต้านทานกันอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นทุกที แต่สิ่งยับยั้งสงคราม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย จริยธรรม บรรทัดฐานระหว่างประเทศ  หรือหลักมนุษยธรรม ต้องเผชิญกับสภาพยกเว้นตลอดมา การ ‘ก่อร่างสร้างโลก’ จากสงคราม หรือจากความพยายามหาทางเลี่ยงสงคราม จะยังคงเป็นไปได้เพียงใด?

    แล้วถ้าในวันข้างหน้า ต่างก็เป็นไปได้ยากทั้ง 2 ทาง อะไรคืออนาคตที่ตั้งต้นขึ้นแล้วในปัจจุบัน?

    MOST READ

    Life & Culture

    14 Jul 2022

    “ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

    คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

    ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

    14 Jul 2022

    Life & Culture

    27 Jul 2023

    วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

    เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

    เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

    พิมพ์ชนก พุกสุข

    27 Jul 2023

    Life & Culture

    4 Aug 2020

    การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

    กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

    กษิดิศ อนันทนาธร

    4 Aug 2020

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    Allow All
    Manage Consent Preferences
    • Always Active

    Save