fbpx
กระบวนการยุติธรรมไทยในฟากฝั่งวิชาการ : คุยกับ วัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม

กระบวนการยุติธรรมไทยในฟากฝั่งวิชาการ : คุยกับ วัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

ในยุคที่โลกก้าวหน้า และผันเปลี่ยน สิ่งที่ตามติดมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือปัญหาใหม่ๆ ที่เราตามไม่ทัน ทั้งรูปแบบของปัญหาและวิธีการรับมือ ในบรรยากาศเช่นนี้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องขันแข็งปรับตัว เพื่อเยียวยาปัญหาที่มีอยู่แต่เดิม และคอยตั้งรับการเปลี่ยนแปลง เป็นฐานที่มั่นคงปลอดภัยให้สังคมไทยในอนาคต

การแก้ไขปัญหาหรือกำหนดนโยบายต่างๆ ไม่ว่าในภาคส่วนใดของสังคม ไม่สามารถขาดการทำงานด้านวิชาการไปได้ ในกระบวนการยุติธรรมก็เช่นกัน วัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นบุคคลที่ทำงานในหน่วยงานด้านวิชาการ คอยวิเคราะห์ วิจัย เพื่อออกแบบนโยบายและแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ และเป็นผู้ที่ได้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development) หรือ RoLD โครงการที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดขึ้นเพื่ออบรมบุคลากรจากหลากหลายวิชาชีพให้เข้าใจเรื่องหลักนิติธรรมต่อการพัฒนาสังคม

ท่ามกลางโจทย์ปัญหาที่มีอยู่มากมาย งานวิชาการยังทำให้เขามองเห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างรอบด้าน ช่วยให้เขาตั้งโจทย์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย เขาเชื่อว่าการทำงานด้านวิชาการ จะแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไปอย่างมีทิศทาง โดยมี ‘ความเชื่อมั่นของประชาชน’ เป็นปลายทางสำคัญ

ต่อไปนี้คือทรรศนะจาก วัลลภ นาคบัว ว่าด้วยบทบาทเชิงวิชาการในกระบวนการยุติธรรม การปรับตัวของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในวันที่โลกหมุนไปข้างหน้า

 

วัลลภ นาคบัว 

ผู้คนอาจยังไม่ค่อยรู้จักหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเท่าไหร่ โดยมากอาจรู้จักแค่ศาล อัยการ ทนายความ คำถามคือ ‘สำนักงานกิจการยุติธรรม’ เป็นใครในกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่อะไรบ้าง

สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งเมื่อประมาณปี 2545 ภายใต้แนวคิดที่จะปฏิรูประบบราชการ สำนักงานถูกคาดหวังและตั้งเป้าหมายให้เป็นหน่วยงานเชิงวิชาการ รับผิดชอบการวิจัย และกำหนดนโยบายที่สำคัญสำหรับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ความสำคัญของหน่วยงานเราคือเราเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) โดยกรรมการชุดนี้มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งคือ การจัดทำแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมของชาติ

นอกจากจัดทำแผนแม่บทภายใต้ กพยช. แล้ว เราก็ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญ คือการพัฒนากฎหมาย หลักๆ เพื่อให้ตัวกฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการดำเนินการตามกลไกมาตรา 77 ที่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย โดยที่ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างครบถ้วนรอบด้าน

เมื่อเราคาดว่ากระบวนการออกกฎหมายตอบโจทย์ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ตามมา ส่วนตัวผมคิดว่า การทำให้กฎหมายสามารถใช้ได้จริงเป็นเรื่องของการจัดทำและความพร้อม คือออกกฎหมายแต่ละครั้งต้องมีแผนงานรองรับ ทั้งแผนงบประมาน ระบบ และคน ไม่ใช่ว่าออกกฎหมายไปแล้วทิ้งให้หน่วยงานไปดูเองว่ามีเงินหรือไม่ มีคนหรือไม่ มีสถานที่รองรับหรือไม่

สิ่งต่อมาคือ ในเมื่อกฎหมายส่วนใหญ่ถูกใช้กับประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ ข้อนี้คือภารกิจหลักที่กระทรวงยุติธรรมมอบมาที่สำนักงานกิจการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเรามีกฎหมายออกมาค่อนข้างเยอะ แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ เพราะหวังว่าเมื่อประชาชนทราบกฎหมายแล้ว จะรู้สิทธิ รู้หน้าที่ และไม่ไปละเมิดกฎกติกาของสังคม ลดข้อพิพาท ความขัดแย้ง ความรุนแรง ไปจนถึงอาชญากรรม

 

บทบาทในแง่ ‘หน่วยงานวิชาการ’ คืออะไรบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือเรื่องวิจัย สังคมหรือหน่วยงานที่ขาดองค์ความรู้ด้านการวิจัยอาจจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่ชัดเจน หรือไม่ตอบโจทย์ กระบวนการของเราจึงมีกรอบการวิจัยที่วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมคืออะไร และเราต้องการวิจัยในเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องความล่าช้า ค่าใช้จ่ายแพง ไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล หรือเรื่องความโปร่งใส โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมจะเน้นการวิจัยที่ร่วมคิดร่วมทำกับทุกหน่วยงาน และคาดหวังว่าเมื่อเงินงบประมาณลงมาที่งานวิจัยแล้ว จะต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในเชิงของการพัฒนากฎหมาย พัฒนากระบวนการยุติธรรม พัฒนากระบวนการปฏิบัติงาน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ยกระดับความเชื่อมันให้กับประชาชน

ผมยกตัวอย่างงานด้านวิชาการและการพัฒนาที่ร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาเรื่องการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เพราะถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ เราให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการคัดกรองหรือจำแนกคนที่ศาลตัดสินว่าผิด ศึกษาว่าตกลงเขากระทำผิดเพราะอะไร ปัจจัยที่ส่งผลให้เขาทำมาจากเรื่องอะไรบ้าง และเมื่อจำแนกแล้วก็ต้องมีกระบวนการที่จะกำหนดโปรแกรมว่าจะอบรม ฟื้นฟู ฝึกอาชีพเขาอย่างไร โดยมีระบบการติดตามผู้ต้องขัง ทั้งระหว่างอยู่กับเรา เตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และหลังปล่อยตัวแล้ว

งานวิจัยมีข้อค้นพบเบื้องต้นว่า ส่วนใหญ่คนที่ออกไปแล้วกระทำผิดซ้ำอีก มักมีเหตุผลเรื่องอาชีพ คือไม่มีอาชีพรองรับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทางราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ หรือกรมพินิจ ต้องรับมือคือการมีนโยบายเรื่องการฝึกงาน ฝึกอาชีพ และยังต้องมาวิเคราะห์กันว่า อาชีพไหนที่ตอบโจทย์ เป็นอาชีพที่เขาก็อยากทำ สามารถมีรายได้ดำรงชีพ และสังคมก็ยอมรับด้วย ถ้าเราตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ มันจะทำให้คนที่กลับมากระทำผิดซ้ำลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และงานวิจัยก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในทิศทางนี้

ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม คุณตีโจทย์ ‘ความยุติธรรม’ ในสังคมไทยอย่างไร อะไรคือปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน 

ผมแบ่งปัญหาออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเรื่องกฎหมาย กฎหมายจะดีหรือไม่ดี ต้องดูว่ากฎหมายจำกัดสิทธิหรือละเมิดสิทธิไหม คุ้มครองมากเกินไปไหม กลุ่มที่สองคือ หน่วยงานรัฐ เป็นหน่วยงานที่จะต้องพัฒนา เรามีการปฏิรูปประเทศ ราชการก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะต้องปฏิรูปด้วย และส่วนที่สามคือภาคประชาชน

กลุ่มแรก กฎหมายของกระทรวงยุติธรรม จะเห็นว่าในการแถลงนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม จะมีบัญชีรายชื่อกฎหมายค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหลัก วิธีพิจารณาความ ประมวลกฎหมายอาญา ไปจนถึงฐานความผิด แต่โดยรวมผมตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้กฎหมายอาญาเฟ้อ เพราะกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอาจเป็นต้นทางที่ทำให้กระบวนการพัฒนาคนในเรือนจำของเรามีข้อจำกัดบางประการ เมื่อมีมากเกินไป ก็จะเพิ่มจำนวนคนที่อาจไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบพิจารณาคดีหรือเข้ากระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก

ตอนนี้ก็มีหลายกฎหมายที่ผมอยากจะชวนเชิญท่านให้รับทราบเพิ่มเติม เช่น พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่จะทำให้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายเบี่ยงเบนไปผ่านผู้ไกล่เกลี่ย หรือหลักสูตรอบรมและกฎหมายรับรองผู้ไกล่เกลี่ย แต่เดิมผู้ไกล่เกลี่ยอาจผ่านการอบรมบ้าง แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ตอนนี้หากผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมได้รับการรับรองแล้ว จะมีนัยยะทางกฎหมายคือ คำไกล่เกลี่ยและบันทึกข้อตกลงของคู่กรณีจะสามารถใช้ผูกพันกันได้ หากฝ่ายใดฝ่าฝืน คู่กรณีสามารถนำไปให้ศาลออกคำบังคับได้เลย เพราะฉะนั้นผลบังคับของกฎหมายจะชัดเจน ความน่าเชื่อถือของผู้ไกล่เกลี่ยก็จะยกระดับขึ้น แม้แต่ส่วนของตำรวจ เขาก็มีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่าการไกล่เกลี่ยในชั้นพนักงานสอบสวน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราคาดหวังว่าในคดีที่เกิดขึ้นใหม่ จะไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป

สิ่งที่ประเทศไทยอาจจะต้องทำให้เกิดรูปธรรมมากขึ้นคือ ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติ และคู่กรณีหรือตัวประชาชนเอง ต้องรับทราบว่าการที่เขายืนยันจะทะเลาะกัน ฟ้องกัน สุดท้ายผลลัพธ์ของมันอาจจะไม่พึงประสงค์ทั้งสองฝ่ายเลย ทั้งสองฝ่ายจะเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียสภาพจิตใจ แต่ผมคิดว่าเราสามารถยุติคดีได้โดยรวดเร็วโดยที่มีความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย อาจจะไม่ได้เต็มร้อย เพราะโดยหลักการนั้นผู้เสียหายหรือผู้ที่เป็นเหยื่อก็ต้องได้รับการเยียวยา

ในกลุ่มที่สองคือหน่วยงานรัฐ ทำอย่างไรผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ มีความพร้อม มีแผนในการประสานงาน เปลี่ยนมุมมองการให้บริการ ทำยังไงให้ลด ละ เลิกการประพฤติมิชอบ หรือประโยชน์ที่มิพึงได้

กลุ่มสุดท้ายคือเรื่องประชาชน ประชาชนเคยชินจนกลายเป็นวัฒนธรรมว่า มีปัญหาอะไรก็ฟ้องคดี แต่จริงๆ แล้วถ้ามีคดีเกิดขึ้น ท่านมีทางเลือกนะครับ ท่านอาจจะไปหาชุมชนเพื่อให้ไกล่เกลี่ย ถ้าไม่สำเร็จท่านค่อยย้อนมาที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี แต่ตำรวจก็จะมีช่องทางการไกล่เกลี่ยให้ท่านอีก ไม่สำเร็จอีกก็มาชั้นอัยการ ซึ่งอัยการเองก็เคยมีร่าง พ.ร.บ.ชะลอการฟ้องอยู่ จะเห็นว่าทุกชั้นของเราจะคัดกรองสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

มันก็เหมือนเวลาขับรถ เราไม่จำเป็นต้องขับที่ถนนวิภาวดี ไม่ต้องขับที่แจ้งวัฒนะอย่างเดียว เพราะรถต้องติดแน่ๆ ผมอยากจะให้ขับไปซอยอื่น โดยเป้าหมายคืออยากจะให้คุณไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น ได้กลับถึงบ้านไปทำภารกิจของคุณ ประเทศญี่ปุ่นเองมีคดีเกิดขึ้นค่อนข้างสูง เป็นหลักล้านคดี แต่พอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมศาลจริงๆ เหลือคดีแค่หลักหมื่น ถามว่าทำยังไง ก็ไกล่เกลี่ยในทุกขั้นอย่างนี้แหละครับ

วัลลภ นาคบัว

ปัญหากฎหมายอาญาล้น กับคนล้นคุก เป็นเรื่องเดียวกัน ในประเด็นนี้มีเรื่องใดที่เราต้องให้ความสำคัญอีกบ้าง

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องการลงโทษ สิ่งหนึ่งที่ทางกระทรวงกำลังคิดจะทำคือเราอยากกำหนดโทษระดับกลางขึ้นมา ปัจจุบันเรามีแค่ 5 ฐานความผิด 5 สถานโทษ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน แต่หลายๆ ประเทศเขาเริ่มมี ‘โทษระดับกลาง’ ใช้ในกรณีที่มาตรฐานโทษกับวิธีการกระทำผิดไม่สอดคล้องกัน เช่น จำคุกก็หนักเกินไป ปรับก็เบาเกินไป

มีงานวิจัยรองรับแล้วครับว่า อาจจะต้องเพิ่มฐานความผิด หลายประเทศเขามีมาตรการเช่น การบริการสังคม การบริการสาธารณะ หรือการไปควบคุมตัวที่บ้าน หรือคุมประพฤติแบบเข้มข้น เช่น ปกติอาจจะรายงานตัวกันเดือนละครั้ง แต่นี่อาจจะต้องไปรายงานตัวถี่ขึ้น หรือใช้ Electronic Monitoring เข้าไปช่วย ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายได้ยกร่างเบื้องต้นเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องต่อไป

กระบวนการยุติธรรมไทยถูกวิจารณ์จากสื่อและจากวงวิชาการอยู่เสมอว่า ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้จริง ในฐานะที่สวมทั้งหมวกนักวิชาการ และหมวกของข้าราชการ คุณเห็นข้อจำกัดของการนำความรู้มาใช้ปฏิบัติจริงหรือไม่ อย่างไร

อันนี้เป็นคำถามที่เป็นยาขมนะ เพราะพอพูดคำว่าวิจัย มันดูไกลตัวมาก แต่จริงๆ แล้วในช่วง 4-5 ปีมานี้ เราพยายามจะ simplify คำว่าวิจัยลงว่า งานวิจัยมันต้องมีปัญหาก่อน พอมีปัญหาเราก็ต้องการคำตอบ แต่กระบวนการที่มาของปัญหาและคำตอบต้องเป็นข้อมูล เป็นสถิติ เป็นวิชาการ ต้องส่งเสริมให้ stakeholder ต่างๆ มาช่วยคิดช่วยทำ เพราะฉะนั้นการวิจัยอาจจะมีหลายสเกลมาก อาจเป็นชุดโครงการวิจัย เป็นโครงการเดี่ยว หรือแม้แต่ Quick Research หรื วิจัยที่ตอบโจทย์ได้เร็ว เป็นต้น

นอกจากงานวิจัยข้อมูลแล้ว ก็ยังมีการวิจัยที่ประเมิน เช่น ประเมินการบังคับใช้กฎหมาย การที่กฎหมายมีหลายฉบับเหลือเกินและบางฉบับล้าสมัย เกิดจากการทบทวนที่ล่าช้า ตอนนี้กฎหมายถูกกำหนดว่า 5 ปี ต้องมีการทบทวน ดูว่าข้อกฎหมายนั้นยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ กฎหมายนี้ออกมาเพื่ออะไร ผลดำเนินการเป็นอย่างไร แล้วก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าจะให้คะแนนผ่านหรือไม่ เมื่อประเมินแล้ว มีผลได้สามอย่างคือ 1. ดีอยู่แล้วให้ทำต่อ 2. มีข้อบกพร่อง ต้องปรับปรุง 3. ถ้าไม่เคยใช้ก็ยกเลิก

สิ่งที่เป็นปัญหาของงานวิจัยก็คือ หนึ่ง โจทย์วิจัยไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบความต้องการอะไร แต่ตอบความต้องการของนักวิจัยเอง อันนี้ต้องแก้โดยการคิดโจทย์วิจัยร่วมกัน อีกปัญหาคือทำอย่างไรให้งานวิจัยนั้นเป็นไปตามที่กำหนด ในเชิงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ วิธีการ ซึ่งตอนนี้การวิจัยด้านกฎหมายพัฒนาไปไกลมาก มีกระบวนการกำหนดปัญหา มีการรับฟังความคิดเห็น มีการรวบรวมวิเคราะห์ มีร่าง และมีแผนงานรองรับการออกกฎหมาย ผมเชื่อว่าถ้าโจทย์วิจัยดี กระบวนการวิจัยดี งานวิจัยในอนาคตก็จะสามารถผลักดันให้เป็นนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้

วัลลภ นาคบัว

 

โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ความท้าทายใหม่ๆ ของกฎหมายอาญาคือเรื่องอะไร นักกฎหมายและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับโลกใหม่

เราวิจัยว่าสถานการณ์อาชญากรรมใน 10 ปีข้างหน้า หนีไม่พ้นความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและพื้นที่ออนไลน์ เช่น การคุกคามผ่านระบบสื่อออนไลน์ การค้ามนุษย์ การแชร์ข้อมูล และการหลอกลวงบนพื้นที่ออนไลน์ อะไรก็ตามที่เป็นลักษณะไม่เห็นเนื้อเห็นตัวกันจริง แต่มีการหลอก ปลอมข้อเท็จจริง ทำให้คนหลงเชื่อ คดีส่วนใหญ่ในลักษณะนี้คือคดีฉ้อโกง แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องร่างกาย เรื่องเพศ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัว เมื่อเกิดคดีแล้วจะรวบรวมพยานหลักฐานอย่างไรให้เท่าทัน การสืบสวนยังต้องพัฒนากันไปเรื่อยๆ

อีกเรื่องที่อยากจะมุ่งเน้นคือการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงในอนาคต นั่นคือกลุ่มเยาวชน ถ้าดูคนของเราประมาณ 67 ล้านคน จะเห็นว่ามีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ประมาณ 20 ล้านคน เยาวชนเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจก้าวพลาด หลงเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นเหยื่อและผู้กระทำผิด เพราะฉะนั้นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องพยายามเข้าถึงเนื้อถึงตัวมากขึ้นในการป้องกัน ต้องทราบว่าเยาวชนตกเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเป็นเหยื่ออาชญากรรมอย่างไร หรือตกเป็นผู้กระทำผิดได้อย่างไร ในภาคการศึกษาเองอาจต้องสร้างวินัยในการที่จะเคารพกฎกติกาด้วย

สิ่งที่เราค้นพบจากการวิจัยคือเด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานพินิจ เป็นเด็กที่เบี่ยงเบน คือไม่จบการศึกษาภาคบังคับ สิ่งหนึ่งที่เราไปพูดคุยกับทางคุณครูอาจารย์บ่อยๆ ก็คือให้สังเกตพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างไร ติดยาเสพติดหรือไม่ การเรียนเป็นอย่างไร ถ้าเขาเรียนแล้วไม่จบหลักสูตรของโรงเรียน อาจต้องมีระบบส่งต่อข้อมูลให้กับกระทรวงยุติธรรมหรือทางจังหวัดให้เข้าไปช่วยดูแลเป็นการเฉพาะ

ในอนาคตเราคงทำงานเชิงลึกมากขึ้น แล้วก็เน้นปัญหาเชิงพื้นที่ เจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กและเยาวชน และสร้างการป้องกันในภาพใหญ่ คือไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน หมู่บ้าน องค์กรท้องถิ่นและท้องที่ ถ้าท่านสามารถร่วมมือกัน ก็จะเห็นว่าการป้องกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วก็เกิดผล ทำให้กระบวนการยุติธรรมในเชิงรับลดน้อยลงไป

แล้วปัญหาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องของภาคปฏิบัติ สำนักงานกิจการยุติธรรม หรือหน่วยงานอื่นที่ทำงานเชิงนโยบาย วิชาการ จะมีส่วนร่วมหรือเข้าถึงคนในระดับชุมชนได้อย่างไร

ในกระทรวงยุติธรรมมีการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขึ้น เป็นการย่อส่วนภารกิจของกระทรวงลงไปที่จังหวัด ในกระทรวงเดิมก็มีหน่วยงานในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น ราชทัณฑ์ บังคับคดี กรมพินิจ กรมคุมประพฤติ แต่ในระดับจังหวัดคำว่ากระบวนการยุติธรรมหรือภาระงานของกระทรวงยุติธรรม ไม่มีความสัมพันธ์หรือไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ได้

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า Area Base ดังนั้นเราจึงจะเน้นในการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ รวบรวมสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปัญหา เช่นปัญหาในจังหวัดภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของที่ดินทำกิน เรื่องหนี้นอกระบบ การฉ้อโกงต่างๆ ในเรื่องของกลไกการแก้ไขปัญหา หรือรับทราบปัญหา ก็จะเป็นสิ่งที่เราดูแลในเชิงนโยบาย

ส่วนในชุมชนหมู่บ้าน มีศูนย์ยุติธรรมชุมชน 7,783 แห่งทั่วประเทศ โดยผ่านการร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องที่ ศูนย์ยุติธรรมชุมชนจะเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุด ถ้าเกิดเขาอยากรู้เรื่องของกฎหมาย อยากทราบคำแนะนำต่างๆ หรือมีคดีวิพากษ์กันแล้วอยากจะไกล่เกลี่ยโดยไม่ต้องดำเนินคดี แม้กระทั่งมีความเดือดร้อนอยากได้ความช่วยเหลือด้านการปล่อยตัวชั่วคราว หรือจะไปฟ้องคดีแล้วไม่มีเงินค่าธรรมเนียมศาล เขาก็สามารถติดต่อผ่านทางศูนย์ยุติธรรมชุมชนได้

ประการต่อมาคือ ถ้าเขาอยากจะได้รับเงินค่าเยียวยาบางอย่างซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้ดูแล เช่นกรณีเป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือในกรณีที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้วต่อมาศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด เขาก็สามารถมาขอคำแนะนำแล้วก็ยื่นคำขอผ่านศูนย์ยุติธรรมชุมชนได้เช่นกัน

สิ่งที่เราคาดหวังคือเมื่อเขามีความเดือดร้อน มีปัญหา เขาต้องมาบอกศูนย์ยุติธรรมชุมชน แล้วศูนย์ยุติธรรมชุมชนเองก็จะเป็นหน่วยงานเบื้องต้นที่จะส่งต่อทั้งบริการ ทั้งปัญหาพื้นที่ และข้อเสนอแนะมาให้ยุติธรรมจังหวัดเพื่อประมวลในระดับจังหวัดด้วย

ในอนาคตบุคลากรด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่ทำงานแล้ว หรือนักเรียนกฎหมาย จะต้องมีทัศนคติอย่างไร เราต้องสร้างคนในกระบวนการยุติธรรมแบบใด

ผมคิดว่าคำว่า Trust หรือความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างค่านิยมเรื่อง Trust จะทำให้เราย้อนกลับไปมองว่า แล้วคนที่อยู่ในระบบราชการอยู่แล้ว ต้องทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่น แล้วคนที่กำลังจะเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมควรทำอย่างไร

ผมเพิ่งมีโอกาสไปพูดคุยกับหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขาชวนผมคิดว่าหลักสูตรนิติศาสตร์ที่พึงประสงค์หรือที่คาดหวังมันจะเป็นอย่างไร ผมก็ให้ความเห็นไปเบื้องต้นว่า เราไม่ควรเรียนเฉพาะตัวบทกฎหมาย เอาแต่ท่องตำรา ท่องฎีกา จบมาก็มีคำตอบชัดเจนว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิพากษา อัยการ เพราะในต่างประเทศและประเทศไทยเองมีอาชีพทางกฎหมายหลากหลายมาก ท่านเลือกของท่านเองได้ไหมว่าท่านจะเป็นใครในกระบวนการยุติธรรม อัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ อาชีพอิสระ ที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป นักร่างกฎหมาย หรือนักตีความกฎหมาย

นอกจากนั้นผมเสนอให้เพิ่มวิชาเข้าไปในหลักสูตรนิติศาสตร์อีก 2 หลักสูตร คือ ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรม และความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะสองข้อนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการที่ท่านจะนำกฎหมายไปใช้

อีกอย่างที่ผมอยากให้มี ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอยู่แล้ว คือวิชาภาคปฏิบัติ อาจมอบให้นักศึกษาชั้นปี 3 ปี 4 กลับไปยังภูมิลำเนาตัวเอง สำรวจว่าบ้านของท่านมีปัญหาอะไรเรื่องข้อกฎหมาย และควรต้องทำอย่างไร แล้วนำกฎหมายมาดูว่า กฎหมายนั้นสามารถแก้ปัญหาได้ไหม ความต่างของสิ่งที่เขาเรียนกับสิ่งที่เขาเจอมาในชุมชนนั้นจะช่วยให้เห็นปัญหาจริงๆ ฉะนั้นแทนที่จะฟังอาจารย์บรรยายอย่างเดียว อยากให้เปลี่ยนเป็นประสบการณ์ตรงมาเล่าสู่กันฟัง

วัลลภ นาคบัว


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save