fbpx

สู่อีกฝั่งของทางรถไฟลาว-จีน: เยือน ‘คุนหมิง’ ส่องโอกาสอนาคตบนปากประตูเชื่อมจีน-อาเซียน

เที่ยวปฐมฤกษ์ของขบวนรถไฟหัวกระสุนที่วิ่งระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กับนครคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2021 ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างจีนกับลาว หากกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้น มันคือก้าวใหม่ของความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางรถไฟ Pan Asia Railway Network ภายใต้ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีน

ภาพแผนโครงข่ายทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ หรือ Pan Asia Railway Network
เส้นประสีแดงคือเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากนครคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์
ภาพ: Classical geographer

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกของโครงการรถไฟเส้นทางลาว-จีนยังเป็นเพียงการเชื่อมโยงกันทางการขนส่งสินค้าเท่านั้น เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การใช้มาตรการปิดพรมแดนของแต่ละประเทศ ทำให้ขบวนรถไฟโดยสารสำหรับประชาชนทั่วไปยังให้บริการเพียงการเดินทางภายในประเทศ โดยยังไม่เปิดบริการเดินทางข้ามแดนระหว่างจีนกับลาว กระทั่งเมื่อวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย เที่ยวปฐมฤกษ์ของขบวนรถไฟโดยสารข้ามประเทศที่ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างเวียงจันทน์-คุนหมิงเหลือเพียงราวๆ 10 ชั่วโมง ก็เปิดหวูดในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกันอย่างเนืองแน่น ถือเป็นอีกหลักชัยสำคัญของโครงการรถไฟจีน-ลาว

ปีที่แล้ว 101 พาไปสำรวจโครงการรถไฟในฝั่ง สปป.ลาว พร้อมพูดคุยกับผู้มีส่วนรับผิดรับผิดชอบโครงการ ถึงความคืบหน้าและโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าที่เกิดขึ้นจากโครงการ เมื่อประเทศจีนเปิดพรมแดนแล้ว 101 จึงมีโอกาสได้ไปเยือนนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน อันเป็นต้นทางอีกฝั่งหนึ่งของเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อสำรวจพลวัตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ที่กำลังเติบโตอย่างน่าจับตา ในฐานะ ‘ประตูของจีนในการเปิดสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ รวมทั้งพูดคุยกับรัฐบาลมณฑลยูนนาน และกงสุลใหญ่ไทย ประจำนครคุนหมิง ถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของมณฑล และโอกาสอนาคตทั้งต่อจีนและไทย พร้อมพาไปเยือนวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง ซึ่งกำลังจะเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านรถไฟความเร็วสูงสู่คนไทยในอนาคต

ย่านกลางเมืองของนครคุณหมิง

รู้จัก ‘ยูนนาน’ จากมณฑลยากจน สู่พื้นที่แห่งโอกาสเศรษฐกิจ

มณฑลยูนนานตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยมีพรมแดนติดกับพม่า ลาว และเวียดนาม ถือเป็นมณฑลของจีนที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับไทยมายาวนาน

เมื่อพูดถึงมณฑลยูนนาน คนไทยอาจคุ้นเคยในแง่ที่ว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นภูเขาหิมะมังกรหยก อุทยานป่าหินคุนหมิง หุบเขาพระจันทร์สีน้ำเงิน เมืองโบราณต้าหลี่ เมืองโบราณมรดกโลกลี่เจียง รวมไปถึงการเยี่ยมชมสัมผัสวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาต่างๆ โดยเฉพาะคนชนชาติไทในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับบางพื้นที่ของไทย และมีภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาไทยมากจนสามารถสื่อสารกันได้ แต่นอกจากการเป็นที่เที่ยวชื่อดังแล้ว หลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้จักยูนนานในแง่มุมทางเศรษฐกิจมากนัก

แผนที่แสดงที่ตั้งของมณฑลยูนนาน (สีแดง)
ภาพ: TUBS

แต่เดิม ยูนนานได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมณฑลที่ยากจนที่สุดของจีน โดยประชาชนเคยมีรายได้โดยทั่วไปต่ำกว่า 4,000 หยวน (ประมาณ 20,000 บาท) ต่อปี ด้วยอุปสรรคจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ทำให้การพัฒนาเข้าถึงแต่ละพื้นที่ได้ยาก และยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อีกทั้งการที่พื้นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง โดยมีถึงราว 26 ชาติพันธุ์ ก็ทำให้การดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ด้วยความทะเยอทะยานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการมุ่งขจัดความยากจน โดยที่ยูนนานถือเป็นหนึ่งในสนามรบหลัก ก็ทำให้มณฑลแห่งนี้ประกาศหลุดพ้นจากความยากจนได้ในเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยสามารถลดจำนวนคนยากจนไปได้ 9.33 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของจีน   

“จีดีพีของมณฑลยูนนานเพิ่มจาก 1.1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2012 เป็น 2.89 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 14.45 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 8.3% และทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้นจากเดิมที่อันดับ 24 มาอยู่ที่อันดับ 18 ของประเทศในปี 2022 จากเขตการปกครองที่มีทั้งหมด 34 แห่ง” ฉวีเจียน รองผู้อำนวยการทั่วไป คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปประจำมณฑลยูนนาน ให้ข้อมูล

ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน แต่ยังเห็นได้จากบรรยากาศบ้านเมืองในพื้นที่นครคุนหมิงที่เราไปเยือน หลายคนที่เคยไปที่นี่ก่อนหน้านี้ต่างบอกว่า ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี คุนหมิงเจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ทั้งการงอกเงยขึ้นของย่านธุรกิจการค้าและตึกสูง ความสะอาดตามท้องถนน คนไร้บ้านที่ดูลดน้อยลงไปมาก และการใช้ชีวิตของผู้คนต่างมีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยที่ใช้ระบบออนไลน์เกือบทั้งหมด โดยแทบไม่มีการพกเงินสด การเดินทางด้วยจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ทำการเช่าจากแพลตฟอร์มไบก์แชริ่ง และการใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้าในการเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน   

ย่านกลางเมืองของนครคุณหมิง

เมื่อพาประชาชนจำนวนมากพ้นจากความยากจนได้แล้ว รัฐบาลมณฑลยูนนานยังมีโจทย์ใหญ่คือต้องไม่ให้ประชาชนที่พ้นเส้นความยากจนได้สำเร็จแล้วต้องหล่นกลับไปสู่ความยากจนซ้ำอีก โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 รัฐบาลมณฑลยูนนานยังประกาศ ‘แผนปฏิบัติการสามปีเพื่อเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับประชากรที่หลุดพ้นความยากจนในมณฑลยูนนาน ปี 2022-2024’ เพื่อให้รายได้เฉลี่ยของประชาชนในมณฑลไปถึงระดับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ทั้งยังมีการกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2024 จีดีพีของมณฑลจะต้องไปถึง 3.5 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 17.5 ล้านล้านบาท) และต้องทำให้รายได้ของประชาชนในมณฑลขึ้นไปอยู่ที่ 8,050 หยวน (ประมาณ 40,250 บาท) ต่อปีให้ได้

ในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนนี้ รัฐบาลมณฑลยูนนานใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาในหลายด้าน ทั้งการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาพื้นที่ชนบท การสร้างงานในพื้นที่ พร้อมทั้งประกาศยุทธศาสตร์ ‘ไพ่สามใบ’ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนามณฑลนับจากนี้ในสามด้านหลัก ได้แก่ ด้านอาหารสีเขียว พลังงานสีเขียว และการเป็นจุดหมายปลายทางรักษ์สุขภาพ นอกจากนั้นมณฑลยังเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมทันสมัย โดยเร่งสร้าง ‘อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าระดับล้านล้านหยวน’ ทั้งสิ้น 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตทันสมัย การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เกษตรที่ราบสูงทันสมัย โลจิสติกส์ทันสมัย และบริการด้านสุขภาพ รวมทั้งเร่งสร้าง ‘อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าระดับแสนล้านหยวน’ 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ พลังงานสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล การแพทย์และยาชีวภาพ วัสดุใหม่ สิ่งแวดล้อม บริการการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และยาสูบ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2019 ยูนนานยังถูกยกเป็นพื้นที่เขตการค้าเสรีนำร่อง หนึ่งใน 21 แห่งของประเทศจีน โดยมีพื้นที่ย่อยสามแห่งได้แก่ พื้นที่ย่อยคุนหมิง พื้นที่ย่อยหยงเหอ และพื้นที่ย่อยเต๋อหง ซึ่งมีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 120 ตารางกิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมระบบนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนซึ่งมีมาตรฐานและคุณภาพสูง รวมทั้งเป็นช่องทางเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่นตามยุทธศาสตร์แถบและเส้นทาง

ตลาดดอกไม้โต่วหนาน ในนครคุณหมิง ซึ่งเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเอเชีย เป็นจุดนำเข้า-ส่งออกดอกไม้ที่สำคัญ

การที่ยูนนานถูกวางเป็นจุดเชื่อมต่อทางโลจิสติกส์สำคัญระหว่างพื้นที่ต่างๆ ในประเทศจีน และเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งผ่านเส้นทางถนน รถไฟ เรือ และเครื่องบิน ก็คือยุทธศาสตร์หนึ่งของความพยายามเอาชนะปัญหาการไม่มีทางออกทะเล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับมณฑล โดยยูนนานได้เดินหน้าวางตัวเป็นศูนย์กลางของประเทศจีนเพื่อเชื่อมต่อสู่ตลาดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟลาว-จีนเมื่อปี 2021 คือความก้าวหน้าครั้งสำคัญ

“รถไฟลาว-จีนมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน ถึงปัจจุบันนี้ รถไฟลาว-จีนได้ขนส่งผู้โดยสารแล้วกว่า 17 ล้านคน และขนส่งสินค้ากว่า 22 ล้านตัน” หม่า โจ้วซิน รองผู้อำนวยการทั่วไป สำนักงานการต่างประเทศมณฑลยูนนาน กล่าว

ต้นทางของสินค้าบนเส้นทางรถไฟลาว-จีน ในฝั่งมณฑลยูนนาน อยู่ที่สถานีหวังเจียหยิงตะวันตกในนครคุนหมิง ซึ่งถือเป็นสถานีต้นทางขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ใหญ่ที่สุดของมณฑล และเป็นสถานที่ที่เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบรรยากาศ

พื้นที่สถานีที่กว้างใหญ่แห่งนี้เต็มไปด้วยรางรถไฟที่มุ่งหน้าเข้ามาจากหลายสารทิศ ละลานตาด้วยขบวนรถไฟและตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า โดยที่นี่มีขีดความสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานได้ 20,000 ตู้ ในเวลาเดียวกัน รองรับต่อปีได้ถึงราว 1,600,000 ตู้ และถือเป็นจุดทำพิธีศุลกากรสินค้าจากแหล่งต่างๆ อย่างครบวงจรในที่เดียว ตู้สินค้าที่ผ่านเข้าสู่สถานีแห่งนี้ไม่ได้มาจากเส้นทางรถไฟลาว-จีนเท่านั้น เพราะที่นี่ยังเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟหลายสายของประเทศจีน ซึ่งทางหนึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงยุโรป ทำให้เป็นแหล่งรวมและกระจายสินค้าที่มีจากหลากหลายสถานที่ เมื่อทางรถไฟลาว-จีนเกิดขึ้น เส้นทางนี้ก็กลายเป็นเสมือนหนึ่งในเส้นเลือดหลักของการขนส่งสินค้าผ่านสถานีแห่งนี้ โดยสินค้าจากจุดนี้มากกว่า 50% ถูกส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว  

สถานีรถไฟขนส่งสินค้าหวังเจียหยิงตะวันตก

ต้นทางรถไฟความเร็วสูง พาโอกาสใหม่แล่นถึงไทย-อาเซียน

แม้ตอนนี้ระบบรางเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่เริ่มจากนครคุนหมิง จะยังสิ้นสุดเพียงที่นครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว แต่ความเชื่อมโยงก็ได้ข้ามผ่านมาถึงไทยเช่นกัน โดยมีการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟหนองคาย ซึ่งมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย ทำให้สินค้าจากจีนมีช่องทางการขนส่งมาถึงไทยเพิ่มขึ้น และเช่นกัน สินค้าจากไทยก็สามารถขนส่งสินค้าไปยังจีนเพิ่มขึ้นได้อีกช่องทางหนึ่ง ทั้งยังทำให้ระยะเวลาการขนส่งหดสั้นลงด้วย จึงถือได้ว่าการเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟลาว-จีนนี้เป็นช่องทางโอกาสใหม่ในการส่งออกสินค้าไทยไปจีน หม่าให้ข้อมูลว่าสินค้าที่นำเข้าผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ถึงร้อยละ 70 มาจากประเทศไทย

สินค้าสำคัญหนึ่งของไทยที่ได้รับอานิสงส์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน คือผลไม้ ซึ่งตามปกติแล้วเป็นสินค้าที่มณฑลยูนนานนำเข้าจากไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมาหลายปี โดยก่อนหน้านี้การขนส่งเกิดขึ้นผ่านถนนสาย R3A ออกจากด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าสู่จีนผ่านด่านโม่ฮาน กระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ประกาศให้ด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งเป็นหน้าด่านของเส้นทางรถไฟลาว-จีน ในฝั่งจีน มีสถานะเป็น ‘ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้’ อย่างเป็นทางการ ประเทศไทยจึงสามารถส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีนได้มากขึ้น โดยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งทำให้ผลไม้จากล้งในภาคตะวันออกของไทย ไปถึงคุนหมิงได้ในเวลาเพียงราวๆ 37 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาราว 5-7 วันในการขนส่งผ่านเส้นทางถนน

รถไฟลาว-จีน ที่ต้นทางฝั่งสถานีเวียงจันทน์ สปป.ลาว

สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครคุนหมิงให้ข้อมูลว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 ยูนนานนำเข้าผลไม้จากไทยรวมมูลค่า 522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 32.4 โดยผลไม้จากไทยที่ยูนนานนำเข้าสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งรวมคิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 95 ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้จากไทยทั้งหมด แน่นอนว่าการนำเข้าผลไม้จากไทยมากขึ้นนี้เป็นผลส่วนหนึ่งจากเส้นทางรถไฟลาว-จีน แต่ก็มีปัจจัยอีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของจีนเองที่กำลังให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นด้วย

“อีกปัจจัยหนึ่งคือจีนมีความระมัดระวังมากขึ้น ช่วงโควิด-19 ทำให้จีนตระหนักว่า สิ่งที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้อยู่ที่ว่าเขามีต้นทุนด้านทรัพยากรและอาหารมากน้อยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเขาจึงเน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศตัวเองให้มากขึ้น รวมทั้งลดการส่งออกอาหาร และเพิ่มการนำเข้า เพื่อความมั่นคงทางอาหาร” ภาวีวรรณ นรพัลลภ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ให้ข้อมูล

ภาวีวรรณ นรพัลลภ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง

อย่างไรก็ตาม สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครคุนหมิง ก็ชี้ว่าผลไม้ไทยต้องเผชิญความท้าทายในตลาดจีนเพิ่มขึ้นเหมือนกัน เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเพิ่มการให้สิทธินำเข้าผลไม้กับหลายประเทศมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา อีกทั้งล่าสุด ศุลกากรจีนได้อนุญาตให้เวียดนามและฟิลิปปินส์สามารถนำเข้าทุเรียนสดเข้าจีนได้อย่างเป็นทางการ หลังจากเคยให้สิทธิไทยเพียงประเทศเดียว นอกจากนี้จีนเองก็เพิ่งมีความพยายามปลูกทุเรียนเองที่มณฑลไห่หนาน ส่งผลให้ทุเรียนไทย และผลไม้ไทยชนิดอื่นๆ กำลังต้องเจอการแข่งขันที่สูงขึ้น

“จีนก็กำลังปลูกอยู่ โดยผลผลิตรุ่นแรกเป็นรุ่นสุกคาต้น ซึ่งเขาบอกว่านี่คือจุดขายของเขา ขณะที่ของไทยมาด้วยรถไฟแล้วมาสุกพอดีที่นี่ (จีน) แต่ด้วยฟ้าดินที่ไม่เป็นใจ การปลูกรอบแรกจึงยังมีผลออกมาไม่มาก ไม่พอกับการบริโภคภายในประเทศ แต่นี่ก็เป็นบทเรียนให้เรารู้ว่าเราต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่ว่าเราเป็นตลาดที่ดีแล้ว แล้วเราจะอยู่ได้ตลอดไป” ภาวีวรรณกล่าว พร้อมทั้งแนะว่าตลาดทุเรียนและผลไม้ไทยอาจต้องให้ความสำคัญกับความเป็นผลไม้ออร์แกนิกที่สะอาดปลอดภัยมากขึ้น เพราะกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในประเทศจีน

เส้นทางรถไฟลาว-จีนยังมีโอกาสอนาคตสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนอยู่ต่อเนื่อง โดยเมื่อ 15 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนเพิ่งประกาศให้ด่านรถไฟโม่ฮานมีสถานะเป็น ‘ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าสินค้าประมงแช่เย็น’ และในอนาคตอันใกล้ยังมีแผนเปิดใช้งาน ‘ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าธัญพืช’

สถานีรถไฟขนส่งสินค้าหวังเจียหยิงตะวันตก

ถึงแม้เส้นทางรถไฟลาว-จีนจะช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้นจากเดิมไม่น้อย แต่จุดติดขัดก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งผ่านสินค้าจากรางรถไฟลาว-จีน ที่นครหลวงเวียงจันทน์ข้ามมาสู่ฝั่งไทย เนื่องจากรางรถไฟที่ฝั่งไทยยังคงเป็นคนละระบบกับรางรถไฟลาว-จีน ทำให้ต้องเสียเวลาเปลี่ยนถ่ายสินค้าข้ามระบบราง[1] รัฐบาลมณฑลยูนนานจึงคาดหวังว่าทางรถไฟความเร็วสูงของไทยในเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะทำให้การเชื่อมต่อทางรถไฟเข้าด้วยกันนี้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ก่อนจะเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่นที่ลากยาวพาดผ่านไปจนถึงสิงคโปร์ในอนาคต เส้นทางนี้จึงถูกมองว่าเป็นโอกาสร่วมกันของทั้งไทยและจีน

“ปีที่แล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ไปเยือนประเทศไทยและได้เจรจากับผู้นำไทย โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติทางด้านความเชื่อมโยงระหว่างจีน-ลาว-ไทย ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งถ้าเชื่อมต่อแล้วจะไปถึงหนองคายและกรุงเทพฯ นี่จะทำให้สินค้าสามารถกระจายไปถึงท่าเรือต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ และมหาสมุทรอินเดีย ผ่านท่าเรือระนอง ขณะเดียวกันสินค้าจากท่าเรือก็จะมาถึงจีนได้ และยังไปได้ถึงยุโรป รัฐบาลมณฑลยูนนานให้ความสนใจและความสำคัญอย่างมากต่อเส้นทางนี้ ซึ่งเราหวังว่าทั้งจีนและไทยจะร่วมมือกันทำให้เส้นทางสายนี้เชื่อมต่อกันอย่างเร็วที่สุด” หม่า กล่าว

วิทยาลัยรถไฟคุนหมิง: ต้นสายธารความรู้ด้านรถไฟความเร็วสูงที่เตรียมหลั่งไหลสู่ไทย

ณ ตอนนี้ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-หนองคาย ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างในเฟสแรก จากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2026 ในการก่อสร้างรถไฟเส้นทางนี้ รัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด 100% และก่อสร้างงานโยธาเองทั้งหมด โดยที่จีนมีส่วนร่วมดำเนินการออกแบบ ควบคุมงาน รวมถึงติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และที่สำคัญจีนยังตกลงที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้กับไทยในหลายด้าน

ทางการจีนยังยินดีที่จะพัฒนาทักษะความรู้ให้กับบุคลากรและนักศึกษาไทย เพื่อช่วยให้ไทยมีแรงงานที่มีทักษะพร้อมรองรับการเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดยในปี 2019 รัฐบาลมณฑลยูนนานได้อนุมัติงบประมาณให้กับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง (Kunming Railway Vocational and Technical College: KRVTC) เพื่อให้ทุนนักศึกษาจากต่างประเทศสามารถเข้าเรียนในหลักสูตรของทางวิทยาลัย และล่าสุดทางวิทยาลัยก็ได้ประสานไปยังศึกษาธิการ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ทุนเต็มจำนวนต่อนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในการเข้าเรียนที่วิทยาลัยดังกล่าว และวิทยาลัยก็ยังเปิดกว้างให้นักเรียนนักศึกษาไทยที่สนใจสามารถสมัครทุนการศึกษาเข้าไปเรียนหรืออบรมได้ต่อเนื่อง

บรรยากาศในวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง

ในการไปเยือนคุนหมิงครั้งนี้ KRVTC จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราได้ไปเยี่ยมชม เพื่อสัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอน รวมทั้งพูดคุยกับผู้บริหารวิทยาลัย และนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่

วิทยาลัยแห่งนี้ต้อนรับเราด้วยบรรยากาศที่เสมือนไม่ต่างจากกำลังอยู่ที่สถานีรถไฟความเร็วสูงแห่งหนึ่ง ในอาคารมีทั้งตู้ขายตั๋วจำลอง เครื่องสแกนสัมภาระผู้โดยสาร ที่นั่งรับรองผู้โดยสารก่อนขึ้นรถไฟ ประตูชานชาลา ป้ายบอกเวลารถไฟเทียบชานชาลา กระทั่งรางรถไฟและขบวนรถไฟจริงที่ตั้งอยู่ด้านหลังของอาคาร

ลึกเข้าไปตามห้องต่างๆ ในตัวอาคาร เราก็ได้เห็นเทคโนโลยีเบื้องหลังระบบรถไฟต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานสำหรับการสับเปลี่ยนและควบคุมระบบรางระหว่างแต่ละสถานี และเครื่องจำลองการขับรถไฟ ที่ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกขับอย่างเหมือนจริง อุปกรณ์ที่วิทยาลัยมีให้อย่างเพียบพร้อมครบวงจรนี้เป็นความตั้งใจให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ที่ใกล้เคียงสิ่งที่จะได้พบเจอจริง และมีโอกาสได้ฝึกฝนจากการลงมือทำมากที่สุด

บรรยากาศในวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง

KRVTC ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1958 ในฐานะวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เน้นการฝึกทักษะด้านการรถไฟ เพื่อผลิตคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมรถไฟของประเทศ โดยปัจจุบันมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบรถไฟหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ ระบบล้อเลื่อนรถไฟ (Railway Rolling Stock), วิศวกรรมไฟฟ้าระบบราง (Railway Electrical Engineering), การขนส่งทางราง (Railway Transport), วิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical & Mechanical Engineering) และวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Engineering) ซึ่งมีวิชาหลักที่เปิดสอนรวมกันทั้งสิ้น 24 วิชา

วิทยาลัยแห่งนี้มีอาจารย์สอนอยู่มากถึง 1,400 คน และมีนักศึกษาประมาณ 6,700 คน นอกจากการเรียนการสอนภายในวิทยาลัยแล้ว ที่นี่ยังมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ โดยการส่งอาจารย์ไปช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการรถไฟในประเทศต่างๆ

“วิทยาลัยของเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือต่อต่างประเทศ โดยสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์แถบและเส้นทางของรัฐบาลจีน รวมทั้งนโยบายของมณฑลยูนนานในการเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เราจึงส่งอาจารย์ไปถ่ายทอดความรู้ในประเทศที่มีความร่วมมือกัน” หยิน กวง รองประธาน KRVTC กล่าว

บรรยากาศในวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง

หยินขยายความว่าวิทยาลัยเคยส่งอาจารย์ไปฝึกหัดให้กับบุคลากรทั้งที่ประเทศเคนยาและเอธิโอเปีย ซึ่งมีทางรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลจีนร่วมสร้าง-ลงทุนภายใต้โครงการแถบและเส้นทาง ซึ่งการเรียนการสอนนับว่าได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดี และแน่นอนว่าเมื่อเส้นทางรถไฟลาว-จีนถือกำเนิดขึ้น ทางวิทยาลัยก็ได้สานความร่วมมือกับทาง สปป.ลาว เช่นกัน

“เรามีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของลาว โดยในปี 2020 ทองลุน สีสุลิด นายกฯ ลาว (ในขณะนั้น) ได้มาเยี่ยมชมวิทยาลัยของเรา และประกาศจะสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยของเรา โดยวิทยาลัยของเราได้เข้าไปสนับสนุนในการก่อสร้างวิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาการรถไฟลาว ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแถบและเส้นทาง” หยินกล่าว

วิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาการรถไฟลาวถือเป็นวิทยาลัยด้านการรถไฟแห่งแรกของประเทศลาว โดยกำลังเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนเป็นรุ่นแรกในปีการศึกษานี้ ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน จำนวนทั้งสิ้น 360 คน เพื่อเตรียมผลิตแรงงานรองรับการเปิดให้บริการของรถไฟลาว-จีน เพราะในอนาคต ทางการลาวจะต้องดำเนินการเอง รวมถึงใช้บุคลากรในประเทศ ในการให้บริการเองทั้งหมด หลังจากที่ในปัจจุบันยังคงต้องใช้บุคลากรจากจีน โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องใช้เทคนิคความรู้ขั้นสูง เช่น พนักงานขับรถไฟ

นอกจากสนับสนุนการสร้างวิทยาลัยในลาว KRVTC ยังเข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งช่วยปั้นอาจารย์ท้องถิ่นให้กับวิทยาลัย โดยในปี 2021 ได้เริ่มให้ทุนเต็มจำนวนกับคนลาวรุ่นแรกจำนวน 40 คน ซึ่งมีทั้งคนที่เคยเป็นอาจารย์ในสาขาวิศวกรรมด้านอื่นๆ มาก่อน และคนที่ไม่เคยเป็นอาจารย์ เพื่อมาเรียนเทคนิคด้านการรถไฟที่คุนหมิง เป็นระยะเวลาราว 2 ปี ก่อนจะกลับไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาการรถไฟลาว เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาต่อไปสู่นักศึกษาชาวลาว โดยในวันนั้นเราก็มีโอกาสได้พบชาวลาวกลุ่มนี้ที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ และกำลังจะกลับไปเริ่มสอนที่วิทยาลัยในลาวเดือนกันยายนนี้

 

บรรยากาศในวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง

หนึ่งในนั้นคือ บัวเงิน จันทะวง อดีตอาจารย์ด้านวิศวกรรมการสำรวจในลาว ซึ่งเล่าให้ฟังว่า การที่ลาวมีเส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตนหันเหความสนใจมาที่วิศวกรรมการรถไฟ และตัดสินใจสมัครทุนการศึกษามาเรียนที่ KRVTC

บัวเงินเล่าถึงการเรียนให้ฟังคร่าวๆ ว่า “พอมาถึงแล้วในช่วงแรกเขาจะให้เริ่มเรียนภาษาจีนก่อน แล้วถึงมีการสอบวัดระดับภาษา ก่อนที่จะเริ่มเรียนวิชาเฉพาะได้ในเดือนธันวาคม 2022 จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา”

“เมื่อก่อนข้าพเจ้าเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมการสำรวจ สร้างแผนที่ แล้วการมาเรียนวิศวกรรมทางรถไฟที่นี่จริงๆ ก็มีความเกี่ยวพันกันอยู่ แต่มันก็มีความรู้ใหม่ที่เราได้เรียนรู้เหมือนกันอย่างเช่นเรื่องเส้นทางอุโมงค์ต่างๆ ที่มีอยู่เยอะบนเส้นทางรถไฟลาว-จีน” บัวเงินเสริม

ถัดจากนักศึกษารุ่นนี้ที่ได้รับการบ่มเพราะทักษะความรู้พร้อมกลับไปถ่ายทอดต่อที่ลาว KRVTC ยังมีโครงการช่วยผลิตอาจารย์ให้วิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาการรถไฟลาวอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีการศึกษาถัดจากนี้ เพื่อรองรับคนลาวที่คาดว่ากำลังมีความสนใจเข้าไปเรียนเทคนิคด้านการรถไฟเยอะขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งโครงการรถไฟลาว-จีนที่ก็กำลังต้องการแรงงานมาเติมอีกจำนวนมาก

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย แม้ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ก็อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องเตรียมทรัพยากรคนให้มีทักษะความรู้พร้อมต่อการให้บริการในอนาคต และในวันนี้ที่ประเทศไทยยังไม่มีเทคนิคความรู้ในเรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นของตัวเอง KRVTC ในนครคุนหมิงแห่งนี้จึงอาจถือได้ว่ากำลังจะเป็นแหล่งต้นธารความรู้สำคัญให้กับบุคลากรของไทยในอนาคตอันใกล้ ก่อนที่รถไฟความเร็วสูงจะถึงเวลาโลดแล่นไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย

  

บรรยากาศในวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง


หมายเหตุ: ผู้เขียนเดินทางเยือนนครคุณหมิง ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2023 โดยเป็นกิจกรรมหนึ่งของหลักสูตร ‘มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 5’ จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save