พันธไมตรี จีน-ปากีสถาน-อัฟกานิสถาน: หรือเรากำลังจะได้เห็นบางชาติรับรองรัฐบาลฏอลิบาน

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็มแล้ว นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน ในห้วงเวลานี้รัฐบาลฏอลิบาน ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมได้นั้นทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการในการบริหารประเทศ แน่นอนว่ารัฐบาลชุดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งยังเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติ จากการบังคับใช้นโยบายมากมายซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้นับจนถึงเวลานี้ยังไม่มีรัฐบาลประเทศใดกล้ารับรองรัฐบาลฏอลิบานอย่างเป็นทางการ

อย่างไรตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศบนโลกจะเลิกติดต่อกับอัฟกานิสถาน หรืออัฟกานิสถานจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมมากมายผ่านองค์การระหว่างประเทศ และองค์การไม่แสวงหาผลกำไรข้ามชาติที่หลั่งไหลเข้าไปในอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนชาวอัฟกานิสถาน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลข่าวสารมากมายระบุชัดว่ามีรัฐบาลหลายชาติติดต่อกับรัฐบาลอัฟกานิสถานทั้งในทางลับ และเปิดเผย

ในจำนวนบรรดาประเทศเหล่านั้น ดูเหมือนจีนและปากีสถานจะเป็นชาติที่เดินหน้าพูดคุยและเจรจากับรัฐบาลฏอลิบานอย่างเปิดเผย แม้ทั้งสองประเทศจะไม่ได้ประกาศชัดว่ารับรองรัฐบาลฏอลิบานก็ตาม และเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ปากีสถานก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดเวทีพูดคุยระดับรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศแบบสามฝ่ายระหว่างจีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน โดยการเจรจาครอบคลุมหลากหลายมิติตั้งแต่ความมั่นคง ไปจนถึงเศรษฐกิจ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า หรือนี่จะเป็นหมุดหมายสู่การรับรองรัฐบาลฏอลิบานในอนาคต

การก่อการร้าย: วาระสำคัญที่ต้องพูดคุยกับอัฟกานิสถาน

ปัญหาความไม่สงบและความวุ่นวายภายในอัฟกานิสถานนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาเริ่มสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของ นอกจากจะส่งผลให้อัฟกานิสถานขาดเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว ในทางหนึ่งยังเปิดช่องให้บางพื้นที่ของอัฟกานิสถานกลายเป็นพื้นที่กบดานและรวบรวมกำลังของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในประเทศอื่นด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ประเทศรอบข้างของอัฟกานิสถาน ซึ่งรวมถึงจีนและปากีสถานมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเป็นไปที่เกิดขึ้นภายในอัฟกานิสถาน

จีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถานมีประวัติความร่วมมืออันยาวนานในการต่อสู้กับการก่อการร้าย โดยทั้งสามประเทศมีความสนใจร่วมกันในการป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้ดินแดนของตนเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหรือประเทศอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เกิดจากขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก (ETIM) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่พยายามจัดตั้งรัฐเอกราชในซินเจียง โดยจีนเชื่อว่า ETIM มีฐานอยู่ในอัฟกานิสถาน เช่นเดียวกับปากีสถานที่กังวลอย่างมากต่อการขยายอิทธิพลของกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานที่มีผลต่อเสถียรภาพภายในประเทศของตน

ดังนั้นในปี 2017 จีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถานได้จัดตั้งกลไกการเจรจาไตรภาคีเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อสู้กับการก่อการร้าย ทั้งสามประเทศได้จัดการเจรจาหลายรอบและได้ตกลงที่จะแบ่งปันข่าวกรอง ประสานงานด้านความมั่นคงชายแดน และปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินของผู้ก่อการร้ายร่วมกัน และในปี 2020 ทั้งสามประเทศได้จัดการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายไตรภาคีเป็นครั้งแรก การฝึกซ้อมได้รับการออกแบบมาเพื่อพัฒนาความสามารถของทั้งสามประเทศในการตอบสนองต่อการโจมตีของผู้ก่อการร้าย

ทั้งนี้ พัฒนาการความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของทั้งสามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อกลุ่มฏอลิบานสามารถยึดอำนาจและปกครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ปี 2021 แม้กลุ่มตาลิบานได้ให้คำมั่นกับประชาคมระหว่างประเทศว่าจะไม่อนุญาตให้อัฟกานิสถานถูกใช้เป็นที่หลบภัยของกลุ่มก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่ากลุ่มฏอลิบานอาจไม่สามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมดในอัฟกานิสถานได้ อันจะกลายเป็นโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานในการเคลื่อนไหว

ความกังวลข้างต้นนี้ส่งผลให้ทั้งจีนและปากีสถานตัดสินใจที่จะมองข้ามประเด็นเกี่ยวกับสถานะของรัฐบาลฏอลิบาน และเลือกที่จะเดินหน้าประสานความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายกับอัฟกานิสถานต่อไป โดยในเดือนกันยายน 2021 ทั้งสามประเทศจัดประชุมไตรภาคีในกรุงอิสลามาบัดเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน และมีความตกลงที่จะร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคต่อไป

เพื่อที่จะให้การปราบปรามและต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานมีประสิทธิภาพนี้เอง เสถียรภาพของรัฐบาลฏอลิบานในการควบคุมอัฟกานิสถานก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ฉะนั้นความช่วยเหลือมากมายทั้งจากจีน และปากีสถานจึงหลั่งไหลเข้าไปในอัฟกานิสถานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงการขยายการค้าและการลงทุนในอัฟกานิสถานด้วย

ใครๆ ก็อยากครอบครองทรัพยากรหายากในอัฟกานิสถาน

จีนถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญของอัฟกานิสถานนับตั้งแต่ก่อนฏอลิบานยึดครองอัฟกานิสถานได้ ที่สำคัญ จีนยังมีการลงทุนจำนวนมากในปากีสถาน โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งจีนหมายมั่นปั้นมือว่าจะขยายกรอบความร่วมมือไปยังอัฟกานิสถานด้วย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งสามประเทศเข้าด้วยกัน อย่างไรตาม สถานการณ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถานได้เปลี่ยนไปตั้งแต่กลุ่มฏอลิบานเข้าควบคุมอัฟกานิสถาน เพราะมันส่งผลให้การพูดคุยก่อนหน้านี้ต้องหยุดลงเป็นการชั่วคราว

แต่ดูเหมือนว่าความร่วมมือดังกล่าวจะหยุดชะงักอยู่ไม่นานนัก เพราะเมื่อความชัดเจนของอำนาจนำของรัฐบาลฏอลิบานเหนืออัฟกานิสถานมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งจีนและปากีสถานก็หันหน้ากลับมาเจราจากับฝ่ายรัฐบาลฏอลิบานอีกครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความร่วมด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ในอีกด้านก็คือประเด็นทางเศรษฐกิจ เพราะอัฟกานิสถานถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีสินแร่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากมาย และยังมีแหล่งพลังงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจและขุดขึ้นมาใช้งาน

ในขณะเดียวกันอัฟกานิสถานยังเป็นสะพานเชื่อมภูมิภาคเอเชียอีกด้วย เพราะหากพิจารณาจากภูมิศาสตร์โลกแล้ว หากจีนต้องการเชื่อมโยงการค้าของตนเองไปยังภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก อัฟกานิสถานถือเป็นประตูบานสำคัญที่จะเปิดทางให้จีนเดินทางไปยังประเทศเหล่านั้นได้ เช่นเดียวกันกับการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างปากีสถานกับภูมิภาคเอเชียกลางและรัสเซีย อัฟกานิสถานก็ทำหน้าที่เป็นประตูสำคัญ ฉะนั้นด้วยภูมิศาสตร์ และความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ อัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของฏอลิบานยังคงถือเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน

เพราะในขณะที่หลายประเทศพยายามวางตัวนิ่งเฉยต่อการรับรองสถานะรัฐบาลฏอลิบาน รวมถึงเลือกไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลชุดดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามปรากฏข่าวสารมากมายเกี่ยวกับการขยายการลงทุนและให้ความช่วยเหลือจำนวนมากของรัฐบาลจีนต่อรัฐบาลอัฟกานิสถาน ยกตัวอย่างเช่นในช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมาอัฟกานิสถานและจีนลงนามข้อตกลงลงทุนสกัดน้ำมันจากแอ่ง Amu Darya ที่มีมูลค่ามากถึง 690 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวกินเวลาร่วม 25 ปี นอกจากนี้ การประชุมร่วมกันสามฝ่ายระดับรัฐมนตรีต่างประเทศยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับการขยายการลงทุนของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานมายังอัฟกานิสถานเพิ่มเติมอีกด้วย

ดังนั้นภายใต้สถานะที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติของรัฐบาลฏอลิบาน ดูเหมือนว่าทั้งจีนและปากีสถานต่างไม่ได้ใส่ใจต่อความเป็นไปดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม ทั้งสองประเทศเลือกที่จะเปิดการเจรจาทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลฏอลิบาน เพราะทั้งสองชาติต่างก็รู้ดีว่าอัฟกานิสถานมีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงของตนเอง ในขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็รู้ดีว่าอัฟกานิสถานมีทรัพยากรธรรมชาติและภูมิศาสตร์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศของตน

สัมพันธไมตรีสามฝ่าย กับโอกาสในการรับรองรัฐบาลฏอลิบาน

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับอัฟกานิสถานคือนับจนถึงเวลานี้ เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็มที่ฏอลิบานสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จ แต่กลับยังไม่มีรัฐบาลของประเทศใดเลยรับรองสถานะของรัฐบาลฏอลิบานอย่างเป็นทางการ แม้กระทั่งจีนและปากีสถาน ทั้งที่สองประเทศนี้มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลฏอลิบานอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏความร่วมมือมากมายทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสามฝ่ายมีการพบปะกันบ่อยครั้ง

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของปากีสถานรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมร่วมกันสามฝ่ายที่รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งจีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถานเข้าร่วม ที่น่าสนใจคือ รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถาน อาเมียร์ คาน มุตตากี (Amir Khan Muttaqi) ผู้ซึ่งถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) สั่งห้ามเดินทาง กลับได้รับการยกเว้นให้ไปเยือนกรุงอิสลามาบัดในครั้งนี้ และยังได้พบปะพูดคุยกกับฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนอีกด้วย ทั้งที่จีนก็เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ในการพูดคุยหารือ ทั้งสามประเทศเห็นพ้องกันที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดี กระชับความไว้วางใจทางการเมืองซึ่งกันและกัน เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน และจัดการกับความแตกต่างและข้อพิพาทอย่างเหมาะสมผ่านการปรึกษาหารือที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญ ในการประชุมครั้งนี้จีนและปากีสถานแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของอัฟกานิสถาน การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวอย่างผิดกฎหมายต่ออัฟกานิสถาน และการกระทำที่บั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

โดยแถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศของปากีสถานกล่าวว่า จีนและปากีสถานได้ “เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่อัฟกานิสถาน ซึ่งรวมถึงการยกเลิกการระงับสินทรัพย์ทางการเงินในต่างประเทศของอัฟกานิสถาน”

เห็นได้ชัดว่าท่าทีของทั้งจีนและปากีสถานที่มีต่อรัฐบาลฏอลิบานมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และมีแนวโน้มปกป้องอัฟกานิสถานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการต่อต้านการคว่ำบาตรอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินการผ่านการระงับการเข้าถึงทรัพย์สินของรัฐบาลอัฟกานิสถานในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้อัฟกานิสถานต้องเผชิญกับวิกฤตทางด้านมนุษยนธรรม

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า หรือในอีกไม่นานนี้เราอาจได้เห็นการรับรองรัฐบาลฏอลิบานอย่างเป็นทางการจากบางชาติ ซึ่งจะยังผลให้สถานะของรัฐบาลฏอลิบานมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นในการปกครองอัฟกานิสถาน แน่นอนว่าในมุมหนึ่งคือความมีเสถียรภาพที่มากขึ้นในระดับภูมิภาค ในทางกลับกันความเป็นไปได้ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียไปตลอดกาล และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในภูมิภาคได้เช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้นหากรัฐบาลฏอลิบานยังไม่สามารถยืนยันการรักษาสัญญาต่อการปฏิบัติใช้ประเด็นสิทธิมนุษยนชนได้ก่อนการรับรองสถานะดังกล่าว บางประเทศที่รับรองสถานะของรัฐบาลฏอลิบานอาจกลายเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถานด้วยเช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save